สืบจังหวะ…ศิลปะกันตรึม
โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน
ผู้ปกครองเด็กเองต้องเข้าใจด้วยว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว ไม่ได้เกิดจากการอ่านหรือท่องจำในตำราเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือทำงานเพื่อสังคม จะทำให้เด็กได้ซึมซับและปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกทำให้เขาเติบโตไปเป็นคนดีของสังคมด้วย ถ้าผู้ใหญ่ให้ความสนใจและใส่ใจ เขาจะทำงานทุกอย่างเต็มที่โดยไม่อิดออด ผู้ปกครองต้องเข้าใจและให้พื้นที่เขาได้เรียนรู้
กันตรึม...เป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น ตามประวัติแต่โบราณใช้สำหรับขับร้องประกอบการร่ายรำบวงสรวง การละเล่นกันตรึมได้รับความนิยมมากในแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ แต่ปัจจุบันกันตรึมพื้นบ้านที่เคยสืบสานกันมาอย่างยาวนานค่อยๆ เลือนหายไป เนื่องจากขาดผู้สานต่อ เยาวชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ละเลยการละเล่นชนิดนี้ และให้ความสนใจกับเกมและสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นปัญหาในสังคมยุคใหม่ที่ค่อยๆ กลืนกินการละเล่นพื้นบ้านชนิดนี้ให้ค่อยๆ จางหายไป
>> สืบสานตำนานกันตรึม
“เป้าหมายหลักของการตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นมา เพื่อใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือช่วยดึงความสนใจของ เด็กและเยาวชนให้ห่างจากสิ่งยั่วยุภายนอก โดยมีความเชื่อว่า การแบ่งเวลามาทำในสิ่งที่เป็น ประโยชน์ต่อตนเองและสังคมนอกห้องเรียนจะช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น อีกทั้งยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เกิดสมาธิ รู้เท่าทันตัวเองและรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว”
พระครูปริยัติ สีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกา อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ริเริ่มก่อตั้งวงกันตรึมของเด็กและเยาวชนภายใต้ชื่อ กลุ่มเยาวชนบ้านระกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการตั้งกลุ่มเยาวชนขึ้นมา เพื่อใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือช่วยดึงความสนใจของเด็กและเยาวชนให้ห่างจากสิ่งยั่วยุภายนอกโดยมีความเชื่อว่า การแบ่งเวลามาทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมนอกห้องเรียนจะช่วยพัฒนาทักษะชีวิต ทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น อีกทั้งยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เกิดสมาธิ รู้เท่าทันตัวเองและรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ส่วนจุดประสงค์เพื่อสืบสานและอนุรักษ์การละเล่นกันตรึมพื้นบ้านไม่ให้สูญหายไปจากชุมชนท้องถิ่นนั้น ถือเป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นภายหลัง โดยปัจจุบันกลุ่มเยาวชนบ้านระกาส่งไม้ต่อสืบทอดการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านเข้าสู่รุ่นที่ 3 แล้ว
“จากประสบการณ์อาตมาพาเด็กนั่งสมาธิเฉลี่ยนั่งได้ไม่เกิน 10 นาที อาตมาจึงได้โจทย์มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหลานมีสิ่งยึดเหนี่ยว ทำให้จิตใจนิ่งได้ ก่อนหน้านี้ทางวัดเคยมีห้องเรียนวันอาทิตย์ให้ครูมาสอนพิเศษเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องสมาธิ เพราะการเรียนที่วัดก็ไม่ต่างจากการเรียนในห้องเรียน ซ้ำยังเป็นการเพิ่มภาระให้เด็ก เลยมาฉุกคิดได้ว่าชุมชนแถบนี้สมัยก่อนเวลามีงานพิธี ชาวบ้านจะเชิญวงปี่พาทย์จากอำเภออื่นมาบรรเลง แล้วทำไมชุมชนของเราไม่มีคนเล่นบ้าง จึงมีแนวคิดว่าน่าจะใช้ดนตรีมาช่วยดึงสมาธิของเด็ก แล้วยังได้ฟื้นฟูสิ่งที่เคยมีแต่หายไปให้มีกลับคืนมาอีกครั้ง” เจ้าอาวาสวัดระกา เล่าถึงที่มาที่ไปของการรวมกลุ่มเยาวชน
>> เยาวชนคือกำลังสำคัญ...
“โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน เกิดขึ้นเมื่ออดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านระกาคนแรก ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่มาร่วมร้องร่วมเล่นกันตรึมกับพวกเขาเสียชีวิตลงเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนที่คุณปู่อยู่ ทั้งที่แก่มากแล้วแกก็ยังมาทำกิจกรรมกับพวกเรา แล้วพวกเรายังมีแรงอยู่ขนาดนี้ ทำไมถึงไม่ทำต่อ ไม่รักษาไว้ให้ได้”
ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนบ้านระกาทั้ง 3 รุ่น ใช้พื้นที่วัดระกาเป็นจุดศูนย์กลางในการเรียนรู้และฝึกซ้อมดนตรี รวมทั้งการขับร้องและการรำ เริ่มต้นจากการเล่นดนตรีไทยแล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชน
ชมพู่-สุกัญญา แพงงาม เล่าถึงสถานการณ์กลุ่มเยาวชนบ้านระกาในปัจจุบันว่า ตอนนี้ขาดรุ่นน้องที่จะมาสานต่อ เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ฝึกน้องรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีม จากเดิมมีสมาชิกอยู่กว่า 30 คน ค่อยๆ ลดเหลือเพียง 20 คน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้เมื่อมี โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2 ทีมทำงานซึ่งประกอบด้วย ชมพู่ แป้ง-ธัญญารัตน์ แหวนวงษ์ ส้ม-วาสนา อ่อนสุข เป็ก-ปรัชญา ราศี และ น้ำชา-กชกร ขบวนรัมม์ จึงสนใจร่วม เพราะมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะช่วยผลักดันให้เกิดเยาวชนรุ่นน้องขึ้นมาสืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านให้คงอยู่ตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อเจ้าอาวาส และเป็นความตั้งใจของกลุ่มเยาวชนรุ่นพี่บ้านระกาในปัจจุบัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนบ้านพิมายและบ้านระกา เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่ติดกัน สามารถนัดแนะและตามตัวกันได้ง่าย
ชมพู่บอกว่า จำความได้เธอเองก็ชอบรำ ชอบเล่นการแสดงแบบนี้มาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พอที่วัดมีกลุ่มเยาวชนเลยมาเข้าร่วม เพราะมีรุ่นพี่คอยสอนและแนะนำท่ารำต่างๆ ให้ รู้สึกมีความสุขเวลาที่ได้รำ ยิ่งการแสดงกันตรึมจะมีช่วงท้ายที่นางรำต้องออกไปเชิญผู้ร่วมงานมารำด้วยกัน เวลาเห็นคนออกมารำยิ้มแย้มมีความสุขเราก็มีความสุขตามไปด้วย เลยอยากรักษาบรรยากาศและความรู้สึกแบบนี้ให้มีอยู่ในชุมชน
ทีมงาน เล่าว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้มีแรงฮึดอยากผลักดันให้เกิด โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน เกิดขึ้นเมื่ออดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านระกาคนแรก ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่มาร่วมร้องร่วมเล่นกันตรึมกับพวกเขาเสียชีวิตลงเมื่อ 2 ปีก่อน “ตอนที่คุณปู่อยู่ ทั้งที่แก่มากแล้วแกก็ยังมาทำกิจกรรมกับพวกเรา แล้วพวกเรายังมีแรงอยู่ขนาดนี้ ทำไมถึงไม่ทำต่อ ไม่รักษาไว้ให้ได้”
>> รู้ให้ลึกถึงรากวัฒนธรรม
“ทักษะการร้อง รำ และเล่นดนตรี ทั้งกลอง ซอ ฉิ่ง ฉาบ และกรับ แบบแว่วเสียงสำเนียงอีสาน เป็นสิ่งที่ทีมงานทำได้อยู่แล้ว...แต่สิ่งที่ขาดคือความรู้ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหมู่บ้าน ประวัติการละเล่นกันตรึม รวมถึงความรู้เรื่องเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงกันตรึมในงานประเพณีต่างๆ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงต้องลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชน ปราญช์ชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นฐานข้อมูลชุมชน”
แป้ง เล่าถึงที่มาที่ไปของการละเล่นกันตรึมว่า กันตรึมเป็นการละเล่นพื้นบ้านภาคอีสานที่เกษตรกรใช้ขับร้องและเล่นร่วมกัน เพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการทำไร่ทำนา อีกแง่หนึ่งเชื่อกันว่ากันตรึมเป็นดนตรีบำบัดที่ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ผู้คนได้ ซึ่งการละเล่นกันตรึมของพวกเขาแตกต่างจากที่เห็นในรายการโทรทัศน์ลิบลับ กันตรึมไม่ใช่เพลงจังหวะโจ๊ะๆ ที่เล่นร่วมกับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ และแดนเซอร์แต่งตัววิบวับ ออกมาเต้นในจังหวะเร้าใจ แต่กันตรึมพื้นบ้านใช้เครื่องดนตรีเหมือนดนตรีไทย ประกอบกับการรำและการขับร้องสำเนียงเขมร การร้องนี้เองที่เป็นจุดเด่นของกลุ่มกันตรึมเยาวชนบ้านระกา “ที่อื่นอาจจะมีแค่เล่นดนตรีกับรำ แต่ของเรามีการร้องเพลงด้วย แล้วก็ร้องเป็นภาษาเขมร คนก็ยิ่งชอบเพราะสนุก” แป้ง ขยายความ
เมื่อตั้งใจแล้วว่าจะอนุรักษ์และสืบสานกันตรึมด้วยการส่งต่อความรู้สู่รุ่นน้อง กลุ่มแกนนำเยาวชนจึงจัดเวทีชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้รับรู้ถึงการทำโครงการโดยส่งจดหมายเชิญไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการชุมชนทั้ง 10 หมู่บ้าน พร้อมทั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลและจังหวัด อีกทั้งยังประสานงานผู้ใหญ่บ้านช่วยประกาศเสียงตามสายให้ลูกบ้าน รวมถึงให้เด็กและเยาวชนในชุมชนให้รับรู้โดยทั่วกัน โดยมีชมพู่และฝนเป็นผู้ชี้แจง
“ก่อนวันงานพวกเราแบ่งกันไปส่งหนังสือเชิญตามชุมชน แล้วก็เชิญผู้นำชุมชนบ้านพิมายมาร่วมด้วย เพราะเป็นพื้นที่ใกล้กัน บ้านระกากับบ้านพิมายเมื่อก่อนเคยเป็นตำบลเดียวกัน ในวันจริงมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กมาร่วมเวที แม้จะไม่เยอะอย่างที่คิด แต่ถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้เราได้มีโอกาสสื่อสารกับชุมชน กระตุ้นให้เขารับรู้ด้วยว่า พวกเราเป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง” ชมพู่ กล่าว
ทักษะการร้อง รำ และเล่นดนตรี ทั้งกลอง ซอ ฉิ่ง ฉาบ และกรับ แบบแว่วเสียงสำเนียงอีสาน เป็นสิ่งที่ทีมงานทำได้อยู่แล้ว จากความอนุเคราะห์ของพระครูเจ้าอาวาสที่เชิญครูธงชัย สามสี ผู้รู้ตัวจริงเสียงจริงด้านกันตรึมจากจังหวัดสุรินทร์ มาสอนและฝึกฝนให้เมื่อหลายปีก่อน แต่สิ่งที่ขาด คือความรู้ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหมู่บ้าน และการละเล่นกันตรึม รวมถึงความรู้เรื่องเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงกันตรึมในงานประเพณีต่างๆด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงต้องลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชน ปราญช์ชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เป็นฐานข้อมูลชุมชน หลังจากนั้นจึงนำประวัติศาสตร์ความรู้มานำเสนอแก่เด็กและเยาวชนในค่ายเรียนรู้การละเล่นกันตรึมพื้นบ้านที่จะจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 8 วัน โดยไม่ค้างคืนในช่วงเวลาถัดไป
ส้ม เสริมว่า นอกจากทักษะด้านการแสดงแล้ว การศึกษาข้อมูลของชุมชนและที่มาของการละเล่นกันตรึมเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากมีตัวอย่างให้เห็นหลายครั้งว่า เมื่อออกไปแสดงกันตรึมในต่างพื้นที่ มักมีคนเข้ามาถามเสมอถึงชุมชนบ้านเกิดและที่มาของกันตรึมอยู่เสมอ
“เวลาที่เราไปแสดงกันตรึมจะมีคนเดินเข้ามาถามว่าเรามาจากไหน พอเราตอบว่ามาจากบ้านระกา เขาก็จะถามต่อว่าอยู่ที่ไหน ทำไมชื่อบ้านระกา แล้วมาแสดงกันตรึมได้ยังไง เมื่อก่อนมีคนถามตอบไม่ได้เลย ขนาดถามว่าทำไมชื่อบ้านระกา เราอยู่มาตั้งแต่เกิดก็ยังไม่รู้ พอเราได้ไปถามผู้รู้ก็ได้รู้ว่าเป็นเพราะสมัยก่อนแถบนี้มีต้นระกาเยอะ เลยคิดว่าบ้านของเราเองแท้ ๆ ทำไมเราตอบไม่ได้”ส้ม กล่าว
ทีมงาน ยกตัวอย่างข้อมูลที่เก็บได้จากการพูดคุยกับยายทอง บ้านฆ้องน้อย ตำบลพิมายเหนือซึ่งเป็นผู้รู้ด้านดนตรีว่า แต่ก่อนโน้ตดนตรีกันตรึมไม่เคยมีการจดบันทึก อาศัยเพียงการจำและการเทียบเสียงเท่านั้น ดังนั้นท่วงทำนองการเล่นจึงไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นดนตรีกันตรึมแล้วเป็นที่รู้กันว่าผู้ร่วมรับฟังจะได้รับความสนุกสนานจากจังหวะและทำนองของดนตรี ซึ่งพวกเขาก็เห็นด้วย เพราะสิ่งนี้คือ เสน่ห์ของกันตรึมที่ดึงดูดใจพวกเขา
>> เปิดพื้นที่เรียนรู้...กันตรีมพื้นบ้าน
ค่ายเรียนรู้กันตรึมการละเล่นพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมที่ทีมงานตั้งใจจัดขึ้น เพื่อส่งต่อข้อมูลและทักษะการแสดงกันตรึมให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป โดยเป็ก บอกว่า จุดประสงค์หลักของการจัดค่ายครั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้มีโอกาสลองฝึกลองเล่น ซึ่งน่าจะช่วยชักจูงใจได้ดีกว่าแค่การเชิญชวนแบบบอกกล่าว
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อทีมงานประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครเด็กและเยาวชนกับโรงเรียนในเขตเทศบาลตำบลปรางค์กู่ ทั้งโรงเรียนอนุบาลปรางค์กู่ โรงเรียนบ้านเหล็ก และโรงเรียนบ้านกอกหวานแล้ว ผลปรากฏว่ามีเด็กๆ สนใจสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมากเกินจากเป้าที่วางไว้เกือบครึ่ง แต่กลับไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เพราะนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้นให้ความสนใจมากกว่าระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ทีมงานจึง วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัญหาว่า พฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลส่งผลต่อความสนใจของน้องๆ เนื่องจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้นมีโอกาสใช้โซเชียลมีเดียน้อยกว่า เลยยังสนุกและสนใจเรื่องราวรอบตัว ไม่เหมือนนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายที่หันไปสนใจสิ่งไกลตัวผ่านหน้าจอมือถือมากขึ้น
“ตอนแรกเราคิดว่าน้องๆ ชั้นประถมศึกษาตอนปลายเป็นช่วงวัยที่ไม่เด็กเกินไป มีความสนใจใฝ่หาความรู้และยังเชื่อฟังรุ่นพี่ แต่กลับเป็นเด็กชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่สนใจมากกว่า เราประเมินจำนวนสมาชิกในทีมประมาณ 15 คนที่พอจะมาเป็นวิทยากรได้ คิดกันว่ารับสมัครเด็ก ๆ สัก 25 คนกำลังพอดี เพื่อที่เราจะได้ดูแลน้องได้ทั่วถึง แต่เอาเข้าจริงมีน้อง ๆ มาเข้าร่วมมากถึง 43 คน เราก็รับไว้ เพราะไม่อยากให้น้องเสียความตั้งใจ แต่ก็เป็นงานที่หนักมาก” ชมพู่ กล่าว
ด้านน้ำชา มือฉาบประจำทีม บอกว่า ค่ายครั้งนี้พวกเขาใช้เวลาอบรมนานถึง 8 วัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นของทุกวัน กิจกรรมเริ่มต้นจากการแนะนำให้น้องๆ รู้จักเครื่องดนตรีกันตรึม แสดงการละเล่นให้น้องดูเป็นตัวอย่าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ จากนั้นแบ่งกลุ่มน้องออกเป็น 3 กลุ่มตามชนิดเครื่องดนตรีที่ตัวเองสนใจและชอบเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มนางรำ ดูแลโดยชมพู่และแป้ง กลุ่มซอ ดูแลโดยส้ม และกลุ่มเครื่องเคาะจังหวะอย่างกลอง ฉิ่ง ฉาบและกรับ ดูแลโดย น้ำชา แนนและเป๊ก
ในแง่ของวิธีการทำงานนั้น ชมพู่ บอกว่า วิทยากรแต่ละกลุ่มจะต้องประชุมงานก่อนสอนทุกครั้งว่าในแต่ละวันจะสอนอะไรและต้องทำอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ 4 บทเพลงหลักที่ทุกกลุ่มสามารถแสดงได้ในวันจบค่าย ได้แก่ มงคลจองใด (มงคลผูกแขน) อันเร (ลาวกระทบไม้) โมตาเนียและเมดเล่
“หลังจากวันแรกน้องๆ ก็เริ่มหายไป 2-3 คน บางคนก็มาวันเว้นวัน เราก็ต้องปรับให้บรรยากาศการเรียนการสอนสนุกยิ่งขึ้น นำกิจกรรมสันทนาการมาใช้ก่อนเรียนทุกวัน ซึ่งพบว่าน้องๆ ชอบมาก แต่พอเข้าช่วงเรียนน้องก็มีซนบ้าง สมาธิหลุดบ้าง เราต้องเตือนแล้วพยายามดึงเขาให้กลับมาฝึกต่อ ก่อนกลับบ้านทุกวันจะให้แต่ละกลุ่มออกมาโชว์ว่าวันนี้เรียนอะไรไปบ้าง เรียนไปถึงไหนกันแล้ว” ชมพู่ อธิบาย
ชมพู่บอกต่อว่า กลุ่มรำกับซอจะมีนักเรียนเยอะที่สุด วิธีสอนเล่นเครื่องดนตรีของทีมคือ จะให้น้องท่องโน้ตก่อน แล้วสลับกันซ้อม เพราะเครื่องดนตรีบางอย่างมีไม่พอ ส่วนของเครื่องเคาะจังหวะ พอแยกกันไปฝึกแล้วก็ต้องกลับมารวมกัน เนื่องจากเครื่องเคาะ ต้องตีตามจังหวะกลอง
ด้านรุ่นพี่แกนนำรุ่นบุกเบิกอย่าง การ์ตูน-พันทิวา แหวนวงษ์ เยาวชนบ้านระการุ่นบุกเบิก ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช บอกว่า เธอเคยมีความกังวลใจกลัวไม่มีใครมาสานต่องาน เพราะเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ในชุมชนสนใจดนตรีสากลมากกว่าการละเล่นพื้นบ้าน โชคดีที่มีน้องบางส่วนรักและสนใจศิลปะแขนงนี้ จึงสามารถส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นได้ จากเดิมที่มีสมาชิกกลุ่มเพียง 10 คน ปัจจุบันกลุ่มขยายจำนวนสมาชิกขึ้นมากว่า 30 คน และเปลี่ยนผ่านไปหลายรุ่น
“ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจกับความรู้ด้านการรำที่ติดตัวมาจนถึงตอนนี้ อะไรที่เป็นสากลใครๆ ก็รู้จักแต่ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมมีน้อยคนที่จะทำได้ เข้ามหาวิทยาลัยก็ยังมีโอกาสได้ออกไปแสดงตามงานต่างๆ ดีใจที่พอเราไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้วก็ยังมีน้องๆ มาสานต่อ เราเห็นพัฒนาการของน้องแต่ละรุ่น เพราะกลับมาไหว้ครูเกือบทุกปี แต่ละคนเริ่มจากไม่รู้จักดนตรีกันตรึมเลย แต่ทุกคนก็สนใจและพยายามฝึกซ้อมจนเก่ง” การ์ตูน กล่าวด้วยความซาบซึ้งใจ
ด้าน วราภรณ์ แหวนวงษ์ ผู้ปกครองของการ์ตูนและพี่เลี้ยงชุมชนบอกว่า เธอสนับสนุนให้ลูกทำกิจกรรมที่ลูกสนใจมาโดยตลอด ด้วยเห็นว่าเป็นการช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ทำให้ลูกไม่เป็นกบในกะลา และได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระครูเจ้าอาวาสเอ่ยปากชักชวนให้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงชุมชน เธอจึงตบปากรับคำโดยไม่ขัดข้อง
“แต่ไหนแต่ไรมาเราก็มาช่วยกิจกรรมที่วัดมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ที่ลูกมาเรียนมาทำกิจกรรมอยู่ที่นี่ เราก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ติดตัวเขาไปในอนาคต ยิ่งกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้สนิทกันอยู่แล้ว พวกเขาก็มาช่วยงานที่วัดเสมอ ขนาดเด็กยังสนใจแล้วเราเป็นผู้ใหญ่จะละเลยไปก็กระไรอยู่ ทำให้ไม่ลำบากใจที่จะต้องเข้ามาดูแลเด็กจำนวนไม่น้อย เพราะเห็นแล้วว่าทุกคนมีความตั้งใจ อาจจะมีความเป็นเด็กที่เล่นบ้างซนบ้าง แต่เขาพูดง่าย เชื่อฟังและยอมรับฟังเหตุผล” วราภรณ์ กล่าว
ในส่วนบทบาทของพี่เลี้ยงนั้น วราภรณ์ บอกว่า การสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำงาน เนื่องจากผู้ปกครองมักกลัวลูกโกหกเวลาบอกว่ามาทำกิจกรรม กลัวลูกออกไปเถลไถล เสียการเรียนและไม่ช่วยงานบ้าน
“ผู้ปกครองเด็กเองต้องเข้าใจด้วยว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว ไม่ได้เกิดจากการอ่านหรือท่องจำในตำราเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้จากการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือทำงานเพื่อสังคม จะทำให้เด็กได้ซึมซับและปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกทำให้เขาเติบโตไปเป็นคนดีของสังคมด้วย ถ้าผู้ใหญ่ให้ความสนใจและใส่ใจ เขาจะทำงานทุกอย่างเต็มที่โดยไม่อิดออด ผู้ปกครองต้องเข้าใจและให้พื้นที่เขาได้เรียนรู้”
>> เปลี่ยนเพราะเรียนรู้
“พอรุ่นพี่จบไปก็จะเป็นหน้าที่ของรุ่นเราต่อ เราจะไม่ทำก็ได้ แต่เพราะมีรุ่นพี่เป็นตัวอย่าง เราเลยอยากสานต่อกิจกรรมตรงนี้ให้เด็กคนอื่นๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเหมือนที่พี่ ๆ ให้โอกาสเรา เหมือนอย่างที่เขาดึงเราเข้ามาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้น”
เมื่อโครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ชมพู่ บอกว่า ดีใจและภูมิใจที่ได้สานต่อการละเล่นกันตรึมจากรุ่นพี่อย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรก เพราะนอกจากวิชาความรู้ด้านดนตรีที่จะอยู่ติดตัวไปตลอดชีวิตแล้ว กระบวนการทำงานยังฝึกทักษะชีวิตให้รู้จักการทำงานเป็นทีม เสียสละและไม่หนีปัญหา ทั้งหมดหล่อหลอมให้เธอมีภาวะความเป็นผู้นำ ซึ่งสำคัญมากสำหรับบทบาทการเป็นหัวหน้าทีมที่ต้องนำน้องๆ ในกลุ่มกว่า 30 ชีวิต
“ถ้าเราเป็นผู้นำแต่ไม่กล้าและไม่ฟัง ใครจะเชื่อและทำตามเรา การทำงานเป็นทีมต้องฟังความคิดเห็นของกันและกัน แล้วนำมาปรับใช้ให้งานเดินหน้าไปได้อย่างดีที่สุด อันที่จริงไม่คิดเหมือนกันว่าจะทำได้ แต่สถานการณ์บังคับให้เราต้องทำให้ได้” ชมพู่ยังกล่าวอีกว่า ประสบการณ์จากการทำงานเปลี่ยนแปลงนิสัยของเธอจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะเรื่องการควบคุมอารมณ์ จากเมื่อก่อนหากใครทำงานไม่ได้ดั่งใจจะโวยวาย แต่ระยะหลังสามารถควบคุมตัวเองและอดทนได้มากขึ้น ชมพู่วิเคราะห์ตัวเองว่าอาจเพราะเธอเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เลยเข้าใจเหตุผลและเข้าใจเงื่อนไขของคนอื่นมากขึ้น
ด้าน แนน บอกว่า ความเสียสละเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำงานเพื่อชุมชน เพราะทุกคนต้องสละเวลาส่วนตัวมาทำกิจกรรมส่วนรวมและต้องวางแผนจัดการภาระหน้าที่ของตัวเองไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เพื่อไม่ให้คนอื่นว่าได้
“ช่วงจัดอบรมสมาชิกในทีมบางคนมาช้าทำให้น้องต้องมารอ แต่ในฐานะรุ่นพี่เราควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้น้อง ถึงแม้ไม่อยากตื่นเช้าไม่ว่าใครก็ต้องตื่นมาให้ทันเวลา” แนน เอ่ยถึงภาพรวมของการทำงาน
กล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด และกล้าตัดสินใจ เป็นแพคเกจความกล้าที่ทีมงานทุกคนได้รับเป็นของขวัญจากการทำโครงการ แป้ง บอกว่า ความกล้าเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำ ในฐานะรุ่นน้องที่จะเข้ามารับช่วงต่อจากรุ่นพี่จึงต้องฝึกฝนตัวเองให้มีความกล้าในทุกเรื่อง เพื่อให้สามารถรับผิดชอบงานและสืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านต่อไปให้ได้
“พอรุ่นพี่จบไปก็จะเป็นหน้าที่ของรุ่นเราต่อ เราจะไม่ทำก็ได้ แต่เพราะมีรุ่นพี่เป็นตัวอย่าง เราเลยอยากสานต่อกิจกรรมตรงนี้ให้เด็กคนอื่นๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเหมือนที่พี่ๆ ให้โอกาสเรา เหมือนอย่างที่เขาดึงเราเข้ามาร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้น” แป้ง กล่าวอย่างมุ่งมั่น
นอกจากสำนึกความรับผิดชอบเพื่อส่วนรวมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแล้ว แป้งบอกว่า ความสะเพร่าที่เคยมีอยู่ในตัวหายไป ตอนนี้กลับกลายเป็นคนละเอียดรอบคอบอย่างเห็นได้ชัด “ตอนนี้เวลาทำอะไรจะตรวจทานสิ่งที่ทำก่อนเผยแพร่ออกไป เช่นเวลาเขียนรายงานส่งทีมพี่เลี้ยงโครงการก็จะทบทวนสิ่งที่เขียนอย่างละเอียดก่อน ไม่ได้ทำๆ ไปให้เสร็จเหมือนเมื่อก่อน”
ส่วน น้ำชา จากเดิมที่เป็นคนไม่ตรงต่อเวลา เพราะไม่สนใจไม่ใส่ใจคนอื่น คล้ายว่าเอาความสะดวกของตัวเองเป็นหลัก แต่เพราะเนื้องานของโครงการที่เน้นการทำงานเป็นทีม น้ำชาจึงปรับเปลี่ยนตัวเองมารับผิดชอบและมาตรงเวลามากขึ้น เพราะรู้สึกละอายใจหากมาช้า ในขณะที่คนอื่นๆ เดินทางมาถึงแล้ว ทำให้คนอื่นต้องมารอ
“มาเล่นกันตรึม ไม่ใช่แค่ได้ออกงาน ได้เงิน ชุมชนสังคมรับรู้ แต่เรารู้สึกดีและมีความสุขที่ได้มารวมกลุ่มกันทำกิจกรรม ยิ่งพอมีเสียงตอบรับที่ดี มีคนสนใจ ครอบครัวสนับสนุน เราก็ยิ่งมีกำลังใจที่จะสืบสานการละเล่นกันตรึมให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนต่อไป” น้ำชา กล่าว
เป๊ก บอกว่า ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างทีมงานเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเขา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลลัพธ์จากความสามัคคีของสมาชิกภายในทีมและความมุ่งมั่นที่อยากทำงานออกมาให้สำเร็จ
>> กันตรึมสร้างคน...
“โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ มีความพิเศษตรงที่เข้ามาเสริมและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้มีความกล้า ทั้งในแง่ของการกล้าคิด กล้าทำ นำมาสู่การกล้าแสดงออก เพราะผู้ใหญ่และทีมงานเปิดกว้างต่อสิ่งที่เด็กคิดและอยากทำ”
17 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันไหว้ครูและครอบครูของกลุ่มเยาวชนบ้านระกา ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงท้ายของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษพอดี ทีมงานจึงจัดเวทีให้น้องๆ ที่เข้าร่วมค่ายอบรมการละเล่นกันตรึมได้แสดงความสามารถต่อหน้ารุ่นพี่และคณะครูอาจารย์ที่มาร่วมงาน
“หลังอบรมในค่ายผ่านไป เรานัดน้องๆ มาฝึกซ้อมที่วัดช่วงวันเสาร์อาทิตย์ 9 โมง ถึง 4 โมงเย็น เพื่อทบทวนทักษะการแสดงตามที่เรียนมา แต่ช่วงใกล้วันไหว้ครูพวกเราเพิ่มวันเพื่อให้น้องๆ มีเวลาฝึกซ้อมมากขึ้นเป็นวันจันทร์ พุธ และพฤหัส ตั้งแต่ 4 โมงครึ่งถึง 5 โมงครึ่งหลังเลิกเรียน แต่ไม่ให้มืดค่ำ เพื่อที่จะได้มีเวลาไปทำการบ้านและเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย” ทีมงานเล่า
การแสดงของกลุ่มเด็กและเยาวชนในวันไหว้ครูมี 3 ชุดด้วยกัน ชุดแรก “โมตาเนีย” เป็นชุดไหว้ครูที่ทุกคนต้องรำ ชุดที่ 2 “ตัมรัยซอ” แปลว่า พญาช้างเผือก เป็นการแสดงของรุ่นพี่ที่มีความยากและซับซ้อน ปกติใช้รำเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และชุดสุดท้าย “เมดเล่” เป็นการแสดงที่รุ่นพี่รุ่นน้องรำด้วยกันและแสดงออกซึ่งความสนุกสนาน
การผันบทบาทจากศิษย์มาเป็นครู ทำให้ทีมงานรู้ซึ้งถึงความอดทนและบทบาทหน้าที่ของครูที่ต้องคอยเคี่ยวกรำให้ศิษย์ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด
“เราเป็นลูกศิษย์ของวัด เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ ต่อให้ไปเรียนต่อนอกชุมชนก็จะกลับมาไหว้ครูให้ได้ทุกปี ขนาดตัวเราเองเห็นรุ่นพี่กลับมาเรายังดีใจ ตัวเราออกไปแล้วก็ควรกลับมาเป็นกำลังใจให้รุ่นน้อง” ชมพู่ กล่าว
พระครูปริยัติ สีลาภรณ์ กล่าวสรุปว่า บรรดาดนตรีไทยและดนตรีพื้นเมืองทั้งหลายเป็นดนตรีเยือกเย็นทำให้จิตใจคนมุ่งสู่ศีลธรรมและเป็นสมาธิได้ง่าย ทั้งนี้ ดนตรีไทยมีธรรมะที่เด็กและเยาวชนได้รับไปโดยตรงโดยไม่ต้องสอนอยู่ 5 ประการ ได้แก่ 1.สติ เพราะหากไม่มีสติรับรู้คงไม่สามารถเล่นได้ถูกเนื้อถูกทำนอง 2.ขันติ หรือความอดทน จากตอนแรกเด็ก ๆ เล่นได้ไม่นานก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูขึ้นมาอ่าน ตอนนี้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เขาจะรู้ว่าตอนไหนควรเล่นไม่ควรเล่น 3.วิริยะ คือ ความเพียร ทุกคนต้องฝึกซ้อมจากที่ทำไม่ได้เลย เล่นไม่เป็นเลย มาเป็นครูสอนรุ่นน้องให้เก่งขึ้นมาได้ 4.สมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่ทำ และท้ายที่สุดคือ 5. ความสามัคคี เพราะการบรรเลงดนตรีต้องเล่นพร้อมกันไปตามจังหวะทำนองเดียวกัน ถ้าไม่สามัคคีกันคงเล่นกันไปไม่เป็นเพลง
ขณะที่พี่เลี้ยงในชุมชนอย่าง วราภรณ์ ย้ำว่า โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ มีความพิเศษตรงที่เข้ามาเสริมและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนให้มีความกล้า ทั้งในแง่ของการกล้าคิด กล้าทำ นำมาสู่การกล้าแสดงออก เพราะผู้ใหญ่และทีมงานเปิดกว้างต่อสิ่งที่เด็กคิดและอยากทำ
“ถึงแม้การรวมกลุ่มของเยาวชนที่นี่จะมีมานานแล้ว แต่ตัวพี่เลี้ยงเองหรือแม้แต่เด็ก ๆ ก็อยากพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก อยากต่อยอดสิ่งที่ทำและเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับชุมชน โครงการนี้ทำให้เด็กหรือแม้แต่พี่เลี้ยงได้เห็นโลกที่กว้างขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโครงการอื่นๆ เด็กบางคนจากเดิมอยู่ในกลุ่มเป็นผู้ตามตลอด แต่พอได้ออกไปเจอเพื่อนใหม่ต้องแยกกลุ่มจากเพื่อนกลุ่มเดิม เขาก็สามารถเป็นผู้นำได้กิจกรรมทั้งหมดเหมือนได้เติมพลังและมีแรงส่งให้ทำในสิ่งที่ทำอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก”
โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านแสดงให้เห็นว่าดนตรีพื้นบ้านไม่เพียงสามารถสร้างงาน สร้างเงิน แต่ยัง “สร้างคน” ให้รู้ รัก และหวงแหนความดีงามที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งความดีงามในประเพณีวัฒนธรรม ที่อาจเคยหายไป แต่ก็สามารถนำกลับคืนมาได้ และสามารถสืบสานให้คงอยู่ต่อไปด้วยการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และความดีงามในตัวตนของแต่ละบุคคลที่มีดนตรีช่วยขัดเกลาจิตใจจนเกิดสมาธิและปัญญาทั้งทางโลกและทางธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตเพื่อตนเองและผู้อื่นต่อไป จึงไม่แปลกที่วันนี้เสียงสำเนียงกันตรึมพื้นบ้านยังคงก้องกังวานอยู่ในหัวใจของคนบ้านระกา
โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน
พี่เลี้ยงชุมชน :
- พระครูปริยัติ สีลาภรณ์ (เจ้าอาวาสวัดระกา)
- วราภรณ์ แหวนวงษ์ (ผู้ปกครอง)
ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนโรงเรียนปรางค์กู่ ตำบลพิมาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ