แสนแก้วร่วมใจ สานสายใยด้วยภูมิปัญญา
โครงการเด็กแสนร่วมใจ สร้างรายได้ เสริมชีวิต
- ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ ใช่เพียงส่งผลดีต่อเด็ก แต่ยังเอื้อต่อชุมชนด้วย เวลาชุมชนมีกิจกรรม จะมีเด็ก ๆ เข้ามาช่วยเหลืองานอย่างเต็มใจ จนทำให้เขามีความหวังว่า สิ่งดี ๆ จากการทำโครงการจะค่อย ๆ ขยายไปสู่เด็กและเยาวชนคนอื่น เพื่อคลี่คลายปัญหาที่พบอยู่ในปัจจุบัน
- บ้านแสนแก้ว ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อคิดทำโครงการ ทีมงานซึ่งประกอบด้วย เอ็ม-กิตติศักดิ์ นรดี แป้ง-ณัฐธิดา แสงมาศ แพน-นันทกา พันธะมาศ บีม-พรรนิดา โสพันธ์ เทม-พสุธร นาคนวล และดาว-วิไลวรรณ วิเศษชาติ จึงคิดใช้เกษตรกรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาเป็นโจทย์โครงการ โดยหวังว่าโครงการนี้ จะทำให้ได้เรียนรู้การสร้างอาชีพ เกิดแหล่งอาหารพร้อมสร้างรายได้แก่ตัวเองและชุมชน
+ ค้นหาโจทย์จากทุนชุมชน
“การลงพื้นที่ทำให้เรารู้ว่าคนในชุมชนประกอบอาชีพอะไรบ้าง...จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาระดมความคิด จนได้คำตอบว่าจะ “เลี้ยงปลา” และ “ทำขนม” เพราะมีบ่อปลาดุกของชุมชนที่พวกเขาสามารถใช้งานได้ ส่วนการทำขนมก็มีกลุ่มแม่บ้านที่ทำอยู่แล้ว น่าจะมาช่วยสอนพวกเขาได้”
“พี่แลมาชวนว่ามีโครงการพัฒนาเยาวชน พวกเราอยากทำไหม เราเห็นว่าน่าสนใจ ก็อยากลองดู เผื่อจะช่วยพัฒนาหมู่บ้านของเราให้ดีขึ้น” แป้ง เกริ่นนำถึงการเข้ามาทำโครงการของเธอและเพื่อน ๆ จากการชักชวนของ พี่แล-สิดาวรรณ ไชยภา พี่เลี้ยงชุมชน โครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมกับกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษตั้งแต่ปี 1 ก่อนเล่าต่อถึงบรรยากาศวันแรกของการตั้งต้นโครงการว่า วันนั้นเด็ก ๆ ในหมู่บ้านส่วนใหญ่ต่างก็เข้าประชุม แต่หลายคนออกตัวว่า มีธุระบ้าง ติดทำงานบ้าง จึงไม่สะดวกทำโครงการ กระทั่งเหลือเพียงไม่กี่คน จนมารวมทีมกันทำโครงการในที่สุด
แพนและบีม เอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า เห็นตรงกับแป้งว่าโครงการดูน่าสนใจ เพราะเคยเห็นกลุ่มเยาวชนของพี่แลทำแล้วเกิดประโยชน์กับตัวเอง และคาดว่าน่าจะช่วยพัฒนาหมู่บ้านได้
ด้านเอ็ม พี่ใหญ่ของกลุ่มที่ควบตำแหน่งหัวหน้าโครงการและประธานเยาวชนของหมู่บ้าน กลับมีมุมมองที่ต่างออกไปคือ อยากช่วยเยาวชนในหมู่บ้านที่ไม่มีงานทำ และคิดว่าโครงการนี้น่าจะเป็นช่องทางที่ดีในการสร้างอาชีพได้
แป้ง เล่าว่า ตอนแรกพวกเขาอยากทำโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง แต่พอวิเคราะห์ถึงศักยภาพแล้วน่าจะเกินกำลังของทีมงาน และเกินเวลาทำโครงการ จนมาลงตัวที่การปลูกผัก เพราะทุกคนต่างเคยปลูกผักสวนครัว อาทิ ผักบุ้ง คะน้า ไว้รับประทานในครัวเรือนอยู่แล้ว
แต่เมื่อพี่มวล-ประมวล ดวงนิล พี่เลี้ยงโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ชวนคิดให้พวกเรามองหาทุนในชุมชน ด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน ซึ่งกระบวนการนี้นอกจากจะทำให้พวกเขารู้จักชุมชนมากขึ้นแล้ว ยังได้เริ่มต้นฝึกฝนการทำงานเป็นทีมจากการแบ่งหน้าที่ทำงาน เช่น การคิดคำถาม การถาม และการจด เป็นต้น
“การลงพื้นที่ทำให้เรารู้ว่าคนในชุมชนประกอบอาชีพอะไรบ้าง อาทิ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงจิ้งหรีด ทำขนม ปลูกผัก แต่พอมาประชุมแล้วให้แต่ละคนเสนอความคิดเห็นว่าอยากทำอะไร บางคนอยากปลูกผัก บางคนอยากเลี้ยงปลา เล่นกีฬา และทำขนม” เอ็มกล่าว และบอกต่อว่า พวกเขาจึงนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน แล้วระดมความคิด ช่วยกันเขียน ช่วยกันเสริม จนตัดสินใจได้ว่าควรตัดการปลูกผักออกไป เนื่องจากสภาพดินช่วงนั้นค่อนข้างแข็ง ไม่เหมาะสำหรับเพาะปลูก
เมื่อตัดเรื่องการปลูกผักออกไป ทีมงานช่วยกันรวบรวมความคิดอีกครั้งว่าจะทำอะไร จนได้คำตอบคือ “การเลี้ยงปลา” และ “ทำขนม” เพราะมีบ่อปลาดุกของชุมชนที่พวกเขาสามารถใช้งานได้ ส่วนการทำขนมก็มีกลุ่มแม่บ้านที่ทำอยู่แล้ว น่าจะมาช่วยสอนพวกเขาได้ นอกจากเพื่อเรียนรู้กันในทีมแล้ว ยังต้องการให้เพื่อนที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อ ไม่มีงานทำ มาร่วมเรียนรู้เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และฝึกความรับผิดชอบต่อตัวเองอีกด้วย
+ สืบค้นความรู้...ก่อนลงมือทำ
จากการเริ่มต้นสืบค้นข้อมูลภาพรวมของชุมชน มาสู่การเจาะลึกความรู้กับผู้รู้ภายในชุมชน โดยทีมงานเลือกลงไปเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงปลาดุกเป็นอันดับแรกกับ ลุงมวล นาคนวล ปราชญ์ชุมชนด้านการเลี้ยงปลาดุก ตั้งแต่การหาพันธุ์ปลา วิธีเตรียมบ่อ การดูแลและให้อาหารปลา เอ็มเล่าถึงบรรยากาศการเรียนรู้เรื่องปลาดุก ว่า “ลุงมวลเล่าขั้นตอนการเลี้ยงปลาทั้งหมดให้ฟังว่า การเลี้ยงปลาดุกจะมี 2 แบบ ได้แก่ เลี้ยงในบ่อดินกับบ่อซีเมนต์ แต่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงในบ่อดินเพราะต้นทุนต่ำ วิธีการเตรียมบ่อดิน หลังจากขุดเสร็จต้องกำจัดกรวดหินออกให้หมด แล้วนำผ้ายางมารองก้นบ่อ ก่อนจะปล่อยปลาลงไป”
หลังจากไปเรียนรู้กับลุงมวลแล้ว ทีมงานกลับมาสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ได้จากทั้ง 2 แหล่ง มีความแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งดีที่พวกเขารู้จักตั้งข้อสงสัย ซึ่งจะทำให้การทำโครงการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในความรู้ โดยพบว่าข้อมูลที่ได้จากผู้รู้และอินเทอร์เน็ตมีความคล้ายกัน
ส่วนการทำขนม ทีมงานเห็นว่าน่าจะเป็นงานที่ผู้หญิงถนัดกว่า จึงให้แป้งเป็นหัวหน้าทีม มีน้าทอง-ทัศลักษณ์ นาคนวล กรรมการหมู่บ้านหมู่ 2 และเป็นประธานกลุ่มสตรีของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นแม่ของเทม อาสาเข้ามาเป็นผู้รู้ถ่ายทอดความรู้ด้านการทำขนมให้กับทีมงาน
โดยขนมที่ทีมงานเลือกเรียนเป็นอย่างแรกคือ ขนมเกสรดอกลำเจียก ขนมไทยโบราณ ตัวขนมมีลักษณะคล้ายดอกลำเจียกที่สุกงอมเต็มที่ กลีบเกสรจะแตกออก ละอองเกสรจะส่งกลิ่นหอมตลบอบอวน ไส้ที่ทำจากมะพร้าวกวนกับน้ำตาลทราย แต่งด้วยสีจากธรรมชาติ และกลิ่นจากน้ำใบเตย ห่อด้วยแป้งข้าวเหนียวที่ผ่านการร่อนบนกระทะ รสชาติหอมหวาน สัมผัสนุ่มละมุน
โดยที่มาที่ไปของภูมิปัญญาการทำขนมในหมู่บ้านแสนแก้วนั้น น้าทอง เล่าว่า เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ที่กลุ่มสตรีในหมู่บ้านรวมตัวไปเรียนทำขนม เช่น ขนมใส่ไส้ ขนมปั้นสิบ เพราะต้องการมีอาชีพเสริม ส่วนขนมดอกจอกกับเกสรดอกลำเจียกเป็นสูตรของคุณยายไสวกับคุณยายกุหลาบ 2 พี่น้อง ซึ่งอาศัยอยู่บ้านสนิท หมู่บ้านข้างเคียง ซึ่งเคยหาบมาขายที่บ้านแสนแก้ว พี่สาวของน้าทองไปอาศัยอยู่กับญาติที่บ้านสนิท ได้ไปดูยายทำ จึงนำกลับมาทำขายที่บ้าน ตัวน้าทองเองจึงสืบทอดสูตรต่อจากพี่สาว
+ บทเรียนจากการปฏิบัติจริง
“ถ้าใครไม่เคยทำคงบอกว่ายาก ตอนแรกเราก็ว่ายาก แต่ทำไปเรื่อย ๆ จึงรู้ว่าต้องไม่ใจร้อน อดทน ค่อย ๆ ทำ โดยเฉพาะตอนพับที่จะพับเร็วมากไม่ได้ เดี๋ยวไส้แตกไม่สวย แต่ถ้าพับช้าเกินไป ขนมก็จะกรอบจนแตกอีก แล้วพอเริ่มชินมันก็ง่ายและสนุกดี”
บีมเล่าถึงบรรยากาศการเรียนกับน้าทองว่า “ถ้าใครไม่เคยทำคงบอกว่ายาก ตอนแรกเราก็ว่ายาก แต่ทำไปเรื่อย ๆ จึงรู้ว่าต้องไม่ใจร้อน อดทน ค่อย ๆ ทำ โดยเฉพาะตอนพับที่จะพับเร็วมากไม่ได้ เดี๋ยวไส้แตกไม่สวย แต่ถ้าพับช้าเกินไป ขนมก็จะกรอบจนแตกอีก แล้วพอเริ่มชินมันก็ง่ายและสนุกดี”
ด้านแป้ง เล่าถึงความประทับใจและเทคนิคส่วนตัวที่ค้นพบจาการทำขนมว่า เธอชอบขั้นตอนการนวดแป้งที่สุด เหมือนได้นวดด้วยเล่นไปด้วย ส่วนขั้นตอนที่คิดว่ายากคือ การพลิกขนม เนื่องจากกลัวแป้งฉีกขาด แล้วไส้จะแตกออกมา ซึ่งอันแรกที่ทำออกมาก็เละมาก แต่น้าทองก็ใจเย็น ค่อย ๆ พาทำ กระทั่งแป้งพบว่า ขนมที่ทำออกมาได้สวย แป้งต้องไม่กรอบมาก สุกแบบพอดี ซึ่งการทำขนมให้ออกมาสวยเช่นนี้ได้ คนทำต้องไม่รีบร้อน ใจเย็น และต้องมีสมาธิอยู่ตลอดเวลา
น้าทอง เสริมถึงความรู้สึกในการสอนกลุ่มเยาวชนว่า “สอนเด็ก ๆ ไม่ค่อยยาก เพราะพวกเขาเป็นเด็กที่สอนได้ บอกได้อยู่แล้ว แต่สอนทีเดียวแล้วจะให้ทำเป็นเลยคงไม่ได้ เพราะการทำขนมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยากให้เขามาถาม มาดู มาฝึกเพิ่มเติมบ่อย ๆ”
แม้จะเพิ่งเรียนได้ไม่กี่ครั้ง แต่แพนบอกว่า เธอรู้สึกดีใจที่ได้มาเรียนรู้ และสืบสานการทำขนมเกสรดอกลำเจียก เนื่องจากปัจจุบัน คนที่ทำขนมเกสรดอกลำเจียกในหมู่บ้านมีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่มีเด็กรุ่นใหม่สนใจเข้ามาเรียนรู้เลย ถ้าพวกเธอไม่เข้ามาเรียนรู้อีกหน่อยขนมเกสรดอกลำเจียกอาจหายไปจากชุมชนเราก็ได้ เมื่อถามถึงความรู้สึกทีมงานบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนที่ทำขนมได้ชิ้นแรกรู้สึกภูมิใจมาก กินแล้วอร่อยทั้งที่ฝีมือและหัวใจ
ในส่วนของการเลี้ยงปลาดุก เมื่อเรียนรู้ภาคทฤษฎีจากลุงมวลจนมั่นใจแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือปฏิบัติจริง ทีมงานตัดสินใจใช้บ่อของชุมชนเลี้ยงปลาดุกตามความตั้งใจเดิม โดยชักชวนเพื่อน ๆ ในชุมชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือเข้ามาช่วยด้วย เพื่อสร้างการเรียนรู้และฝึกอาชีพไปพร้อมกัน
เอ็ม บอกต่อว่า บ่อเลี้ยงปลาแห่งนี้คนในชุมชนร่วมกันลงขันสร้าง เป็นบ่อปูนขนาด 2x3 เมตร จำนวน 3 บ่อ และหุ้นกันเลี้ยงปลา ก่อนจะยกเลิกไป สภาพของบ่อในปัจจุบันมีรอยแตกร้าว เก็บน้ำไม่ได้ 2 บ่อ เพราะไม่ได้ใช้เป็นเวลานาน ทีมงานแก้ปัญหาโดยนำผ้ายางมาปิดไว้ ไม่ให้น้ำรั่ว พร้อมกับเตรียมหาซื้อพันธุ์ปลาตัวละ 1 บาท ขนาดเล็กกว่านิ้วก้อย จำนวน 2,000 ตัวไว้รอ หลังซ่อมแซมบ่อเสร็จแล้ว ทีมงานจัดการสูบน้ำใส่บ่อ 1 บ่อก่อน เมื่อ 1 สัปดาห์ผ่านไป จึงเปลี่ยนน้ำ และใส่น้ำลงไปในอีก 2 บ่อ พร้อมแยกปลาไปลงตามขนาดตัวแบ่งเป็นเล็ก กลาง และใหญ่
แป้ง เล่าต่อว่า เมื่อเลี้ยงปลาโตประมาณนิ้วชี้ พวกเราต้องทำการคัดแยกขนาดปลาเป็น 3 บ่อ แต่ระหว่างสูบน้ำลงบ่อ พวกเราปิดเครื่องไม่ถูก ทำให้ปลาถูกดูดเข้าไปด้วย พอเปิดเครื่องออกมาจึงเห็นว่าปลาตายไปประมาณ 10 กว่าตัว
ข้อผิดพลาดดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนแรกที่สอนให้ทีมงานรู้จักวิธีการเลี้ยงปลาดุกของจริงจากการลงมือทำ ก่อนมีบทเรียนอีกหลากหลายตามมา ทั้งการแยกปลาลงบ่อ ที่ต้องอาศัยการสังเกตและแบ่งขนาด การฝึกความรับผิดชอบตามเวรให้อาหาร และบทเรียนสำคัญคือ ทักษะชีวิตที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับใช้ชีวิตในสังคมข้างหน้า
+ ผลลัพธ์ และการเปลี่ยนแปลง
“เมื่อก่อนเป็นคนขี้อาย ไม่ชอบออกมานำเสนอ แต่พอต้องทำแล้วทำได้ก็รู้สึกภูมิใจ สิ่งที่ทำให้กล้า เล่ากล้านำเสนอคงมาจากการลงมือทำ และจากที่เคยขี้เกียจ ก็เปลี่ยนมามีความรับผิดชอบมากขึ้น มาตรงเวลา และรู้จักจัดสรรเวลาทั้งการทำกิจกรรม ทำการบ้าน และทำงานบ้าน”
บทเรียนจากการลงมือทำ นอกจากจะสร้างทักษะชีวิตให้ทีมงานแล้ว กระบวนการทำโครงการ ตั้งแต่ต้นจนจบ ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวของทีมงานแต่ละคนอย่างคาดไม่ถึง
แป้งเล่าว่า เดิมเธอเป็นคนขี้อายและขี้เกียจ แต่เมื่อได้เข้ามาทำโครงการ ทำให้พบความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายในตัวเอง
“เมื่อก่อนเป็นคนขี้อาย ไม่ชอบออกมานำเสนอ แต่พอต้องทำแล้วทำได้ ก็รู้สึกภูมิใจ สิ่งที่ทำให้กล้าเล่า กล้านำเสนอคงมาจากการลงมือทำ และจากที่เคยขี้เกียจ ก็เปลี่ยนมามีความรับผิดชอบมากขึ้น มาตรงเวลา และรู้จักจัดสรรเวลาทั้งการทำกิจกรรม ทำการบ้าน และทำงานบ้าน”
ด้านบีมก็มีความเปลี่ยนแปลงคล้ายกับแป้ง จากคนที่ไม่กล้าแสดงออก โครงการนี้ทำให้เธอได้โอกาสฝึกความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้านำเสนอ ซึ่งเธอรู้สึกชอบความเปลี่ยนแปลงนี้ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ส่วนแพน นอกจากเกิดความกล้าแสดงออกแล้ว ยังเปลี่ยนนิสัยที่เคยใจร้อน ขี้หงุดหงิด ให้กลายเป็นคนใจเย็นมากขึ้น
ส่วนเอ็มและเทม จากที่เคยไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน ตอนนี้กลับอยากเข้าร่วม เนื่องจากมองว่าการทำกิจกรรมจะช่วยพัฒนาตัวเองและชุมชน เอ็มเล่าว่า “กิจกรรมช่วยเสริมทักษะให้ตัวเรา เวลาเรามาทำจะชวนเพื่อน ชวนน้องมาด้วย เพราะถ้าเขามาทำกิจกรรมกับเราก็สามารถนำความรู้ไปเป็นอาชีพเสริมได้ และทำให้ชุมชนเกิดการพัฒนา”
จากวันเป็นสัปดาห์ จากสัปดาห์เป็นเดือน ปลาดุกที่พวกเขาเลี้ยงไว้ค่อย ๆ เติบโต ไปพร้อมกับหัวใจของทีมงานที่ค่อย ๆ พองฟูกับการเติบโตของปลา ด้วยหวังว่าปลาเหล่านี้จะกลับมาเป็นอาหารแบ่งปันให้แก่คนในชุมชน และสร้างรายได้แก่พวกเขาและเพื่อน ๆ
เอ็มบอกความรู้สึกว่า “เวลาเห็นปลาโตขึ้นก็ดีใจ แต่ต้องแยกขนาดอีกครั้ง เพราะปลาแต่ละตัวกินอาหารไม่เท่ากัน โตไม่เท่ากัน คิดว่าจะเลี้ยงไปเรื่อย ๆ รอจับขาย ส่วนเงินที่ขายได้ไม่ว่าจะปลาหรือขนมคิดว่าคงนำมาเข้ากองทุนเยาวชนประจำหมู่บ้าน ที่เกิดจากเยาวชนรุ่นก่อนช่วยกันตั้งและสะสมเงินมา เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ แก่ชุมชนต่อไป”
+ “เยาวชน” กลไกสำคัญของชุมชน
“ในฐานะผู้ใหญ่ในชุมชนแค่ได้เห็นลูกหลานมารวมกลุ่มกันทำโครงการที่ดีต่อตัวเองก็รู้สึกภูมิใจมากแล้ว เพราะทราบพื้นฐานของเด็กแต่ละคนว่ามีภาระการเรียนและภาระทางบ้านเยอะ แต่พวกเขาก็ยังสามารถแบ่งเวลามาทำกิจกรรม และช่วยเหลือชุมชนได้ สิ่งที่พอจะส่งเสริมเด็ก ๆ ได้อีกทาง นอกเหนือจากความรู้ คงเป็นการช่วยสอนสิ่งดี ๆ ให้พวกเขา”
“แรกสุดที่เข้ามาช่วยดูแลน้อง ๆ ในโครงการนี้ เพราะพี่แลมาชวนว่า อยากชวนเราเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแนะนำน้องเวลามีอะไรติดขัด และช่วยประสานงานกับผู้ใหญ่ให้” ตังค์-สุทธิชัย ทวีชาติ พี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า โครงการนี้ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่น้อง ๆ ค่อนข้างเยอะ เวลาไปเข้าเวทีเวิร์คช็อปต่าง ๆ เขากล้านำเสนอ กล้าแสดงออก คิดเป็น และรู้จักหน้าที่ของตัวเอง
ตังค์บอกต่อว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ ใช่เพียงส่งผลดีต่อเด็ก แต่ยังเอื้อต่อชุมชนด้วย เวลาชุมชนมีกิจกรรม จะมีเด็ก ๆ เข้ามาช่วยเหลืองานอย่างเต็มใจ จนทำให้เขามีความหวังว่า สิ่งดี ๆ จากการทำโครงการจะค่อย ๆ ขยายไปสู่เด็กและเยาวชนคนอื่น เพื่อคลี่คลายปัญหาที่พบอยู่ในปัจจุบัน
“ปัญหาเด็กและเยาวชนของบ้านแสนแก้วคือ เด็กไม่มีโอกาสเรียนต่อ ทำให้หลายคนไม่มีงานทำ เราอยากให้โครงการนี้ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพแก่เด็ก ๆ เพื่อที่เขาจะได้มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง และทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน”
ทางด้าน ทอง-ทัศลักษณ์ นาคนวล ผู้รู้ด้านการทำขนม ที่ช่วยถ่ายทอดวิชาการทำขนมแก่ทีมงาน บอกว่า ในฐานะผู้ใหญ่ในชุมชนแค่ได้เห็นลูกหลานมารวมกลุ่มกันทำโครงการที่ดีต่อตัวเองก็รู้สึกภูมิใจมากแล้ว เพราะทราบพื้นฐานของเด็กแต่ละคนว่ามีภาระการเรียนและภาระทางบ้านเยอะ แต่พวกเขาก็ยังสามารถแบ่งเวลามาทำกิจกรรม และช่วยเหลือชุมชนได้ สิ่งที่เธอพอจะส่งเสริมเด็ก ๆ ได้อีกทาง นอกเหนือจากความรู้ คงเป็นการช่วยสอนสิ่งดี ๆ ให้พวกเขา
“เราจะคอยบอกเขาเสมอให้รู้จักเชื่อฟังผู้ปกครอง ช่วยกันรักษาประเพณีของชุมชนไม่ให้สูญหาย เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตต่อไปในแนวทางที่ดี”
ประพันธ์ นาคนวล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลสวาย เห็นเพิ่มเติมว่า การทำโครงการด้วยการลงมือปฏิบัติ จะสร้างสถานการณ์เฉพาะหน้าต่าง ๆ ให้เยาวชนได้เรียนรู้ว่าควรแก้ไขปัญหาอย่างไร ทำให้เกิดประสบการณ์และทักษะที่เกินกว่าในตำราเรียนบอกไว้ สำหรับการดึงเด็กมาทำกิจกรรมแบบนี้ช่วยเอื้อให้ผู้ใหญ่ได้สังเกตพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนได้ว่าเป็นอย่างไร ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนดูแลเด็กได้ง่ายขึ้น และช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ผู้ใหญ่ประพันธ์เล่าต่อว่า นอกจากโครงการและกิจกรรมตามประเพณีแล้ว ชุมชนกำลังวางแผนการขั้นต่อไปที่จะสนับสนุนเด็กและเยาวชนด้วย โดยตอนนี้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้เตรียมสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน เพราะทางชุมชนเห็นว่าการถ่ายทอดความรู้เรื่องการประกอบอาชีพ จะช่วยเสริมทักษะด้านความรับผิดชอบในการแบ่งเบาภาระของครอบครัว และปูพื้นฐานความสามารถอาชีพให้เด็ก ๆ ไว้ใช้ต่อไปในอนาคต
ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลกว่าที่ใครหลายคนจะคาดถึง ประกอบกับระบบการศึกษาปัจจุบันที่อาจทำให้มีเยาวชนบางคนตกขบวนการศึกษาในระบบไปบ้าง แต่เกษตรกรรมและภูมิปัญญาชุมชน ยังเป็น “ฐานทุน” สำคัญที่ช่วยให้เยาวชนทั้งที่เรียนและไม่เรียนในโรงเรียน นำต้นทุนนี้มาเป็นฐานอาชีพ ที่ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่มีทักษะอาชีพ มีทักษะชีวิต สามารถประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนได้ ดังเช่นที่เด็กและเยาวชนบ้านแสนแก้วได้มองเห็นโอกาสนี้จากการริเริ่มทำโครงการ โดยการ ทำโครงการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น อาศัยการประคับประคองและสนับสนุนจากหลายฝ่าย ทั้งพี่เลี้ยงโครงการ พี่เลี้ยงชุมชน ผู้ใหญ่ใจดี ครูภูมิปัญญา หรือแม้แต่จากกลุ่มเยาวชนด้วยกันเอง และกระบวนการทำโครงการยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในเนื้อในตัวของทีมงาน จากที่เคยใจร้อนก็เริ่มเย็นลง คิดเป็น ทำเป็น เกิดทักษะชีวิต ที่สำคัญคือสำนึกรักชุมชนที่เดิมไม่เคยสนใจเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ของชุมชนเลย แต่วันนี้พวกเขาอาสาเข้ามาช่วยเหลือกิจกรรมของชุมชนอยู่เสมอ ด้วยเห็นว่าการทำกิจกรรมนอกจากได้พัฒนาตนเองแล้วยังช่วยพัฒนาชุมชนถิ่นเกิดของพวกเขาได้อีกด้วย
โครงการเด็กแสนร่วมใจ สร้างรายได้ เสริมชีวิต
พี่เลี้ยงชุมชน :
- สุทธิชัย ทวีชาติ
ทีมทำงาน :
- กลุ่มเยาวชนบ้านแสนแก้ว ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ