สามเณรสืบสาน จิตวิญญาณเมืองน่าน
โครงการสามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง
ความรู้สึกที่ก่อเกิดขึ้นในใจของทีมงานทุกคน คือ ความซาบซึ้งต่อประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเมืองนอน ที่ได้ศึกษา ทำให้รู้สึกถึงเสน่ห์ของเมืองน่าน ที่อยากเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ของสังคมมากขึ้น ความรู้สึกนี้จึงสะท้อนผ่านเวลาที่บรรยาย ที่ทุกรูปสามารถบรรยายได้อย่างฉะฉานด้วยน้ำเสียงและแววตาที่เต็มเปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจ
"สอนคนที่คุณค่า อย่าสอนที่มูลค่า ลูกหลานน่านจะเติบโตแบบไม่ไร้ราก โดยเข้าใจมรดกทางวัฒนธรรม ละอ่อนไทยจะไตร่ตรองได้ ว่าเราเกิดเมืองน่าน ทุกแผ่นผืนดินแห่งนี้เราต้องรัก"สามเณรละอ่อนน่านวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่ทำโครงการสามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง กำลังปลูกจิตวิญญาณความ “รักบ้านเกิด” เป็นผู้ “รู้ราก” จากอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ปราชญ์ชุมชน ผู้รู้ประวัติศาสตร์น่านและขับเคลื่อนเรื่องเมืองเก่ามานานกว่า 33 ปี
ต่อยอดงาน...ต่อยอดพัฒนาคน
หลังจากดำเนินงานโครงการคืนพระธรรมนำสู่สังคมเสร็จสิ้นลงเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งสามเณรได้ออกเทศน์หลักธรรมกับคนในชุมชน เพื่อเป็นหลักยึด และข้อคิดในการดำเนินชีวิต ปีนี้ทีมงานซึ่งประกอบด้วย สามเณรหนุ่ย-วีรพล สิงสาร สามเณรโก้-รุ่งเรือง เจริญดี สามเณรปอนด์-ภัทร ทองแย้ม และสามเณรไมค์-ศุภฤกษ์ กันทะกาลัง เห็นโอกาสการเผยแผ่ธรรมผ่านช่องทางการท่องเที่ยว ด้วยเห็นว่า รูปปั้นในวัดพระธาตุแช่แห้ง
ไม่ว่าจะเป็นสิงห์ พญานาค ตลอดจนอาคารสถานที่และพระพุทธรูป ล้วนมีการสอดแทรกหลักธรรมแฝงอยู่ ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่มาวัดมักเข้ามาสักการะองค์พระธาตุแล้วก็กลับ โดยใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 20 นาที มีนักท่องเที่ยวน้อยคนนักที่จะสนใจชื่นชมสถาปัตยกรรมและประติมากรรมอันทรงคุณค่ารายรอบบริเวณวัด ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรม
“วัดพระธาตุแช่แห้งเป็นวัดใหญ่ แต่ขาดบุคลากรที่จะให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวต้องการมัคคุเทศก์ต้องติดต่อล่วงหน้ากับศูนย์ท่องเที่ยวของจังหวัด ไม่เหมือนวัดภูมินทร์ที่มีเด็กประถมศึกษาเป็นมัคคุเทศก์น้อยประจำอยู่ เลยคิดว่า ถ้ามีการนำเที่ยว และบรรยายเชื่อมโยงกับข้อธรรมต่างๆ ที่แฝงอยู่ในภูมิปัญญาการก่อสร้าง เช่น สิงห์คาบนาง สิงห์คายนาง ปณิธานการสร้างพระไสยยาสน์ เพื่อเกิดในยุคพระศรีอริยะเมตรไตรศิลปะการก่อสร้างพระวิหาร พระประธาน ศิลปะบัวคว่ำ บัวหงาย ยอดผักกูด ปลา 12 นักษัตรที่ฐานชุกชี และความหมายทางธรรมของคำว่า แช่-แห้งได้น่าจะดี ถือเป็นการเผยแผ่พระธรรมอีกทางหนึ่ง” สามเณรวีรพล เล่าถึงแนวคิดการทำงานที่ทีมงานได้นำไปปรึกษากับพระอาจารย์คือ พระใบฎีกาธีรวัฒน์ ธีรวัฒนโณ และพระปลัดรัชชา ธีรปัญโญ ที่ปรึกษาโครงการ จนเกิดเป็นโครงการสามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง
“ถ้ามีการนำเที่ยว และบรรยายเชื่อมโยงกับข้อธรรมต่างๆ ที่แฝงอยู่ในภูมิปัญญาการก่อสร้าง เช่น สิงห์คาบนาง สิงห์คายนาง ปณิธานการสร้างพระไสยยาสน์ เพื่อเกิดในยุคพระศรีอริยะเมตรไตรศิลปะการก่อสร้างพระวิหาร พระประธาน ศิลปะบัวคว่ำ บัวหงาย ยอดผักกูด ปลา 12 นักษัตรที่ฐานชุกชี และความหมายทางธรรมของคำว่า แช่-แห้งได้น่าจะดี ถือเป็นการเผยแผ่พระธรรมอีกทางหนึ่ง”
นอกจากความคาดหวังในการเผยแผ่พระธรรม และสร้างชื่อเสียงให้แก่วัดพระธาตุแช่แห้งแล้ว ในทีมงาน ยังคาดหวังว่าการทำงานต่อยอดในครั้งนี้จะทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพในการพูดสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น เพราะตอนทำโครงการคืนพระธรรมนำสู่สังคม เป็นการฝึกเทศน์ แต่ครั้งนี้เป็นการพูดสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจ และซาบซึ้งถึงคุณค่า ซึ่งต้องมีทักษะและเทคนิค และทุกคนจะได้ฝึกเพราะต้องมีจุดที่ต้องบรรยายประจำของตนเอง
ทีมงานประกาศรับสมัครผู้สนใจ โดยประชาสัมพันธ์ชี้แจงโครงการและแผนกิจกรรมซึ่งจะมีการอบรมเรื่องการพูดกับวิทยากรชื่อดัง ทำให้ได้รับความสนใจล้นหลาม เพราะพี่ น้อง เพื่อนสามเณรสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 40 รูป ซึ่งเป็นจำนวนเกินครึ่งของนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุแช่แห้งที่มีทั้งหมด 80 รูป จำนวนผู้สนใจที่มากเกินไป จึงต้องมีการคัดเลือก เพราะทีมงานคิดว่า ต้องการฝึกฝนแบบมีคุณภาพ โดยโจทย์ของการคัดเลือกคือ ให้ผู้สนใจแต่ละรูปศึกษาเรื่องราวของวัดพระธาตุแช่แห้ง แล้วนำมาบรรยาย ซึ่งทีมงานขอให้ที่ปรึกษาโครงการช่วยคัดเลือก โดยมีเกณฑ์พิจารณาจากลีลาการนำเสนอ น้ำเสียง ท่าทางในการบรรยาย
ในที่สุดก็ได้สมาชิกร่วมกิจกรรมรวม 20 รูป ทีมงานพาสมาชิกทั้งหมดไปอบรมเรื่องการพูดประจำปีของภาคเหนือที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งจะมีพระนักเทศน์ พระนักพูดเก่ง ๆ หลายรูปมาบรรยายให้ความรู้ ตลอดระยะเวลาการอบรม 3 วัน 2 คืน ทำให้ได้รับการเติมเต็มความรู้เรื่องวิธีการพูด การใช้น้ำเสียง ลีลาการพูด ฯลฯ เป็นเรื่องที่สมใจของสามเณรหลาย ๆ รูปที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม แต่เมื่อได้รับความรู้สมใจแล้ว ก็ขอลาออกจากโครงการ!!!
รู้จักพระธาตุแช่แห้ง
อาจารย์สมเจตน์เล่าว่า “พระธาตุแช่แห้ง” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองน่าน ตามตำนานของพระธาตุองค์นี้กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแช่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสีที่มาสรงน้ำที่เดียวกับพระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงขอพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง 7 ศอกไว้ด้านบน
ต่อมาราวปี พ.ศ. 1896 สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทยจึงมอบพระธาตุ 7พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ 20 องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็น “พระธาตุแช่แห้ง” คู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้คนมากราบสักการะกัน
หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมจึงชื่อว่า “พระธาตุแช่แห้ง” เพราะหากคิดตามความเป็นจริงคำว่าแช่ก็ควรจะต้องเปียก แต่แล้วทำไมจึงแห้ง ในเรื่องนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักธรรม อาจารย์สมเจตน์ เล่าว่า คำว่า “แช่แห้ง” เป็นคำที่นักปราชญ์ยกย่องให้เป็นมงคลนามยิ่ง เป็นประหนึ่งกุญแจที่จะไขปริศนาธรรมทั้งมวลจนดิ่งลึกเข้าสู่แดน สุญญตา คือความว่างจากตัวตน อันเป็นสุดยอดของอมฤตธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “แช่แห้ง” จึงมีความหมายโดยนัยว่า ยอดคนหรือมหาบุรุษเท่านั้นที่จะทำตัวให้แห้งอยู่ในสภาวะแห่งความเปียกปอนของอวิชชา ความมืดบอด แห่งสรรพกิเลศตัณหาต่างๆ ที่มากมายยิ่งกว่าสายน้ำและมหาสมุทรทั้งหลายในโลกรวมกัน มนุษย์จะสามารถมีความสุขท่ามกลางทะเลแห่งความทุกข์ยากอันหมายถึงมหาวัฏฏสงสารได้อย่างไร
อีกทั้งยังแฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมแห่งคำว่า “แช่แห้ง” จึงยุติอยู่ที่ “อริยสัจ 4 ประการ” เพราะคำว่า “แช่” หมายถึง การเปียกปอน การดิ่งจมลงในทะเลแห่งวัฎฎสงสาร หมายถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ มี 2 ประการคือ ทุกข์ และสมุหทัย ส่วนคำว่า “แห้ง” หมายถึงการหยุดนิ่งและสิ้นสุดแห่งอาสวกิเลศทั้งปวง มี 2 ประการคือ นิโรธหรือนิพพาน และ อริยมรรค อันมีองค์ 8 ประการ คือเส้นทางที่พระตถาคต ชี้นำให้พุทธศาสนิกทั้งมวล เดินตามรอยแห่งพุทธองค์ จึงสรุปได้ในที่สุดว่า คำว่า “แช่แห้ง” จึงหมายถึง “การดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง”
ฝึกฝน คือฝึกตน
“ตอนแรกก็รู้สึกแย่ เพราะประวัติมันยาว แต่พอไปอ่านและก็ศึกษามา เริ่มน่าสนใจ และก็เลยชอบในที่สุด อยากให้ทุกคนที่มาที่วัด ได้รู้ประวัติความเป็นมาอย่างแท้จริง จะได้อนุรักษ์และรักษา เพราะบางคนก็แค่มากราบมาไหว้ แต่ไม่รู้ความหมาย เช่น พระวิหาร ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่ามีปริศนาธรรม ประวัติความเป็นมาแล้วก็อะไรหลายอย่างที่ผมไม่รู้ แต่เมื่อผมรู้ จึงเกิดความรู้สึกอยากอนุรักษ์ โดยการสืบต่อให้ผู้อื่นได้รู้ตาม”
เมื่อสมาชิกหายไปเกินครึ่ง แต่คนที่ยังเหลือคือแกนนำหลัก และมีสมาชิกรุ่นใหม่คือ สามเณรอ้น-อภิยุช หมื่นไธสง สามเณรดรีม-ธันวา นาชัย สามเณรโจ้-สุทิน แสงเมาะ สามเณรธัน-ธันยบูรณ์ เสารางทอย และสามเณรดาด้า-ดีเปนดา ทาปามครสามเณรวีรพล บอกต่อว่า เขาเคารพการตัดสินใจของเพื่อน เมื่อพาเพื่อนไปให้ได้ความรู้แล้ว เราก็พอใจแล้ว แต่หากใครอยู่ต่อก็จะได้ฝึกต่อ
การฝึกเป็นสามเณรมัคคุเทศก์เริ่มจากการที่ทีมงานทั้งหมดช่วยกันค้นหาความรู้ ข้อมูล เรื่องราวของประวัติวัดพระธาตุแช่แห้ง โดยการสอบถามจากอาจารย์ในโรงเรียนคือ พระชยานันทมุรี เจ้าอาวาส และพระครูสถาพรธีรกิตติ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสติดตามอาจารย์ออกไปพบผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนก็จะสอบถามเรื่องราวประวัติความเป็นมา เรื่องเล่า เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย มุกขปาฐะต่าง ๆ สะสมเป็นคลังข้อมูลของตนเอง
ทีมงานทั้ง 9 รูปมีการแบ่งจุดสำหรับการฝึกบรรยายให้รับผิดชอบ เช่น สามเณรไมค์บรรยาย ณ วิหารหลวง สามเณรดรีมบรรยายเกี่ยวกับองค์พระธาตุแช่แห้ง สามเณรธันบรรยายเกี่ยวกับพระพุทธไสยาสน์ และพระธาตุประจำปีจอ สามเณรโจ้บรรยาย จุดพญานาคซึ่งเป็นทางเข้าวัด สามเณรโก้บรรยายที่ศาลาพระเจ้าทันใจ เป็นต้น โดยมีสามเณรวีรพล และสามเณรปอนด์เป็นผู้ดูแลภาพรวมของการทำงาน การเลือกจุดทุกคนจะเลือกจุดที่นักท่องเที่ยวมักสนใจชม และเลือกโดยความชอบส่วนตัว ยกเว้นสามเณรไมค์ที่บอกว่า จุดที่ประจำคือ จุดที่ถูกยัดเยียดให้ต้องเลือก ซึ่งสามเณรไมค์สารภาพว่า
“ตอนแรกก็รู้สึกแย่ เพราะประวัติมันยาว แต่พอไปอ่านและก็ศึกษามา เริ่มน่าสนใจ และก็เลยชอบในที่สุด อยากให้ทุกคนที่มาที่วัด ได้รู้ประวัติความเป็นมาอย่างแท้จริง จะได้อนุรักษ์และรักษา เพราะบางคนก็แค่มากราบมาไหว้ แต่ไม่รู้ความหมาย เช่น พระวิหาร ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่ามีปริศนาธรรม ประวัติความเป็นมาแล้วก็อะไรหลายอย่างที่ผมไม่รู้ แต่เมื่อผมรู้ จึงเกิดความรู้สึกอยากอนุรักษ์ โดยการสืบต่อให้ผู้อื่นได้รู้ตาม”
ในขณะเดียวกันก็ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญคือ อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ปราชญ์ด้านศิลปวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ท่องเที่ยวของจังหวัดมาบรรยายให้ความรู้ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเน้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติ ความสำคัญ สถานที่และประติมากรรมที่น่าสนใจของวัดพระธาตุแช่แห้ง โดยทีมงานแต่ละคนจะตั้งหน้าตั้งตาบันทึกเรื่องราวเนื้อหาที่อาจารย์สมเจตน์บรรยาย โดยเฉพาะการจดบันทึกในส่วนที่ตนเองต้องรับผิดชอบในการบรรยาย
ส่วนการบรรยายครั้งที่ 2 ของอาจารย์สมเจตน์ เป็นการบรรยายในลักษณะของการนำเที่ยว นำชมในสถานที่จริง ซึ่งทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ถึงวิธีการและลีลาการพูด การที่แต่ละคนต้องบรรยายประจำในแต่ละจุดทำให้ต้องทุ่มเทความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหา เรื่องราวความสำคัญ และคติธรรมที่แฝงอยู่ในจุดนั้น ๆ ซักซ้อมฝึกฝนความกล้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพูด และหาลีลาเฉพาะตน เพื่อให้ตนเองมีฐานความรู้ แต่ทุกคนก็บอกว่า สามารถบรรยายแทนกันได้ในระดับพื้นฐาน แต่ความลึกซึ้งจะน้อยกว่าคนที่อยู่ประจำ เพราะในการหาความรู้นั้นทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันทั้งหมด
“บรรยายแทนกันพอได้ครับ แต่ประวัติก็อาจจะไม่เยอะแบบเจ้าของจุด ก็ได้เฉพาะพื้นฐานทั่วไป เช่น สร้างเมื่อไหร่ คนสร้างคือใคร สร้างปีอะไร ทำไมถึงสร้าง ก็ได้พื้นฐานอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นเจ้าของจุดอาจจะมีอะไรที่มากกว่านั้น อย่างเช่นพระธาตุแต่ละชั้นมีความหมายว่าอย่างไร มีชื่ออะไร แต่ละชั้นมีรูปอะไรบ้าง” ทีมงานอธิบายรายละเอียด
สามเณรวีรพล ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำโครงการมาก่อน เล่าว่า เขาต้องฝึกให้สามเณรแต่ละรูปให้สามารถบรรยายได้คล่อง จึงได้ใช้บทเรียนของตนเองเมื่อครั้งทำโครงการเคลื่อนพระธรรมนำสู่สังคมที่ต้องศึกษาคำสอนในบทต่างๆ แล้วย่อความตามความเข้าใจของตนเอง ก่อนจะแปลงเป็นบทเทศนาที่จะเผยแผ่ธรรมสู่ญาติโยม ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้สามเณรมัคคุเทศก์แต่ละรูปศึกษาประวัติความเป็นมาของสถานที่และสิ่งก่อสร้างในวัด จากเอกสารการบรรยายของอาจารย์สมเจตน์ จากหนังสือประวัติวัดพระธาตุฯ โดยให้อ่านให้เข้าใจ แล้วสรุปย่อความ
“จะให้สามเณรแต่ละรูปอ่านประวัติของวัดพระธาตุแช่แห้งทั้งหมด แล้วให้สรุปย่อความ เพราะในการบรรยายแต่ละครั้งต้องเข้าใจว่า นักท่องเที่ยวมีเวลาไม่มาก แต่ละคนอาจจะตั้งใจมาไหว้พระธาตุ และเดินเที่ยวรอบ ๆ ภายในเวลาประมาณ 20 นาที การใช้เวลาบรรยายความให้ยืดยาวอาจจะไม่เหมาะสม จากการสรุปย่อ 3 ถึง 4 หน้า, เหลือ 2 หน้า, เหลือ 1 หน้า และครึ่งหน้ากระดาษในที่สุด ทำให้สามารถปรับการบรรยายได้ตามเวลาและความสนใจของนักท่องเที่ยว การอ่านแล้วย่อความเป็นของเราเอง ทำให้เกิดความจำและความเข้าใจโดยที่ไม่ต้องท่องจำให้ปวดหัว” สามเณรวีรพลเล่า
“การพูดที่ดีต้องมีความเป็นตัวเอง ทั้งท่าทางและลีลา ไม่เกร็งเกินไป มีความสุภาพ และใช้ภาษาที่ไพเราะ เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนฟังรู้สึกจับใจ ซึ่งทีมงานแต่ละคนรู้ว่า การที่จะทำได้นั้นต้องอาศัยการฝึกจนเชี่ยวชาญ ซึ่งการฝึกฝนนั้นทีมทั้งหมดได้รวมกันฝึกตั้งแต่จุดแรกถึงพระวิหารหลวง โดยมีเพื่อน ๆ สลับกันทำหน้าที่อัดวิดีโอเพื่อบันทึกลีลาท่าทางการบรรยาย นำกลับมาติชมกันเอง เพื่อปรับปรุงวิธีการบรรยายให้ดียิ่งขึ้น แต่การจะให้ชำนาญและคุ้นชิน สามเณรแต่ละรูปจะรับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง โดยอาศัยจังหวะเวลาว่างของตน ฝึกพูดเองทั้งการฝึกพูดหน้ากระจก ไปยืนประจำจุดที่ต้องบรรยาย เมื่อมีญาติโยมเดินมาชมก็จะสอบถาม และถือโอกาสบรรยาย”
การพูดที่ดีต้องมีความเป็นตัวเอง ทั้งท่าทางและลีลา ไม่เกร็งเกินไป มีความสุภาพ และใช้ภาษาที่ไพเราะ เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนฟังรู้สึกจับใจ ซึ่งทีมงานแต่ละคนรู้ว่า การที่จะทำได้นั้นต้องอาศัยการฝึกจนเชี่ยวชาญ ซึ่งการฝึกฝนนั้นทีมทั้งหมดได้รวมกันฝึกตั้งแต่จุดแรกถึงพระวิหารหลวง โดยมีเพื่อน ๆ สลับกันทำหน้าที่อัดวิดีโอเพื่อบันทึกลีลาท่าทางการบรรยาย นำกลับมาติชมกันเอง เพื่อปรับปรุงวิธีการบรรยายให้ดียิ่งขึ้น แต่การจะให้ชำนาญและคุ้นชิน สามเณรแต่ละรูปจะรับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง โดยอาศัยจังหวะเวลาว่างของตน ฝึกพูดเองทั้งการฝึกพูดหน้ากระจก ไปยืนประจำจุดที่ต้องบรรยาย เมื่อมีญาติโยมเดินมาชมก็จะสอบถาม และถือโอกาสบรรยาย
แผนการฝึกบรรยายในฐานะสามเณรมัคคุเทศก์ ยังต้องอาศัยการสะสมชั่วโมงบิน โดยทีมงานได้ประสานกับเจ้าหน้าที่หอนิทรรศการของวัดพระธาตุแช่แห้ง บริเวณศาลาไม้ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาสอบถามข้อมูลเป็นประจำ หากนักท่องเที่ยวกลุ่มใดต้องการให้มีมัคคุเทศก์ไปบรรยาย เจ้าหน้าที่ก็จะประสานงานมายังโรงเรียนซึ่งอาจารย์ก็จะประสานให้สามเณรไปทำหน้าที่มัคคุเทศก์
การทำงาน คือ การเรียนรู้
“ทุกคนต่างยอมรับว่า การจัดเวลาว่างให้ตรงกันเป็นปัญหาสำคัญที่สุด เพราะต่างเรียนกันคนละชั้น บางรูปติดเรียน บางรูปติดกิจนิมนต์ โอกาสในการทำงานพร้อมหน้าพร้อมตาจึงหาได้ยาก อีกทั้งเวลาทำงานมักจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายทำให้ต้องใช้เวลาในการหลอมรวมความคิด โดยพยายามรับฟังความคิดเห็นของทุกคน และพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ให้มากที่สุด”
สามเณรวีรพล ที่ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมการทำงานของทีม เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของเพื่อน ๆ ในทีม ว่า มีพัฒนาการในทางที่ดี โดยแต่ละรูปสามารถพูดได้พูดเก่ง มีหลักการ ภายใต้แนวทางของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้สามเณรวีรพลบอกว่า “เณรที่เรียนโรงเรียนวัด ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา ชาวดอย มาจากพื้นที่ทุรกันดาร คือมาเพื่อศึกษา เพราะโรงเรียนวัดสอนฟรี เรียนฟรี อยู่ฟรี กินฟรี การฝึกเป็นมัคคุเทศก์จะเป็นการดึงศักยภาพของแต่ละคน ทำให้มีความมั่นใจสามารถนำไปต่อยอดในการเรียนและการบรรยายธรรมได้”
ทีมงานได้เตรียมที่จะซ้อมการบรรยายอย่างจริงจัง โดยมีแผนจะจัดเวลาเพื่อไปอยู่ประจำจุดเพื่อบรรยายความสำคัญ และหลักธรรมที่สอดแทรกอยู่ในสิ่งก่อสร้างให้แก่ญาติโยมในวันเสาร์อาทิตย์ และยังได้จัดทำแผ่นพับนำเสนอข้อมูลสถานที่สำคัญในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง เพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว โดยจะนำไปวางไว้ตามจุดต่าง ๆ แทนการบรรยายของสามเณรมัคคุเทศก์ซึ่งติดเรียน
แต่ทั้งนี้ทุกคนต่างยอมรับว่า การจัดเวลาว่างให้ตรงกันเป็นปัญหาสำคัญที่สุด เพราะต่างเรียนกันคนละชั้น บางรูปติดเรียน บางรูปติดกิจนิมนต์ โอกาสในการทำงานพร้อมหน้าพร้อมตาจึงหาได้ยาก อีกทั้งเวลาทำงานมักจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายทำให้ต้องใช้เวลาในการหลอมรวมความคิด โดยพยายามรับฟังความคิดเห็นของทุกคน และพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ให้มากที่สุด
“หลายคนก็หลายความคิด กว่าจะสรุปเป็นความคิดร่วมกันได้ ก็ใช้เวลานาน ทำให้เวลาหมดไป คนคิดมีหลายคน แต่คนเขียนมีคนเดียว พอเขียนเสร็จแล้ว บางคนเพิ่งคิดได้ก็ต้องมาเพิ่ม มาแก้ เช่น การทำแผ่นพับทำเสร็จแล้ว เพื่อนมาดูก็ถามว่า แล้วความคิดที่เสนอในวันนั้นหายไปไหน ก็ต้องกลับมาเพิ่มเติมอีก” สามเณรโก้เล่า โดยมีสามเณรธันสะท้อนความรู้สึกเพิ่มเติมว่า การทำทุกสิ่งทุกอย่างมักมีอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาพบอุปสรรคต้องรู้ว่า อุปสรรคนั้นคืออะไร แล้วค่อยหาวิธีแก้ไข
ทีมงานทุกรูปเห็นตรงกันว่า การทำโครงการเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง เพราะทุกคนบรรลุเป้าหมายในเรื่องฝึกการพูด แม้ว่าจะทำได้มากน้อยต่างกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าขึ้นอยู่กับชั่วโมงบิน แต่กระนั้นการที่ได้ฝึกทำให้มั่นใจมากขึ้น กล้าแสดงออก สามารถนำไปปรับใช้ในการนำเสนอรายงาน หรือโครงงานในเวลาเรียนได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น เช่นเดียวกับการดำเนินชีวิตประจำวันที่รู้จักการเข้าหาหรือพูดกับผู้อาสุโวได้อย่างสุภาพ อ่อนน้อมทั้งวาจาและท่าที
ความรู้สึกที่ก่อเกิดขึ้นในใจของทีมงานทุกคน คือ ความซาบซึ้งต่อประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเมืองนอน ที่ได้ศึกษา ทำให้รู้สึกถึงเสน่ห์ของเมืองน่าน ที่อยากเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ของสังคมมากขึ้น ความรู้สึกนี้จึงสะท้อนผ่านเวลาที่บรรยาย ที่สามเณรทุกรูปสามารถบรรยายได้อย่างฉะฉานด้วยน้ำเสียงและแววตาที่เต็มเปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจ
สามเณรไมค์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานโครงการทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะประเด็นต่างๆ ได้ ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนควรทำ
“สิ่งไหนสามารถพัฒนาตนเองได้ก็ทำ เช่น การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สำหรับผมคิดว่า โครงการนี้ทำให้การใช้เวลาว่างของผมเกิดประโยชน์มากขึ้น เวลาเห็นสิ่งที่แปลกตาก็นำมาคิด แล้วเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับตัวเรา โครงการนี้สามารถฝึกและพัฒนาศักยภาพของตัวเราเอง และทุกคน ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับโครงการนี้ สามารถสืบต่อ สืบสานให้กับคนอื่น เรียนรู้ประวัติพระธาตุแช่แห้งก็ทำให้รู้ประวัติของจังหวัดน่าน ตอนนี้ผมเรียนชั้นปีที่ 1 ผมได้รับมอบหมายงานเกี่ยวกับงานกลุ่ม เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ผู้มีความรู้ ผมเลือกทำเรื่องประวัติของจังหวัดน่าน เพราะผมต้องการพัฒนาทั้งเรื่องการเป็นมัคคุเทศก์และได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติเมืองน่าน เผื่อในอนาคตจะเป็นมัคคุเทศก์ก็ได้”
สามเณร ไมค์ บอกต่อว่า รู้สึกว่าตัวเองลึกซึ้งในประวัติศาสตร์และหลักปรัชญาธรรมพระวิหารเยอะที่สุด ทั้งโครงสร้าง ศิลปะ พระพุทธรูป ประวัติ ปริศนาธรรม “ผมคิดว่าสิ่งที่เราไม่รู้ แล้วเรารู้ เราต่อยอดให้คนอื่นรู้ด้วย ทำให้เราคิดได้ว่า สิ่งนี้ควรอนุรักษ์ไว้ ผมอยากเอาความรู้ทักษะที่เรามีไปศึกษาค้นคว้า ศิลปะการก่อสร้างวัดที่อื่นๆ อยากเชื่อมโยงให้ได้ เช่น วัดภูมินทร์กับพระธาตุแช่แห้ง บ้านของเรากับพระธาตุแช่แห้ง ไปจนเมืองน่านกับสุโขทัยเชื่อมโยงกันอย่างไร"
ขณะที่สามเณรวัน บอกว่า “ภูมิใจที่ได้อนุรักษ์วัฒนธรรมน่านไม่ให้เสื่อมสลาย และจะได้เล่าให้ลูกหลานของตัวเองได้ อนาคตยิ่งเทคโนโลยีมันจะเข้ามาในวัดมากขึ้น วัฒนธรรมก็จะเสื่อมสลายไป” สามเณรดาด้า สมณะฑูตจากเมืองเนปาล ที่มาเรียนเมืองไทย แต่พูดไทยยังไม่ค่อยคล่อง สะท้อนว่า “ประทับใจตัวเองที่ได้เป็นมัคคุเทศก์ ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์พระธาตุแช่แห้งให้ญาติโยมได้ฟัง ที่มาที่ไปของเมืองน่าน มีที่มาที่ไปยังไง รู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นคนเมืองน่าน เพราะเมืองน่านมีวัฒนธรรมที่ดี ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน”
ส่วนสามเณรวีรพลได้เล่าว่า ประโยชน์จากการทำโครงการที่เกิดขึ้นแก่ตนเองคือ “ได้เรียนรู้นักเรียนแต่ละวัยตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ว่า แต่ละวัยมีพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างไร เพราะผมกำลังเรียนครุศาสตร์ อาจจะเป็นครูและเป็นผู้บริหารในอนาคต การมาทำตรงนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเด็ก สิ่งที่เขารู้เขาก็ได้บอกเรา สิ่งที่เรารู้ เราก็ได้บอกเขา ได้แลกเปลี่ยนกัน เราก็ได้พัฒนาตนเองไป ทำโครงการทั้ง 2 ปี ผมได้เรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และรู้ว่าตนเองมีวิธีการฝึกฝนต่างกัน เช่น บางรูปก็ฝึกในห้องน้ำคนเดียว ฝึกที่จุดที่ต้องบรรยายคนเดียวโดยไม่มีใครฟังก็มี เราได้เห็นพัฒนาของแต่ละคน สำหรับผู้บริหารเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ว่าจะมีวิธีการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนอย่างไร ผมก็ได้เรื่องนี้มาเต็ม ๆ”
สำนึกพลเมือง “น่าน”
แม้การทำโครงการนี้ สามเณรจะได้เรียนรู้และสื่อสารเรื่องราวเมืองน่านจากเรื่องราวในวัดพระธาตุแช่แห้ง และส่งต่อแก่ผู้มาเยือนบ้านเยือนเมืองของเขา แต่กระบวนการนี้เอง ได้ปลุก “สำนึกของการเป็นพลเมืองเมืองน่าน” ให้เขา “รู้สึก” ว่ามิใช่เพียงวัดพระธาตุแช่แห้ง แต่เมืองน่านคือบ้าน ความรู้สึกทุกข์ร้อนต่อ “บ้าน” จึงได้ท่วมท้นออกมา
“ในฐานะคนน่านรู้สึกว่าในเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ปลูกพืชเศรษฐกิจจนภูเขาหัวโล้นนั้น ต้องพิจารณาโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะคนที่ทำแบบนี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ต้องบุกรุกป่า เพื่อสร้างอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะภาระเรื่องการส่งลูกหลานเรียนหนังสือ ซึ่งเป็นภาระที่หนักสำหรับผู้ปกครองหลายๆ ท่าน ดังที่จะเห็นได้จากที่สามเณรที่มาบวชเพื่อเรียนหนังสือในโรงเรียนพระปริยัติฯ ต่างเป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่ยากจนทั้งนั้น”
“สถานการณ์เรื่องภูเขาหัวโล้น ในฐานะมัคคุเทศก์ เราจะบอกนักท่องเที่ยวว่า ภูเขาหัวโล้นที่เขาเห็นนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ถ้ามองในภาพรวมพื้นที่ป่าของจังหวัดน่านยังมีป่าไม้อยู่อีกเยอะ เราควรจะชี้ให้เขาเห็นด้วยว่าจังหวัดน่านยังมีป่า เช่น พื้นที่อำเภอแม่จริมมีป่า มีอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากมาย ส่วนที่เป็นภูเขาหัวโล้นตอนนี้ก็มีการรณรงค์ให้มีการปลูกป่า ทางไปดอยภูคาก็มีต้นไม้ตลอดเส้นทาง ไม่ใช่มีแต่เขาหัวโล้น” สามเณรวีรพลเล่า
ภาพฝันที่คล้ายคลึงกันของสามเณรทุกรูป คือ อยากเห็นป่าไม้เมืองน่านมีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่า แม่น้ำมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เมืองน่านมีความสะอาด น่าอยู่ อากาศดี และมีการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม
“อยากให้มีสภาพอากาศเหมือนแต่ก่อน เพราะตอนนี้ร้อนขึ้นมาก เพราะยิ่งร้อนยิ่งใช้แอร์ เราเย็น แต่ทำให้เกิดโลกร้อน และอยากเห็นคนเมืองน่านช่วยกันรักษาวัฒนธรรม เพราะยิ่งแสดงวัฒนธรรมให้เขาเห็น นักท่องเที่ยวเขายิ่งชอบ โดยเฉพาะประเพณีการนุ่งซิ่นเข้าวัด อยากเห็น” สามเณรไมค์สะท้อน
“สามเณรที่ที่ผ่านโครงการมัคคุเทศก์ฯ จะมีพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ มีการแต่งกายเรียบร้อยตามพุทธบัญญัติของพระพุทธเจ้า กล้าคิด กล้าแสดงออก มนุษยสัมพันธ์ดีกว่าสามเณรที่ไม่ได้ผ่านโครงการ เพราะได้เผชิญกับสถานการณ์เฉพาะหน้า เวลาไปนำเสนออะไร จะไม่เคอะเขินหรือเคร่งเครียด แต่จะเป็นธรรมชาติ เพราะเขาผ่านการอบรม ผ่านค่าย ผ่านสนามทดลอง ทำให้เขาผ่อนคลาย เกิดอิสระในการทำงาน และเกิดการพัฒนาศักยภาพไปในตัว”
“เติบโต” ไปสืบต่อ
พระใบฎีกาธีรวัฒน์ ธีรวัฒนโณ และพระปลัดรัชชา ธีรปัญโญ ที่ปรึกษาโครงการเล่าว่า ทีมงานสามเณรมีความกระตือรือร้นที่จะเป็นมัคคุเทศก์ และสำคัญของโครงการนี้ช่วยให้สามเณรกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอเนื้อหาสาระ และนี่ยังเป็นกระบวนการในการเผยแผ่ธรรมทางอ้อมอีกด้วย เพราะส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะใช้เวลาในวัดไม่เกิน 30 นาที
โดยในระหว่างการทำงาน ในฐานะที่ปรึกษาโครงการได้สนับสนุนให้สามเณรมีความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้ ชี้แนะแหล่งข้อมูลความรู้ และประสานงานกันบุคคลต่าง ๆ ที่จะเข้ามาให้ความรู้ ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่น่าหนักใจ เพราะสามเณรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มักจะอาสาเข้ามาช่วยกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของโรงเรียนและวัดเป็นประจำอยู่แล้ว
“กระบวนการเรียนรู้ของสามเณรมัคคุเทศก์ จะมีความแตกต่างจากมัคคุเทศก์ทั่วไป คือมัคคุเทศก์ทั่วไปจะเป็นเชิงของพาณิชย์เป็นหลัก แต่ในส่วนของสามเณรมัคคุเทศก์จะเน้นสาระบวกกับธรรมที่กระชับและเข้าใจง่าย เพราะมัคคุเทศก์ทั่วไปจะนำเที่ยวเฉพาะจุด จะไม่ค่อยได้ลงรายละเอียด แต่ถ้าเป็นพระ เณร จะมีความเคยชินกับสถานที่ ที่ต้องสัมผัสทุกวัน ทำให้สามารถลงลึกในรายละเอียด และนำเสนอได้ดีกว่า”
ทั้งนี้ พระพี่เลี้ยงทั้ง 2 รูปสะท้อนว่า ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวของสามเณรทั้งทางโลก คือสามเณรได้มีการค้นคว้าศึกษาด้วยตนเองมากขึ้นและการลงพื้นที่จริง ทำให้ได้ความรู้ ส่วนในด้านทางธรรม การที่ได้ศึกษาสถานที่ต่าง ๆ ที่แฝงด้วยธรรมะ ทำให้เข้าใจหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ลึกซึ้งมากขึ้น
“ที่เห็นได้ชัดคือ สามเณรที่ผ่านโครงการมัคคุเทศก์ฯ จะมีพัฒนาการด้านบุคลิกภาพ มีการแต่งกายเรียบร้อยตามพุทธบัญญัติของพระพุทธเจ้า กล้าคิด กล้าแสดงออก มนุษยสัมพันธ์ดีกว่าสามเณรที่ไม่ได้ผ่านโครงการ เพราะได้เผชิญกับสถานการณ์เฉพาะหน้า เวลาไปนำเสนออะไร จะไม่เคอะเขินหรือเคร่งเครียด แต่จะเป็นธรรมชาติ เพราะเขาผ่านการอบรม ผ่านค่าย ผ่านสนามทดลอง ทำให้เขาผ่อนคลาย เกิดอิสระในการทำงาน และเกิดการพัฒนาศักยภาพไปในตัว คือ มีการนำเสนอโดยการแสดงออกด้วยมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ก็เป็นพื้นฐานทำให้คนมีบุคลิกภาพดี จิตใจดี เป็นพลเมืองดีของสังคมโดยกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ”
แม้อยู่ในสมณะเพศ ใช่ว่าจะไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับความเป็นไปของบ้านเมือง หากแต่เป็นอีกหนึ่งช่องทางและโอกาสที่จะบอกเล่าความดี ความงาม ของบ้านเกิดเมืองนอนสู่ผู้คน การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของถิ่นเกิด บอกเล่าถึงคุณค่าความสำคัญของสถานที่ พร้อมอธิบายความหมายในทางธรรมที่แฝงไว้สู่ญาติโยม จึงเป็นสิ่งที่สามเณรมัคคุเทศก์ตั้งใจที่จะเผยแผ่ เพื่อจะ “ปลุกสำนึก” ให้ผู้คนได้รับรู้ถึงเสน่ห์ที่ลึกซึ้ง มากกว่าความสวยงามที่สัมผัสด้วยตา นำพาไปสู่ความรู้สึกรักและหวงแหนที่จะประทับอยู่ในใจของผู้คนตลอดไปแล้ว ยังมีคุณค่าที่มากนั้นคือ ในฐานะลูกหลานเมืองน่าน สามเณรกลุ่มนี้กำลังทำบทบาทสืบสานรากเหง้า และมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษเมืองน่าน ที่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่กำลังลืมเลือนให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน
โครงการ : สามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้งโรงเรียนพระปริยัตธรรมวัดพระธาตุแช่แห้ง
ที่ปรึกษาโครงการ : พระใบฎีกาธีรวัฒน์ ธีรวัฒนโณ พระปลัดรัชชา ธีรปัญโญ
ทีมทำงาน :
- สามเณรวีรพล สิงสาร นักศึกษาชั้นปีที่ 1
- สามเณรรุ่งเรือง เจริญดี มัธยมศึกษาปีที่ 6
- สามเณรภัทร ทองแย้ม มัธยมศึกษาปีที่ 6
- สามเณรศุภฤกษ์ กันทะกาลัง มัธยมศึกษาปีที่ 6
- สามเณรอภิยุช หมื่นไธสง มัธยมศึกษาปีที่ 6
- สามเณรธันวา นาชัย มัธยมศึกษาปีที่ 6
- สามเณรสุทิน แสงเมาะ มัธยมศึกษาปีที่ 6
- สามเณรธันยบูรณ์ เสารางทอย มัธยมศึกษาปีที่ 6
- สามเณรดีเปนดา ทาปามคร มัธยมศึกษาปีที่ 6