การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของสาหร่ายน้ำจืด จังหวัดน่าน ปี 2

เส้นไก...สายใยไทลื้อ

โครงการเส้นไกสายใยไทลื้อบ้านหนองบัว

เราไม่ได้มองแค่ผลลัพธ์จากโครงการ แต่การรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชนที่นี่ ทำให้พวกเราที่อยู่ชุมชนเดียวกันได้รู้จักกัน ถ้าไม่ทำโครงการด้วยกัน พี่ๆ อย่างเราก็ไม่มีทางได้รู้จักน้องๆ เพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าต่างคนต่างอยู่ กลุ่มใครกลุ่มมัน แต่พอมีโครงการเข้ามาเรามี “จุดเชื่อม” ให้ได้ทำกิจกรรมด้วยกัน ได้เห็นปัญหาชุมชนร่วมกัน คนในชุมชน คนเฒ่าคนแก่รู้ว่าเด็กทำกิจกรรม ก็พร้อมให้ความร่วมมือ แล้วเราก็ได้ออกไปทำความรู้จักกับผู้ใหญ่ในชุมชนด้วยตัวเอง...ประสบการณ์สำคัญที่สุดที่ได้รับจากการทำโครงการ คือ การได้รู้จักชุมชนของตัวเองในหลากหลายมิติมากขึ้น 

จากวัดหนองบัว วัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา จังหวัดน่าน เดินข้ามถนนฝั่งตรงข้ามออกไปไม่กี่สิบเมตร ก็สามารถมองเห็นลำน้ำน่านสายยาวเลาะเลี้ยวผ่านหมู่บ้านและแปลงพืชไร่ของเกษตรกร แม่น้ำน่านมีจุดกำเนิดจาก ดอยภูแวแนวเทือกเขาหลวงพระบาง ไหลจาก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน บรรจบรวมกันกับแม่น้ำยม ที่ ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ รวมระยะกว่า 600 กิโลเมตร กล่าวได้ว่า อำเภอท่าวังผาคือ พื้นที่ส่วนต้นน้ำทางตอนเหนือที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน


เลือกโจทย์จากวิถีชีวิตและความเชื่อมโยงของชุมชน

ผลจากการดำเนินโครงการเรียนรู้เครือญาติสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อบ้านหนองบัวเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ทีมงานมองเห็นความเชื่อมโยงในวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งระบบ โดยเฉพาะภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ผสมผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า ดนตรีพื้นบ้าน ประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดไปจนถึงเรื่องอาหารการกิน

“โครงการเส้นไกสายใยไทลื้อ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนชุมชนบ้านหนองบัวมีความรู้เรื่องไกซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นที่เป็นจุดเด่นของชุมชน นอกจากนี้ยังต้องการกระตุกกระตุ้นให้คนในชุมชนบ้านหนองบัวเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาของแม่น้ำน่าน โดยมีอาหารประจำท้องถิ่นอย่างไกซึ่งมีปริมาณลดลงอย่างที่ไม่มีใครทันสังเกตเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”

หมอก – ศุภกิตติ์ ภิมาลย์ ทีมงานที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปีแรก บอกว่า วัดหนองบัว ผ้าทอไทลื้อและสาหร่ายน้ำจืดที่เรียกว่า ไก เป็นจุดเด่นของบ้านหนองบัว เมื่อมีโอกาสทำโครงการในปีที่สอง จึงอยากทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับจุดเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งของชุมชน

“ไก” สาหร่ายน้ำจืด เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวไทลื้อบ้านหนองบัวมานับร้อยปี นอกจากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านนานาประเทศแล้ว ว่ากันว่าสำหรับประเทศไทยสามารถพบสาหร่ายน้ำจืดชนิดนี้ได้ใน 2 แหล่งคือ ลำน้ำน่าน จังหวัดน่าน และลำน้ำโขง จังหวัดเชียงราย แต่ด้วยสภาพลำน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจากการขุดลอกและสารเคมีที่ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำจากอุตสาหกรรมบางประเภท รวมทั้งจากครัวเรือน ส่งผลให้ปริมาณไกในแม่น้ำน่านลดลงอย่างคาดไม่ถึง 

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ โครงการเส้นไกสายใยไทลื้อบ้านหนองบัว ที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนชุมชนบ้านหนองบัวมีความรู้เรื่องไกซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน นอกจากนี้ยังต้องการกระตุกกระตุ้นให้คนในชุมชนบ้านหนองบัวเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาของแม่น้ำน่าน โดยมีอาหารประจำท้องถิ่นอย่างไกซึ่งมีปริมาณลดลงอย่างที่ไม่มีใครทันสังเกตเป็นภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ทีมงาน เล่าว่า คนไทลื้อมักนำไกมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ไกยี ห่อนึ่งไก และยำไก ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆ รับประทานกับข้าวเหนียวร้อน ๆ จัดเป็นมื้อหนึ่ง ภูมิปัญญาเหล่านี้ปรากฏมานานเป็นเวลากว่าร้อยปี จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ ทั้งนี้ทีมงานตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะเด็กและเยาวชนในชุมชนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการได้รับประทานไกอยู่เป็นประจำ ที่ผ่านมาพวกเขาจึงไม่สังเกต และไม่รู้ว่าปริมาณไกในแม่น้ำน่านมีจำนวนลดน้อยลง

“เมื่อก่อนลงไปเล่นในแม่น้ำ เราก็เห็นไกขึ้นอยู่ตามก้อนหินแล้ว เลยไม่คิดว่าไกเป็นของหายากหรือเป็นของแปลกอะไร แต่พอรู้ว่าไกลดน้อยลงไป เราอยากรู้ว่าเพราะอะไร แล้วเราจะทำยังไงให้รักษาไว้ได้” หมอก กล่าว


สืบสาวเรื่องราว “ไก”

เพื่อชี้ให้คนในชุมชนเห็นถึงสถานการณ์ปัญหาว่า ไกหายากขึ้นและใกล้สูญพันธุ์ ทีมงานจึงเริ่มเก็บข้อมูลสาวไปถึงที่มาที่ไปของไก เพื่อบันทึกว่าไกชนิดใดสูญพันธุ์ไปแล้ว ชนิดใดยังหลงเหลืออยู่ ตลอดไปจนถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไก เช่น สภาพแหล่งน้ำทั้งทางชีวภาพและกายภาพซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำตามมาตรฐาน เป็นต้น

หมอก บอกว่า ก่อนจะนำข้อมูลไปบอกคนอื่น พวกเขาต้องหาข้อมูลความรู้ใส่ตัวก่อน เริ่มตั้งแต่หาข้อมูลเกี่ยวกับสาหร่ายน้ำจืด (ไก) ทางอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นจึงเข้าไปสัมภาษณ์สอบถามจากกลุ่มเกษตรกรแปรรูปไกซึ่งเป็นสินค้าโอท็อปของชุมชน และเดินสำรวจริมน้ำน่านเพื่อพูดคุยกับเกษตรที่เก็บไก

“เราอยากได้ข้อมูลจากคนที่ทำอาชีพหาอยู่หากินกับไกจริงๆ” หมอก อธิบายวิธีคิด

ผลจากการศึกษาค้นคว้าและเข้าไปสอบถามพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรแปรรูปไก ทำให้ทีมงานรู้ว่า ไกมีหลายประเภท และมีคุณประโยชน์ ทั้งในแง่ของการรักษาสุขภาพและการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

“ไกมีโปรตีนสูงพอ ๆ กับเนื้อปลา ในงานวิจัยบอกว่ามีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าแครอทถึง 4 เท่า แล้วก็มีวิตามินชนิดอื่น ๆ อีก เช่น บี 1 และ บี 2 คนเฒ่าคนแก่บอกว่า กินไกจะทำให้ผมดกดำ ชะลอความแก่ได้” หมอก กล่าว

เมื่อมีข้อมูลพื้นฐานติดตัวอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ทีมงานจึงลงมือทำแบบสัมภาษณ์เพื่อสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลจากคนในชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ ทั้งนี้ประเด็นสัมภาษณ์เกี่ยวข้องกับ 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.ระบบนิเวศที่ช่วยให้ไกเติบโต 2.การเกิดของไก (แหล่งที่พบและฤดูกาลเก็บเกี่ยว) 3.ประเภทของไก และ 4.สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไก

“การเข้าไปสัมภาษณ์คนในชุมชนจากแบบสอบถามที่คิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อวิเคราะห์ว่าคนในชุมชนแต่ละช่วงวัย รู้จักสาหร่ายน้ำจืดชนิดนี้ในระดับไหน แตกต่างกันอย่างไร และอีกส่วนหนึ่งเพื่อวิเคราะห์ว่า คนในชุมชนตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาของระบบนิเวศในแหล่งน้ำหรือไม่”

ทีมงาน บอกว่า การเข้าไปสัมภาษณ์คนในชุมชนจากแบบสัมภาษณ์ที่คิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อวิเคราะห์ว่าคนในชุมชนแต่ละช่วงวัย รู้จักสาหร่ายน้ำจืดชนิดนี้ในระดับไหน แตกต่างกันอย่างไร และอีกส่วนหนึ่งเพื่อวิเคราะห์ว่าคนในชุมชนตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาของระบบนิเวศในแหล่งน้ำหรือไม่

“เด็ก ๆ จะรู้จักไกเพราะเคยกิน แต่ไม่รู้จักประเภทของไก ผู้ใหญ่รู้จักประเภทของไกมากกว่า แต่ว่าผู้ใหญ่ก็เรียกชื่อไกแต่ละประเภทแตกต่างกันออกไปอีก เราก็ต้องเอาข้อมูลนี้มาจัดหมวดหมู่วิเคราะห์กัน ส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่จะบอกได้ว่าไกในแม่น้ำน่านลดน้อยลง เพราะน้ำขุ่นจากการขุดลอก และสารเคมีที่ปนเปื้อนมาในแหล่งน้ำ เช่น ยาฆ่าหญ้า จากต้นน้ำ ตั้งแต่อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง และอำภอท่าวังผา แล้วไหลลงสู่ลำห้วยน้อยใหญ่ตามอำเภอต่างๆ และไหลสู่แม่น้ำน่าน” หมอก อธิบาย

ทั้งนี้ จากการสำรวจทีมงานสามารถสรุปข้อมูลเบื้องต้นได้ว่า ไกที่พบส่วนใหญ่ในบ้านหนองบัวเป็น ไกไหม ไกค่าว ไกหางหมา ไกต๊ะ ซึ่งไกส่วนใหญ่เติบโตได้ดีในแหล่งน้ำไหล ที่น้ำมีคุณภาพดีจนถึงปานกลาง น้ำไหลไม่แรงนัก และจะต้องมีความใสพอควร พื้นน้ำที่สาหร่ายเจริญค่อนข้างตื้น มีก้อนหินเป็นที่ยึดเกาะ โดยฤดูกาลเก็บเกี่ยวไกจะอยู่ในช่วงหน้าหนาวถึงหน้าร้อนระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน

อย่างไรก็ตาม ทีมงานบอกว่า ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ยังเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน พวกเขาจึงจัดเวทีเสวนาร่วมกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนด้วย เพื่อเสาะหาข้อมูลในเชิงลึก แล้วทำออกมาเป็นไทม์ไลน์ชี้แจงถึงเส้นทางที่มาที่ไปของไก ช่วงเวลาที่ไกบางชนิดสูญพันธุ์ไป เช่น ก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2549 ระบบนิเวศการเกิดไกยังดี มีไกเยอะตามธรรมชาติ แต่หลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2549 เกิดน้ำหลากรุนแรง ทำให้ไกถูกพัดพาไป และบางชนิดได้สูญพันธ์ไป ประกอบกับการขุดลอกแม่น้ำทางต้นน้ำก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไกลดลงประกอบกับสถานการณ์ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในแต่ละช่วงเวลาไล่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยครั้งนี้ทีมงานเลือกจัดเวทีเสวนาในวันเสาร์บริเวณวัดหนองบัว พร้อมจัดตลาดขายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ทำจากไกขึ้นมาในเวลาเดียวกัน (ใส่ภาพไทม์ไลน์ที่น้องทำ)

“เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้แล้ว ทีมงานได้จัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อนำเสนอภาพสถานการณ์ปัญหาแม่น้ำน่าน ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไกในแต่ละช่วงเวลาย้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตอกย้ำให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ความหวงแหนในทรัพยากรโดยรวมต่อไปได้”

“เราเลือกจัดเวทีวันเสาร์ เพราะเป็นวันที่มีนักท่องเที่ยวมาเยอะ ใครสนใจมานั่งฟังก็ได้ความรู้ ใครเดินไปเดินมาได้ยินผ่านหูก็ยังดี...ไทม์ไลน์เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นเส้นทางชีวิตของไกตั้งแต่อดีต เท่าที่คนเฒ่าคนแก่จะให้ข้อมูลได้ มาจนถึงตอนนี้สภาพที่พวกเราได้เห็นด้วยตัวเอง” หมอก กล่าว

เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้แล้ว ทีมงานได้จัดเวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน เพื่อนำเสนอภาพสถานการณ์ปัญหาแม่น้ำน่าน ที่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของไกในแต่ละช่วงเวลาย้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตอกย้ำให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ความหวงแหนในทรัพยากรโดยรวมต่อไปได้

“ได้ข้อมูลมาแล้วเราต้องบอกให้คนในชุมชนได้รับรู้ เพื่อคิดต่อว่าจะแก้ปัญหาต่อไปได้อย่างไร ซึ่งชุมชนนี้ให้ความร่วมมือมาร่วมรับฟังกันอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่เด็กและเยาวชนทำและเป็นประโยชน์กับชุมชน” หมอก กล่าว


ไม้ต่อของการเปลี่ยนแปลง

“เมื่อก่อนเวลารุ่นพี่นัดประชุม มาสายตลอด แต่ตอนนี้มาสายไม่ได้แล้ว เพราะเราเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม ถ้าปล่อยให้น้อง ๆ มารอ จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี...”

แต่ไหนแต่ไรมากลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านหนองบัวมีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน เรียกได้ว่าสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการทำงานภายใต้โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จังหวัดน่านในปีที่ 2 ครั้งนี้หมอกได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำหลักของโครงการสืบต่อมาจากรุ่นพี่ซึ่งต้องออกไปเรียนต่อนอกชุมชน

“การทำโครงการเราไม่ได้มองแค่ผลลัพธ์จากโครงการ แต่การรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชนที่นี่ ทำให้พวกเราที่อยู่ชุมชนเดียวกันได้รู้จักกัน ถ้าไม่ทำโครงการด้วยกัน พี่ๆ อย่างเราก็ไม่มีทางได้รู้จักน้องๆ เพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าต่างคนต่างอยู่กลุ่มใครกลุ่มมัน แต่พอมีโครงการเข้ามาเรามีจุดเชื่อมให้ได้ทำกิจกรรมด้วยกัน ได้เห็นปัญหาชุมชนร่วมกัน คนในชุมชน คนเฒ่าคนแก่รู้ว่าเด็กทำกิจกรรม ก็พร้อมให้ความร่วมมือ แล้วเราก็ได้ออกไปทำความรู้จักกับผู้ใหญ่ในชุมชนด้วยตัวเอง” หมอก เอ่ยถึงคุณค่าของการทำโครงการเพื่อชุมชน

อย่างไรก็ตาม หมอก บอกว่า ปัญหาที่น่าหนักใจที่สุดในการทำโครงการ คือ ปัญหาการจัดการเวลา เนื่องจากทีมงานต่างอยู่ในวัยเรียน ที่ต้องรับผิดชอบผลการเรียนและการสอบเข้าแข่งในระดับมหาวิทยาลัย แต่ “คนเราเรียนตลอดเวลาไม่ได้” ตั้งแต่เข้ามาทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชน ผลการเรียนของเขากลับดีขึ้น เนื่องจากการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน บังคับให้ต้องบริหารจัดการเวลา

“เราต้องแบ่งเวลาให้ได้ ถ้าเรียนอย่างเดียวไปตลอด...ชีวิตก็จะจืดชืด เราจะกลายเป็นคนที่ทำอะไรเข้ากับสังคมไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต่อให้เราเก่งแค่ไหนแต่ถ้าต้องอยู่คนเดียวเราก็อยู่ไม่รอด” หมอก กล่าว ส่วนในแง่ของการทำงานเป็นทีม ทุกคน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขายังต้องปรับปรุงเรื่องการทำความเข้าใจขั้นตอนการทำงาน และารแจกจ่ายงานให้แต่ละคนรับผิดชอบตามลำดับความสำคัญ

“บางทีเราประชุมกันในภาพรวมว่าจะทำอะไร แต่ไม่ได้เช็คว่าทุกคนเข้าใจตรงกันหรือเปล่า และไม่ได้แจกจ่ายงานอย่างชัดเจน พอทำงานจริงเลยไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร น้อง ๆ ก็ต้องรอให้เราบอก เราเลยทำอย่างอื่นต่อไม่ได้” หมอก สะท้อนสิ่งที่ต้องแก้ไขจากการทำงานร่วมกัน

หมอก อธิบายต่อว่า โครงการที่ทำตั้งแต่ปีแรกจนมาถึงปีที่สอง จุดประกายจากสถานการณ์ปัญหาในชุมชน เป็นสิ่งที่ทีมงานเองก็อยากรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเอง ดังนั้นประสบการณ์สำคัญที่สุดที่ได้รับจากการทำโครงการ คือ การได้รู้จักชุมชนของตัวเองในหลากหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการเส้นไกสายใยไทลื้อ ที่พวกเขาต้องเสาะแสวงหาที่มาที่ไปและการใช้ประโยชน์จากไก ทำให้พวกเขาเล็งเห็นถึงคุณค่าของพืชเล็ก ๆ ชนิดนี้ พืชที่พวกเขาเองเคยหยิบขึ้นมาจากแม่น้ำ แล้วใช้ขว้างปาเล่นกันอย่างไม่รู้คุณค่า กระทั่งวันนี้...วันที่ไกหายากขึ้น เพราะสภาพแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาจึงได้มีโอกาสย้อนเวลาไปสู่อดีต ด้วยการพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนถึงความอุดมสมบูรณ์ของไก พืชขึ้นชื่อแห่งบ้านหนองบัว สังเกตเห็นความเชื่อมโยงกันระหว่างคุณภาพน้ำกับความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ที่อาศัยไกช่วยเปิดโลกให้

“เวลามาวัดแล้วมีนักท่องเที่ยวหรือใครก็ตามเข้ามาถามถึงไก เราไม่กลัวการตอบคำถามอีกต่อไปแล้ว สมัยเด็ก ๆ เหมือนเป็นปมฝังใจเพราะตอนนั้นเราตอบไม่ได้ แต่ตอนนี้มาเลย...ถามมาเลยตอบได้แน่ เพราะเราค้นคว้ามาด้วยตัวเอง” หมอก เล่าอย่างตื่นเต้น นอกจากความรู้และการซาบซึ้งถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนแล้วารต้องรับไม้ต่อทำหน้าที่เป็นผู้นำกลุ่ม แล้วเข้ามามีบทบาทเป็นผู้คิดริเริ่มวางแผนกิจกรรม เพื่อดำเนินโครงการให้ถึงที่สุด ทำให้คนขี้เกียจและนอนตื่นสายอย่างหมอก ต้องกระตือรือร้นและแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่องานที่ทำมากขึ้น

“เมื่อก่อนเวลารุ่นพี่นัดประชุม มาสายตลอด แต่ตอนนี้มาสายไม่ได้แล้ว เพราะเราเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม ถ้าปล่อยให้น้อง ๆ มารอ จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เคยมาสายแล้วมาถึงเห็นน้อง ๆ นั่งรออยู่เราก็รู้สึกอายที่มาช้ากว่า ตอนนี้เข้าใจหัวอกรุ่นพี่รุ่นที่แล้วเลยว่า เขารู้สึกยังไงเวลาเรามาสาย” หมอก เล่าถึงจุดเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง

ส่วนด้านทักษะการทำงาน เบส – ธีรภัทร ธรรมราช บอกว่า จากคนเงียบ ๆ คนหนึ่งที่ชอบอยู่กับตัวเอง การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้เขามองเห็นคุณค่าของการทำงานร่วมกับผู้อื่น และการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม

“ผมรู้สึกว่าการทำงานชุมชนต้องอาศัยความร่วมมือและความสามัคคีจากทุกฝ่าย คนในชุมชนต้องช่วยกันทำงาน ผมเองก็ต้องปรับปรุงตัวเองเรื่องการตรงต่อเวลา จริง ๆ น้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เราทำตาม เพราะที่ผ่านมาถ้าขยันผมจะมาเช้า แต่ปกติมาช้า ตอนนี้ผมคิดใหม่แล้วว่า ถ้าผมมาสายต่อไปเรื่อย ๆ น้องอาจจะมาสายตาม เพราะเห็นเราเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี” เบส สะท้อนมุมคิดของตัวเองในฐานะรุ่นพี่ที่ร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่องถึง 2 ปี

ส่วน หมอก ที่มีความกล้าแสดงออกมากอยู่แล้ว ย้ำว่า กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบที่ได้รับจากการอบรมในค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชน หรือแม้แต่จากการชวนคิดชวนคุยของพี่เลี้ยงโครงการ ทำให้เขาสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาได้เข้าใจง่ายและตรงประเด็นมากขึ้น

“เมื่อก่อนคิดเร็วพูดเร็ว พูดไม่รู้เรื่อง ตอนนี้สมองเรียบเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สังเกตเห็นได้จากเราพูดหรือสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้มากขึ้น” หมอก เล่าต่อไปว่า ข้อเสียของการคิดเร็วพูดเร็วทำให้ฟังคนอื่นน้อยลง แต่การเว้นจังหวะให้ได้คิดก่อนสื่อสารออกไป ช่วยให้รับฟังความคิดเห็นคนอื่นมากขึ้น “คนเราต่างความคิด ความคิดของเราไม่ได้ถูกเสมอไป เราต้องรับฟังก่อนแล้วใช้เหตุผลตัดสินใจ ดีกว่าตัดบทคนอื่นแล้วต้องมาขัดใจกัน”

ด้าน ปลื้ม – พันธกานต์ กลิ่นอุทัย สะท้อนพัฒนาการด้านการทำงานของตัวเองว่า จากเดิมเป็นคนขี้อาย แต่ปัจจุบันการออกไปพูดหรือนำเสนองานต่อคนหมู่มาก เป็นสิ่งที่เขายินดีทำโดยไม่อิดออด ส่วนหนึ่งเพราะอยากแสดงให้คนภายนอกเห็นว่า ในอีกมุมหนึ่งของเมืองน่านยังมีเด็กและเยาวชนที่ทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่

“รู้สึกโกรธเหมือนกันเวลาคนภายนอกบอกว่าคนน่านทำลายป่า เพราะความจริงไม่ใช่ทุกคนที่ทำแบบนั้น สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่ตรงนี้ก็เพื่อรักษาความเป็นเมืองน่านให้คงอยู่ ทั้งในส่วนของวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการปลูกฝังเด็กและเยาวชนรุ่นต่อๆ ไปให้เห็นความสำคัญและให้ความสนใจในการดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้” ปลื้ม กล่าวอย่างจริงจัง

เส้นใยที่โยงยึดเกาะเกี่ยวกันของ “เส้นไก” ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นให้กับคนในชุมชนบ้านหนองบัวอีกครั้ง เมื่อการเสาะหาที่มาที่ไปและต้นกำเนิดของไก ทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปสัมพันธ์กับผู้ใหญ่และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียวที่ถูกส่งต่อ แต่ “คุณค่าและสำนึกความเป็นพลเมือง” ได้ถูกจุดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในชุมชนแห่งนี้ สิ่งนี้นำมาซึ่งความหวงแหนในวิถีชีวิต และความตั้งใจฟื้นฟู เพื่อนำสิ่งดีๆ ที่สูญหายไปบางอย่างกลับคืนมา

โครงการเส้นไกสายใยไทลื้อ สะท้อนให้เห็นบทเรียนหนึ่งว่าทุกพื้นที่ล้วนมีเอกลักษณ์และมีเรื่องราวดีๆ ประจำถิ่นของตนเอง แต่ละพื้นที่จึงไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบหรือทำให้มีเหมือนใคร สิ่งที่พึงกระทำคือ “การมองให้เห็นสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่” มองเห็นให้ลึกเข้าไปถึง “คุณค่า” ของสิ่งเหล่านั้น สิ่งรอบตัวที่มีอยู่อาจสร้างและก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตัวเอง คนรอบข้างและสังคมโดยรวมอย่างมหาศาล


โครงการ : เส้นไกสายใยไทลื้อบ้านหนองบัว

ที่ปรึกษาโครงการ 

  • ( พระคงศิลป์ เขื่อนอ้น ) เจ้าอาวาสวัดหนองบัว
  • ( ปาลิตา อินต๊ะแสน )  เยาวชนรุ่นพี่ที่ทำโครงการปีที่ 1

ทีมงานกลุ่มเยาวชนบ้านหนองบัว โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม

  • ศุภกิตติ์ พิมาลย์  มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม
  • ธีรภัทร ธรรมราช  มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม
  • พันธกานต์ กลิ่นอุทัย มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม
  • นครินทร์ วิลาไล  มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม
  • พิทยุตม์ เทพอินทร์  มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม