ฟื้นสำเนียง เสียงกลองปูจา
โครงการสืบสานศิลปะการแสดง
โครงการนี้ ทำให้มีเด็กที่จะเข้าไปช่วยเหลือชุมชน เพราะเรื่องกลองปูจาเป็นวาระของจังหวัดที่กำลังต้องการการรื้อฟื้นให้คนรุ่นใหม่ได้มาสืบสาน หลังจากที่การถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่สู่เด็กขาดหายไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง การที่เด็ก ๆ มาสนใจสืบค้นความรู้ ฝึกฝนการตีกลองปูจา ฝึกฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง จึงเป็นการ “ปลุก” ความสนใจของชาวบ้านในชุมชนให้ตระหนักถึง “คุณค่า” ของศิลปะวัฒนธรรมที่เคยมีคู่บ้านคู่เมือง จนเห็นได้ว่า เริ่มมีคนในหมู่บ้านหลายแห่งได้ซ่อมแซมกลองปูจาและเครื่องดนตรีต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาบรรเลงอีกครั้ง
สำนวนสุภาษิตล้านนาที่บอกว่า เสียงที่เป็นมงคล 3 เสียง คือ เสียงฆ้องเสียงกลอง เสียงมองตำข้าว เสียงตุ๊เจ้าเทศน์ธรรม สะท้อนบทบาทของกลองที่มีหน้าที่ในสังคมล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งการเป็นอาณัติสัญญา การสื่อสารในพิธีกรรม การบอกสัญญาณวันโกนวันพระ และการให้ความบันเทิง หรือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงศิลปะ วัฒนธรรม เช่น ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ฟ้อนหอก ฟ้อนลายการ ฟ้อนผางประทีป เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างกลองกับชุมชนล้านนา เห็นได้ชัดเจนในงานบุญประเพณีทางพุทธศาสนา ที่มักมีการประโคมกันอย่างครึกครื้น ทำให้ผู้คนเกิดความปิติยินดีในงานบุญ
แต่วันนี้เสียงกลองปูจา (กลองบูชา) ที่เคยดังเพื่อเป็นพุทธบูชา กำลังจะเลือนหายไปจากจังหวัดน่าน เพราะขาดคนสนใจสืบทอด ประกอบกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่มีความรู้ มีทักษะในการตีกลองปูจาต่างก็โรยราไปทีละคนสองคน การหายไปของเสียงกลองปูจา ซึ่งเป็นศิลปะวัฒนธรรมของท้องถิ่นล้านนาได้รับความสนใจจากผู้บริหารท้องถิ่น จนทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็น “วาระของจังหวัดน่าน” ในระยะหลัง ๆ จนเริ่มมีการรื้อฟื้นประเพณีกลองปูจาในหลายพื้นที่
รู้ลึกซึ้ง...จึงสืบสาน
“เพราะมีเป้าหมายที่จะสืบสานและสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ทำให้องค์ประกอบของการรวมทีมในโครงการจะประกอบด้วยเยาวชนหลายวัย ตั้งแต่น้องมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึง พี่ ๆ มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งพี่ ๆ ที่เรียนในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่ยังคงแวะเวียนมาเข้าช่วยสอน ช่วยดูแลน้อง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการสอนเพื่อนรุ่นน้องที่ได้ผลดี เพราะทำให้มีคนที่สามารถสืบทอดรุ่นต่อรุ่นได้โดยไม่ขาดตอน”
ที่อำเภอเชียงกลาง กระบวนการอนุรักษ์ประเพณีการตีกลองปูจาเริ่มขึ้นโดยเป็นความร่วมมือของวัดน้ำคา ตำบลพญาแก้ว อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ปราชญ์ท้องถิ่น และครูในโรงเรียนเชียงกลาง เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) เข้ามาหนุนเสริมเยาวชนจัดทำโครงการเพื่อสืบสานศิลปะการแสดงเมืองน่าน ด้วยตระหนักว่า “นี่เป็นโอกาสที่จะสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป”
เจ-อากิระ ฝีปากเพราะ ฟิว-วัชรพงษ์ พรมมา มิกซ์-ภูมิพันธ์ จันทร์งาม แป๊ป-ศุภกร ปาระ เสก-พสิษฐ์ สุทธการ เกมส์-สุรพงษ์ บุญรอด เกด-สวพล เทพอินทร์ คือทีมงานที่รวมกลุ่มกันใหม่ หลังจากรุ่นพี่ที่เคยทำโครงการในปีก่อนเรียนจบไปแล้ว แม้สมาชิกใหม่แต่ละคนอยู่ต่างหมู่บ้าน ต่างโรงเรียน แต่ทุกคนมี “จุดร่วม” อันเป็นเป้าหมายเดียวกันคือ “สืบทอดและถ่ายทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน” โดยมีครูอาร์ท-สถาพร จันต๊ะยอด เป็นพี่เลี้ยงชุมชน
เพราะมีเป้าหมายที่จะสืบสานและสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ทำให้องค์ประกอบของการรวมทีมในโครงการจะประกอบด้วยเยาวชนหลายวัย ตั้งแต่น้องมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึง พี่ ๆ มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งพี่ ๆ ที่เรียนในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่ยังคงแวะเวียนเข้ามาช่วยสอน ช่วยดูแลน้อง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการสอนเพื่อนรุ่นน้องที่ได้ผลดี เพราะทำให้มีคนที่สามารถสืบทอดรุ่นต่อรุ่นได้โดยไม่ขาดตอน
ทีมงานตั้งใจที่จะเรียนรู้เรื่องการฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และตีกลองปูจา โดยอาศัยวัดน้ำคาเป็นที่รวมตัวในการฝึกซ้อมและเรียนรู้ การทำงานต่อยอดจากงานของรุ่นพี่ในปีที่ผ่านมาซึ่งได้เริ่มในส่วนของการเรียนศิลปะการแสดงฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง และการตีกลองปูจาไว้แล้ว โดยในปีนี้ทีมงานเพิ่มการศึกษาเรื่องประวัติของกลองปูจา วิธีการตีกลองปูจา การทำกลองปูจา เพราะตระหนักว่า การเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาจะทำให้ทีมงานเข้าใจความเป็นมาและซาบซึ้งถึงคุณค่าของวัฒนธรรมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
“ปีนี้ทีมงานเพิ่มการศึกษาเรื่องประวัติของกลองปูจา วิธีการตีกลองปูจา การทำกลองปูจา เพราะตระหนักว่า การเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาจะทำให้ทีมงานเข้าใจความเป็นมาและซาบซึ้งถึงคุณค่าของวัฒนธรรมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น”
การทำงานเริ่มจากประชุมวางแผนการทำงาน ออกแบบเอกสารการจัดเก็บข้อมูลที่จะไปสอบถามปราชญ์ผู้รู้ในชุมชน แล้วจึงลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเรื่องกลองปูจาโดยการสัมภาษณ์คุณตาศรีลัย สุทธการ ครูภูมิปัญญาด้านกลองปูจา ซึ่งทีมงานได้เรียนรู้ทั้งประวัติความเป็นมา คุณค่าความสำคัญของกลองปูจา และทีมงานต้องเทียวไปพูดคุย สอบถาม สัมภาษณ์ รวมทั้งสังเกตวิธีการหุ้มกลองปูจาในแต่ละขั้นตอน การเรียนรู้ทีละขั้นตอนเป็นความพยายามในการจัดระบบของการเรียนรู้ เพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลองปูจา ซึ่งในขณะเดียวกันก็สอบถามพ่อครูท่านอื่น ๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับการฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงไปพร้อมกัน
การเก็บข้อมูลของเยาวชนรุ่นใหม่ได้อาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น การถ่ายทำวิดีโอ ซึ่งทำให้มีทั้งภาพและเสียง เก็บทั้งอารมณ์ความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูล การเข้าไปเรียนรู้จากของจริงในชุมชน ทำให้เข้าใจได้ว่า การตีกลองปูจานั้น ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ เงื่อนไขด้านบุคลิกภาพเป็นตัวตัดสินว่า ใครจะสามารถตีกลองได้บ้าง คนที่ไม่สามารถตีกลองก็ต้องเลือกตีฆ้อง หรือตีฉาบ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดงที่มีความสำคัญเช่นกัน
ทีมงานได้สัมผัสถึงความเชื่ออันลึกซึ้งของภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ เช่น การทำกลองปูจาชุดหนึ่งที่มีกลองแม่และกลองลูก ต้องเลือกใช้ไม้ชนิดเดียวกัน และเป็นไม้ต้นเดียวกัน เพราะจะทำให้เสียงตีออกมาในโทนเดียวกัน หนังที่หุ้มกลองปูจาต้องเป็นหนังวัวหรือหนังควายเพศผู้เท่านั้น หรือการตีกลองปูจามี 2 รูปแบบคือ การตีชัยมงคล ซึ่งจะใช้ระบำสะบัดชัย ที่ในอดีตเป็นการตีเพื่อปลุกใจ สร้างความฮึกเหิม แต่ในปัจจุบันมักตีในการต้อนรับแขกบ้าน แขกเมือง ในงานกฐิน ผ้าป่า หรืองานมงคลต่าง ๆ ส่วนการตีพุทธบูชาซึ่งจะตีในวันโกน (ก่อนวันพระ) โดยจะมีการตี 4 ระบำตามลำดับคือ สะบัดชัย ตุปี้สิก เสือขบช้าง และจบด้วยระบำล่องน่าน ในจังหวะที่กระชับเร็วและเร้าใจ และในวันพระยังมีการตีรับศีลหลังจากพระสงฆ์ได้เทศนาแล้วอีกด้วย
หลังจากศึกษาประวัติของกลองปูจาและการแสดงฟ้อนประเภทต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งถึงคุณค่าศิลปะวัฒนธรรมบ้านตนแล้ว ทีมงานได้นัดหมายกันเพื่อเรียนการตีกลอง และการฟ้อน ทุกวันพฤหัสบดีหลังเลิกเรียน และวันเสาร์หลังจากเรียนพิเศษ กิจกรรมเสริมที่ดูเหมือนจะเบียดบังเวลาว่างในชีวิตวัยรุ่น แต่ทีมงานกลับคิดว่า นี่เป็นการผ่อนคลาย เพราะการตีกลอง การฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิงก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ดังเช่นในอดีต ที่บรรพบุรุษของชาวล้านนาใช้การตีกลอง และการฟ้อนดาบฟ้อนเจิงวอร์มร่างกายก่อนออกรบ เพื่อให้เกิดความฮึกเหิม และมีกำลังใจ
เรียนรู้สู่ความภาคภูมิใจในรากเหง้า
“การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้พูด ได้คิด และแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แม้ว่าบางครั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่มอาจจะเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็จะใช้ระบบเสียงข้างมากในการตัดสินใจ ซึ่งก็ทำให้สามารถหลอมรวมความแตกต่างได้” การทำงานยังทำให้ได้รู้จักจัดการเวลาในการทำเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ทีมงานเล่าว่า มีการแบ่งเวลาได้ดีขึ้น ทั้งเวลาสำหรับเรียน เวลาสำหรับทำการบ้าน เวลาสำหรับอ่านหนังสือ เวลาสำหรับทำกิจกรรม กระบวนการที่ได้เรียนรู้จากพี่เลี้ยงโครงการสร้างการเรียนรู้สู่การปรับเปลี่ยนตัวเองของทีมงาน
“การถอดบทเรียนหลังทำกิจกรรม หรือ After Action Review (AAR) คือ เวลาที่ทำกิจกรรมเสร็จแล้ว พี่ ๆ จะมานั่งถามว่า รู้สึกอะไร เรียนรู้อะไร สิ่งไหนทำได้ดี อันไหนต้องปรับบ้าง มันทำให้เราเห็นจุดบกพร่องของตนเอง เช่น วันนี้เรามาสาย มาไม่ตรงเวลา ก็ต้องปรับปรุงตัวเองมาให้เร็วขึ้น ตรงเวลามากขึ้น แล้วทำให้เรารู้ว่างานที่เราทำในวันนี้มีจุดเสียอะไรบ้าง มีอะไรต้องนำปรับปรุงในการทำกิจกรรมครั้งหน้า ทำให้สามารถพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นได้” เจเล่า
ทีมงานทั้งหมดต่างบอกว่า การได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้พูด ได้คิด และแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แม้ว่าบางครั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่มอาจจะเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็จะใช้ระบบเสียงข้างมากในการตัดสินใจ ซึ่งก็ทำให้สามารถหลอมรวมความแตกต่างได้
มิกช์ เล่าว่า รู้สึกสนุกกับการทำงานลักษณะนี้เพราะได้คุยแลกเปลี่ยน ได้อธิบายสิ่งที่ทำให้คนอื่นได้รับรู้ โดยส่วนตัวของมิกซ์เองบอกว่า ทำให้ตนเองกล้าแสดงออก ซึ่งสามารถปรับใช้ในการเรียน ที่ต้องมีการรายงานหน้าชั้นหรือการนำเสนอต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
“การเรียนรู้ทั้งในมิติของความเป็นมา คุณค่า และการฝึกฝนลงมือทำจนตีได้ ฟ้อนเป็น ได้สร้างความผูกพันกับรากเหง้าที่เป็นตัวตนของคนเมืองน่านให้หยั่งรากฝังลึกลงในตัวของทีมงานทุกคน...รู้สึกภูมิใจเป็นคนเมืองน่าน เพราะเกิดมามีวัฒนธรรมที่อบอุ่น”
ความภาคภูมิใจคือ ประเด็นหลักที่ดึงดูดให้ทีมงานยินดีเสียสละเวลาว่างอันน้อยนิดหลังจากการเรียนในโรงเรียน การเรียนพิเศษ การช่วยครอบครัว มาทำกิจกรรม ซึ่งเจมส์บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชน ได้ช่วยงานชุมชน การได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความชื่นชมยินดีที่เห็นเยาวชนสนใจสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชุมชน เป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงจิตใจของตนเอง
สำหรับเสกบอกว่า การได้เรียนรู้ การฟ้อนเจิง การตีกลองปูจา ทำให้สามารถนำไปต่อยอด เช่น ใช้ในการแสดง การสอนคนรุ่นหลังคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังการฝึกซ้อมถือเป็นการออกกำลังกาย เพราะได้ขยับตัวทำท่าทางต่างๆ ส่งผลทำให้สุขภาพดีขึ้นทั้งร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่ได้ผ่อนคลายจากความเครียด ความเมื่อยล้าจากการเรียน
การเรียนรู้ทั้งในมิติของความเป็นมา คุณค่า และการฝึกฝนลงมือทำจนตีได้ ฟ้อนเป็น ได้สร้างความผูกพันกับรากเหง้าที่เป็นตัวตนของคนเมืองน่านให้หยั่งรากฝังลึกลงในตัวของทีมงานทุกคน อย่างที่เกมส์สรุปบทเรียนการเรียนรู้ของตนเองว่า “รู้สึกภูมิใจเป็นคนเมืองน่าน เพราะเกิดมามีวัฒนธรรมที่อบอุ่น”
พี่เลี้ยงผู้เติมเต็มและร่วมเรียนรู้
“หัวใจของการเป็นที่ปรึกษาที่ค้นพบคือ ผมแทบไม่ได้หนุน แต่ลงไปคลุกกับเด็กเลย ผมไม่ใช่พี่เลี้ยงแต่เป็นคนร่วมเรียนรู้กับเด็กๆ ด้วย” ครูอาร์ท-สถาพร จันต๊ะยอด ที่ปรึกษาโครงการ ได้เชื่อมโยงความสำคัญการทำงานของเยาวชนว่า โครงการนี้ ทำให้มีเด็กที่จะเข้าไปช่วยเหลือชุมชน เพราะเรื่องกลองปูจาเป็นวาระของจังหวัดที่กำลังต้องการการรื้อฟื้นให้คนรุ่นใหม่ได้มาสืบสาน หลังจากที่การถ่ายทอดความรู้จากผู้ใหญ่สู่เด็กขาดหายไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง การที่เด็ก ๆ มาสนใจสืบค้นความรู้ ฝึกฝนการตีกลองปูจา ฝึกฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง จึงเป็นการปลุกความสนใจของชาวบ้านในชุมชนให้ตระหนักในคุณค่าของศิลปะวัฒนธรรมที่เคยมีคู่บ้านคู่เมือง จนเห็นได้ว่า เริ่มมีคนในหมู่บ้านหลายแห่งได้ซ่อมแซมกลองปูจาและเครื่องดนตรีต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาบรรเลงอีกครั้ง
“ทุกวันพระพาเด็กไปตีกลองในวัดใกล้เคียงเริ่มจาก ตำบลเชียงกลาง พระพุทธบาท เพราะมันไม่ไกล มันก็เป็นผลให้ชุมชนให้ความสำคัญขึ้นมา และกล่าวชมว่า เด็กวัยขนาดนี้ยังสนใจ เขาก็เลยหันมาให้ความสนใจ จากบางวัดกลองที่ผุ ก็เริ่มซ่อมแซม เป็นการส่งเสริมผู้รู้ที่ทำการหุ้มกลอง”
ความสนใจของเยาวชนไม่ใช่แต่ตีได้ ร่ายรำเป็น แต่ครูอาร์ทบอกว่า เด็กๆ สนใจอยากมีความรู้เรื่องประวัติ เรื่องจังหวะระบำ การตี จึงได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปสอบถามจากปราชญ์ในชุมชนแล้วนำมาบันทึกไว้ ดังนั้นในการสอนตี หรือสอนฟ้อนในแต่ละครั้งก็จะมีการสอดแทรกเรื่องราวประวัติความเป็นมาไปพร้อม ๆ กันด้วย ข้อมูลที่ได้รับทราบ กลายเป็นความรู้ติดตัวที่ทำให้เวลามีคนมาถามว่า ตีกลองปูจาเพื่ออะไร ทำไมต้องทำ ทีมงานทุกคนจะสามารถตอบได้อธิบายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสริมการยอมรับจากผู้คนในยามที่ต้องออกแสดงหรือช่วยกิจกรรมของชุมชน
ครูอาร์ทเล่าว่า การเรียนรู้เรื่องการตีกลองปูจา และฟ้อนดาบฟ้อนเจิง มีส่วนในการขัดเกลาให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนตนเองในหลายๆ ด้าน เช่น
“การที่เด็กมาเรียนเรื่องนี้ จะพัฒนาเด็กจากที่สังเกตคือ 1.ด้านกิริยามารยาท เราจะเน้นเรื่องกิริยามารยาทในการเข้าหาผู้ใหญ่ 2.สมาธิ พัฒนาสมาธิจากเด็กที่ลุกลี้ลุกลน อยู่กับอะไรได้ไม่นาน ก็จะจดจ่อมีสมาธิ เพราะว่าการตีกลองต้องใช้ทักษะของมือ การจำ และการฟ้อนก็เป็นเรื่องการจำ ซึ่งเป็นการพัฒนาสมาธิ และ 3.เรื่องจิตอาสา ทำให้เด็กไม่เก็บตัว ไม่ปิดกั้นตัวเอง เวลามีกิจกรรมในชุมชนเด็กก็สามารถเข้าไปเป็นตัวประสานในการดำเนินกิจกรรมได้ เด็กกล้าแสดงออก”
ครูอาร์ทสะท้อนว่า บทบาทการเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนนั้น ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะอดกลั้น อดทนต่อความอยากบอก อยากสอน โดยจะปล่อยให้เยาวชนได้คิดเองทำเองก่อน ส่วนการกระตุ้นนั้นจะทำเมื่อเห็นว่า เหนือบ่ากว่าแรง ก็จะเข้าไปแนะนำเพิ่มเติม หรือบางครั้งก็จะใช้วิธีการคุยตัวต่อตัวเพื่อปรับทัศนคติสำหรับเด็กบางคน แต่ส่วนใหญ่ถ้าเห็นว่า มีสิ่งใดที่สามารถสอนได้บอกได้ก็จะสอนไปพร้อมๆ กัน เช่น เรื่องประวัติความเป็นมา ความสำคัญของท่ารำต่างๆ
อย่างไรก็ตามครูอาร์ทบอกว่า ในการทำงานจริง ๆ จะเข้าไปคลุกคลี และร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ เพราะบางเรื่องแม้ว่า เคยรู้ เคยเรียน มาก่อน แต่ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ การทำงานนี้จึงช่วยให้ครูได้ฝึกฝนไปด้วยในเรื่องของการทำงานร่วมกับชุมชน การประสานงาน จนถึงการทำงานข้อมูล การจัดเก็บ คัดแยกข้อมูล เป็นต้น
“แม้เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้มาก่อนแล้ว แต่สามารถพัฒนายกระดับความรู้เราได้มากขึ้น บางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยรู้ ก็ได้รู้ เช่น ความรู้ใหม่เรื่องของกลองปูจา เรื่องการเหลาแซ่ การลงคาถา ในส่วนของสิ่งที่จะมาแช่หนังก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ หัวใจของการเป็นที่ปรึกษาที่ค้นพบคือ ผมแทบไม่ได้หนุน แต่ลงไปคลุกกับเด็กเลย ผมไม่ใช่พี่เลี้ยงแต่เป็นคนร่วมเรียนรู้กับเด็กๆ ด้วย”
การฟังอย่างตั้งใจ และสายตาที่จับจ้องการสอนร่ายรำของครู พร้อมทำท่าตามอย่างจริงจังในยามที่ครูสอน คือ สิ่งสะท้อนความสนใจของเยาวชน ภาษากายที่แสดงออกจึงเป็นการบอกกล่าวแทนคำพูดที่ทีมงานบอกว่า ตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงชอบ เพราะความสุขและความภาคภูมิใจที่สะท้อนผ่านแววตา ท่าทาง ที่บ่งบอกให้สัมผัสได้ว่า ความรักในศิลปะพื้นบ้านนั้นได้แทรกซึมอยู่ในเนื้อในตัวของทีมงานทุกคน จึงเป็นอันเชื่อมั่นได้ว่า เสียงกลองปูจายังจะคงดังก้องอยู่คู่เชียงกลางและเมืองน่านไปอีกนานเท่านาน
โครงการ : สืบสานศิลปะการแสดง กลุ่มเยาวชนอำเภอเชียงกลาง โรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา
ที่ปรึกโครงการ : ( สถาพร จันต๊ะยอด ) ครูโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา
ทีมทำงาน : อากิระ ฝีปากเพราะ มัธยมศึกษาปีที่ 4
- วัชรพงษ์ พรมมา มัธยมศึกษาปีที่ 3
- ภูมิพันธ์ จันทร์งาม มัธยมศึกษาปีที่ 3
- ศุภกร ปาระ มัธยมศึกษาปีที่ 4
- พสิษฐ์ สุทธการ มัธยมศึกษาปีที่ 5
- สุรพงษ์ บุญรอด มัธยมศึกษาปีที่ 4
- สวพล เทพอินทร์ มัธยมศึกษาปีที่ 5
- ธราธร สลีอ่อน มัธยมศึกษาปีที่ 4
- พันธกานต์ ธิติมูล มัธยมศึกษาปีที่ 4
- วรจักร์ มงคลนิธิ มัธยมศึกษาปีที่ 4