การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้วยการเย็บกระเป๋าผ้าของเยาวชนในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา

“ร้อยเข็ม” ร้อยเส้นทางชีวิตใหม่

โครงการเย็บใยร้อยใจด้วยกัน

“มีความมั่นคงในจิตใจ จนมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันตัวเองออกจากวงจรเดิมเมื่อออกไปแล้ว...จะต้องสร้างอนาคตที่ดี ด้วยการกลับไปเรียนต่อให้จบ และหางานที่เป็นสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป”

เมื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนชายที่เข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาในปีที่ผ่านมา ปีนี้การทำโครงการจึงถูกใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการพัฒนาเยาวชนหญิงในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 สงขลาเช่นเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ตัวเธอเองมีทักษะชีวิต และทักษะอาชีพก่อนออกไปเผชิญกับโลกภายนอกอีกครั้งได้อย่างแข็งแรง

จากก้าวที่พลาด...สู่ก้าวที่กล้า

โครงการเย็บใยร้อยใจด้วยกัน เป็นโครงการที่ห้าสาวในศูนย์ฝึก นวล บีม มะนาว อ้อน น้อง ร่วมกับเพื่อน ๆ อีก 9 คน เลือกทำ โดยมีครูกอบกาญจน์ เทพวาริน หรือ แม่แอ๊ดที่น้อง ๆ เรียกขานเป็นพี่เลี้ยงดูแล

เพราะเคยเรียนทำกระเป๋าผ้าแบบพื้นฐานมาก่อน จึงอยากพัฒนาฝีมือการเย็บประเป๋าให้ดียิ่งขึ้น ด้วยหวังว่าจะเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพเมื่อได้ออกไปจากศูนย์ฝึกฯ และหากสามารถผลิตกระเป๋าในแบบที่ยากยิ่งขึ้นก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้ ประกอบกับความฟุ้งซ่านขณะอยู่ที่นี่ ที่บ้างจมจ่อมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต บ้างคิดฝันถึงอนาคต และบ้างเบื่อกับการถูกจำกัดพื้นที่ การฝึกเย็บกระเป๋าจึงอาจจะเป็นสิ่งที่แก้โจทย์นี้ให้กับตัวเองได้

เมื่อพี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มเข้ามาชวนพูดชวนคุยจนได้ข้อสรุปที่การต่อยอดงานเย็บกระเป๋า โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเงินรายได้จากการขายกระเป๋าไปช่วยเหลือเพื่อน ๆ ที่ไม่มีญาติมาเยี่ยม และพัฒนาฝีมือของตนเองให้นำไปประกอบอาชีพได้ รวมทั้งเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

 ทีมงานเล่าว่า พวกเธอออกแบบ วางระบบและขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด ตั้งแต่ค้นหาข้อมูล ปฏิบัติ และสรุป “พวกเราคุยกันทั้งหอพัก ไม่ใช่เฉพาะแกนนำ 5 คน แต่ทุกคนในหอต้องทำเป็น เพื่อนๆ ทั้งหมดอยู่ในหอสามารถเรียนรู้ได้ทุกงาน สามารถพูดได้ทุกงาน” โดยมีเป้าหมายในการทำกระเป๋าผ้าและรองเท้าผ้า อย่างละ 10 ชิ้น จึงแบ่งงานกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ได้แก่ วาดแพทเทิร์น ตัดผ้า เตรียมอุปกรณ์ และเย็บ จึงแบ่งสมาชิกออกเป็นทีม โดยแต่ละทีมจะต้องมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นคนหลัก ส่วนน้องใหม่ประกบคู่กับรุ่นพี่ เพื่อเรียนรู้การทำงานทุกขั้นตอน โดยมีอาจารย์จากวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลาเข้ามาดูแลอีกต่อหนึ่ง

กว่าฝีมือจะคงที่ สร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามได้ ต้องผ่านการฝึกฝน ด่านสำคัญทุกคนต้องผ่านคือ การจัดการอารมณ์และภาวะภายในจิตใจของตนเอง น้อง บอกว่า การเย็บกระเป๋าทำให้เธอใจเย็น เพราะเวลาสะกิดผ้า เราก็ต้องสะกิดเรื่อย ๆ ไม่งั้นจะออกมาไม่สวย แรก ๆ มักทำเสียแล้วต้องทำใหม่ ตอนนั้นอารมณ์เสียมาก ได้แต่บอกตัวเองว่า ต้องใจเย็น ๆ ไม่คิดเรื่องอื่น ต้องสนใจกับงาน จนในที่สุดกระเป๋าก็ออกมาสวยสมใจ

ขณะที่บีมบอกว่า การเย็บกระเป๋าช่วยฝึกสมาธิของเธอ ทำให้เธอรู้จักคิดก่อนทำ ถ้าเรามีสติ มีสมาธิ งานก็ออกมาดี นวลเสริมต่อว่า เราก็ดึงตัวเองไปอยู่กับกระเป๋า มันเป็นเหมือนยาชูกำลัง ทำให้เราอยากเย็บกระเป๋าด้วย มันดีกับตัวเรา เพราะทำให้มีสติ มีสมาธิ และฝึกความอดทนอดกลั้น ฝึกความคิดสร้างสรรค์ 

ฝึกที่จะฝืน

“ตอนแรกต้องฝืนใจมาก แต่เพราะถูกจำกัดพื้นที่จึงจำเป็นต้องฝืนทำ และต่อต้านอยู่ลึกๆ เพราะไม่เคยทำมาก่อน จึงไม่มั่นใจว่าจะทำได้ เมื่อมองย้อนกลับ ทีมงานบอกว่า เป็นการดูถูกตัวเอง ไม่เชื่อมั่นในฝีมือของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลองทำ ได้แต่บอกตัวเองว่า ทำไม่ได้ ๆ แต่เมื่อถูกบังคับกลาย ๆ ว่าต้องทำ ทำให้ฝืนฝึกจนเห็นกระเป๋าเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง”

แต่กว่าจะได้กระเป๋าสวยเช่นนี้ไม่ได้ง่าย ทีมงานยอมรับว่า ตอนแรกต้องฝืนใจมาก แต่เพราะถูกจำกัดพื้นที่จึงจำเป็นต้องฝืนทำ และต่อต้านอยู่ลึกๆ เพราะไม่เคยทำมาก่อน จึงไม่มั่นใจว่าจะทำได้ เมื่อมองย้อนกลับ ทีมงานบอกว่า เป็นการดูถูกตัวเอง ไม่เชื่อมั่นในฝีมือของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลองทำ ได้แต่บอกตัวเองว่า ทำไม่ได้ ๆ แต่เมื่อถูกบังคับกลาย ๆ ว่าต้องทำ ทำให้ฝืนฝึกจนเห็นกระเป๋าเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง

“พวกเราอยู่ตรงนี้ ต้องใช้คำว่า “ต้องทำ” เมื่อได้ลองทำก็รู้ว่าทำได้ แม้จะเบี้ยวไปบ้าง แต่ก็ยังเห็นว่าเป็นกระเป๋า เมื่อเห็นกระเป๋าใบแรกที่ทำได้ มันภูมิใจมาก แม้จะยังขายไม่ได้ เพราะฝีมือไม่ถึงขั้น แต่ครูจะเก็บไว้ในตู้เพื่อดูเป็นที่ระลึกว่ากระเป๋าใบแรกของเรามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร” นวลเล่า พวกเธอยังเสริมอีกว่า การพัฒนาฝีมือต้องแลกมาด้วยความอดทน เพราะกว่าจะเย็บกระเป๋าได้อย่างสวยงามนั้น แต่ละคนต้องเริ่มต้นด้วยการฝึกเย็บด้วยมือ โดยเฉพาะการเย็บดำน้ำ ซึ่งคือเทคนิคในการเย็บให้ผ้าเกิดรอยย่น สร้างมิติบนผืนผ้า การจะเย็บได้สวยงามต้องมีสมาธิจดจ่อ แต่ปัญหาที่ทุกคนต้องพบคือ เข็มตำนิ้วมือ ด้ายพันกัน สิ่งที่ดูเหมือนจะง่ายกลับไม่ง่าย เพราะใจไม่นิ่ง

“ด้ายพันบ้างด้ายขาดบ้าง เข็มตำมือ แล้วก็หงุดหงิดเพราะเราทำไม่ได้ ทำไม่เป็น แต่เราต้องฝึก เพราะเราอยู่ที่นี่ มันต้องเริ่มจากการที่เรายอมรับถึงสภาพที่เราเป็นอยู่” นวลเล่า

อย่างไรก็ตาม การเย็บกระเป๋าทำให้แต่ละคนพบวิธีการเผชิญกับสภาวะภายในของตน อาศัยงานช่วยทำให้ความคิดสงบเย็น เมื่อใจอยู่กับงานจึงไม่เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ผลงานที่ออกมาจึงมีความประณีตสวยงาม  แต่กระนั้นก็ยอมรับว่า หลังจากเสร็จงานในแต่ละวัน เมื่อมีเวลาว่างอาการฟุ้งซ่านจะกลับมาเยือน ทั้งความคิดถึงครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง ความคิดยิ่งติดลบเมื่อญาติไม่มาเยี่ยม คิดถึงชีวิตนอกรั้วที่สามารถโลดเล่นได้ดังใจ ทุกคนจึงต้องเติมเต็มเวลาว่างของตนเองยามต้องอยู่ในหอนอนด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพูดคุย หรือการดูทีวี เป็นต้น

 นอกจากความคิดฟุ้งซ่านแล้วบีมผู้มักมีอาการโกรธจนหูดับสารภาพ “อารมณ์โมโห จนหูอื้อ หูดับ เวลาเป็นแบบนี้จะมีเพื่อนคอยเตือน คอยพูดห้าม” ซึ่งเมื่อเกิดอาการเช่นนี้ เพื่อน ๆ จะเตือนสติเพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลาย โดยคาถาที่ได้ผลคือ การเตือนด้วยคำว่า “กลับบ้าน” หรือ “ขอปล่อย” ซึ่งเป็นสิ่งที่เยาวชนส่วนใหญ่ต้องการมาที่สุดในชีวิต เพราะคนที่จะได้กลับไปเยี่ยมบ้าน ต้องอยู่ในขั้น 1 คือดีเยี่ยม 

สำหรับเกณฑ์คะแนนความประพฤติของเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมี 5 ขั้นเหมือนกัน คือ 1 ดีเยี่ยม 2 ดี 3 กลาง โดยคนที่อยู่ในขั้น 1 ขั้น 2 สามารถออกไปข้างนอกได้เวลามีกิจกรรม คนที่อยู่ขั้น 3 อาจจะได้ไปถ้าครูเห็นว่า ฝีมือดี ส่วนขั้น 4 คือ เด็กใหม่ที่เข้ามาต้องมาเริ่มสตาร์ทที่ขั้นนี้ สำหรับขั้น 5 คือ คนที่ไม่ว่าอยู่ขั้นไหนก็ตามแล้วทำความผิดรุนแรงต้องตกขั้นมาอยู่ขั้นนี้ โดยจะมีการพิจารณาความประพฤติทุก 3 เดือน

“การฝึกทำกระเป๋าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอมีสติ ยั้งคิด ยอมรับฟังเพื่อนที่ห้ามปราม จนตอนนี้ตั้งใจว่าจะทำตัวให้ดี เพื่อให้ปรับขั้น และตั้งใจจะไม่ทำผิดจนต้องตกไปอยู่ขั้นที่ 5 อีกแล้ว”

เมื่อสอบถามทีมงานในกลุ่มก็พบว่า บีมจะตกขั้นบ่อยครั้งกว่าใคร ซึ่งเธอสารภาพว่า เป็นเพราะมีเวลาว่างมาก ทำให้รู้สึกอยากทำอะไรที่ท้าทาย แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ก็ทำทั้ง ๆ ที่รู้ ซึ่งการฝึกทำกระเป๋าเป็นส่วนหนึ่งที่บีมบอกว่า ทำให้เธอมีสติ ยั้งคิด ยอมรับฟังเพื่อนที่ห้ามปราม จนตอนนี้ตั้งใจว่าจะทำตัวให้ดี เพื่อให้ปรับขั้น และตั้งใจจะไม่ทำผิดจนต้องตกไปอยู่ขั้นที่ 5 อีกแล้ว

ภูมิคุ้มกันใจ...เพื่อก้าวใหม่ที่แข็งแรง

การถูกจำกัดพื้นที่ที่ต้องมารับการฝึกอบรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เป็นบทเรียนที่ทำให้หลายคนตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง การฝึกเย็บกระเป๋าจึงเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้อยู่กับตนเองอย่างมีสมาธิ เพราะหากไม่มีสมาธิก็ต้องเจ็บตัวเพราะเข็มทิ่มตำ หรือไม่ผลงานที่ทำก็มีจุดบกพร่องให้ต้องแก้ไข ดังนั้นการจะทำงานได้ดีจึงต้องมีสมาธิ และเมื่อมีสมาธิจึงเกิดปัญญา ได้คิดใคร่ครวญถึงผลของการกระทำในอดีต อันเป็นสาเหตุให้ต้องมาอยู่ในสภาพจจุบัน เกิดสำนึกในความผิดที่ได้กระทำ และตั้งใจที่จะตั้งต้นชีวิตใหม่ในเส้นทางที่ต่างไปจากเดิม บีมและน้องซึ่งรู้ตัวว่า ถ้าถูกปล่อยตัวออกไปแล้ว ถ้าต้องกลับไปอยู่พื้นที่เดิม คงไม่แคล้วกลับเข้าสู่วงจรเดิมเพราะใจไม่แข็งพอที่จะปฏิเสธ จึงตั้งใจว่า จะย้ายตัวเองไปอยู่ต่างจังหวัดหรือพื้นที่ที่ห่างไกลจากชุมชนเดิมที่เคยอยู่อาศัย

สำหรับมะนาวนั้นตั้งใจว่าจะกลับไปเรียนหนังสือ และช่วยแม่ทำงาน โดยจะกันตัวเองออกจากเพื่อนกลุ่มเดิม ซึ่งอาจจะคุยแต่ไม่คบหากันเหมือนเดิม เพราะซึ้งใจแล้วกับความรักของพ่อแม่ที่ทุกข์ใจกับตนเอง คอยมาเยี่ยมสม่ำเสมอ ต่างจากเพื่อนที่ไม่เคยมีใครย่างกรายเข้ามาเยี่ยมเมื่อเธอต้องถูกจองจำในนี้เลย “เราเคยมาอยู่ในนี้แล้วเรารู้แล้วว่าในนี้เป็นอย่างไร เพื่อนไม่มาเยี่ยม มีแต่พ่อกับแม่ รู้แล้ว คราวนี้พ่อแม่พูดอะไรก็จะฟัง” มะนาวเล่า

“มีความมั่นคงในจิตใจ จนมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันตัวเองออกจากวงจรเดิมเมื่อออกไปแล้ว...จะต้องสร้างอนาคตที่ดี ด้วยการกลับไปเรียนต่อให้จบ และหางานที่เป็นสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป”

ด้านนวล คิดว่าตัวเองมีความมั่นคงในจิตใจ จนมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันตัวเองออกจากวงจรเดิมเมื่อออกไปแล้ว นวลมั่นใจว่า ทุกสิ่งมันขึ้นอยู่กับตนเอง ไม่มีใครบังคับได้ เกราะที่ใช้ป้องกันตนเองคือ บทเรียนที่เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่ ที่บางคนออกไปแล้วยังหลงกลับไปอยู่ในวงจรเดิม จนกระทำความผิดซ้ำ แล้วต้องกลับเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ อีก เป็นบทเรียนที่นวลสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเอง ที่ต่อไปจะต้องสร้างอนาคตที่ดี ด้วยการกลับไปเรียนต่อให้จบ และหางานที่เป็นสัมมาอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป

คงมีแต่อ้อนที่ยังไม่มั่นใจว่า จะทำใจแข็งได้หรือไม่ ทั้งยังไม่รู้ใจตัวเองว่า อยากเรียนอะไรหรืออยากทำงานอะไร สิ่งที่ต้องพยายามคือ เมื่อสามารถเลิกเสพยาได้แล้ว คงต้องพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองที่จะเข้มแข็งพอที่จะเผชิญสิ่งยั่วเย้าภายนอกให้ได้ เพราะอย่างน้อย ๆ การปรับตัว รู้จักคำว่า ขอบคุณ ขอโทษ และพูดจามีหางเสียง ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่อ้อนกำลังฝึกฝนสะสมเป็นพลังชีวิต

ทุกคนฝันถึงอนาคตที่จะตั้งต้นใหม่ แต่สิ่งที่ยังร้อยรัดความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้คือ ต่างจะเย็บกระเป๋าต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะทำเป็นอาชีพ เพราะอย่างน้อยตอนนี้ยามกลับไปเยี่ยมบ้าน นวลกับบีมจะถ่ายภาพกระเป๋าไปโพสต์ขายทางหน้าเฟซบุ๊ก แต่ระหว่างรอคอยวันปล่อยตัวนั้น ทีมงานบอกว่ายังต้องการเติมเต็มความรู้เรื่องการคิดคำนวณต้นทุน เพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ของตนเองในอนาคต

“เรายังไม่สามารถคิดต้นทุนได้ รู้แค่ว่าผ้าแบบนี้หลาเท่าไร ซิปเบอร์นี้ราคาเท่าไร แต่ยังไม่รู้ว่า ผ้าแบบนี้ 1 หลาทำกระเป๋าแต่ละแบบได้กี่ใบ มีแต่รู้ว่าผ้า 5 หลาทำกระเป๋ามาดามได้ 10 ใบ แต่อย่างอื่นยังไม่ได้วัด ซึ่งถ้าจะทำเป็นอาชีพต้องรู้ว่า ต้องคำนวณต้นทุนอย่างไร แหล่งซื้ออุปกรณ์ การคิดค่าแรงเย็บมือ จะต้องให้ครูสอนก่อนออกไป” นวลบอกถึงความจำนงที่จะเรียนรู้ต่อยอด

ทีมงานเล่าว่า วันนี้ทุกคนเริ่มมีเป้าหมายชีวิตชัดเจนมากขึ้น ด้วยความรู้สึกที่ไม่อยากถูกลอยแพจากสังคม ความมั่นใจที่เพิ่มพูนขึ้นจากการได้รับโอกาสจากการทำโครงการที่ทำให้ได้ออกไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เครือข่ายพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา และการยอมรับของผู้คนทำให้รู้สึกว่า พวกเธอมีที่ยืนในสังคมมากขึ้น ซึ่งความรู้สึกเชื่อมั่นเช่นนี้เกิดจากสายตาและท่าทีของผู้คนที่ให้การยอมรับผลงานกระเป๋าที่สวยงามของพวกเธอ

ผลงานกระเป๋าหลากหลายรูปทรง ได้รับการยอมรับทุกครั้งที่นำออกไปวางจำหน่าย ย้อนกลับคืนสู่การสร้างชื่อเสียงให้กับศูนย์ฝึกฯ สงขลา ความชื่นชมที่ได้รับ กลายเป็นความภาคภูมิใจที่พวกเธอสามารถสร้างประโยชน์แก่หน่วยงาน และสร้างรายได้กลับมาช่วยเหลือเพื่อน ๆ ที่ขาดแคลน การได้สัมผัสความรู้สึกดี ๆ เช่นนี้ ทำให้ความภาคภูมิใจในตนเองค่อย ๆ สั่งสมเป็นความเชื่อมั่น ที่กล้าจะประกาศอย่างมั่นใจว่า “ต่อไปเราจะเป็นคนดี”

“ผ้าก็ลายเหมือน ๆ กัน แต่ไม่น่าเชื่อว่า เขาจะจำได้ว่าชิ้นไหนเป็นของเขา ชิ้นไหนเป็นงานของเพื่อน นั่นเป็นเพราะความใส่ใจที่ทำให้พวกเขามีสายตาที่ละเอียด ซึ่งถ้าเขาไม่ได้ทำงานนี้เขาจะมองไม่เห็น”

มือที่ประคับประคอง

แม่แอ๊ด-กอบกาญจน์ เทพวาริน เล่าว่า ใช้การทำกระเป๋าสร้างความภาคภูมิใจให้เด็ก ๆ ค้นพบคุณค่าของตนเอง บ่อยครั้งต้องยกตัวอย่างตนเองที่ไม่เคยเย็บผ้ามาก่อน เป็นเครื่องกระตุ้นให้เยาวชนได้เกิดความมุมานะ ซึ่งสิ่งที่พบว่า เป็นแรงขับที่ดีคือ การที่เด็ก ๆ ได้รับรู้ว่า ผลงานที่พวกเขาทำมีคนชื่นชมและขายได้ เด็กแต่ละคนจะจำแม่นว่า ผลงานของตนเองคือชิ้นไหน

“ผ้าก็ลายเหมือน ๆ กัน แต่ไม่น่าเชื่อว่า เขาจะจำได้ว่าชิ้นไหนเป็นของเขา ชิ้นไหนเป็นงานของเพื่อน นั่นเป็นเพราะความใส่ใจที่ทำให้พวกเขามีสายตาที่ละเอียด ซึ่งถ้าเขาไม่ได้ทำงานนี้เขาจะมองไม่เห็น”

“ครูต้องหล่อเลี้ยงด้วยความรัก เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ครูจะไม่ใช้การบังคับ แต่จะใช้การสอนให้เด็ก ๆ ไม่แตกแยก คำสอนที่พร่ำบอก เช่น ไม่จำเป็นต้องรักเพื่อน แค่ไม่เบียดเบียนเพื่อน ไม่ทำร้ายเพื่อนก็พอ ถ้าวันนี้ยังรักเพื่อนไม่ได้ ขอให้แค่พยายามกดความรู้สึกก้าวร้าวไว้ ถ้าวันนี้ทำได้ วันต่อไปก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น จนกลายเป็นนิสัย”

การดูแลเด็กก้าวพลาดต้องใช้ “ใจ” เพื่อให้เข้าใจพวกเขาอย่างที่เขาเป็น เช่น พฤติกรรมวัยรุ่นที่มักสนใจเพศตรงข้าม ครูก็ต้องเข้าใจเขาและดูให้อยู่ในความเหมาะสม รู้จักความพอดี บางครั้งต้องสอนทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงให้อยู่ในขอบเขตที่ดี นอกจากนี้การที่ต่างคนต่างมาจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทำให้คนเป็นครูต้องหล่อหลอมความรักเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข แม่แอ๊ดจะไม่ใช้การบังคับ แต่จะใช้การสอนให้เด็ก ๆ ไม่แตกแยก คำสอนที่พร่ำบอก เช่น ไม่จำเป็นต้องรักเพื่อน แค่ไม่เบียดเบียนเพื่อน ไม่ทำร้ายเพื่อนก็พอ ถ้าวันนี้ยังรักเพื่อนไม่ได้ ขอให้แค่พยายามกดความรู้สึกก้าวร้าวไว้ ถ้าวันนี้ทำได้ วันต่อไปก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น จนกลายเป็นนิสัย

วิธีการดูแลของแม่แอ๊ดจึงจะใช้การพูดคุย นำพลังกลุ่มมาสร้างเป็นเงื่อนไข เช่น วันนี้เด็กทำงานช่วยกันได้ดี เสร็จงานก็จะชมแล้วก็ชวนกินขนม หรือถ้าใครทำผิดโดนทั้งกลุ่ม ถ้าคุณไม่อยากให้เพื่อนโดนทำโทษคุณต้องคิดก่อนทำ หรืออยากฟังเพลงก็ให้เปิดฟังบ้าง แต่ทุกอย่างต้องมีการต่อรอง เขาจะเรียนรู้ว่า เขาจะไม่ได้ทุกสิ่งดั่งใจเสมอไป

สำหรับกระบวนการทำงานกลุ่มจะใช้กระบวนการพี่สอนน้อง ถ้างานน้องไม่สวย พี่ต้องแก้ไข ครูจะเป็นผู้ดูแล แต่ไม่เข้าไปสอนโดยตรง เมื่อผลงานเสร็จครูจะดู แล้วแนะนำกับพี่ว่า ต้องปรับอะไร อย่างไร ต้องสอนน้องเพิ่มในส่วนใด การต้องลงมือทำและสอนคนอื่น ทำให้แกนนำทุกคนในโครงการสามารถสอนน้อง ๆ ได้ 

“จะบอกเขาว่าถ้าเราทำได้ เราก็สอนได้ อย่างเขาออกมาเรียนรู้นอกศูนย์ฝึกฯ เขาก็ต้องกลับไปถ่ายทอดให้เพื่อน ๆ รู้ว่าได้ไปเรียนรู้อะไรมา การขายผลงานได้นอกจากสร้างความภูมิใจแล้ว ยังเป็นการฝึกความอดทน เพราะต้องพบเจอกับลูกค้าที่มีความหลากหลาย บางคนต่อโน่นตินี่ เขาก็ต้องทน”

แม่แอ๊ดกล่าวทิ้งท้ายว่า การได้เรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ทำให้เยาวชนจากศูนย์ฝึกฯ มีโอกาสออกมาพบเจอผู้คน ได้ตระหนักว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และมีความเพียรพยายามในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  เพราะการฝืนที่จะฝึก บังคับมือ สายตา และหัวใจให้จดจ่อกับงานเบื้องหน้า ทำให้เยาวชนที่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่านได้สัมผัสความสงบของจิตใจจนเกิดสมาธิ จนสามารถที่จะแปรรูปเป็น “สติ”ที่ประคับประคองและควบคุมการดำเนินชีวิตให้อยู่ในเส้นทางที่ถูกที่ควร รอยเข็มที่เย็บให้เกิดรูปรอย จึงเป็นการร้อยเส้นทางใหม่ของชีวิตที่ทุกคนมั่นใจที่จะบอกว่า เราจะพบกันข้างนอกรั้วของศูนย์ฝึกฯ โดยจะไม่มีวันนำพาชีวิตตนเองกลับเข้าในนี้อย่างแน่นอน


โครงการเย็บใยร้อยใจด้วยกัน กลุ่ม SBC (Smart and Beautiful Cover)

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูกอบกาญจน์ เทพวาริน