การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ขนมพื้นบ้าน ชุมชนบ้านคลองขุด จังหวัดสงขลา

เรียนรู้ “คุณค่า” ขนมพื้นบ้าน

โครงการอนุรักษ์ขนมพื้นบ้านชุมชนบ้านคลองขุด

แม้ว่าตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่ “ทักษะ” เรื่องการทำขนมที่ติดตัวไป ทีมงานบอกว่า สามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ การได้เห็นตนเองเปลี่ยนแปลง มีความมั่นใจมากขึ้น พูดเก่งขึ้น และกล้าแสดงออก

ตือปงกอและ (ขนมเปียกปูน) ตือปงจูโจะ (ขนมจูจุน) ขนมเจาะหู ขนมด้วง ขนมดู ฯลฯ ขนมบ้านเราหน้าตาบ้าน ๆ ทว่าแสนอร่อย จะได้กินก็ต่อเมื่อมีงานบุญ งานมงคล และช่วงเทศกาลต่างๆ เมื่อถูกครูเอาขนมเข้าล่อ เชิญชวนว่า “มาทำโครงการเถอะจะได้กินขนม” ทีมงานทั้งพี่และน้องนักเรียนโรงเรียนทางธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลปากปาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา คิดว่าน่าสนุก ดา-นูรีดา งูหลี ซึ่งเป็นรุ่นพี่จึงไปชักชวนน้องซึ่งประกอบด้วย นี-สุฮัยนี เวชชะกะ ตา-วนิตา วาจิ เสาะ-แอเสาะ ละแมงและ แนน-กันติมา หล่ำหัด มาทำโครงการอนุรักษ์ขนมพื้นบ้านชุมชนบ้านคลองขุดเพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียน อนุรักษ์ขนมพื้นบ้านโดยการสืบทอดองค์ความรู้ในการทำขนม ส่งต่อให้ลูกหลานในชุมชนต่อไป

“มาทำโครงการเพราะครูชวน ที่สนใจเพราะชอบกินขนมอยู่แล้ว ครูบอกให้หาเพื่อนเข้ากลุ่ม 5 คน เลยไปชวนเพื่อนๆ และน้องๆ เข้ามาร่วมทีม เพราะอยากให้มีแกนนำจากทุกชั้นเรียน อยากให้นักเรียนในโรงเรียนสามัคคีกัน รู้จักกันมากขึ้น” ดา พี่ใหญ่ เล่าจุดเริ่มต้นของการรวมทีม

เรียนรู้เพื่อสืบสาน

ด้วยเพราะไม่เคยมีประสบการณ์การทำโครงการมาก่อน การเข้าประชุม “พัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวม” ที่สงขลาฟอรั่มจัดขึ้น จึงเป็นก้าวแรกที่ทำให้ทีมได้เรียนรู้การคิด และออกแบบกระบวนการทำงาน จากแบบฝึกหัดที่พี่ๆ ชวนคิดชวนทำ และเรียนรู้จากเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ แม้จะปวดหัวเพราะต้องวิเคราะห์และคิดให้รอบด้าน แต่พวกเธอก็สนุกกับการเรียนรู้กับคนวัยเดียวกัน จนสุดท้ายเป้าหมายของโครงการถูกเหลาให้ชัดว่า เพื่ออนุรักษ์ขนมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป ผ่านวิธีการที่ทีมงานต้องไปเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการทำขนมอย่างละเอียด เพื่อให้รู้อย่างชัดแจ้งด้วยตนเอง

“การสืบค้นข้อมูลชุมชนครั้งนี้ทำให้ทีมงานค้นพบว่าในหมู่บ้านคลองขุดซึ่งเป็นชุมชนชาวมุสลิม มีสมาชิกประมาณ 50 หลังคาเรือน แต่มีคนที่ยังทำขนมพื้นบ้านเหลืออยู่เพียง 3 คนเท่านั้น”

ทีมงานระดมชนิดขนมพื้นบ้านที่เคยพบเห็น เช่น ตือปงกอและ (ขนมเปียกปูน) ตือปงจูโจะ (ขนมจูจุน) ขนมเจาะหู ขนมด้วง ขนมดู ฯลฯ จากนั้นจึงวางแผนการทำงาน เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับขนมพื้นบ้านโดยศึกษาสูตรขนมและชื่อเรียกขนมทั้งภาษามลายูและภาษาไทยจากผู้รู้ทั้งในโรงเรียน และในชุมชน เพื่อรวบรวมสูตรขนมที่ศึกษามาจัดทำเป็นรูปเล่มองค์ความรู้การทำขนมพื้นบ้านจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นจากนั้นจึงรับสมัครเพื่อนเข้าร่วมโครงการไปศึกษาดูงานและฝึกทำขนมพื้นบ้านในชุมชนบ้านคลองขุด และจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้การทำขนมให้สมาชิกร่วมโครงการ ดาเล่าว่า การหาผู้รู้ในชุมชนที่ทำขนมเป็น ใช้วิธีสอบถามคนในชุมชนว่าใครทำขนมอะไรเป็นบ้าง ทำให้เจอคำตอบว่าคนนั้นคนนี้ทำขนมอร่อย ทีมงานจึงตามไปพูดคุยกับเจ้าตัว

การสืบค้นข้อมูลจากชุมชนครั้งนี้ทำให้ทีมงานค้นพบว่าในหมู่บ้านคลองขุดซึ่งเป็นชุมชนชาวมุสลิม ที่มีสมาชิกประมาณ 50 หลังคาเรือน แต่มีคนที่ยังทำขนมพื้นบ้านดังรายชื่อข้างต้นเหลืออยู่เพียง 3 คนเท่านั้น เมื่อรู้ดังนั้น ความตั้งใจ และอยากไปเรียนรู้กระบวนการทำขนมแต่ละชนิดยิ่งเพิ่มขึ้น จึงขอให้ครูช่วยประสานงานกับผู้รู้ในชุมชน ให้ช่วยสอนพวกเขาทำขนม เมื่อผู้รู้ใจดีรับเป็นศิษย์ จึงได้นัดหมายไปเรียนที่บ้านของผู้รู้ ในวันศุกร์และวันเสาร์ ผู้รู้ 2 คนช่วยกันสอนคนละ 2 รอบ รอบแรกเรียนทำขนมเจาะหู รอบที่ 2 เรียนทำขนมดูกับขนมจาก โดยผู้รู้พาทำทีละขั้น

แต่เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้ครบถ้วนสมบูรณ์บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ทีมงานจึงแบ่งบทบาทหน้าที่กัน มีทั้งคนถ่ายภาพ จดบันทึก และลงมือฝึกตามคำสอน ภายในเวลา 2 สัปดาห์จึงกลับมาฝึกทำกันเองในโรงเรียน โดยแบ่งกลุ่มทีมงานและเพื่อน ๆ ที่สนใจเข้าร่วมฝึกทำขนมแต่ละชนิด

“ตอนไปเรียนกับผู้รู้ในชุมชนเขาทำให้ดู เราก็ทำไปพร้อมเขา และจดสูตรมาด้วย ตอนไปเรียนครั้งแรกยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำได้ พอกลับมาโรงเรียนอาจารย์ก็สอนให้อีกรอบ ซึ่งวิธีการสอนคือ อาจารย์บอกสูตรแล้วให้ พวกเราฝึกทำเอง แต่อาจารย์จะช่วยใส่ส่วนผสมให้ มีเพื่อน ๆ น้อง ๆ มาช่วยกันทำประมาณ 10 คน โดยแยกเป็น ขนมด้วง ขนมจูโจะ ขนมเจาะหู ขนมดู แบ่งกลุ่มกันทำกลุ่มละ 2 ชนิด ทำทั้งวันตั้งแต่เช้าถึงบ่าย” ดาอธิบายขั้นตอนการฝึกทำขนมพื้นบ้าน

มุ่งมั่น อดทน หนทางสู่ความสำเร็จ

ชั่วโมงการงานอาชีพ คือ ช่วงเวลาของการฝึกฝนทำขนมให้เชี่ยวชาญ แต่การฝึกกันเองบางครั้งก็พบปัญหา สูตรขนมตือปงจูโจะที่จดมา พอมาทำเอง แป้งกลับไม่ขึ้นฟู จนต้องเทแป้งทิ้งด้วยความเสียดาย แต่โชคดีที่ทีมเลือกที่จะแบ่งส่วนผสมทำทีละนิด เมื่อเกิดความผิดพลาดจึงไม่เสียหายมากนัก “ตอนทำแล้วขนมไม่ฟู แป้งไม่ขึ้น ต้องเททิ้งก็เสียดาย ต้องทำใหม่ก็มีท้อบ้าง แต่ไม่คิดเลิกทำ เพราะคิดว่าคนเรามันผิดพลาดกันได้ ถึงรอบที่ 5 ก็ยังคงทำ เพราะเป็นสิ่งที่เราคิดไว้แล้ว ต้องทำให้ได้”

เมื่อยังไม่สำเร็จทำให้ต้องเริ่มใหม่ ตั้งแต่การสอบถามสูตร และเคล็ดลับการทำจากผู้รู้หลาย ๆ คน จนรู้ว่า ผู้รู้แต่ละท่านล้วนมีกลเม็ดเคล็ดลับต่างกัน บางคนบอกว่าให้ใช้ผงฟู บางรายบอกให้พักแป้งไว้ค้างคืน จึงเป็นบทเรียนให้ทีมงานได้เรียนรู้ว่า เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ มีผลต่อความสำเร็จ ทีมงานจึงนำคำแนะนำของผู้รู้มาปรับใช้ในการฝึกทำถึง 5 ครั้ง กว่าที่จะได้ขนมตือปงจูโจะที่มีหน้าตาและรสชาติใช่ดังใจ 

“ตอนทำแล้วขนมไม่ฟู แป้งไม่ขึ้น ต้องเททิ้งก็เสียดาย ต้องทำใหม่ ก็มีท้อบ้าง แต่ไม่คิดเลิกทำ เพราะคิดว่าคนเราผิดพลาดกันได้ ถึงรอบที่ 5 ก็ยังคงทำ เพราะเป็นสิ่งที่เราคิดไว้แล้ว ต้องทำให้ได้” ดาย้ำถึงความมุ่งมั่นของทีม ทีมงานฝึกฝนทำอยู่ซ้ำ ๆ ขนมที่ทำเสร็จถูกแบ่งปันแจกจ่ายกินกันเองในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ในโรงเรียน จนเมื่อฝีมือเข้าขั้น เวลามีงานประชุม หรือมีแขกมาเยี่ยมที่โรงเรียน ทีมงานได้รับมอบหมายให้ทำขนมเพื่อรับรองแขก จากเดิมที่ต้องไปซื้อขนมมาจากที่อื่น ก็ไม่ต้องเสียเงินซื้ออีกต่อไป “รู้สึกดีใจมากที่มีคนกินขนมของเรา เวลาเห็นคนอื่นกินขนมของเรา ก็นั่งยิ้มภูมิใจ” ดากล่าวย้ำถึงความอิ่มอกอิ่มใจ 

เก็บเกี่ยวความสำเร็จ

ขนมที่ถูกแบ่งปันสู่พี่เพื่อนน้องกลายเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เพื่อนๆ น้องๆ ที่แวะเวียนมาขอชิมขนม เริ่มขยับมาช่วยหยิบจับงาน และกลายเป็นคนคุ้นหน้าคุ้นตา สามารถเอ่ยขอความช่วยเหลือได้เมื่อต้องการความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจึงกลายเป็นความสามัคคีที่ดาอยากให้เกิดขึ้นในโรงเรียน 

และนอกจากการทำโครงการอยู่ในโรงเรียน และชุมแล้ว ระหว่างการทำงานโครงการที่ต้องออกไปเรียนรู้กับเพื่อนๆเยาวชนในเครือข่ายพลังพลเมืองเยาวชนสงขลากลุ่มอื่นๆที่สงขลาฟอรั่มจัดขึ้นเป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ที่ทำให้ทีมงานได้ฝึกปรือเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่นกล้าแสดงออกจนทำให้เพื่อนบางคนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมทีมในตอนแรกขอเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ “แนนอยากเข้ามา เพราะว่าวันนั้นมีกิจกรรมที่สงขลา แล้วรุ่นน้องไม่กล้าไป เราก็เสนอหน้าขอไปเองเพราะอยากเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการนี้ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง โครงการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ทั้งการทำขนม และการทำผังเมือง” แนนเล่าถึงการอาสาเอาตัวเข้ามาเรียนรู้กับเพื่อนๆ

การได้รู้จักกับขนมพื้นถิ่น มีส่วนในการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเยาวชน จากเดิมที่เมินหน้าหนีขนมพื้นบ้าน สนใจเลือกซื้อแต่ขนมกรุบกรอบ เมื่อได้ลิ้มรสขนมที่ทำเอง ก็ติดใจในความอร่อย จนสมาชิกบางคนในกลุ่มลดการบริโภคของกรุบกรอบลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง

“ไม่อยากให้ใครลืมขนมของคนสมัยก่อน ตอนนี้แม้แต่ในชุมชนก็มีขายน้อยลง เมื่อก่อนเราก็ไม่เคยกิน แต่พอได้กินก็ชอบ ถึงจะยังเลิกกินขนมกรุบกรอบไม่ได้แต่ก็ลดลง เลือกกินขนมที่เราทำเองมากกว่า” ดาสารภาพ

พัฒนาตน รู้รากเหง้าท้องถิ่น

แม้เดิมตั้งใจจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นแต่“ทักษะ”เรื่องการทำขนมที่ได้รับก็เป็นทักษะที่ติดตัวไปซึ่งทีมงานบอกว่าสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการได้เห็นตนเองเปลี่ยนแปลง มีความมั่นใจมากขึ้น พูดเก่งขึ้น กล้าแสดงออก เพราะเวทีเรียนรู้ของเครือข่ายพลังพลเมืองเยาวชนเป็นพื้นที่ที่เคี่ยวคั้นให้พวกเขาต้องแสดงศักยภาพออกมา

สำหรับแนน ซึ่งอาสาขอเข้ามาเรียนรู้ บอกว่า เธอได้ทักษะการทำขนม บรรลุเป้าหมายที่จะกลับไปทำขนมให้พี่น้องที่มีหลายคนในบ้านกิน การทำขนมเองจึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมาก ขณะที่ดาบอกว่า เธอเริ่มปรับพฤติกรรมการกินขนม หันมาทานขนมพื้นบ้านมากขึ้นและเน้นขนมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ตามธรรมชาติ เพื่อช่วยลดขยะในโรงเรียนและในชุมชน ที่สำคัญคือเธอ สามารถจัดการกับอารมณ์ จากเมื่อก่อนเป็นคนหงุดหงิดง่าย ก็เริ่มเย็นลง การนำตัวเองมาเรียนรู้ ลงมือทำ และลิ้มรสขนมพื้นบ้าน ยังกระตุ้นต่อมความสนใจให้ทีมงานอยากรู้ต่อถึงประวัติของขนมแต่ละชนิดเพราะสังเกตเห็นว่าขนมเหล่านี้ได้ใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ขนมดู ขนมเจาะหู ขนมเปียกปูนใช้ในงานแต่งงาน ถ้าช่วงวันฮารีรายอ ต้องมีข้าวต้มมัดกับแป้งข้าวหมาก 

ส่วนงานขึ้นบ้านใหม่กับการทำบุญกุโบร์ (การทำบุญในสุสานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ) จะใช้ขนมอะไรก็ได้ ความสนใจใคร่รู้ถูกจุดประกาย หลังจากที่เชื่อมโยงได้ว่าขนมส่วนใหญ่ที่ทำสามารถหาวัตถุดิบได้ในชุมชน ดังนั้นการจะสืบสาวให้รู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ทีมงานอยากต่อยอดในการทำงานต่อไป 

“...จากแรก ๆ ตอนที่พาไปเรียนรู้ในชุมชน เขาไม่รู้จักเลยว่าขนมนี่ขนมอะไร ทำอย่างไร ไม่เคยกิน แต่หลังจากที่ได้เรียนกับผู้รู้ เขาก็อยากทำ อยากจะกินขนมพื้นบ้าน ฝึกทำกินกันเองได้ แล้วยังสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติของขนมแต่ละชนิดด้วย”

ครูสุใบต๊ะ ตาแย๊ะ ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า ตนเข้ามารับช่วงดูแลเด็กต่อจากคุณครูที่ลาออกไป การทำงานในโครงการจึงเป็นการเรียนรู้ร่วมกันของครูและลูกศิษย์ 

วันตรุษอีด หรือ วันอีด เป็นวันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม โดยในวันนี้จะมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น แต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย ร่วมกันทำพิธีละหมาดวันอีดที่สนามหรือในมัสยิด เยี่ยมเยืยนญาติพี่น้อง รับประทานอาหารร่วมกัน เป็นต้น วันอีดมี 2 วันในแต่ละปีคือ

อีดุลฟิฏริ ภาษามลายูปัตตานีเรียก ฮารีรายอปอซอ มุสลิมภาคกลางเรียก วันอีดเล็ก ในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เป็นเฉลิมฉลองที่ได้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน จะมีการละหมาดที่มัสยิด หากใครมีฐานะดีก็จะบริจาคเงินแก่เด็กและคนชรา และขออภัยญาติมิตรหากเคยล่วงเกินต่อกัน

อีดุลอัฎหา ภาษามลายูปัตตานีเรียก ฮารีรายอฮายี มุสลิมภาคกลางเรียก วันอีดใหญ่ ในวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ์ จะมีกิจกรรมใกล้เคียงกับอีดุลฟิฏริ แต่เพิ่มเติมการเชือดสัตว์พลีเพื่ออัลลอฮ์ (กุรบาน) โดยสัตว์นั้นอาจเป็นแพะ แกะ วัว หรืออูฐก็ได้ (ข้อมูลจาก https:/th.wikipedia.org/wiki/วันอีด)

“การทำโครงการทำให้เด็ก ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง จากแรก ๆ ตอนที่พาไปเรียนรู้ในชุมชน เขาไม่รู้จักเลยว่าขนมนี่ขนมอะไร ทำอย่างไร ไม่เคยกิน แต่หลังจากที่ได้เรียนกับผู้รู้ เขาก็อยากทำ อยากจะกินขนมพื้นบ้าน ฝึกทำกินกันเองได้ แล้วยังสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติของขนมแต่ละชนิดด้วย”  การที่ลูกศิษย์เอาจริงเอาจังกับการฝึกทำขนม จนสามารถทำขนมกินเองได้ สร้างความรู้สึกดีให้กับคนเป็นครูที่เห็นลูกศิษย์ใฝ่เรียนรู้ ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่ดีอันจะเป็นพื้นฐานของการเรียน และใช้ชีวิตอย่างมั่นคงต่อไป

วันนี้ขนมพื้นบ้านไม่ได้เป็นเพียงของพื้นถิ่นธรรมดาในสายตาของเยาวชนอีกต่อไป เพราะความเอาจริงเอาจังกับการเรียนรู้ และลงมือทำ ทำให้พวกเขาสัมผัสได้ถึงคุณค่าของขนมเหล่านี้ทั้งต่อตัวเขาและชุมชน และเริ่มคิดเชื่อมโยงได้ว่าขนมกับทรัพยากรในชุมชนนั้นมีความเชื่อมโยงกัน นับเป็นบันไดการเรียนรู้ก้าวสำคัญที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ทุกวันอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน


โครงการ : อนุรักษ์ขนมพื้นบ้านชุมชนบ้านคลองขุด โรงเรียนทางธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

ที่ปรึกษาโครงการ : คุณครูสุใบด๊ะ ตาแย๊ะ

ทีมทำงาน : ( สุฮัยนี เวชชะกะ )  ( วนิตา วาจิ )  ( กันติมา หลำหัด )  ( นูรีดา งูหลี )  ( แอเสาะ ละแมง )