การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความรักและสืบทอดวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุง จังหวัดสงขลา

นายหนังพลเมือง

โครงการตะลงพันธุ์ใหม่สานใจเยาวชน

วรรคทองจากคำสอนของครูบาอาจารย์ถูกจดบันทึก เพื่อรอวันนำออกมาใช้ในการแสดง ส่วนการเรียนรู้เรื่องโครงการหรือหนังตะลุง ก็ย้อนกลับไปช่วยในการเรียนได้ โดยเฉพาะการเรียนในสาขาพัฒนาชุมชน ที่ หนังตะลุงกลายเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชนได้อย่างแนบเนียน

“ตะลุง” ศิลปะพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นใต้ ที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดใจตั้งแต่วัยเด็ก ความสนใจที่ถูกจุดประกายตั้งแต่ 4 ขวบ และอยู่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน ทำให้ ป้อ-จิตติกรณ์ บัวเพชร ทุ่มเทฝึกฝนตนเอง เดินเข้าสู่เส้นทางสายหนังตะลุงควบคู่ไปกับการเรียนพัฒนาชุมชนในชั้นปี 2 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เมื่อสงขลาฟอรั่มเปิดรับสมัครโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา จึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้เผยแพร่ศิลปะที่เขารักสู่สังคมวงกว้าง

ป้อจึงรวบรวมเพื่อน ๆ นายหนังตะลุงรุ่นใหม่ในชื่อว่า “กลุ่มนายหนังพันธุ์ใหม่ สานใจเยาวชน” เพื่อทำโครงการตะลุงพันธุ์ใหม่สานใจเยาวชน โดยทีมงานร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมพบว่า ปัจจุบันเยาวชนในท้องถิ่นภาคใต้มีพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา เช่น แต่งกายล่อแหลม เสพยาเสพติด และขาดคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นผลสะท้อนของความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย สาเหตุเหล่านี้อาจส่งผลให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติอ่อนแอ ไม่สามารถเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองต่อไป

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ทีมงานจึงเห็นโอกาสว่า เมื่อจะเผยแพร่ศิลปะการแสดงที่พวกเขารักก็น่าจะผสมผสานความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ ผูกเรื่องราวเกี่ยวกับยาเสพติด ประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรม และหน้าที่พลเมือง เป็นบทกลอน บทเจรจา ผ่านการแสดงหนังตะลุง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีงามให้กับเยาวชนและคนทั่วไป


ก้าวข้ามปัญหา

แต่ก่อนที่จะเผยแพร่เรื่องราวดังกล่าวสู่ผู้ชมได้นั้น ทีมงานทั้งหมดจะต้องมีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ให้ถ่องแท้ก่อน หากแต่การแสวงหาความรู้ร่วมกันของนายหนังทั้ง 5 ทำได้ยาก เพราะแต่ละคนต่างมีภารกิจส่วนตัวแน่นขนัด การนัดหมายหลายครั้งต้องเลื่อนออกไป ป้อในฐานะหัวหน้าโครงการรู้สึกท้อแท้ใจ ยิ่งนานวันงานก็ยิ่งล่าช้า ยิ่งเมื่อพี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มส่งเสียงไถ่ถามความก้าวหน้าของงาน ป้อบอกว่า แทบอยากจะยกเลิกโครงการ ส่งงบประมาณทั้งหมดคืน

“นายหนังทุกคนมีภารกิจหมด รวมทั้งผมด้วย การนัดหมายกันมาทำกิจกรรมแต่ละครั้งยากมาก ตอนนั้นผมท้อมาก เพราะต้องทำอยู่คนเดียว จัดการอยู่คนเดียว ท้อจนไม่อยากทำแล้ว จนตุ๊ยกับป๊อดซึ่งเป็นเพื่อนในชั้นเดียวกันบอกว่าอย่าท้อ เขาจะช่วย ถึงเขาจะช่วยได้ไม่มาก แต่มีอะไรให้บอก เลยตั้งทีมใหม่”  “เมื่อคิดสร้างทีมงานใหม่ ป้อนำบทเรียนจากทีมงานชุดเดิมมาใช้ ครั้งนี้เขาใช้หลักความสมัครใจ และให้อิสระเพื่อนๆ ได้ตัดสินใจอย่างเต็มที่ว่าจะสะดวกมาทำงานร่วมกันไหม ซึ่งเพื่อนและน้องทั้ง 4 คน ต่างอาสาเข้ามาช่วยเต็มที่”

ตุ๊ย-ธราวุฒิ ขุนนุ้ย และป๊อด-สันติลักษณ์ เถาทอง คือเพื่อนรัก 2 คนที่ช่วยกระตุ้นความฮึกเหิมของป้อให้กลับคืนมาอีกครั้ง พร้อมให้ข้อคิดว่า การนัดหมายทำงานในโครงการควรเว้นระยะห่างให้เพื่อนร่วมงานแต่ละคนได้มีเวลาว่างไปทำภารกิจส่วนตัว เพราะงานโครงการไม่ใช่งานที่ต้องทำประจำทุกวัน หากมีเวลาทำโครงการแน่ชัดเชื่อว่าเพื่อน ๆ น่าจะจัดสรรเวลามาช่วยกันได้ แรงใจที่ถูกส่งมาจากเพื่อน ทำให้ป้อเดินหน้าสร้างทีมใหม่อีกครั้ง โดยชวนฝน-กาญจนาภรณ์ อนุพงศ์ เพื่อนที่เรียนคุรุศาสตร์ และแบ้งค์-ปริญญา ทองเต็ม ซึ่งเป็นลูกคู่หนังตะลุงเข้ามาเสริมทีม พร้อมกับพยายามเคลียร์ความเข้าใจกับทีมงานชุดเก่า

 “ผมพยายามทำความเข้าใจกับทีมงานเก่าอีกครั้ง แต่ข้อเสียของผมคือ ถ้าผมพยายามวิ่งเข้าหาเขาแล้วเขาตีตัวออกห่าง ผมก็จะปล่อยไปเลย คนไหนเคลียร์ได้ก็เคลียร์ แต่บางคนก็เคลียร์ไม่ได้ ทีมเลยสลายตัวไปในที่สุด” เมื่อคิดสร้างทีมงานใหม่ ป้อนำบทเรียนจากทีมงานชุดเดิมมาใช้ ครั้งนี้เขาใช้หลักความสมัครใจ และให้อิสระเพื่อนๆ ได้ตัดสินใจอย่างเต็มที่ว่าจะสะดวกมาทำงานร่วมกันไหม ซึ่งเพื่อนและน้องทั้ง 4 คน ต่างอาสาเข้ามาช่วยเต็มที่

ป้อบอกต่อว่า การรวมทีมใหม่ครั้งนี้ใช้วิธีคัดคนที่มีจิตอาสาเข้ามาร่วมทีม เพราะงานแบบนี้ไม่มีค่าตอบแทนให้ ต้องทำด้วยใจเท่านั้น แม้เพื่อนที่มาร่วมทีม 3 คนจะไม่รู้จักหนังตะลุงเลยก็ตาม มีแต่แบ้งค์กับเขาเท่านั้นที่รู้จักหนังตะลุง

ขณะที่ฝนเสริมว่า เธออาสาเข้ามาร่วมทีมเพราะสงสารและอยากมีประสบการณ์ คิดว่าการเข้ามาทำงานนี้น่าจะทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ “เราเรียนสังคมน่าจะช่วยเพื่อนเรื่องการสืบค้นข้อมูล ให้คำปรึกษา เป็นเลขา และดูแลการเงินได้บ้าง ไม่ได้คิดว่ามีภาระเพิ่ม เพราะการทำงานแบบนี้ก็ตรงกับเนื้อหาที่เรียนด้วย”


เติมความรู้ก่อนเผยแพร่

แม้ทีมงานใหม่บางส่วนจะไร้ประสบการณ์เกี่ยวกับหนังตะลุง แต่กลายเป็นว่า ทุกคนสามารถหลอมรวมกันเป็นทีมที่ดีได้ เมื่อทีมงานเข้าที่เข้าทาง งานจึงเริ่มเดินหน้า กิจกรรมแรกคือ การอบรมให้ความรู้แก่ตัวนายหนังและแกนนำ เนื่องจากว่า ทีมงานไม่มีความรู้เชิงประเด็นที่อยากทำ จึงได้เชิญวิทยากร 3 ท่าน 3 แขนงมาให้ความรู้ คือ หนังมงคลตะลุงชาโดว์ หรือ มงคล รัตนพันธุ์ เป็นผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องหนังตะลุง พี่จอน-อดิศร รัตนะ ให้ความรู้เรื่องหน้าที่พลเมือง และอาจารย์โอภาส อิสโม อาจารย์ประจำภาควิชานาฎศิลป์และการละคร ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ให้ความรู้เรื่องการนำหนังตะลุงไปผสมผสานกับหน้าที่พลเมือง 

ความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ทีมงานจะนำมาทบทวนและตรวจทานร่วมกัน เพราะเชื่อว่าแต่ละคนอาจจะเก็บประเด็นได้ไม่เท่ากัน การตรวจทานความรู้ร่วมกันจึงเป็นการเติมเต็มความรู้ให้กันและกันได้เป็นอย่างดี 

เมื่อได้ความรู้เป็นแนวทางในการทำงาน จึงทดลองนำเนื้อหาของประเด็นที่ต้องการสื่อสารมาเขียนสอดแทรกในบทหนังตะลุง แต่ก็ยังไม่มีเวทีให้ทดสอบการแสดง ครั้นเมื่อสงขลาฟอรั่มจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ

“สร้างจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชนและความเป็นชุมชนเข้มแข็งเป็นฐานการเรียนรู้” ที่ชุมชนคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้ขอจัดแสดงที่ตลาดน้ำคลองแดน เวทีนี้จึงเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในการนำบทหนังตะลุงพลเมืองเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปที่มาเที่ยวตลาดน้ำคลองแดนนั่นเอง

“ความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ทีมงานจะนำมาทบทวนและตรวจทานร่วมกัน เพราะเชื่อว่าการอบรมแต่ละคนอาจจะเก็บประเด็นได้ไม่เท่ากัน การตรวจทานความรู้ร่วมกันจึงเป็นการเติมเต็มความรู้ให้กันและกันได้เป็นอย่างดี” แต่ไม่ใช่แค่แสดงเท่านั้น ทีมงานยังประเมินปฏิกิริยาของผู้ชมว่า เข้าใจในประเด็นที่พวกเขาต้องการสื่อสารหรือไม่ เพราะโดยเทคนิคของการเล่นหนังตะลุง จะไม่สามารถพูดให้ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเจาะจง แต่ต้องมีการหลอกล่อด้วยมุขตลกหรือความบันเทิงเพื่อให้คนรู้สึกสนุกสนาน

ป้อเล่าต่อว่า เมื่อแสดงจบ ทีมงานจะเข้าไปสอบถามความคิดเห็นของผู้ชม พบว่าส่วนใหญ่แนะนำให้พวกเราปรับปรุงเรื่องเวลาในการแสดงที่ต้องครอบคลุมเนื้อหาเรื่องหน้าที่พลเมืองมากกว่านี้ รวมถึงคำพูดบางคำที่สื่อถึงความเป็น “พลเมือง” ซึ่งอาจตกหล่นไปบ้าง 


หนังตะลุงพลเมือง

หลังการแสดงในเวทีแรกผ่านไป ทีมงานแสวงหาโอกาสในการแสดงครั้งที่ 2 พร้อม ๆ กับการนำจุดอ่อนจากการแสดงครั้งแรกมาปรับปรุงเพื่อให้การแสดงครั้งนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเนื้อหาที่เจาะลึกในเรื่องหน้าที่พลเมือง ยาเสพติด การคอรัปชั่น ฯลฯ ครั้งนี้ทีมงานเสนอตัวขอเข้าไปแสดงในงานทอดผ้าป่าวัดฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และได้รับการตอบรับจากคณะกรรมการวัดฝาละมี ให้แสดงเต็มรูปแบบ 5 ชั่วโมง

ป้อบอกต่อว่า ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ทีมงานจะได้แสดงเรื่องเต็มๆ ทำให้พวกเขาสามารถใส่เนื้อหาเข้าไปได้ทุกฉาก โดยปกติ คืนหนึ่งการแสดงจะมีประมาณ 12 ฉาก ๆ ละประมาณครึ่งชั่วโมง มีฉากฤษีสอนศิษย์ แม่สอนลูก เราก็สามารถนำสิ่งที่ต้องการสื่อสารใส่เข้าไปทันที เช่น ฤษีต้องสอนลูกศิษย์ว่า หน้าที่พลเมืองคืออะไร มีอะไรบ้าง หากทุกคนรู้จักหน้าที่พลเมืองแล้วจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร ส่วนเรื่องคอรัปชั่น หรือการถูกเอารัดเอาเปรียบ ก็จะใส่ในช่วงของตัวละครที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นต้น

ป้อเล่าต่อว่า ทีมงานทุกคนรู้สึกแปลกใจมากที่คณะกรรมการวัดเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงหนังตะลุงพลเมือง เพราะมารู้ทีหลังว่า ที่นี่ไม่เคยมีหนังตะลุงมาเล่นเลย ที่ผ่านมามีแต่การแสดงดนตรี และคาราโอเกะ เท่านั้น  “คนดูให้ความสนใจมาก เพราะเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้เห็นมานานแล้ว การแสดงในวันนั้นจึงได้เสียงตอบรับอย่างดี คนที่มาชมหนังตะลุงคืนนั้นรวมแล้วประมาณ 80 คน ถือว่ามากเหมือนกัน เพราะเป้าตั้งไว้แค่ 50 คน พอเห็นคนมาดูมาก ทีมงานก็รู้สึกปลื้มใจและมีกำลังใจมาก”

ป้อบอกต่อว่า เขาแสดงเป็นตัวหลัก มีแบ้งค์เป็นลูกคู่ ส่วนตุ๊ยและป๊อดทำหน้าที่สังเกตและสัมภาษณ์ผู้ชม ซึ่งพบว่า ผู้ชมส่วนใหญ่จะมี 2 ช่วงอายุคือ 15-25 ปี ที่มาดูฉากสองฉากแล้วกลับ และ 30-70 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ดูหนังตะลุงเป็น อย่างไรก็ตามเมื่อสังเกตเห็นวัยรุ่นมาชมมาก ทีมงานก็ส่งสัญญาณให้ป้อสอดแทรกเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารถึงเยาวชนอย่างเต็มที่  “แม้จะเป็นการแสดงแค่ฉากสองฉากที่วัยรุ่นมาดู ผมก็ใส่เนื้อหาเรื่องยาเสพติดเต็มที่ โดยสอดแทรกเข้าไปเลยว่า ยาเสพติดมีพิษภัยอย่างไร มีผลร้ายอย่างไร อย่างน้อยๆ ก็ให้เขาฉุกคิดได้ว่า มันมีโทษอะไรบ้าง”

 สำหรับผู้ชมช่วงวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเป็นกลุ่มผู้ชมที่ดูหนังตะลุงเป็น ดังนั้นการชมหนังตะลุงของคนกลุ่มนี้จะได้อรรถรสมากกว่าเด็ก ๆ เพราะพวกเขาต้องดูอย่างครบเครื่อง ไม่ได้ดูแค่มุขตลก แต่จะดูทั้งการเจรจา การพากย์ การใส่เนื้อหาสาระ การสอดแทรกคติสอนใจ การเยาะเย้ยสังคม และการสะท้อนสังคมทุกรูปแบบ ทั้งนี้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ชมสูงวัยท่านหนึ่ง บอกกับทีมงานว่า ไม่ได้พบบรรยากาศการแสดงหนังตะลุงในวัดฝาละมีนานมากแล้ว ซึ่งการที่ได้ชมหนังตะลุงในคืนนี้จึงเป็นการฟื้นคืนบรรยากาศในอดีต พร้อมสะท้อนความคิดเห็นต่อการแสดงว่า การเจรจาต้องทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนคนสองคนคุยกันจริงๆ

“การแสดงหนังตะลุง นายหนังต้องพากย์คนเดียว เสียงผู้หญิงทำอย่างไรก็ได้ให้เป็นผู้หญิง เสียงนางเอกก็ต้องสวย เสียงยักษ์ฟังอย่างให้เขารู้สึกว่านี่คือยักษ์ เสียงพระเอกต้องหล่อถึงนายหนังจะไม่หล่อก็ตาม เสียงตัวตลก เสียงลูกดำทำอย่างไรให้มันทะเล้น เสียงต้องเข้ากัน คนดูจะได้อรรถรสมาก” ป้อย้ำถึงคุณลักษณะของนายหนังที่ดี


นายหนัง...ปรุงความรู้

นอกจากแสวงหาโอกาสในการแสดงเพื่อฝึกปรือฝีมือแล้ว เพื่อให้การเผยแพร่แนวคิดนายหนังพลเมืองเกิดผลเชิงประจักษ์ ทีมงานจึงอัดวิดีโอการแสดงที่วัดฝาละมีไว้ ด้วยตั้งใจจะนำไปเผยแพร่ในรูปแบบแผ่นซีดี เพื่อนำไปแจกให้หน่วยงานต่างๆ ใช้ประโยชน์ต่อไป แต่เมื่อได้ย้อนคิดทบทวนกันในทีมงานแล้วคิดว่า การทำแบบนี้อาจเสียทั้งงบประมาณ เสียเวลา และอาจไม่ได้ผลดังหวัง เพราะคนที่ได้รับไปอาจไม่ได้เปิดดู และหากเก็บไว้นานๆ แผ่นซีดีอาจชำรุดเสียหาย ทีมงานจึงเลือกช่องทางใหม่ในการเผยแพร่ผลงาน ด้วยการตัดต่อเป็นคลิปสั้น ๆ นำเสนอในยูทูป

“เราเผยแพร่ลงยูทูปโดยตัดเฉพาะเนื้อหาสาระที่ต้องการเผยแพร่ มียอดผู้ชม 500 กว่าวิว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะมีคนเข้าไปดูทุกเพศทุกวัย แม้คนที่เข้าไปดูหวังจะผ่อนคลาย แต่เมื่อเข้าไปดูแล้วเขายังซึมซับเรื่องหน้าที่พลเมืองไปด้วย”

ป้อสะท้อนบทเรียนการทำงานว่า เงื่อนไขของการทำโครงการส่งผลดีที่ทำให้ทีมงานต้องใฝ่หาความรู้ เพราะการแสดงแต่ละครั้ง ทีมงานมีเป้าหมายที่จะสื่อสารเรื่องหน้าที่พลเมือง ยาเสพติด คอรัปชั่น หากไม่มีการหาความรู้ก่อนคงไม่สามารถสอดแทรกเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารออกไปได้ “หลักคิดในการคัดกรองข้อมูลคือ การสืบค้นข้อมูลแต่ละครั้งเธอจะคิดถึงกลุ่มเป้าหมายก่อนว่า เนื้อหาแบบนี้เยาวชนจะเข้าใจไหม และทำอย่างไรให้เยาวชนเข้าใจว่าหน้าที่พลเมืองคืออะไร คอรัปชั่นคืออะไร อะไรทำแล้วดี ไม่ดี ทุกเรื่องต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก”

“ทั้งกลุ่มมีผมเป็นนายหนังคนเดียว ส่วนเพื่อน ๆ จะมีส่วนร่วมเรื่องการสืบค้นข้อมูล ผมมีความรู้เรื่องหน้าที่พลเมืองแบบงู ๆ ปลา ๆ จึงต้องอาศัยเพื่อนช่วยหาข้อมูลมาเขียนบท ทีมเรามีกันอยู่ 5 คน ผมเป็นหัวหน้ากลุ่ม ทำการแสดง เป็นผู้ดำเนินโครงการ ฝนทำเรื่องการเงิน และเลขา แบ้งค์เป็นสมาชิกในวงหนังตะลุง ทำหน้าที่ลูกคู่ ประสาน และประชาสัมพันธ์ เวลามีความคิดอะไรดีๆ ก็จะมาบอกผม ส่วนตุ๋ยกับป๊อด จะเป็นผู้ช่วยเรื่องกิจกรรมต่างๆ”

คนหลักในการประมวลความรู้ของกลุ่มคือ ฝน แม้จะเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่ม แต่เพื่อน ๆ ก็ไว้ใจมอบหมายให้เป็นคนตัดสินใจหลังจากทีมได้วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันแล้ว ว่า เนื้อหาส่วนใดสมควรนำไปใช้ หรือส่วนใดไม่ควรนำไปใช้ ซึ่งฝนเล่าว่า มีหลักคิดในการคัดกรองข้อมูลคือ การสืบค้นข้อมูลแต่ละครั้งเธอจะคิดถึงกลุ่มเป้าหมายก่อนว่า เนื้อหาแบบนี้เยาวชนจะเข้าใจไหม และทำอย่างไรให้เยาวชนเข้าใจว่า หน้าที่พลเมืองคืออะไร คอรัปชั่นคืออะไร อะไรทำแล้วดี ไม่ดี ทุกเรื่องต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก

การเรียนรู้เรื่องโครงการหรือหนังตะลุง ก็ย้อนกลับไปช่วยในการเรียนได้ โดยเฉพาะการเรียนในสาขาพัฒนาชุมชน ที่ป้อบอกว่า หนังตะลุงกลายเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชนได้อย่างแนบเนียน” 

เพราะการเป็นนายหนังตะลุงต้องมีความรอบรู้ การเก็บเล็กผสมน้อยของข้อมูลความรู้จากแหล่งต่าง ๆ จึงเป็นทักษะสำคัญ การหาความรู้ทุกช่องทางจึงกลายเป็นนิสัยติดตัว เมื่อหายใจเข้าหายใจออกเป็นหนังตะลุง ป้อบอกว่า ถ้าอ่านหนังสือก็มักคิดว่าจะสามารถนำเรื่องราวในหนังสือมาเล่าในหนังตะลุงได้อย่างไร กระทั่งถางหญ้าก็จะคิดว่าเป็นการฝึกกำลังมือที่จะเชิดหนังตะลุง โดยหวังว่าจะได้นำความรู้จากการทำโครงการมาปรับใช้เพื่อหาแนวทางในการแสดงหนังตะลุงที่เป็นรูปแบบของตัวเอง 

นอกจากนี้ การเชื่อมโยงความรู้จากการเรียนสู่การแสดงก็ได้รับการฝึกฝนอยู่เป็นประจำ วรรคทองจากคำสอนของครูบาอาจารย์ถูกจดบันทึก เพื่อรอวันนำออกมาใช้ในการแสดง ส่วนการเรียนรู้เรื่องโครงการหรือหนังตะลุง ก็ย้อนกลับไปช่วยในการเรียนได้ โดยเฉพาะการเรียนในสาขาพัฒนาชุมชน ที่ป้อบอกว่า หนังตะลุงกลายเป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชนได้อย่างแนบเนียน “เช่น ใช้การแสดงหนังตะลุงเพื่อเผยแพร่เรื่องลูกน้ำยุงลาย เวลาที่อาจารย์ให้นำเสนองานอะไร ผมจะนำหนังตะลุงไปนำเสนอด้วย เพื่อสร้างความน่าสนใจ และเรื่องหน้าที่พลเมืองที่ได้ค้นคว้าหาความรู้ไป ก็อยู่ในวิชาประชากรศึกษา เวลาเรียนจึงทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ผมพยายามทำตัวไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว”

แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้มากที่สุดจากการทำโครงการ คือ ความสำคัญของการทำงานเป็นทีม เพราะกว่าที่งานจะคืบหน้าลงตัวได้นั้น ประสบการณ์ทีมไม่เป็นทีม สร้างรอยจำที่สอนให้ป้อเห็นความสำคัญของการทำงานเป็นทีมมากที่สุด 


ความอิ่มเอมใจของนายหนัง

หากมองในแง่ของการบรรลุเป้าหมายในการทำงาน ป้อประเมินว่า สิ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ การที่สมาชิกของทีมงานทั้ง 3 คน สามารถดูหนังตะลุงเป็น ส่วนฝนมองว่า ความสำเร็จของงานคือ การที่สามารถช่วยให้คนใกล้ตัว คือ น้อง ๆ เยาวชนที่เสพยา ติดน้ำกระท่อมถอยห่างจากยาเสพติดได้บ้าง 

“เด็กที่มาอยู่กับผมเคยติดยา ติดน้ำกระท่อม ติดกัญชา เขายอมมาอยู่กับผม ไม่ใช่เลิก แต่ห่าง คือไม่ไปมั่วสุม ที่เขาห่างได้เพราะมาอยู่กับผม มาทำกิจกรรมร่วมกัน ซ้อมดนตรีบ้าง แทนที่จะให้เขาอยู่ว่าง ๆ เราต้องหาอะไรให้เขาทำ” ป้อบอกว่า แม้โครงการจบไปแล้ว แต่เขาจะยังทำโครงการนี้ต่อไป “ประสบการณ์จากการทำโครงการนี้เป็นบทเรียนที่คุ้มค่า ที่ช่วยสานต่ออาชีพของผม ให้ผมมีจุดขายของผม ต้องขอบคุณโครงการนี้ที่ทำให้ผมค้นพบตนเอง”

ความตั้งใจเริ่มแรกจาก “สำนึก” ที่ต้องการสืบสานศิลปะพื้นถิ่น ผลิดอกออกผลเป็นการค้นพบตนเอง ค้นพบความสำคัญของการทำงานเป็นทีม การใช้พลังดึงดูดจากเสน่ห์ของหนังตะลุง ผสานกับเนื้อหาเรื่องราวที่กระตุกต่อมคิด และกิจกรรมสร้างสรรค์ในเวลาว่าง เพื่อช่วยยึดโยงให้เยาวชนในกลุ่มถอยห่างจากพื้นที่เสี่ยง การทำงานบนฐานความรู้จนสามารถสร้างสรรค์เป็นการแสดงที่ชัดเจน มีเอกลักษณ์ ให้ทั้งความเพลิดเพลิน สะท้อนสถานการณ์ปัญหาของสังคม และกระตุ้นสำนึกพลเมืองของผู้ชม โอกาสที่เขาได้แสดงจึงเป็นโอกาสที่จะทำหน้าที่ของพลเมืองที่ดี เป็นนายหนังพลเมืองที่เดินทางไปปลุกพลเมืองคนอื่นๆ ต่อไป


โครงการ : ตะลุงพันธุ์ใหม่ สานใจเยาวชน

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์ศุภกร หนูสม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ทีมทำงานนักศึกษา : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

( จิตติกรณ์ บัวเพชร ) ( ธราวุธ ขุนนุ้ย ) ( ปริญญา ทองเต็ม ) 

( กาญจนาภรณ์ อนุพงศ์ ) ( สันติลักษณ์ เถาทอง )