การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อลดปัญหาเศษอาหารจากโรงอาหารและน้ำเน่าเสียจากคอกหมูในตำบลเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี ปี 1

สร้าง “สำนึกพลเมือง” จากจุลินทรีย์

โครงการทดลองใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษา วษท.ราชบุรีและเกษตรกร ในชุมชนตำบลเขาชะงุ้ม


ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนที่สุดของกลุ่มนี้คือภาวะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เห็นได้ชัดว่าเขามีทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดี และที่ดียิ่งกว่าคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตการทำงาน ไม่ใช่ความรู้

เพราะภารกิจของนักศึกษาใช่จะมีแค่การเรียน ชีวิตนักศึกษาที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ราชบุรี (วษท.) วิทยาลัยขนาดใหญ่ แต่มีนักศึกษาทั้งระดับปวช. และปวส.รวมกันเพียง 437 คน อาจารย์และบุคลากรรวมกัน 79 คน กิจกรรมที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนวิทยาลัยจึงมีทั้งการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาวิทยาลัย งานบริการวิชาการชุมชน การสร้างผลงานทางวิชาการที่สำคัญ เช่น การร่วมงานประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.) ล้วนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนทุกระดับในวิทยาลัย

เมื่อพี่เลี้ยงโครงการพลังพลเมืองเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกเข้ามาชักชวนให้ร่วมโครงการ ประกอบกับเห็นปัญหาน้ำเน่าเสียในร่องน้ำจากคอกหมูและเศษอาหารจากโรงอาหารของวิทยาลัยส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้นักศึกษา วษท.ราชบุรีที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในวิทยาลัยตั้งแต่เช้าจนเข้านอน คิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่พวกเขาจะได้ใช้ “ความรู้” ที่ร่ำเรียนมาทำโครงการทดลองใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษา วษท.ราชบุรี และเกษตรกร ในชุมชนตำบลเขาชะงุ้ม หลังพี่เลี้ยงโครงการพาคิดวิเคราะห์บริบทของชุมชนระหว่างการอบรมในเวทีนับ 1 ที่เป็นการพัฒนาโจทย์โครงการ

การเริ่มต้นที่ไม่สวย

การดำเนินโครงการไม่ได้ราบรื่นนัก ทีมแตกตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยต่างคนต่างมีภาระงานด้านอื่นที่สนใจมากกว่า บู้-ณัฐวุฒิ ศรีนวล ไนซ์-ภานุเดช เจดีย์ แป้ง-ศิริพร บุญมาก และน้ำอุ่น-ชลดา กลีบอุบล คือทีมงานที่ยังเหลืออยู่

แป้งยอมรับว่า เธอเสียความรู้สึกที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทร้าวราน จนทำให้เสียน้ำตา แต่ด้วยความรับผิดชอบของทีมงานทุกคนที่ตระหนักว่า ได้รับโอกาสให้ทำโครงการแล้ว ก็ต้องดำเนินการต่อจนเสร็จ เพื่อไม่ให้วิทยาลัยเสียชื่อเสียง

แต่สำหรับบู้และไนซ์ การเปลี่ยนแปลงทีมงานเป็นสิ่งที่เขาทั้งสองคนรับมือได้ดีกว่าแป้ง เพราะเข้าใจว่า การทำงานแบบนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ เขาทั้งสองเองก็สมัครใจทำต่อ เพราะอยากทำเพื่อวิทยาลัย

ไนซ์บอกว่า จริงๆ แล้วโครงการควรเริ่มทำงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน แต่ด้วยปัญหาภายในทีมที่ยังไม่ลงตัว ทำให้กว่าจะเริ่มงานได้ก็ผ่านไปแล้ว 1 เดือน และชักชวนน้ำอุ่นซึ่งเป็นรุ่นน้องเข้ามาเสริมทีม ด้วยเป้าหมายของโครงการที่วางไว้คือลดปัญหาเศษอาหารจากโรงอาหารและน้ำเน่าเสียจากคอกหมู โดยเน้นการเรียนรู้และมีส่วนร่วมของนักศึกษารุ่นน้อง พวกเขาจึงวางแผนว่าจะจัดประชุมรุ่นน้องชี้แจงรายละเอียดโครงการและหาอาสาสมัครเข้าร่วมเรียนรู้ ก่อนจะไปศึกษาหาความรู้ทั้งจากเอกสาร อาจารย์และการศึกษาจากพื้นที่จริงของเกษตรกร เพื่อนำความรู้ที่ได้มาทำการหมักจุลินทรีย์ (อีเอ็ม) เพื่อทดลองใช้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียต่อไป

เรียนรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

เมื่อทีมเริ่มลงตัว พวกเขาแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีแป้งเป็นหัวหน้าทีมเพราะเคยมีประสบการณ์จากการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยมาก่อน น้ำอุ่นเป็นเลขาของกลุ่มคอยจดบันทึก ไนซ์รับหน้าที่ช่วยประสานงาน มีบู้เป็นมือขวาคอยช่วยเหลือ

กิจกรรมแรกที่ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายคือ การเชิญชวนน้องๆ เข้าร่วมโครงการ โดยเข้าไปประชาสัมพันธ์โครงการกับน้องๆ ปวช.ปี 1 ซึ่งมีจำนวน 4 ห้องๆ ละ 20-25 คน ด้วยคิดว่า น้องใหม่น่าจะมีเวลาว่าง ซึ่งก่อนจัดประชุมพวกเขาต้องสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ทั้งจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และสอบถามจากอาจารย์ แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นใบความรู้เพื่อแจกให้น้องๆ

เมื่อถึงวันจริงทีมงานเริ่มต้นการทำงานด้วยการชี้แจงที่มาที่ไปของโครงการ จากนั้นจึงแบ่งน้องออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 25 คนตามจำนวนพี่ในโครงการ เพื่อสำรวจว่า น้องมีความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์มากน้อยเพียงใด โดยใช้บัตรคำ เช่น รู้จักจุลินทรีย์หรือไม่ เคยใช้จุลินทรีย์หรือไม่ หรือเคยใช้อย่างไร ให้น้องตอบคำถาม แล้วนำมาสรุปเป็นความคิดรวมของกลุ่ม และนำเสนอให้กลุ่มอื่นๆ ฟัง

บู้เสริมว่า ที่ต้องใช้วิธีนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้น้องแสดงความคิดเห็น เพราะบางคนอาจจะไม่กล้าพูด ซึ่งวิธีการดังกล่าวเป็นกระบวนการที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมอบรมกับพี่เลี้ยงโครงการ รวมทั้งเคยเห็นอาจารย์นำมาใช้จัดกระบวนการเรียนในห้องเรียน ทีมจึงนำมาปรับใช้ ซึ่งผลที่ออกมาก็น่าพอใจ เพราะน้องหลายๆ คนที่ไม่กล้า ยอมที่จะแสดงความคิดเห็น อีกทั้งการให้น้องสรุปความคิดของแต่ละกลุ่มมานำเสนอให้เพื่อนกลุ่มอื่นๆ ฟัง ยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และปรับฐานความรู้เรื่องจุลินทรืย์ของน้องๆ ให้เท่ากันด้วย

ความรู้อยู่ที่ชุมชน

เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายที่จะร่วมเรียนรู้ด้วยกันแล้ว ทีมได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ในวิทยาลัยให้ไปศึกษาเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่บ้านเขาชะงุ้ม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวิทยาลัยมากนัก ก่อนที่จะพาน้องๆ ไปเรียนรู้ ทีมได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านเขาชะงุ้ม เพื่อแนะนำตัวเอง เล่าที่มาที่ไปของโครงการ และขอความอนุเคราะห์ผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยประสานงานกับเกษตรกรในชุมชนมาให้ความรู้พวกเขา

“ชุมชนบ้านเขาชะงุ้ม หมู่ 6 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร คือ ทำนา ทำไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง สวนผัก และเลี้ยงสัตว์ได้แก่ สุกร เป็ดและโคนม” ไนซ์เล่าถึงบริบทชุมชน

“ชาวบ้านรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่ชาวบ้านได้บอกเล่านั้น จะเป็นความรู้ที่ชาวบ้านได้เรียนรู้มาจาก วษท.ราชบุรี การแลกเปลี่ยนความรู้จึงเป็นเสมือนการหมุนเกลียวความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชนไม่ให้ห่างกัน”

แป้งเสริมต่อว่า ผู้ใหญ่บ้านนัดหมายเกษตรกร 10 รายที่มีความรู้เรื่องการใช้จุลินทรีย์ในการทำการเกษตรไว้ให้น้องๆ พูดคุย กระบวนการเรียนรู้เป็นไปด้วยความสนุกสนาน เพราะเป็นการบอกเล่าพร้อมสาธิตให้ดู ทำให้เข้าใจกระบวนการหมักจุลินทรีย์มากกว่าการบรรยายที่นักศึกษาคุ้นชินในห้องเรียน เรียกว่าได้ทั้งความรู้และความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านไปพร้อมกัน

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านก็รู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่ชาวบ้านได้บอกเล่านั้น จะเป็นความรู้ที่ชาวบ้านได้เรียนรู้มาจาก วษท.ราชบุรี การแลกเปลี่ยนความรู้จึงเป็นเสมือนการหมุนเกลียวความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชุมชนไม่ให้ห่างกัน

“ลงพื้นที่ศึกษาชุมชน เพื่อให้น้องได้สัมผัสกับความหมายของคำว่า “ชุมชน” ด้วยตนเอง” แป้งเล่าถึงเบื้องหลังความคิดที่พาน้องออกไปเรียนรู้ชุมชน

การเติมเต็มที่หัวใจ

การลงพื้นที่ของนักศึกษาในอีกมิติหนึ่ง กลายเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ความใฝ่รู้ที่สะท้อนผ่านการสนใจมาเรียนรู้กับเกษตรกร ได้เปลี่ยนมุมมองของนักศึกษา วษท. ว่า ไม่ใช่เด็กเกเรในสายตาชาวบ้านอีกต่อไป นอกจากนี้การลงพื้นที่ของนักศึกษายังได้ช่วยสร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับป้าสายบัวเกษตรกรที่ผลิตและใช้จุลินทรีย์ในการเพาะปลูกเป็นประจำ ความเหงาเพราะอยู่คนเดียวเมื่อมีเด็กๆ วัยเดียวกับลูกที่อยู่ไกลตัวมาสนใจเรียนรู้ ป้าจึงเต็มอกเต็มใจที่จะถ่ายทอดความรู้ ถึงขั้นพาทีมงาน น้องๆ และอาจารย์ไปดูของจริงถึงที่บ้าน

“พอเราไปป้าก็ดีใจ เขาบอกว่า เห็นวัยรุ่นสมัยนี้หัดมาค้นหาข้อมูลในชุมชน แต่ทำไมลูกหลานเขากลับออกไปทำงานข้างนอก ป้าเขาก็ดีใจมากที่เราไปหา” บู้เล่า

ครั้งที่ 2 ทีมได้พาน้องๆ ที่สนใจลงพื้นที่สวนของอดีตข้าราชการที่สนใจทำการเกษตร การเรียนรู้ครั้งนี้ เจ้าของสวนสาธิตพร้อมให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติตามไปพร้อมกัน แต่ครั้งนี้ทีมงานถ่ายวิดีโอเก็บไว้ใช้เรียนรู้ด้วย

“อีเอ็มสูตรมะระมีส่วนผสมดังนี้ สารเร่งพด.2 กากน้ำตาล 10 ลิตร มะระหั่นเป็นชิ้นๆ ประมาณ 4-5 ชิ้นต่อลูก โดยละลายสารเร่งพด. กับน้ำ 10 ลิตร ใส่ในถัง 200 ลิตร แล้วใส่กากน้ำตาล คนให้เข้ากัน จากนั้นก็นำมะระ 30 กิโลกรัมใส่ลงไป คนให้ส่วนประกอบเข้ากัน เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วให้ปิดฝาถังให้สนิท ครบ 7 วันเปิดคน 1 ครั้ง จนครบ 1 เดือนจึงนำไปใช้ได้ แต่เวลาใช้ก็ต้องผสมหัวเชื้อที่ได้ 2 ลิตรต่อน้ำ 200 ลิตร หรือในสัดส่วน 1 ต่อ 100” แป้งจาระไนถึงวิธีการทำอีเอ็มที่ได้เรียนรู้มา

เมื่อเรียนรู้จากภายนอกแล้วจึงย้อนกลับมาเรียนรู้ในวิทยาลัยที่มีการหมักอีเอ็มเช่นกัน ซึ่งพบว่าวิธีการและส่วนผสมเหมือนกัน ต่างกันที่สูตรของวิทยาลัยใช้เศษผักและเก็บไว้นานกว่า

แป้งบอกว่า เหตุที่พวกเขาพาน้องๆ ไปศึกษาจากเกษตรกรก่อน เพราะต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี ตอนนี้มีน้องประมาณ 10 คน อาสาเข้ามาทดลองทำจุลินทรีย์กับพวกเราตอนเปิดเทอม โดยจะใช้เศษอาหารจากโรงอาหารมาหมัก

BAR & AAR เรียนรู้ก่อนทำและหลังทำ...เพื่อพัฒนางานพัฒนาตน

การทำงานของกลุ่มเริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่สิ่งที่ตั้งใจยังไม่ได้ลงมือทำ เพราะปิดเทอมพอดี ประกอบกับแป้ง บู้ และไนซ์ต้องไปฝึกงาน กิจกรรมต่างๆ จึงหยุดชะงักลง ต้องรอเปิดเทอมจึงจะได้ลุยทำงานกันอีกครั้ง แม้ว่ากรอบเวลาจะงวดเข้ามา แต่พวกเขาก็มั่นใจว่า สามารถจัดการโครงการเสร็จทันกรอบเวลาที่วางไว้ เพราะที่ผ่านมาแม้ทีมจะมีปัญหาเรื่องเวลาว่างไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็สามารถจัดการจนผ่านมาได้ด้วยดี

“บางที่เพื่อนในกลุ่มไม่ว่าง น้องไม่ว่าง หากเราว่างวันนี้ก็ต้องทำ แม้ไม่ครบคนก็ตาม แต่เวลาประชุมจะเน้นที่ทีมงานครบ จึงพยายามจัดประชุมช่วงเย็นๆ ของทุกวัน เหมือนกับว่า เย็นวันนี้ประชุมกันครบ แต่พรุ่งนี้ที่เราไปทำงานอาจจะมี 2-3 คน ก็ต้องทำไปก่อน” แป้งเล่า

“ก่อนทำงานทุกคนต้องคุยกันก่อน ไม่เช่นนั้นจะทำงานไม่ได้ และหลังจากเสร็จงานทุกครั้งก็ต้องสรุปงานว่า น้องได้อะไร เราได้อะไร ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง”

ทีมงานบอกว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการประชุมทีม เพราะต้องการให้ทุกคนรับรู้สถานการณ์และช่วยกันวางแผนงานร่วมกัน ซึ่งการได้วางแผนงานร่วมกันแม้ในวันทำกิจกรรมจะมีใครขาดหายไปบ้างก็ไม่เป็นปัญหา เพราะทีมยังมีการประชุมสรุปบทเรียนหลังทำกิจกรรมแต่ละครั้งให้เพื่อนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน

“ก่อนทำงานทุกคนต้องคุยกันก่อน ไม่เช่นนั้นจะทำงานไม่ได้ และหลังจากเสร็จงานทุกครั้งก็ต้องสรุปงานว่า น้องได้อะไร เราได้อะไร ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง” แป้งเล่าถึงกระบวนการทำงานภายในทีม

กระบวนการประชุมก่อนทำงาน (BAR: Before Action Review) และการสรุปบทเรียนหลังทำการ (AAR: After Action Review) เป็นกระบวนการที่แป้งเคยเรียนรู้ตั้งแต่ทำวิจัยร่วมกับอาจารย์ แล้วนำมาปรับใช้ในการทำงานของทีม บู้ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำวิจัยแบบแป้ง สะท้อนว่า กระบวนการคุยก่อนทำ และคุยหลังทำ ทำให้การทำงานสนุก ไม่น่าเบื่อ เพราะต้องทบทวนวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งสามารถนำกลับไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ด้วย

“เราเอาไปปรับใช้ในการเรียนได้ด้วย เราก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า เรียนวิชานี้ครั้งนี้เราได้อะไรบ้าง เราทำอะไรได้บ้างจากที่เราเรียนชั่วโมงนี้ ทำให้เราสรุปกับตัวเองได้แม้ว่าจะไม่ได้จดก็ตาม เพราะเป็นการย้อนถามตัวเองว่าได้เรียนรู้อะไร อย่างไร ให้มันอยู่ในความคิดของเรา” แป้งเสริมอย่างเห็นด้วย

สิ่งเล็กๆ ที่กำลังเติบโตงดงาม

ผ่านครึ่งทางของการทำงานที่สาหัสตั้งแต่เริ่มต้น วันนี้สมาชิกในทีมมีความมั่นใจในกันและกันมากขึ้น พวกเขาเชื่อมั่นว่าจะสามารถผ่าฟันไปจนสุดทางได้ ยิ่งเมื่อได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ต่างกลุ่มที่ทำโครงการด้วยกันบ่อยๆ ยิ่งได้กำลังใจกลับมา

“กิจกรรมในเวทีต่างๆ ที่พี่เลี้ยงโครงการแบ่งกลุ่มเพื่อนๆ ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เป็นสิ่งที่ดีมาก ทำให้พวกเราได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีทำงานของเพื่อนที่มีปัญหามากน้อยต่างกัน พอเห็นว่าเพื่อนกลุ่มอื่นก็มีปัญหา แต่เขายังทำต่อ ก็ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นมา” แป้งเล่าถึงวิธีสร้างกำลังใจให้ตนเอง

ผลจากการลงมือทำ ทีมงานรู้ว่า พวกเขาเปลี่ยนแปลงผ่านการเรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน ต่างพบว่าในการทำงาน คนเรามักจะมีความคิดไม่เหมือนกัน เมื่อต้องมาทำงานร่วมกันก็เข้าใจว่า คนอื่นเห็นมุมที่ต่างจากตนเอง ทำให้ต้องคิดตามเขาไปด้วย ดังนั้นการทำงานของกลุ่มเวลาคิดไม่ตรงกัน จะใช้การพูดคุย และยอมรับกันโดยใช้กฎเสียงส่วนมาก

ด้านแป้งบอกว่า เธอได้เรียนรู้เรื่องความอดทน เพราะการทำงานกับน้องๆ บางครั้งก็ควบคุมยาก บางทีก็โกรธ เกือบร้องไห้ต่อหน้าน้องๆ ก็มี ยิ่งเวลาที่วางแผนไว้แล้วมันพลิกตั้งแต่เริ่มต้น ยิ่งรู้สึกเศร้า ดีที่มีเพื่อนๆ คอยปลอบ

น้ำอุ่นผู้ร่วมเหตุการณ์ในระยะหลังๆ เสริมว่า เห็นพี่แป้งร้องไห้ ก็ต้องดูแลพี่แป้ง คอยบอกเขาว่า บางอย่างอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดเสมอไป ก็ปลอบใจกันไปตามสภาพ โดยส่วนตัวแล้วน้ำอุ่นได้เรียนรู้มากที่สุดก็คือเรื่องการแบ่งเวลา เพราะนอกจากการเรียน งานโครงการนี้แล้ว เธอยังมีงานส่วนตัวคือ การหารายได้ระหว่างเรียนโดยการปลูกต้นอ่อนทานตะวันขาย การทำงานในโครงการและการได้ร่วมกระบวนการเรียนรู้กับพี่เลี้ยงโครงการบ่อยๆ ผลักดันให้น้ำอุ่นสามารถพัฒนาความกล้าแสดงออกมากขึ้น

“เมื่อก่อนยิ้มอย่างเดียวไม่พูดเลย รู้แต่ไม่กล้าพูด มันเหมือนคิดอยู่แต่ในใจ กลัวอาย กลัวผิด พี่ๆ เขาก็จะบอกว่า พูดไปเลยไม่ต้องกลัวผิด มันไม่มีผิดมีถูกหรอก ทั้งนี้เพราะพี่เขาต้องการรู้ความคิดของเราว่าเป็นอย่างไร ทำให้เรากล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะถ้าไม่กล้าพูดพี่เขาก็จะถามไม่หยุด”

สำหรับบู้แล้วการทำงานครั้งนี้มีข้อดีคือ เมื่อก่อนเวลาว่างๆ ก็นั่งเล่น นอนเล่น แต่ตอนนี้รู้สึกว่าชีวิตไม่ว่างเหมือนก่อน มีอะไรให้ทำมากขึ้น จริงๆ งานนี้ไม่ต้องทำก็ได้ แต่เราอยากทำ และการได้ทำอะไรมากขึ้นนี่เองที่ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองกล้าคิด กล้าพูดมากขึ้น

“โครงการแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน แม้ไม่เห็นประโยชน์ตรงๆ แต่เกิดประโยชน์ทางอ้อมแน่นอน โดยเฉพาะการเตรียมตัวให้นักศึกษามีทักษะที่จำเป็นในการทำงานเมื่อจบไปแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการหนุนเสริมจากทีมพี่เลี้ยงโครงการที่มีการจัดกระบวนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับความรู้ ทักษะ และกระบวนการต่างๆ มาใช้ในการทำงาน”

ไนซ์เป็นคนเดียวที่บอกว่า เขาเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่กล้าพูดอย่างไรก็ยังไม่กล้าพูดอยู่อย่างนั้น แต่เพื่อนๆ ในกลุ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของไนซ์ว่า “เหมือนก่อนไนซ์จะเป็นคนที่ไม่เอาอะไร ไม่สนใจอะไร แต่เวลานี้ให้ประสานงานอะไรเขาทำได้หมดเลย ช่วยทีมงานได้มาก”

อาจารย์อ๋อง-สิริกช จรดล พี่เลี้ยงชุมชนและอาจารย์ในวิทยาลัยสะท้อนว่า โครงการแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน แม้ไม่เห็นประโยชน์ตรงๆ แต่เกิดประโยชน์ทางอ้อมแน่นอน โดยเฉพาะการเตรียมตัวให้นักศึกษามีทักษะที่จำเป็นในการทำงานเมื่อจบไปแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการหนุนเสริมจากทีมพี่เลี้ยงโครงการที่มีการจัดกระบวนเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เด็กๆ ได้ซึมซับความรู้ ทักษะ และกระบวนการต่างๆ มาใช้ในการทำงาน ทำให้ทีมมีการวางแผนที่ดี มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ รู้จักการบริหารจัดการการเงิน โดยที่เขาแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากให้ความรู้เรื่องจุลินทรีย์ในช่วงแรกๆ หลังจากนั้นก็เพียงเฝ้าดูความก้าวหน้าของลูกศิษย์

“ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนที่สุดของกลุ่มนี้คือภาวะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เห็นได้ชัดว่าเขามีทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดี และที่ดียิ่งกว่าคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตการทำงาน ไม่ใช่ความรู้ แต่ตอนนี้เขาอาจจะยังไม่รู้เท่านั้น”

อาจารย์อ๋องยังบอกอีกว่า การทำงานลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในความสนใจของเด็กๆ ยิ่งโครงการนี้มีปัญหาเรื่องทีมตั้งแต่แรก แต่ทุกคนยังยืนยันที่จะรับผิดชอบโครงการต่อ นั่นแสดงว่าพวกเขามี “สำนึกรับผิดชอบ” อยู่เต็มหัวใจ เพราะงานนี้ไม่ใช่งานของโรงเรียนไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร แต่พวกเขาก็เสียสละแรงกายแรงใจเข้ามาทำโครงการ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง แต่ที่สำคัญคือพวกเขาได้สร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับชุมชนว่า “เด็กวิทยาลัยเกษตรไม่ใช่เด็กเกเร ไม่ใช่เด็กไม่เอาไหน แต่เป็นเด็กเอาถ่าน”

จากจุดเริ่มต้นที่มีท่าว่าจะล้มเหลว แต่ด้วยพลังแรงใจที่เต็มเปี่ยม ผนวกกับ “ความไม่นิ่งดูดาย”ในปัญหาที่เผชิญอยู่ อยากหาทางแก้ไขให้สภาพแวดล้อมในวิทยาลัยน่าอยู่มากขึ้น รวมถึงการสานสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับวิทยาลัยให้ใกล้ชิดกัน ทำให้ทีมงานก้าวเดินมาถึงวันนี้ด้วยความภาคภูมิใจ และยิ่งผูกพันรักกันเหนียวแน่น แม้สิ่งที่ทำจะเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ของเด็กๆ แต่นั่นเกิดจากเจตนาดีและความใส่ใจต่อความเป็นไปของสถาบันที่ตนสังกัด น้ำเน่าเสียอาจจะไม่มีฟื้นคืนได้ในเร็ววัน แต่ผลลัพธ์ที่ไม่คาดหวังทั้งการเปลี่ยนมุมมองของชุมชนต่อความเป็นเด็กวิทยาลัยเกษตร หรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต เส้นทางข้างหน้าของทีมงานถูกรับประกันจากอาจารย์ที่เฝ้ามองว่า เป็นอนาคตที่สดใสแน่ๆ เพราะทุกคนล้วนใช้ “ความรับผิดชอบ” นำทางชีวิต


โครงการทดลองใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักศึกษา วษท.ราชบุรี และเกษตรกร ในชุมชนตำบลเขาชะงุ้ม

พี่เลี้ยงชุมชน : สิริกช จรดล

ทีมงาน :

  • ณัฐวุฒิ ศรีนวล 
  • ภานุเดช เจดีย์
  • ศิริพร บุญมาก 
  • ชลดา กลีบอุบล