การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์การปลูกส้มโอในชุมชนบางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 1

ก่อน “ส้มโอ” จะหายไป

โครงการแผนที่ส้มโอชุมชนบางขันแตก


กิจกรรมนี้เป็นงานของพวกเรา เราต้องรับผิดชอบและต้องทำให้ดีที่สุด...อยากทำต่อให้จบ เพราะอยากเห็นว่า สิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์ อย่างน้อยก็ช่วยให้ชาวบ้านไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

ที่แม่กลอง...นอกจากปลาทู ลิ้นจี่ ที่จัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อแล้ว ยังมี “ส้มโอ” ที่มีรสชาติดีไม่แพ้ส้มโอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม แต่วันนี้สวนส้มโอหลายแห่งถูกแทนที่ด้วย “มะพร้าว” ที่กำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกร ส้มโอหลายต้นในแม่กลองจึงทยอยล้มลงอย่างเงียบๆ...

รวมตัวเรียนรู้ส้มโอ

เมื่อสังเกตเห็นสถานการณ์ข้างต้น กลุ่ม TH Team ซึ่งประกอบด้วย ใบเฟิร์น – รัตติยาภรณ์ จงแพ นุช – นพวรรณ ทองภู และเจน-เจนจิรา แช่จิว กฤติกา เนยเอี่ยม ชนากานต์ กุมดวงเมศ จากโรงเรียนบ้านท้ายหาด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เห็นว่า “ส้มโอ” หลายต้นกำลังถูกโค่น จึงรวมตัวกันศึกษาสถานการณ์ “ส้มโอ” ของตำบลบางขันแตก

สิ่งที่ทีมคิดไว้ในช่วงแรกคือต้องการ “สร้างแรงจูงใจ” ให้ชาวบ้านหันมารัก หวงแหน และยังคงอาชีพปลูกส้มโออยู่ โดยวิธีการของพวกเธอคือ “ปลูกส้มโอ” ในแปลงทดลองด้วยตัวเอง และนำไปขาย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า “ส้มโอ” ยังขายได้และราคาดี

แต่หลังวิเคราะห์แล้วพบว่า...การทำแปลงทดลองอาจไม่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านหันมาปลูกส้มโอได้ เพราะใช้เวลาในการปลูกนาน...ไม่สมดุลกับระยะเวลาการทำงานโครงการ...จึงต้องคิดใหม่

“พี่เลี้ยงโครงการ “ตั้งคำถามชวนคิด” ว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต้องตัดส้มโอทิ้งและปลูกมะพร้าวแทนคืออะไร”

ใบเฟิร์นบอกว่า พี่เลี้ยงโครงการ “ตั้งคำถามชวนคิด” ว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านต้องตัดส้มโอทิ้งและปลูกมะพร้าวแทนคืออะไร พวกเราก็คิดว่าน่าจะเป็นเพราะรายได้จากการขายส้มโอที่ไม่ดีเหมือนที่ผ่านมา และมีการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

นี่คือ “ปัญหา” ที่ทำให้น้อง ๆ ต้องมาคิดต่อว่า...โครงการที่จะสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านเก็บต้นส้มโอไว้...จะออกมาแนวไหน

เมย์ซึ่งที่บ้านมีสวนส้มโอ เล่าว่า ตอนแรกก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร และเมื่อถูกถามว่าทำไมไม่เลิกล้มโครงการจะได้ไม่เหนื่อย...ไม่ต้องเสียเวลามานั่งคิด...

“เราเข้าเวทีนับ 1 ปลุกสำนึกพลเมืองมาแล้ว เหมือนกับว่ากิจกรรมนี้เป็นงานของพวกเรา เราต้องรับผิดชอบ และต้องทำให้ดีที่สุด” เฟิร์นและเมย์กล่าวพร้อมกัน

ค้นหา “เป้าหมาย”

เมื่อถูก “กระตุก” จากพี่เลี้ยงโครงการ ทีมจึงตั้งวงหารือเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์ต้นส้มโออย่างแข็งขัน

คำถามหนึ่งที่พี่เลี้ยงโครงการถามแล้วจี้ใจพวกเรามากๆ คือ “รู้จักพื้นที่ปลูกส้มโอดีแล้วหรือยัง” ฟังแล้วจี๊ดมาก พวกเราฉุกคิดได้ทันทีว่า เราคิดทำโครงการโดยที่พวกเรายังไม่รู้บริบทพื้นที่ของชุมชนเลย พี่เขาก็แนะนำต่อว่า “ก่อนจะทดลองปลูก เริ่มต้นที่ลองทำแผนที่ดูก่อนดีไหม อย่างน้อยก็จะได้เป็นข้อมูลว่ามีใครปลูกส้มโอกันมากน้อยเท่าไร”

“เราคิดทำโครงการโดยที่พวกเรายังไม่รู้บริบทพื้นที่ของชุมชนเลย”

แต่การทำแผนที่ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเธอ งานนี้พี่เลี้ยงโครงการจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยเสริมเติมเต็มให้ทีมเริ่มต้นทำงานได้ ด้วยการสอนเทคนิคการทำแผนที่ ตั้งแต่การหาข้อมูลมาใส่ในแผนที่ การเขียนแผนที่ เป็นต้น พวกเราไม่เคยทำแผนที่แบบนี้มาก่อน ความยากอยู่ที่การนำข้อมูลมาลงในแผนที่ เพราะเราไม่สามารถจินตนาการเองได้

เมย์เล่าต่อว่า แผนที่ที่จะทำนั้นประกอบด้วยข้อมูล แหล่งปลูกส้มโอ และเส้นทาง ด้วยหวังว่าเมื่อได้แผนที่ที่ระบุพิกัดชัดเจนว่ามีสวนส้มโออยู่ตรงไหน ผู้บริโภคจะสามารถเดินทางไปซื้อส้มโอได้ด้วยตัวเองถึงในสวนในราคาที่ถูกว่าการซื้อจากพ่อค้าคนกลาง

ออกเดินทาง...เข้าสวนส้มโอ

เมย์บอกว่า ข้อมูลที่อยากรู้คือ ตำบลบางขันแตกมีกี่ครัวเรือนที่ปลูกส้มโอ เริ่มแรกพวกเธอจึงไปที่ อบต.บางขันแตกก่อน เพื่อค้นเอกสารเกี่ยวกับปริมาณครัวเรือน จากนั้นจึงไปหาลุงเสียง อินทร์ประเสริฐ เกษตรกรดีเด่นด้านการปลูกส้มโอ เพื่อขอคำแนะนำว่าควรไปเก็บข้อมูลที่ไหนบ้าง

ลำพัง...ข้อมูลที่ได้จากลุงเสียง และ อบต.อาจไม่ครบถ้วน และไม่สามารถนำเขียนลงในแผนที่ได้ พวกเธอจึงใช้โอกาสที่ชาวบ้านจัดเวทีประชุมเรื่องการจัดการน้ำของตำบลที่หมู่ 2 เพื่อเก็บข้อมูลการทำแผนที่อีกครั้ง ทั้งนี้ก่อนไปประชุม ทีมแบ่งบทบาทกันว่าจะทำไรกันบ้าง โดยดูตามความถนัด เฟิร์นช่วยตั้งคำถาม เมย์ถ่ายรูป ตองเป็นคนถามหลัก แต่ทุกคนจะช่วยกันถาม

ถึงแม้จะเตรียมตัวมาดี มีการร่างแผนที่คร่าวๆ มาล่วงหน้า ประสานงานพี่เลี้ยงโครงการและลุงเสียงให้ช่วยแนะนำทีมงานกับชาวบ้าน แต่ทั้งหมดก็ออกอาการตื่นเต้น

เมย์บอกว่า พวกเธอตื่นเต้นมากตอนคุยกับชาวบ้าน เพราะปกติเวลาคุยกันเอง พูดจาแบบไหนก็ได้ แต่พอต้องไปคุยกับชาวบ้าน พวกเธอต้องปรับวิธีการพูดใหม่ ต้องแนะนำตัวเองก่อนมาเป็นใครมาจากไหน กำลังจะทำอะไร ซึ่งชาวบ้านก็สนใจและให้ความร่วมมือค่อนข้างดี ช่วยกันลงรายละเอียดบ้านของตัวเองลงในแผนที่ว่าอยู่ตรงไหน ปลูกส้มโอกี่ไร่ มีครัวเรือนติดกับใครบ้าง แต่สิ่งที่นำความภาคภูมิใจมาสู่พวกเธอจากการลงพื้นที่ครั้งนี้คือ เสียงชื่นชม ที่เห็นลูกหลานในชุมชนให้ความสำคัญกับอาชีพของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

เรียนรู้เมื่อลงมือทำ

หลังได้ข้อมูลครบ ทั้งหมดก็กลับมาถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน พบว่าการเตรียมงานยังไม่พร้อมเท่าที่ควร อาจจะต้องเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้ เพื่อที่เวลาไปถึงได้เริ่มงานได้เลย

“ความไม่พร้อม” ในที่นี้หมายถึงช่วงเวทีแรกของการเก็บข้อมูล พวกเธอไม่ได้วาดแผนที่ขนาดใหญ่ที่มองเห็นชัด ซึ่งต้องไปวาดใหม่ขณะเก็บข้อมูลทำให้เสียเวลาไปพอสมควร

“อยากทำต่อให้จบ เพราะอยากเห็นว่า สิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์ อย่างน้อยก็ช่วยให้ชาวบ้านไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง”

ซึ่งจุดผิดพลาดครั้งแรก ทีมนำมาปรับปรุงในการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ...ครั้งนี้แผนที่ถูกวาดอย่างละเอียด อุปกรณ์สำหรับเขียนถูกเตรียมพร้อม เช่นเดียวกับชุดคำถามที่ทีมร่วมกันออกแบบ

“กิจกรรมที่สองมีเป้าหมายอยู่ที่หมู่ 3 พวกเราเอาแผนที่ไปติดไว้ข้างฝา...จากนั้นให้ชาวบ้านชี้ว่าบ้านของแต่ละคนอยู่ตรงไหน เราก็เขียนให้ ซึ่งเทียบระหว่างหมู่ 2 และหมู่ 3 พบว่า แผนที่เริ่มมีรายละเอียดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ได้ข้อมูลไม่ครบ เพราะขาดเบอร์ติดต่อของแต่ละบ้าน” เมย์บอกเล่าการทำงาน

ผลจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั้ง 2 หมู่บ้านทำให้พวกเธอค้นพบบทเรียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการวางแผน และการเตรียมความพร้อมของทีม

“เห็นชัดเลยว่า แม้เราจะเตรียมตัวกันดีแค่ไหนก็ยังมีจุดผิดพลาด แต่เสียดายที่เรายังไม่ได้นำจุดผิดพลาดไปใช้ในการเก็บข้อมูลครั้งที่ 3 เพราะสิ้นสุดเวลาทำโครงการพอดี เป้าหมายการเก็บข้อมูลของเราอยู่ที่ 5 หมู่บ้าน แต่เราทำได้เพียง 2 หมู่บ้านเท่านั้น” ใบเฟิร์นเล่าอย่างเสียดาย

“อยากทำต่อให้จบ เพราะอยากเห็นว่า สิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์ อย่างน้อยก็ช่วยให้ชาวบ้านไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง” เมย์กล่าวทิ้งท้าย

แม้ปฎิบัติการ “ช่วยชีวิต” ต้นส้มโอจะยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากทีมยังเก็บข้อมูลไม่ครบตามแผนที่วางไว้ แต่พวกเขาได้เริ่มต้น “คิด” และ “ลงมือทำ” เรียนรู้ที่จะไม่ปล่อยปละละเลยต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยเฉพาะกับ “อาชีพ” ที่เคยหล่อเลี้ยงชุมชนบางขันแตกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตาทวดของพวกเขา ที่สำคัญคือการได้เรียนรู้เรื่อง “การทำแผนที่” ที่บางคนบอกว่า “เมื่อก่อน...เขียนแผนที่ไปบ้านตัวเองยังไม่ถูก”


โครงการแผนที่ส้มโอชุมชนบางขันแตก

พี่เลี้ยงชุมชน : อุบลรัตน์ จงแพ

ทีมงาน :

  • รัตติยาภรณ์ จงแพ 
  • นพวรรณ ทองภู
  • เจนจิรา แช่จิว 
  • กฤติกา เนยเอี่ยม
  • ชนากานต์ กุมดวงเมศ