การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานศิลปะปูนปั้น จังหวัดเพชรบุรี ปี 1

พลเมืองสร้างสรรค์สื่อ...สืบสานคุณค่างานปูนปั้น

โครงการเยาวชนเมืองเพชรบุรีสืบสานงานปูนปั้น


บทเรียนจากการทำงานครั้งนี้ ได้สร้างทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้นให้กับพวกเธอ เช่น การประสานงาน การพูดคุยกับผู้ใหญ่ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ที่บางครั้งอาจจะมีการถกเถียงกันบ้าง ทำให้พวกเธอต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง ใช้เหตุผลมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาความรับผิดชอบ และการจัดสรรเวลา

จังหวัดเพชรบุรีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร ธรรมชาติ ป่าไม้ และแร่ธาตุ และมีความโดดเด่นในเรื่องงานสกุลช่างพื้นบ้านเมืองเพชรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่น งานปูนปั้น งานลายรดน้ำ งานลงรักปิดทองประดับกระจก งานจิตรกรรม งานช่างทอง งานแทงหยวก งานตอกกระดาษ งานจำหลักหนังใหญ่ งานแกะสลักไม้ งานปั้นหัวโขน หัวละคร เป็นต้น

ด้วยความที่เป็นเมืองของช่างพื้นบ้าน ทำให้วัดวาอารามต่างๆ ในจังหวัดเพชรบุรีมีการตกแต่งด้วยศิลปะงานช่างอย่างวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะงานปูนปั้นที่เกือบทุกวัดจะมีการตกแต่งด้วยศิลปะแขนงนี้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเพชรบุรี สิ่งที่มีอยู่ให้เห็นอยู่ทั่วไป กลายเป็นความคุ้นชิน เจนตาจนมองผ่านเลย แต่สาวๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพรหมานุสรณ์กลับเล็งเห็นความสำคัญของศิลปะปูนปั้น เกิดแนวคิดที่จะประชาสัมพันธ์ให้งานปูนปั้นเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่อีกครั้ง จึงรวมตัวกันทำโครงการเยาวชนเมืองเพชรบุรีสืบสานงานปูนปั้น โดยทีมทำงานประกอบด้วย แอน-ปรินทร ทองแดง เฟิน-กชกร เพ็งประเสริฐ พรีม-สุมาพร สุวรรณทิพย์ ยูโร-ชลิตา อิ่มทรัพย์ และปิ๊ก-เบญชญา อนุมาศ

คำถาม “กระตุกต่อมคิด”

เริ่มแรกทั้ง 5 คนก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ไม่ได้สนใจงานปูนปั้นที่พวกเธอพบเห็นอยู่ทุกวัน กระทั่งได้เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกในเวทีนับหนึ่งซึ่งเป็นเวทีพัฒนาโจทย์โครงการ ที่พี่เลี้ยงโครงการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เยาวชนได้ทบทวนบริบทของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ และกระตุ้นด้วยคำถามว่า ในฐานะที่เป็นเยาวชนจะทำอะไรให้ท้องถิ่นของตนเองได้บ้าง คำถามที่กระตุกต่อมคิดนี้ทำให้สาวๆ ทั้ง 5 คน คิดต่อว่าปูนปั้นอยู่คู่กับเพชรบุรีมาโดยตลอด ทุกๆ วันมีผู้คนเดินทางผ่านวัดต่างๆ ที่มีงานศิลปะปูนปั้นมากมาย แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจ จึงคิดว่าน่าจะนำเสนอเรื่องคุณค่าของศิลปะปูนปั้นให้คนทั่วไปได้รับรู้ จึงเป็นที่มาของโครงการเยาวชนเมืองเพชรบุรีสืบสานงานปูนปั้น

เมื่อโจทย์ลงตัวการแบ่งงานก็ไม่ยาก เลือกจากความถนัดและความชอบ เพราะเรียนอยู่ห้องเดียวกันจึงรู้จักรู้ใจกันดีว่า ใครเป็นอย่างไร พรีมจึงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม เฟินเป็นตากล้อง แอนเป็นผู้สัมภาษณ์ ยูโรและปิ๊กจดบันทึก ซึ่งทุกคนต่างทำหน้าที่อย่างเต็มใจ โดยทีมออกแบบการทำงานไวคือ จัดประชุมทีมเพื่อทำความเข้าใจถึงเป้าหมายโครงการ จากนั้นจึงไปค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารและสื่อต่างๆ สัมภาษณ์ช่างปูนปั้น สำรวจและถ่ายภาพปูนปั้นในวัด และจบด้วยการทำวีดีโอสารคดีเชิงท่องเที่ยวเพื่อเผยแพร่ความรู้งานปูนปั้นเมืองเพชรให้คนทั่วไปรับรู้

พรีมในฐานะหัวหน้าทีม เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่พวกเธอได้ทำโครงการเช่นนี้ การทำงานจึงเป็นลักษณะ “ทำไป เรียนรู้ไป” ซึ่งการเรียนรู้อย่างแรกที่พวกเธอค้นพบคือ ก่อนพาคนอื่นไปเรียนรู้ พวกเธอต้องมีความรู้เรื่องปูนปั้นก่อน

สัมผัส “คุณค่า” ผ่านการเรียนรู้

เมื่อตั้งต้นว่าต้อง “หาความรู้” เติมเต็มให้ทีมงานก่อน กิจกรรมแรกที่พวกเธอออกแบบไว้คือ การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับปูนปั้น ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีและศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพชรบุรี เพราะมีการรวมรวมหนังสือและสื่อเกี่ยวกับงานช่างเพชรบุรีไว้อย่างเป็นระบบ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพชรบุรีอย่างดี นอกจากนี้พวกเธอยังสืบค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มด้วย แต่ด้วยข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ทำให้ทีมไม่มั่นใจในความถูกต้อง จึงต้องทำการตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งอื่นๆ เช่น หนังสือ และศิลปินซึ่งเป็นผู้รู้โดยตรง เพื่อให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด พอดีกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพชรบุรีแนะนำ

ถ้าอยากได้ข้อมูลครบต้องไปสัมภาษณ์ ช่างทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ศิลปะปูนปั้น) ปี 2554 และช่างสาโรจน์ บุญประเสริฐ พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์มาด้วยและเมื่อทีมงานติดต่อขอสัมภาษณ์ทั้งสองท่านก็ให้ความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี

“หลังจากได้เบอร์มา หนูก็โทรไปแนะนำตัวว่า เป็นนักเรียนโรงเรียนพรมมานุสรณ์ อยากศึกษาเรื่องปูนปั้น อยากจะขอเข้าไปสัมภาษณ์ เขาก็บอกว่าให้นัดเวลาเข้าไป หนูก็นัดพรุ่งนี้เลย” พรีมเล่าถึงการประสานงาน

แต่ก่อนที่ไปสัมภาษณ์ทีมงานได้จัดเตรียมคำถามไว้ เช่น ประวัติความเป็นมาของศิลปิน อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้มาทำงานศิลปะปูนปั้น ผลงานเป็นอย่างไร พร้อมทั้งสอบถามถึงความคิดเห็นถึงสาเหตุที่คนเพชรบุรีหรือคนรุ่นใหม่ละเลยงานปูนปั้น พร้อมกับขอข้อเสนอว่าควรจะอนุรักษ์งานปูนปั้นอย่างไร

“ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นทำให้ทีมงานได้เรียนรู้เทคนิคการสัมภาษณ์ว่า ต้องคอยหาจังหวะว่า ตรงไหนจะตัดบทได้จึงค่อยตัดบท แทรกคำถามใหม่หรือเปลี่ยนเรื่องคุย”

การสัมภาษณ์ผู้สูงอายุที่เปี่ยมประสบการณ์ ใช่จะง่าย เพราะเป็นธรรมชาติของผู้สูงวัยที่มักมีเรื่องเล่ามากมาย การคุมประเด็นในการพูดคุยจึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง โชคดีที่วันนั้นพ่อของพรีมขับรถไปส่ง ทีมจึงมีผู้ช่วยกิตติมาศักดิ์ช่วยสัมภาษณ์ให้อยู่ในประเด็นที่ต้องการ

“ท่านจะเล่าไปเรื่อยๆ เวลาผู้ใหญ่พูดเรื่อยเปื่อย หนูก็จะไม่กล้าตัดบท โชคดีมีพ่อคอยช่วยตัดบท” พรีมเล่าถึงบรรยากาศการสัมภาษณ์ ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นทำให้ทีมงานได้เรียนรู้เทคนิคการสัมภาษณ์ว่า ต้องคอยหาจังหวะว่า ตรงไหนจะตัดบทได้จึงค่อยตัดบท แทรกคำถามใหม่หรือเปลี่ยนเรื่องคุย

เฟินเล่าเสริมถึงเทคนิคการคุมประเด็นสัมภาษณ์ว่า ต้องจับใจความสำคัญให้แม่น บางครั้งก็ต้องทบทวนสิ่งที่เขาตอบเป็นช่วงๆ สั้นๆ ให้รู้ว่าเขาพูดอะไรมาบ้าง แล้วก็ถามคำถามต่อไป

ศิลปินทั้งสองท่าน ให้ความเห็นคล้ายกันว่า สาเหตุที่คนละเลย เพราะในปัจจุบันมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อีกทั้งเทคโนโลยีก้าวหน้ามากๆ ทำให้เด็กสนใจสิ่งเหล่านั้นมากกว่า เพราะงานปูนปั้นเป็นงานที่ประณีต ต้องใช้เวลาศึกษานานเด็กๆ ก็จะไม่ชอบ เบื่อ สำหรับครอบครัวของศิลปินแต่ละท่าน จะสอนลูกหลานของตนเองตั้งแต่เล็กๆ เพื่อให้ซึมซับกับวิถีที่เห็นอยู่ทุกๆ วัน

ส่วนข้อเสนอในการอนุรักษ์หรือทำให้คนสนใจงานปูนปั้น คือ ต้องทำให้คนเห็นคุณค่า โดยเน้นการเข้าถึงในรูปแบบและช่องทางที่คนสมัยนี้สนใจ “ช่างทองร่วงบอกว่า ทำตามความประสงค์ที่คนต้องการ คนต้องการในรูปแบบไหนเขาก็จะทำในรูปแบบนั้น คือ นำเสนอให้ถูกแนวทางที่คนสมัยนี้สนใจ ทำให้เขาเห็นคุณค่า แล้วงานก็จะมีคุณค่าขึ้นมา”

“ปูนปั้น” สารคดีเชิงท่องเที่ยวที่เจาะใจคนรุ่นใหม่

เมื่อพิจารณาถึงข้อเสนอของศิลปินทั้งสองท่าน ทีมงานรู้สึกดีใจที่แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแผนงานที่ตั้งใจจะทำ โดยเฉพาะสารคดีที่น่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการประชาสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่

“ยุคนี้คนสนใจดูยูทูปเลยเป็นที่มาของสารคดีท่องเที่ยวชิ้นนี้”

แต่ทุกคนไม่เคยทำสารคดีมาก่อน จึงต้องหาความรู้จากยูทูปหรือสื่อต่างๆ ที่นำเสนอสารคดี เพื่อเรียนรู้วิธีการนำเสนอ วิธีการเล่าเรื่องแบบสารคดี และเทคนิคในการถ่ายทำ แต่ก่อนที่จะถ่ายทำทีมพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่เห็นว่ายังไม่เพียงพอ จึงวางแผนไปสัมภาษณ์ศิลปินทั้งสองท่านอีกครั้ง

“เราวางแผนว่าจะไปหาศิลปินอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเก็บข้อมูลให้มากขึ้น ให้เนื้อหาครบถ้วน ลักษณะการนำเสนอจะเป็นแบบสารคดีเชิงท่องเที่ยว เปิดเรื่องด้วยบ้านศิลปิน ต่อด้วยบทสัมภาษณ์ประวัติความเป็นมาของศิลปิน ความเป็นมาของปูนปั้น และสาเหตุที่คนสนใจมันน้อยลง หลังจากนั้นจึงตัดไปสู่ภาพปูนปั้น มีแอนทำหน้าที่พิธีกรพาไปดูงานปูนปั้นในวัด 9 แห่ง เหมือนทำบุญ 9 วัด” พรีมเล่าโครงเรื่องและกิมมิกในสารคดีที่ถ้าถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยจะนำไปเผยแพร่ทางยูทูป

และระหว่างเตรียมการถ่ายทำสารคดี ทีมงานได้ลงพื้นที่ศึกษางานปูนปั้นในวัดต่างๆ เช่น วัดข่อย วัด ใหญ่สุวรรณารามวรมหาวิหาร วัดไผ่ล้อม วัดอุทัยโพธาราม วัดสระบัว วัดมหาธาตุวรวิหาร และวัดสนามพราหมณ์ ส่วนวัดโบสถ์และวัดบันไดอิฐที่อยู่ในเป้าหมายนั้นทีมยังไม่ได้สำรวจ

อย่างไรก็ตามแม้จะยังไปไม่ครบตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ทีมงานสรุปความรู้ได้ว่า แต่ละวัดมีความโดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะตัวต่างกัน เช่น วัดข่อยเป็นวัดสร้างใหม่ มีพระธาตุฉิมพลีพระเศรษฐีนวโกฏิ ซึ่งเต็มไปด้วยประติมากรรมลวดลายปูนปั้น จากฝีมือช่างสกุลเมืองเพชรวัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นวัดที่อายุราว 800-1,000 ปี มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ และด้านหลังพระวิหารหลวงคือ พระปรางค์ 5 ยอด ภายในวัดประดับประดาด้วยงานศิลปะปูนปั้นจำนวนมากตั้งแต่หลังคาจรดพื้น ส่วนวัดสระบัวเป็นวัดที่เก่าแก่มากวัดหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี มีสถาปัตยกรรมและงานปูนปั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายที่สวยงาม ซึ่งเป็นงานที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน เป็นต้น

นอกจากนี้ทีมงานยังเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของศิลปะปูนปั้นเมืองเพชรที่เปลี่ยนผ่านตามยุคสมัยว่า ในอดีตการเรียนปูนปั้นต้องเป็นพระเท่านั้นจึงจะเรียนได้ ดังนั้นคนที่ทำงานปูนปั้นจึงมีแต่ผู้ชาย งานปูนปั้นเพชรบุรีจะมีเอกลักษณ์ที่มีความงดงามอ่อนช้อย ส่วนใหญ่เป็นการเล่าเรื่องวรรณคดี งานปูนปั้นในอดีตเป็นงานพุทธบูชา ใช้ตกแต่งโบราญสถานมากกว่าใช้ตกแต่งบ้านเรือน แต่ในปัจจุบันทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างเรียนทำปูนปั้นได้ โดยเรียนจากช่างที่มีฝีมือ ซึ่งในเพชรบุรีขณะนี้มีช่างปูนปั้นฝีมือดีเหลืออยู่ไม่เกิน 15 คน ส่วนงานปูนปั้นในปัจจุบันก็ถูกปรับให้ทำหน้าที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ทำเป็นของที่ระลึกที่ติดตู้เย็น เข็มกลัด หรือว่าตุ้มหู เป็นต้น

บทเรียน...ที่ทำให้รู้ตัว รู้ตน

เห็นได้ข้อมูลมากมายเช่นนี้ พรีมบอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไหนจะเรื่องการบริหารจัดการเวลาของทีมงานให้ลงตัว หรือความคิดเห็นต่างกัน แต่ก็ไม่เกินวิสัยที่จะจัดการได้ ซึ่งวิธีจัดการของพวกเธอคือ ใครว่างก็คุยกันไปก่อนแล้วค่อยสื่อสารกับเพื่อนที่ไม่มา หรือแชร์ความคิดเห็นของทุกคน แล้วเลือกสรรมาผสมผสานกันเป็นความคิดเห็นของกลุ่ม บรรยากาศการทำงานร่วมกันจึงราบรื่น

แต่ส่วนที่ยากที่สุดกลับเป็น ความกดดันภายในของแต่ละคนที่คาดหวังอยากให้งานออกมาดี

“พวกเราจะกังวลมากกว่าว่า จะทำออกมาดีไหม ทำแบบนี้มันดีหรือเปล่า ไม่มีใครมากดดัน แต่เรากดดันตัวเอง เพราะก็อยากให้งานออกมาดี มันเป็นครั้งแรกก็รู้สึกว่ามันยากไปหมดเลย” เฟินสะท้อน

“มันก็มีเบื่อบ้าง แต่พอเบื่อ เราก็หยุด แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ หรือบางทีคนหนึ่งเบื่อ เพื่อนก็จะบอกว่า สู้สิ ช่วยกัน จะมีเพื่อนคอยกระตุ้น พอเห็นเพื่อนทำ เราก็ต้องทำ โชคดีที่เรายังไม่เคยเบื่อพร้อมกัน”

แม้จะรู้สึกว่า งานยาก แต่ทีมก็สามารถจัดการทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตนเอง น้อยครั้งที่จะต้องถึงมือพี่เลี้ยงชุมชน หากมีเรื่องต้องปรึกษาพี่เลี้ยง พวกเธอจะระดมความคิดกันก่อนนำไปขอข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากพี่เลี้ยง

แต่ทุกคนสะท้อนว่า การทำโครงการนี้ต่างจากการทำโครงงานในวิชาเรียนมาก เพราะมีระยะเวลาทำงานนานถึง 6 เดือน จึงส่งผลให้บางครั้งสาวๆ ก็เกิดอาการเบื่อขึ้นมาบ้าง

“มันก็มีเบื่อบ้าง แต่พอเบื่อแล้วเราก็หยุด แล้วค่อยกลับมาทำใหม่ หรือบางทีคนหนึ่งเบื่อ เพื่อนก็จะบอกว่า สู้สิ ช่วยกัน จะมีเพื่อนคอยกระตุ้น พอเห็นเพื่อนทำ เราก็ต้องทำ โชคดีที่เรายังไม่เคยเบื่อพร้อมกัน” พรีมเล่า

แต่บทเรียนจากการทำงานครั้งนี้ ได้สร้างทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้นให้กับพวกเธอ เช่น การประสานงาน การพูดคุยกับผู้ใหญ่ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม ที่บางครั้งอาจจะมีการถกเถียงกันบ้าง ทำให้พวกเธอต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง ใช้เหตุผลมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาความรับผิดชอบ และการจัดสรรเวลา

“รู้จักวิธีการสัมภาษณ์ว่า ถ้าต้องไปสัมภาษณ์คนอื่นต้องทำอย่างไร การประสานงาน การตั้งคำถาม จะถามอย่างไรที่จะเคารพสิทธิ์ของเขา” แอนเล่า

แม้ทุกคนจะบอกว่าพวกเธอมีการจัดการที่ดี แต่สมาชิกในทีมคือพรีมกับแอนก็สารภาพว่า เทอมที่ผ่านมาเกรดร่วง แต่ทั้งนี้พรีมบอกว่า สาเหตุเกิดจากเธอที่ไม่ตั้งใจเรียนเองมากกว่า เป็นเพราะแบ่งเวลามาทำงานโครงการ ส่วนแอนนั้นยอมรับว่า เป็นเพราะเธอติดโทรศัพท์มากขึ้น

“ปกติพวกเราเป็นเด็กเรียน แต่มาทำโครงการนี้เพราะมันน่าสนใจ ก็กลัวนะว่าเกรดจะต่ำ แต่ว่าถ้าเราตั้งใจทำแล้วเราก็ต้องรักษาทั้งการเรียนและการทำงานให้ดีทั้งคู่” พรีมสะท้อนความคิด

ส่วนเฟินซึ่งเป็นคนเดียวในกลุ่มที่เกรดขึ้น บอกว่าเมื่อมาทำโครงการ ทำให้ต้องรับผิดชอบงานหลายๆ อย่าง จึงต้องจัดระบบของตัวเอง ต้องใช้เวลาอย่างมีค่า และมีความรับผิดชอบ

พรีมเสริมว่า พวกเธอขึ้น ม. 4 แล้วต้องรู้ว่าจะไปเรียนไหนต่อ ดังนั้นจึงต้องจัดการตัวเอง ไม่ใช่มัวแต่เล่นเกม ต้องแบ่งเวลาให้เป็นทั้งเล่น เรียน และการทำ “อย่างหนูปิดเทอมก็ต้องไปเรียนพิเศษวันพฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ ส่วนวันจันทร์ อังคาร พุธ ก็มาทำโครงการ เรียกว่าใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มาก”

“งานนี้มันก็ใหญ่อยู่ แล้วถ้าเราขึ้นม. 6 หรือมหาวิทยาลัยมันก็ต้องมีงานใหญ่ๆ แบบนี้ ถ้าเราได้ฝึกทำตั้งแต่ตอนนี้จะได้มีประสบการณ์” แอนย้ำถึงประโยชน์ของการทำโครงการ

“พลัง” และ “คุณค่า” ของปูนปั้นเมืองเพชร

การได้ศึกษาทำให้ซึมซับและตระหนักในคุณค่าของศิลปะปูนปั้นที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง ความรู้สึกนี้ทำให้ทีมงานแตกต่างจากเพื่อนวัยเดียวกัน

พรีมบอกว่า เธอเคยถามเพื่อนๆ ว่า สนใจเรื่องปูนปั้นไหม ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่าไม่สนใจ เพราะมันเชย พวกเธอจึงมีแนวคิดว่า จะพาเพื่อนๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายลงพื้นที่ไปทัวร์วัดต่างๆ สักครั้ง เพื่อที่จะได้ชี้ชวนให้เพื่อนๆ เห็นถึงความประณีตของชิ้นงานอันทรงคุณค่า เพราะอย่างน้อยการศึกษาข้อมูลที่ผ่านมาทำให้พวกเธอพอรู้บ้างว่า งานปูนปั้นของแต่ละวัดในเพชรบุรีมีจุดเด่นเฉพาะตัวอย่างไร

“ศึกษามากๆ เข้ามันก็ซาบซึ้งใจ ว่าเมืองเพชรบุรีก็มีอะไรดีๆ ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเพชรและของประเทศไทยไปแล้ว ถ้ามีโอกาสจะพาเพื่อนไปเที่ยววัด จะเล่าให้เขาฟังถึงประวัติของวัด และชี้ให้เขาได้เห็นความสวยงามของปูนปั้น แล้วก็จะพาไปคุยกับศิลปินที่บ้าน พร้อมสอนทำปูนปั้นแบบง่ายๆ ซึ่งทำเสร็จแล้วก็ได้กลับมาเป็นของที่ระลึก มันอาจจะทำให้เพื่อนๆ ได้สัมผัสของจริง และตระหนักถึงคุณค่าของงานปูนปั้นอย่างที่พวกเรารู้สึกกัน” พรีมเล่าถึงแผนงานที่อยากทำต่อ

วันนี้ งานปูนปั้นยังคงอยู่ให้เห็นทั่วทั้งเมืองเพชรบุรี กลายเป็นสิ่งคุ้นตาชินใจของผู้คนที่ผ่านไปมา แต่สำหรับพรีม เฟิน และแอนสิ่งที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันมีความหมายใหม่ เพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจนไม่อาจผ่านเลย ในวันที่ทีมงานพาพี่ๆ ทีมถอดบทเรียนไปชมวัดข่อย ได้มีโอกาสพบกับช่างน้อยและช่างโอ๋คนปั้นลายปูนปั้นเมืองเพชร ในสังกัดของช่างสาโรจน์ กำลังทำงานปูนปั้นประดับฐานพระพุทธรูปอยู่ท่ามกลางแสงแดดอันร้อนระอุ เด็กๆ ปรี่เข้าไปถามไถ่ด้วยความสนใจ ปฏิกิริยาของช่างปั้นปูนทั้งสองท่านคือ ความยินดีปรีดิ์เปรมที่จะบอกเล่าแบ่งปันความรู้ในทุกคำถามที่ถาม

ช่างโอ๋สะท้อนความในใจว่า งานปูนปั้นเป็นงานฝากฝีมือ งานทุกชิ้นปั้นยากทุกชิ้น เพราะใส่ความรู้สึกของคนปั้นลงไปด้วย ก่อนที่จะกล่าวขอบคุณเด็กๆ อย่างซาบซึ้งว่า “แค่น้องๆ สนใจก็ชื่นใจ ขอบคุณที่สนใจ ขอบคุณจริง”

คำกล่าวของช่างโอ๋ในวันนั้น ได้ส่งพลังให้เด็กสาว 3 คนเกิดความฮึกเหิมขึ้นอีกครั้ง ความมุ่งมั่นที่สะท้อนผ่านสายตาทำให้เชื่อมั่นได้ว่า พวกเธอจะทำหน้าที่สืบสานบอกเล่าเรื่องราวงานปูนปั้นเมืองเพชรให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ตระหนักถึงอย่างแน่นอน

การทำงานโครงการเยาวชนเมืองเพชรบุรีสืบสานงานปูนปั้นนอกจากจะช่วยสร้าง “ทักษะชีวิต” หลากหลายด้านให้กับทีมงานแล้ว การทำงานนี้ยังช่วยส่งต่อ “ข้อมูลความรู้” เรื่องปูนปั้นที่พวกเธอสืบค้นมาให้คนทั่วไปรับรู้ถึง “คุณค่า” ของปูนปั้นเมืองเพชร แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเข้าไปสัมภาษณ์ผู้รู้เรื่องปูนปั้นได้ช่วย “เติมชีวิต” ให้ช่างปูนปั้นเมืองเพชรกลับมามีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยเล็งเห็นว่าเด็กเยาวชนรุ่นใหม่เริ่มมองเห็น “คุณค่าและความหมาย” ของสกุลช่างเมืองเพชรที่นับวันจะเหลือผู้สืบทอดน้อยลงไปทุกที


โครงการเยาวชนเมืองเพชรบุรีสืบสานงานปูนปั้น

พี่เลี้ยงชุมชน :

ทีมงาน :

  • ปรินทร ทองแดง 
  • กชกร เพ็งประเสริฐ
  • สุมาพร สุวรรณทิพย์ 
  • ชลิตา อิ่มทรัพย์
  • เบญชญา อนุมาศ