จากการประกาศผลการสอบโอเน็ต (การทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติขั้นพื้นฐาน)9 วิชาสามัญ ที่จัดขึ้นโดยสทศ.หรือสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 6 - 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าแต่ละวิชานักเรียนสอบได้คะแนนต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 20- 30 คะแนน มีเพียงวิชาภาษาไทยที่ได้คะแนนเกินครึ่งวิชาเดียว โดยได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.65 คะแนน เป็นหัวข้อถกเถียงและยังแก้ปัญหานี้ไม่ตก ฟากหนึ่งสะท้อนภาพการออกข้อสอบไม่สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษา อีกฟากหนึ่งสะท้อนภาพการวิเคราะห์ไปถึงตัวหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน ในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังช่วยกันหาทางออก ว่าการออกข้อสอบนี้ ควรมีการวัดผลกี่แบบ และกระบวนการวัดผลที่ทำอยู่ขณะนี้ เหมาะสมแล้วหรือไม่ ในระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบสุดท้าย มูลนิธิสยามกัมมาจล มี2 โรงเรียนตัวอย่าง ได้แก่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และโรงเรียนอนุบาลสตูล จากโครงการภาคีพูนพลังครู ที่ได้จัดการเรียน การสอนแนวใหม่ ส่งผลให้เด็กนักเรียนสอบโอเน็ตได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่นๆ
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ จัดการศึกษาตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโดยใช้ PBL (Problem based Learning)เป็นหน่วยการเรียนแบบบูรณาการที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เกิดทักษะอันหลากหลายที่จำเป็นสำหรับศตวรรษใหม่ (21st Century Skills)ได้แก่ - ทักษะการเรียนรู้และการเรียนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ทักษะการสังเคราะห์ข้อมูลและการจัดการความรู้ - ทักษะชีวิต(ทำกินเป็น อยู่ได้ ใช้เป็น) เช่น ทักษะ ICT การทำงานร่วมกัน การจัดการความขัดแย้ง การสื่อสาร การคิดหลายระดับ การสร้างปัจจัยการดำเนินชีวิต. การดูแลสุขภาพ. การแสวงหาข้อมูล. การปรับตัว การออกแบบวิถีชีวิต. อุปนิสัย. การชี้นำตนเอง. จิตสำนึกต่อคนอื่น วัฒนธรรมอื่นและต่อโลก และนำจิตศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เพื่อให้เป็นแนวคิดและกระบวนการพัฒนาทั้งครูและเด็กให้เกิดการเรียนรู้และงอกงามด้านใน ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ SQ และความฉลาดทางด้านอารมณ์ EQ อีกด้วย
ครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง จากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แสดงความคิดเห็นต่อโอเน็ตและให้ข้อเสนอแนะการเรียนการสอนว่า “ความต้องการของครูที่ต้องการ “เน้นเนื้อหา” และคิดว่าสามารถตอบโจทย์การทำข้อสอบโอเน็ตได้ ทำให้ครูต้องใช้ “วิธีติว” ให้เด็กจำเนื้อหาซึ่งไม่สามารถทำให้เด็กทำข้อสอบได้จริง แต่ถ้าหากโรงเรียนอยากให้นักเรียนของตัวเองทำคะแนนโอเน็ตได้สูงขึ้นก็ต้องเริ่มที่กระบวนการเรียนการสอนที่ฝึกเด็ก ซึ่งทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้จัดกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้ทุกๆ วันคือ การฝึกกระบวนการคิด การแก้ปัญหา ฝึกกระบวนการ Reflection (การสะท้อนกลับ)เด็กที่โรงเรียนก็จะคิดเอง ใคร่ครวญเอง และรู้จักวิธีการแก้ปัญหาได้เอง ผลที่เกิดขึ้นทำให้เด็กนักเรียนของเรามีผลคะแนนอยู่ในระดับสูงมากทุกๆ ปี”
เช่นเดียวกับที่โรงเรียนอนุบาลสตูล จ.สตูล ซึ่งเป็นโรงเรียน 1 ใน 500 แห่งที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2553 ในฐานะโรงเรียนมาตรฐานสากล โดยผอ.สุทธิ สายสุนีย์ เผยว่าโรงเรียนอนุบาลสตูลได้ปรับโครงสร้างเวลาเรียน เพิ่มเวลา 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับเรียนรู้แบบโครงงาน การเขียนความเรียงชั้นสูง การเรียนไปสู่ความเป็นพลโลก ฯลฯ สอดรับกับการเรียนรู้โดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research BasedLearning) ทำให้เห็นพัฒนาการของเด็กอย่างเห็นได้ชัด “ผมมองว่ากระบวนการเหล่านี้ถ้าเราทำให้เด็กเขาได้รู้จักตัวตน ได้เครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ เด็กจะไปแสวงหาความรู้อะไรก็ได้ ทำให้ผลคะแนนโอเน็ตดีขึ้น ยกตัวอย่าง ในแต่ละปี มีเด็กนักเรียนที่ได้คะแนนเต็มร้อยหลายคน และมีที่สอบได้ที่ 1 ของประเทศด้วย โดยเฉพาะเด็กเรียนวิทยาศาสตร์ มีสถิติที่เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นผลจากที่เด็กต้องนำเสนองาน ทำรายงานและเก็บเกี่ยวความรู้ด้วยตัวเอง ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะตกผลึกในตัวเด็ก ถ้าเราทำซ้ำแล้วซ้ำอีกไปทุกๆ ปี”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของโรงเรียนที่ปรับการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปให้ทันโลกในศตวรรษที่ 21 มีวิธีรับมือที่แยบยล ผลประโยชน์สูงสุดกลับคืนสู่ “ลูกศิษย์” นั่นเอง.