การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เรียนรู้การจักสานแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่นบ้านหนองคู จ.ศรีสะเกษ ปีที่1

สานสายใยบ้านหนองคู

น้องๆ ในชมรมหิ่งห้อยต่างรู้ตัวว่า การออกมาทำกิจกรรมเป็นการฝึกความสามัคคี รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างทักษะในการทำงาน และการแบ่งเวลา ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะชีวิตที่จะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ดังนั้นไม่ว่ากิจกรรมหรืองานใดๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนทุกคนล้วนเต็มใจทำ เพราะเป็นการทำเพื่อบ้านของตนเอง


แม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากร 56 หลังคาเรือน และมีประชากรอาศัยอยู่เพียง 240 คน แต่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้กลับประสบปัญหาชวนปวดหัว โดยเฉพาะปัญหาเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นภาวะท้องไม่พร้อม ยาเสพติด แว้น ทะเลาะวิวาท เรียนไม่จบ ว่างงาน ขาดอาชีพ ขาดรายได้ จนเป็นที่หนักอกหนักใจของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อตัวแทนเด็กและเยาวชนบ้านหนองคูเห็นเพื่อนต่างหมู่บ้านก่อตั้งชมรม จึงเกิดแรงบันดาลใจรวมตัวกันจัดตั้งชมรมหิ่งห้อยขึ้น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและชุมชน โดยมีโรงเรียนบ้านโนนคูณและโรงพยาบาลโนนคูณสนับสนุน

โดยกิจกรรมที่กลุ่มหิ่งห้อยทำในชุมชนมีทั้งหมด 5 กิจกรรมคือ 1.หนูอยากเป็นขยะ 2. ผักสวนครัวรั้วกินได้ 3. ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์รายได้ 4. รักการอ่าน และ 5.กีฬารักษาสุขภาพ ต่อเมื่อมีโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเข้ามา เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลโนนคูณจึงแนะนำให้เยาวชนชมรมหิ่งห้อยทำโครงการสานสายใยเยาวชนเพื่อชุมชนบ้านหนองคู เพราะอยากให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องการสานตะกร้าไว้เป็นอาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดยมีริน-ภัทรินท์ มะโนธรรม กุ้ง-ศุภวรรณ หนุนวงค์ จ๋า-ธนิตา แก้วอาสา แบงค์-ปิยาภรณ์ กรกัน ออม-ชลธิชา พลเตชะ ชมพู่-ปิยะฉัตร ขุนเจริญ แต-ลัดดาวรรณ วันดีรัตน์ แพรว-ขนิษญา ป้องพา และจุ๊-วราภรณ์ ศิริจันดา ที่รวมตัวกันด้วยความสมัครใจ เพราะต้องการเรียนรู้เรื่องการสานตะกร้าพลาสติก ไปพร้อมกับการจัดกิจกรรมอื่นของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ด้วยมองว่าการทำกิจกรรมทำให้พวกเขาได้มีพื้นที่แสดงออก

­

เรียนรู้เพื่อสานต่อ

รินบอกว่า คนในชุมชนบ้านหนองคูส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา และปลูกพริก กิจกรรมสานตะกร้าเกิดขึ้นจากการที่โรงพยาบาลโนนคูณได้เข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ใหญ่ในชุมชน โดยเชิญวิทยากรจากบ้านหนองดินดำเข้ามาสอน พร้อมสนับสนุนทุนตั้งต้นในการซื้ออุปกรณ์ให้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้ในครัวเรือน อีกส่วนหนึ่งจะมีแกนนำในชุมชนนำไปจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ รวมทั้งเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมของชุมชน เช่น เป็นของที่ระลึกสำหรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน หรือบางส่วนทางโรงพยาบาลจะสั่งผลิตตามออเดอร์ การสานตะกร้าพลาสติกจึงกลายเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก

“เมื่อเห็นผู้ใหญ่สานตะกร้า พวกเราก็อยากสานเป็นบ้าง เพื่อใช้เองและเป็นอาชีพเสริม ด้วยเหตุนี้กลุ่มจึงต้องเรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการสานอย่างละเอียด เริ่มต้นจากศึกษาความเป็นมาเรื่องการจักสานของชุมชน ความแตกต่างระหว่างการสานพลาสติกกับการสานไม้ไผ่ รวมทั้งหาข้อมูลด้านการจักสาน ทั้งในแง่ผู้รู้ วัสดุอุปกรณ์ รูปแบบ และลวดลายของผลิตภัณฑ์ วิธีการ และขั้นตอน การใช้ประโยชน์ ตลอดจนฝึกฝีมือในการจักสานภายใต้การสอนของผู้รู้ในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ปกครองของน้องๆ จนทุกคนทำเป็น”

ด้วยกิจกรรมที่ชมรมหิ่งห้อยทำมีความหลากหลาย ทำให้ทีมต้องมีการรวมตัวประชุมกันสม่ำเสมอ เพื่อวางแผนกิจกรรมในแต่ละครั้ง จนกลายเป็นวิธีการทำงานที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้นเมื่อถึงคราวที่สมาชิกชมรมรุ่นนี้ต้องรับช่วงขับเคลื่อนกิจกรรมจากรุ่นพี่ จึงไม่ยากที่จะดำเนินการต่อ

“พวกพี่ๆ สอนจากประสบการณ์ตรง ด้วยการทำให้ดูหลายอย่าง เช่น การจัดค่าย การเล่นกีฬา การอ่านหนังสือ กลายเป็นทักษะติดตัว ที่นำกลับมาทำต่อได้ทันที” น้องๆ ในชมรมสะท้อนสิ่งที่ได้รับจากรุ่นพี่

­

+ วิธีเปลี่ยน...วิถีเปลี่ยน

เมื่อกลยุทธ์ดึงเยาวชนออกจากพื้นที่เสี่ยงได้ผลค่อนข้างดี การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องทุกเดือนจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อเด็กเล็กได้เห็นบทเรียนชีวิตของรุ่นพี่ทำให้ไม่อยากทำตาม เพราะทุกกิจกรรมมีตัวอย่างดีๆ ให้เลียนแบบ ขณะเดียวกันความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมก็ถูกนำไปต่อยอด ปรับใช้ในครัวเรือนของน้องแต่ละคน เช่น การปลูกพืชผักสวนครัวในบ้าน ที่ช่วยทั้งลดรายจ่าย ปลอดภัยต่อสุขภาพ เพราะปราศจากสารเคมี

“รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นมาก หลังจากที่เราเคยซื้อกับข้าวรถตลาดทุกวัน (รถพุ่มพ่วงหรือรถที่ตระเวนขายสินค้าตามหมู่บ้านต่างๆ) เราก็ไม่ต้องซื้อ หรือซื้อบ้างเป็นบางวันเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น” จุ๊เล่าถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี

การออกจากพื้นที่ส่วนตัวของน้องๆ เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในชุมชนต่างชื่นชมยินดี พ่อแม่ผู้ปกครองต่างดีใจที่ลูกหลานออกมาทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เพราะที่ผ่านมาลูกอยู่แต่บ้าน ดูโทรทัศน์ ไม่ทำอะไร แต่เมื่อได้มาทำกิจกรรมกับชมรมทำให้ลูกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามน้องๆ ในชมรมหิ่งห้อยต่างรู้ตัวว่า การออกมาทำกิจกรรมเป็นการฝึกความสามัคคี รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างทักษะในการทำงาน และการแบ่งเวลา ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะชีวิตที่จะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ดังนั้นไม่ว่ากิจกรรมหรืองานใดๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนทุกคนล้วนเต็มใจทำ เพราะเป็นการทำเพื่อบ้านของตนเอง

ดังที่จุ๊บอกทิ้งท้ายว่า “ภูมิใจที่ได้ทำทุกอย่างที่ทำให้ทุกคนในชุมชนมีความสุข มีรอยยิ้ม และมีเสียงหัวเราะ”

­

­

+ “กิจกรรม” เชื่อมสัมพันธ์ให้ชุมชน

ศรีทัต หนุนวงศ์ ส.อบต. หมู่ 9 ในฐานะพี่เลี้ยงสารภาพว่า ช่วงแรกที่เด็กๆ ทำกิจกรรมเก็บขยะในชุมชน เขาไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของเด็ก แต่เมื่อต้องเป็นตัวแทนหมู่บ้านต้อนรับผู้มาศึกษาดูงานของชมรมหิ่งห้อย จึงได้ตระหนักถึงศักยภาพของเยาวชน จากนั้นจึงเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการทำกิจกรรมทุกเรื่อง

“เมื่อคนในชุมชนเห็นเด็กทำอะไรดีๆ ก็จะทำตาม เช่น เมื่อเด็กๆ นำกระถางมาปลูกผักสวนครัว ปลูกดอกไม้ไว้หน้าบ้าน คนในชุมชนเห็นก็ทำตาม กลายเป็นว่าทั้งหมูบ้านปลูกผักสวนครัวและดอกไว้หน้าบ้านกันหมด แม้แต่ลูกสาวผมก็ยังปลูกผักสวนครัวไว้หน้าบ้านเลย พอเห็นเด็กๆ ทำดีอย่างนี้ เราในฐานะพี่เลี้ยงต้องสนับสนุน อย่าไปขัดขวาง เมื่อเด็กๆ มารวมตัวกันทำกิจกรรมดีๆ เราต้องช่วยหนุนเสริม หากเขาทำไม่ดีค่อยแนะนำตักเตือน นอกจากนี้เด็กๆ กลุ่มนี้ยังเป็นอาสาสมัครไปช่วยงานอื่น ๆ ในชุมชนด้วย บางครั้งไม่ได้เงิน แต่ก็มีของเล็ก ๆ น้อยๆ ที่เจ้าภาพจัดไว้” ส.อบต.ศรีทัต ร่ายยาวถึงบทบาทของเยาวชน

แต่ที่สำคัญคือการทำกิจกรรมของเยาวชนดึงให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามาเมียงมอง กระทั่งเข้ามาช่วยเหลือในสิ่งที่เกินกำลังของเด็ก จนในที่สุดกลายเป็นว่า ทุกคนในชุมชนช่วยกิจกรรมของชมรมหิ่งห้อยจึงเป็นเสมือนการขันน็อตความสัมพันธ์ภายในชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ส่วนบทบาทของพี่เลี้ยงนอกจากจะประสานงาน เติมเต็มในส่วนที่ขาดแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ตะกร้าพลาสติก เพื่อสร้างแบรนด์ให้สินค้าพลาสติกสานของชมรมหิ่งห้อย รวมทั้งการรับหนังสือจาก กศน. โรงพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ มาส่งให้ห้องสมุดของชุมชน และบทบาทที่สำคัญคือ ช่วยกระตุ้นเด็กๆ ยามเกิดอาการงอแงเป็นระยะๆ และประสานพ่อแม่ผู้ปกครองให้ช่วยกันกระตุ้นลูกหลานให้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม ส.อบต.ศรีทัต ได้สะท้อนจุดอ่อนของเยาวชนที่ยังอยากพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นว่า เท่าที่เห็นน้องกลุ่มนี้ยังขาดทักษะการพูดที่ยังไม่คล่องแคล่วเท่าที่ควร อย่างอื่นเก่งหมด ถ้าเขาพูดเก่งกว่านี้สักหน่อยน่าจะดีกว่านี้ ทั้งนี้ก็แอบคาดหวังด้วยว่า อยากให้เยาวชนกลุ่มนี้ยังคงทำงานแบบนี้ เติบโตไปในครรลองที่ถูกที่ควร และและมีการถ่ายทอดกระบวนการทำงานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องต่อไปเรื่อยๆ โดยเขาและผู้ใหญ่ในชุมชนจะยังสนับสนุนและอยู่เคียงข้างกับเด็กๆ ด้วยเห็นผลจากคนใกล้ตัวว่า กิจกรรมสามารถพัฒนาศักยภาพคนได้

“ผมดูจากลูกสาวผมจากเมื่อก่อนที่ซื่อๆ ซึมๆ เศร้าๆ เดี๋ยวนี้กล้าแสดงออก แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว ลูกผมนี่เห็นพัฒนาการได้ชัดเจนมาก รู้สึกพอใจและยอมรับถึงความสามารถของน้องกลุ่มนี้” ส.อบต.ศรีทัตเล่าถึงผลลัพธ์ของการทำงานของเยาวชนอย่างภาคภูมิใจ

การหนุนเสริมอย่างถูกที่ถูกทางของผู้ใหญ่ในชุมชน นอกจากจะช่วยเสริมพลังและคุณค่าให้เด็กและเยาวชนคิดทำสิ่งดีๆ เพื่อตนเอง ครอบครัว และชุมชนแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาชวนปวดหัวของพ่อแม่ผู้ปกครองให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น จนเกิดความอบอุ่นในครอบครัวแล้ว ยังทำให้กลุ่มเยาวชนมีรายได้จากการทำกิจกรรมอาชีพจักรสาน มีความรู้และทักษะในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทำงาน ก่อให้เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือกันภายในกลุ่มและชุมชน เช่น การจัดการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกลุ่มในชุมชน(กลุ่มรักการอ่าน) การจัดการขยะในชุมชน และการร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนอีกด้วย


โครงการสานสายใยเยาวชน เพื่อชุมชนบ้านหนองคู

แกนนำเยาวชน  1. ภัทรินท์ มะโนธรรม  2. ศุภวรรณ หนุนวงค์  3. ธนิตา แก้วอาสา ปิยาภรณ์ กรกัน  4. ชลธิชา พนเตชะ  5.ปิยะฉัตร ขุนเจริญ 6.ลัดดาวรรณ วันดีรัตน์ 7. ขนิษฐา ป้องหา  8.วราภรณ์ ศิริจันดา

พี่เลี้ยง   ศรีทัต หนุนวงศ์