สายใยรักต่างวัย
ทีมงานทุกคนเป็นวัยรุ่นตอนต้น อาจมีบ้างที่ความว้าวุ่นของช่วงวัยทำให้ความสนใจหลุดบ้าง ลืมบ้าง แต่โชคดีที่มีพี่เลี้ยงคอยกำกับการทำงาน ใช้การชวนพูด ชวนคุย ทบทวนงาน พาทำ แต่ไม่นำว่าทำอย่างไร พี่เลี้ยงเพียงแค่ชวนวางแผนประมาณหนึ่ง แล้วให้น้องลงมือทำด้วยตนเอง
เมื่อก้าวเข้าเขตบ้านโนนรัง ตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ สิ่งที่สัมผัสได้คือความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสะอาดของชุมชน ด้วยเพราะที่นี่เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2555 จึงมีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ดูงานเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีฐานการทำงานดีเด่นด้านสุขภาพ ภาพที่เห็นคือทุกบ้านจะมีกี่สำหรับทอเสื่อ หรือทอผ้า มีการปลูกพืชผักสวนครัว ที่สะท้อนถึงความร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน
จากพื้นฐานของชุมชนที่มีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิม ทำให้เด็กและเยาวชนที่นี่ได้มีโอกาสเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการช่วยงานในกิจกรรมต่างๆ ของผู้ใหญ่ กอปรกับได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกุง (รพ.สต.หนองกุง) และโรงพยาบาลโนนคูณ ที่ได้ดำเนินกิจกรรมกับเด็กจนทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเยาวชนในนาม “กลุ่มดาวกระจาย” ช่วยเหลือกิจกรรมด้านสุขภาพของ รพ.สต.มาโดยตลอด
เมื่อมีโอกาสเข้าร่วมโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ผู้ใหญ่ใจดีอย่าง พี่มน-กมลรัตน์ จูสีมา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวและปฐมภูมิ โรงพยาบาลโนนคูณ มองว่านี่คือ “โอกาส” ดีที่จะได้ต่อยอดการทำงานของกลุ่มเยาวชนให้เป็นระบบมากขึ้น
“อยากให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการ การคิดวิเคราะห์ ซึ่งตรงกับความคิดของเราที่ต้องการให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อให้เขาสามารถจัดการชีวิตตนเองได้” พี่มลบอกถึงเบื้องหลังความคิดในการสนับสนุนให้เยาวชนทำโครงการ
+ทำงานบนฐานข้อมูล
ฝน-น้ำฝน ทองคำผุย ในฐานะพี่ใหญ่จึงรวบรวมน้องๆ ซึ่งประกอบด้วย ตั๊ก-ศุชาดา ตาทุวัน, แท้งค์-ธีราพรรณ ชัยภักดี, กิ๊ฟ-ริยากร นามวงษ์, โบ๊ต-วาสิฏฐี ตุนา, ฟ้าใส-สุนันทา ทองคำผุย, ขม-พิลารัตน์ ปุระมงคล และเฟี๊ยส-ปรียาลักษณ์ พุฒเคน ให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ด้วยเยาวชนกลุ่มดาวกระจายช่วยงาน รพ.สต.เป็นประจำอยู่แล้ว จึงรู้ว่าในชุมชนมีผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บป่วย และขาดคนดูแลอยู่จำนวนหนึ่ง อีกทั้งในครอบครัวของพวกเขาก็มีแม่แก่(ยาย) ผู้เป็นที่รักยิ่งของลูกหลาน ทีมงานทั้งหมดคิดว่า ประเด็นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงเป็นที่มาของโครงการเติมใจวัยใส ใส่ใจวัยเก๋า ซึ่งมีเป้าหมายคือสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน
ปรากฏการณ์ที่ผู้สูงอายุต้องดำเนินชีวิตเพียงลำพัง บ้างต้องดูแลลูกหลานที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้เลี้ยง เพราะต้องไปทำงานต่างถิ่น เป็นปรากฏการณ์คล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น แต่โชคดีที่บ้านโนนรังมีผู้สูงอายุที่มีสภาพเช่นนี้ไม่มาก แต่กระนั้นความใส่ใจของกลุ่มเยาวชนดาวกระจายต่อสมาชิกร่วมชุมชนก็น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อสนใจจะดูแลผู้สูงอายุในชุมชน สิ่งแรกที่ทีมทำคือ การหาข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้าน โดยเน้นไปที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชุมชน และข้อมูลผู้สูงอายุ
“หมู่บ้านของเรามี 67 ครัวเรือน ประชากร 279 คน เป็นชาย 133 คน หญิง 164 คน มีโรงเรียน 1 โรง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กเปิดสอนถึงชั้น ป.3 ส่วนผู้สูงอายุในหมู่บ้านมี 21 คน ขาดการดูแล 1 คน มีผู้ป่วยเรื้อรัง 4 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และมีคนพิการอีก 4 คน” ฝนรายงานสถานการณ์อย่างคล่องแคล่ว
เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนจึงรู้ว่า มีผู้สูงอายุที่ไม่มีคนดูแลจริงเพียง 1 รายเท่านั้น ทีมจึงปรับเป้าหมายการทำงานใหม่ ด้วยการช่วยดูแลทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ใหญ่ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน โดยทีมงานได้จัดประชุมวางแผนการทำงาน และแบ่งบทบาทหน้าที่ตามความสามารถและความถนัด ฝนเป็นประธานกลุ่ม มีขมกับเฟี๊ยสทำหน้าที่บันทึกข้อมูล ฟ้าใสเป็นเหรัญญิกดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการ ส่วนคนที่เหลือเป็นทีมสนับสนุน เพราะทุกเรื่องที่ตัดสินใจทำจะต้องผ่านการประชุมหารือร่วมกันทุกครั้ง
“เมื่อทำกิจกรรมเสร็จในแต่ละครั้งก็จะมีการถอดบทเรียนร่วมกันว่า ทำกิจกรรมแล้วเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีเวลาพอหรือไม่ หากทำกิจกรรมเสร็จค่ำ ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกลับบ้าน แต่จะนัดหมายคุยกันต่อที่โรงเรียนในวันถัดไป”
เฟี๊ยสเล่าถึงวิธีทำงานของกลุ่มว่า ส่วนใหญ่พวกเขาจะทำกิจกรรมร่วมกัน โดยแต่ละครั้งที่จะทำงานจะต้องจัดประชุมกันก่อน ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนมารวมตัวกันที่ศาลากลางบ้าน มีพี่ฝนเป็นคนนำ สำหรับเนื้อหาการประชุมแต่ละครั้งจะเน้นไปที่การชี้แจงรายละเอียดการทำกิจกรรมว่ามีอะไรบ้าง รวมถึงวันเวลาที่จะทำกิจกรรม มีขมและเฟี๊ยตสลับกันบันทึกข้อมูลไว้บนกระดาษชาร์ตเพื่อให้ทุกคนเห็นทั่วกัน หลังประชุมเสร็จก็เก็บเข้าแฟ้มไว้เป็นบันทึกการทำงานของกลุ่ม เมื่อทำกิจกรรมเสร็จในแต่ละครั้งก็จะมีการถอดบทเรียนร่วมกันว่า ทำกิจกรรมแล้วเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีเวลาพอหรือไม่ หากทำกิจกรรมเสร็จค่ำ ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกลับบ้าน แต่จะนัดหมายคุยกันต่อที่โรงเรียนในวันถัดไป
อย่างไรก็ตาม แม้ทีมงานจะคุ้นเคยกับการดูแลผู้อื่นผ่านกิจกรรมอาสาที่เคยเข้ามาช่วยพี่ๆ รพ.สต.วัดความดัน เจาะเลือด เป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อต้องมาดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการอย่างจริงจัง จึงต้องมีการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย การดูแลจึงมีตั้งแต่ระดับการทำความรู้จัก ช่วยเหลืองานบ้าน ช่วยเหลือด้านการอยู่การกิน ชวนทำกิจกรรมออกกำลังกายที่ศาลากลางบ้าน หรือชวนกันมาปลูกผักสวนครัว
“อย่างแรกก็ต้องถามคือเรื่องการอยู่การกิน บางครั้งก็ไปช่วยหุงข้าว ช่วยทำงานบ้าน เพราะผู้สูงอายุบางคนอยู่คนเดียว” ฝนเล่าถึงกิจกรรมที่เยาวชนได้ไปดูแลผู้สูงอายุ
+สร้างสุขให้ผู้สูงอายุ
ฝนบอกอีกว่า แม้กิจกรรมที่ทำจะเป็นสื่อที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุในชุมชน แต่กระนั้นพวกเขาก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติม เช่น เรื่องการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ซึ่งสองคนพี่น้อง ฝนกับฟ้าใส เห็นว่าแม่แก่นั่งทอเสื่อจนปวดหลัง จึงปรึกษากับคุณหมอที่โรงพยาบาลโนนคูณเรื่องท่าทางในการออกกำลังกายที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งการสืบค้นข้อมูลจากยูทูบ จนมาสรุปลงตัวที่ท่าออกกำลังกายประกอบไม้ไผ่ 11 ท่าที่ได้เรียนรู้มาจากโรงพยาบาล
ในหมู่บ้านมีคนแก่ 20 คน น้องๆ ก็จะไปชวนให้เขามาออกกำลังกาย โดยจะให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยประกาศเสียงตามสายนัดหมายให้มารวมพลกันที่ศาลากลางบ้าน ใช้เวลาช่วงเย็น หรือเสาร์อาทิตย์ที่ว่างจากการบ้านและงานบ้านแล้ว การได้ออกมาขยับร่างกายตามที่น้องแนะนำ เป็นแนวทางการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต และส่งเสริมสภาวะทางสังคมที่มีชีวิตชีวาแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก
นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ทีมยังจัดให้มีกิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกาด และผักกาดขาวร่วมกันในพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้เฒ่าผู้แก่และลูกหลานได้ลงมือทำงานร่วมกัน ทั้งยังเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำเกษตรปลอดสารพิษจากผู้สูงอายุสู่เยาวชน ด้วยการสอนให้น้องๆ ทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้เป็นปุ๋ย ผักปลอดสารพิษที่ปลูกจึงให้ผลผลิตเยอะ จนกินไม่ทัน แม้จะแบ่งให้ผู้สูงอายุทุกหลังคาเรือนแล้วก็ตาม
ระหว่างช่วงเวลาของการดูแลพืชผักให้เติบใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างวัยจึงงอกงามตามไปด้วยความสัมพันธ์ที่เพิ่มพูน สานให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่อง ผู้สูงอายุสอนเด็กๆ เรื่องวัฒนธรรมในหมู่บ้าน สอนการทำกระติ๊บข้าว ทอเสื่อ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่คนในชุมชนสืบต่อกันมา เป็นทั้งงานอดิเรกที่ได้ทั้งของใช้ในครัวเรือน และเป็นอาชีพเสริม ซึ่งยายผา ทองคำผุย แม่ใหญ่ของฝนและฟ้าใสสะท้อนความรู้สึกในมุมมองของผู้ใหญ่บอกว่า “การมีกิจกรรมต่างๆ ทำ ทำให้เด็กน้อยไม่ไปเที่ยวเตร่ในวันหยุด แล้วก็จะมีรายได้ช่วยพ่อแม่ด้วย”
+ เรียนรู้และเข้าใจ
บรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ ทำให้น้องๆ รู้สึกสนุกกับการทำงานร่วมกัน มีความสุขที่ได้พูดคุยหยอกล้อ กิน เล่น ไปพร้อมกัน แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง เช่น ทำกิจกรรมยังไม่ครบตามแผน เพื่อนมาไม่ตรงเวลา หรือเวลาว่างไม่ตรงกัน แต่ทุกคนก็เรียนรู้ที่จะประนีประนอมยืดหยุ่นให้แก่กันและกัน และแก้ปัญหาไปด้วยกัน “มาแค่ไหนก็ทำแค่นั้น ทำไหว ต้องสู้ เพื่อนไม่มาก็ต้องทำ เพราะเรานัดกันไว้แล้ว บางทีมาแค่นี้ก็ทำแค่นี้”
“แม้บางครั้งเพื่อนจะไม่มา ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำต่อไป ไม่ต่อว่าเพื่อน แต่จะถามเหตุผลว่า เพราะอะไรถึงไม่มา เขาก็จะบอกว่าติดงาน ทำงานไม่เสร็จ เราก็เข้าใจ ไม่โกรธ”
ฝนสะท้อนว่า ความสนุกในการทำงานร่วมกันคือ เวลาคุยกัน เวลาทำงานด้วยกันมีความสุขทุกอย่าง แม้บางครั้งเพื่อนจะไม่มา ก็ไม่เป็นไร เราก็ทำต่อไป ไม่ต่อว่าเพื่อน แต่จะถามเหตุผลว่า เพราะอะไรถึงไม่มา เขาก็จะบอกว่าติดงาน ทำงานไม่เสร็จ เราก็เข้าใจ ไม่โกรธ
เมื่อก้าวข้ามความขุ่นข้องหมองใจ การทำงานจึงเป็นไปอย่างราบรื่น แต่อาจเป็นเพราะทีมงานทุกคนเป็นวัยรุ่นตอนต้น อาจมีบ้างที่ความว้าวุ่นของช่วงวัยจะทำให้ความสนใจหลุดบ้าง ลืมบ้าง แต่โชคดีที่มีพี่เลี้ยงคอยกำกับการทำงาน ใช้การชวนพูดชวนคุย ทบทวนงาน พาทำ แต่ไม่นำว่าทำอย่างไร พี่เลี้ยงเพียงแค่ชวนวางแผนประมาณหนึ่ง แล้วให้น้องลงมือทำด้วยตนเอง
“ตัวอย่างเช่น ทำเรื่องผู้สูงอายุในชุมชน ก็จะชวนกันวางแผนเรื่องเก็บข้อมูลว่า ต้องเก็บข้อมูลอะไร อย่างไร บ้านเรามีผู้สูงอายุกี่คนที่ต้องการการดูแล เป็นโรคอะไร วิธีดูแลรักษาต้องทำอย่างไร ช่วยวางโครงร่างให้ แต่ให้พวกเขาทำเองทั้งหมด” พี่มวล-ประมวล ดวงนิล เจ้าหน้าที่โครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เล่าถึงวิธีการทำงานหนุนเสริมน้องๆ
+เรื่องเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่
น้องๆ รู้ตัวว่า ถ้าไม่ได้ทำโครงการนี้ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดี หรือคนพิการในชุมชนก็จะไม่ค่อยมีกิจกรรมในชีวิตมากนัก แม้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะได้พบปะกันเมื่อไปทำบุญที่วัดบ้าง แต่เด็กๆ ในชุมชนและผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ค่อยรู้จักกัน แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เด็กและผู้สูงอายุสนิทสนมกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง
“ถ้าไม่ได้ทำโครงการนี้ ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว ผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดี หรือคนพิการในชุมชนก็จะไม่ค่อยมีกิจกรรมในชีวิตมากนัก แม้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะได้พบปะกันเมื่อไปทำบุญที่วัดบ้าง แต่เด็กๆ ในชุมชนและผู้เฒ่าผู้แก่ไม่ค่อยรู้จักกัน แต่เมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เด็กและผู้สูงอายุสนิทสนมกันมากขึ้น”
ฝนบอกว่า ทำโครงการแบบนี้ดี เพราะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และได้เรียนรู้มากขึ้น เธอรู้สึกว่าตนเองเปลี่ยนแปลงคือ เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีภาวะผู้นำ เพราะเป็นประธานกลุ่มต้องดูแลน้องๆ พาน้องๆ ทำกิจกรรม ทำให้รู้สึกว่าตนเองโตขึ้น ดูแลน้องได้
ส่วนเฟี๊ยสเล่าว่า รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เป็นผู้นำ กล้าแสดงออก
ขณะที่ขมบอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอรู้จักหน้าที่ตนเอง และรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้น้องๆ ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้โครงการจะจบลงแล้ว แต่พวกเขายังอยากทำต่อ อยากเพิ่มกิจกรรมให้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยในช่วงท้ายของโครงการทีมวางแผนจัดประชุมติดตาม และสรุปบทเรียนโครงการ รวมทั้งจัดเวทีพูดคุยกับวัยเก๋า (ผู้สูงอายุ) อีกครั้ง เพื่อดูว่ากิจกรรมที่ทำมาเป็นอย่างไร จะได้ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชน ที่กลุ่มเยาวชนยังคงจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน
“เวลามีกิจกรรมในหมู่บ้านเราก็อยากเข้าร่วม เพราะอยากทำให้หมู่บ้านของตนเอง อยากเห็นชุมชนเราสะอาด น่าอยู่” เยาวชนกลุ่มดาวกระจายประกาศเจตนารมย์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตลอดไป
+ ชุมชนต้อง “หล่อเลี้ยง” พลเมืองรุ่นใหม่
การเอาธุระต่อความเป็นไปของชุมชน เป็นสิ่งที่เยาวชนกลุ่มดาวกระจายทำอย่างเต็มใจ แต่กระนั้นก็ยังรู้สึกว่า ยังทำได้ไม่ดีที่สุด เพราะมองว่า ยังขาดความพร้อมเพรียง สลับกันมาสลับกันขาด แต่ในมุมมองของคูณ ก้อนทอง ผู้ใหญ่บ้านโนนรัง มองว่า เป็นเรื่องดีที่เด็กๆ ใส่ใจเรื่องราวของชุมชน เพราะปกติหากชุมชนมีกิจกรรมอะไรก็จะเชิญกลุ่มดาวกระจายเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ และเยาวชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเพื่อให้กิจกรรมที่เยาวชนทำเกิดความยั่งยืน ผู้ใหญ่ในชุมชนมีแผนให้เยาวชนปลูกพืชผักสวนครัว เห็ดนางฟ้า และเห็ดฟางกองเตี้ยในตะกร้า เพื่อจะได้มีความรู้และมีการขยายผลต่อไป
ยายหา ทองคำผุย เล่าเสริมถึงแผนงานที่ตั้งใจทำร่วมกับเยาวชนว่า มีแผนให้กลุ่มเยาวชนเรียนรู้เรื่องการทอผ้าขิด เพื่อให้มีความรู้ไว้เลี้ยงตัวต่อไป เด็กๆ บางทีก็ดื้อ บอกให้ทำอะไรก็ฟังอยู่หรอก แต่จะมัวแต่คุยกัน ไม่ทำ หรือไปเที่ยวเล่นบ้าง เราก็เข้าใจว่าเป็นวัยของเขา จะให้เหมือนเด็กยุคเก่าก็ไม่ได้ สำหรับเด็กกลุ่มนี้ที่สอนมาได้ผล 60-70 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าดีแล้ว
ไพรวัลย์ วงษประเทศ พี่เลี้ยงโครงการ บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ จากการทำโครงการที่ชัดเจนคือ การที่เขาเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ ไปช่วยงานบ้าน ไปคลุกคลี พามาออกกำลังกาย พาไปปลูกผัก ผู้สูงอายุก็ยิ้มแย้มชื่นใจ
ผู้ใหญ่ในชุมชนคิดกันแล้วว่าจะส่งเสริมให้กลุ่มเยาวชนทำต่อไป ไม่ใช่ว่าจบโครงการแล้วจะเลิกทำ เพราะนอกจากช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนแล้ว เด็กๆ ยังมีบทบาทช่วยเหลือชุมชนโดยใช้ศักยภาพเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน ทั้งเรื่องการพิมพ์งานในคอมพิวเตอร์ การสื่อสารประชาสัมพันธ์หมู่บ้านผ่านเฟสบุ๊คหรือไลน์
การลุกขึ้นมาทำโครงการของเยาวชนกลุ่มดาวกระจาย นอกจะเป็น “ตัวกลาง” ที่ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ให้คนในชุมชนแล้ว ยังช่วยเติมเต็มคุณค่าในตนเองและผู้สูงอายุ และที่สำคัญทำให้พวกเขา มีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะทักษะเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ถือเป็นการเตรียมตนเองให้พร้อมรับมือกับก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้
โครงการเติมใจวัยใส ใส่ใจวัยเก๋า
แกนนำเยาวชน น้ำฝน ทองคำผุย, ชาดา ตาทุวัน, ราพรรณ ชัยภักดี, ริยากร นามวงษ์, วาสิฏฐี ตุนา, สุนันทา ทองคำผุย, พิมพ์พิลารัตน์ ปุระมงคล, ปรียาลักษณ์ พุฒเคน
พี่เลี้ยง ไพรวัลย์ วงษประเทศ, สุกัญญา บุญนำ