ภารกิจ “พิชิต” ช่องว่าง
เทศบาลตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

ภารกิจ “พิชิต” ช่องว่าง

เทศบาลตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

กรอบการทำงานที่วางไว้ไม่ได้หวังแค่งานเสร็จเพียงอย่างเดียว แต่เราหวังที่จะสร้างเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต เพราะรู้แล้วว่า ความคิดความอ่านของเด็กจะเปลี่ยนต้องได้รับการฝึกฝน และเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้จากของจริง ทำในสิ่งที่ดี อะไรที่ไม่ดีต้องแก้ไข จากเดิมเราคิดแค่ทำโครงการให้มันผ่านๆ ไป โดยที่ไม่ได้วางเป้าหมายว่าเราต้องการอะไรจากการทำโครงการนั้นๆ ทำให้การทำงานในโครงการนั้นๆ จอดและลงท้ายด้วยคำว่าจบ โดยที่ไม่ได้สานต่อ

หากมองโลกตามจริงจะพบว่าทุกวันนี้ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนที่เราเผชิญอยู่มันหนักหนาสาหัสมาก...นี่ขนาดชุมชนชนบทเล็กๆ ยังเห็นว่า ความผูกพันระหว่างครอบครัวพ่อแม่ลูกลดลง การพูดคุยกับคนรอบข้างก็ลดลงแต่กลับมีตัวตนในโลกโซเซียลมากขึ้น”

รจนา ชูสกุล รองปลัดเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วิเคราะห์ให้เห็นสถานการณ์ของกลุ่มเด็กๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

แม้รองปลัดรจนาและผู้เกี่ยวข้องคนอื่นจะมองเห็นปัญหาไม่ต่างไปจากนี้ หากแต่ที่ผ่านมา ยังหา

“กระบวนการ” แก้ปัญหา “ที่ตรงจุดและยั่งยืน” ไม่ได้ พร้อมเปรียบเปรยปัญหาเหล่านี้ว่า “เป็นช่องว่างที่หากปล่อยไว้นานอาจจะเติมไม่เต็มก็ได้”

จนกระทั่งได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งรองปลัดรจนาและทีมเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลบางจะเกร็งรู้แล้วว่า สิ่งที่กำลังมองหาอยู่ตรงไหน เพียงแค่อดทนรอ และทุ่มเทกำลังกาย กำลังสมองเข้ารับการอบรม เท่านั้น

ความลงตัวของจังหวะและโอกาส

เรื่องบางเรื่อง “จังหวะและโอกาส” มักจะมาไม่ค่อยพร้อมกัน แต่สำหรับรองปลัดรจนากลับมองว่า การเข้าร่วมโครงการนักถักทอชุมชนถือเป็นความลงตัวของทั้งจังหวะและโอกาส

หลายคนอาจมองว่านี่เป็นการเพิ่มงาน จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่เป็นการ เสริมทักษะการทำงาน ของเราให้มีระบบ และประสิทธิภาพมากขึ้น “ระบบ” ที่รองปลัดรจนากล่าวถึงคือ การทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการกำหนดเป้าหมาย มีการพูดคุยวางแผน และออกแบบกิจกรรมร่วมกัน ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติงาน

“กรอบการทำงานที่วางไว้ไม่ได้หวังแค่งานเสร็จเพียงอย่างเดียว แต่เราหวังที่จะสร้างเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปในอนาคต เพราะเราเริ่มรู้แล้วว่า ความคิดความอ่านของเด็กจะเปลี่ยนต้องได้รับการฝึกฝน และเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้จากของจริง ทำในสิ่งที่ดี อะไรที่ไม่ดีต้องแก้ไข จากเดิมเราคิดแค่ทำโครงการให้มันผ่านๆ ไป โดยที่ไม่ได้วางเป้าหมายว่าเราต้องการอะไรจากการทำโครงการนั้นๆ ทำให้การทำงานในโครงการนั้นๆ จอดและลงท้ายด้วยคำว่าจบ โดยที่ไม่ได้สานต่อ”

ช่วงระยะเวลาที่เข้าร่วมอบรมโครงการนักถักทอชุมชน รองปลัดรจนาได้เรียนรู้ถึงการทำงานในแบบฉบับมืออาชีพ การรู้จักควบคุมอารมณ์การทำงาน การทบทวนเรื่องราวความผิดพลาดในอดีตด้วยการถอดบทเรียนแล้วนำมาแก้ไข

พร้อมดันตัวเองออกจากความคิดที่ “ติดหล่ม” จากที่คิดว่างานหนัก เกิดความท้อแท้ในการทำงาน แต่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเป็น “ที่คิดว่างานหนักนั่นเป็นเพราะเรายังไม่เปลี่ยนตัวเองเลยต่างหาก”

คาดหวังให้เยาวชนใช้ชีวิตสองโลกอย่างมีสติ

การทำงานที่ผ่านมาในอดีตด้านเด็กและเยาวชนของเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง แม้จะเป็นไปอย่างเข้มข้น แต่ยัง “ขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม” ทำให้เกิด “ช่องว่างระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ” ที่จะทำให้งานขับเคลื่อนไปได้

อันเนื่องมาจากพื้นฐานบริบทชุมชนเทศบาลตำบาลบางจะเกร็งเป็นพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก รองลงมาคือรับจ้าง ค้าขาย ทำให้การเลี้ยงดูของพ่อแม่และการใช้ชีวิตของเด็กเกิดความหลากหลาย บางครอบครัวพ่อแม่ทิ้งเด็กให้อยู่กับผู้สูงอายุ บางครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเอง แต่ไม่ค่อยมีเวลาว่างให้ลูก สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาการมั่วสุมของเด็ก

คำบอกเล่าของ สุดฟ้า สำเภาทอง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางจะเกร็งที่เกริ่นนำถึงปัญหาในพื้นที่อันเป็นที่มาของแนวคิดในการส่งบุคลากรเข้าร่วมโครงการนี้โดยระบุว่า ทางองค์กรได้ส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมโครงการนี้จำนวนสองคน อีกคนหนึ่งคือ บุษฎี นนทลักษณ์ นักพัฒนาชุมชน โดยเล็งเห็นถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการนำมาปรับใช้กับการทำงาน เพื่อสานต่อนโยบายท้องถิ่นในด้านเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล

ที่ผ่านมาทางเทศบาลมีกิจกรรมให้เด็กทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมมีโครงการเข้าค่ายพัฒนาความรู้ให้เด็ก โดยเชื่อว่าการเข้าร่วมโครงการนักถักทอชุมชุนจะช่วยหนุนเสริมการทำงาน และทำให้บุคลากรของตนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้ที่วิทยากรถ่ายทอดมาพัฒนาองค์กรและชุมชนให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในเด็กและเยาวชนแล้ว สุดฟ้ายังเน้นย้ำว่า “โลกออนไลน์”คือ สิ่งที่กำลัง “พราก” เยาวชนไปจากครอบครัว เพราะสิ่งต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นเกม แชท เฟสบุ๊ค หรืออินสตราแกรม ที่เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ทำให้ช่องว่างของ “พื้นที่การใช้ชีวิต” ระหว่าง“โลกแห่งความเป็นจริง”และ “โลกเสมือนจริง” กลมกลืนกันจนแทบแยกไม่ออก ดังนั้น การสอนให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีและรู้เท่าทันสังคมในยุคนี้ จะทำให้เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตในทั้งสองโลกได้อย่างมีสติ

ตีโจทย์...ผ่านนโยบาย

เมื่อการทำงานของนักถักทอชุมชนเริ่มขึ้น “โจทย์” จากนโยบายของเทศบาลถูกนำมาเป็นตัวตั้งและ“คลี่คลาย” ด้วยการระดมความคิดจากภาคีเครือข่าย ทั้งโรงเรียน วัด ชุมชน ผ่านกระบวนการหล่อหลอมเยาวชนเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุในชุมชนในนามโครงการเยาวชนบางจะเกร็งรุ่นใหม่ใส่ใจผู้สูงอายุ หรือ อสม.น้อย โดยมี “สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน

ธนัย พ้นภัย รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบางจะเกร็งเล่าว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการเด็กรักดอน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอดหลังจากเกิดภาวะเสื่อมโทรม โครงการต้านยาเสพติด และท้องก่อนวัยอันควร โครงการกิจกรรมเยาวชนจิตอาสาและกิจกรรมครอบครัวอบอุ่น แล้วยังมีโครงการ อสม.น้อยซึ่งเป็นอีกหนึ่ง “กิจกรรมเปลี่ยนเด็ก” ของเทศบาลตำบลบางจะเกร็งที่ต้องการสนับสนุนและปลูกฝังค่านิยมให้เด็กมีจิตอาสา และมีความเข้าใจความต่างของวัยระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ

โดยหลังจากประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าไปยังโรงเรียนในพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดบางจะเกร็ง โรงเรียนวัดศรัทธาธรรม และโรงเรียนบ้านฉู่ฉี่ เจาะกลุ่มเป้าหมายระดับประถมศึกษาศึกษาปีที่ 4-5 ปรากฏว่า มีเด็กให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมถึง 55 คน ขณะเดียวกันการเข้ามาของนักถักทอชุมชนยังเป็นการช่วยกันหนุนเสริมการทำงานและนำมาผนวกกับนโยบายต่อยอดการทำงานในพื้นที่เทศบาลได้เป็นอย่างดี

ซึ่งโครงการ อสม.น้อยได้รับการหนุนเสริมองค์ความรู้ในการอบรมจากทีมผู้ใหญ่ใจดีอย่าง ศิริเพ็ญ แจ่มจันทร์ พยาบาลวิชาชีพ จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสมสุข โง้วสกุล อสม.พี่เลี้ยง ที่เข้ามาช่วยดูแล หลังจากได้รับการทาบทามและขอความร่วมมือจากทีมนักถักทอชุมชน เพื่อชี้แนะแนวทางเบื้องต้นในการดูแลผู้สูงอายุทั้งการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการพูดคุยเพื่อสอบถามเรื่องสุขภาพ โดยศิริเพ็ญแสดงความคิดเห็นถึงโครงการ อสม.น้อยกับการลงพื้นที่ของเด็กว่า

“ช่องว่างระหว่างวัยแก้ไขได้ไม่ยาก หากมีการพูดคุย ปรับทัศนคติ รวมไปถึงการเปิดใจ ที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น ส่วนการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กๆ ในโครงการ อสม.น้อย เพราะอยากให้เด็กได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างของแต่ละช่วงวัย ทั้งในเรื่องสุขภาพ อารมณ์ และแนวคิด ซึ่งเด็กๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนในครอบครัว จะทำให้ความผูกพันของคนในบ้านมีเพิ่มขึ้นตามลำดับ”

ทั้งนี้ก่อนการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุในชุมชนตัวเอง ทีมนักถักทอชุมชนและผู้ใหญ่ใจดีได้พาแด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ไปทัศนศึกษาที่บ้านพักคนชรา จังหวัดนครปฐมเพื่อศึกษาการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ก่อนที่จะเริ่มต้นลงพื้นที่ในชุมชนตนเอง และที่นั่นคือ “จุดเริ่มต้น” ในการคิดทบทวนถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและคนในบ้าน รวมทั้ง “จุดประกายจิตอาสา” ให้แก่เด็กๆ ในการทำกิจกรรมร่วมกับสังคม

ลงพื้นที่พัฒนากระบวนการเรียนรู้

การลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านผู้สูงอายุบริเวณชุมชนรอบวัดศรัทธาธรรมของแกนนำ อสม.น้อย ทั้ง 6 คน ในเช้าวันหยุดระหว่างปิดภาคเรียนบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน เหล่าแกนนำ อสม.น้อยมารวมตัวกันที่วัดอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยมีนักถักทอชุมชนและทีมผู้ใหญ่ใจดี แนะนำแนวทางการพูดคุยกับผู้สูงอายุก่อนลงไปปฏิบัติจริง รวมถึงวิธีการเก็บข้อมูลเบื้องต้นของผู้สูงอายุแต่ละรายว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อนำไปใช้ในครั้งแต่ไป

แม้ว่านี่คือครั้งแรกของ “การฝึกงาน อสม.น้อย” แต่เด็กๆ ทุกคนตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ความประหม่า ไม่กล้าพูดคุยซักถามกับผู้สูงอายุที่ไปเยี่ยมบ้านหลังแรกๆ เริ่มหายไป บรรยากาศความอึมครึมเริ่มคลี่คลายกลายเป็นเสียงหัวเราะแทน ไม่นานนัก “ช่องว่างระหว่างวัย” ถูกแทนที่ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะระหว่างคนชราและเด็ก

เชียร์-วิชิราพรรณ กลัดเจริญ แกนนำ อสม.น้อย สะท้อนถึงความคิดหลังจากลงพื้นที่ว่า ตอนแรกรู้สึกประหม่าและตื่นเต้น แต่ยังมีพี่เลี้ยงคอยแนะนำ โดยยอมรับว่าการลงพื้นที่ครั้งแรกยังทำได้ไม่ดีนัก แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือประสบการณ์ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการดูแลพ่อแม่ ปู่ยาตายายหรือผู้สูงวัย ทั้งในเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย การทำจิตใจให้แจ่มใส และที่สำคัญการทำกิจกรรม อสม.น้อยเป็นการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ด้วย

เช่นเดียวกับ ครูรุ้ง-สิริลักษณ์ อินทรบุตรครูโรงเรียนวัดศรัทธาธรรมที่เข้ามาร่วมสังเกตการณ์มองว่า การลงพื้นที่ชุมชนของของเด็กครั้งแรกดูเหมือนยังไม่เข้าที่เข้าทางมากนัก แต่กลับรู้สึกดีใจที่เห็นก้าวแรกของการทำกิจกรรม เด็กๆ มีจิตอาสาและกล้าแสดงออก มองเห็นปัญหาของสังคมผู้สูงอายุได้ชัดเจนขึ้น และหากได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ในการช่วยชี้แนะ เชื่อว่าการลงพื้นที่ครั้งต่อไปจะดีขึ้นแน่นอน

สานต่อความรัก-ถักทอความเอาใจใส่

การทำงานอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนย่อมนำไปสู่ความสำเร็จ รองปลัดรจนาเชื่อว่า กระบวนการพัฒนาชุมชนของทุกองค์กรย่อมมีทิศทางอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะหยิบโจทย์ของนโยบายเหล่านั้นมา “ตีความ” และ“ตอบโจทย์” ให้ตรงตามแบบฉบับของบริบทชุมชนเพื่อให้ลงตัวและเป็นรูปธรรมมากที่สุด

ในวันนี้หากถามถึงความสำเร็จจากการทำงานของนักถักทอชุมชน รองปลัดรจนาบอกว่า ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามาจากความร่วมมือของภาคีหลายๆ ภาคส่วนที่หล่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นอีกขั้นของการยกระดับการทำงานและการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง และหากมองโลกตามความจริง “แก่นแท้ของการพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้” ของเด็กและเยาวชนต้อง “เริ่มที่สถาบันครอบครัว” หมั่นเติมเต็ม “ความอบอุ่น” สานต่อ “ความรัก” ถักทอ“ความเอาใจใส่”ซึ่งกันและกัน เพื่อ “ลดช่องว่างระหว่างกัน” สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนของการบูรณาการเพื่อพัฒนาสถาบันอื่นๆในสังคมได้เป็นอย่างดี

//////////////////////////////////////////////////////////////////