เริ่มต้นต่อยอดจาก “ทุนเดิม” อบต.วัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

­

ปัจจุบันบุคลากร อบต.วัดดาวคนอื่นๆ ต่างรับรู้และเข้ามามีส่วนช่วยดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นตามหลักสูตรนักถักทอชุมชนอย่างแข็งขัน กระบวนการดังกล่าวช่วย สร้างการทำงานเป็นทีมและทำให้เกิดความสามัคคีภายในองค์กร จากเดิมที่ต่างคนต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ไม่ก้าวก่ายกัน แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายพูดคุยปรึกษากันมากขึ้น หากมีปัญหาจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ และทุกคนก็พร้อมช่วยกันแก้ไขปัญหา


ทักษะชีวิตเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ตั้งแต่ประถมวัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้เท่าทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคมภายนอก ซึ่งการทำให้เด็กรู้เท่าทันปัญหาดังกล่าวคือ การฉายให้เด็กเห็นปัญหาภาพรวมทั้งระบบว่าปัญหาแต่ละอย่างเชื่อมโยงกันอย่างไร ผลกระทบที่เกิดจากการเสพสื่อ โดยไม่พิจารณาความเหมาะสม การแต่งกายตามแฟชั่นที่ล่อแหลมจนเกินงาม กระทั่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวเอง การกระทำด้วยอารมณ์ชั่ววูบไม่ยั้งคิด ที่นำมาปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ถักทอคนในองค์กร...ก่อนเชื่อมร้อยคนในชุมชน

ประทิว รัศมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เล็งเห็นพิษภัยของปัญหาเหล่านี้ จึงสนับสนุนให้บุคลากรของ อบต. เข้าร่วมเรียนรู้ใน โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวมาตลอด 2 ปี เพราะเล็งเห็นว่า การพัฒนาท้องถิ่นต้องเริ่มจากการพัฒนาบุคลากรในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน เมื่อเจ้าหน้าที่มีความพร้อม การลงไปทำงานในพื้นที่ เพื่อสัมพันธ์กับชาวบ้านย่อมทำได้ราบรื่นมากขึ้น เนื่องจากคนทำงานมีความเข้าใจ ซึ่งหลักสูตรนักถักทอชุมชนตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังให้วิธีคิดและแนวทางการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกชุมชน โดยมีเป้าหมายคือ แต่ละฝ่ายต้องเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นตามศักยภาพและความรับผิดชอบของตนเอง

“การบริหารงานท้องที่ ผู้บริหารจะหวังพึ่งบุคลากรอย่างเดียวไม่ได้ ทั้งนี้ในส่วนงานด้านเด็กและเยาวชนที่ตอนนี้มีนักถักทอชุมชนเป็นแกนนำหลักขับเคลื่อนโครงการ ในขณะที่นักถักทอชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารต้องช่วยกำหนดแผน เพื่อส่งขึ้นเป็นเทศบัญญัติในเชิงนโยบายที่มีผลต่อการจัดสรรงบประมาณมาช่วยหนุนให้นักถักทอชุมชนทำงานในพื้นที่ได้อย่างไม่มีสะดุด”

ปัจจุบัน อบต.วัดดาวได้จัดสรรงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชน ทั้งในรูปแบบเดิม คือ การจัดกิจกรรมระยะสั้นในโอกาสต่างๆ และรูปแบบใหม่ที่เน้นส่งเสริมการทำโครงการระยะยาว เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม โดยเน้นพัฒนาเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษาให้เข้าใจสภาพสังคมทั้งภายในและภายนอก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ยกตัวอย่างเช่น การเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ด้านทักษะชีวิตอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงการออกไปใช้ชีวิตในสังคมเมือง

นายก อบต.วัดดาวบอกว่า การสอนทักษะชีวิตเป็นการเสริมวัคซีนให้เด็กเท่าทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอก เนื่องจากตำบลวัดดาวเป็นชุมชนชนบทและมีโรงเรียนที่สอนถึงแค่ชั้น ป.6 ดังนั้นเราต้องสอนให้เด็กเข้าใจตัวเองก่อนออกไปเรียนนอกชุมชน ต้องทำให้เขาตระหนักว่าหากก้าวพลาดเท่ากับเขาทำลายอนาคตของตัวเอง

ระบบการทำงานของ อบต.วัดดาว ส่งเสริมให้บุคลากรทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ไม่ว่างานนั้นจะสัมพันธ์โดยตรงกับตำแหน่งงานของตนเองหรือไม่ ดังนั้น เมื่อใดที่มีการจัดกิจกรรมชุมชน ทุกคนใน อบต.ต้องเข้ามามีส่วนร่วมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“นักถักทอชุมชนเป็นเจ้าภาพถักทอคนในองค์กรก่อน ด้วยการแบ่งหน้าที่ให้คนอื่นๆ เข้ามาช่วยงานในแต่ละกิจกรรม หลังจากถักทอภายในองค์กรได้แล้ว ถึงจะออกไปสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชนภายนอก ต้องไม่ลืมว่างานชุมชนทำคนเดียวไม่ได้ เพราะมันไม่ไหว ถ้าฝืนทำไปโดยไม่สร้างภาคีไม่มีทางประสบความสำเร็จ”

นายกประทิว กล่าวถึงสไตล์การทำงานแบบนักถักทอชุมชนว่า เป็นการทำงานแบบไม่ต้องทำเลย ตีความแล้วคล้ายโยนความรับผิดชอบให้ผู้อื่น แต่ นายกประทิว ขยายความว่า หน้าที่ของนักถักทอชุมชนไม่ใช่ “ผู้ทำ” โดยตรง แต่เป็น “ผู้ประสานงาน” เพื่อกระตุ้นให้คนอื่นคิดเองและทำได้เอง ถ้าไม่เข้าใจจุดนี้แล้วปล่อยให้นักถักทอชุมชนลงไปเป็นผู้นำและลงมือทำเองทุกอย่าง กิจกรรมปีหนึ่ง 40-50 โครงการไม่มีทางทำได้ดีแน่ เพราะมันหนักเกินไป แต่คนที่จะมาช่วยสร้างคุณภาพ คือ ระบบกลไกความเข้มแข็งของพื้นที่หรือบุคคลที่ได้รับประโยชน์จริงๆ ซึ่งเราต้องปล่อยให้เขาเข้ามารับผิดชอบงานด้วย เช่น ให้ชุมชนดูแลจัดการด้านสถานที่ทั้งก่อนและหลังการจัดกิจกรรม การประสานงานภายในชุมชน และเรื่องอาหารการกิน เมื่อคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมลงมือทำ เขาถึงจะรู้สึกว่าเป็นงานของเขาด้วย

มองหา “ต้นทุน” ในชุมชน

อบต.วัดดาว ผลักดันบุคลากรให้เข้าอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนมาแล้ว 2 รุ่น จนสามารถสกัดหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน อบต.วัดดาว ออกมาได้จากการตั้งคำถามให้เด็กคิดเองว่า...เด็กอยากทำอะไร และชุมชนมีต้นทุนอะไรอยู่แล้วบ้าง

ชุมชนในความดูแลของ อบต.วัดดาว คุ้นชินกับการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กและเยาวชนกับ อบต.เป็นอย่างดี เพราะ อบต.มีการจัดกิจกรรมตามวาระต่างๆ ให้เด็กมาเข้าร่วมอยู่เสมอ แต่ที่ผ่านมายังเป็นกิจกรรมที่จัดแล้วจบไปไม่ได้หนุนเสริมจนเกิดการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้องหาแกนนำเยาวชนจากพื้นที่ 10 หมู่บ้านมาเข้าร่วมหลักสูตรจึงมีแกนนำเยาวชนที่พอจะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงได้อยู่บ้างแล้ว นั่นคือ กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ทำกิจกรรมร่วมกับ อบต.มาอย่างต่อเนื่อง

ทินารมย์ คำมูลอินทร์ ผู้ช่วยนักพัฒนาชุมชน หนึ่งในนักถักทอชุมชน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงงานหรือกิจกรรมแต่ละอย่างที่สนับสนุนให้เด็กลงมือทำมาจาก “ความฝัน” ของเด็กเอง กระบวนการชวนคิดจะทำให้เด็กรู้ว่า ตัวเองชอบทำอะไร ทำอะไรได้ดี และตัวเองมีดีอะไร

“เราให้เขาคิดถึงสิ่งที่เขาฝันอยากเป็นในอนาคตแล้ววาดรูปออกมา หลังจากนั้นมาชวนคิดต่อถึงลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ซึ่งจะนำไปสู่การทำความฝันนั้นให้เป็นจริง กระบวนการนี้ทำให้เขารู้จักตัวเองและเปิดรับการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง”

จาก “คำถาม” ที่เป็น “หัวใจ” นำมาสู่ข้อค้นพบเรื่อง กลุ่มองค์กรอาชีพในแต่ละชุมชน ภูมิปัญญา ประเพณีและวัฒนธรรม การศึกษา กีฬา การเกษตรและโครงการพลังงานทางเลือก (โซลาเซลล์) ของชุมชน โดยแบ่งหน้าที่ให้นักถักทอชุมชนทั้งรุ่น 1 และ 2 รับผิดชอบดูแลคนละ 1 โครงการ ทั้งนี้ โครงการที่มีการรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น คือ โครงการพัฒนาเด็กด้วยกิจกรรมฟุตบอล และโครงการทำไข่เค็ม

ข้อค้นพบเชื่อมโยงไปสู่การมองหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายด้วยความสมัครใจและสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมแต่ละอย่าง เพื่อให้นักถักทอชุมชน เด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินงานร่วมกันต่อไปได้ โดยทีมฟุตบอลใช้สนามฟุตบอลโรงเรียนวัดดาวเป็นที่ฝึกซ้อม ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี ส่วนโครงงานไข่เค็มใช้พื้นที่สำนักงาน อบต. ประกอบกิจกรรมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น

ตฤณภพ ประเสริฐ นักวิชาการศึกษา นักถักทอชุมชนอีกคนบอกว่าแนวทางการทำงานในหลักสูตรนักถักทอชุมชนเน้นการสืบค้นให้เจอปัญหาที่แท้จริงของเด็กและเยาวชน ด้วยการลงไปคลุกคลีกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมการทำงานในบทบาทหน้าที่เดิมซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนอยู่แล้วทำได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมีเครื่องมือด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้สร้างสรรค์รูปแบบกิจกรรมต่างๆ ยิ่งพื้นที่วัดดาวมีทุนทางสังคมด้านภูมิปัญญา และวัฒนธรรมประเพณีอยู่มาก การชักชวนให้เด็กมาทำความรู้จักตนเองด้วยการเรียนรู้จากวัฒนธรรมประเพณีที่มีอยู่จริง เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เด็กเข้าใจถึงรากเหง้าของตนเองได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้การทำกิจกรรมนักถักทอชุมชนใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการประสานความร่วมมือกับผู้นำของแต่ละหมู่บ้าน และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ช่วยกันเสาะหาและสืบค้นข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเพณี และพิธีกรรม ก่อนนำมาถ่ายทอดให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีวันสารทเดือนสิบ ประเพณีกำฟ้า ซึ่งถือเป็นประเพณีพื้นบ้านที่จัดขึ้นทุกปี

โอกาสจากลูกกลมๆ

ปัญหาของเด็กและเยาวชนมีอะไรบ้าง และแก้ไขได้อย่างไร...

3 ปีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานด้านเด็กและเยาวชน ทินารมย์จำแนกพฤติกรรมชวนปวดหัวของเด็กและเยาวชนในตำบลวัดดาวออกมา 3 อย่างหลักๆ ได้แก่ เด็กมีนิสัยก้าวร้าว ทำตัวเกเร และติดเกม

นิสัยก้าวร้าวและเกเร นอกจากมีพื้นฐานการอบรมจากครอบครัวแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากช่วงวัยของเด็ก ในช่วงวัยรุ่นมีฮอร์โมนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นิสัยเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิต ตั้งแต่ตื่นนอนจนกลับเข้านอนอีกครั้ง การปล่อยให้เด็กออกมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม โดยมีกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน และการเปิดพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสทำสิ่งที่เขาสนใจ

การพัฒนาเด็กวัดดาวด้วยกิจกรรมฟุตบอล ตอบสนองโจทย์ปัญหาของชุมชน และช่วยแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างเป็นรูปธรรม จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “โมเดล” การพัฒนาเด็กและเยาวชนที่นำมาปรับใช้กับกิจกรรมอื่นๆ เพื่อปรับทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้

ทินารมย์บอกว่า กีฬาตอบโจทย์ครบทุกด้าน เป็น “กุศโลบาย” ให้ผู้เล่นหันมาสนใจสุขภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นการสร้างรากฐานของการรักตัวเอง ทำให้เด็กไม่อยากทำสิ่งที่ผิด ฮอร์โมนที่ถูกกระตุ้นจากการเล่นกีฬาช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวในวัยรุ่น ทำให้เด็กควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้มีสมาธิเนื่องจากต้องจดจ่อกับการเล่น กฎกติกาการแข่งขันและการอยู่ร่วมกันในทีมสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะเคารพตัวเองและผู้อื่น เป็นการสร้างเสริมเด็กให้มีระเบียบวินัยมากขึ้น ที่สำคัญคือ จากเด็กติดเกม ติดทีวี หรือเด็กแว้น เมื่อมีเวลาทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า พวกเขาก็ไม่ปฏิเสธที่จะลงมาสู่สนามฟุตบอลที่สัมผัสลูกบอลได้จริง แทนการสัมผัสปุ่มกดและจ้องมองหน้าจอสี่เหลี่ยม

ทินารมย์ เล่าว่า ชมรมฟุตบอลวัดดาวฟอร์มทีมกันมาได้ 3 ปีแล้ว ช่วงปีแรกที่ยังไม่ได้เรียนรู้หลักสูตร

นักถักทอชุมชน การเตะฟุตบอลของเยาวชนก็ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่า...ทำไปทำไม เมื่อก่อนทั้งเขาและเด็กมาร่วมกลุ่มเล่นกันไปอย่างนั้นเอง เล่นเสร็จแล้วก็กลับ ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่พอมีหลักสูตรนี้เข้ามา ประกอบกับเป็นช่วงที่จังหวัดสนับสนุนให้ปั้นนักกีฬาฟุตบอล เพื่อผลักดันให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ เลยกลายเป็นจังหวะที่ดีที่ทำให้เราได้วางเป้าหมายเพื่อพัฒนาเด็กในชุมชนให้ไปถึงจุดนั้น

และเพื่อให้เด็กมองเห็นข้อบกพร่องของตัวเอง และยอมรับฟังผู้อื่น ทินารมย์จึงนำ “กระบวนการถอดบทเรียน” เข้ามาเป็นเครื่องมือให้เด็กแต่ละคนวิเคราะห์ความพร้อมของตัวเองทั้งก่อนและหลังการแข่งขัน

“ก่อนแข่งเราจะมาประชุมวางแผนกันก่อน เด็กๆ บางครั้งจะปรึกษากันเองแล้วมารับฟังคำแนะนำจากเราอีกที หลังแข่งเสร็จก็จะให้เด็กบอกว่าวันนี้ระหว่างแข่งตัวเองพลาดตรงไหน จุดไหนที่ทำได้ดี แล้วก็ให้เพื่อนๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เลยทำให้เขายอมรับกันและกันได้ นอกจากนี้เรายังให้รุ่นพี่ลงมาสอนรุ่นน้อง เพื่อสร้างความสัมพันธ์จากรุ่นสู่รุ่นด้วย” ทินารมย์กล่าว

ผลลัพธ์จากการลงทุนลงแรงเข้ามาประสานงานเพื่อจัดตั้งทีมฟุตบอลเยาวชนของทินารมย์ ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาทีมนักฟุตบอลรุ่นใหญ่วัดดาวได้เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันในระดับจังหวัด แม้สุดท้ายจะไม่ได้รางวัลถ้วยใหญ่ แต่ก็เป็นก้าวเล็กๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันให้เด็กๆ หันมาสนใจเล่นกีฬามากขึ้น แต่ที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นเด็กพิเศษที่มาเข้าร่วมโครงการ จากเดิมที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้อย่างปกติ ตอนนี้เด็กทั้ง 2 คน พัฒนาตัวเองจนดูกลมกลืนกับคนทั่วไปและใช้ชีวิตได้อย่างไม่แปลกแยกจากคนอื่น

ถึงแม้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมฟุตบอลจะไม่ใช่ตัวแทนของทั้งหมู่บ้าน แต่ทีมนักถักทอชุมชนบอกว่า ดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่ง คือ การทะเลาะเบาะแว้งของกลุ่มเยาวชนในงานวัดประจำชุมชนลดลง ซึ่งงานวัดปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เป็นเครื่องยืนยันแนวทางการทำงานของนักถักทอชุมชนที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนในภาพรวมได้เป็นอย่างดี

“เราเชื่อว่ากิจกรรมที่พวกเราทำกับเด็กกลุ่มต่างๆ เปลี่ยนเขาให้คิดใหม่ โครงการแบบเดิมๆ ที่เคยทำก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เด็กทำ เด็กไม่ได้คิดเอง แต่ถ้าเราปล่อยให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เขาคิด เขาจะลงมือทำเองอย่างเต็มใจและตั้งใจ อย่างฟุตบอลตอนนี้ผมแทบไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์อะไรเลย เด็กจัดตาราง วันเวลาในการซ้อมนอกเหนือจากตารางปกติกันเอง จุดนี้เราเห็นความรับผิดชอบของเขา พอเด็กตกลงกันเองได้ เขาก็มาบอกเรา...เท่าที่ทำมาความก้าวหน้าของเด็กๆ มีผู้ใหญ่เห็น แล้วก็เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านงบประมาณด้วย เด็กๆ ก็ดีใจ” ทินารมย์กล่าว

เต้ - สาธวี แสงกระจ่าง นักกีฬาฟุตบอลรุ่นที่ 3 บอกว่า เขามีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ พอ อบต.จัดพื้นที่ตรงนี้ให้เข้ามาซ้อม เลยคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาฝึกฝนตัวเอง ฟุตบอลเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองและทำให้ร่างกายแข็งแรง มาเล่นแล้วเราได้พัฒนาตัวเอง ได้เพื่อนเยอะด้วย สนุกกว่าเล่นเฟสบุ๊คอยู่ที่บ้าน

โอม – รัตนพล นาคเอก นายประตูทีมฟุตบอลวัดดาว เล่าถึงความตั้งใจของเขาว่า เขาเข้ามารวมกลุ่มในทีมได้ เพราะคำชักชวนของรุ่นพี่ เขาจึงอยากถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่รุ่นพี่เคยสอนไปสู่รุ่นน้องอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้ามาฝึกฝนและได้รับความสนุกร่วมกัน

ส่วน ผู้ปกครองเยาวชนอย่าง อรณิชฌฎาร์ ภู่ระหงษ์ บอกว่า สมาธิเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อปล่อยให้ลูกมาเล่นกีฬาและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น

“เมื่อก่อนลูกเป็นคนสมาธิสั้น ทำอะไรได้ไม่นานก็เลิก ติดดูทีวี ติดเกมมือถือมาก ไม่ได้ออกกำลังกายเลย ตั้งแต่มาเตะฟุตบอลเราเห็นเลยว่าเขาจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นานขึ้น ทำให้เขามีเวลาให้กับการดูทีวีและเล่นเกมน้อยลงไปโดยอัตโนมัติ จากอ้วนๆ ตอนนี้ลูกน้ำหนักลดลงไปเยอะมาก ร่างกายแข็งแรงขึ้น พ่อแม่ก็ดีใจที่เห็นลูกมีความพยายาม การออกไปมีสังคมข้างนอกไม่ได้กระทบต่อการเรียนเลยถ้ารู้จักแบ่งเวลา หลังเลิกซ้อมกลับถึงบ้านลูกแต่ละคนก็รับผิดชอบทำการบ้านซึ่งเขาก็ทำได้ดี ผลการเรียนไม่ได้ลดลง ตอนนี้ก็ให้ลูกทั้ง 3 คนมาเล่นฟุตบอลหมดเลย”

สำหรับเครือข่ายผู้ปกครอง สุดารัตน์ แสงกระจ่าง บอกว่า เมื่อรู้ว่ามีการแข่งขันฟุตบอล ผู้ปกครองจะโทรหากันก่อนเพื่อนัดแนะว่าใครจะทำอาหารอะไรมาบ้าง หรือใครจะรับผิดชอบตรงส่วนไหน นอกจากความสัมพันธ์ของเด็กในชุมชนที่ดีขึ้นจากการรวมกลุ่มเตะฟุตบอลแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองเองก็ดีขึ้นด้วย กลายเป็นว่าพ่อแม่คลายกังวลเวลาให้ลูกหลานออกจากบ้านไปไหนมาไหน เนื่องจากมีผู้ปกครองในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่อย่างที่ผ่านมา

“เด็กๆ พวกนี้ก็ลูกหลานของเรา ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นภาระ ดีเสียอีกที่มีผู้ใหญ่มาชักจูงให้เขามาใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แล้วก็ทำให้ร่างกายแข็งแรง”

เมื่อ “ใจ” เปลี่ยน

อบต.วัดดาว ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนมากว่า 10 ปี แต่ก่อนหน้าที่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทั้งที่มีโครงการให้เด็กและเยาวชนทำมากมายปีละหลายสิบโครงการ จึงไม่น่าแปลกใจที่ก่อนเข้าร่วมหลักสูตรนักถักทอชุมชน ทินารมย์จะมีความเชื่อฝังใจว่า ความก้าวร้าวและการไม่มีความรับผิดชอบของเด็ก ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้

“แม้จะเปลี่ยนแปลงเด็กทุกคนไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำอยู่ช่วยเปลี่ยนเด็กบางคนได้ อย่างน้อยมีผู้ปกครองสนับสนุน มีผู้ใหญ่ใจดีพูดถึงหรือให้คำชื่นชม เด็กได้ยินก็ดีใจ ตัวเราเองก็มีกำลังใจ ทำงานกับเด็กอย่างจริงจังมาร่วมๆ 3 ปี ตอนนี้เราเข้าใจธรรมชาติของเด็กเยอะขึ้น หากเขาทำอะไรผิดพลาด ผิดกฎระเบียบ นอกจากการลงโทษแล้วเราต้องให้โอกาสเด็กพิสูจน์ตัวเองใหม่ ไม่ใช้การหักดิบเพียงอย่างเดียว การให้โอกาสก็เหมือนการเปิดทางเลือกหรือสร้างทางออกให้เขา”

ส่วนความเปลี่ยนแปลงในตัวเองนั้น ทินารมย์บอกว่า เมื่อก่อนเขาเป็นคนไม่ยอมคน มีบุคลิกห้าว พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ไม่ไว้หน้าผู้อื่น เพราะต้องการผลลัพธ์ที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด กระบวนการทำงานแบบนักถักทอชุมชนได้ขัดเกลาวิธีคิดให้เขารับฟังคนอื่นมากขึ้น มีแนวคิดเรื่องการวางแผนงานอย่างเป็นขั้นตอนแบบมีแผนสำรอง ทำให้ไม่มีอาการหัวเสีย และโวยวายเมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน เนื่องจากเตรียมทางออกสำรองสำหรับแก้ปัญหาไว้แล้ว นอกจากนี้ยังเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตัวเองพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารมากขึ้น สังเกตเห็นได้จากรู้จักใช้วิธีการเจรจาพูดคุยมากกว่าการพูดจาคุกคาม เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

ส่วนตฤณภพบอกว่า เมื่อต้องทำงานประสานความร่วมมือกับหลายฝ่าย ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงหนีไม่พ้นเรื่องความไม่เข้าใจในกระบวนการทำงาน ในส่วนนี้นอกจากทำหนังสืออย่างเป็นทางการจาก อบต. เพื่อส่งเข้าไปชี้แจงแล้ว พวกเขายังต้องแก้ไขด้วยการลงพื้นที่ไปพูดคุย เพื่ออธิบายถึงวัตถุประสงค์และขั้นตอนการทำงานด้วยตนเอง ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้แก้ไขตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ท้าทาย ทั้งยังช่วยสร้างความกระตือรือร้นและทำให้สนุกกับการทำงาน

“จากเดิมที่ทำงานในเชิงรับ รอคำสั่ง รอนโยบาย ไม่เคยคิดด้วยตัวเองว่าจะทำอะไรต่อไปได้อีก แต่กระบวนการอบรมกระตุ้นให้คิดแล้วลงมือทำให้ดีขึ้นทันที มีโจทย์ที่ต้องคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา เริ่มคิดจากตัวเองแล้วขยายออกไปถึงบทบาทในการทำงานร่วมกับผู้อื่น”

นอกเหนือจากนักถักทอชุมชนรุ่นแรกและรุ่นที่สองแล้ว ปัจจุบันบุคลากร อบต.วัดดาวคนอื่นๆ ต่างรับรู้และเข้ามามีส่วนช่วยดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นตามหลักสูตรนักถักทอชุมชนอย่างแข็งขัน กระบวนการดังกล่าวช่วย สร้างการทำงานเป็นทีมและทำให้เกิดความสามัคคีภายในองค์กร จากเดิมที่ต่างคนต่างปฏิบัติหน้าที่ของตนเองไม่ก้าวก่ายกัน แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายพูดคุยปรึกษากันมากขึ้น หากมีปัญหาจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ และทุกคนก็พร้อมช่วยกันแก้ไขปัญหา

“ก่อนหน้านี้คนใน อบต.เองไม่ได้มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน เวลาประชุมเลยมีปัญหา เพราะคนหนึ่งเข้าใจไปอีกอย่าง อีกคนจะทำอีกอย่าง เลยทำงานกันได้ไม่ถึงไหน ต่างคนต่างทำไปสบายใจกว่า ตอนนักถักทอชุมชนรุ่นหนึ่งทำงานในโครงการ ผมเองยังไม่เข้าใจเลยว่าเขาทำอะไร รู้แต่ว่าเขาทำสันทนาการซึ่งเราไม่สนใจ แต่มาเข้าร่วมเพราะหน้าที่...เรายังโชคดีที่ได้มาเรียนรู้เองเลยเข้าใจ ถึงตอนนี้เมื่อทีมนักถักทอชุมชนทำงานออกมามีผลลัพธ์ เลยทำให้คนอื่นเข้าใจง่ายขึ้นว่านักถักทอชุมชนทำอะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร และสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไปแล้วบ้าง พอเราดึงทุกคนมาร่วมจนทุกคนเกิดความเข้าใจ การทำงานก็เดินหน้าไปได้เร็วและราบรื่น” ทินารมย์บอกเล่าภาพการทำงานในปัจจุบัน

ในเชิงธุรกิจ การลงทุนทำอะไรสักอย่าง ต้องประเมินความคุ้มทุน แต่การลงทุนที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ การลงทุนความรู้ เนื่องจากความรู้สามารถแปลงเป็นมูลค่าได้มหาศาล ขึ้นอยู่กับว่าจะพัฒนาความรู้นั้นไปในทิศทางไหนและก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร เช่นเดียวกับ อบต.วัดดาว ที่ลงทุนเสริมสร้างความรู้ให้บุคลากรในองค์กร เพื่อพัฒนาวิธีคิดและวิธีทำงานที่จะออกดอกออกผลในระยะยาว กำลังผลิดอกออกใบช่วงแรกแย้มให้ได้ชื่นชม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการดูแลเอาใจใส่ และการทำงานด้วยความเข้าใจของคนทำงานในตำบลวัดดาวทุกคน

////////////////////////////////////////////////////