เพ็ญศรี ชิตบุตร : การเรียนรู้ข้ามโซนช่วงปฏิบัติการในพื้นที่ของเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ

โดยนางสาวเพ็ญศรี ชิตบุตร โคชพัฒนาเยาวชน active citizen จังหวัดศรีสะเกษ

ศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ 


บทบาทหน้าที่ :

  • เป็น Coach ในการติดตามสนับสนุนออกแบบสร้างการเรียนรู้การทำโครงการของน้องเยาวชนร่วมกับพี่เลี้ยงในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ สรุปบทเรียน เขียนบันทึกการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงจากการทำโครงการของน้องเยาวชนรับผิดชอบติดตามโครงการเยาวชนในพื้นที่โซนปรางค์กู่-ขุขันธ์ 9 โครงการ
  • จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ความเคลื่อนไหวการดำเนินกิจกรรมโครงการผ่านสื่อ Social (FB.เพจโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมือดีศรีสะเกษ ปี3)

โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานการวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ของเยาวชน ได้คิดเอง ทำเอง และปฏิบัติการโครงการเพื่อชุมชนบนฐานความรู้ผ่านกระบวนการเติมพลังของพี่เลี้ยงหรือ Coach ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชนโดยใช้กิจกรรมสร้างการเรียนรู้ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดระบบกลไกในการทำงานเครือข่ายของเยาวชนศรีสะเกษในระดับจังหวัด การสัญจรเรียนรู้การทำงานภายในโซนและข้ามโซน และการทำกิจกรรมพลังเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการอาสาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้กลุ่มเยาวชนเรียนรู้และพัฒนาตัวเองทั้งในระดับกลุ่มโครงการ กลุ่มโซน และกลุ่มจังหวัด ผ่านการจัดระบบกลไกการทำงานร่วมกันเป็นโซนพื้นที่ โดยการกำหนดเอาขอบเขตพื้นที่กลุ่มแกนนำเยาวชนที่มีพื้นใกล้เคียงกันเป็นโซนเดียวกันและเฉลี่ยจำนวนโครงการที่มีจำนวนใกล้เคียงกันทั้งนี้ มีกลุ่มแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมดำเนินโครงการทั้งหมด 18 โครงการ ในพื้นที่ 6 อำเภอ ของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถแบ่งโซนได้ ดังนี้ 1) โซนปรางค์กู่-ขุขันธ์ คือ กลุ่มเยาวชนในอำเภอปรางค์กู่ทั้ง 8 โครงการ รวมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ 1 โครงการ 2) โซนขุนหาญ คือ การรวมกลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการในพื้นที่อำเภอขุนหาญทั้งหมด 4 โครงการ 3) โซนห้วย เมือง สัย คือ กลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการในพื้นที่ อำเภอห้วยทับทัน 2 โครงการ อำเภออุทุมพรพิสัย 2 โครงการ และ อำเภอเมือง 1 โครงการ และมีพื้นที่เรียนรู้รูปธรรมการสร้างพลเมืองเยาวชนศรีสะเกษจากการลงมือทำจริงของกลุ่มเยาวชน ร่วมกับชุมชน

ในกิจกรรมการเรียนรู้ข้ามโซนช่วงปฏิบัติการในพื้นที่ของแต่ละกลุ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการ

เรียนรู้ข้ามพื้นที่โซน เพื่อนำไปสู่การเสริมพลังเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จังหวัดศรีสะเกษ โดยการดำเนินการให้กลุ่มแกนนำเยาวชนร่วมกันคิดวิเคราะห์ปัญหาในระดับพื้นที่โซนและระดับจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อออกแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกันในแต่ละโชนว่าจะทำอะไรที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ใครจะเป็นกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม และออกแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกันข้ามพื้นที่โชน ในรูปแบบพลังเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการอาสาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ โดยทีมพี่เลี้ยงและโค้ชทำหน้าที่ติดตามสนับสนุนร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้สัญจรในระดับพื้นที่โซน และสรุปบทเรียนการสัญจรร่วมกัน

กระบวนการทำงาน เน้นให้กลุ่มแกนนำเยาวชนในพื้นที่ออกแบบกิจกรรมด้วยตนเอง โดยมีการจัดประชุมวางแผนและเตรียมกิจกรรมปฏิบัติการในแต่ละกลุ่ม มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดกิจกรรมให้กับสมาชิกภายในกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกกลับไปเตรียมพร้อมและวางแผนบริหารจัดการการทำหน้าที่ของตนเองในวันจัดกิจกรรมจริง ตลอดทั้งการประชุมและการจัดกิจกรรมปฏิบัติการการเรียนรู้ข้ามกลุ่มและโซน จะมีพี่เลี้ยงและโค้ชคอยเป็นที่ปรึกษา สนับสนุนและช่วยให้ข้อเสนอแนะแก่เยาวชนเสมอ ทั้งนี้ กลุ่มเยาวชนสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้/ สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มที่มาเรียนรู้ได้มีผู้รู้ ชุดความรู้และมีผู้เรียนรู้ร่วมกันในพื้นที่

ภาพประกอบ 1: เยาวชนบ้านสวายกล่าวต้อนรับกลุ่มเพื่อนที่มาร่วมเรียนรู้ข้ามกลุ่ม/ข้ามโซน

หลังจากการดำเนินงานการเรียนรู้ข้ามโซนช่วงปฏิบัติการในพื้นที่ของแต่ละกลุ่มทำให้กลุ่มแกนนำเยาวชนสามารถดำเนินการปฏิบัติการในพื้นที่ได้สมบูรณ์ เกิดพื้นที่รูปธรรมที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนและชุมชนได้ เข้าใจปัญหาข้อจำกัด และปัจจัยหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ เพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือการทำงานของกลุ่มเยาวชนได้ เยาวชนมีชุดบทเรียนและประสบการณ์การดำเนินกิจกรรมโครงการเพื่อชุมชนเป็นของตนเอง จากการพูดคุยสรุปการเรียนรู้หลังจากการจัดกิจกรรมทุกครั้ง และชุมชนให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการเพื่อชุมชนของกลุ่มแกนนำเยาวชนในพื้นที่ โดยการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส หนุนเสริมและสนับสนุนการทำกิจกรรมของเยาวชนในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี ทั้งนี้ หลังจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ข้ามกลุ่ม/ข้ามโซน กระบวนการนี้ทำให้เยาวชนเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม และสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับจังหวัดศรีสะเกษ และนำไปสู่การจัดกิจกรรมพลังเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการอาสาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ ต่อไป

ภาพประกอบ 2 : กิจกรรมการสรุปบทเรียนหลังจากร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ข้ามกลุ่ม/ข้ามโซน

ผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น คือ

1) กลุ่มแกนนำเยาวชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำโครงการระหว่างกลุ่มและโซนพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

2) เกิดระบบการเชื่อมเครือข่าย สานความสัมพันธ์กลุ่มแกนนำเยาวชนปี 3 ในระดับพื้นที่โซน

3) ชุมชนได้เรียนรู้และเห็นพลังความสามารถของกลุ่มแกนนำเยาวชนศรีสะเกษในการทำโครงการเพื่อชุมชน

4) เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นกำลังใจให้กลุ่มเพื่อนเยาวชนที่ทำโครงการเพื่อชุมชนร่วมกัน

5) เกิดพลังเครือข่ายที่ช่วยหนุนเสริมในการดำเนินการโครงการร่วมกันในระดับพื้นที่โซนและระดับจังหวัด

6) กลุ่มแกนเยาวชนได้เรียนรู้การประสานงานพื้นที่ในการขอความร่วมมือในการปฏิบัติการอาสาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

7) แกนเยาวชนได้เรียนรู้และวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ

8) กลุ่มแกนเยาวชนตระหนักในปัญหาที่พบเจอและร่วมด้วยช่วยกันลงมือแก้ไขปัญหา

9) เกิดพลังเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติการอาสาพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ

10) เกิดพลังความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัด

11) เกิดเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเป็นพลังในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ