เทคนิคการโคชเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน PBL
1. การสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกของกลุ่มแกนนำเยาวชนต่อกลุ่มเพื่อนและในเวทีเติมความรู้เสริมทักษะความรู้ ผลรูปธรรมการดำเนินโครงการของน้อง เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงก่อนทำโครงการ ระหว่างทำโครงการ และหลังทำโครงการของกลุ่มแกนนำเยาวชน
2. การพูดคุยกับกลุ่มแกนนำเยาวชนแบบเสมอหน้า ชวนคิด ชวนคุย โดยการตั้งคำถามและให้น้องเล่าให้ฟังเพื่อสร้างการเรียนรู้ เช่น เล่ารายละเอียดขั้นตอนวิธีการ เครื่องมือทำกิจกรรม และเล่าผลที่เกิดขึ้น (ทำอะไร ทำไมต้องทำ ทำกับใคร ทำที่ไหน ทำอย่างไร ได้เรียนรู้อะไร เกิดผลต่อตนเองและชุมชนอย่างไร) สิ่งที่คิดว่ายังทำไม่ได้ดีคืออะไร ทำไมยังทำไม่ได้ดีเป็นเพราะอะไร และอะไรที่ทำได้ดี ทำไมทำได้ดี เป็นเพราะอะไร บทเรียนที่ได้จากการทำกิจกรรมคืออะไรถ้าทำ หรือไม่ทำต่อจะเป็นอย่างไร การมาทำโครงการตนเองได้เรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อตนเองอย่างไร
3. การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นแบบธรรมชาติ เพื่อให้น้องเยาวชนรู้สึกอยากพูด อยากคุย วางตัวเป็นกันเองแต่มีความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้และให้ความสำคัญหรือคุณค่าต่อสิ่งที่น้องพูดหรือสิ่งที่น้องทำพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กำลังใจในสิ่งที่น้องทำได้ดี และการให้คำแนะนำในสิ่งที่น้องยังทำไม่ได้ดีโดยการยกกรณีตัวอย่างรูปธรรมจากพื้นที่อื่นให้น้องคิดต่อเพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินโครงการของตนเองและให้มีการทบทวนเป้าหมายโครงการของตนเองร่วมกันบ่อยๆว่าเป้าหมายของเราคืออะไร
4. การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้น้องเยาวชนมีพื้นที่และโอกาสในการแสดงออกนำเสนอผลงานร่วมกัน ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ทั้งภายในกลุ่มที่ต้องมีการคิดเตรียมการจัดระบบความคิดตนเองเพื่อการสื่อสารกับคนอื่น และเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนข้ามกลุ่ม ข้ามโซนพื้นที่ ข้ามประเด็น ที่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เช่น เวทีนำเสนอโครงการ เวทีนำเสนอผลความก้าวหน้าโครงการ เวทีอบรมWebsite เวทีสัญจรเรียนรู้รูปธรรมในพื้นที่ เวทีนำเสนอผลและออกแบบการสื่อสาร และเวทีสื่อสารสาธารณะในรูปแบบมหกรรมการเรียนรู้ที่น้องเยาวชนมีส่วนร่วมในการคิดออกแบบและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ
ข้อค้นพบในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชนในจังหวัด
1. การติดตั้งระบบความคิดสำนึกความเป็นพลเมืองที่มีจุดเน้นที่ตัวคนที่เป็นเด็กเยาวชนอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการเรียนรู้ คิดเองลงมือทำเองบนฐานชีวิตจริงพื้นที่จริงในชุมชนท้องถิ่นตนเอง เป็นการสร้างพลังพลเมืองรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพพร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อชุมชนท้องถิ่น จังหวัด ประเทศและสังคมส่วนรวมได้
2. การสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างสำนึกพลเมืองที่เป็นเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ต้องเข้าใจ เปิดพื้นที่ เปิดโอกาส ร่วมสร้างร่วมหนุนกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนให้มีสำนึกความเป็นพลเมืองร่วมกัน
3. การสร้างการเรียนรู้เด็กเยาวชนให้มีสำนึกพลเมือง การออกแบบกระบวนการและวิธีการสร้างการเรียนรู้ ต้องมีความรู้ เทคนิค ทักษะ เครื่องมือช่วยในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น โครงการที่น้องทำ เกมส์ สื่อรูปภาพ สื่อออนไลน์ บทเพลง ข่าวหนังสือพิมพ์ ทีวี
4. การการสร้างการเรียนรู้เด็กเยาวชนให้มีสำนึกพลเมือง เป็นพลังสำคัญในการเชื่อมคนในชุมชนท้องถิ่นทุกช่วงวัยเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและทำประโยชน์เพื่อชุมชนท้องถิ่นตนเองร่วมกันได้
5. การการสร้างการเรียนรู้เด็กเยาวชนให้มีสำนึกพลเมือง บนฐานสังคมวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าความดีงามและเป็นระบบคุณค่าที่ช่วยเกาะเกี่ยวผู้คนเพื่อการอยูร่วมกันมาในอดีตของชุมชนท้องถิ่นสามารถสร้างสำนึกรักท้องถิ่นบ้านเกิดร่วมกันของคนในชุมชนสังคมได้