ปราณี ระงับภัย : แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชน PBL

บทสัมภาษณ์ แนวคิดและกระบวนการพัฒนาเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ

คุณกนกวรรณ พันธมาศ โคชพัฒนาเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดศรีสะเกษ


ผู้สัมภาษณ์

รบกวนพี่ติ๊กแนะนำชื่อ นามสกุล และบทบาทในโครงการ


พี่ติ๊ก

ชื่อปราณี ระงับภัย เป็นเจ้าหน้าที่โครงการของเด็กและเยาวชนศรีษะเกษ


ผู้สัมภาษณ์

พี่ติ๊กทำงานเยาวชนมาหลายปีแล้ว ที่เราทำงานมาด้วยกัน อยากให้พี่ติ๊กพูดถึงบทเรียนที่ผ่านมาที่พี่ติ๊กเห็นเยาวชนที่เราทำงานมาด้วย ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง


พี่ติ๊ก

หลังจากที่เราเริ่มทำงานเด็กมาตั้งแต่ปี 57 บทเรียนที่ได้คือบทเรียนเรื่องการใช้ชุดความรู้ในการศึกษาข้อมูลในชุมชนเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้ เด็กที่สามารถเอาตัวรอดได้ในระดับหนึ่งคือเขาสามารถขยับเข้ามาเป็นผู้นำของกลุ่มเยาวชนเองในชุมชนได้ เป็นผู้นำในมหาวิทยาลัยได้ เราเห็นเด็กเปลี่ยนแปลง เราจึงบอกว่าที่จริงงานที่เราทำก็ประสบความสำเร็จ เครื่องมือที่เราเคยให้เขามันจะช่วยฝึกให้เด็กคิดเยอะขึ้น ทบทวนตัวเองเยอะขึ้นก่อนที่เขาจะตัดสินใจทำอะไร มันทำให้เขากลับมามองตัวเองมากขึ้น เรามองว่าถ้าเราได้ทำต่อ อันนี้คือโอกาสที่เราจะหยิบยื่นให้กับกลุ่มเด็กที่เขายังไม่สามารถเข้ามาถึงเมื่อ 3 ปีก่อน จึงเกิดการขยายพื้นที่เพิ่ม


ผู้สัมภาษณ์

กลุ่มเป้าหมายของเด็กที่ผ่านมาเห็นมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อยากให้พี่ติ๊กเล่าให้ฟังว่าน้องๆ มีกลุ่มอะไรบ้าง แต่ละกลุ่มมีคาแรคเตอร์หรือมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง


พี่ติ๊ก

ที่ผ่านมาเราทำปีแรก จะมีแค่กลุ่มกูย ลาว เขมร แต่ปีนี้มีกวยเข้ามา จริงๆ ในปีแรกก็มีกวยเข้ามาแล้ว แต่อาจจะยังไม่เยอะเท่ากูยร์ แต่กูยร์กับกวยจะต่างกันตรงที่สำเนียงพูด การใช้ศัพท์ การใช้ภาษา แต่บุคลิกเขาจะเหมือนกัน กลุ่มเด็กพวกนี้จะเงียบๆ แบ่งอยู่กลุ่มใครกลุ่มมัน แต่กลุ่มลาวจะเป็นเด็กกล้าแสดงออก กล้าพูด เล่น กลุ่มเขมรเขาจะอยู่คล้ายๆ กูยกับกวย แต่ก็ยังสามารถเข้ากับคนอื่นได้ ซึ่งมองว่าเด็กกลุ่มนี้ในปีแรกที่เราทำ เขาต่างคนต่างอยู่มากเลย กูยร์ถ้ารู้ว่าอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกูยร์เขาก็จะเข้าหา แต่ถ้ารู้ว่าเป็นลาว เป็นเขมร เขาจะไม่กล้าเข้า เขาจะคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ของเขาเอง แต่ด้วยกระบวนการที่เราทำมา 3 ปี โดยการที่เราแบ่งเป็นภาพโซน ภายใน 1 โซนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และให้เขาทำงานร่วมกัน กระบวนการนี้ทำให้เขาเข้ามา มาเปิดใจคุยกัน ทำงานร่วมกัน ทำให้เขาสนิทใจกันมากขึ้น กลายเป็นจากกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นกลุ่มที่ทำงานร่วมกันเป็นโซน พอเป็นโซนแล้วเป็นภาพรวมจังหวัด มีทั้งหมด 3 – 4 กลุ่มชาติพันธุ์ที่ออกแบบงานร่วมกันได้


ผู้สัมภาษณ์

ปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาทำงานร่วมกันได้ และออกแบบอย่างไร


พี่ติ๊ก

การให้เขามาอยู่ร่วมกัน และมอบหมายโจทย์ให้ บอกว่าถ้าเราจะทำเป็นจิตอาสาในภาพรวมของจังหวัด เราจะคิดออกแบบมันอย่างไร ซึ่งเขาก็พากันระดมเลือกพื้นที่ อันนี้คือ 3 ปีก่อน เขาพากันระดมเลือกพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนที่เขาเหมาะจะไปทำร่วมกัน เขาก็ไปนอนออกแบบร่วมกันที่บ้านนั้น เห็นชัดเลย เป็นภาพที่แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้เข้าโครงการในปีที่ 4 แต่ว่าเขายังเป็นเครือข่ายพูดคุยกันในโซเชียลมีเดียอยู่ทุกวันนี้ ยังมีการถามไถ่ว่าจะทำอะไรกันได้


ผู้สัมภาษณ์

กลุ่มเป้าหมายเด็กในปีนี้ยังคงความหลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่เหมือนเดิมไหม


พี่ติ๊ก

ใช่ ยังหลากหลายเหมือนเดิม เป้าของพี่เอง พี่อยากละลายพฤติกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเป็นส่วนตัวสูง เช่น กูย กวย แรกๆ ก็จะพยายาให้เขาออกมาเรียนรู้ข้างนอกให้เยอะๆ ขึ้น


ผู้สัมภาษณ์

แสดงว่าเรายังมีแรงบันดาลใจเดิมที่อยากให้เด็กรวมตัวกันให้ได้ ยังมีอยู่


พี่ติ๊ก

ใช่


ผู้สัมภาษณ์

แล้วเป้าหมายโครงการในปีนี้สำหรับพี่ติ๊กมันเป็นอย่างไร อยากให้ได้อะไร


พี่ติ๊ก

เป้าหมายของพี่ปีนี้นี้จะเน้นเรื่องเครื่องมือ พี่อยากจะให้น้องมากกว่า 3 ปีแรก หนึ่ง พี่มองว่าทางโซนขุนหารที่ได้ทดลองการใช้เครื่องมือนี้ตั้งแต่ 3 ปีแรก แล้วพี่เห็นชัด เวลาน้องไปมหาวิทยาลัย น้องมักจะสื่อสารมาหาพี่ว่าผมได้ทักษะแบบนี้มาจากการทำงาน การใช้เครื่องมือแบบนี้ คือน้องไปมหาวิทยาลัย น้องจำเป็น ก็เลยบอกว่าการที่เราจะให้น้องพัฒนาโจทย์ตัวเอง สิ่งที่ตัวเองอยากทำในชุมชนตอนแรก เป้าหมายจริงๆ คือ น้องต้องรู้จักชุมชน น้องอยากแก้ไขปัญหาอะไรในชุมชน น้องอยากทำอะไรในชุมชน อันนี้คือเป้าของน้องด้วย แต่ด้วยกระบวนการนี้ พี่มองว่ามันเป้าเดียวกันกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น แต่ว่าเราอาจจะไม่ต้องเต็มสเต็ป แต่ถ้าน้องมีทักษะเครื่องมือแบบนี้ในการไปใช้ ลงไปพูดคุยในชุมชน ในการจดบันทึกข้อมูล การวาดภาพ เครื่องมือไม่ได้ให้เฉพาะเรื่องการได้ข้อมูล เครื่องมือยังให้เรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับคนในกลุ่ม ความสัมพันธ์กับคนในชุมชน การที่เราจะลงเครื่องมือแต่ละอย่าง ผู้นำต้องมา ผู้รู้ต้องมา เด็กต้องมา มาร่วมกันทำ เรามองว่ามันสำคัญ ให้น้องมองว่าการที่เราอยากจะทำอะไรเพื่อชุมชนมันต้องทำอะไรบ้าง


ผู้สัมภาษณ์

เหมือนปีนี้เน้นเรื่องการวิจัยและศึกษาชุมชนเป็นหลัก ทีนี้งานวิจัยฟังดูยาก ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ พอเราเอามาใช้กับเด็ก เรามีวิธีการหรือปรับอย่างไรให้เด็กรู้สึกสนุกกับมันได้บ้าง


พี่ติ๊ก

สังเกตในเครื่องมือที่เอามาในเวทีนี้ จะใช้เครื่องมือ หนึ่ง รูปภาพ เอารูปภาพเป็นสื่อให้น้องเห็น เช่น ทักษะการลงพื้นที่ ถ้าพูดในหนังสือน้องจะไม่สนุก น้องจะไม่เห็นภาพ แต่ถ้าเราเอาภาพมาใส่ มันจะเห็นว่าน้องเข้าใจง่ายและน้องสนุก และเรื่องกระบวนการเก็บข้อมูลต่างๆ จะเห็นว่าเครื่องมือทุกอย่างเป็นการเขียนมือ ซึ่งเหมาะกับเด็ก เด็กชอบวาดรูป เด็กชอบระบายสี พยายามปรับ แต่ในกระบวนการเนื้อหาเราก็ไปซอฟท์ในเรื่องของการให้น้องรู้ชุมชน ศึกษาชุมชนแค่รู้ แต่ให้ลึกเฉพาะประเด็นที่ตัวเองอยากจะแก้ปัญหาหรือประเด็นที่ตัวเองอยากรู้ อาจจะไม่ได้ลึกหมดเหมือนงานผู้ใหญ่


ผู้สัมภาษณ์

เราออกแบบพอให้น้องทำความเข้าใจ วิธีการที่เราใช้ก็คือให้น้องทำง่ายๆ ในวิธีการที่เขาถนัด


พี่ติ๊ก

ใช่


ผู้สัมภาษณ์

แล้วจากที่เราลองทำที่ผ่านมา น้องมี feedback อย่างไรบ้าง พอเขาได้เอาไปใช้แล้วเห็นผลอะไรบ้าง


พี่ติ๊ก

อันนี้เห็นมากเลย เช่น น้องเต๋า ที่ผ่านมาเวลาได้รับงานอะไรมาจากมหาวิทยาลัย น้องเร็ว ออกแบบงานตัวเองได้เร็ว น้องมีทักษะกระบวนการคิดเป็นระบบมาตั้งแต่แรก เช่น ครูสั่งให้ทำงาน เขาต้องรู้แล้วว่าเป้าหมายที่ครูสั่งคืออะไร ส่วนใหญ่ถ้าจะคุยกับน้องจะคุยบอกว่าเวลาเขาสั่งงาน หรือใครสั่งงาน พี่สั่งงานก็ช่าง ให้เราลองตีความว่าพี่เขาอยากได้อะไร ฝึกให้เขารู้จักสังเกตด้วย และฝึกให้เขาทำอะไรที่เป็นระบบมากขึ้น


ผู้สัมภาษณ์

คิดเป็นระบบและวิเคราะห์อะไรให้ได้


พี่ติ๊ก

เด็กๆ กลุ่มนี้จะมองเห็นชัดเวลาเขาไปทำอะไรในมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาจะเร็ว อย่างน้องมุ่ย ปีแรก ไปมหาวิทยาลัย อาจารย์ให้โจทย์หรือทำโครงการอะไร เขาบอกเลยว่าเพื่อนมักจะให้หนูเป็นคนเขียน ก็เลยบอกว่าทักษะนี้เราได้มาจากไหน เขาบอกว่าตอนทำโครงการ ที่พี่พาเขียนข้อเสนอโครงการ


ผู้สัมภาษณ์

อยากให้พี่ติ๊กช่วยสะท้อนให้ว่าอย่างน้องที่ทำโครงการวัฒนธรรมหรือทรัพยากร พอดีมีโอกาสได้คุยกับน้องที่ทำโครงการวัฒนธรรม น้องได้เอาเครื่องมือพวกนี้ไปคุยกับชุมชนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างกลุ่มนางออก็ได้


พี่ติ๊ก

การใช้เครื่องมือพวกนี้ไปทำงานในชุมชนเป็นเครื่องมือที่แปลกใหม่ แล้วชุมชนจะมองว่าที่เด็กมากับเรา เขาไม่ได้มาเล่น เพราะกลับไปเขาจะมีเครื่องมืออะไรไปนำเสนอ ไปคุยให้ผู้ใหญ่ฟังว่าเขาไปทำอันนี้มา รบกวนช่วยเติมข้อมูลตรงนี้ให้ด้วย อันนี้ทำให้ชุมชนตัวเองก็ตื่นตัว ตอนนี้ทีมโพกระสัง ชุมชนตื่นตัวมาก


ผู้สัมภาษณ์

ดูเหมือนน้องจะอินกันมากถ้าในเรื่องวัฒนธรรม อยากให้พี่ติ๊กช่วยสะท้อนมุมมองของวัฒนธรรมจังหวัดศรีษะเกษว่ามันมีคุณค่า มีความหมายอย่างไรกับเด็กในรุ่นนี้ที่เขาจะต้องสืบสานต่อ เพราะว่าดูเหมือนโครงการในรุ่นนี้ เด็กๆ เลือกจะไปสืบสาน มันสำคัญอย่างไร


พี่ติ๊ก

ด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ของศรีษะเกษเรามีความหลากหลาย แต่ว่าแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์เขาจะมีความเชื่อของเขาอยู่ แต่อย่างพิธีกรรมความเชื่อของกูยร์ กวย เขาเกิดมาเขาเห็นเลย แต่เด็กอาจจะเยอะในชุมชน แต่ทำไมมาซึมซับไม่หมด มันก็มีบางคนที่บอกว่าพ่อแม่เขาเป็น เขาเห็นในระหว่างการจัดพิธีกรรม เด็กพวกนี้ก็สังเกตว่าทำไมผู้รู้มาแค่คนเดียว ทำไมผู้รู้ต้องเปิดเทป เขาสงสัย พอสงสัยแล้ว พอช่วงหนึ่งเรามีโอกาสไปเห็นการกระทำของเขา เราก็ถามว่าเขาอยากทำแบบนี้ไหม ทำไมเราถึงอยากทำ เขาบอกว่าผมมองเห็นตอนที่ผมเข้าร่วมพิธีกรรม แล้วทำไมเราถึงไปเรียนแบบนี้ไม่ได้ มันทำให้เราคิดว่าหากลุ่มเด็กที่อยากจะสืบทอดแบบนี้ได้ยาก แต่เราจะมีวิธีการอย่างไรให้เขาเข้าไปแบบถูกวิธี ไม่ใช่จู่ๆ อยากจะทำก็ทำเลย หนึ่ง คุณต้องรู้ว่าพิธีกรรมนี้มีความสำคัญอย่างไร พิธีกรรมที่คุณบอกว่าคุณเกิดมาแล้วคุณเห็น ถ้าไม่เล่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เขาต้องรู้เบื้องลึกของมันก่อน รู้ภูมิหลังของแต่ละกิจกรรมหรือแต่ละพิธีกรรมประเพณีต่างๆ ของกลุ่มๆ นั้น


ผู้สัมภาษณ์

พี่ติ๊กทำงานกับเด็กมาหลายปี แล้วเราก็ทุ่มเทมาก ลงไปทำงานกับเด็กในชุมชน พี่ติ๊กคิดว่าหัวใจสำคัญในการทำงานกับเยาวชน พี่ติ๊กให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร


พี่ติ๊ก

พี่ให้ความสำคัญกับเรื่องการรักในความเป็นตัวเอง ความเป็นกูย เป็นกวย เป็นลาว เป็นเยอ เป็นเขมร ของศรีษะเกษ และพี่เห็นว่าทำงานมา 3 ปี มันเปลี่ยน ชุมชนเปลี่ยน ผู้ปกครองเปลี่ยน ทักเราว่าทำไมไม่พาลูกพี่ไปด้วย มันทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์ แต่ด้วยเบื้องหลังนั้น ถ้าเด็กกลุ่มไหนสนใจเข้ามา พี่ยินดีพัฒนาให้ เพราะว่าตัวเราเองก็เติบโตมาจากการทำโครงการแบบนี้ เราเห็นว่าตัวกระบวนการที่จะทำโครงการไม่ได้ทำแค่พัฒนา ได้ข้อมูล แต่มันพัฒนาตัวเด็กด้วย กระบวนการที่เราพาเขาคิด พาเขียน พาทำ พาถอดบทเรียน การถาม เวลาเขาเจอปัญหา ตัวเราเองเป็นพี่เลี้ยง เราไม่ได้ทำเฉพาะกับเด็ก สำหรับพี่ พี่เข้าถึงพ่อแม่


ผู้สัมภาษณ์

คำถามสุดท้าย พี่ติ๊กมีภาพฝันอยากเห็นเด็กศรีษะเกษเป็นอย่างไร


พี่ติ๊ก

ภาพฝันมากๆ เลย คือ อยากเห็นเด็ก 4 กลุ่มชาติพันธุ์นี้เขาจับมือกันทำอะไรเพื่อศรีษะเกษสักเรื่อง เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เห็นว่าเขาทำอะไรอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง เขาทำมาเยอะ เขามีชุดความรู้อะไรเยอะแยะ ทำอะไรสักอย่างให้รู้ว่านี่คือผลจากเด็กกลุ่มนี้ 


สัมภาษณ์ ณ ตุลาคม 2562