เทคนิคการเป็นโคช
1. กำหนดเป้าหมายและการออกแบบกิจกรรม
การกำหนดเป้าหมายที่โคชจะพาน้องๆ เยาวชนไปเรียนรู้หรือไปให้ถึง โคชต้องมีการออกแบบกระบวนการเป็นลำดับขั้นตอน สอดคล้องกับเป้าที่เราได้วางไว้และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาเรียนรู้และทำกิจกรรมด้วย เพื่อให้น้องๆ เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ และที่สำคัญกระบวนการที่ออกแบบไว้สามารถพลิกแพลงได้ตามสถานการณ์จริงในระหว่างที่ทำกิจกรรม ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนหรือพลิกแพลงกิจกรรมที่เราออกแบบไว้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ ส่วนหนึ่งต้องอาศัยไหวพริบของโคชเองในการวิเคราะห์สถานการณ์นั้น
2. สถานที่ เป็นส่วนสำคัญ
ในการหาโจทย์หรือประเด็นในการขึ้นโครงการถ้าเป็นไปได้ให้ใช้สถานที่ของชุมชนน้องๆ เครื่องมือที่ใช้คือ เครื่องมือศึกษาชุมชน ทั้ง ข้อมูลเรื่องราวในชุมชน แผนที่ชุมชน ปัญหาชุมชน สิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ทุนเดิมที่น้องๆ เยาวชนมี ซึ่งสถานที่ก็เป็นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์หาโจทย์ ถ้าโคชใช้สถานที่ชุมชนของน้องๆเองในการจัดกระบวนก็จะง่ายในการชวนน้องวิเคราะห์ชุมชน โคชเองก็จะได้เห็นบริบทในชุมชนไปด้วย ตัวน้องๆเองก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นและก็แม่นในข้อมูลในชุมชนตนเอง
3. เสมอหน้า ในการจัดวงคุยแต่ละครั้งจะใช้หลักเสมอหน้าทุกครั้ง คือให้ทุกคนทั้งน้องๆ เยาวชน และโค้ช เสมอหน้ากัน น้องเยาวชนนั่งเก้าอี้โค้ชก็นั่งเก้าอี้ ถ้าน้องเยาวชนนั่งกับพื้นโค้ชก็นั่งกับพื้น เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศในการพูดคุยให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เป็นทางการมาก จะทำให้น้องๆ เยาวชนผ่อนคลาย เป็นกันเอง ไม่เกร็ง โดยส่วนมากจะใช้วิธีการนั่งพื้นล้อมวงเพื่อให้ทุกคนได้เห็นหน้ากัน
4. ศึกษาข้อมูลและการสำรวจพื้นที่ โคชจะต้องมีการศึกษาข้อมูลที่พอจะค้นหาได้จากหลายๆทาง อินเทอร์เน็ต อื่นๆ และการลงพื้นที่สำรวจดูบริบทพื้นที่ชุมชนของน้องๆเยาวชน เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลสร้างการเรียนรู้ร่วมกับน้องในการตั้งคำถาม
การพูดคุยแลกเปลี่ยน โคชจะต้องกระตุ้นให้น้องๆ เยาวชนทุกคนได้พูดได้คุยแลกเปลี่ยนกัน ย้ำการพูดคุยไม่มีผิดมีถูกเพื่อสร้างบรรยากาศให้น้องๆเยาวชนรู้ว่าปลอดภัยและสร้างความมั่นใจและกล้าที่จะแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วยกันได้ การพูดคุยในวงโคชมีหน้าที่จับประเด็นของน้องๆ ที่สื่อสารออกมา และสามารถนำประเด็นต่างๆ ของน้องๆมาเป็นประเด็นร่วมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงใหญ่
- การให้ความสำคัญ โคชจะต้องให้ความสำคัญทุกคำพูดของเยาวชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ตลกหรือว่าเรื่องราวที่เพื่อนๆ เขาเองอาจจะหัวเราะ เพราะว่าการให้ความสำคัญกับทุกคนเยาวชนจะรู้สึกว่าโคชให้ความสนใจในเรื่องราวที่ตัวเขาเองอยากจะสื่อสาร และทำให้เขาสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลึกมากขึ้น และโคชจะต้องดึงเรื่องราวเหล่านี้เข้ามาสู่การแลกเปลี่ยนในวงใหญ่ให้ได้
- การตั้งคำถาม การตั้งคำถามเป็นกระบวนหลักๆ ในการโคชเยาวชน เพื่อช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้เกิดการเรียนรู้ ขบคิด ทบทวนตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง มีกรอบความคิดขึ้นมาใหม่ๆ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีเหตุมีผลมากขึ้น เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้
เทคนิคสร้างความสัมพันธ์กับเยาวชน
- กิจกรรมผ่อนคลาย มักจะให้เกมสันทนาการที่โคชมีไปเล่นกับเยาวชน ในการเล่นกิจกรรมสันทนาการโคชเองจำเป็นต้องเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เพื่อที่จะใหเยาวชนเกิดการผ่อนคลายสนุกกับการเล่นเกม และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเยาวชนกับพี่เลี้ยง โดยส่วนใหญ่มักใช้กิจกรรมสันทนาการในการทำความรู้จัก ละลายพฤติกรรม สร้างการเรียนรู้ ร่วมไปถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เนื้อหา ซึ่งกิจกรรมสันทนาการจะส่งผลมากในการสร้างความสัมพันธ์ให้กับกลุ่มน้องๆ เยาวชนด้วยกันเองและจะทำให้โคชกับเยาวชนมีความสนิมสนมมากขึ้น
- เพื่อน ทำให้เยาวชนรู้สึกว่าโคชก็คือเพื่อน โค้ชควรที่จะจำชื่อน้องๆเยาวชนให้ได้ทุกคน เวลาเรียกน้องใช้ชื่อเล่นในการเรียก เพื่อให้เยาวชนรู้สึกมีความเป็นกันเอง กล้าที่จะเปิดใจพูดคุยหรือสอบถามกับโคชได้ในทุกๆเรื่อง และลดช่องว่างระหว่างโคชกับน้องๆเยาวชน เช่นการสร้างความสนิทสนมโดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งเรื่องส่วนตัว สถานการณ์เรื่องราวในโลกโซเชียลมีเดีย หรือว่าเรื่องราวที่น้องๆเยาวชนให้ความสนใจ
- ภาษา มักจะใช้ภาษาท้องถิ่นของเยาวชนในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ ถ้าเป็นภาษาท้องถิ่นที่โคชมีความถนัดก็จะใช้พูดคุยหรือสอบถามในเรื่องราวต่างๆ ตัวน้องๆเยาวชนเองก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองและคล่องในการพูดคุยแลกเปลี่ยน หรือถ้าเป็นภาษาท้องถิ่นที่โค้ชเองไม่รู้ไม่มีความถนัด ก็จะใช้วิธีการถามน้องๆว่าคำนี้พูดว่าอย่างไร พอเราได้คำพูดบางคำ ก็จะใช้คำพูดเหล่านี้มาพูดกับน้องๆ ถึงจะไม่ถูกก็ตาม ซึ่งจะทำให้น้องๆเยาวชนรู้สึกว่าโคชอยากจะเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นกับเขา น้องๆเยาวชนเองก็จะสนุกและพร้อมใจที่จะสอนความสนิทสนมก็จะเกิด หลายต่อหลายครั้งการใช้ภาษาท้องถิ่นในการพูดคุยกับน้องๆ เยาวชนสามารถทำให้น้องๆกล้าที่จะเปิดใจพูดคุยเรื่องราวที่เป็นส่วนตัวหรือว่าเรื่องราวข้อมูลในชุมชนได้ชัดและลึกมากขึ้น
คำถามที่ใช้ในช่วงโคชเยาวชนพัฒนาโจทย์โครงการเพื่อชุมชน
- ชุมชนมีทุนอะไรบ้าง
- ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร ต่อตนเอง ต่อชุมชน ต่อโซน ต่อจังหวัด
- เราจะทำกับใครบ้าง / ทำที่ไหน
- ถ้าทำจะทำอย่างไร
- ทำไมถึงอยากทำเรื่องนี้
- ถ้าเราไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น
- ถ้าเราทำเรื่องนี้จะไปช่วยแก้ไขปัญหาชุมชนในเรื่องใดได้บ้าง
- ทำไมถึงอยากทำเรื่องนี้
คำถามช่วงที่เยาวชนลงมือทำ/ดำเนินกิจกรรมโครงการ
BAR
- เป้าหมายของกิจกรรมครั้งนี้คืออะไร
- ออกแบบกิจกรรมไว้อย่างไรบ้าง
- แบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างไร
- ผลที่คาดว่าจะได้รับและสิ่งที่เราอยากเห็นคืออะไร
AAR
- ได้เรียนรู้อะไรจากการทำกิจกรรมครั้งนี้
- อะไรทำได้ดีและอะไรทำได้ไม่ดี
- ที่ทำได้ดีเพราะอะไร ทำได้ไม่ดีเพราะอะไร
- มีปัญหาอุปสรรค์อะไร
- ถ้าจะทำให้ดีจะต้องทำยังไง
- แผนงานครั้งต่อไปจะทำอะไรต่อ
คำถามถอดบทเรียนการทำงาน
- ที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง
- อะไรทำได้ดีและอะไรทำได้ไม่ดี ที่ทำได้ดีเพราะอะไร ทำได้ไม่ดีเพราะอะไร
- ถ้าจะทำให้ดีจะทำยังไงต่อ
- ได้เรียนรู้อะไรจากการทำโครงการที่ผ่านมา
- ตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
คำถามเสริมพลังในการทำกิจกรรม
- แรกเริ่มทำโครงการมานี้รู้สึกประทับใจอะไรมากที่สุด เพราะอะไร
- มีกิจกรรมไหนบ้างที่ทำแล้วเราเองคิดว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด
- ในทีมเราได้รับบทบาททำหน้าที่อะไร ทำไมถึงได้รับบทบาทหน้าที่นี้ แล้วมีครั้งไหนบ้างที่คิดว่าทำบทบาทหน้าที่ของตัวเองได้ดีที่สุด
คำถามกระตุ้นสู่สำนึกพลเมือง
- อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราลุกขึ้นมาแก้ปัญหาที่มีอยู่ในชุมชน / หรือว่ามาทำสิ่งดีๆเพื่อชุมชนตนเอง
ข้อค้นพบในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชนในจังหวัด
การทำงานร่วมกับเยาวชนเราต้องทำให้เขามีตัวตนขึ้นมาในชุมชน โดยการพูดคุยทำความเข้าใจบุคคลรอบข้างของเยาวชน เช่น ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ พระ คนในชุมชน บุลคลเล่านี้สามารถทำให้เขามีตัวตนขึ้นมาในชุมชน การมีตัวตนของเยาวชนจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญและศักยภาพของตนเองที่มีต่อชุมชนต่อคนรอบข้าง เยาวชนจะตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนและจะมีความกล้าและมั่นใจมากขึ้น กล้าคิดกล้าทำสิ่งดีๆเพื่อพัฒนาชุมชนตนเอง
เทคนิคการประสานงานกับชุมชนในการสนับสนุนเยาวชนทำโครงการ
- ผู้นำชุมชน: กิจกรรมส่วนมากจะอาศัยความร่วมมือกับชุมชน การขอความร่วมมือกับชุมชนต้องอาศัยพลังของผู้นำชุมชน การทำความเข้าใจกับผู้นำในชุมชมของน้องๆ เยาวชนถือว่าโค้ชไม่ควรละเลย ถ้าโค้ชสามารถชี้ให้ผู้นำชุมชนเห็นว่ากิจกรรมที่ทำจะส่งผลดีต่อชุมชนอย่างไร ชุมชนจะได้อะไร กลุ่มเยาวชนในชุมชนจะเป็นอย่างไรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีแบบไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าผู้นำในชุมชนเห็นความสำคัญของกิจกรรมแล้ว นอกจากจะได้ความร่วมมือแล้ว ก็จะส่งผลไปยังคนในชุมชนก็จะเห็นความสำคัญร่วมด้วย กลุ่มเยาวชนในชุมชนก็จะมีตัวตนมากขึ้นในชุมชน มีความกล้าและมั่นใจมากขึ้นที่จะลุกขึ้นมาทำกิจกรรมดีๆ ให้กับชุมชน
- ผู้ปกครอง: น้องๆ เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ผู้ปกครองต้องรู้ว่าน้องๆ มาทำอะไรและก็ทำกับใคร นอกจากน้องๆ เยาวชนที่รู้จักโคชแล้ว ผู้ปกครองต้องรู้จักโคชด้วยว่าเป็นใครมาจากไหนหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งโค้ชเองต้องมีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของน้องๆ เยาวชนให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับน้องๆ หรือว่าชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองของเกิดความไว้ใจที่จะให้ลูกหลานตัวเองมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา ซึ่งกิจกรรมเราหลายๆ ครั้งจัดนอกสถานที่บางครั้งมีการพักแรมค้างคืน การสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองจึงเป็นส่วนสำคัญในการลดความขัดแย้งระหว่างน้องๆ เยาวชนกับผู้ปกครอง เยาวชนก็จะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ไม่พะวงหน้าพะวงหลังและผู้ปกครองเกิดความสบายใจเข้าใจไม่ห่วงที่ลูกหลานตัวเองมาเข้าร่วมเรียนรู้กับกิจกรรม