บทสัมภาษณ์โคชพัฒนาเยาวชนจังหวัดสมุทรสงคราม : เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
ผู้สัมภาษณ์
แนะนำตัวเอง ชื่อ นามสกุล บทบาทการทำงานคืออะไร ?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
ชื่อเฉลิมพล อิ่มเกียรติ ชื่อเล่นชื่อปิง บ้านเป็นคนสมุทรสงคราม ได้มาทำงานอยู่ที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม และในโครงการของเด็กสร้างดีที่ได้มาร่วมในโครงการนี้ก็คือเป็นพี่เลี้ยง เป็นทีมโคชส่วนกลางที่คอยหนุนเสริมสนับสนุนต่างๆ นานา ประสานงานให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น
ผู้สัมภาษณ์
มีแรงบันดาลใจอะไรให้มาทำงานจุดนี้ ที่มาทำงานกับเยาวชน และมาทำงานเพื่อพัฒนาชุมชน
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
ต้องย้อนกลับไปค่อนข้างไกล จริงๆ ตั้งแต่เด็กจะมีคำถามติดปากว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราตอบไม่ได้ คนอื่นตอบเป็นทหารเป็นตำรวจ เราก็ค้นหามาตลอดว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร คำตอบของเราคือเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้คนมีรอยยิ้ม แล้วก็เริ่มค้นหาตัวเองมาตลอดว่าเราอยากจะทำอะไร พอเข้ามา ม.ปลาย ก็เริ่มทำค่าย รู้จักการทำค่ายขึ้นมาก็รู้สึกว่าสิ่งที่ทำให้คนมีรอยยิ้มคือการทำที่มันสนุกสนาน ทำค่ายให้มันสนุกมากขึ้น มันเป็นค่ายทั่วๆ ไป แต่ต่อมาก็เจอค่ายที่มันมีสาระมากขึ้น ผมเคยได้ไปทำงานร่วมกับมูลนิธิแห่งหนึ่งที่ทำงานเรื่องเหล้าบุหรี่ แล้วก็ทำงานส่งเสริมให้เยาวชนมาทำกิจกรรมแบบนี้ และเป็นการลดอัตราการดื่มของเด็กที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องการสกัดนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งเรารู้ว่ามันมีสาระมากเลย มันก็เป็นแรงบันดาลใจว่าฉันจะเดินทางนี้ อยากจะทำงานให้คนเกิดการพัฒนาขี้นไป เราก็เลยเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่พัฒนาสังคม ชื่อคณะคือสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา เห็นชื่อคณะ ผมเลือกคณะนี้เลย และอยากจะทำงานตรงนี้ อยากรู้มากเลยว่าต้องทำอะไร มีแง่มุมแบบไหนบ้าง ช่วงที่เรียน เรารู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์เราเท่าไหร่ เราจึงต้องออกมาทำกิจกรรมเองด้วย ยังออกมาทำค่ายทำอะไรอยู่ รู้สึกว่ายังไปต่อได้อีก พอเรียนจบเสร็จก็มาทำงาน หางานลักษณะแบบนี้ ทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ทำงานให้คนมีรอยยิ้มได้ สร้างเสียงหัวเราะได้ ก็มาเจอศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสาคร ก็เป็นที่มาว่าเริ่มมาทำตรงนี้มันมาจากภายในตั้งแต่เด็กๆ เลยที่เราทำมา
ผู้สัมภาษณ์
จากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าเราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจากการทำงาน ?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
ในแง่การทำงานเด็กที่ทำผ่านมา ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้มันก็มีบทเรียนมาส่วนหนึ่งแล้วในการที่จะมาต่อยอดของงานที่นี่ พอมาทำที่นี่ มันได้เรียนรู้เรื่องระบบมากขึ้น ที่ผ่านมามันเน้นสนุก เน้นเรียนรู้บางเรื่อง แต่ครั้งนี้กิจกรรมที่เรามาทำกับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มันต้องมองให้เป็นระบบมากขึ้น เป็นระเบียบมากขึ้น ต้องมองหลายๆ ด้านมากขึ้น มันทำให้ตัวเราโตขึ้นไปด้วย ทั้งเรื่องการจัดการประสานงานต่างๆ การไปคุยกับน้องอย่างเป็นกันเอง ไม่ใช่แค่กับน้อง ต้องไปคุยกับพี่เลี้ยงด้วย ต้องไปติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ด้วย มันทำให้เราได้พัฒนาตัวเราขึ้นมาในเรื่องการจัดการต่างๆ นานา
ผู้สัมภาษณ์
แล้วอยากจะพัฒนาศักยภาพตัวเองอีกไหม? ด้านไหนอีกบ้าง?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
สำหรับผม ผมชอบทำงานกับเด็ก แต่เวลาทำงานกับผู้ใหญ่ ผมก็สามารถปรับเข้ามาใช้ได้ แต่ว่าการทำงานกับหน่วยงานบางอย่างบางที่ เราก็ยังรู้สึกว่าต้องมีบางส่วนที่ทำให้เนียนได้มากขึ้น ดูมีภูมิมีอะไรมากขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้อ่อนด้อย เราต้องพัฒนาให้เทียบเท่ากับเขาได้ เพราะในบางกิจกรรม เราต้องไปทำงานกับหน่วยงานต่างๆ มันก็ต้องทำตัวเองให้สมาร์ทมากขึ้นในการพูดคุย ชวนเขาคุย ชวนเขาคิด อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องการคิดให้เป็นระบบมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะผ่านเรื่องการคิดเป็นระบบมามากมาย แต่มันก็ยังมีบางส่วน บางอย่างที่ยังต้องอาศัยประสบการณ์ที่เราต้องค่อยๆ ไปเผชิญ ไปเจอกันมัน แล้วเราจะค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ เรื่องของระบบบางอย่างเรายังไม่รู้ว่ามันจะไปเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง จะต้องให้รุ่นพี่ๆ เขาช่วยแนะนำไป เรียนรู้ไป ทำงานไปก็น่าจะช่วยได้
ผู้สัมภาษณ์
แล้วปีนี้โครงการเรามีแนวทาง หรือวางนโยบายของโครงการไว้อย่างไร?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
จริงๆ เรามีเป้าหมายที่อยากจะทำร่วมกัน คือ เราอยากจะพัฒนาเด็กให้ได้ต้องมีหลายส่วนมาช่วยกัน ที่ผ่านมาเราใช้เครือข่ายนักวิจัยชาวบ้านเรามาเป็นพี่เลี้ยงหลัก แต่มาปีนี้ เราเริ่มขยายมากขึ้น เราไปคุยกับ
บ้านพักเด็กและครอบครัวทั้งที่จังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม พยายามไปเชื่อมอยู่ และไปเชื่อมกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย พอไปเชื่อมกับบ้านพักเด็ก เป้าหมายหนึ่งที่เราอยากจะได้คือขอให้มันเป็นสภาเด็ก เพราะว่าตัวสภาเด็กและเยาวชนของตำบลถูกจัดตั้งขึ้นมาอยู่แล้ว แต่บางที่ก็มีกิจกรรม บางที่ก็ไม่มีกิจกรรม ไหนๆ เขาก็มีตัวตนแล้ว มีพื้นที่แล้ว ลองดึงเขาเข้ามาร่วมทำโครงการแบบนี้ดู เพื่อที่จะพัฒนาตัวพวกเขาไปด้วย และพัฒนา อบต. หรือทางท้องถิ่นไปด้วยกัน หลายทีมที่เข้ามาก็มีทีมดอนคาก็เป็นทีมสภาเด็กทั้งทีมเลย มีอีกหลายทีมที่เป็นทีมสภาเด็กที่ดึงเข้ามา ให้ได้พัฒนาไปแบบนี้ ให้ได้เห็นระบบว่ามันมีการทำงานแบบของเราด้วย ไม่ได้สั่งให้น้องไปทำงานแบบเดียว
สำหรับกิจกรรมที่ให้น้องๆ ทำจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ท้องถิ่น คือถ้าเด็กไปทำเรื่องอื่นๆ เขาจะไม่มีจุดเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับท้องถิ่นอย่างไร เราจึงดึงว่าถ้าเขาได้เรียนรู้เรื่องท้องถิ่น เขาจะเกิดความรักพื้นที่ของเขามากขึ้น เกิดสำนึกที่อยากจะทำอะไรมากขึ้น เรื่องของสำนึกพลเมือง เรายึดมาตลอด 3 – 4 ปีที่ทำงานกับเด็ก คือ สำนึกต้องมาก่อน สำนึกที่อยากจะพัฒนาหรือทำสิ่งดีๆ เกี่ยวกับบ้านตัวเอง ให้เขาได้เติบโตจากเรื่องใกล้ตัวแบบนี้ก่อน
ผู้สัมภาษณ์
แล้วปีนี้วางแผนการพัฒนาศักยภาพเด็กไว้อย่างไรบ้างในแต่ละขั้นตอน?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
จริงๆ แล้วเรื่องการพัฒนาศักยภาพเด็ก เราพัฒนาตั้งแต่ตอนที่พัฒนาโจทย์แล้ว การพัฒนาโจทย์เราให้เด็กมาทำตรงนี้ 2 – 3 ครั้ง ที่เด็กต้องมานั่งคิดว่าต้องการทำอะไร เรามีการลงไปในพื้นที่เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับเขาก่อนด้วย แล้วก็ชวนเขาพัฒนาโจทย์เบื้องต้น แล้วก็มารวมกันในภาพใหญ่ เพื่อให้เขาเห็นว่ามันมีระบบ มีเรื่องของหลายๆ ทีมในชุมชนละแวกบ้านเขาว่าเขาจะทำเรื่องอะไรบ้าง สุดท้ายแล้ว มันจะออกมาเป็นโจทย์ที่เขาอยากจะได้ หลังจากนี้น้องๆ จะต้องลงไปดำเนินการโครงการของเขาเองแล้ว ตามที่เขาได้โจทย์มา เวทีนี้เป็นเวทีแรก เป็นเวทีพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน เป็นเรื่องการเก็บข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม คือ เด็กต้องไปทำงานเก็บข้อมูล แต่โดยทั่วๆ ไป การเก็บข้อมูลที่เราเคยเจอมาก็เป็นการเก็บข้อมูลทั่วๆ ไป ไม่ได้ความสัมพันธ์อะไรเท่าไหร่ เก็บข้อมูลเสร็จ ชุมชนก็ไม่ได้อะไร แต่ครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับชุมชนของเขาเองมากขึ้น ผลที่จะได้ก็จะเกิดขึ้นกับตัวเขาว่าเขาจะรู้จักบ้านเขามากขึ้นด้วยและได้ข้อมูลมาสำหรับทำโครงการด้วย
สำหรับเวทีพัฒนาศักยภาพเวทีที่ 2 จะเป็นเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว เขาจะต้องเอาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์แล้วว่าข้อมูลที่ได้มา มันขาดเหลือตกหล่นอย่างไรบ้าง แล้วข้อมูลที่ได้มาจะนำไปออกแบบและใช้งานอย่างไรบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่เวทีที่ 3 คือเวทีพัฒนาศักยภาพเด็กในด้านการผลิตสื่อ การสื่อสารสร้างสรรค์ อาจจะชวนเขาดูว่าจากข้อมูลที่ได้มา ที่มันค่อนข้างสมบูรณ์มากแล้ว เราวิเคราะห์มาเรียบร้อยแล้ว เราได้แนวทางบางอย่างมาเรียบร้อยแล้ว เราจะเอาเรื่องพวกนี้ไปสื่อสารให้คนอื่นๆ เข้าใจได้อย่างไร ซึ่งจะต้องเป็นการสื่อสารที่สร้างสรรค์มากขึ้น ที่ผ่านมาเราก็เคยจัดมาบ้างแล้ว น้องบางส่วนก็มีพื้นฐานบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดต่อภาพ ตัดต่อวิดิโอ การใส่ข้อความ ใส่เสียงต่างๆ นานา ให้เกิดความสวยงาม เกิดเป็นวิดิโอที่เป็นเนื้อเรื่อง เราได้พัฒนามาบ้างแล้วบางส่วน บางส่วนเด็กก็เคยได้ทดลองเองบ้างแล้ว เราจะมาเติมให้มันคมขึ้น สร้างสรรค์ขึ้นโดยที่มีธีมงานของเราเข้าไปอยู่ในเรื่องการมีสำนึก การเรียนรู้บ้านตัวเอง การทำความดีให้กับชุมชนตัวเอง เป็นเด็กสร้างดี
ผู้สัมภาษณ์
แล้วเล่าการอบรมครั้งนี้หน่อยว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร อบรมอะไรบ้าง?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
เวทีครั้งนี้เป็นเวทีพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนด้านการเก็บข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม ตอนที่เราคิด เราก็ต้องมาดูก่อนว่าเราอยากจะให้เด็กได้ทักษะอะไรในการเอาไปใช้ในการเก็บข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม เราก็นั่งไล่ประเด็นกันว่ามีอะไรบ้าง หลังจากนั้นเราก็มาดูว่ากิจกรรมไหนที่พอจะตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่เราตั้งไว้ในเวทีนี้ เป้าหมายของเราคืออะไร ตอนเราเริ่มออกแบบ ก็เริ่มจากตัวผมเองก่อน เราออกแบบไป มีการปรึกษากับทีมงาน แล้วเราก็ออกแบบมาได้ประมาณหนึ่งแล้วก็มาคุยร่วมกันอีกทีหนึ่ง
กิจกรรมช่วงวันแรกคือการทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าต้องมีสำนึกความเป็นพลเมือง ต้องทำงานร่วมกัน เราก็ออกแบบมาเป็นเกมที่ให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการมีส่วนร่วม การทำอะไรร่วมกัน การมีสำนึก ในช่วงเช้าวันแรก เราเริ่มจากการติดตั้งทักษะการจับประเด็นให้เขาก่อน เริ่มจากกิจกรรมเช็คอินเลย กิจกรรมเช็คอินจะเป็นการฝึกให้เขาได้พูดและฟังอย่างมีระบบมากขึ้น คนที่พูดก็ต้องพูดแบบเรียบเรียงเนื้อความมาแล้ว คนที่ฟังก็ต้องฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งผลตอบรับที่ได้มา ผมว่าน้องๆ เห็นหลายๆ อย่างที่จะสามารถนำไปปรับใช้ได้ หลายคนก็สะท้อนเรื่องนี้ออกมาค่อนข้างเยอะ ต่อไปก็ไปสู่กิจกรรมที่เป็นกิจกรรมใหญ่ คือ แม่น้ำปัญหา แม่น้ำปัญหาเป็นกิจกรรมที่ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีมและการมีจิตสำนึกที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่น โดยที่จะต้องคำนึงถึงว่าตัวเองมีความสามารถแบบไหน มีใครที่พอจะมาช่วยเราได้บ้าง ซึ่งโดยภาพรวมของกิจกรรมน้องๆ ก็จะได้เห็นว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาทำมันเป็นสำนึกอย่างหนึ่ง โครงการที่เขาเขียนมามันคือการช่วยเหลือชุมชนของเขาเอง เปรียบเสมือนการช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากในเกม ในเกมจะมีคนที่อยู่บนกระดาษและถูกพับลงไปเรื่อยๆ เป็นคนที่เดือดร้อนในเกม เปรียบเสมือนสังคมไทยที่ทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ คนที่ตามไม่ทันก็จะถูกบีบกระชับเข้าไปเรื่อยๆ ปัญหาที่ถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องความเป็นผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นในชุมชน เด็กที่อาจจะไม่ค่อยสนใจการเรียนเท่าไหร่ เหลวไหลบ้าง เสียคนบ้าง เขาจึงเล็งเห็นตรงนี้ว่ามันเหมือนสังคมที่เขา
อยู่เลย เขาจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถพัฒนาสังคมและชุมชนบ้านเขาได้ พอมาช่วงบ่าย หลังจากเราเล่นเกมเสร็จแล้ว เราก็ชวนน้องๆ มาสรุปบทเรียน ทุกกิจกรรมที่เราทำ เราจะมีการสรุปบทเรียน เหมือนเป็นการกดเซฟความรู้ของเขา สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เขานำกลับไปใช้ กดเซฟ สรุปบทเรียน นั่นก็คือช่วงวันแรก ก็เป็นเรื่องสำนึกพลเมือง
ช่วงวันที่ 2 เชื่อมกับวันแรก คือ พอเขามีสำนึก เขาก็ต้องกลับมาดูว่าเขาจะกลับไปเดินหน้าต่อไปอย่างไรในโครงการเขา เราก็ชวนเขามาเติมความรู้ในเรื่องการจัดเวทีชุมชน จะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือการจัดประชุมครั้งหนึ่งที่เชิญชาวบ้านพ่อแม่ปู่ย่าตายายเขามา จะต้องทำแบบไหนอย่างไร มีหลักการคิดอย่างไรบ้าง ชวนเขามาเรียนรู้ โดยเราจะแบ่งเป็น 2 ฐาน ฐานแรกคือถ้าจะจัดเวทีประชุมหนึ่งครั้งจะต้องเตรียมการอะไรบ้าง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง การจัดวงประชุมแบบไหน อย่างไร ต้องเป็นตัวกลม ตัว U หรือเชิญคนประมาณกี่คน ต้องมีการจัดการอะไร อย่างไรบ้าง เตรียมน้ำ เตรียมอาหาร ประสานงานอย่างไร ต่อมาคือฐานที่ 2 เป็นฐานของเครื่องมือการเก็บข้อมูล เราจะพูดถึงเรื่องปฏิทินชุมชน ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินวัฒนธรรม ปฏิทินการผลิต ต่อมาคือเรื่องของ Timeline หรือเส้นประวัติศาสตร์ชุมชน มันพูดถึงเรื่องความเป็นมาของชุมชนว่าเกิดเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัยว่าเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ส่วนที่ 3 คือเรื่องแผนที่ชุมชน ชวนน้องดูว่าชุมชนที่เขาจะไปสำรวจมีส่วนที่สำคัญตรงไหน อย่างไรบ้าง มีทรัพยากรที่สำคัญ มีบ้านบุคคลสำคัญอย่างไร มีคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการของเขาอย่างไรบ้าง จะชวนให้เขาไปใช้กับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมาร่วมมือกัน ซึ่งเราไม่ได้เน้นที่ข้อมูล แต่เน้นไปที่การมีส่วนร่วมของคนที่มาร่วมกันมากกว่า ส่วนเรื่องข้อมูล ถ้าคนมันสนิทกันแล้ว เราค่อยไปหาไปเติมกันได้ ข้อมูลก็จะชัดมากขึ้น พอเขาได้เรียนรู้แล้ว เขาก็จะได้ไปทดลองจัดเวทีจริงเลย เราแบ่งกลุ่มเขาเป็น 6 กลุ่ม 6 ทีม ไปจัดเวทีโดยให้พี่เลี้ยงพื้นที่สมมติว่าตัวเองเป็นชาวบ้าน และให้น้องมาทดลองใช้เครื่องมือ ทั้งปฏิทิน timeline แผนที่ น้องๆ ก็ได้สัมผัสประสบการณ์จริงที่เขาต้องไปเจอในพื้นที่จริง มีทั้งคนที่ให้ความร่วมมือบ้าง คนที่กวนบ้าง คนที่แสบๆ บ้าง ซึ่งน้องเขาจะได้ไปเจอในสถานการณ์จริงในชุมชนเขา
ผู้สัมภาษณ์
ตอนนี้ปิงเข้าใจบทบาทความเป็นพี่เลี้ยง เป็นโค้ช อย่างไรบ้าง
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
การเป็นโคช สำหรับผม ผมมองว่ามันต้องเป็นคนที่นำได้ แต่ก็ต้องรู้ว่าจังหวะไหนควรถอย อย่างการเป็นโค้ช มันเปรียบเหมือนโค้ชทีมฟุตบอล โค้ชไม่ได้ลงไปเตะเอง นักฟุตบอลคือคนที่ลงไปเตะฟุตบอล โค้ชเป็นคนที่ยืนสั่งการณ์อยู่ข้างสนาม และจะมีบางจังหวะที่ไม่ต้องสั่ง ปล่อยเขาเล่นกันเอง เพราะเราต้องมั่นใจว่าผู้เล่น หรือน้องๆ เขามีศักยภาพที่จะจัดการกันเองได้ เราก็ต้องปล่อยเขาได้ทดลองทำ ได้ทำจริง ผิดพลาดจริงๆ เจอความสำเร็จจริงๆ ได้เรียนรู้จริงๆ แล้วเราค่อยมาถอดบทเรียนกันว่าเขาได้ไปเจออะไรมาบ้าง เดี๋ยวนี้ถ้าเป็น
ระดับโค้ชอย่างพวกผมก็ต้องมองให้เห็นภาพรวมว่าถ้าเราจะไปหนุนเสริมโครงการนี้ เราไม่ได้มองเด็กอย่างเดียว เราต้องมองไปถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เด็กจะต้องอยู่ด้วย เช่น พี่เลี้ยงพื้นที่ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดเด็กที่สุด เราจะต้องคุยกับเขาอย่างไร หนุนเสริมเขาอย่างไร เติมทักษะอะไรให้เขา เพื่อที่จะให้เขาไปเป็นพี่เลี้ยงพื้นที่ให้กับน้องๆ ต่ออีกทีหนึ่ง เหมือนสร้างการเรียนรู้ 2 ชั้น คือ พี่เลี้ยงและเด็ก
ผู้สัมภาษณ์
ถ้าหากมีคนเป็นพี่เลี้ยงหรือในมุมมองผู้ใหญ่ คือ ปิงก็ไม่ได้วัยห่างจากนอกเท่าไหร่ สิ่งที่ปิงคิดว่าเป็นหัวใจหลักในการทำงานกับเยาวชนคืออะไร ?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
หัวใจหลักของการทำงานกับเยาวชน ผมว่าเราต้องเข้าใจความเป็นธรรมชาติของเขาก่อน เด็กแต่ละวัยค่อนข้างต่างกัน ยิ่งปีนี้มีทั้งเด็กและเยาวชน มีตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก 9 ขวบ 10 ขวบ ยังเป็นเด็กประถมอยู่เลย เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร การที่เราจะเข้าใจเขาได้ เราก็ต้องนึกย้อนกลับไปว่าตอนเราอายุเท่านั้น เราคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร หากต้องมาเจอสถานการณ์ที่มันแตกต่างไป เขาต้องเป็นแบบไหน อย่างไร แล้วเราก็เอาตรงนั้นออกมาในการคุยกับเขา ในการออกแบบกิจกรรมให้มันถูกต้องสอดรับกับความต้องการของเขา แล้วยิ่งมีความหลากหลายของช่วงวัย ตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ความหลากหลายของช่วงวัยมันค่อนข้างเยอะมาก สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือเราจะสร้างสมดุลอย่างไรให้ทุกช่วงวัยเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าหนักสำหรับเด็ก และไม่เบาไปสำหรับน้องที่โตแล้ว
ผู้สัมภาษณ์
หัวใจสำคัญในการทำงานกับเยาวชนมันเป็นอย่างไร ควรจะทำอย่างไร เผื่อคนอื่นเขาจะไปทำด้วย
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
หัวใจหลักอีกข้อหนึ่งก็คือเราต้องเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ น้องๆ เขาเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้ เขาสามารถเรียนรู้ได้ แต่เราต้องมีวิธีการ มีกระบวนการที่ทำให้เขาเรียนรู้แบบไม่น่าเบื่อ แบบที่ผ่านมาคือน้องๆ เมื่อมาเจอผมตอนแรกๆ คิดว่าพวกผมจะมาสอนอะไร มาทำอะไร แต่เราก็ใส่กระบวนการลงไปโดยการใช้เกมบ้างอะไรบ้าง เขาก็ได้เรียนรู้ไปด้วย สนุกไปด้วย เขาก็ได้เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เขาได้ไปเรียนกับสิ่งที่ได้มาเรียนรู้กับทางเรา กับทางโรงเรียนมันก็ยังสำคัญอยู่ ไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ทางเราก็เหมือนเป็นอาหารเสริมตัวหนึ่งที่จะทำให้เขาได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสประสบการณ์จริงๆ มากขึ้น ผ่านกิจกรรมทีได้ลงมือทำจริงๆ
ผู้สัมภาษณ์
ปิงมีแม่มาทำงานตรงนี้ด้วย เล่าให้ฟังหน่อยว่าไปชวนแม่มา หรือแม่ไปชวนปิงมา ทำไมแม่จีงมาทำงานตรงนี้ด้วย
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
จริงๆ แล้วแม่ผมเป็นนักวิจัย แต่ว่าเดิมไม่ได้มาทำโครงการแบบนี้ เพราะตอนนั้นเหมือนตกกระไดพลอยโจน ผมก็ไม่ได้ตั้งใจชวนแม่เข้ามา แต่แม่ก็เข้ามา คือ มันมีโครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. ซึ่งแม่ผมก็เป็น อสม. ในตำบลนั้นด้วย ตำบลที่ผมอยู่ ตำบลบางขันแตก ตอนแรกเขาก็ไม่ได้เป็นตัวหลัก เหมือนเป็นตัวช่วย ช่วยเขียน ช่วยอะไร ไม่ได้ทำอะไรหลักๆ มากมาย เราก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรกับเขามากมาย เพราะว่าเขาไม่ได้เป็นตัวหลัก แต่พอหลังๆ มา ทีมหลักเริ่มเปลี่ยนไป เขาเริ่มมีบทบาทมากขึ้น คนในทีมเห็นว่าเขามีศักยภาพ ก็เลยดึงเขาเข้ามาพัฒนาศักยภาพ อสม. เข้ามาทำกิจกรรมต่อเนื่องมากขึ้น จนเขาได้วิธีการ มีกระบวนการคิดมากขึ้น หลังจากนั้น โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. เสร็จ ก็มีโครงการอีกโครงการเกิดขึ้นมาใกล้เคียงกันเลย คือ โครงการจัดการปัญหากระรอกในพื้นที่ เพราะในพื้นที่มะพร้าวเสียหายค่อนข้างเยอะ กว่า 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ บางช่วงเสียหายถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านก็เลยมองว่ากระรอกเป็นปัญหา ต้องจัดการ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งก็รวมตัวกันทำปัญหานี้ ตอนแรกแม่ผมก็ไม่ได้อยู่ในทีมนี้ แต่พอทำไปทำมา ทีมเดิมเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง ด้วยภารกิจอะไรบางอย่างบ้างก็ถอนตัวกันออกไป ปรากฎว่ามีการดึงทีมกันเกิดขึ้น ดึงทีมจาก อสม. มาทำกิจกรรมในโครงการนี้มากขึ้น สุดท้าย แม่ผมกลายมาเป็นนักวิจัยหลักในโครงการจัดการปัญหากระรอกไปด้วยเลย ในโครงการนี้ เขาก็ได้พัฒนาตัวเองในเรื่องการเป็นนักวิจัย แต่ก็ยังไม่ได้ไปเชื่อมกับเด็กเท่าไหร่ ทีนี้มีอีกโครงการหนึ่งของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงคราม เขาก็มีโครงการมาให้พวกผมหาพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสงครามให้เขาได้ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ร่วมกันสักอย่างหนึ่ง เราก็คิดกันว่าเรามีฐานนักวิจัยของเราอยู่แล้ว เราก็ใช้ฐานนักวิจัยของเราให้เขาได้ไปทำงานกับเด็กและเยาวชน เราก็ได้พื้นที่มา 7 – 8 พื้นที่ 7-8 ตำบล แม่ผมก็เริ่มเป็นคนที่ไปชวนเด็กเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน ชื่อโครงการสานพลังเด็กและเยาวชนและผู้สูงอายุเรียนรู้ร่วมกันบนฐานเศรษฐกิจพอเพียงในตำบลบางขันแตก น้องก็ได้เรียนรู้เรื่องราวในชุมชนไป พอมาถึงตรงนี้ ก็มีเด็กและเยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น นำไปสู่โครงการปีที่ 2 จาก พมจ. เหมือนกัน ชื่อโครงการผู้ใหญ่เล่าขานเด็กสานสืบต่อ คล้ายๆ ปีแรกที่ชวนเด็กมาเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับเด็ก เรียนรู้ร่วมกัน มันก็เลยไปเชื่อมกับโครงการเด็กสร้างดีในปีนี้ เราเห็นว่าทำงานกับเด็กอยู่แล้ว ก็เลยดึงเขาเข้ามาทำงานตรงนี้เลย จากบทบาทที่เรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมกับเด็กๆ ก็กลายเป็นว่าเขาจะต้องปรับบทบาทใหม่ในการมาเป็นพี่เลี้ยง คือต้องมาเรียนรู้จากทางเราด้วยที่เราเป็นพี่เลี้ยงเขาอีกทีหนึ่ง เขาก็มีการเลียนแบบเราในบางอย่างในการตั้งคำถาม ในการชวนน้องคิด ชวนน้องคุย ก็ต้องค่อยๆ พัฒนากันไป เพราะเขาก็มีอายุประมาณหนึ่ง การจะชวนเด็กคิด ชวนเด็กคุยก็จะได้ประมาณหนึ่ง คงจะไม่ได้เทียบเท่ากับเรา แต่ผมคิดว่าเขาก็ได้เรียนรู้การเป็นพี่เลี้ยงกับเด็กในอนาคตได้
ผู้สัมภาษณ์
เวลาทำงานมันต้องมีปัญหา มีเหนื่อย มีท้อ มีไม่เข้าใจกัน ปิงบอกตัวเองว่าอย่างไร? ทำไมจึงยังอยู่ตรงนี้ ทำไมยังทำอยู่ ?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
สำหรับผม งานนี้เป็นงานที่ค่อนข้างหนัก เพราะมีหลายหน้างาน ทั้งงานเด็ก งานถนน งานวิจัย มี 7 – 8 ก้อนงานที่เราต้องดูแล มันค่อนข้างเยอะ และภาระงานของทางครอบครัวด้วยอะไรด้วย มันก็ปนๆ กันไป มันก็มีเหนื่อยบ้าง แล้วถ้ามาเจอสถานการณ์ที่หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานตำหนิบ้าง เพื่อนร่วมทีมไม่เข้าใจกันบ้าง เราท่องไว้ในใจว่าต้องใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์คุยกัน ใช้เหตุผล แล้วเราก็นึกเสมอว่าอะไรที่พี่เขาเตือนมา มันเป็นสิ่งที่เขามีประสบการณ์มากกว่า เขาจะมองเห็นในมุมที่เรามองไม่เห็น เราก็รับไว้ บางอย่างที่เรามีเหตุผล เราก็พูดคุยกับเขาได้ ใช้การพูดคุยกันด้วยเหตุผลเป็นหลัก มันก็มีน้อยใจบ้าง แต่ไม่เคยถึงกับท้อจนแสดงอาการไม่พอใจ ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ค่อนข้างเก็บอารมณ์ เรามองว่าใช้อารมณ์แล้วจะไปกันใหญ่ แม้ใครจะใช้อารมณ์กับเรามา แต่เราก็พยายามที่จะไม่ใช้อารมณ์กับเขา ต้องพยายามนิ่งไว้ เก็บไว้ในใจ จะผ่านมันไปได้ จริงๆ มันมีหลายเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจ แต่เราก็ต้องพยายามมองในแง่ดีว่าวันนี้เราไม่เข้าใจเขา วันหนึ่งเราก็คงจะเข้าใจเขา เขาคงจะมีเหตุผลอะไรบางอย่าง เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย เขาก็ต้องเข้าใจเราด้วย
ผู้สัมภาษณ์
บทบาทหน้าที่ของปิงในโครงการนี้ทั้งหมด คืออะไร ?
เฉลิมพล อิ่มเกียรติ (ปิง)
ผมเป็นผู้ดูแลโปรเจคนี้โดยภาพรวม คอยดูภาพรวมด้วย ดูสถานการณ์ของน้องว่าเป็นอะไรอย่างไรด้วย ต้องคอยสอดส่องดูแลต่างๆ นานา ดูในภาพรวมทั้ง 15 โครงการในปีนี้ แล้วก็ต้องทำเหมือนกับที่พี่เลี้ยงทั่วไปเขาทำ ไม่ใช่ดูภาพรวมอย่างเดียว เราก็ต้องไปดูในทีมรายย่อยด้วย บางทีมที่พี่เลี้ยงเขายังไม่รู้บทบาทตัวเองว่าจะต้องทำแบบไหนอย่างไรกับน้อง เราก็อาจจะต้องเข้าไปเพิ่มเติมบางอย่าง บางอย่างก็ต้องออกไปแสดงเอง ไปออกแรงเองบ้างก็มี