อภิสิทธิ์ ลัมยศ : เทคนิคการโคชเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชน PBL

เทคนิคเด่น ที่มักใช้ในการโคชพลเมืองเยาวชน เช่น คำถามที่มักใช้ วิธีการทำงานกับเยาวชนที่ได้ผล :

1. การตั้งคำถาม (กว้าง กระชับ ลงลึก ช้อน เชื่อมโยง)

กว้าง หมายถึง การชวนพูดชวนคุยในเรื่องราวต่างๆที่อยู่ในชุมชน เช่น การทำงาน การทำมาหากิน ครอบครัว ชุมชน ความสัมพันธ์ ซึ่งการชวนคุยแบบเป็นกันเอง จะทำให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก และขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะถามตอบเราได้ด้วย ซึ่งถือเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการแลกเปลี่ยนพูดคุย จากนั้นจึงค่อยกระชับเข้าสู่ประเด็นที่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ หรือเป็นประเด็นร่วมของชุมชน ทั้งในส่วนของทุกข์ – ทุนทางสังคมในพื้นที่

กระชับ หมายถึง ในการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชน เราไม่สามารถที่จะไปชวนคุยถึงสถานการณ์บางอย่างได้โดยตรง หรืออาจจะพูดไปเรื่อยๆ จนหาที่ลงไม่ได้และไม่ตอบโจทย์เวทีการพูดคุย การพูดให้กระชับอยู่ในประเด็นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยร่วมกัน จะมีบางประเด็นหรือประโยคที่สำคัญ ที่เรามองเห็นว่าจะเป็นวรรคทองหรือเป็นประเด็นที่สามารถจะเป็นประเด็นร่วมของคนในชุมชน ทั้งในส่วนของทุกข์และทุนในพื้นที่ เราก็จะกระชับคำถามลงในประเด็นนั้น ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ซึ่งที่ผ่านมาการชวนคุยจนทำให้เกิดความกระชับในเนื้อหาของการแลกเปลี่ยนจะช่วยทำให้เกิดเป็นประเด็นร่วม และทุกคนสามารถแชร์ความเห็นกันได้มาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ เพื่อให้เกิดการเห็นภาพร่วมกันของคนในชุมชน ลึก หมายถึง ในระหว่างที่มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน มักจะมีวรรคทองหรือวลีเด็ดที่จะเป็นทั้งส่วนของสถานการณ์หรือทุนของดีของชุมชน ที่เป็นประเด็นร่วมกัน ทีมพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่เป็นคนตั้งคำถาม จะต้องจับประเด็นให้ได้ว่าอะไรคือสาระสำคัญของการพูดคุย เมื่อได้ประเด็นแล้วจะต้องตั้งคำถามเพื่อลงลึกในรายละเอียด เพื่อที่จะได้เห็นในส่วนที่มีความละเอียดในประเด็นที่มีความคิดเห็นร่วมกัน ทั้งนี้การตั้งคำถามของพี่เลี้ยงจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ได้ข้อมูลที่มีความละเอียดและเห็นสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงได้ ดังนั้น ทักษะในการตั้งคำถาม การชวนพูด ชวนคิด ชวนคุยและการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างเป็นขั้น จึงเป็นคุณลักษณะอีกประการหนึ่งที่มีความสำคัญของการเป็นพี่เลี้ยงนักวิจัย

ช้อน หมายถึง การสนทนาแลกเปลี่ยนในเวทีการวิเคราะห์ชุมชนในแต่ละครั้ง มักจะมีประโยคเนื้อหาที่สำคัญที่จะเป็นประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยนในวงได้ กระบวนกรหรือพี่เลี้ยงจะต้องช้อนคำพูดนั้นๆ เพื่อเป็นคำถามในการถามต่อ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายและลงลึกในรายละเอียดให้มากที่สุด

เชื่อมโยง หมายถึง การจัดเวทีแต่ละครั้ง ย่อมมีความหลากหลายทางความคิดและคำพูด ดังนั้นบทบาทพี่เลี้ยงในฐานะที่เป็นคนชวนพูดชวนคุย จะต้องเชื่อมโยงคำพูดจากเวทีเสวนาในแต่ละประเด็น ให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนกับสิ่งที่อาจจะพัฒนาต่อยอดเป็นโจทย์โครงการเยาวชนต่อไป

โดยทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการขึ้นฟริบชาร์ดการพูดคุยกัน ตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อให้เห็นกระบวนการพูดคุยและเนื้อหาประเด็นการพูดคุย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้เห็นประเด็นและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และเป็นการคิดเชื่อมโยงระหว่างความคิดของหลายๆ คน จนตกผลึกเป็นความคิดร่วมของเยาวชน โดยมีเครื่องมือที่จะช่วยทำให้เห็นภาพร่วมกันได้ คือ การเขียนเป็น MIND MAP STORTY BOARD TIME LINE ฯลฯ ซึ่งจะช่วยทำให้ชุมชนมองปัญหา ครอบคลุมทุกมิติและมีความสัมพันธ์กัน ซึ่งในบางครั้งบางกรณี จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันผ่านงานวิจัย บางปัญหาอาจไม่จำเป็นต้องทำวิจัยก็ได้ เพราะมีหลายๆ ชุมชนที่ประสบกับปัญหาที่คล้ายกันและสามารถแก้ได้ และนำเอามาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาของชุมชน และบางปัญหาจำเป็นที่จะต้องอาศัยหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาช่วยแก้ไข หรือดำเนินงานทั้งในส่วนของงานวิจัยและงานพัฒนาควบคู่กันไป ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การมองปัญหาให้ทะลุและลงลึกในรายละเอียด รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นเป้าหมายหรือธงที่เยาวชนและคนในชุมชนอยากไปให้ถึง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยตัวของเยาวชนเอง จนนำไปสู่การสร้างสำนึกรักบ้านเกิด การรู้จักรากเหง้าของตนเอง และสำนึกพลเมืองย่อมจะเกิดขึ้น

นอกนั้นยังรวมถึง การเขียนแผนที่ความคิด (Mind Map) การเขียนฟริปชาร์ด time line รวมถึงการแสวงหาความรู้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการหนุนเสริมโครงการเยาวชน การพัฒนาข้อเสนอโครงการ งานเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมสามารถผลิตเอกสาร ผลิตสื่อความรู้จากการสรุปรายงานเชิงสังเคราะห์จากการประชุมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์

2. การทำงานกับเด็ก ต้องอาศัยความใจเย็น ร่วมเรียนรู้ไปกับเขา อย่าใจร้อนเร่งรัดเอาคำตอบ แต่จะต้องสร้างการเรียนรู้ไปด้วยกัน ด้วยการตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนคุย เริ่มจากเรื่องง่าย ๆ แล้วค่อยไต่คำถามหรือการเรียนรู้ยากๆ ขึ้น ซึ่งสิ่งที่ยาก หากเยาวชนสามารถทำได้ ย่อมจะสร้างการเรียนรู้ได้ดีกว่า


ข้อค้นพบในการออกแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชนในจังหวัด :

    ข้อค้นพบในการสร้างสำนึกพลเมืองเยาวชนน่าน คือ การสร้างการเรียนรู้ในเรื่องที่ใกล้ตัวเด็กเอง และควรเป็นเรื่องที่เด็กให้ความสนใจและเป็นเรื่องที่อยากจะเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งกลุ่มเยาวชน คนในชุมชน และพัฒนามาเป็นโจทย์โครงการที่สอดคล้องกับศักยภาพของเด็กและเงื่อนไขระยะเวลา งบประมาณ ซึ่งมีกระบวนการ ดังนี้

1. การทำงานเยาวชน ควรเป็นการรวมตัวของเด็กแบบง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน

2. การตั้งโจทย์ ตั้งคำถาม ควรเป็นแบบง่ายๆ เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก ด้วยการตั้งคำถาม “กว้าง กระชับ ลงลึก ช้อน เชื่อมโยง”

3. ยกระดับความคิดของเด็ก จากคิดแบบง่ายๆ ไปสู่การคิดในเรื่องที่ยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น

4. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่เป็นจริง หมายถึง การทำงานหรือทำกิจกรรมควรที่จะให้เด็กได้ช่วยกันออกแบบสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน การวางบทบาทหน้าที่รับผิด และนำไปสู่การทำงานเป็นทีม จะช่วยสร้างการเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น และสุดท้ายทีมจะต้องมีการสรุปบทเรียนหรือถอดการเรียนรู้ภายใต้กิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกครั้ง และสรุปภาพรวมของโครงการ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้สะท้อนคิดและเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

5. มีการทดลองปฏิบัติการจริงในการดำเนินงาน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค ความผิดพลาด ยิ่งผิดพลาดมาก มีปัญหามาก ยิ่งจะสร้างการเรียนรู้ได้ดี แต่สุดท้ายหากเด็กๆสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ สิ่งเหล่านี้ที่เกิดระหว่างการดำเนินงานโครงการ จะเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชนได้ เพราะโลกแห่งความจริงในชีวิตไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างที่คาดหวังไว้ นอกจากนั้น ควรที่จะมีการถอดบทเรียนเพื่อหาเหตุผลที่ทำให้กระบวนการทำงานสำเร็จ/ไม่สำเร็จ ด้วยปัจจัยเงื่อนไขอะไร และอะไรที่เป็นบทเรียนและเยาวชนได้เรียนรู้อะไรจากการดำเนินงานโครงการ (BAR – AAR)