อีก ครั้งที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมกระบวนการใน "หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว" ณ พื้นที่ภาคอีสาน จ.สุรินทร์ใน การถอดบทเรียนของนักถักทอ ทำให้ผู้เขียนได้เรียนรู้ ความประทับใจจากนักถักทอท่านหนึ่ง นั่นคือ คุณ จินตนา แกล้วกล้า มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ไว้อย่างน่าประทับใจ แสดงถึงทัศคติในการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ขออนุญาตินำสิ่งที่คุณจินต์เขียนไว้ ให้แก่ อาจารย์อ๊อด (คุณนวลทิพย์ ชูศรีโฉม) ทีมวิทยากร จาก สรส. ไว้อย่างน่าประทับใจ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นอีกมุมของข้าราชการคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำหน้าที่ของตนเอง และสามารถ ทำงาน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น ดังนี้
เมื่อฉันผ่านหลักสูตรนักถักทอฯ มาแล้ว ๕ ครั้ง
พี่อ๊อด ที่รักและเคารพ
หนู ขอขออนุญาตเล่าเป็น เรื่องเล่าของฉันนะคะเพราะรู้สึกว่าตัวเองจะถนัดเล่านิทานมากกว่าเขียน จดหมายบรรยายความในใจ ขอเริ่มเลยแล้วกันนะคะ
นับ แต่วันที่ฉันได้รับข่าวจากหมอแป๋ง หรือพี่แป๋ง (คุณอวยพร พิศเพ็ง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.ส.ต.เมืองแก) ผู้ที่เป็นทั้งครูและพี่ที่แสนดีคอยสอนและเป็นกัลยาณมิตรแนะนำ ให้คำปรึกษาทั้งเรื่องงานและบางครั้งเป็นต้นแบบในการจัดการชีวิต(ยุ่งๆ)ให้ ลงตัวได้โดยใช้หลัก win-win พี่แป๋งบอกว่า อาจารย์ทรงพล เจตนาวาณิชย์ (พี่แป๋งกระซิบว่าท่านเป็นเจ้าพ่อ KM และเป็น....) ใจดีจะสอนการทำงานเด็กและเยาวชนให้พนักงาน อปท. ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ได้การล่ะ ! เพราะฉันจะไม่มีวันพลาดแน่ เนื่องจากเคยได้รับความรู้จากอาจารย์เมื่อปี 2555 ครั้ง ที่อาจารย์มาบรรยายในโครงการพัฒนาทักษะด้านการบริหารงานด้านการสร้างเสริม สุขภาพให้แก่บุคลากรของอปท.ในจังหวัดสุรินทร์(จัดโดย สสส.) เป็นสิ่งที่ฉันอยากรู้ อยากเรียนมานานเหลือเกิน ฉันเคยอ่านมาบ้างเกี่ยวกับการจัดการความรู้และการพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่ทั้งสองอย่างยังรางเลือนเหลือเกิน โดยเฉพาะงานเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นงานที่ฉันอยากเริ่มต้นแต่ไม่รู้เลยว่าจะ เริ่มตรงไหนอย่างไรดี แล้วงานนี้จะเกี่ยวกับการจัดการความรู้อย่างไรหนอ??
ขอ เล่าท้าวความถึงวิธีการสมัครเข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนักถักทอฯ เมื่อได้รับฟังอาจารย์ที่เทศบาลตำบลเมืองแกแล้วฉันมีแผนในใจว่า อย่างไรเสียฉันจะต้องสมัครเข้าร่วมให้ได้ ฉันกลับไปกรอกใบสมัครส่งไปยังสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นและสรส.ก่อนที่ จะบันทึกขออนุญาตท่านนายก (นี่เป็นวิธีการที่ไม่แนะนำให้ใครนำไปใช้เพราะเกิดจากความอยาก(ฉันทะ)ของตน เอง) แต่โชคดีที่ท่านนายกฯ มีนโยบายเรื่องการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัวอยู่แล้ว ท่านต้องการให้เราช่วยกันขับเคลื่อนงานนี้ให้เป็นรูปธรรม จึงอนุญาตให้เข้าร่วม (เฮ้อ! โล่ง อก ไปที)
เมื่อ ไปร่วมรับฟังปฐมบทแห่งการเรียน ณ สพบ. เกิดคำถามมากมาย พี่อ๊อดและอาจารย์เริ่มจุดประกายในการเป็นวิทยากรกระบวนการในฝันที่ฉันต้อง การ ภาคีเครือข่ายมากมายที่น่าสนใจ แต่เอ๊ะ ? ฉันจะให้เขาเข้ามาช่วยฉันอย่างไรดีนะ กลับมาพร้อมกับจินตนาการต่างๆ นานาว่าตัวเองจะทำอะไรต่อดีน้าาา.... มีคำ(ประโยคเด็ด)หนึ่ง ที่อาจารย์และพี่อ๊อดย้ำคือ จะพาพวกเราออกจากร่องความเคยชินเดิม เอะ! อย่างไร???
การ เรียนครั้งที่ สอง สาม สี่ และห้า ผ่านไป พร้อมกับการติดตามเยี่ยมเยือนของอาจารย์และคณะ อีกทั้งการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ การสอบถามข้อสงสัย ทำให้ฉันพบว่าตัวเองเปลี่ยนนะ ความเคยชินบางอย่างเปลี่ยนไปหลังจากการผ่านการฝึกฝนและฝึกฝืนตนเอง อ้อ! ลืม บอกไปก่อนหน้าที่จะเรียนฉันกำลังสนใจหนังสือธรรมและฝึกปฏิบัติการรู้เท่าทัน ใจตนอยู่ เมื่อได้รับการบอกเล่า คำสอน คำแนะนำจากอาจารย์ ฉันเริ่มออกจากร่องความเคยชินเดิม เอาละ! ฉันจะฉายภาพให้เห็นแล้วนะว่าตัวเองเปลี่ยนอะไรบ้าง
เรื่องแรก คือชีวิตส่วนตัว มี สอง อย่าง ได้แก่
อย่างแรก คือ ฉันสามารถลดน้ำหนักลงได้เนื่องจากมีสติก่อนกินหรือดื่ม ฝึกฝืนไม่แตะต้องอาหารที่ดูน่าลิ้มลอง ลดอาหารหวาน มัน และแป้ง งดดื่มน้ำหวานทุกประเภท ห้ามใจไม่ให้กิเลสมันโผล่ บอกตัวเองว่า เฮ้ย ! คน เรากินหรือดื่มก็เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ กินอะไรลงไปมันก็อิ่มได้ ก็กินแค่อิ่ม อาหารจะถูกหรือแพง ขายในห้าง ร้านชำ ตลาดนัด แผงลอยหรือทำเองก็เหมือนกันคือกินแค่อิ่มท้อง ไม่มีใครดอกที่จะกินอาหารแพงๆ ดีๆแล้วได้มากกว่าอิ่ม แล้วเมื่อคิดได้เช่นนี้ ฉันจะต้องสิ้นเปลืองเงินทองหรือเวลาไปซื้อหาอะไรมากมาย เอาแค่มีประโยชน์ต่อร่างกายอันเป็นที่อาศัยของจิตวิญญาณก็พอแล้ว ทุกวันนี้ถึงแม้ฉันจะไม่รวยจากการที่ประหยัดค่าอาหาร แต่ฉันก็กล้าส่องกระจกวันละหลายๆครั้งเพราะรู้สึกว่าตัวเองหุ่นดีขึ้น มั่นใจในการสวมเสื้อผ้ามากขึ้น ถึงแม้หน้าท้องยังไม่ยุบก็ตาม เอาเถอะน่า เมื่อควบคุมอาหารและน้ำหนักได้ สักวันฉันจะฝึกฝืนและฝึกฝนการออกกำลังกายบ้าง สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ ฉันลึกซึ้งกับคำว่า พอเพียง ซึ่งเป็น ปรัชญา ชีวิตแล้ว หลังจากที่รู้จักเพียงผิวเผินมานาน และทำให้ฉันคิดถึงคำของท่านพระพหรมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยุตโต) ว่า การทำให้สุขง่าย ทุกข์(ให้)ยาก มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
อย่างที่สอง คือ ฉันรู้สึกว่าตัวเอง ทุกข์น้อยลง แต่ก่อน ฉันมักจะทุกข์ง่ายมาก กับบางสิ่งที่มากระทบอายตนะ เมื่อส่งผ่านเข้าไป ใจก็กระเพื่อมไหว แสดงออกทางอารมณ์ สีหน้า ท่าทาง คำพูด ทุกข์จะตามฉันไปทุกๆ ที่แม้กระทั่งเวลาหลับยังเก็บไปฝัน บ่อยครั้งที่ฝันว่าขับรถตกหน้าผา หรือกำลังจะตกลงไปในหุบเหว ตกเขื่อนขนาดใหญ่ ที่ฉันรู้เพราะมันเกิดขึ้นบ่อยและแทบทุกครั้งเกิดในช่วงที่ฉันกำลังวิตก กังวล เครียดกับอะไรบางอย่างโดยเฉพาเรื่องงาน แต่หลังจากที่อ่านหนังสือธรรมะ ฟังคำอาจารย์ว่า สุข ทุกข์ อยู่ที่เรา ปัญหาอยู่ที่เรา ไม่ใช่ใครอื่น ปัจจัยภายในสำคัญกว่าภายนอก บวกกับการฝึกปฏิบัติ ฝึกสังเกตจิต ตามดูใจตนเองแล้วพบว่า เออ จริงแฮะ! คน อื่นสักกี่ร้อยกี่พันคนที่แสดงออกต่อเรา หรือมีอิทธิพลต่อชีวิตเรา แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวเรานี่แหละตัวดีที่ชอบตอกลิ่มแห่งความเจ็บช้ำ ความทุกข์ให้ตัวเอง ถ้าเราจัดการใจเราได้ เราก็สุขเป็น เดี๋ยวนี้ฉันเริ่มจะวางจิตวางใจได้มากขึ้น ความคาดหวังต่อคนอื่นมีน้อยลง และเข้าใจ ความเป็นเช่นนั้นเอง(ท่านพุทธทาสบอก) ได้มากขึ้น ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ สามารถจัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น เช่น เวลารู้สึกโกรธหรือไม่พอใจก็พยายามควบคุม ปล่อยวาง เดินหนี คิดทบทวน แล้วทำให้ใจเย็นลงได้ คำพูดที่มักจะ กัด คนอื่นลดลงอย่างเห็นได้ชัด(ด้วยตัวเอง) มีวิธีการจัดการกับสิ่งที่ไม่ชอบใจได้นุ่มนวลมากขึ้น เช่น หากเพื่อนร่วมงานทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรก็จะไม่พูดตอบโต้ออกไปทันที(เหมือน แต่ก่อน) แต่จะหยุด หรือเงียบ เดินออกแล้วหาวิธีการใหม่ หาทางออกหลายๆทางที่คิดว่าจะกระทบกระทั่งน้อยที่สุด และในทางเดียวกันก็สามารถบอกหรือเตือนเขาเป็นนัย ๆ ได้ด้วย และมีเหตุการณ์สำคัญหลายครั้งที่ฉันสามารถเอาชนะใจตนเองได้ เช่น การได้รับรู้ว่าตนเองถูกผู้ใหญ่ หรือเพื่อนร่วมงานบางคนนินทาว่าร้าย ไม่ชอบหน้า ไปพูดให้เสียหาย แรกเริ่มรับรู้ โกรธ เสียใจ กังวลกลัวคนที่ฟังจะเข้าเราผิด เริ่มไม่ชอบ(ขี้)หน้า(ไอ้)พวกนั้นจังเลย ไม่อยากมองหน้าหรือพูดคุยด้วย แต่เมื่อนึกถึงพี่อ้อย(ขอนแก่น)บอกว่าวิธีที่ดีวิธีหนึ่งที่จะระงับอารมณ์ โกรธ เกลียดได้คือการแผ่เมตตา พี่อ้อยบอกว่าให้เราคิดถึงใบหน้าของคนๆนั้นให้มาก ยิ่งชัดเท่าไรยิ่งดีแล้วก็แผ่เมตตาให้เขา ให้ฝึกบ่อยๆ แล้วจะค่อยๆดีขึ้น แหม! พี่อ้อยช่างสอนได้! คนเรายิ่งเกลียดยิ่งให้นึกถึงเขานี่จะเลิกเกลียดหรือโกรธเขาได้ไง แต่เมื่อลองทำดู เออ ได้ผลแฮะ! ฉันทำได้ ! ตอนนี้บุคคลเหล่านั้นไม่มีอิทธิพลต่อฉันอีกแล้ว ฉันจะไปใส่ใจทำไมเนี่ย ! พวก เขาว่าฉันแค่ครั้งสองครั้งแต่ฉันนะโง่แสนโง่ นำสิ่งที่เขาพูดเขาว่ามาตอกย้ำตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฉันทำตัวเองทั้งสิ้น ทุกวันนี้ฉันตั้งใจจะทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ และจะมีสติในยามที่มีสิ่งภายนอกมาเร้าและรีบสลัดมันออกจากมโนสำนึกโดยเร็ว เรื่องอะไรฉันจะนำมีดแห่งความโกรธ เกลียดชังมาทิ่มแทงตัวเอง
เรื่องที่สาม คือ การทำงาน เนื่องจากฉันเป็นคนใจร้อน ปากเสีย โกรธง่ายหายช้า เครียดกับเรื่องงานหรือคนง่าย วิตกกังวล สารพัด เนื่องจากเป็นคนที่จริงจังกับชีวิตและการทำงาน(มากเกินไป) มีเพื่อนเคยบอกว่า ไม่ต้องเครียดงานก็เสร็จได้นะ ตอนนี้เราซึ้งแล้วล่ะเพื่อน ! เพราะการที่เราเครียด แล้วแสดงสีหน้า ท่าทาง คำพูดออกมายิ่งทำให้คนรอบข้างเครียด ไม่อยากเข้าใกล้ ทำให้พวกเขาไม่อยากทำงานกับเรา งานก็ไม่สำเร็จ ซ้ำเพื่อนก็ไม่คบ แต่เมื่อฉันเริ่มปรับปรุงตัวเอง มองเห็นความสำคัญของคนรอบข้าง มองอย่างเข้าใจในพฤติกรรมของแต่ละคนอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ทำให้ฉันวางจิตวางใจได้ เมื่อฉันใจเย็นลง อดทนมากขึ้น พูดคุย ให้ความไว้วางใจคนอื่นมากขึ้น ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง คือ เพื่อนร่วมงานหรือน้องๆ กล้าเข้ามาพูดคุยหยอกเย้า งานเริ่มขยับได้เร็วขึ้น ผู้บังคับบัญชาพึงพอใจมากขึ้น ฉันมีภาคีทำงานในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น คนที่มีจิตอาสา จริตตรงกัน เข้ามาร่วมงาน ผลงานที่ปรากฏฉันไม่ต้องป่าวประกาศ แต่ชาวบ้านพูดแทน ถึงแม้วันนี้ฉันยังไม่สามารถแสดงผลงานอันเป็นที่ยอมรับของพวกช่างติได้ แต่สักวันฉันจะทำให้ผลงานส่งผลประโยชน์ไปถึงพวกเขาเหล่านั้น และให้พวกเขาได้ซึมซับด้วยตัวเองว่าความตั้งใจและการกระทำของฉันได้พิสูจน์ ตัวตนของฉันจริงๆ
นอก จากนี้ฉันพยายามเชื่อมโยงเครื่องมือที่ได้เรียนมาจากหลายสำนักมาประยุกต์ใช้ ไม่ทิ้งการจัดการความรู้ก่อน ระหว่างและหลัง เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดทั้งใช้ความกล้าฝ่า(ฟัน)ความกลัวในใจ และกล้าทำกิจกรรมที่ตัวเองไม่ถนัดมากขึ้น นั่นก็คือ สันทนาการ ฉันเริ่มมีทักษะการพูดให้สนุก พาเล่นแต่ได้สาระมากขึ้น ดีใจจัง (คนหลังก็....เขมร)
เอาละ! ฉันสรุปได้ว่า เวทีการเรียนรู้ในหลักสูตรนักถักทอฯ ทำให้ฉันเริ่มขยับออกจากร่องความเคยชินเดิมๆ ได้แล้ว ฉันเข้าใจว่าบางสิ่งบางอย่างว่า มันไม่ยากอย่างที่คิด การทำงานเด็ก เยาวชนและครอบครัวไม่ใช่งาน หิน แต่ง่ายนิดเดียวเพียงแต่เราต้องเอาจริงเอาจังกับมันเท่านั้นเอง
ถึง แม้จะเรียนแค่ห้าครั้งแต่ก็ทำให้ฉันได้พบความสุขรายทางได้จริงๆ ฉันได้ซึมซับหลักทรงงานของในหลวง หลักคิด หลักยึดที่ช่วยยกระดับชีวิตของตนเอง และได้รู้ว่าชีวิตคนเรามันแยกส่วนไม่ได้ การเรียนการสอนที่ผ่านมามันแยกส่วนจนทำให้ผู้คนยึดมั่นถือมั่นในอัตตามากจน พอกพูนและรับไม่ได้กับคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น ไม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองบกพร่อง และในที่สุดความสุขที่ไขว่คว้าก็หาไม่เจอ ...
จินต์...หนองสนิท
หาก มีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ที่มีมุมมองน่าสนใจ ผู้เขียนจะทยอยนำเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มาแบ่งปันผู้อ่านกันอีกเรื่อยๆ หากท่านใดสนใจสามารถรอติดตามกันต่อได้ในบล็อกมูลนิธิสยามกัมมาจลนี้
หรือในเว็บไซต์มูลนิธิฯ (http://www.scbfoundation.com)
และในเฟซบุ๊กมูลนิธิฯ (https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION)