ยิ่งยง คำฝอย (ไผ่) อายุ 17 ปีเยาวชนแกนนำจากตำบลหนองสนิท อ.สนม จ.สุรินทร์ มีโอกาสได้มาพูดคุยเพื่อเล่าเรื่องราวของตนเองให้ผู้อื่นได้ฟังกัน เจ้าตัวเริ่มเล่าว่าตอนนี้ทำงานอบรมกู้ชีพ ที่ตำบลหนองสนิท และเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ กศน.จอมพระ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าจะจบปีหน้า แต่ยังไม่ได้วางแพลนว่าจะต่อระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่ เจ้าตัวเล่าว่าเหตุผลที่ออกมาเรียนนอกระบบ เกิดจากการวางแผนกับครอบครัวตั้งแต่เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว “ที่มาเรียน กศน.พ่อแม่ก็สนับสนุน พ่อแม่ก็เข้าใจ ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ประถมแล้ว ผมคุยกันกับแม่ตั้งแต่ประถมว่าถ้าจบ ม.3 ผมขออนุญาตเรียน กศน.นะครับ เพราะถ้าเราเรียนแต่ในห้องเรียน เราจบมามีใบปริญญา มันก็มีโอกาสตกงานอยู่ดี ถ้าเราทำงานอะไรไม่เป็น แต่ถ้าเรียน กศน.ก็ได้ทั้งใบปริญญา และทำงานเลี้ยงอาชีพได้ด้วยครับ พ่อแม่ก็เข้าใจ เขาก็คิดเหมือนผมเหมือนกัน”
“การเรียน กศน.ทำให้เรามีเวลาออกมาเรียนรู้ภายนอกมากขึ้นนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน ถ้าเราเรียนในห้องเรียน เราจะได้เรียนแต่หลักวิชาการ แต่ถ้าเราออกมาเรียน กศน.ก็จะมีวิชาชีพเยอะแยะเลยครับ ผมได้เรียนเรื่องการปลูกผักเลี้ยงสัตว์ ขายได้ ทำเป็นอาชีพได้ สามารถซ่อมรถได้ ทักษะที่ผมมีจากการเรียน กศน.ก็มีเรื่องการปลูกผัก การเลี้ยงปลา ซ่อมรถ และมีเรื่องของคอมพิวเตอร์ด้วยเพราะไปอบรมมาบ้าง” เจ้าตัวเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ
สำหรับการมาร่วมค่ายในครั้งนี้ พี่สมเกียรติ สาระหัวหน้าสำนักงานปลัด ได้ชักชวนมา โดย ชวนเข้าร่วม ค่ายสร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่สำนึกพลเมืองรุ่นใหม่สร้างสรรค์ชุมชน" ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 19-30 เมษายน 2561 ที่จังหวดบุรีรัมย์ และเวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT สร้างแรงบันดาลใจเพื่อยกระดับสมรรถนะของเยาวชนและพี่เลี้ยง จังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 27 - 29 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้มีบทบาทเป็นแกนนำเยาวชนประจำตำบลหนองสนิท รับผิดชอบโครงการ "รณรงค์การสวมใส่หมวกกันน้อคและลดอุบัติเหตุทางถนน"ภายใต้ “โครงการการพัฒนาระบบและกลไกการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนและชุมชน ตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์”ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเก็บข้อมูล โดยทำงานร่วมกับโรงเรียนหนองสนิทวิทยาด้วย “กำลังเก็บข้อมูลว่าในโรงเรียนมีผู้สวมใส่หมวกกันน้อคเป็นจำนวนกี่เปอร์เซนต์ เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไปครับ” ยิ่งยงขยายความ ระหว่างทำโครงการ ทางอบต.หนองสนิทได้ส่งมาเข้าร่วมค่ายพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 25 อปท. จังหวัดสุรินทร์ (ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค) สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , กสศ. , สถาบันยุวโพธิชน , สกสว. , ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่ 1- 21 ตุลาคม 2562 ณ หน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำห้วยสามสบ ต.ศรีสะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน ซึ่งเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าตัวได้มาเล่าถึงประสบการณ์ในค่ายให้ฟังกันต่อว่า...
การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ พี่สมเกียรติ สาระ ชวนมาตั้งแต่ค่ายแรกที่บุรีรัมย์ ผมรู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรมากมาย และติดใจ ก็เลยมาร่วมค่าย “สิ่งที่ได้เรียนรู้ คือการที่ได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น การเข้ากับผู้อื่น การจัดการวางแผน การทำงานเป็นทีม การควบคุมอารมณ์ ถ้าเราไม่ควบคุมอารมณ์ก็จะเกิดความวุ่นวายมากมาย ทำให้ได้พัฒนาตัวเองขึ้นอีกเยอะ กล้าพูดกล้าหยิบไมค์ ก่อนเข้าอบรมครั้งนี้ ผมเป็นคนเงียบๆ เก็บตัวอยู่บ้าน ไม่ค่อยออกไปยุ่งกับคนอื่น แต่พอมากิจกรรมก็ได้คุยกับเพื่อนมากมาย กล้าเปิดใจ กล้ารับสิ่งต่างๆ มากขึ้น สิ่งที่เราเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือการเข้ากับผู้อื่นเพราะเมื่อก่อนผมเป็นคนที่ไม่ยุ่งกับคนอื่นเลยครับ ถ้าไม่มีใครมาชวนคุยก็ไม่ได้คุยกันเลยครับ แต่ว่านี่เราก็ชวนคุย ชวนเพื่อนคุยมากขึ้น มันทำให้เรามีเพื่อนเยอะมากขึ้น มีสัมพันธภาพไมตรีมากขึ้น มีประโยชน์ในการทำงานถ้าเขาเห็นเราเป็นคนเงียบๆ เขาก็จะไม่กล้ามายุ่งกับเรา แต่ถ้าเราพูดบ้าง เขาก็จะเห็นว่าเราเข้ากับคนอื่นได้”
และสิ่งที่เจ้าตัวบอกว่าชอบในค่ายนี้คือ.. “ผมชอบการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนครับ มีความสุข และได้เรียนรู้กับเพื่อนในมุมมองต่างๆ ของเพื่อนแต่ละคน เราก็จะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น ที่เราคิดเองคิดไม่ได้ ถ้าเราคิดคนเดียวจะมีแค่มุมเดียว แต่ถ้าคิดกับเพื่อนก็จะมีมุมอื่นๆ อีก สามารถเอามารวมเป็นงานเดียวกันได้ มีการพัฒนามากขึ้น อย่างเช่นกิจกรรมการเล่นตีบอล ถ้าให้ผมคิดคนเดียวก็จะมีมุมเดียว มีแต่แผนเดิมๆ แต่ถ้าลองให้เพื่อนขึ้นมาเป็นผู้นำบ้าง มาคิดร่วมกัน ก็จะมีวิธีแก้ปัญหาอีกเยอะเลยครับ ก็สามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเราแก้ปัญหาคนเดียว แน่นอนว่ายากอยู่แล้ว และจะท้อ แต่ถ้ามีเพื่อนช่วยคิดช่วยแก้ปัญหาร่วมกันก็จะแก้ปัญหาได้ จะไม่มีปัญหาเลย”
“อีกสิ่งหนึ่งคือผมกล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น อย่างเช่น การไปพูดไมค์กลางที่สาธารณะ จะมีไม่กี่คนที่จะมีโอกาสไปพูดอยู่กลางตลาดแล้วมีคนอื่นมานั่งฟังเราเป็นร้อยคน รู้สึกตื่นเต้นดี และมีความสุขที่เขาให้ความสนใจเรา มันทำให้เรากล้าหาญมากขึ้น ที่ผมไปค่ายครั้งแรกพูดไม่ออกสักคำ แต่มาค่ายนี้กล้าพูดมากขึ้น เพราะพูดไมค์เยอะขึ้น การที่เราเป็นคนกล้าพูดเป็นการก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง ถ้าอนาคตเราไม่กล้าทำอะไร เราจะย้อนคิดกลับไปว่าที่เราพูดกลางตลาด เราทำอย่างไรเราจึงก้าวผ่านความกลัวตัวเองได้ครับ”
“สิ่งที่ชอบคือการร่วมกันทำงานกับเพื่อน การทำงานคนเดียวมันทำงานได้ยาก แต่การทำงานเป็นทีมจะมีทีมมาช่วยเหลือจะทำงานได้ง่ายขึ้นการทำงานเป็นทีมของผม ส่วนมากผมจะเป็นคนวางแผน แล้วช่วยแบ่งงานเพื่อนเป็นส่วน ๆ ให้เพื่อน ๆ ช่วยทำ และเมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยวางแผน ทำงานก็คือทำไปเลย แต่พอมาเข้ากิจกรรมแบบนี้ก็มีความคิดมากขึ้น มีระบบระเบียบในการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น”
นอกจาก ยังมีสิ่งที่เจ้าตัวไม่ชอบในค่ายนี้ เป็นสิ่งที่ไผ่อยากเสนอให้เพื่อน ๆ ได้ร่วมกันเรียนรู้ในครั้งต่อ ๆ ไป ให้ดีมากขึ้น เช่น... “การที่เพื่อนบางคนไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม เพราะการที่ไม่มาทำกิจกรรม นอกจากทำให้กิจกรรมล่าช้าแล้วยังทำให้เลิกช้า ปล่อยช้า แล้วเขาก็ไม่ได้เรียนรู้ ถ้าให้ผมช่วย ผมก็จะบอกเขา ให้เหตุผลเขาว่าทำไมควรมาร่วมกิจกรรม อีกสิ่งที่ไม่ชอบคือการที่ไม่มีวันหยุด ทำให้เหนื่อย ทำให้ป่วยได้ง่าย ถ้าขอได้จะขอวันหยุดอาทิตย์ละ 1 วัน มีเวลาซักผ้า ก็น่าจะทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น มีเวลาพักผ่อนเตรียมร่างกาย ได้ทำภารกิจส่วนตัว อย่างที่ 3 ที่ไม่ชอบคือการติดเล่นจนเกินไป คืออย่างเช่นการทำกิจกรรม บางคนก็เล่นอย่างเดียว เขาไม่ค่อยร่วมมือ มันทำให้รู้สึกเหนื่อย เบื่อหน่าย ก็อยากบอกให้เขาตั้งใจทำมากกว่านี้ ให้เขาให้ความร่วมมือกับกิจกรรม ลดเสียงลงบ้างเวลาคุยกัน ก็อยู่ที่เพื่อนด้วย ถ้าเขาไม่ยอมเปลี่ยนเราก็ทำอะไรไม่ได้”
สำหรับกิจกรรมในค่ายนี้ มีหลากหลาย แต่ที่ “ไผ่”บอกว่าชอบยกตัวอย่างมา 3 กิจกรรม “กิจกรรมแรก คือกิจกรรมช้างท่องโลกเหตุผลเพราะทำให้เราได้ทำงานเป็นทีมมากขึ้น ถ้าเพื่อนข้างหน้าไม่บอกเราว่าข้างหน้ามีอะไร เราก็จะตกหลุม เตะต้นไม้ หัวชนต้นไม้ อะไรแบบนี้ ก็สามารถนำไปใช้กับตัวเองได้ครับคือการที่มีเพื่อนคอยบอกในสิ่งที่เราไม่รู้อีกกิจกรรมที่ชอบคือกิจกรรมตีบอลหลายคนอาจมองว่าไม่มีประโยชน์ ไร้สาระ แต่ผมว่าทำให้ได้ฝึกการทำงานเป็นทีม การวางแผน การจัดการคนว่าจัดการอย่างไร คนจะตีลูกบอลทั้ง 2 ครั้งได้ครบ หากนำไปใช้กับงานตัวเองก็คือการวางแผนว่าทำอย่างไรถึงจะแก้ปัญหาส่วนนั้นได้เช่น เพื่อนบางคนตีไม่เก่งแล้วเอาคนตีเก่งไปช่วยประคองเพื่อน กิจกรรมที่ 3 ที่ผมชอบคือกิจกรรมเดินตะปู ถ้าเราไม่สามัคคีกัน ไม่ร่วมมือกัน ถ้าเราติดเล่นจนเกินไปก็จะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ จะล้ม บาดเจ็บได้ เอาไปปรับใช้คือเราต้องมีสมาธิถ้าเราไม่มีสมาธิเราก็จะเหยียบตะปู ในการทำงานจริง คือ ถ้าเราไม่มีสมาธิ ปัญหาก็จะเกิดเยอะแยะเลย เช่น การคุยกัน ถ้าเราไม่มีสมาธิ เราจะคุยกันไม่รู้เรื่อง”
มีกิจกรรมที่ชอบแล้ว ก็มีกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วย “ไผ่” บอกว่าอย่างแรกคือกิจกรรมตาข่ายไฟฟ้า“เพราะการทำงานคือถ้าเราไม่คิดดี ๆ ก็จะไม่สามารถทำได้เลย เพราะว่าเป็นอะไรที่ยากมากที่คนแต่ละคนจะต้องผ่านช่องเล็ก ๆ ไป เป็นกิจกรรมที่ยากเกินไป ไม่สามารถทำได้ ก็เลยรู้สึกว่าเหนื่อย ท้อ แต่เราก็ผ่านมาได้ครับ พี่เลี้ยงเขาอะลุ้มอล่วยอยู่ ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เลย อีกกิจกรรมคือกิจกรรมนิเวศภาวนาไม่ชอบเพราะมันลำบากในการนอน คือ ถ้าเรานอนในกลดจะเป็นกลม ๆ เล็ก ๆ คือคนขายาวจะนอนลำบาก ทีนี้ยุงก็กัด ก็รู้สึกว่าลำบาก และการอดอาหารด้วย ตอนที่ไปนิเวศภาวนา ผมไม่ได้คิดอะไรมาก ขึ้นไปแล้วก็แผ่เมตตา ขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทางเสร็จแล้วผมก็นอนเลยครับ ใจก็อยากไปรวมกับเพื่อน แต่สมองสั่งการว่าอย่าไปดีกว่า มืด อันตรายด้วย ถ้าไปหาเพื่อนก็ทำให้เราไม่ได้ฝึกอะไรมากขึ้นด้วย คือเราก็อยากฝึกด้วยใจหนึ่งก็อยากไปครับ เพื่อนก็เรียกเสียงดังด้วย คืนนั้นก็มีบางจังหวะที่อากาศหนาว กลัวตัวเองเป็นไข้ ทำตัวเองให้อุ่นที่สุด ความกลัวที่มีก็กลัวงู เพราะที่ผมไปนอนเป็นป่าไผ่ ก็กลัวงูอยู่ในรูแถวๆ นั้น ผมสะดุ้งตื่นตี 3 วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เต็มดวงพอดี สว่าง ก็ทำให้ระแวงมากขึ้น ผมเห็นพระจันทร์ เห็นต้นไม้บัง ก็เห็นเป็นเงา สำหรับผมกิจกรรมนี้ก็ขึ้นไปได้ แต่ให้เลือกได้ก็ไม่อยากนอนในกลดเพราะนอนลำบาก ตื่นมาแล้วปวดหลัง เรื่องให้ไปนอนในป่านอนได้ แต่ขอที่นอนใหม่ อาจจะเป็นมุ้งหรือเป็นเต้นท์ ผมไม่ได้กลัวการขึ้นไปอยู่คนเดียว ก็มีบางครั้งที่สมองเราจินตนาการไปถึงหนังผีที่เราเคยดู แวบมา ผมก็พยายามคิดถึงเรื่องสนุก เรื่องอื่นๆ แทน ให้มันเข้าไปแทนเรื่องที่เรากลัว เช่น การเล่นกีฬา ส่วนกิจกรรมที่เหลือผมก็ชอบหมดครับ ไม่มีอะไรที่ไม่ชอบอีก”
สำหรับในอนาคตเจ้าตัวบอกว่าความฝันคืออยากทำงานด้านคอมพิวเตอร์ “ในอนาคตผมคืออยากทำงานคอมพิวเตอร์การลงโปรแกรมอะไรแบบนี้ ครูส่งไปอบรมเรื่องคอมพิวเตอร์ ผมตัดต่อวิดีโอได้ ทำคลิปได้ และเรื่องโปรแกรมก็ได้อยู่ โปรแกรมที่ได้คือโปรแกรมทั่วไป ผมตัดต่อคลิปวิดีโอให้ อบต.หนองสนิท เวลาไปนำเสนองานนิทรรศการ และทำช่องยูทูปกับเพื่อน ชื่อช่อง “กัซสตูดิโอ” ทำเพจกับเพื่อน ชื่อเพจ “คำคมนักตะกร้อ” ทำเพจนี้เพราะผม เป็นคนชอบกีฬาตะกร้อ และเล่นตะกร้อด้วยครับ สื่อที่ได้รับความนิยมจะเป็นช่องกัซสตูดิโอ ผมทำร่วมกันกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง ประมาณ 5 – 6 คน คลิปที่ทำคือกิจกรรมเยาวชนจิตอาสา อบต.หนองสนิท ทำกิจกรรมร่วมกัน พวกผมจะถ่ายคลิปและตัดต่อ ได้รับคำชมจากพี่ ๆ ใน อบต. มีคนชมบนยูทูปเยอะด้วยครับ วิธีการทำคลิปของผมจะเน้นการเปิดคลิปแล้วพูดเรื่องกิจกรรมที่เราทำ และระหว่างทำกิจกรรมก็จะมีการปล่อยมุขเรียกเสียงหัวเราะเพื่อความสนุก ไม่น่าเบื่อ จะมีพิธีกร มีการหยอกล้อเพื่อนในกิจกรรม คุยกัน แนะนำไปเรื่อยๆ ผมจะมีหน้าที่ตบมุกให้เพื่อน ถ่ายวิดีโอเองบ้าง ส่วนเพื่อนผมเป็นพิธีกร”
ถึงแม้จะมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อต้องไปทำงาน “ไผ่” ยังต้องการการเรียนเสริมด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มอยู่ “ผมอยากเรียนคอมพิวเตอร์เพิ่มเพราะมีบางเรื่องที่ผมยังไม่เข้าใจ อยากเสริมเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะบางทีเราทำงานเราอาจจะทำผิด พ.ร.บ.ได้ ส่วนเรื่องทักษะที่อยากฝึกคือการตัดต่อวิดีโอให้เก่งขึ้น มีเทคนิคมากขึ้น ก็น่าสนใจ และการลงโปรแกรมอย่างไรให้ใช้ได้ดี ให้ใช้ได้เสถียรมากขึ้น ก็คิดว่าจะเป็นอาชีพในอนาคตได้ครับ”
นอกจากคอมพิวเตอร์ที่มีความชำนาญ ถึงขนาดวางไว้เป็นอาชีพในอนาคต “ไผ่” ยังมีอาชีพที่สองที่อยากทำควบคู่กันไปคือกู้ชีพ “ตอนนี้ผมมีความฝันอีกอันหนึ่งคือกู้ชีพทำควบคู่กันไปได้นะครับ เพราะกู้ชีพเป็นหน่วยประจำการ รู้สึกว่ากู้ชีพมันเป็นอะไรที่เท่ห์ดีและได้ช่วยเหลือผู้อื่นครับ ตอนนี้ก็ไปอบรมกู้ชีพและสอบผ่านเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่เก็บเคสก็จะได้ใบประกาศนียบัตรมาสมัครงานเป็นกู้ชีพประจำการที่หน่วยได้เลยครับ การสอบกู้ชีพไม่เชิงยากไม่เชิงง่าย อยู่ระหว่างกลาง เราต้องใช้ความจำ อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย เรื่องการประเมินสถานการณ์ การปั้มหัวใจ ถ้าจำได้ก็สอบได้ สอบปฏิบัติการก็มีเรื่องการปั้มหัวใจ การถอดหมวกกันน็อคเมื่อผู้ได้รับอุบัติเหตุนอนพลิกคว่ำ และเรื่องการช่วยผู้ป่วยออกจากสถานที่ที่อันตราย เช่น ไฟไหม้ และช่วยผู้ป่วยออกจากรถกระบะที่เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ว่าจะทำอย่างไรกับกระดูกข้อต่อตรงคอจึงจะไม่หัก เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ แม้เราไม่ได้ทำงานกู้ชีพก็เอามาช่วยเหลือคนรอบข้างได้ หากเขาเกิดอุบัติเหตุ ผมตั้งใจว่ากลับไปจะไปเก็บเคสให้ผ่านแล้วไปทำงานต่อ เหลืออีก 10 เคสครับเคสหนึ่งอย่าง เช่น ถ้าเกิดอุบัติเหตุ เราไปที่เกิดเหตุ ช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นและส่งโรงพยาบาล เขียนใบเอกสารให้เขาเซ็นต์เสร็จแล้วก็ถือเป็น 1 เคสแล้วครับ ก็จะมีพวกบุรุษพยาบาลที่กู้ชีพของเรา เป็นพี่ ๆ ที่คอยดูแลเรา ที่บ้านผมเองก็สนับสนุนครับ ที่บ้านบอกว่าถ้าอยากทำอะไรก็ทำให้สำเร็จ ไม่ต้องไปคิดมาก”
“ไผ่” บอกอีกว่าการใช้ชีวิตของตนเอง มีพี่สมเกียรติเป็นคนหนุนทุกอย่าง “การใช้ชีวิตของผม ก็จะมีพี่สมเกียรติเป็นคนหนุนพาไปทำกิจกรรม หารายได้ ปลูกต้นอ่อนทานตะวันขาย ปลูกผักขาย ตอนนี้ก็มีโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เอาไข่ไปขายได้ ถ้าไม่มีโครงการพวกนี้ ผมก็คงไม่ถึงขั้นสูบบุหรี่กินเหล้า แต่อยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีอะไรทำ เป็นคนว่างงาน ไม่รู้อนาคตตัวเองจะไปทางไหน...
ความภาคภูมิใจของผมคือไม่เที่ยวกลางคืน ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า ไม่ติดยาผมตั้งใจตั้งแต่เด็กว่าจะไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่ พ่อผมก็ตายเพราะมะเร็ง พี่ผมก็สูบบุหรี่ กินเหล้า แล้วไปมีเรื่อง ผมก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีปัญหาเราก็ไม่ทำตาม เราเห็นตัวอย่างแล้วคิดได้เอง แม่ก็บอกผมว่าอย่างน้อยก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แม่ก็ภูมิใจแล้ว ไม่ไปแว้นรถอะไรแบบนี้”
สุดท้ายสำหรับ “ความรู้ ทักษะ”ที่ได้เพิ่มขึ้นจากค่ายนี้ เจ้าตัวบอกว่าคือการวางแผนสามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่าง.. “คือการไปทำงานประกอบอาชีพ ทุกอย่างที่เราทำต้องมีการวางแผน ก็ทำให้เรามีระบบระเบียบในการทำงานมากขึ้น ถ้าเรามีขั้นตอนการทำงานก็มีโอกาสสำเร็จมากกว่าการทำงานแบบไม่มีแผนในหัวส่วนนิสัยที่เปลี่ยนไปหลังค่าย ผมคิดว่าผมอาจจะเป็นคนที่คิดก่อนทำมากขึ้น เพราะแต่ก่อนก็มีบางครั้งที่เผลอทำโดยไม่คิด” เจ้าตัวกล่าวทิ้งท้าย
###