5 ทักษะการเป็น “พี่เลี้ยง” ของ “กันตะ”

­


5 ทักษะการเป็น “พี่เลี้ยง” ของ “กันตะ” 

ธนภัทร สงนวน (กันตะ) พี่เลี้ยงเยาวชนจากเทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ จาก “เยาวชน” ผันตัวเองมาเป็น “พี่เลี้ยง” ลองมาฟังมุมมองการทำหน้าที่พี่เลี้ยงของเขาว่ามีประสบการณ์และได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองอย่างไรบ้าง 

ประโยชน์ของการเข้าค่ายพัฒนาเยาวชน

เข้าค่ายครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยเริ่มจากค่ายบ้านดินเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นเด็กค่ายและหลังจากนั้นก็ได้โอกาสให้เป็นพี่เลี้ยง และมาคราวนี้ก็เป็นพี่เลี้ยงอีกครั้ง รู้สึกว่าเป็นงานจิตอาสาที่เราได้เข้ามาตั้งแต่อยู่ชั้น ป.6 จนตอนนี้อยู่ ม.5 แล้ว จึงเป็นการซึมซับไปเรื่อยๆ เพราะพ่อก็เป็นผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้นเวลามีกิจกรรมในหมู่บ้านและเวลามีคนเข้ามา เราก็ต้องรับแขก แล้วรู้สึกว่าเราได้ซึมซับเรื่อยๆ จากการได้นั่งฟัง ได้ดู และได้เริ่มเดินเข้ามาทำงาน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองคือจากในตอนแรกเป็นคนไม่กล้าที่จะตัดสินใจทำอะไร ทำให้เปลี่ยนเป็นคนที่มีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้เรากล้าทำมากขึ้นในฐานะเยาวชนคนหนึ่งที่มีสิทธิ์ที่จะคิดและทำได้

แต่ก่อนมีมุมมองของตัวเองในฐานะเด็กค่ายคิดว่าพี่เลี้ยงเป็นงานที่สบาย แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ คืออาจไม่ต้องร่วมกิจกรรมแต่เราต้องมีกระบวนการทักษะที่จะทำให้น้องในค่ายสามารถเรียนรู้ได้ ต้องมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้น้องได้รับความรู้มากที่สุด เช่น จะซักถามอย่างไรให้น้องได้คิดและมีกระบวนการคิด ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

และตอนเป็นเด็กค่ายก็เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยรู้สึกว่าตัวเองมีความกล้าและมีอะไรอยู่ข้างในตัว ที่รู้สึกว่าเรานิ่งขึ้น จิตใจไม่วอกแวกกับสิ่งอื่นได้ง่าย เพราะผ่านการเข้าค่ายมาเรื่อยๆ และมีกิจกรรมโดยการสวดมนต์ในค่าย ที่ทำให้เราคิดถึงตัวเองตลอดเวลา ได้ดูแลตัวเองมากขึ้น แต่ก่อนจะอ่อนไหวกับสิ่งรอบข้างได้ง่าย แต่การมาอยู่ในค่ายทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเอง

เป็นพี่เลี้ยงได้ประโยชน์อะไรจากค่ายนี้

สิ่งที่ได้จากค่ายนี้ เช่น ได้รู้เวลาเป็นพี่เลี้ยงเราไม่ใช่แค่ให้น้องทำกิจกรรมอย่างเดียแต่เราต้องมองให้ออกว่ากลุ่มเป็นอย่างไร มีพลังมากหรือน้อย ถ้ามีพลังน้อยเราจะโอบอุ้มเขาและดูแลอย่างไร ไม่ใช่แค่ปล่อยน้องทำไป แต่ต้องดูว่าน้องได้เกิดการเรียนรู้หรือยัง แล้วน้องยังสามารถเรียนรู้อะไรได้อีกเราต้องมีส่วนเข้าไปสร้างการเรียนรู้ให้น้อง ด้วยการสร้างอุปสรรคและสร้างความตื่นเต้นท้าทายให้น้องอีกทั้งยังต้องมีทักษะในการอ่านพลังกลุ่มและอ่านตัวเองได้ว่าเราควรทำอะไร เช่น เราควรจะอยู่เฉยๆ หรือควรเข้าไปสร้างสรรค์อะไรหรือเปล่า

­

ประโยชน์ 3 อย่างที่ได้จากค่ายนี้ที่นำไปใช้ได้จริง

1.ความคิดที่เป็นระบบและคิดได้อย่างเจาะลึก ซึ่งถ้าไม่ได้มาค่ายนี้เราจะคิดเป็นเหมือนเส้นตรงอย่างเดียว แต่ค่ายนี้ทำให้เราไม่ใช่แค่คิดได้ โดยต้องคิดว่าเราทำได้หรือเปล่าและมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เราสามารถคิดแล้วเราจะทำมันได้ ทำให้มองโลกกว้างขึ้นและรู้เท่าทันสังคมมากขึ้น รู้ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร

2.การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น โดยเราจะสร้างการมีส่วนร่วมให้เขาได้อย่างไร ซึ่งค่อนข้างเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดได้ทำ และได้ขึ้นมาเป็นผู้นำแต่ไม่ใช่การนำแบบเผด็จการ จะเป็นการนำแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปใช้ในโรงเรียนก็ได้ เช่น การทำงานกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่เราเป็นหัวหน้ากลุ่มอย่างเดียว แต่เราต้องทำให้คนในกลุ่มได้คิดได้ทำและเกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน

3.ได้แรงบันดาลใจโดยเมื่อเราอยู่ไปนานๆ แล้วเรารู้สึกอินไปกับการพัฒนาคน ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีส่วนร่วมในการพัฒนาคนอื่น เป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่เราจะกลับไปทำอะไรกับหมู่บ้านกับชุมชนของเราว่าเราจะพัฒนาอย่างไร ได้คิดว่าจะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้อย่างไรเพื่อจะพัฒนาชุมชนอย่างไรบ้าง

การเป็นพี่เลี้ยงต้องมีทักษะอะไรบ้าง

1.ต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองเพราะเราไม่สามารถจะเข้าค่ายครั้งแรกแล้วเราชอบได้ทุกคน บางครั้ง

อยากตักเตือนหรือบอกน้องแต่ไม่ได้ เพราะในค่ายนี้คือการเรียนรู้จากตนเอง ซึ่งสิ่งแวดล้อมจะ พาเปลี่ยนไป

เอง ก็ต้องปล่อยให้น้องได้เรียนรู้เอง และต้องดูความรู้สึกของเราเอง เช่น เราเป็นคนตั้งคำถาม แต่น้องไม่

สามารถตอบได้ตรงประเด็น ก็ต้องดูนิสัยเก่าของเขาแล้วเราจะเป็นคนเติมเข้าไป

2. ทักษะในการทำให้เขาคิดได้มากที่สุดให้รู้ลึกเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียนรู้มากที่สุด โดยสิ่งที่สำคัญคือทักษะ

การตั้งคำถาม ซึ่งดูเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย และเราไม่สามารถถามสิ่งที่อยู่ในหัวกับน้องได้ทันที แต่เราต้อง

อ่านรอให้ออกก่อนว่าน้องรู้สึกอย่างไร บางครั้งเราอาจโยนคำถามอะไรไปแล้วน้องจะตอบคำถามเราหรือเปล่า

เราต้องใช้กระบวนความคิดที่ยากเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่พี่เลี้ยงควรจะมีคือการตั้งคำถามและอ่านออกให้ได้ว่า

น้องเป็นอย่างไร

3.การสังเกตซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าในกลุ่มของพี่เลี้ยงจะมีการถอดบทเรียนที่มองภาพรวมว่าเป็นอย่างไรบ้าง และกับตนเองเป็นอย่างไรบ้าง โดยถ้าเรามาทำเฉยๆ ไม่สังเกตอะไรเลยก็ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ต่อไปได้ และไม่สามารถอ่านน้องได้ว่ามีพลังอย่างไรและจะพัฒนาต่อไปทางไหน ดังนั้นต้องอาศัยการสังเกตตนเอง สังเกตสิ่งรอบข้างและสิ่งแวดล้อม

4.ต้องมีประสบการณ์และองค์ความรู้สูง พี่เลี้ยงต้องผ่านอะไรในสิ่งที่ให้น้องทำมาแล้ว ต้องมีประสบการณ์สูง เช่น กิจกรรมที่ให้น้องทำ เราต้องผ่านมาแล้ว และได้เรียนรู้กับมันมาแล้วว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง เพราะหากเราไม่เคยได้รู้แล้วพาน้องทำ เราก็ไม่รู้ว่ากิจกรรมนี้จะพัฒนาในสิ่งไหน ดังนั้นต้องรู้องค์ความรู้มาก่อน และเคยผ่านกิจกรรมตรงนี้มาก่อน ถึงจะพาให้น้องเรียนรู้ได้ ถ้าเราไม่เคยทำก็ค่อนข้างยาก เพราะประเด็นจะไม่ชัดว่าเราจะให้น้องเรียนรู้เรื่องอะไร

5.มีทักษะเรื่องของการการอยู่ร่วมกับคนอื่น เพราะการเป็นพี่เลี้ยงไม่ใช่การมาอยู่อีกขั้นหนึ่งของน้อง จนน้องเอื้อมถึงไม่ได้ และเราจะทำอย่างไรให้เรามีความผูกพันธ์กับน้องค่าย แต่ยังมีช่องว่างระหว่างการเป็นพี่เลี้ยงกับน้องอยู่ ไม่ใช่เล่นหัวกันได้ ต้องให้น้องเคารพเรา ดังนั้นเราต้องมีทักษะในเรื่องของการวางตัวที่ดีในระดับที่พอดีด้วย เช่น ในการเข้าค่ายไม่ใช่จะมานั่งตัวแข็งแล้วรอสังเกตน้องอย่างเดียว แต่เราต้องมีทักษะการพูดคุย การสานสัมพันธ์กับน้องว่าเป็นอย่างไรบ้าง 


ถอดบทเรียนจากค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมารับใช้ชุมชนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนวิจัยเพื่อท้องถิ่น ครั้งที่ 2 วันที่ 30 เมษายน-11 พฤษภาคม 2561ณ ศูนย์ปราชญ์พ่อคำเดื่อง ภาษี บ้านโนนเขา หมู่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ สนับสนุนโดย มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล