ถึงต่างคนต่างมา แต่ไม่ใช่ว่าต่าง คนต่างทำ
แม้แต่คนต่างทำ แตกต่าง ก็เสริมซึ่งกันและกัน
ต่างมีแสงซ่อน อยู่ในตัวของตน นั่นคือแสงแห่งเยาวชน
เหมือนสงขลามีเขาอยู่กลาง มีของดีๆ มากล้น
หากว่าไม่สนใจใยดี อีกที อาจจะมืดมน
ผ่านอะไรกันมา เพื่อส่องแสงตน
บอกสงขลาให้ส่องแสงอีกหน
เติมความรักให้คนได้กลับมาบนชีวิตดีงาม
ให้เมืองได้กลับมางดมางามแบบสงขลา
ปลุกสำนึกในคนว่าอย่าอยู่เฉยจนเมืองมืดมน
จงจุดศรัทธาและส่องแสงตนออกมา
แม้เป็นแสงเล็กๆ แต่ยัง จะมีความหวังยิ่งใหญ่
แต่เป็นคนเล็กๆ หนึ่งคน แต่จะไม่ยอม เป็นคนไม่สาไหร
ปลุกสงขลาให้กล้าส่องแสงออกไป ปลุกพลังพลเมืองรุ่นใหม่
นี่คือเนื้อร้องของบทเพลง “สงขลาส่องแสง” ที่สงขลาฟอรั่มใช้เปิดคลอในเวที “ประชุมพัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวมของเยาวชน” ที่มีเยาวชนจาก 5 กลุ่มเข้าร่วมคือ1.โครงการปลูกต้นน้ำคืนชีวิต กลุ่ม CD Power จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา 2.โครงการแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัดบ่อทรัพย์ กลุ่มจิตใสอาสา โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ 3.โครงการพลังเยาวชนจัดการชุมชนเรียนรู้หาดสงขลา กลุ่ม Beach for life 2 โรงเรียนมหาวชิราวุธ 4.โครงการภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา 2 กลุ่มชมรมต้นคิด โรงเรียนมหาวชิราวุธ และ 5.โครงการกองทุนขยะเพื่อพัฒนาบ้านเกิด กลุ่ม Rn mix โรงเรียนระโนด
“สงขลาส่องแสง” เป็นเพลงที่ต้องการสะท้อนแนวคิดของ โครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา ที่ว่า สถานการณ์ปัญหาของบ้านเมืองทุกวันนี้ ต้องการ “พลเมือง” ที่ตื่นตัว ตื่นรู้ เอาใจใส่กับบ้านเมือง รู้สึกเป็นเจ้าของ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกัน “ส่องแสง” ใช้ศักยภาพของตนเพื่อลงมือทำให้บ้านเมืองดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังของพลเมืองเยาวชนคนรุ่นใหม่
โครงการพลังพลเมือง เยาวชนสงขลา ดำเนินการโดยกลุ่มสงขลาฟอรั่ม จังหวัดสงขลา สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระหว่างเดือนเมษายน 2555 ถึงเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งได้สนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน จังหวัดสงขลา ให้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาบ้านเมืองจากโจทย์ปัญหาที่ตนเองมองเห็น เช่น การรณรงค์เพื่อหยุดการวางโครงสร้างแข็งจากกระสอบทรายเพื่อลดการพังทลายของชายหาดสมิหลา การปลุกจิตสำนึกให้คนเมืองลุกขึ้นมาแก้ปัญหาย่านเมืองเก่าสงขลา การร่วมกับชุมชนฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ฯลฯ เพราะเชื่อว่า “หัวใจ” ของความเป็นพลเมืองจะเกิดขึ้นต้องเกิดจากการนำตัวเองไปสัมผัสกับโจทย์ปัญหา และเรียนรู้จากการแก้ปัญหา
1 ปีผ่านไป เมื่อโครงการรุ่นที่ 1 สิ้นสุดลงก็พบว่า การทำเช่นนี้ ได้ปลูกความเป็นพลเมืองขึ้นในหัวใจเยาวชนสงขลาจำนวนหนึ่ง พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม จึงต้องการเผยแพร่แนวคิดนี้ เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศลุกขึ้นมาส่องแสงเพื่อบ้านเมืองของเรา เช่นเดียวกับเยาวชนใน จังหวัดสงขลา และได้พจนาถ พจนาพิทักษ์ เป็นผู้แต่งคำร้อง และทำนองเพลงนี้ขึ้นอย่างงดงาม และมีพลัง ซึ่งแรงบันดาลใจของคุณพจนาถก็มาจากการได้พูดคุยกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่เป็นผลผลิตของโครงการนั่นเอง
พรรณิภา กล่าวต่อว่า บทบาทของความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย โดยทั่วไปคำว่า “พลเมือง” (citizen) ในภาคการเมือง สามารถกำหนดได้เป็น 2 ระดับคือ 1.พลเมืองที่กระตือรือร้น (Active citizen) 2.มุ่งปกป้องคุ้มครองสิทธิและมุ่งประโยชน์สาธารณะ (common good) เป็นพลังสำคัญ ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ค่อยมี “กระบวนการ” สร้างสรรค์พลเมืองเยาวชนเท่าที่ควร ซึ่งต่างจากหลายประเทศ เช่น ในประเทศอังกฤษมีรูปแบบการสร้างสรรค์พลเมืองเยาวชนเน้นไปที่ ความรับผิดชอบด้านสังคมและจริยธรรม (Social and moral responsibility) นักเรียนจะต้องเรียนเพื่อพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและจริยธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ และการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Community involvement) นักเรียนจะต้องเรียนให้เกิดความรักและตระหนักต่อหน้าที่ในชุมชน ช่วยบริการชุมชน และเรียนรู้จากชุมชนของตน และที่สำคัญคือต้องมีความรู้ความสามารถในด้านการเมืองการปกครอง (Political literacy) มีความรู้ ทักษะ และค่านิยม ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมืองของประเทศ รู้จักตัดสินใจ แก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค หรือโลก
ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา จะเน้นหลักสูตรความเป็นพลเมืองดีไปที่การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม เน้นความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก การศึกษาเรื่องสถาบันสังคม เน้นส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิพื้นฐาน สถาบันทางเศรษฐกิจ สถาบันทางการเมือง สถาบันที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในโลก และสถาบันเอกชน เช่น ครอบครัว กลุ่มศาสนา รวมทั้งสถาบันเกี่ยวกับสังคมอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่าง ทั้งถิ่นฐานที่ตั้ง และภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ชนกลุ่มน้อย การอยู่ร่วมกันกับผู้ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ลักษณะร่วมของวัฒนธรรมต่างๆ และการนำวัฒนธรรมที่แตกต่างมาเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในประเทศและในโลก รวมถึงการศึกษาปัญหาสังคมที่เป็นปัญหาระดับโลก เช่น สงครามนิวเคลียร์ การว่างงาน ความยากจน เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้คือ การทำงานอาสาสมัคร ที่เน้นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
สำหรับฮ่องกง หลักสูตรพัฒนาความเป็นพลเมืองของประเทศและพลเมืองโลกของฮ่องกงจะเน้นไปที่ การพัฒนาความเป็นชาติเพื่อให้เกิดจิตสำนึกที่เรียกว่า “National Spirit” ทำให้เกิดความรักชาติ (Patriotism) และมีส่วนร่วมช่วยเหลือในกิจการต่างๆ ตามบทบาทและหน้าที่ที่รับผิดชอบ และอีกส่วนหนึ่งเป็นบริบทเกี่ยวกับนานาชาติ พัฒนาการมีส่วนร่วมที่จะช่วยให้โลกที่อยู่อาศัยน่าอยู่ บนพื้นฐานความเข้าใจกันระหว่างประเทศของตนเองกับประเทศอื่น รวมทั้งการตระหนักเรื่องการมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ทั้งหมดนี้เป็นการผสมผสานความเป็นพลเมืองของประเทศและพลเมืองโลกพร้อมกัน
สิงคโปร์ หัวใจสำคัญในการทำงานเพื่อการพัฒนาพลเมืองในกลุ่มเยาวชนของประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ 1.การปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านหลักสูตรการศึกษาและการเรียนรู้ในห้องเรียน 2.การสร้างการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองและทักษะความเป็นพลเมืองให้กับเยาวชนผ่านกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมที่หลากหลาย 3.การสร้างบรรยากาศหรือวิถีความเป็นพลเมืองที่เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านเครือข่ายในท้องถิ่นต่างๆ และ 4.ความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบายของการทำงานเพื่อพัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพ
พรรณิภา กล่าวต่อว่า โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเป็นโครงการที่มี “กระบวนการ” สร้างสรรค์พลเมืองเยาวชน จะเห็นได้ว่าเยาวชนที่ทำโครงการในปีแรก เยาวชนเกิดจิตสำนึกรักชุมชน บ้านเกิด มองเห็นปัญหาของชุมชน และปรารถนาจะร่วมกันแก้ไข มีการสร้างแกนนำร่วมทำงาน และเติมทักษะชีวิตในตัวแกนนำ มีการพัฒนาโครงการและปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้ มีการทบทวนและถอดบทเรียนตัวเอง แต่ที่ยังไม่เข้มข้นมากนักคือเรื่องของประเด็นร่วมและการทำงานสร้างเครือข่าย
สำหรับในปีที่ 2 นี้ โครงการจะเน้นความเป็น “พลเมือง” ที่มีคุณสมบัติสำคัญ 4 ประการ กล่าวคือ 1.พลเมืองต้องมีจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง หมายถึง การยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และคุณงามความดี การมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อชุมชน และสาธารณะ 2.พลเมืองในสังคมประชาธิปไตยต้องรู้จัก เข้าใจ ตระหนัก และหวงแหนในสิทธิของตนเอง รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง เคารพในสิทธิของผู้อื่น 3.ตระหนักและให้ความสำคัญกับกระบวนการของการมีส่วนร่วมของผู้อื่น โดยในกระบวนการของการมีส่วนร่วมของผู้อื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะพลเมืองจะต้องให้ความสำคัญกับการเคารพและรับฟังความคิดหรือความเห็นที่แตกต่างหลากหลายอย่างมีเหตุผลที่เหมาะสม และ 4.พลเมืองในสังคมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีหลักการสำคัญคือ หลักนิติรัฐ อันหมายถึงการปกครองโดยกฎหมาย ดังนั้น พลเมืองจึงต้องมีคุณสมบัติของการเคารพในกฎหมาย โดยต้องยึดมั่นในความยุติธรรมและความเป็นธรรม ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้คือ “คุณสมบัติพื้นฐาน” ที่พลังพลเมืองเยาวชนสงขลาต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้
และที่คือหนึ่งกระบวนการสร้างสรรค์ Active Citizen ของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ถือเป็นแรงขับเคลื่อนเล็กๆ ที่จะช่วยสงขลาส่องแสงให้สังคมไทยได้รับรู้...
ติดตามโครงการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.scbfoundation.com/project/พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา