นางสาวนูรอามีนี สาและ (มีนี) เจ้าหน้าที่หัวหน้างานปฏิบัติการและพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน (โค้ช)
จากการดำเนินงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สิ่งที่ตนเองได้พัฒนาจากงานประสานงานคือ การทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ใส่ใจในรายละเอียดงานในทุกขั้นตอน เช่นในการจัดกิจกรรมพัฒนาโครงการจะต้องมีการประสานและเตรียมงานอย่างไร โดยเฉพาะการประสานงาน ที่ต้องประสานกับคนที่มีหลายบุคลิก ทำให้ได้ฝึกการใช้ถ่อยคำที่มีพลัง ให้เขาได้เห็นความสำคัญของงาน ความสำคัญของตนเอง ซึ่งในช่วงแรก การประสานงานจะเน้นแค่ให้ได้งานอย่างเดียว จนตนเองรู้สึกว่าเสียดายถ้าคนที่เข้ามารู้จักและเข้ามาในชีวิตเรา จะรู้จักกันแค่เพียงเพื่อการทำงานเท่านั้น ทำให้ได้พยายามปรับปรุงวิธีการสื่อสารใหม่ ฝึกการทำงานเชิงรุก เช่นในเรื่องการสรรหาเยาวชนที่สนใจที่จะพัฒนาศักยภาพตนเอง เวลาเจอใคร หรือเพื่อนๆจะรีบพูดคุยหรือเรียกว่าจีบ ให้เขาได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาบ้านเมืองที่เริ่มจากการพัฒนาเยาวชนในชุมชนตนเองโดยอัตโนมัติ (แต่ก็ดูกาลเทศะ) ซึ่งผลจากการดำเนินงานในลักษณะนี้ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์โครงการในวงกว้างมากขึ้น ฝึกประเมินสถานการณ์ของการดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลุ่มเป้าหมาย เช่นในการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้ายืนยันเข้ามาพัฒนาโครงการ ๑๐ กลุ่ม แต่พอใกล้ถึงเวลาจริงไม่สามารถเข้ามาร่วมได้ ทำให้เราต้องรีบมองและประสานกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใกล้ๆ และมีความพร้อมที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการได้ ซึ่งตรงนี้ได้ฝึกทักษะการตัดสินใจที่ต้องใช้เหตุผลตัดสินใจอย่างพอสมควร คิดตั้งแต่ว่าถ้ากลุ่มเป้าหมายมาน้อยมีผลกระทบอย่างไร เช่นการจัดกิจกรรมคุ้มกับงบประมาณที่ใช้หรือไม่ คุ้มกับที่คณะกรรมต้องเสียสละเวลามาร่วมให้ข้อเสนอแนะโครงการ มีผลต่อการขับเคลื่อนงานในขั้นตอนต่อไปหรือไม่อย่างไร
ในงานหนุนเสริมการดำเนินงานกลุ่มเยาวชน สิ่งที่ตนเองได้พัฒนาคือทักษะการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง ซึ่งแต่ก่อนจะเป็นคนที่ใจร้อน โมโหง่าย เบื่อง่าย ถ้าเยาวชนเข้าใจยาก จะรู้สึกขัดใจ จนบางครั้งก็ครอบงำความคิดเขาเพื่อให้งานเสร็จเร็วๆ แต่การที่เจอสถานการณ์แบบนี้ทำให้เราเริ่มมองและทบทวนตัวเองว่าเราสื่อสารรู้เรื่องหรือไม่ ที่น้องไม่เข้าใจเพราะเราพูดไม่รู้เรื่องหรือน้องไม่เข้าใจ เราจะเริ่มใส่ใจรายละเอียดของน้องแต่ละคนมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น จนทำให้เราใจเย็นและมีการเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อรับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งทำให้เราทำงานด้วยความสุข
ในการพัฒนาโครงการและติดตามโครงการเยาวชนทำให้ตนเองได้ฝึกการเป็นวิทยากรกลุ่มย่อยที่ต้องทำหน้าที่เป็น Coach ที่ต้องมีเทคนิค หรือทักษะที่จะทำให้เยาวชนได้เกิดการพัฒนาทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ซึ่งทำให้เราได้ฝึกการตั้งคำถามให้เกิดการเรียนรู้ ฝึกการฟังอย่างครุ่นคิด ฝึกการคิดเชื่อมโยง ฝึกการสื่อสาร ซึ่งรู้สึกว่าน้องจะเข้าใจเรามากขึ้นและเราเองก็สามารถต่อยอดและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับน้องจนความคิดเห็นเราตรงกันและสามารถสร้างสรรค์ชิ้นงานได้สมบูรณ์มากขึ้น จนทำให้ทุกครั้งที่เป็นวิทยากรกลุ่มย่อยตนเองสามารถดำเนินงานได้ด้วยความมั่นใจและกล้าที่จะนำเทคนิคต่างๆมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชม การยกกรณีตัวอย่างมาแลกเปลี่ยน การนำสถานการณ์ของบ้านเมืองมาเชื่อมโยงกับงานของน้องให้น้องได้เห็นคุณค่าของงานที่น้องทำ เห็นถึงจิตสำนึกพลเมืองที่น้องมี
ตนเองได้พัฒนาทักษะในด้านการวางแผนและประเมินสถานการณ์ของการขับเคลื่อนงานโครงการเยาวชน เช่นเกิดกรณีที่ติดตามการดำเนินงานของเยาวชนจากพี่เลี้ยงประจำโครงการแล้วเยาวชนไม่มีการขับเคลื่อนงาน ทำให้ต้องรีบพูดคุยกับพี่เลี้ยงให้ชัดว่าน้องๆประสบปัญหาอะไร พร้อมประเมินศักยภาพของพี่เลี้ยงประจำโครงการ หลังจากนั้นตนเองก็ได้กลับมาทบทวนแผนงานของเยาวชนและวางแผนงานใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น แล้วนำแผนเหล่านั้นไปพูดคุยกับพี่เลี้ยงประจำโครงการให้ชัดและชวนน้องๆคิดและวางแผนงานใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้เยาวชนสามารถขับเคลื่อนโครงการได้ด้วยตนเอง
นอกจากที่ตนเองได้พัฒนาศักยภาพในด้านการทำงานแล้ว เรื่องจิตสำนึกพลเมืองของตนเองก็ได้พัฒนามากขึ้นไปเรื่อยๆ จะเห็นได้จากก่อนหน้านี้ตนเองไม่ค่อยจะสนใจเรื่องการเมือง แต่การทำงานที่สงขลาฟอรั่ม ฝึกให้เราใส่ใจทุกรายละเอียดของสถานการณ์บ้านเมือง ฝึกให้เราคิดถึงที่มาที่ไปของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้มองเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากที่ตัวเราเองที่เป็นคนเพิกเฉย จนทำให้ตัวเองเริ่มมีการปรับปรุงตัวเอง เริ่มนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแลกเปลี่ยนให้คนในครอบครัว กล้าที่จะเสนอความคิดเห็นและถกเถียงเรื่องปัญหาบ้านเมืองกับคนใกล้ตัว