ต่อไปนี้จะไม่มีคำว่า "ยัง (Young) เด็ก" อีกต่อไป ในเมื่อหัวใจของพวกเขา "ยิ่งใหญ่" จนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยสองมือ
"หน้าที่ของหนูคือการเรียนหนังสือเท่านั้น" กลับเป็นประโยคทิ่มแทงใจดำที่เด็กๆ ได้ยินได้ฟังกันมาจนเบื่อ และถ้าจะว่ากันตามจริง หน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ควรมีอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าช่วงวัยไหน นั่นคือการเป็น "พลเมือง" ที่มีคุณภาพของประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะพลเมืองผู้ใหญ่ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา แต่ทุกวันนี้หาคำว่า "คุณภาพ" จากกำลังหลักได้ยากเย็นเหลือเกิน
เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กและเยาวชนในจังหวัดสงขลาจึงรวมตัวกันลุกขึ้นมาสร้างเกราะป้องกันความอ่อนแอให้กับบ้านเมืองของตัวเอง พร้อมบรรเลงบทเพลงแห่งการพัฒนาเพื่อปูพื้นฐานการเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศในอนาคต
1."ความเป็นพลเมืองน่าจะเป็นโจทย์ที่ทุกคนในประเทศต้องตระหนัก ต้องคิด ในขณะเดียวกันเด็กเองก็ต้องเตรียมไว้ คือไม่ใช่แค่เตรียมเข้าสู่อาเซียน แต่เป็นการเตรียมเข้าสู่การมีคุณภาพของการเป็นคนของประเทศ ซึ่งนั่นก็คือความหมายของคำว่าพลเมือง" พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เล่าถึงความสำคัญของการเป็น "พลเมือง" ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการจัดทำ "โครงการพลังพลเมืองสงขลา" (The Young Citizen) พื้นที่แห่งการพัฒนาความเป็นพลเมืองของเด็กๆ ในเขตจังหวัดสงขลา
โครงการพลังพลเมืองสงขลาเกิดขึ้นด้วยความคิดที่ว่า สถานการณ์ของบ้านเมืองต้องการพลเมืองผู้ตื่นตัว ตื่นรู้ เอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง รู้สึกเป็นเจ้าของ และกระตือรือร้นต่อการทำงานของผู้ปกครองบ้านเมือง การจัดทำโครงการนี้จึงเหมือนเป็นการเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้จากชีวิตจริง เพื่อให้เยาวชนมีทักษะชีวิต มีจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเกิดอย่างยั่งยืน
"พลเมืองยุคใหม่ของโลกใบนี้ เดินออกจากบ้านจะไปชนไปสู้กับเขาอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ความสมาร์ท ความฉลาด ความรอบรู้ เราต้องมีงานวิจัยมาหนุน พลเมืองยุคใหม่ต้องอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ไปพูดต่อสู้กับคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองแล้วยังเป็นลักษณะ สาวว่า(น่าจะ) สาวว่าอย่างโน้น สาวว่าอย่างนี้ มันไม่น่าจะแล้วนะ เพราะทุกอย่างมันมีองค์ความรู้" พรรณิภา หรือ ป้าหนูของเด็กๆ ว่า
จุดเด่นของโครงการพลังพลเมืองสงขลาอยู่ที่การให้อิสระทางความคิด โดยให้เด็กและเยาวชนรวมกลุ่มกันศึกษาประเด็นปัญหาในสังคมใกล้ๆ ตัว พร้อมเขียนเป็นข้อเสนอโครงการ ซึ่งแม้จะเป็นครั้งแรกแต่ก็มีเยาวชนนำเสนอโครงการมากถึง 22 โครงการ หลายโครงการทำให้ผู้ใหญ่ในเมืองสงขลาหันมาฉุกคิดถึงประเด็นที่เด็กๆ นำเสนอ ขณะที่อีกหลายโครงการก็ช่วยคลี่คลายปัญหาของชุมชนที่กำลังประสบอยู่ไปได้มาก
2.ยกตัวอย่างเช่น โครงการครู ดีลีฟเวอรี่ ของกลุ่มสังคมศึกษาพัฒนาเยาวชน โดยนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาเอกสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ที่คิดและทำโครงการเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบ จนในที่สุดโรงเรียนบ้านพังเภา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่นิสิตอาสาเข้าไปช่วยสอน ยังเปิดดำเนินการได้อย่างปกติ แม้จะมีครูเพียง 2 คน กับนักเรียน 52 คนก็ตาม
"ถามว่ายุบได้มั้ย ยุบได้ แต่สำหรับโรงเรียนที่คนในชุมชนมีฐานะเท่านั้น อย่างโรงเรียนบ้านพังเภา คนในชุมชนค่อนข้างยากจน พ่อแม่ทำงานโรงงาน พ่อแม่แยกทางกัน ถ้าถูกยุบโรงเรียนเด็กตรงนั้นจะไม่สามารถเรียนหนังสือได้เลย เพราะไม่มีปัญญาไปเรียนที่อื่น" เอกพงษ์ สมหา หรือ เอก นิสิตชั้นปีที่ 3 ประธานโครงการครู ดีลิฟเวอรี่ บอก
เอก มองว่า การศึกษาถือเป็นปัญหาสำคัญที่เขาและเพื่อนๆ ในคณะศึกษาศาสตร์มองเห็น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เอกและเพื่อนๆ ครูอาสาจำนวน 15 ชีวิต พากันนั่งรถจากมหาวิทยาลัยเพื่อเดินทางไปสอนนักเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลออกไปถึง 60 กิโลเมตรทุกๆ สัปดาห์
"ผมลงไปสอนมา 2 เดือนแล้ว ไปทุกวันพุธ เวลาบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น สอน 3 วิชาหลัก คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ แล้วก็เวียนกันสอน โดยใช้ครู 15 คน สามารถสอนได้ทุกวิชา ทุกชั้น ส่วน ป.6 จะเป็นการสอนบ้าง ติวบ้าง พอสอนเสร็จผมก็จัดเวทีประชาคม แล้วก็จัดเสวนาวิชาการ มีผม มีป้าหนู(พรรณิภา โสตถิพันธุ์) มีผู้ใหญ่บ้าน มีผู้นำทางศาสนา มีประธานการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน และมีผู้อำนวยการโรงเรียน มานั่งเสวนากันว่าจะพัฒนายังไง หนึ่งคือเราลงมาช่วยสอน สองจะหาคนในชุมชนที่มีความรู้มาช่วยสอน แล้วจะช่วยขับเคลื่อนทั้งชุมชน โรงเรียน คือพยายามทำให้โรงเรียนนี้ยืนได้ด้วยตนเอง นั่นคือความสำเร็จของเรา
ตอนนี้เราประสบความสำเร็จ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือ หนึ่งทำให้ผู้ปกครองมั่นใจ สองทำให้เด็กมีความรู้มากขึ้น จากเดิมที่ผมไปสอน เด็กไม่มีพื้นฐานเลย เด็ก ป.1 บวกเลขได้แค่ 20 เด็กโรงเรียนอื่นเขาไปเรียนลบ คูณ หาร ได้แล้ว สมัยนี้อนุบาลยังบวกเลขเป็นแล้ว แต่ ป. 2 ยังทดเลขไม่เป็น นี่คือความด้อยกว่าของโรงเรียนในชนบทที่มันเหลื่อมล้ำกันในการศึกษาไทย ผมเข้าไปปูพื้นฐานและเทอมหน้าเราจะลงเต็มๆ ซึ่งผมประสานกับทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยแล้ว ท่านก็สนับสนุนเต็มที่ และเราก็จะทำงานกันจนกว่าจะเป็นพังเภาโมเดล"
แม้เป้าหมายของพวกเขาในตอนนี้จะอยู่ที่โรงเรียนบ้านพังเภา อำเภอสทิงพระ แต่ภาพรวมของการศึกษาทั้งประเทศ เอกก็อยากให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจังทั้งระบบ
"ณ วันนี้โรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังจะถูกยุบมีอยู่มากมาย แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศมองข้าม แล้วบอกว่าปี 2558 จะเข้าอาเซียนแล้ว ผมอยากจะถามว่า ถ้าการศึกษาไทยยังตกต่ำอยู่แบบนี้จะเข้าไปสู้ใครได้ หยุดเถอะครับวาทกรรมติดธงหน้าโรงเรียน เมื่อติดก็พอสักที วันนี้มาพัฒนาดีกว่า ธงชุดหนึ่งเป็นพันๆ โรงเรียนขนาดใหญ่มีงบประมาณเยอะ จัดสรรมาโรงเรียนขนาดเล็กบ้างสิครับ" เอก พ้อ
3.ภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถตีแผ่ปัญหาของเมืองออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด โดยเยาวชนกลุ่มต้นคิด โรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่ดำเนินโครงการได้รวมตัวลงกันพื้นที่เพื่อเรียนรู้ชุมชน และถ่ายภาพออกมา พร้อมๆ กับการศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เพื่อสะท้อนความคิดและสื่อสารกับสาธารณะอย่างมีพลังในรูปแบบสังคมออนไลน์
ธนกฤต โสเจยยะ หรือ จอม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มต้นคิด บอกว่า ที่ต้องใช้ภาพถ่ายในการสื่อสารถึงปัญหา เพราะว่าง่ายต่อการสร้างความเข้าใจ ที่สำคัญคือทุกคนสามารถตีความจากภาพถ่ายได้แบบที่ไม่มีใครตีกรอบ
"มันเป็นเหมือนสัญชาติญาณมากกว่า เราจะทำยังไงก็ได้เพื่อให้บ้านเราดี และเราจะอยู่ในบ้านเราอย่างมีความสุข ถ้าเปรียบสงขลาเป็นบ้านหลังหนึ่ง ถ้าบ้านเราเต็มไปด้วยของสกปรก บ้านรก เราก็มีความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่บ้าน เราอึดอัด แต่ถ้าเมื่อไรที่มันโล่ง หรือเป็นระเบียบ เราก็จะรู้สึกว่า เราเดินหรือหยิบจับใช้สอยในบ้านอย่างมีความสุข มันก็เหมือนกับที่เราทำโครงการนี้ เราอยากปลุกพลังชาวสงขลาให้ลุกขึ้นมาอนุรักษ์และแก้ปัญหาของเมืองที่เป็นบ้านของเรา"
ด้าน มายด์-ปิญชาน์ ทองเจือเพชร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มต้นคิด เสริมว่า สงขลาเป็นเมืองที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติอันมีคุณค่า ภาพถ่ายที่นำมาเสนอจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
"ปัญหาที่เห็นมากที่สุดคือสิ่งดีๆ ที่ถูกมองข้าม พวกเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ถูกมองข้าม อย่างภาพเรือใหญ่กับเรือเล็กก็สะท้อนวิถีชีวิตเก่าๆ กับวิถีชีวิตใหม่ที่เข้ามา เราเปรียบเทียบกันได้ แล้วก็มีเรื่องวัฒนธรรม งิ้ว หนังตะลุงที่มันจะเริ่มสูญหายไป เหมือนที่ถนนนางงามมีงานสมโภชน์อะไรสักอย่าง คนไปดูน้อยมาก ภาพที่เราถ่ายมาสวยมากเลยนะ ดูเหมือนคนน่าจะครึกครื้น แต่จริงๆ คนดูน้อยมาก สาเหตุที่คนมาดูน้อยส่วนหนึ่งคงมาจากวัยรุ่นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากเกินไป มีสื่อใหม่ๆ มากขึ้น เลยไม่สนใจตรงนี้"
สำหรับปัญหาใหญ่ของเมืองสงขลาอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ การพังทลายของชายหาด เรื่องนี้ถูกยกขึ้นมาเป็นปัญหาหลัก โดยกลุ่มหาดเพื่อชีวิต โรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่ทำ โครงการศึกษาปัญหาชายหาดของคนในท้องถิ่น ซึ่ง น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตัวแทนกลุ่มหาดเพื่อชีวิต บอกว่า โรงเรียนมหาวชิราวุธอยู่ใกล้กับหาดสงขลา นักเรียนทุกคนมีความรักและผูกพันกับหาดแห่งนี้ หากหาดพังทลายก็เหมือนกับบ้านของพวกเขาก็พังทลายไปด้วย
"คอนเซ็ปต์ของเราคือ สร้างความรู้ความเข้าใจ ปลูกจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์หาดทราย กิจกรรมหลักๆ จะเป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของหาดสงขลาว่า หาดนี้มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่งผลกระทบต่อชุมชนและคนในสงขลาอย่างไร นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ มีกิจกรรมเดินเท้าเล่าเรื่องหาด มีหนังสือเล่มเล็ก สื่อตัวหนึ่งที่เราคิดว่าจะสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชาวสงขลาได้ ตอนนี้มีทั้งหมด 7 เล่ม เป็นนิทานที่เราแต่งขึ้นมาเพื่อดูแลชายหาดของเรา
ที่พวกเราทำคือชุมชนเก้าเส้ง เราและชุมชนจะเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพราะผมก็ไม่ได้มีความรู้มากมาย ก็ขอลงไปศึกษา ขอลงไปเรียนรู้ พร้อมๆ กับเอาความรู้ตรงนี้ไปเผยแพร่ให้กับคนอื่นๆ เมืองไทยของเรามีดีเยอะ มีทั้งป่าไม้ โรงเรียนไหนอยู่ใกล้ป่าก็เอาป่าเป็นห้องเรียน โรงเรียนไหนอยู่ใกล้หาด ก็เอาหาดเป็นห้องเรียน ผมว่านี่คือโจทย์ที่สำคัญ และถึงจะจบโครงการไปแล้วพวกเราก็คงจะทำงานกันต่อ เพราะเราต้องการสะท้อนให้ทุกๆ คนรู้ว่า บ้านเมืองเรามันเกิดอะไรขึ้น"
4.เพราะโจทย์ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นปัญหาที่เยาวชนทั้ง 22 โครงการสะท้อนออกมาจึงแตกต่างกันไป และใช่ว่าทุกๆ ปัญหาจะเข้าไปแก้ไขกันได้ง่ายๆ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องใช้หัวใจผูกเยาวชนกับพื้นที่นั้นๆ ให้ได้ก่อน
"สิ่งที่เด็กๆ พูดออกมาคือ ไม่อยากหยุด ไม่อยากจบ เพราะเด็กๆ ได้ผูกตัวเองกับเมืองสงขลาแล้ว การผูกตัวเองกับเมืองเท่ากับว่าเขาได้เริ่มมีความคิดอ่านในลักษณะของการเป็นพลเมืองของเมืองสงขลาแล้ว เด็กๆ มาจากบ้านแต่ละครอบครัว เวลาเกิดอะไรในบ้าน เขาจะเดือดร้อน เขาจะไม่ยอม เพราะเขาสำนึกเสมอว่า เขาเป็นสมาชิกหนึ่งในบ้าน แต่เวลาเกิดอะไรขึ้นกับสงขลา ไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของผู้ว่าฯ เป็นเรื่องของเทศบาล เป็นเรื่องของโรงเรียน เรื่องของอะไรต่อมิอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรา แต่จริงๆ แล้วในฐานะที่เราเป็นสมาชิกหนึ่งของสงขลา ยังไงก็เกี่ยวข้องกับเรา การทำอะไรของเราบางอย่างก็ไปกระทบเป็นลูกโซ่ หรือเขาทำอะไรก็กระทบกลับมาเป็นลูกโซ่ เพราะฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับเราไม่ได้
แต่เมื่อเด็กๆ ได้ผูกตัวเองกับชุมชน ได้เห็น และเกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า "สำนึก" เด็กๆ ไปเห็นปัญหาไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาลุกขึ้นมาทำ ไม่มีใครทำเราทำ ลุกขึ้นมาศึกษา ลุกขึ้นมาร่วมกันทำ นั่นคือลุกขึ้นมารับผิดชอบ เราอยากเห็นเด็กๆ มีความคิดแบบนี้ แล้วยังเก็บความรู้สึกว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสงขลามันเกี่ยวข้องกับเรา และเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรก็ตาม ตามความสามารถที่เรามี"
สุดท้ายแล้ว ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ส่วนใหญ่มาจากพลังของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ขับเคลื่อนจนกลายเป็นแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ วันนี้เด็กและเยาวชนในสงขลาพยายามดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเขาแล้ว ด้วยตระหนักถึงหน้าที่ที่มากกว่าการเป็นแค่ "นักเรียน" หรือ "นักศึกษา" คนหนึ่ง แต่วันนี้พวกเขาได้ก้าวขึ้นไปถึงการเป็น "พลเมืองที่มีคุณภาพ" ของประเทศ