เวทีพูนพลังครู ครั้งที่ 1 :ครูผู้สร้างคุณลักษณะที่ดีให้เด็ก

ครูเพ็ญศรี ใจกล้า เป็นครูสอน ม.ต้น ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประจำอยู่ที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๒๖ ครูเพ็ญศรีมีนิสัยใฝ่เรียนรู้มาตั้งแต่ยังเด็กๆ เรียนรู้เรื่องอะไรด้วยความเข้าใจและมักตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เสมอ ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และเรขาคณิตมาก มีความใฝ่ฝันของตนเองตั้งแต่ยังเด็ก “ฉันอยากจะเป็นครูเหมือนพ่อ จะปลูกผักให้แม่ขาย”ครั้งหนึ่งได้ไปชมแปลงเกษตรที่ ม.ขอนแก่น ประทับใจในผลผลิตมาก จึงอยากจะเป็นนักการเกษตร นักวิจัยดิน นักวิจัยปุ๋ย แต่พ่อให้ไปเรียน ปกศ. เพื่อมาเป็นครู หลังจบ ปกศ. มาต่อปริญญาตรีจึงได้เลือกเรียนเป็นครูเกษตรสมใจ (คบ.เอกเกษตร) ครูเพ็ญศรีสอนโครงงานเกษตรและออกเยี่ยมแปลงเกษตรของเด็กๆ อย่างจริงจังตั้งแต่แรกๆ ที่โรงเรียนชื่นชมซึ่งเป็น ร.ร.มัธยมฯ ในจังหวัดครูเพ็ญศรีเขียนตอนหนึ่งในในหนังสือเล่มเล็กว่า “...ข้าพเจ้าพาเด็กทำแปลงเกษตร ปลูกป่าในบริเวณโรงเรียน เลี้ยงปลา เด็กๆ ทำโครงงานที่บ้าน ช่วงออกนิเทศโครงการ สนุกมาก นักเรียนมีความสุขเมื่อครูออกเยี่ยมหน้าแต่ละคนยิ้มแป้นเป็นกะโล่เมื่อเห็นครูไปเยี่ยม บางคนปลูกผัก บางคนเลี้ยงหมู บางคนเลี้ยงไก่เสาร์-อาทิตย์ พาเด็กเข้าไปสำรวจป่าโคกใหญ่ ฉันได้เห็นการใช้ชีวิตกับธรรมชาติของเด็กๆ ฉันภูมิใจที่เด็กรุ่นแรกของฉันมีทุกอาชีพตั้งแต่ป่าไม้ แพทย์ ตำรวจ ครู อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สำคัญคือเป็นเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ...” เมื่อย้ายกลับมาเป็นครูประจำในโรงเรียนบ้านเกิด ความจำเป็นที่โรงเรียนขาดครูสังคม ทำให้ครูเพ็ญศรีกลายมาเป็นครูสังคม ความขยันอดทนและการฝึกฝนตนเองจากอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ ทำให้ครูเพ็ญศรีสามารถประสบความสำเร็จในวันนี้

BP ของครูเพ็ญศรีคือการพัฒนารายวิชาค้นคว้าอิสระ (Independent Study) หรือ IS (ทั้ง IS-1, IS-2, และ IS-3 ) ระดับชั้น ม.ต้น ซึ่งได้ “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” ไปโดยสิ้นเชิงจากการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม บทบาทของผู้เรียนเปลี่ยนจากท่องจำเป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำ บทบาทของผู้สอนจากบอก สั่ง เป็นการตั้งคำถามและอำนวยการเรียนรู้ ถือเป็นความสำเร็จของการบูรณาการระหว่างชั้นเรียน กิจกรรมจิตอาสา และการพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียน ผลลัพธ์ที่เกิดกับนักเรียน ไม่เพียงผลสัมฤทธิ์หรือทักษะการคิดหรือทักษะการเรียนรู้เท่านั้น แต่เด็กๆ ที่เรียนรายวิชา IS ยังเกิดจิตอาสา มีจิตสำนึกที่จะพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นของตนเองด้วย

ความคิดและวิธีคิดของครูเพ็ญศรี

ครูเพ็ญศรี มองว่า “วิกฤตการณ์ของการศึกษาของไทยในขณะนี้คือนักเรียนเรียนกันแต่ในห้อง ท่องจำไว้สอบเอาเกรด คิดอะไรไม่เป็น ทำอะไรไม่เป็น ไม่รู้จักตนเอง ไม่ภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่เข้าใจท้องถิ่น ไม่รักท้องถิ่น ไม่มีงานทำ อยู่ชุมชนไม่เป็นสุข หลั่งไหลเข้าเมือง บริโภคฟุ่มเฟือย พฤติกรรมเสี่ยง รู้ไม่เท่าทันสื่อเทคโนโลยี เหล่านี้ล้วนเป็นผลผลิตของการศึกษาในระบบ จนผู้เรียนขาดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” และมองเกี่ยวกับครูและการจัดการเรียนรู้ของครูว่า “ครูยังยึดติดกับระบบประเมินความจำ ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว ละเลยประเมินความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้เรียน การบริหารจัดการหลักสูตรขาดการบูรณาการกับรากเหง้าที่เป็นทุนทางสังคมทุนทางวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่คุณค่าของชุมชนตนเองอย่างจริงจัง

ครูเพ็ญศรีคิดว่า “ในจิตวิญญาณของความเป็นครู ควรถือโอกาสนี้ ปรับยุทธศาสตร์การสอน สอนทักษะกระบวนการ สอนการให้เครื่องมือหาปลา ไม่ใช่ให้ปลา ซึ่งผู้เรียนเปรียบเหมือนผ้าขาวที่สะอาด แล้วแต่ครูจะบรรจงสร้างสรรค์ การจัดการเรียนรู้บนฐานปัญหา(PBL) เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง ที่จะให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้เอง เป็นการเรียนรู้บนฐานการปฏิบัติ ครูเป็นเพียงผู้ตั้งคำถาม สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ เสริมแรงบันดาลใจ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ปัญหาจริงในชุมชนตนเองซึ่งจะก่อให้เกิดการเห็นคุณค่าของตนเองและชุมชน ขอเพียงแต่ครูครูผู้กล้า เปิดใจปรับเปลี่ยนตัวเอง พร้อมที่จะก้าวเดินไปพร้อมเด็กๆ”

การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Citizen _ ฮักนะ

ครูเพ็ญศรีเริ่ม “ปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน” หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ LLEN มหาสารคาม และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากมูลนิธิกองทุนไทย มูลนิธิสยามกัมมาจล เทคนิคการใช้ละครเร่ การสนับสนุนห้องเรียนซัมซุง ฯลฯ เมื่อมีการเปลี่ยนหลักสูตรให้มีรายวิชา IS จึงสมัครเป็นอาจารย์ผู้สอน แล้วนำเอาประสบการณ์เข้าไปออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของ IS จนเป็นที่มาของรายวิชา IS แบบใหม่ ที่ต้องยกให้เป็นต้นแบบดังรูป

โมเดล Active Citizen_ฮักนะ โมเดล มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะศตวรรษที่ 21 คือ3R 7C ที่ส่งผลให้ผู้เรียนมีคุณธรรม ที่ดีงาม เป็นพลเมืองดีที่มีจิตอาสาเกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ด้วยโครงงาน มีกระบวนการ ดังต่อไปนี้

ครูเพ็ญศรีออกแบบให้ IS ทั้งสามรายวิชาเชื่อมโยงส่งเสริมกัน จากง่ายไปยาก จากในชั้นเรียนไปสู่นอกชั้นเรียน จากภายในใจไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งกระบวนการทั้งออกเป็น ๑๐ ขั้นตอน ต่อเนื่องกัน ๓ ภาคเรียน ได้แก่ ภาคเรียนแรก (IS-1) ๑) เปิดใจ สร้างคุณค่าในตน และสร้างแรงบันดาลใจ ๒) ฝึกคิด ฝึกเขียน ด้วยชุดคำถาม ๓) ลงพื้นที่สำรวจชุมชน ๔) เขียนเค้าร่างโครงงาน ภาคเรียนที่สอง (IS-2) ๕) นำเสนอเค้าร่างโครงงาน ๖) เรียนรู้ปัญหา ๗) เสนอความก้าวหน้า ๘) นำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเปิดโลกโครงงาน ๙) ถอดองค์ความรู้ และ ภาคเรียนสุดท้าย (IS-3) ขั้นที่ ๑๐) จิตอาสาขยายผลสู่ชุมชน