การเข้ามาสนับสนุนโครงการนักถักทอ

แนวคิดในการเข้ามาร่วมโครงการนักถักทอ

  ปัจจัยการบริหารท้องถิ่น ทั้งคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร ระบบ ถือว่ามีส่วนสำคัญมาก แต่ต่อให้เรามีเงิน งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์มากมายแค่ไหน แต่คนก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาทุกอย่าง”

…………….

ดังนั้นท้องถิ่นเราค่อนข้างจะมีปัญหาก็คือว่า บุคคลากรหรือคนของเราเองที่จะมาทำงานเชื่อมกับประชาชนร้อยความเป็นวิถีชุมชนของพื้นที่ตนเอง จะมีบุคคลากรเยอะแต่ทักษะองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเรายังไม่ค่อยมี เหมือนกับว่าเราแสวงหาและอยากได้ อยากเจอ อยากมี แต่จริง ๆ แล้วเรายังไม่รู้ว่าเราจะไปหาได้จากที่ไหน ไปหาครูที่เชี่ยวชาญมีความรู้ เรื่องชวนคิด ชวนทำไม่มี

  โดยอยู่ ๆ ก็มีความคิดว่า เรามีบุคคลากรที่ช่วยงานเราอยู่ หัวใจของเราก็คือนักพัฒนาชุมชน นักวิชาการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ซึ่งเป็นหัวใจของบุคคลากรที่จะทำงานเชื่อมร้อยกับชุมชน แต่ว่าวันนี้เขาก็ยังทำงานแยกส่วนกันอยู่ เราก็อยากจะมีเบ้าหลอมสัก 1 เบ้า เพื่อที่จะนำเขาเหล่านี้มาหลอมรวม ปรับทัศนคติ ความคิด มุมมองการทำงานให้เป็นมาตราฐานขึ้น ทำให้เกิดความคิดว่าถ้าอย่างนั้น เราต้องหาผู้รู้ ที่ใจดี และเก่ง ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือเรา ก็โชคดีมาเจออาจารย์ ทรงพล เจตนาวณิชย์ (ผอ.สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล  แล้วอาจารย์ท่านก็แนะนำให้รู้จักกับโครงการ ซึ่งอาจารย์ท่านช่วยยกร่างหลักสูตรให้เรา ตรงนี้ขึ้นมา ความคิดโดยสรุปก็คือว่า เราอยากมีนักเชื่อมร้อยชุมชน เข้ากับงานพัฒนาในพื้นที่

คิดอย่างไรกับหลักสูตรนักถักทอชุมชน

  หลักสูตรนักถักทอฯ จำเป็นมากและขาดไม่ได้เลยในการที่จะมาทำงานในพื้นที่ให้ประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง หลักสูตรนี้กำหนดชัดเจนว่าจะนำ เด็กเยาวชน และครอบครัวเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้เฉพาะเด็กและครอบครัวเป็นตัวตั้ง มันจะสามารถนำนักถักทอของเรายกระดับสามารถที่จะนำเอาไปปรับใช้กับงานอื่น ๆ ในทุกกระบวนการได้หมด ถ้าเขาประสบความสำเร็จจากการเรียนรู้ และถอดบทเรียนจากหลักสูตรของนักถักทอตรงนี้ เป็นตัวปูพื้นฐานให้ไปทำงานอื่นได้ไม่ยาก

ความรู้สึกในการเข้าร่วมโครงการ

  จากที่ได้มาสัมผัส สังเกต และติดตามนักถักทอของเราที่เข้ามาเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ เราสัมผัส และถามจากน้อง ๆ มาเรียนจากตำบลอื่นด้วย เขาบอกว่าเขามีความสุข

  อันดับแรกสิ่งที่เราเห็นและประทับใจมาก เขาบอกว่าเป็นการเรียนรู้ที่เขามีความสุขมาก ไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันศึกษาที่เขาไปเรียนมา ไม่เหมือนสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นที่เขาเคยไปเรียนมา เขาบอกกับเราว่าสิ่งที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือการที่เขาได้ปฏิบัติการก่อน แล้วไปถอดเป็นบทเรียนทีหลัง และการเรียนจากตรงนี้เป็นการเรียนที่สนุกไปพร้อมกับกิจกรรม และที่ประทับใจคือ เขารู้ว่าวันนี้การทำงานของเขาสามารถที่จะมีภาคีข้างนอกมาร่วมมากมายเหลือเกิน ซึ่งเมื่อก่อนถ้าเขาไม่เข้ามาตรงนี้เขาก็ไม่รู้หรอกว่ามีภาคีอะไรบ้างมากมายไปหมดเลยที่จะทำงานช่วยเหลือเป็นผู้ร่วมพัฒนาด้วยกัน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลคือ

  ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การดำเนินงานในชุมชนประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่ง คือผู้บริหารท้องถิ่นโดยเฉพาะท่านนายก และท่านปลัดเอง เพราะจะเป็นผู้ผลักดัน และผู้สนับสนุนให้เขา

  2 เรื่อง คือ 1. งบประมาณที่จะสนับสนุนให้เขา เป็นค่าใช้จ่ายให้เขาในการเดินทาง การพักค้าง ค่าอาหารในการเล่าเรียนนั่นคือส่วนหนึ่ง 2. การเอื้ออำนวยความสะดวกในวัน เวลา ที่จะให้เขามาเรียนรู้ตรงนี้ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าผู้บริหารมองไม่ออก ฝ่ายประจำสูงสุด คือ ปลัดมองไม่เห็น  ก็ทำให้ไปปิดกลั้นโอกาสเด็กเหล่านี้ ทำให้เขาขาดโอกาสดีๆ แบบนี้ไป ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ต่อท้องถิ่น ทำงานให้ใคร ทำงานให้ท้องถิ่นนั่นแหละ ทำงานให้ฝ่ายหัวหน้าประจำนั่นแหละ เขาเหล่านี้ก็จะกลับไปเป็นกำลังของท้องที่ ของตำบลเขาทั้งนั้นเลย

ใกล้ถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้หรือยัง

  ตั้งแต่เห็นทุกคนที่เข้ามาในหลักสูตรนี้แล้วเขามีความสุข เห็นเขาทำกิจกรรมแล้วเขาร่วมมือกัน ช่วงระยะเวลาไม่นานเขาคุ้นเคยสนิทสนมกัน ตรงนี้เราเห็นเป้าหมายแรกแล้ว

  1. ความรัก ความผูกพันเกิดขึ้นภายในตัวของผู้ที่มาเล่าเรียนด้วยกันเอง ถือว่าประสบผลสำเร็จไปแล้วหนึ่งระดับ ผมมองอย่างนั้น 2.อะไรก็ตามถ้าทำแล้วมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทาย เหมือนกับว่าเขาภูมิใจ ที่ได้มาเจอกันอีกแล้ว แต่ที่จะเป็นความสำเร็จยิ่งไปกว่านั้นก็ต่อเมื่อเขาจบหลักสูตรตรงนี้ไปแล้ว เขาสามารถมีองค์ความรู้ มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญ มีหลักวิชาไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ตรงนี้ผมบอกว่าวันนี้แค่ก้าวแรกเราก็ให้เครดิตการเรียนรู้แบบนี้ เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง ผมว่า ณ ปัจจุบัน ก็เป็นเสมือนก้าวแรกที่ก้าวมา และประสบผลสำเร็จได้รับชัยชนะไปกว่าครึ่งแล้ว ส่วนที่เหลือคือกระบวนการจบหลักสูตร ผมว่าเต็มร้อยแน่นอน ผมอนุมานเอาได้เลยว่า นี่คือผลผลิตที่จะเกิดขึ้น และเขาจะกลับไปพัฒนาพื้นที่แน่นอน

ปัญหาและอุปสรรค

  ปัญหาและอุปสรรคที่ยังมีคือตัวนักถักทอเองบางคนก็ยอมรับว่าเป็นวิธีการใหม่ ซึ่งยังคุ้นชินกับวิธีการเดิม ระบบเดิมที่เต็มไปด้วยระบบสั่งการ แต่อันนี้จะออกนอกกรอบ ตั้งแต่คิดเอง ทำเอง ทำได้ ทำเป็น เสร็จแล้วปัญหาอุปสรรคที่ยังมีอยู่บ้างก็คือบางคนยังใหม่ พอเวลาจะลงไปปฏิบัติภาระกิจที่ได้รับมอบหมายที่เป็นการบ้านออกไปก็อาจจะยังลุยได้ไม่เต็มที่ ยังอาจจะมีความประหม่า ความกังวลอยู่บ้าง แต่ว่าขอให้เขาได้ลงไปฝึกปฏิบัติทำไม่ถึงกี่ครั้งตามหลักเกณฑ์ที่ครูบาร์อาจารย์ให้ไป ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอยู่แล้ว เขาก็ทำอยู่แล้วได้ไม่ยาก

นิยามคำว่านักถักทอ

  ผมมองไปว่าเหมือนนายมาราการผู้ชาญฉลาดคนหนึ่ง นายมาราการก็คือคนที่ร้อยพวงมาลัย หรือจัดพานดอกไม้ ดอกไม้อาจจะต่างพันธุ์ต่างสี หลากหลายมาก แต่นักถักทอหรือนายมาราการผู้ชาญฉลาดต้องสามารถหยิบดอกไม้แต่ละช่อ แต่ละดอก แต่ละพันธุ์ แต่ละสี มาร้อยเรียงให้สวยงาม อาจจะอยู่บนพานที่สวยงาม อยู่บนหิ้งพระบูชาที่สูงส่ง หรือเป็นมาลัยที่สวยงามคล้องให้รางวัลแก่ใครเขาก็จะมีความสุข ผมก็มองว่านักถักทอจะเป็นคนที่ไปร้อยชุมชนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นท้องที่ ท้องถิ่น ภาครัฐและชุมชนเข้าด้วยกันวันใดที่เรามีนักถักทออยู่ในพื้นที่ คนเหล่านี้ก็จะไปเชื่อมร้อยภาคีในท้องถิ่น 4 เหล่า ชุมชน ภาครัฐ ท้องที่ ท้องถิ่นให้สวยงามได้นี่คือคำนิยามที่ผมมอง...