ปรับตัว เปลี่ยนทัศนคติ “แนวคิด” พัฒนาคนทำงาน

หากจะพูดถึง “คนของราษฎร์” คงไม่ยากที่จะหา “คนเก่ง ผลงานดี” แต่ก็ไม่ง่ายที่จะหาคนทำงานอย่าง “มีใจ” เพราะด้วยภาระงานมากมายที่กองอยู่ตรงหน้า อาจทำให้หลายคนไม่ได้ใส่ใจกับทุกรายละเอียด หรือให้ความสำคัญกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเต็มที่ แต่สำหรับ “ป.แจง” ชมพูนุช เปรมบำรุง ตลอดระยะเวลา 14 ปีของการเป็นข้าราชการประจำ แม้เส้นทางการทำงานจะขรุขระ เต็มไปด้วยขวากหนาม เธอก็ไม่ย่อท้อ เธอทุ่มเททำงานอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อสั่งสมประสบการณ์และความรู้ที่ได้นำกลับมาใช้เป็น “พลัง” ในการทำงานเพื่อชุมชนตลอดมา





สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต
ย้อนหลังไป 20 ปี หลังจบการศึกษาวุฒิปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปลัดแจงเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเป็นลูกจ้างภาคเอกชน ถือเป็นสถานที่บ่มเพาะองค์ความรู้เรื่องการทำงานให้กับเธอ โดยเฉพาะงานด้านเอกสาร 5 ปีผ่านไป ปลัดแจงตัดสินใจเข้าสู่อาชีพราชการเพื่อความมั่นคงของชีวิตและเพื่อทำตามความหวังของมารดา

ปลัดแจงเล่าว่า เธอสอบบรรจุในตำแหน่งปลัดได้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543 วันแรกของชีวิตข้าราชการต้องไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญที่ อบต.ดินแดง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ตอนนั้นคิดมากอยู่เหมือนกัน นอกจากต้องทิ้งงานดีๆ ที่มีรายได้หลักหมื่น มารับเงินเดือนไม่กี่พันบาท ยังต้องมาเจอกับความไม่พร้อมทั้งบุคลากร และสถานที่ ทำให้รู้สึกเริ่มท้อแท้ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและมองเห็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเริ่มเรียนรู้งานด้วยตัวเอง นำความรู้ด้านเอกสาร การพิมพ์งานจากงานเดิมมาใช้พิมพ์ข้อบัญญัติ ถือเป็นงานแรกที่ต้องทำแม้ไม่เคยรู้จักมาก่อน พร้อมกับเริ่มเข้าไปขอความช่วยเหลือจากปลัดเทศบาลและนายอำเภอให้ช่วยแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้ รวมถึงได้มีโอกาสเรียนรู้งานศูนย์เด็กเล็กที่ตั้งอยู่ในวัดปะอาง อำเภอไพรบึงเป็นครั้งแรก ซึ่งมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ให้การอุปการะ ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และเป็น “ต้นแบบ” การทำงานแบบ “ใส่ใจ” ของเธอด้วย


2 ปีกว่าของการทำงานที่นี่ ปลัดแจงได้เรียนรู้งานพัฒนาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เธอมีต้นแบบและแรงบันดาลใจในการทำงานมากขึ้น




ช่วงจังหวะ...ชีวิต
ปลัดแจงเล่าต่อว่า หลังจากทำงานอยู่ที่ อบต.ดินแดงได้ 2 ปีก็ขอย้ายมาอยู่ที่ อบต.ดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่เนื่องจากพื้นที่ตำบลดอนคากว้างใหญ่ มีพื้นที่อยู่ในความดูแลถึง 18 หมู่บ้าน ในฐานะที่เป็นข้าราชการ

ท้องถิ่นจึงต้องลงไปดูแลทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และงานส่งเสริมอาชีพ อย่างเต็มความสามารถ กอปรกับ อบต.ดอนคามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลายแห่ง แต่ขณะนั้น อบต.ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ เราจึงต้องเข้ามาช่วยดำเนินการจัดตั้งงบประมาณของ อบต. และดำเนินการของบประมาณจัดสรรไปพร้อมกัน ทำให้ได้เรียนรู้งานด้านศูนย์เด็กเล็กอย่างเป็นรูปธรรม


อยู่ที่ อบต.ดอนคา ได้ 3 ปี ชีวิตการทำงานก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมในการใช้ชีวิต และเห็นลู่ทางที่จะได้ทำงานใกล้บ้านเกิดมากขึ้น จึงขอย้ายไปอยู่ที่ อบต.ดอนตาล อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ได้เพียง 6 เดือน ด้วยจังหวะชีวิต ปลัดแจงเห็นโอกาสที่จะกลับไปทำงานที่จังหวัดนครนายกบ้านเกิด จึงขอย้ายไปอยู่ อบต.บึงศาล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก พร้อมกับเริ่มทำงานหลายๆ ด้าน ทั้งงานโครงสร้างพื้นฐาน งานด้านเด็กและเยาวชนและผู้พิการอย่างจริงจัง ซึ่งบางเรื่องก็ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่หวังไว้ เพราะติดเงื่อนไขเรื่องการใช้งบประมาณ แต่เพราะยังมี “ความฝัน” อยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคนมากกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากทำงานใกล้บ้านได้เพียง 2 ปี เธอจึงตัดสินใจย้ายกลับไปที่ อบต.ดอนตาล ตามคำชักชวนของนายกฯ ในเวลานั้น


“ถ้าเราอยากพัฒนาเด็ก พัฒนาอาชีพ หรืออยากพัฒนาพื้นที่ที่เราทำงานอยู่ เราก็ต้องลงมือทำ”



เพราะอยาก “เดินตามฝัน” และอยากทำงานรูปแบบใหม่ๆ ปลัดแจงตัดสินใจย้ายงานอีกครั้ง เมื่อรู้ว่า อบต.ดอนมะสังข์ที่อยู่ใกล้ๆ กับ อบต.ดอนตาล กำลังหา “คนมีใจ” มาร่วมทำงาน แม้รู้ว่าต้องเจองานหนัก แต่เธอก็เต็มใจย้ายมาเพียงเพราะว่าอยากทำงานที่ท้าทายมากขึ้นเท่านั้น


“การที่เราจะย้ายหรือเปลี่ยนที่ทำงานบ่อยๆ เราต้องมั่นใจว่าตัวเราเป็นคนมีคุณค่า หรือไม่เราก็พยายามสร้างคุณค่าให้ตัวเอง ถ้าเราอยากพัฒนาเด็ก พัฒนาอาชีพ หรืออยากพัฒนาพื้นที่ที่เราทำงานอยู่ เราก็ต้องลงมือทำ ที่ดอนมะสังข์ก็มีหลายๆ อย่าง คิดว่าน่าจะได้ทำงานที่สนุกมากขึ้น และได้เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้พัฒนาตัวเอง ยิ่งถ้าเราผ่านงานหนักๆ ได้ ย่อมแสดงถึงศักยภาพที่มีในตัวเรา”

เดินหน้าทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน
ปลัดแจงเล่าต่อว่า จำได้เลยว่ามาเริ่มงานที่ อบต.ดอนมะสังข์วันแรกคือวันที่ 8 มีนาคม 2556 พร้อมกับร่วมขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน ซึ่งเป็นนโยบายหลักของอดีตนายก อบต. ด้วยเชื่อว่าเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าพัฒนาเด็กให้ดี ให้ฉลาดได้ ทุกอย่างก็จะพัฒนาได้หมด ซึ่งปลัดแจงเองก็เชื่อว่าการพัฒนาถ้าจะให้เกิดผลดี ต้องเริ่มที่เด็ก แม้กระทั่งการสร้างเสริมสุขภาพก็ต้องเริ่มตั้งแต่ทารกในครรภ์ นโยบายการพัฒนาเด็กและเยาวชนจึงเดินไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของโครงการนักถักทอชุมชนซึ่งสอดรับกับการทำงานเชิงรุกของ อบต.ดอนมะสังข์อยู่พอดี จึงเสมือนเป็น “โอกาส” ให้ปลัดแจงได้ทำงานพัฒนาศักยภาพคนดังที่ฝันไว้

­


“ช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งปลัด อบต.ดอนมะสังข์ เราให้ความสนใจการพัฒนาสภาเด็กและเยาวชนของ อบต. มาก เพราะยังไม่เคยเห็นบรรยากาศที่มีนักพัฒนาชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ อบต. เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ อย่างต่อเนื่องและน่าสนใจแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหลอมรวมใจของเยาวชนด้วยวิถีทางพุทธ การปลูกจิตสำนึกรักตัวเอง สังคม สิ่งแวดล้อม การสร้างเสริมทักษะชีวิต และความบันเทิง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เราได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสและร่วมเรียนรู้ไปกับทีมนักถักทอชุมชนตลอดเวลา”

เติมเต็มนักถักทอชุมชน
สำหรับชีวิตการทำงานที่ อบต.ดอนมะสังข์ นอกจากปลัดแจงจะต้องดำเนินการตามนโยบายนายก อบต. ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านเด็กและเยาวชนที่เดินหน้าอย่างเด่นชัดแล้ว ด้วยบทบาทการเป็นปลัดที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเข้าไปช่วยทีมนักถักทอชุมชนขับเคลื่อนงานอย่างเต็มรูปแบบ

­



“การทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เวลาที่ไม่ใช่เวลาทำงาน ทั้งช่วงเย็น วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ฉะนั้นคนทำงานด้านนี้ต้องเป็นคนที่มีใจและมีความเสียสละมาก ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากที่มีคนทำงานเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้เมื่อทีมนักถักทอชุมชนต้องการให้เราช่วยอะไร เราจึงสนับสนุนเต็มที่ ทั้งเรื่องเวลา วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ หรือบุคลากร โดยเราพยายามหนุนให้พนักงานทุกฝ่ายใน อบต.เข้าไปเป็นทีมทำงานร่วมกับนักถักทอชุมชนด้วยทุกครั้ง เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานที่ดีต้องทำเป็นทีม ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ อบต.เป็นอย่างดี เห็นได้ว่าเวลามีงานอะไรทุกคนจะเข้ามาร่วมทำงานด้วยความสนุกสนาน หากช่วงไหนเว้นว่างไปหน่อย ก็จะมีคำถามว่าเมื่อไรจะมีการจัดงานอีก ถือเป็นการสร้างความสุขในการทำงานได้ทางหนึ่ง”

สานสัมพันธ์ชุมชน
ผลที่เกิดขึ้นนอกจากจะเห็นเด็กที่ “ใฝ่ดี” มารวมตัวทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ด้วยจิตสาธารณะ ไม่หันเหเข้าหาอบายมุข มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พร้อมจะทำกิจกรรมดีๆ เพื่อชุมชนสังคมแล้ว ยังได้เห็นผู้ใหญ่ “ใส่ใจ” กับปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนมากขึ้น ทั้ง อบต. ภาคีเครือข่าย คนในชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงองค์กรภายนอกที่เข้ามาผนึกกำลังทำงานเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน
ส่วนตัวเธอเองก็เกิด “ความภาคภูมิใจ” ว่าสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนดีขึ้น ที่สำคัญคือสามารถ “สานฝัน” ที่อยากเห็นข้าราชการกับชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ เป็นผลจากความมุ่งมั่นทำงานอย่างเสียสละร่วมกับคณะทำงานโดยไม่เน้นการใช้งบประมาณมากมาย ด้วยแรงบันดาลใจที่ว่า...

“ต้องเริ่มทำงานจากจุดเล็กๆ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก่อนจะขยายเป็นจุดใหญ่ โดยเริ่มจากให้เด็กได้รู้จักวางเป้าหมายในชีวิต เพราะเชื่อว่าถ้าเขามีเป้าหมายที่ดีก็จะมีอนาคตที่ดีตามไปด้วย ซึ่งความฝันของคนทำงานคือส่งเสริมให้เด็กใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำงานเลี้ยงชีพ แล้วนำความรู้ความสามารถกลับมาพัฒนาชุมชนต่อไป”

ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการทำงานในฐานะนักถักทอชุมชนเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า หากคนทำงานรู้จักปรับตัว เปลี่ยนทัศนคติเพื่อเรียนรู้กับสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามา และนำมาปรับใช้เป็นองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเองและสังคม จะทำให้งานทุกงาน เงินทุกบาท ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า เปรียบเหมือนได้ทั้งคนและงานคุณภาพไปพร้อมกัน

­