“iOrder” โปรแกรมเยนเยน เพื่อโลกร้อนร้อน

“iOrder”

โปรแกรมเยนเยน เพื่อโลกร้อนร้อน

ชื่อผลงาน : ระบบจดรายการสั่งสินค้าอัจฉริยะเพื่อองค์กรธุรกิจท้องถิ่น (iOrder)

เจ้าของผลงาน : นายกมลวิชย์ สิริธนนนท์สกุล (เยน)

การศึกษา : คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ท่ามกลางสภาพอากาศที่วิปริตแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังรอคอยปาฏิหาริย์จากกลไกแบบใหญ่ๆ เช่น มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพิธีสารเกียวโต หรือนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน โดยคาดหวังว่ากลไกเหล่านี้จะสามารถช่วยเหลือโลกที่กำลังป่วยไข้ใบนี้ได้

ช่วงเวลาเดียวกับที่เรากำลังคาดหวังจากอะไรแบบใหญ่ๆ อยู่นี้เอง เด็กหนุ่มตัวเล็กๆ คนหนึ่งจากภาคใต้ กลับเริ่มต้นช่วยโลกด้วยการทำอะไรแบบเล็กๆ ขึ้น

อะไรเล็กๆ ที่มาในรูปของโปรแกรมคอมพิวเตอร์...

โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะช่วยโลกได้จริงไหม? และจะช่วยโลกได้อย่างไร?

ขอชวนไปทำความรู้จักกับ “เยน” เด็กหนุ่มตัวเล็กๆ ผู้ที่ทำสิ่งเล็กๆ แต่จะให้ผลประโยชน์ขนาดใหญ่แก่ชุมชน ประเทศ รวมถึงระดับโลกต่อไปในอนาคตได้อย่างน่าสนใจ

แล้วคุณอาจพบว่า การช่วยโลกอาจเริ่มต้นได้จากสิ่งใกล้ตัวของเราเอง

โลก (ของ) เยน
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยโลกนั้น คือ โปรแกรม iOrder หรือระบบจดรายการสั่งสินค้าอัจฉริยะเพื่อองค์กรธุรกิจท้องถิ่น เกิดมาจากไอเดียของนายกมลวิชย์ สิริธนนนท์สกุล หรือ “เยน” วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ในวัยเด็ก “เยน” ชื่นชอบศิลปะและมีความฝันที่จะเป็นจิตรกร ก่อนที่ความฝันนั้นจะถูกอิทธิพลของเกมคอมพิวเตอร์ลิดรอนไป เช่นเดียวกับเด็กผู้ชายอีกหลายๆ คนที่เติบโตมากับเกมคอมพิวเตอร์ เยนก็เป็นเช่นนั้น แต่ยังดีที่เด็กหนุ่มมีขอบเขตความสนใจกว้างขวางกว่าเพียงการเล่นเกม

นอกเหนือจากการเล่นเกม เยนมีความสนใจทางด้านสื่อดิจิตอล ซึ่งมีกลิ่นอายของศิลปะเคลือบแฝงอยู่ ก่อนจะค่อยๆ หันมาสนใจการผลิตเว็บไซต์ ซึ่งนั่นได้นำพาเด็กหนุ่มมาสู่การเลือกเรียนวิศวะคอมฯ จนในที่สุด สวนผสมระหว่างศิลปะ เกม และทักษะด้านโปรแกรมมิ่งเว็บไซต์ ก็ได้หลอมรวมและผลักดันให้เยนกลายมาเป็นผู้พัฒนาซอฟท์แวร์เกมคอมพิวเตอร์

และต่อยอดมาสู่ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาสังคมในเวลาต่อมา

กล้าต้นงามเติบโตจากดินเนื้อดี
ต้นกล้าที่เติบโตอยู่ในเนื้อดินที่สมบูรณ์ ย่อมได้รับสารอาหารหล่อหลอมเป็นภูมิพลัง และมีโอกาสเติบใหญ่ได้รวดเร็วและแข็งแกร่งกว่าต้นกล้าทั่วไป

ฉันใดก็ฉันนั้น การที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเหมาะสม ย่อมช่วยให้เยาวชนมีโอกาสได้เรียนรู้ สั่งสมวิชาเป็นพลัง เพื่อจะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อไปให้แก่ตนเองและสังคม

เยนเองก็เป็นเช่นนั้น...

“ผมถือว่าผมโชคดีครับที่ที่บ้านสนับสนุน ตั้งแต่เด็กที่เราชอบศิลปะ เขาก็พาไปเรียนคอร์สศิลปะ พอเห็นเราเปลี่ยนไปสนใจทางคอมพิวเตอร์ เขาก็สนับสนุนคอร์สเรียนคอมพิวเตอร์” เยนกล่าวถึงครอบครัว

ด้วยแรงสนับสนุนที่ดี ทำให้เยนได้เรียนรู้ ฝึกปรือพัฒนาฝีมือจนสามารถออกแบบและผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเอง และก็เป็นธรรมดาของเด็กหนุ่ม ที่อยู่ในวัยซึ่งต้องการพิสูจน์ฝีมือด้วยการสมัครแข่งขันตามเวทีต่างๆ

และไม่ธรรมดาตรงที่ เยนแข่งประกวดและได้รางวัลมาไม่น้อย เช่น

-ผลงานเกมออนไลน์ “ดีเจแตงโม แตงโมพันธุ์ไทย หัวใจนักดนตรี” (พัฒนาร่วมกับทีม) เกมที่ให้ผู้เล่นจำลองตัวเองเป็นนักจัดรายการเพลง ได้รับรางวัลจากงาน Adobe Design Achievement Awards 2012 สาขา Game Design จากประเทศแคนาดา และผลงานเดียวกันนี้ยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 (NSC 2010) และได้รางวัลรองชนะเลิศจากการประกวด Thailand ICT Awards (TICTA) 2010 พร้อมทั้งเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวด Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) 2010 ระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคม 2553 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

-ผลงานเกม 3Eras ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด Thailand ICT Award 2012 พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดในระดับอาเซียน APICTA2012 ที่ประเทศบรูไน และปัจจุบัน เยนได้พัฒนาเกมนี้ออกจำหน่าย ภายใต้ชื่อ YenZtudio Inc.

“ถ้าทำทั้งทีก็ไม่น่าจะทำให้ใช้แค่ในหมู่บ้านหรือเพื่อธุรกิจของเรา แต่ควรจะไปตอบสนองประโยชน์ของสังคมได้”

จากโลกบันเทิงสู่โลกของการพัฒนา

ในชีวิตของคนเรา ต้องมีสักช่วงเวลาหนึ่งที่เราจะเริ่มมองออกนอกตัวเอง ไปสู่การคำนึงถึงชุมชนและสังคมในวงกว้างมากขึ้น เยนเองก็เป็นเช่นนั้น จากที่พัฒนาเกมและโปรแกรมเพื่อความบันเทิงจนได้รับการยอมรับจากเวทีประกวดมากมาย ถึงวันหนึ่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มลุกขึ้นมาทำสิ่งเล็กๆ ที่มีส่วนช่วยโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม

นั่นคือโปรแกรม iOrder ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น

โปรแกรม iOrder หรือระบบจดรายการสั่งสินค้าอัจฉริยะเพื่อองค์กรธุรกิจท้องถิ่น ถือกำเนิดขึ้นจากเสียงรำพึงจากญาติของเยนที่เป็นผู้ประกอบการศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งในแต่ละวันต้องใช้กระดาษในการเขียนออร์เดอร์สินค้าหมดเป็นรีมๆ ถึงหลายรีม แม้จะสะดวกคล่องมือและเป็นลายลักษณ์อักษรดี แต่หากพิจารณาย้อนไปถึงต้นทางของการผลิตกระดาษแล้ว จะพบว่าเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติหลายประการ

“จากที่ปกติผมทำเกมเป็นหลัก มันมีช่วงหนึ่งที่ผมคิดถึงว่า สิ่งที่ผมทำมันไม่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือเปล่า ก็พอดีญาติที่อยู่ศูนย์กระจายสินค้ามาขอให้เราช่วยเขียนโปรแกรมให้หน่อย โปรแกรมที่ช่วยระบายสินค้าแบบไม่ต้องจดลงกระดาษ เราก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา ว่าใช้กระดาษมันเปลืองทรัพยากร” เยนกล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจ

อนึ่งนั้น ขั้นตอนการผลิตกระดาษโดยทั่วไปประกอบด้วย 5 ขั้นตอนหลักๆ คือ

การผลิตเยื่อ (pulping) ซึ่งต้องอาศัยพลังงานเคมีและพลังงานความร้อน โดยเฉพาะน้ำมันเตาสำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซึ่งปลดปล่อยคาร์บอน 100% ในการเผาไหม้ และมีขั้นตอนย่อยคือ การฟอกเยื่อ (bleaching) ซึ่งต้องใช้สารเคมีเป็นตัวทำละลาย ในที่นี้เช่น คลอรีน รวมไปถึงอีก 4 ขั้นตอนที่เหลือ ทั้ง การเตรียมน้ำเยื่อ (stock preparation) การทาแผ่นกระดาษ (papermaking) การปรับปรุงสมบัติกระดาษขณะเดินแผ่น (web modification) ไปจนถึง การแปรรูป (converting) ล้วนต้องอาศัยน้ำ น้ำมัน และไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล

ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า กว่าที่เราจะได้กระดาษปริมาณ 1 ตันนั้น เราต้องตัดต้นไม้ 17 ต้น ใช้น้ำมันเตา 300 ลิตร น้ำสะอาด 100 ตัน คลอรีน 5 กิโลกรัม และต้องใช้ไฟฟ้าถึง 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงในกระบวนการผลิตทั้งหมด

และจากการสำรวจพบว่า ในแต่ละปีคนไทยใช้กระดาษเฉลี่ยคนละ 34 กิโลกรัม รวมทั้งประเทศเราจะใช้กระดาษรวมกันประมาณ 2 ล้านตันต่อปี นั่นหมายความว่าในแต่ละปี เราต้องสูญเสียต้นไม้ 34 ล้านต้น หมดน้ำมันเตาไป 600 ล้านลิตร น้ำสะอาดอีก 200 ล้านตัน และไฟฟ้าอีกมหาศาล

จะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่ปัญหาระดับชุมชนหรือประเทศ แต่เป็นปัญหาระดับโลก

ซึ่งสำหรับเยน การตอบสนองของเขาต่อปัญหาระดับโลกนี้ก็คือ ลงมือทำโปรแกรมจดออร์เดอร์ทดแทนการใช้กระดาษขึ้นนั่นเอง

“ผมคิดว่า ถ้าทำทั้งทีก็ไม่น่าจะทำให้ใช้แค่ในหมู่บ้านหรือเพื่อธุรกิจของเรา แต่ควรจะไปตอบสนองประโยชน์ของสังคมได้ เพราะที่จังหวัดอื่นก็มีปัญหาเหมือนกัน จึงเสนอโครงการนี้ขึ้นมา” เยนกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ทุกความสำเร็จเริ่มต้นที่ก้าวแรก!

“เขาบอกว่าใช้กระดาษมันเปลืองอยู่แล้ว แต่บางเจ้าไม่ใช่แค่ค่ากระดาษ เขาใช้การโทร.สั่งสินค้า มันก็จะมีค่าโทรศัพท์เพิ่มเข้ามาอีก ญาติของผมจึงบอกว่า ยอมลงทุนกับอุปกรณ์ที่คงทนและสามารถใช้งานได้ในระยะยาวดีกว่า” เยนกล่าวถึงญาติผู้ใหญ่ผู้เป็นต้นทางของแรงบันดาลใจชิ้นนี้

ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาในระดับปัจเจกหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสาธารณะที่ศูนย์กระจายสินค้าในระดับท้องถิ่น (ไม่นับรวมศูนย์ขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่อื่นๆ) ต้องประสบมาโดยตลอด

เยนจึงตัดสินใจพัฒนาโปรแกรม iOrder และส่งเข้าร่วมการแข่งขันโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 (The Fifteenth National Software Contest: NSC 2013) ในแง่หนึ่งนอกจากจะเป็นการพิสูจน์ความสามารถส่วนตัวและเพื่อวัดผลโปรแกรมแล้ว ก็เป็นเหมือนการประชาสัมพันธ์และขยายผลโปรแกรมออกไปในวงกว้างไปในตัว

เมื่อแรงบันดาลใจเกิด เยนไม่รอช้า เริ่มต้นพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างไปจากการพัฒนาเกมแบบที่เคย จากที่เคยอาศัยจินตนาการ ศิลปะ และทักษะการโปรแกรมมิ่ง การพัฒนาโปรแกรม iOrder ที่มีโจทย์อยู่ที่ต้องตอบสนองการใช้งานจริงของผู้ใช้ ทำให้เยนต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลอยู่นาน

“ช่วง 3 เดือนแรกใช้เวลากับการเก็บข้อมูลเยอะมากครับ เพราะปกติโปรแกรมทั่วไปอย่างพวกเกม เราอยากทำเราก็ทำได้เลย ถ้าเราหาแรงบันดาลใจได้เราก็ทำได้ แต่สำหรับโปรแกรมนี้เราต้องทำตาม requirement ซึ่งมันต้องคุยกันให้ชัดเจนว่าผู้ใช้ต้องการอะไร ทุกขั้นตอนมีระบบขั้นตอนอย่างไร คือต้องเริ่มต้นให้ชัดเจน ดีกว่าทำไปแล้วต้องรื้อใหม่หมด” เยนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พื้นเพเดิมของเยนก็คลุกคลีอยู่ในวงการการกระจายสินค้าเป็นทุนอยู่บ้างแล้ว ทำให้เขารู้ระบบขั้นตอนการทำงานของธุรกิจนี้พอตัว ซึ่งถือเป็นข้อดีที่ทำให้เยนสามารถออกแบบโปรแกรมให้ไปในทิศทางความต้องการของผู้ใช้ได้ไม่ยากเย็นนัก

ทุกย่างก้าวของการพัฒนา ไม่เคยเปล่าไร้ซึ่งอุปสรรค

การทำงานพัฒนาโปรแกรมของเยนในครั้งนี้ มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นเมื่อเทียบกับการทำงานที่ผ่านๆ มา หนึ่งนั้นคือ จากที่เคยพัฒนาโปรแกรมเป็นทีม ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ มาครั้งนี้เยนต้องฉายเดี่ยว ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียให้เรียนรู้

“มันต่างกันครับ ข้อเสียคือ การทำงานคนเดียวมันไม่สามารถทำให้เสร็จรวดเร็วได้เท่ากับการทำงานเป็นทีม แต่ในขณะเดียวกันมันมีข้อดีคือ ไม่มีการขัดแย้งในการทำงาน สามารถตัดสินใจคนเดียวได้เลย”

เรียกได้ว่า ถ้าเป็นด้านการพัฒนาระบบไอที เยนโชว์เดี่ยว ไม่มีเรื่องให้ต้องขัดแย้งกับเพื่อนในทีมเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบการทำงานของโปรแกรม iOrder ที่ต้องตอบสนองผู้ใช้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ก็ทำให้เยนต้องขอรับคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการจริง ซึ่งอยู่ในฐานะของผู้ที่ต้องใช้งานโปรแกรมนี้ในอนาคต อยู่ตลอดขั้นตอนการทำงาน

“พอเราทำไปได้ระยะหนึ่งก็จะเอาไปให้เขาดูว่า โปรแกรมเป็นแบบนี้ อยากแก้ตรงไหนอย่างไร เขาก็บอกว่า ปกติกระดาษจดได้อย่างไร เขาก็อยากได้โปรแกรมที่จดได้อย่างนั้น (หัวเราะ) คือทุก 1-2 สัปดาห์ผมก็จะส่งโปรแกรมไปให้เขาดูว่าตรงกับที่ต้องการไหม เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดการทำงาน” เยนอธิบาย

ซึ่งปัญหาจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อทั้งสองพูดกันคนละภาษา

ไม่ใช่ภาษาในมิติของเชื้อชาติหรือภูมิลำเนา แต่เป็นภาษาในมิติของวิชาชีพ คือ ฝ่ายหนึ่งพูดภาษาธุรกิจ แต่อีกฝ่ายพูดภาษาคอมพิวเตอร์

“เขาเป็นนักธุรกิจ ส่วนเราเป็นโปรแกรมเมอร์ เหมือนภาษาที่คุยก็จะต่างกัน (หัวเราะ) เขาคุยภาษาแบบหลักบัญชี เรื่องเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราไม่เข้าใจ” เยนกล่าวกลั้วหัวเราะ

ซึ่งนี่เองที่ทำให้เยน ที่แม้จะมีพื้นความรู้เกี่ยวกับระบบการกระจายสินค้าอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ไม่วายต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลบัญชี และทำให้เขาต้องทำงานร่วมกับผู้ใช้อย่างใกล้ชิดแทบจะตลอดการพัฒนาโปรแกรม

“iOrder ผมไม่ได้เน้นรายได้ แต่อยากประชาสัมพันธ์ว่ามันมีโปรแกรมอย่างนี้อยู่ โปรแกรมของคนไทยทำ และที่สำคัญสามารถนำไปใช้งานได้จริง”

ผ่านสายตาคณะกรรมการ สู่การใช้งานจริง

หลังจากพัฒนาโปรแกรมจนแล้วเสร็จ ได้รางวัลจากเวทีการประกวด NSC 2013 เยนก็ต่อยอดผลงาน ด้วยการเข้าร่วมประกวดโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เข้าแข่งขันได้มีโอกาสพัฒนาโปรแกรมและต่อยอดไปสู่การนำไปใช้จริงในชุมชนได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์การพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์มายาวนาน ก็ทำให้เยนติดการนำภาพและรูปแบบการนำเสนอแบบเกมๆ มาใช้ในโปรแกรม iOrder นี้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในส่วนของ Interface ที่มีหน้าตาออกไปทางเกมเสียมาก ซึ่งคณะกรรมการให้ความเห็นว่า อาจทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสับสนได้ว่า เป็นเกมหรือโปรแกรมสำหรับการใช้งานจริงกันแน่

กับอีกประเด็นหนึ่งที่เยนต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ก็คือ ความตั้งใจดั้งเดิมของเยนนั้น ต้องการพัฒนาโปรแกรมขึ้น แล้วเปิดให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดได้ฟรี และขายในส่วนที่เป็นเซอร์วิสหรือบริการ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นธุรกิจ SMEs ของคนไทยที่ไม่มีกำลังจ้างโปรแกรมเมอร์เหมือนอย่าง 7-11 หรือ 108 shop ที่จะมีโปรแกรมเมอร์ประจำอยู่ รวมไปถึงธุรกิจกระจายสินค้าในระดับท้องถิ่นที่มีคลังสินค้า และไม่กล้าลงทุนจ้างโปรแกรมเมอร์

โปรแกรม iOrder นี้ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองธุรกิจแบบ B to B (Business to Business) สำหรับส่วนของยี่ปั๊วหรือผู้กระจายสินค้าโดยเฉพาะ กล่าวคือ บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ A ส่งสินค้าไปยังคลังสินค้า B จากที่แต่เดิม B ต้องใช้วิธีจดกระดาษเพื่อรับออร์เดอร์และกระจายสินค้าต่อไปยังร้านค้ารายย่อยต่างๆ ก็สามารถใช้โปรแกรมนี้ทดแทนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นเยนยังกล่าวเสริมอีกว่า จุดเด่นของโปรแกรมนี้อยู่ที่การใช้งานได้จริง ซึ่งจริงอยู่ว่าโปรแกรมลักษณะนี้ในต่างประเทศก็มีอยู่ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นไปในเชิงใช้สำหรับจดหน้าร้านจำหน่ายหรือร้านอาหารเป็นหลัก และไม่ยืดหยุ่นเท่า iOrder ที่เยนพัฒนาให้ตอบรับรูปแบบการค้าของคนไทย ที่หากซื้อสดก็จะได้ราคาหนึ่ง แต่ถ้าจ่ายเป็นเครดิต 7 วันก็ราคาหนึ่ง 15 วันก็จะอีกราคาหนึ่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากรูปแบบการขยายผลดังกล่าว คณะกรรมการให้ความเห็นว่า ไม่ควรขายแยกโปรแกรมกับเซอร์วิส แต่ควรรวมขายเป็นแพ็คเกจไปเลยในคราวเดียวเพื่อการบริหารจัดการที่ชัดเจน ซึ่งในทัศนะของเยนเห็นว่า แม้จะเปิดให้ดาวน์โหลดใช้ฟรี แต่ด้วยธรรมชาติของคนไทยที่ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการส่วนมากไม่น่าจะกล้าใช้อยู่แล้ว หากยิ่งเปิดขายเก็บเงิน ก็อาจจะไม่มีใครซื้อไปกันใหญ่

ทางออกในเวลานี้จึงคือ เปิดให้ผู้ประกอบการ 1-2 รายทดลองใช้ฟรีก่อน โดยเยนจะคอยติดตามผลอย่างใกล้ชิด

ผลลัพธ์และก้าวต่อไป

เยนนำโปรแกรมนี้ไปให้ญาติที่เป็นผู้ประกอบการศูนย์กระจายสินค้าทดลองใช้ฟรี 2 เดือน โดยผู้ประกอบการมีลูกทีมสำหรับการจัดส่งสินค้าอยู่ 10 คน เริ่มแรกผู้ประกอบการลงทุนซื้อ Tablet ที่ใช้โปรแกรม iOrder ให้ลูกทีม 2 คนใช้ ขณะที่อีก 8 คนยังใช้การจดใส่กระดาษเหมือนเดิม โดยต้องการทดสอบว่า แบบไหนจะเร็วกว่ากัน

ผ่านไป 2 สัปดาห์ iOrder ของเยนแพ้ ด้วยเหตุผลคือลูกทีมไม่ชินกับโปรแกรม รวมไปถึงใจเขาไม่เปิดรับ

“เราจึงต้องไปเทรนให้ ซึ่งข้างบนเขารับนะครับ แต่พนักงานข้างล่างเขาไม่รับ บอกไม่เอา ทำไมต้องเปลี่ยนใหม่ เราก็ต้องค่อยๆ เข้าไปคุย ตอนนี้ก็ดีขึ้น น่าจะชินแล้ว” เยนกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะเปิดใจว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้ท้อไม่น้อย แต่ถึงอย่างไร มาจนเกือบจะสุดทางแล้ว จะไม่ไปต่อได้อย่างไร

“นั่นเป็นประเด็นหนึ่งที่รู้สึกว่า เราจะทำต่อไปไหม แต่ไหนๆ ก็ทำมาขนาดนี้แล้วก็ต้องทำต่อ เขาอุตส่าห์ลงทุนซื้อเครื่องมาแล้วด้วย ถ้าไม่ทำเราคงรู้สึกแย่” เยนกล่าวด้วยรอยยิ้ม

สำหรับก้าวต่อไปของ iOrder เยนวางแผนไว้ว่าจะพัฒนาเพิ่มเติมใน 2 ด้าน คือ ระบบของโปรแกรม และการขยายผล

ในด้านระบบของโปรแกรม เยนวางแผนที่จะทำระบบ Inventory หรือ stock เพิ่มเข้าไปในโปรแกรม ซึ่งแม้อาจทำให้โปรแกรมไม่ all in one แต่ก็เป็นย่างก้าวของการพัฒนาที่สอดคล้องกับความเป็นจริง กระนั้นก็ยังติดปัญหาตรงที่ว่า ระบบ Stock ของผู้ประกอบการแต่ละเจ้านั้นไม่เหมือนกัน เยนจึงอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่า จะเขียนระบบ Stock ให้แตกต่างกันไปตาม Stock เดิมของแต่ละเจ้า หรือจะพัฒนาระบบใหม่ขึ้นแล้วนำไปเสนอผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคำถามที่เยนต้องค้นหาคำตอบต่อไป

กับอีกด้านคือ การขยายผลโปรแกรมในวงกว้าง ในเบื้องต้นเยนจะใช้วิธีการเจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมายโดยตรง และสำรวจความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ประกอบการที่ยังใช้วิธีการสั่งสินค้าโดยใช้การจดลงกระดาษ การโทร.สั่ง หรือแม้แต่ใช้โปรแกรม Excel แบบ Manual ที่ต้องพิมพ์ทีละบรรทัดและไม่ได้มีการคำนวณ Stock ที่เหลือให้โดยอัตโนมัติ เยนมองว่ากลุ่มเหล่านี้ iOrder สามารถช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กิจการของเขาได้ ส่วนรูปแบบการจำหน่าย ในเบื้องต้นอาจใช้วิธีให้ฟรีในส่วนที่เป็น basic feature แต่ถ้าผู้ประกอบการที่ต้องการแบบ unique feature ที่ออกแบบมาสำหรับกิจการของเขาผู้เดียว ก็อาจพัฒนาแล้วคิดเป็น service charge ตามหลักต่อไป

เหลียวหลังแลทางที่ผ่านมา

ขึ้นชื่อว่าการเดินทาง หลายๆ ครั้งอุปสรรคอาจทำให้ใจเหนื่อยล้า จนหลายๆ คนสูญเสียความตั้งใจเดิมไป

การหยุดหันมองและทบทวนก้าวย่างที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้เดินทางได้หยุดพัก ตั้งสติ ทบทวนถึงสิ่งที่ได้และสิ่งที่เสีย พร้อมทั้งพิจารณาหนทางข้างหน้าต่อไป ว่าจะก้าวไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้แต่เดิมได้อย่างไร

สำหรับเยน การพัฒนาโปรแกรม iOrder ถือเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับเขา อย่างน้อยที่สุดก็คือ เป็นการเปิดพรมแดนการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในสาขาที่แตกต่างไปจากที่ตัวเองเคยทำมา ซึ่งถือเป็นการวัดศักยภาพของตัวเขาเองได้เป็นอย่างดี

“ตอนนี้วางแผนไว้เยอะแยะเลยครับ ตั้งใจว่าจะยังทำเกมกับโปรแกรม utility อย่างนี้ควบคู่กันไป คือมันสนุกทั้งคู่นะครับ แต่ความสนุกนั้นต่างกันไป อย่างเกมถึงจะสนุก แต่เราไม่เคยเห็นกลุ่มผู้เล่นจริงๆ แต่อย่าง iOrder ที่เราทำนี้ แม้มันอาจไม่ได้สนุกมาก แต่พอเราเห็นคนนำโปรแกรมของเราไปใช้งานจริง มันก็ภูมิใจ” เยนกล่าวด้วยรอยยิ้ม ก่อนขยายความถึงความภูมิใจต่อไปว่า

“ผลงานชิ้นนี้ผมภูมิใจตอนที่เขานำไปใช้และบอกต่อ ว่ามันมีประโยชน์จริงนะ สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนพัฒนาเพื่อให้เหมาะกับผู้ใช้อย่างแท้จริงครับ คงยังบอกว่าสำเร็จแล้วคงไม่ได้ เพราะความสำเร็จของโปรแกรมนี้อยู่ที่เมื่อหลายๆ คนได้ใช้งานในวงกว้างแล้วนั่นแหละครับ”

ซึ่งในประเด็นนี้ เยนกล่าวว่าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่สามารถสนับสนุนได้เป็นอย่างดี

“โครงการช่วยประชาสัมพันธ์ได้มากเลยครับ สามารถบอกต่อแทนเราได้ในวงกว้าง ดีกว่าที่เราจะไปหาผู้ใช้ทีละคนแล้วบอกเล่าทีละคน ซึ่งถ้าผมพัฒนาให้โปรแกรมมีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็น่าจะสามารถขยายผลได้มากขึ้น และถ้าถึงระดับที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ผมเชื่อว่าแทนที่เราจะต้องไปประชาสัมพันธ์ ผู้ใช้น่าจะมีการติดต่อเข้ามาเอง”

เป็นความภาคภูมิใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงิน จริงอยู่ว่าการพัฒนาโปรแกรมขายทำเงิน อาจเป็นเป้าหมายของโปรแกรมเมอร์หลายๆ คน แต่สำหรับเยนในวันนี้ การทำสิ่งเล็กๆ เพื่อสังคมได้เปิดโลกทัศน์ให้เขาได้รู้จักกับความภูมิใจ ที่เงินซื้อไม่ได้

“มีคนถามว่าที่ผมให้ฟรีตอนแรก เพราะบ้านผมฐานะดีอยู่แล้วหรือเปล่า เลยไม่ต้องสนใจเรื่องเงิน จริงๆ ก็คือมันไม่ใช่ปัจจัยหลักขนาดนั้นครับ เพราะมันมีอีกหลายโปรแกรมที่สามารถขายและทำเงินได้มากกว่า แต่กับ iOrder ผมไม่ได้เน้นรายได้ แต่อยากประชาสัมพันธ์ว่ามันมีโปรแกรมอย่างนี้อยู่ โปรแกรมของคนไทยทำ และที่สำคัญสามารถนำไปใช้งานได้จริง” เยนกล่าว






"ของอย่างนี้ไม่ลองก็ไม่รู้ ลองไปก็ไม่เสียหาย
ถึงลองไปแล้วล้มเหลว...แต่สิ่งที่ได้คือประสบการณ์และความภูมิใจ"

เพราะการพัฒนาไม่มีคำว่า “เสียหาย”

ปัจจุบัน ท่ามกลางสภาพอากาศที่วิปริตแปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยกำลังรอคอยปาฏิหาริย์จากกลไกแบบใหญ่ๆ ในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของประเทศไทย เด็กหนุ่มคนหนึ่งกำลังพัฒนาโปรแกรม iOrder ของเขาต่อไปอย่างมีความสุข

ด้วยความตั้งใจสูงสุดคือ ปรารถนาให้โปรแกรมนี้สามารถใช้ทดแทนการสั่งสินค้าด้วยการจดกระดาษได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในแง่ของความสะดวกรวดเร็ว มาตรฐาน และการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเห็นผล อันเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างหนึ่งที่จะช่วยทุเลาภาวะโลกร้อนได้

อาจแลดูเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ของเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แต่เราอาจลืมไปว่า ทุกๆ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งเล็กๆ ที่ถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งด้วยกันทั้งนั้น

ณ วันนี้ โปรแกรม iOrder ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาและทดสอบโดยผู้ทดลองใช้งาน และเยนก็กล่าวเสียงหนักแน่นว่า ดีใจอย่างยิ่งที่ตัดสินใจลองทำ แม้จะเหนื่อยและท้อบ้าง แต่สิ่งตอบแทนที่ได้รับกลับมามีค่ามากกว่านั้น

“ฝากถึงน้องๆ ที่อยากสร้างผลงานเข้ามาร่วมประกวดครับ ว่าไม่ต้องกลัว ของอย่างนี้ไม่ลองก็ไม่รู้ ลองไปก็ไม่เสียหาย ถึงลองไปแล้วล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่ได้รางวัล แต่สิ่งที่ได้คือประสบการณ์และความภูมิใจครับ” เยนทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

เป็นประสบการณ์ที่จะเป็นรากฐานในการพัฒนาตัวเอง เป็นความภาคภูมิใจที่ได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนในวงกว้าง และจะต่อยอดไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ในที่สุด

ทั้งหมดทั้งมวล ต่อคำถามที่ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะช่วยโลกได้จริงไหม? และจะช่วยโลกได้อย่างไร?

“เยน” ได้ตอบคำถามของเขาแล้ว

และคำตอบของเขา อาจเป็นคำตอบสำหรับใครอีกหลายๆ คนบนโลกร้อนๆ ใบนี้ด้วยก็เป็นได้