การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตากเป็นแบบ “พหุปัญญา” คือขับเคลื่อนผ่านสวนพฤกษศาสตร์กับเศรษฐกิจพอเพียงไปพร้อมกัน การเรียนการสอนของโรงเรียนมุ่งไปที่การงานอาชีพ ให้เด็กสามารถประกอบอาชีพได้หลังเรียนจบ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กชาวเขา ไม่มีโอกาสเรียนต่อ การเรียนการสอนของที่นี่ไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะครูมีการโยกย้ายบ่อย
โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก เป็นโรงเรียนประจำ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เป็นเด็กชนเผ่ามากถึง 6 เผ่า เวลาจัดประชุมผู้ปกครองก็ต้องจัดถึง 5 รอบ เพราะต้องใช้เวลาเดินทางนาน ต้องเดินข้ามป่าข้ามเขาเพื่อมาโรงเรียน ครูมีการโยกย้ายบ่อย ทำให้เด็กได้รับความรู้ไม่ต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงตั้งโจทย์ว่าเมื่อนักเรียนเรียนจบ ป.6 แล้ว เราจะให้เขาไปไหน เพราะเด็กส่วนใหญ่เมื่อเรียนจบ ป. 6 แล้วไม่ต้องการเรียนต่อ แต่ต้องการทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ จึงคิดว่าถ้าเช่นนั้นน่าจะเน้นการสอนไปที่การงานอาชีพ เช่น ทำบล็อกประสาน ตัดเย็บ เป็นต้น แต่กิจกรรมก็ทำได้ไม่ต่อเนื่อง เพราะครูมาแล้วก็ย้าย บางกิจกรรมต้องรอครูนานถึง 3 ปี
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนจะออกแบบเป็นฐานการเรียนรู้ ผ่านหอนอนต่างๆ ที่มีมากถึง 20 หลัง เราทำเป็นหอนอนพอเพียง ซึ่งมีหลักง่ายๆ คือทำให้เป็น “หอนอนแห่งความสุข” ให้เด็กแต่ละคนเขียนว่าหอนอนของเขาเป็นอย่างไร ให้เขียนมาเป็นข้อๆ นอกจากนี้ยังจัดทำสวนพฤษศาสตร์เป็นพหุปัญญา ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากผู้อำนวยการคนก่อนทำสวนพฤกษศาสตร์ไว้ดีแล้ว เมื่อเรามารับหน้าที่จึงมาขับเคลื่อนต่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ สอนอาชีพพอเพียงให้กับเด็ก เพราะเด็กชาวเขาเมื่อปลูกผักส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีเยอะมาก เรียกว่าสาดสารเคมีลงในแปลงผักเลยเดียว ผมเลยตั้งเป็นชีววิถี ไม่ให้เขาใช้สารเคมี
นอกจากนี้ยังมีการนำวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าต่างๆ มาดัดแปลงเป็นท่าออกกำลังกายต่างๆด้วย ส่วน การติดตามผลเรื่องการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเราจะใช้วิธีถามเด็กบ่อยๆ ว่า สิ่งที่เขาทำนั้นตรงกับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขอย่างไร เช่น เธอแต่งตัวเรียบร้อยเป็นคุณธรรมไหม เป็นต้น