หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

โดย อ.ปิยาณี เผ่าคนชม โรงเรียนบ้านหนองไผ่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

­

จากความใฝ่ฝันสู่ความเป็นจริง

ข้าพเจ้าเกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน ข้าพเจ้าเป็นคนที่สาม ซึ่งเป็นลูกคนกลางถือว่าเป็นลูกที่เกิดวันพุธ เป็นคนอาภัพ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างคนส่วนใหญ่เชื่อถือ พ่อแม่ให้ความรักความอบอุ่นเท่ากันหมดทุกคน และที่ยิ่งไปกว่านั้น ข้าพเจ้ามีความมุ่งมั่นในการศึกษาเล่าเรียนมากกว่าพี่น้องคนอื่น และตั้งแต่จำความได้จนเติบใหญ่ ข้าพเจ้ามีความใฝ่ฝันที่จะเป็นครูมาก มีความรู้สึกและประสบการณ์ตรงที่ข้าพเจ้าได้พบและสัมผัสกับครูที่พร่ำสอนข้าพเจ้ามา ได้พบกับครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูโดยแท้จริง อาจจะเช่นนี้กระมังจึงได้ซึมซับแต่ความดีและอุดมการณ์อันดีงามที่ข้าพเจ้าจะต้องเจริญรอยตามปรมาจารย์เหล่านั้น พ่อแม่สั่งสอนให้ลูกทุกคนเป็นคนดีไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มีความเป็นอยู่อย่างพอดีไม่ขาดแคลนจนเกินไป สอนให้รู้จักคุณค่าของสิ่งของเครื่องใช้ที่ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ถ้านำกลับไปใช้ใหม่ได้ก็ควรทำและพ่อแม่จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกทุกคน เช่นความมุ่งมั่นในการทำงานการประกอบอาชีพที่สุจริต การทำงานเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน การเสียสละทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ สอนให้รู้จักช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเรา เมตตาคนด้อยโอกาสและสิ่งสำคัญที่ข้าพเจ้าติดนิสัยจากพ่อก็คือ ความรักสัตว์ ดังนั้นที่บ้านจึงเลี้ยงสัตว์ไว้มากมายโดยเฉพาะสุนัข ข้าพเจ้ามุ่งมั่นในเรื่องการศึกษาโดยพ่อแม่ไม่ลำบากใจเลย จนกระทั่งจบการศึกษา ป.ว.ส. จึงทำตามความใฝ่ฝันของตนเอง โดยการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูที่จังหวัดพิษณุโลก สอบครั้งแรกก็ได้รับการบรรจุเป็นครูเมื่อ วันที่ 2 มิถุนายน 2523 ที่อำเภอเนินมะปราง 

­

ข้าพเจ้ามีความตั้งใจสอนนักเรียนอย่างแท้จริง และทำตามอุดมการณ์ของตนเอง และความใฝ่ฝันของตนเอง และอยู่ที่โรงเรียนบ้านผาท่าพล อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 2 ปี จึงทำการเขียนย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนบ้านบางแก้ว อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เหตุผลคือต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ด้วยเพราะระยะทางเป็นอุปสรรคในการเดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ด้วยระยะทางเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาต่อ ต่อจากนั้นสอบเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลกจนจบ และในขณะเดียวกันก็ได้สอบเรียนต่อในระดับปริญญาโทในสถาบันเดียวกัน โดยใช้เวลาประมาณสองปีจึงจบ ในขณะนั้นมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ได้สถาปนาให้เป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงได้รับอนุมัติปริญญามหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร

­

ข้าพเจ้าใช้ชีวิตในการทำงานเป็นครูที่โรงเรียนบ้านบางแก้ว ประมาณ 11 ปี ขณะนั้นคุณแม่กำลังป่วยหนัก จึงตัดสินขอย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม เพื่อดูแลบิดามารดาที่เจ็บป่วยและแก่ชราภาพ โดยได้ย้ายอยู่ที่โรงเรียนบ้านไทรงาม ตำบลทุ่งทอง อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

­

หลักปรัชญของาเศรษฐกิจพอเพียงกับวิถีชีวิต

ข้าพเจ้าได้ย้ายมาปฏิบัติราชการที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ได้มาสัมผัสสถานศึกษาพอเพียงที่คณะครู นักเรียน ผู้ปกครองได้ร่วมกันจัดการศึกษาเป็นครั้งแรก ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นกับคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” แต่ก่อนเมื่อฟังคำนี้จากสื่อต่างๆ จากตำรับตำรา ก็ยังไม่ลึกซึ้งเท่าที่ควรเพราะยังไม่พบกับประสบการณ์ตรง คำบางคำยังไม่เคยทราบมาก่อน เช่น “จิตอาสา” “จิตสาธารณะ” แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ ท่านผู้อำนวยการพนม จันทร์ดิษฐ ได้ย้ำได้สอนในเรื่องการทำงานอยู่ตลอดเวลา ความเป็นอยู่กับเพื่อนร่วมงาน สถานที่ทำงาน สิ่งรอบด้านรอบตัวล้วนแล้วอยู่อย่างพอเพียง พอดีไม่ขาดไม่เกิน ข้าพเจ้าค่อยๆ รับรู้และซึมซับสิ่งเหล่านี้ เริ่มมองเห็นความสำคัญ ถ้ามองกับเรื่องจริงแล้ววิถีชีวิตของคนเราทุกคนได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เพียงแต่เราไม่สะท้อนความรู้สึกและมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต

­

ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ได้อธิบายหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และให้เข้ารับการอบรมเป็นระยะๆ และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสอดแทรกในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ก่อนที่จะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนนั้น ข้าพเจ้ามานั่งทำความเข้าใจรายละเอียด เนื้อหา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ข้าพเจ้าเริ่มมองเห็นว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีแนวทางในการดำเนินชีวิตคล้ายทางสายกลางของพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธที่เราคนไทยนับถือ ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ห่วงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกัน และ 2 เงื่อนไขคือ ความรู้ คุณธรรม โดยข้าพเจ้าได้นำวิธีการต่างๆ มาปฏิบัติในครอบครัวในเรื่องเหล่านี้

­

ห่วงที่ 1 คือความพอประมาณ ได้แก่การใช้ชีวิตที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ อะไรไม่ควรซื้อหรือมีสิ่งอื่นทดแทนกันได้ ก็จะใช้สิ่งของที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ทำอะไรเกินตัว การบริหารงานอาชีพให้เหมาะสมกับเวลาที่เอื้ออำนวย ไม่ทำอะไรให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อนและไม่ไปเบียดเบียนใคร ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

­

ห่วงที่ 2 ความมีเหตุผล ข้าพเจ้าคิดจะทำอะไรจะต้องมีเหตุผลอธิบายได้ จะใช้จ่ายเงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์จะต้องหาสาเหตุว่าเป็นความจำเป็นต้องซื้อหรือไม่ มีเหตุผลอันสมควรเพียงไร ถ้าจำเป็นมากจึงจะตัดสินใจซื้อ ซึ่งไม่เหมือนกับเมื่อก่อนที่ข้าพเจ้ามาอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่ได้พิจารณามากถึงเพียงนี้ การตั้งคำถามและหาคำตอบให้ตนเองอยู่เสมอว่ามีความจำเป็นหรือความอยากได้ การให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้าน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นสิ่งที่ดีงาม การเสียสละกำลังกายกำลังทรัพย์เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติเพราะคนทุกคนจะอยู่ด้วยกันได้ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน บางครั้งเราอาจจะต้องพึ่งพาผู้อื่นภายหลัง การทำงานถ้าขาดเหตุผลสิ่งที่จะตามมาก็จะไม่เกิดผลดีมาได้

­

ห่วงที่ 3 มีภูมิคุ้มกัน ข้าพเจ้าจะทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องใคร่ควรอย่างรอบคอบ พิจารณาด้วยความถี่ถ้วนว่าผลดีและผลเสียอะไรจะมีมากกว่ากัน ถ้ามีผลดีและไม่กระทบกระเทือนผู้อื่นจึงต้องตัดสินใจทำ ถ้ามีผลเสียมากกว่าผลดีจะงดการกระทำนั้น การกระทำอะไรก็ตามถ้าไม่ประมาท ผลที่ตามมามีแต่ผลดีและควรคำนึงถึงระยะเวลาใกล้ไกลว่าจะเกิดอะไรขึ้น และข้าพเจ้าจะมีการวางแผนก่อนการทำงานเสมอ เพราะการวางแผนจะเป็นภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดีที่จะช่วยการทำงาน ไม่ผิดพลาดจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย การมีภูมิคุ้มกันจะเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าต่อการทำงานได้หลายประการ เพราะแทนที่จะเกิดผลเสียจะมีสิ่งที่ป้องกันก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น จึงต้องมีการป้องกันไว้ก่อนนับว่าเป็นสิ่งที่ดี

­

สำหรับเงื่อนไขที่ 1 ได้แก่ ความรู้ ข้าพเจ้าคิดว่าความรู้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องไขว่คว้าหาความรู้ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่เราต้องศึกษาสิ่งที่อยู่รอบข้างตัวเราอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิตและพร้อมกันนั้นความรู้ที่ได้มาจะต้องควบคู่กับคุณธรรม คือความดีงามความถูกต้องตามครรลอง ข้าพเจ้าจะยึดเหนี่ยวในเรื่องคุณธรรมประจำใจตลอดเวลาจึงจะถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ความดีงามเหล่านั้นจะต้องเผื่อแผ่ให้คนรอบข้าง โดยเฉพาะอาชีพของเราที่เป็นครูคนรอบข้างของเราที่ใกล้ชิดที่สุดคือ "นักเรียน" ข้าพเจ้าจะให้ความเมตตา เอื้อเฟื้อต่อนักเรียนเสมอ คิดเสมอว่านักเรียนก็คือลูกของเราคนหนึ่ง

­

การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

ด้านความพอประมาณได้แก่ ความพอดีความเหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอน ควรจะรู้ว่านักเรียนคนไหนควรจะรับความรู้แค่ไหนคือ ต้องศึกษาข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคล ว่านักเรียนแต่ละคนมีธรรมชาติในการเรียนแต่ละเรื่องอย่างไร นักเรียนคนไหนมีความถนัดและชอบเรียนอะไร ควรจัดให้ตรงกับความต้องการ การมอบหมายงานต้องคำนึงถึงนักเรียนส่วนใหญ่ว่าสามารถรับได้แค่ไหน การจัดการเรียนการสอนปลูกฝังให้นักเรียนมีความประหยัด รู้จักการออม การใช้สิ่งของเครื่องใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่นการใช้กระดาษควรใช้สองหน้า สมุดควรใช้ไม่ให้เหลือไว้

­

ด้านความมีเหตุผล คือการเข้าใจในตัวของนักเรียนแต่ละคน การจัดกิจกรรมการแก้ไขปัญหาในอันที่จะเกิดขึ้นด้วยเหตุด้วยผล ต้องฟังเหตุผลของนักเรียนเมื่อนักเรียนมีปัญหา นักเรียนต้องร่วมกับผู้ปกครองเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วง ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละครั้ง ข้าพเจ้าได้ฝึกให้นักเรียนใช้เหตุผลและนำความรู้มาแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างราบรื่น ข้าพเจ้าได้อบรมปลูกฝังให้นักเรียนทุกคน ไม่ทำตัวให้เป็นภาระของพ่อแม่ ชุมชนและสังคมของเรา

­

ด้านการมีภูมิคุ้มกัน ข้าพเจ้าจะสอนนักเรียนเสมอว่า จะทำอะไรแต่ละครั้งต้องมีความรอบคอบ คิดไตร่ตรองใคร่ครวญให้ถี่ถ้วน แล้วจึงตัดสินใจลงมือทำและคิดว่าสิ่งที่ทำดีหรือไม่ และจะกระทบกระเทือนต่อใครด้านใดทั้งในปัจจุบันและอนาคต เราจะไม่ถลำเข้าไปมั่วสุมกับสิ่งเลวร้าย ไม่ยุ่งกับสิ่งเสพติด ได้สอนให้นักเรียนเข้าใจตนเองและผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีสัมมาคารวะต่อบุคคลทั่วไป การทำตัวให้น่ารัก ไม่ก้าวร้าว กระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่ เมื่อนักเรียนแต่ละคนมีจิตใจที่งดงาม รู้จักใคร่ครวญพิจารณาด้วยเหตุผลนักเรียนก็จะมีภูมิคุ้มกัน เป็นเกราะป้องกันตนเอง

­

นอกจากนักเรียนทุกคนมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความรู้ซึ่งต้องควบคู่กับคุณธรรมเสมอ ข้าพเจ้ามีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้แก่นักเรียนได้อย่างเต็มใจเต็มกำลังเต็มความสามารถทุกครั้ง ทุ่มเทกายใจ เสียสละเวลาและกำลังทรัพย์ส่วนตัว อุทิศตนเพื่อนักเรียน ข้าพเจ้าคิดอยู่เสมอว่านักเรียนมาโรงเรียนแต่ละวันจะต้องได้ความรู้กลับบ้านเสมอ หากไม่ได้นักเรียนก็จะขาดทุน เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ของตนเอง ข้าพเจ้าจะเอาใจใส่นักเรียนทุกคนเป็นรายบุคคล เข้าใจธรรมชาติของแต่ละคน มีความเห็นอกเห็นใจนักเรียนที่ยากจน ถ้าช่วยได้จะช่วยเหลือทันที ข้าพเจ้าไม่ยอมให้เวลาสูญเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ที่จะให้นักเรียนว่างโดยไม่สอน 

­

การจัดการเรียนการสอนนั้น ข้าพเจ้ามุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้น และนักเรียนทุกคนจะมีคุณภาพ จบไปแล้วจะต้องเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพพร้อมกับมีคุณธรรมประจำใจ ในการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง ข้าพเจ้าจะสอดแทรกคุณธรรมความดีงามในจิตใจให้เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ให้เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย กิริยามารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาลเทศะรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ข้าพเจ้ามีความเชื่ออีกประการหนึ่งก็คือ คนเราถ้ามีวินัยประจำตัวแล้ว สิ่งดีอื่นๆ ก็จะตามมาด้วยความราบรื่น ดังนั้นการปลูกฝังในเรื่องวินัยในตนเองให้เกิดให้จงได้กับนักเรียนทุกคน นับว่ามีความจำเป็นที่จะให้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน จึงมีผู้กล่าวเอาไว้ว่า “ความรู้คู่คุณธรรม”