ประกายความคิดในวันเริ่มต้น

ประกายความคิดในวันเริ่มต้น


“เมื่อผู้อำนวยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารงานในโรงเรียน ในฐานะครูผู้สอนก็ต้องทำตามนโยบาย ตอนแรกๆ ก็ทำตาม พูดตาม ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใด เพียงแต่รู้ว่าเป็นหลักปรัชญาที่ในหลวงพระราชทาน แต่พอได้เข้าไปสัมผัสบ่อยๆ เรื่อยๆ จากการเข้าร่วมอบรม ก็เริ่มเข้าใจว่าเป็นแนวทางที่ดี จากตอนแรกแค่เคยได้ยินก็เปลี่ยนเป็นได้สัมผัส จากนั้นก็เริ่มเข้าใจ และเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ถ้าเราจะนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต


ตอนที่นำมาใช้ช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องเป็นไปตามหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ทั้งหมดขอเพียงแค่เริ่มปฏิบัติได้บ้างก็คงจะดี ดังพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “...ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ และทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ...”


เมื่อเราทำแล้วรู้สึกว่าดี มีความสุข และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ในฐานะที่เป็นครูก็อยากถ่ายทอดสิ่งดีๆ เรื่องดีๆ ให้ลูกศิษย์ได้รับรู้และปฏิบัติ เพราะพวกเขาต้องเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ ถ้าเขาได้รับการปลูกฝังในเรื่องที่ดี สร้างให้พวกเขามีจิตสำนึกที่ดี แม้จะเป็นเพียงสังคมเล็กๆ ส่วนเล็กๆ แต่ถ้าทำได้ก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง”

"บทเรียนความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้"

โดย นางไพลิน  ส่งวัฒนา


จากการที่ข้าพเจ้าได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติทั้งต่อตัวเองและนักเรียน แม้จะเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่ก็เป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ อย่างน้อยเด็กนักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองไผ่เขาก็ได้ซึมซับและรู้จักคำว่าพอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน ความรู้ควบคู่คุณธรรม เขาสามารถบอกได้ อธิบายได้ว่าแต่ละกิจกรรมที่เขาทำนั้นใช้หลักความพอประมาณอย่างไร มีเหตุมีผลอย่างไร มีภูมิคุ้มกันอย่างไร ใช้ความรู้ และคุณธรรมอะไรบ้าง


ในที่นี้ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างฐานการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษา ได้แก่ ฐานการเรียนรู้การเพาะเห็ด การที่นักเรียนได้มาปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ในฐานนี้นักเรียนก็จะได้รับความรู้ในเรื่องวิธีเพาะเห็ด การทำก้อนเชื้อ การเขี่ยเชื้อเห็ด การดูแลรักษารดน้ำจนกระทั่งเห็ดออกดอก นักเรียนสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองระหว่างเรียน นั่นเป็นการฝึกการปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะทางด้านอาชีพ


จากตอนแรกเมื่อทำเสร็จก็จบ สามารถเพาะเห็ด ดูแลรดน้ำ และเก็บไปขายได้ แต่เมื่อมีการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในการทำงานของนักเรียน ทำให้ระหว่างที่ทำนั้นได้อะไรมากกว่าการเพาะเห็ด การทำงานด้วยความอดทน ตั้งใจมุ่งมั่นต้องมีการวางแผนการทำงาน เริ่มแรกให้เขาช่วยกันบอกก่อนว่าที่เขาทำกิจกรรมไปนั้นเขาทำอะไร อย่างไรบ้าง และที่สำคัญได้อะไรจากการทำกิจกรรม


ในช่วงแรกๆ ยังไม่ต้องมีหัวข้ออะไร ใครอยากพูดอยากเสนออะไร ก็พูดก็เขียนตามที่พวกเขาคิด จากนั้นก็ค่อยๆ พาเชื่อมโยงเข้ากับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าสิ่งที่พวกเขาบอกมานั้น ตรงไหนที่เป็นความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกัน และตรงไหนที่เป็นความรู้ นักเรียนเกิดคุณธรรมอะไร ใช้คุณธรรมอะไร อย่างไร เขาก็จะเริ่มถอดบทเรียนจากกิจกรรมที่เขาทำได้ ต่อมาก็ให้เขาวิเคราะห์เข้ากับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขได้เลย เมื่อเขาทำบ่อยๆ ก็เกิดความมั่นใจและถ่ายทอดได้


นักเรียนที่รับผิดชอบฐานการเรียนรู้การเพาะเห็ดจะสามารถพูดอธิบายและเชื่อมโยงเข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ดี และเห็นภาพชัดเจน เนื่องจากเป็นสิ่งที่เขาได้ลงมือทำจริง และถอดบทเรียนความรู้ออกมาได้ ซึ่งคณะที่มาดูงานให้ความชื่นชม พูดให้กำลังใจ ทำให้นักเรียนเกิดความภูมิใจและมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ เกิดความเป็นผู้นำและเชื่อมั่นที่จะทำในสิ่งที่ดี

นับตั้งแต่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการครู ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ก็ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือที่ดีกับเด็กๆ เรื่อยมา เช้าก็มาทำงาน เย็นโรงเรียนเลิกก็กลับบ้าน ทำเป็นกิจวัตรประจำวันทุกวัน ไม่ได้มีหลักยึดหลักคิดในการดำเนินชีวิตทำงานไปวันๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ถึงสิ้นเดือนก็รับเงินเดือน จนมาถึงช่วงหนึ่งของการทำงานเริ่มได้ยินคำว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” แต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร มีความหมายอย่างไร จนได้ย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ก็เป็นเวลา 3 ปีกว่าแล้ว


ท่านผู้อำนวยการได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารงานในโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ กลยุทธ์ และให้ครูทุกคนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและการทำงาน ซึ่งสภาพแวดล้อมของโรงเรียนก็เอื้อต่อการจัดกิจกรรมเนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่กว้าง มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย  โดยจัดแหล่งเรียนรู้เป็นฐานการเรียนรู้ให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ   ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยใช้ฐานการเรียนรู้ที่มีอยู่บูรณาการให้เข้ากับวิชาที่ตนเองสอน  และสามารถสอดแทรกเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเรียนรู้ได้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้


นอกจากที่นำมาใช้กับตัวเองแล้ว ก็เริ่มที่จะไปสู่เด็กนักเรียน ทำไมต้องไปสู่เด็กก็เพราะว่าเราเป็นครูคลุกคลีอยู่กับเด็กตลอด แรกๆ ก็ต้องให้เขารู้ก่อนว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง ในตอนเริ่มแรกของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ เราก็บอกเขาไปเลยว่าเป็นปรัชญาที่ในหลวงทรงพระราชทานเพื่อให้คนไทยเป็นหลักคิดหลักยึดในการดำเนินชีวิต ซึ่งประกอบด้วย 3 ห่วง ได้แก่ ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน และ 2 เงื่อนไข คือความรู้ และคุณธรรม เขาก็จะเพียงแค่ได้รับรู้ แต่ไม่ได้สนใจหรือคิดที่จะปฏิบัติตาม


จากนั้นเราต้องเป็นผู้สร้างให้เขาเกิดความเชื่อและศรัทธา โดยการสอดแทรกเข้าในกิจกรรมการเรียนการสอนอยู่เรื่อยๆ และพยายามเชื่อมโยงกิจกรรมกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่นจะเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงาน เราก็สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปด้วย โดยข้าพเจ้าจะเป็นผู้นำพาเด็ก ๆ ถอดบทเรียนก่อน เพื่อให้เขาเห็นตัวอย่าง เริ่มจากการที่เขาทำกิจกรรมแล้ว เขาได้ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข อย่างไรบ้าง เขาได้ยินได้ฟังได้ลงมือปฏิบัติและเห็นตัวอย่างอยู่เสมอ ทำให้เขาได้รับรู้และเริ่มเข้าใจ รวมทั้งเริ่มให้ความสำคัญ อย่างน้อยเขาก็ตอบได้ว่า 3 ห่วง 2 เงื่อนไขมีอะไรบ้าง อีกหน่อยเขาก็ต้องนำไปปฏิบัติได้เหมือนกัน


จากการที่นักเรียนได้เห็น ได้ทำ และสัมผัสบ่อยๆ กลายเป็นความคุ้นเคยและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไป อย่างน้อยเมื่อเขาจบการศึกษาจากโรงเรียนนี้ไป เขาก็ต้องมีแนวทางการดำเนินชีวิตหรือมีหลักคิดหลักยึดในการดำเนินชีวิต หรือเมื่อเขาไปประกอบอาชีพ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นพื้นฐานให้เขามีความซื่อสัตย์ สุจริต คิดดีทำดี อาจจะไม่ทั้งหมดแค่เป็นส่วนหนึ่งก็ยังดี นี่เป็นอีกความภูมิใจหนึ่ง เพราะนอกจากข้าพเจ้านำมาปฏิบัติกับตัวเองแล้ว ยังลงไปสู่เด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ เราเป็นครูถ้าเราไม่ทำ ไม่เริ่มก็คงไม่ได้เพราะเด็กๆ จะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ครูจึงมีบทบาทที่สำคัญ