บทเรียนความสำเร็จ …. ในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการเรียนรู้
โดย นางอำพร ทุมดี ***
ถ้าเราสังเกตจะพบว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นทวีคูณ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้สภาวะการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ผกผันกับความเจริญด้านเทคโนโลยีที่เจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน
คงไม่มีใครปฏิเสธ ถ้าจะสรุปว่าความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยียุคโลกไร้พรมแดนคือมลภาวะทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่รู้ไม่เท่าทันสื่อ ข้อมูลข่าวสารของโลกยุคไร้พรมแดน อีกทั้งกระแสการบริโภคนิยม กระแสแฟชั่นและวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่หลั่งไหลมาตามโฆษณาต่างๆ ที่ฉุดดึงให้เด็กและเยาวชนไทยซึมซับเอาค่านิยมฟุ้งเฟ้อและพฤติกรรมเลียนแบบตามกระแสแฟชั่น ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลต่ออัตลักษณ์และโลกทัศน์ของเด็กและเยาวชนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้เล็งเห็นความสำคัญ และกำหนดมาตรการต่างๆมารองรับเพื่อยับยั้งและคลี่คลายปัญหาดังกล่าวให้เบาบางลงหรือพยายามให้หวลคืนสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยให้ได้
กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์ และพัฒนาเยาวชนของชาติโดยตรง เยาวชนในชาติจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับกลไกการพัฒนาของกระทรวงศึกษาธิการเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเองก็ตระหนักถึงวิกฤตของปัญหาเยาวชนในโลกยุคใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงได้กำหนดมาตรการและนโยบายต่างๆ มากมายเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องตามแนวทางการพัฒนาเยาวชนของชาติ แนวนโยบายหลักๆที่เราซึ่งเป็นครูผู้สอนที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องปฏิบัติภารกิจในการพัฒนาเยาวชนเพื่อสนองนโยบายดังกล่าวคือการปฏิรูปการเรียนรู้ ทั้งเรื่องของการให้โอกาสการเรียนรู้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน การจัดการศึกษาเพื่อสร้างกำลังคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ มีคุณธรรม มีความสุขสมบูรณ์ทั้งกายและใจ
ข้าพเจ้าเป็นครูผู้สอนคนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดตั้งแต่ปีการศึกษา 2533 และปีการศึกษา 2544 ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และปฏิรูปการจัดการเรียนรู้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมขบวนการดังกล่าวมาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่มีโอกาสได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นตัวแทนครูผู้สอนที่ใช้บทเรียนสำเร็จรูปไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุงบทเรียนสำเร็จรูปร่วมกับกองวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เรียนรู้หลักการ และวิธีการพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้โดยผ่านสื่อที่เรียกว่า “บทเรียนสำเร็จรูป หรือ RIT “ ดีขึ้น แต่ในขณะนั้นข้าพเจ้าเพิ่งเป็นครูได้เพียง 3 - 4 ปี และปัญหาของสังคมก็ยังไม่เด่นชัดเหมือนดังเช่นปัจจุบัน ข้าพเจ้าจึงยังไม่รู้สึกว่าจะต้องใช้กลเม็ดในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้น่าสนใจเป็นพิเศษมากกว่าปกติอย่างไร เมื่อมาถึงปีการศึกษา 2544 ที่มีการปฏิรูปการเรียนรู้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้หลายโครงการที่ทางหน่วยเหนือจัดให้มีขึ้นโดยที่ข้าพเจ้าเองก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่ามันสำคัญและจำเป็นอย่างไรที่จะต้องมีการปฏิรูปการเรียนรู้ และอะไรคือวิธีการที่ดีที่สุดในการปฏิรูปการเรียนรู้ ข้าพเจ้าลองผิดลองถูกอยู่หลายปีที่จะใช้วิธีการหลากหลายรูปแบบเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาชาติและเป้าหมายของหลักสูตร จนกระทั่งข้าพเจ้ามีโอกาสได้เรียนรู้การจัดทำผลงานในการพัฒนาผู้เรียนเพื่อขอกำหนดตำแหน่งเป็นอาจารย์ 3 ข้าพเจ้าจึงได้รู้ว่า นวัตกรรมการเรียนรู้ต่างๆที่เราจัดขึ้นเพื่อสร้างและพัฒนาผู้เรียนจะมาจากสภาพปัญหา ไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะมาจากจุดใดที่เกี่ยวเนื่องในการจัดการเรียนการสอนเราจะต้องทำการแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพและความสามารถที่เขามีอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อทราบว่านวัตกรรมต้องมาจากปัญหา ข้าพเจ้าจึงทำการศึกษาปัญหาของผู้เรียนที่จะทำการสอน จากการสำรวจปัญหาพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจะคล้ายคลึงกับปัญหาในภาพรวมที่องค์กรต่างๆ สำรวจพบว่าเป็นปัญหาของเยาวชนยุคใหม่ในขณะนั้น คือ ปัญหาทางเพศ ปัญหาการตกเป็นเหยื่อกระแสบริโภค ปัญหาการติดสื่อ ติดยาเสพติด ปัญหาครอบครัวแตกแยก และวิกฤตของการรู้ไม่เท่าทันต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ปัญหาทุกปัญหาที่พบก็ถือว่าอยู่ในระดับเล็กน้อย หรือเบาบางมากถ้าเทียบกับในสังคมเมืองใหญ่ๆ เมื่อกลับมามองหาวิธีที่จะทำการแก้ไข และพัฒนาผู้เรียนให้ได้ตามลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตร ข้าพเจ้าก็ได้ศึกษาค้นคว้าเอกสาร ตำรา และทำการฝึกอบรมจากท่านผู้รู้ต่างๆ มากมายเพื่อให้ได้วิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมที่สุดที่จะทำให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เมื่อข้าพเจ้าเป็นครูผู้สอนที่ทำหน้าที่สอนประจำชั้น วิชาที่สอนจึงค่อนข้างหลากหลาย ข้าพเจ้าใช้วิธีการต่างๆมากมายหลายวิธีเพื่อให้เหมาะสมกับบริบท ลักษณะผู้เรียน และธรรมชาติวิชาของแต่ละวิชาที่แตกต่างกันไป แต่วิธีสอนวิธีหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าโดนใจ คือ วิธีสอนแบบโครงงาน ซึ่งเดิมทีเดียวก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าก็ได้เคยสอนด้วยวิธีนี้ให้กับผู้เรียนจนประสบความสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งในการประกวดโครงงานการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในระดับจังหวัด ซึ่งผู้เรียนของข้าพเจ้าซึ่งอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้คว้ารางวัลในระดับรองชนะเลิศของจังหวัดมาแล้ว ขณะนั้นข้าพเจ้ายังไม่ได้ศึกษาวิธีการสอนแบบต่างๆ อย่างลึกซึ้งจึงไม่ทราบว่า “โครงงาน ” ก็เป็นวิธีสอนวิธีหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นแต่กิจกรรมการปฏิบัติที่เกิดจากการเรียนการสอนของผู้เรียนเท่านั้น เมื่อทราบเช่นนี้ข้าพเจ้าจึงพยายามศึกษาเรียนรู้เรื่องของโครงงานอย่างละเอียดจนเข้าใจ ซึ่งพอสรุปได้ว่า “การสอนแบบโครงงานเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีลักษณะเป็นภาคปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถ ผู้เรียนได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติ ฝึกทดลองได้มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนในการทำงานร่วมกันได้สัมผัสสิ่งต่างๆที่เป็นวัสดุสิ่งของจริงๆ ด้วยตนเองเหมือนกับที่ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะการเรียนรู้วิธีนี้เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติจริงเพื่อแก้ปัญหาเล็กๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองและกลุ่มเพื่อนสงสัย ด้วยกระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลที่เกิดจากการเรียนรู้วิธีนี้จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และจดจำบทเรียนได้อย่างคงทน เพราะได้รับประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้ของตนเอง ”
เมื่อเข้าใจเรื่องของโครงงานดีแล้วข้าพเจ้าจึงเริ่มสอนให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยวิธีสอนแบบโครงงาน โดยเน้นให้นักเรียนเรียนรู้สิ่งใกล้ตัวที่เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิต เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งที่พบในกลุ่มผู้เรียนในเขตบริการนี้อีกด้านหนึ่งคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน เมื่อเรียนจบในระดับการศึกษาภาคบังคับแล้วจะไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น หรือถ้าจะมีบ้างก็ไม่มีโอกาสเรียนจบเพราะกี่รุ่นต่อกี่รุ่นก็จะลงเอยด้วยการออกมามีครอบครัวทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีอยู่บ้างที่บางส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองจะสามารถหาเงินส่งเสียให้เรียนจนจบระดับอนุปริญญาได้ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ข้าพเจ้าก็คิดว่าเราน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้เรียนได้มีวิชาที่จะสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตนมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตไว้บ้าง เพื่อเป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักคุณค่า คุณประโยชน์ของสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัว รู้ที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตเพื่อเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ หลีกเลี่ยงที่จะไปใช้ของราคาแพงๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมโดยรวมของชุมชน เพราะเท่าที่ลองวิเคราะห์ดูจากการที่ได้รับรู้ ได้พบเห็น และทราบข่าวการเจ็บป่วยของประชากรไทยในปัจจุบันซึ่งล้วนแล้วแต่น่าจะมีสาเหตุมาจากผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการดำเนินชีวิตทั้งสิ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการอุปโภค บริโภคสิ่งที่เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ก่อให้เกิดผลร้ายตามมาภายหลังซึ่งยากต่อการแก้ไข สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลงก่อนวัยอันควร นี่คือความคิดความรู้สึกที่จุดประกายให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นครูสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มาเป็นเวลา 15-16 ปีในขณะนั้นเกิดความคิดที่จะปลูกฝังและพัฒนาผู้เรียนของตนเพื่อเป็นการผ่อนปรนปัญหาดังกล่าว
ในปีการศึกษา 2546 ข้าพเจ้าใช้การสอนแบบโครงงานในการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องสารเคมี กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองไผ่ และส่งเป็นนวัตกรรมในการขอกำหนดตำแหน่งเป็นอาจารย์ 3 เชิงประจักษ์ ผลปรากฏว่าผลงานของข้าพเจ้าได้รับการปรับปรุงแก้ไขและผ่านการประเมินเป็นอาจารย์ 3 ในปี 2548 เมื่อข้าพเจ้าผ่านการประเมินเป็นอาจารย์ 3 แล้วข้าพเจ้ายังไม่ได้ลดละ หรือล้มเลิกความตั้งใจในการที่จะดึงผู้เรียนให้พ้นบ่วงกระแสการบริโภคนิยมที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ข้าพเจ้ายังคงดำเนินการพัฒนาผู้เรียนในหลายๆมิติ ทั้งด้านคุณธรรม ความรู้ และทักษะชีวิต เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปเป็นประชากรที่เพียบพร้อมด้วยลักษณะอันพึงประสงค์ที่สังคมต้องการ โดยทุกๆ มิติข้าพเจ้าจะต้องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีสอนแบบโครงงานและผู้เรียนมีการจัดทำโครงงานจากสิ่งที่เรียนภาคเรียนละ 1 โครงงานเป็นอย่างน้อย โครงงานที่ผู้เรียนทำส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับเรื่องของการดำรงชีวิตโดยใช้ทรัพยากร ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตเสียเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้จะเป็นโครงงานคุณธรรมหรือโครงงานสุขภาพก็จะยังคงเน้นเรื่องของสุขภาวะส่วนตน สังคม และสิ่งแวดล้อมอยู่ดี เมื่อเป็นดังนี้ผลของการดำเนินการดังกล่าวจึงส่งผลให้ข้าพเจ้า ผู้เรียน และโรงเรียนได้รับรางวัลจากการส่งผลงานในการทำโครงงานเข้าประกวดอย่างต่อเนื่องดังนี้
ในปีการศึกษา 2549 ฉันได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่น ในการส่งผลงานนวัตกรรมการสอนแบบโครงงานเข้าประกวดนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 3 และนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ฉันทำหน้าที่ครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นประถมศึกษาในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 3
ในปีการศึกษา 2550 นักเรียนในระดับประถมปลาย ที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่ครูที่ปรึกษา ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดโครงงานคุณธรรมในระดับชั้นประถมศึกษาในการประกวดโครงงานคุณธรรมของนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 3
ในปีการศึกษา 2551 นักเรียนในระดับประถมปลายที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่ครูที่ปรึกษาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดโครงงานสุขภาพตามโครงการเด็กไทยทำได้ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองบัว
ในปีการศึกษา 2552 นักเรียนในระดับประถมปลาย ที่ข้าพเจ้าทำหน้าที่ครูที่ปรึกษาได้จัดทำโครงงานเกี่ยวกับสุขภาพภายใต้ชื่อ “สุขภาพดีทางเลือกใหม่ด้วยสมุนไพรมะขามป้อม” ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดโครงงานสุขภาพตามโครงการเด็กไทยทำได้ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหนองบัว และโครงงานนี้เป็นโครงงานสุขภาพที่ได้รับความสนใจจากคณะผู้จัดทำรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ที่จัดทำรายการเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอทางไทยทีวีช่อง 3 มาถ่ายทำการทำโครงงานของนักเรียน ไปลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด และนำเสนอในรายการทุ่งแสงตะวันทางช่อง 3 ผลจากการทำโครงงานเรื่องมะขามป้อมทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียน ครูที่ปรึกษาโครงงาน นักเรียนที่ทำโครงงาน สรรพคุณและวิธีการนำมะขามป้อมมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพเป็นที่สนใจและรู้จักกันแพร่หลายยิ่งขึ้น
ข้าพเจ้าเองรู้สึกปลาบปลื้มใจในสิ่งที่ข้าพเจ้าได้พยายามรณรงค์มาโดยตลอดได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ที่สำคัญหากโครงงานครั้งนี้จะเป็นชนวนช่วยจุดประกายให้หลายๆ ชีวิตในประเทศไทยได้เห็นคุณค่า คุณประโยชน์ของสิ่งที่เรามีอยู่ และรู้จักที่จะศึกษาเรียนรู้ที่จะนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิต ข้าพเจ้าจะถือว่าสิ่งนี้เป็นอานิสงค์อย่างหนึ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าไม่สามารถจะสร้างด้วยวิธีอื่นได้
ด้วยข้าพเจ้าถือว่านี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินของข้าพเจ้านอกเหนือจากการเป็นข้าราชการที่ดี และการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การทำงาน และการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นหน้าที่หลักของการเป็นครู ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ข้าพเจ้ายอมรับว่าข้าพเจ้าเพิ่งจะเข้าใจความหมาย รวมถึงวิธีการที่จะนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เมื่อ 1 - 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าเคยได้รู้ ได้เห็น และได้ยินเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้วก็ตาม แต่เพราะภาพของการทำสวน ทำไร่ ทำนา และหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมที่นำเสนอควบคู่กับคำว่า “ เศรษฐกิจพอเพียง” ให้ได้เห็นอยู่เป็นประจำจึงทำให้ข้าพเจ้ามีความเข้าใจความหมายของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนๆ กับคนอื่นๆส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของบุคคล และกิจกรรมที่ทำเกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น และน่าจะเป็นเรื่องของคนชั้นกลางที่มีรายได้น้อยเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อโรงเรียนของข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเรื่องของเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ได้หมายความเฉพาะเรื่องของกิจกรรมด้านการเกษตร หรือผู้ที่ทำการเกษตรเท่านั้น กิจกรรมทุกกิจกรรม บุคคลทุกหมู่เหล่า ทุกหน่วยงานสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจแบบพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งสิ้น เพราะหลักปรัชญาของเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขึ้นนั้นเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้ง ครอบคลุม สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ทุกระดับชนชั้น เนื่องจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการยึดหลักของ “ ทางสายกลาง” ที่บุคคลใดสามารถประพฤติปฏิบัติตามได้ บุคคลนั้นก็จะสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขด้วยความสมดุลท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างวิกฤตของโลกในปัจจุบัน
ข้าพเจ้าเองรู้สึกขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาที่ได้ให้ภาพลักษณ์ใหม่ในความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงจนข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการเกิดความกระจ่างและเชื่อมั่นว่าจะสามารถน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การปฏิบัติภารกิจ หน้าที่การงานของตน รวมทั้งขยายผลสู่พสกนิกรชาวไทยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อความผาสุก ร่มเย็น ดังพระประสงค์ของพระองค์ท่านได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายผลลงสู่เยาวชนของชาติซึ่งจำเป็นต้องเร่งปลูกฝังสิ่งดีๆ ผ่านการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนหรือเยาวชนอย่างจริงจัง
ถ้าจะถามว่า “ แล้วข้าพเจ้าใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จัดการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร” ข้าพเจ้าก็คงต้องตอบว่า “ความสำเร็จในการใช้เศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเรียนรู้ของข้าพเจ้าคือ การใช้การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นั่นคือก่อนจัดการเรียนรู้ต้องตรวจสอบดูสภาพปัญหา และความต้องการของผู้เรียนก่อน จากนั้นออกแบบวางแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เพราะข้าพเจ้าสอนประจำชั้น หลากหลายวิชา ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละเรื่องกิจกรรมส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติกิจกรรมในสถานการณ์จริงให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด ฝึกแก้ปัญหา ได้ทำงานเป็นกลุ่มเพื่อฝึกการทำงานร่วมกันยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งกิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ ส่วนใหญ่ที่ทำให้ข้าพเจ้า ผู้เรียน และโรงเรียนประสบความสำเร็จในการนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในจัดการเรียนรู้ คือการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เพราะเมื่อวิเคราะห์ตามความหมาย หลักการ ของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริงแล้ว
การจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานที่ข้าพเจ้าได้ใช้จัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนมาอย่างต่อเนื่องนั้นแฝงไปด้วยการนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น อาจจะเป็นการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ค่อนข้างสมบูรณ์อีกด้วย เนื่องจากกระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบการสอนแบบโครงงาน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการแสวงหาความรู้โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของปรัชญาของเศรษฐกิจแบบพอเพียงตรงที่มีการเน้นการใช้เหตุผลในการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ แก้ปัญหาด้วยวิจารณญาณ มีความพอประมาณในการวางแผน รวบรวมข้อมูล และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการเรียนรู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วางไว้ มีภูมิคุ้มกันด้วยการไม่เสี่ยง ไม่ประมาทมีความรอบคอบ และเตรียมตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากผลของการกระทำในสิ่งที่ตนปฏิบัติ ทดลองทำกิจกรรมของการเรียนรู้ มีคุณธรรมที่เกิดจากการเรียนรู้คือความเพียรพยายามในการแสวงหาความรู้ ความอดทนรอคอยคำตอบจากการศึกษาค้นคว้าทดลอง ความสามัคคีจากการทำงานเป็นกลุ่มและที่สำคัญการเรียนรู้แบบโครงงานผู้เรียนจะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องการศึกษาเรียนรู้อย่างรอบด้าน เพื่อที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงอย่างรอบคอบระมัดระวัง ประกอบการวางแผน และปฏิบัติกิจกรรมทุกขั้นตอน
ทั้งหลายทั้งปวงของขั้นตอนการเรียนการสอนแบบโครงงานนี้ล้วนแล้วแต่ต้องใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ทั้งสิ้น เมื่อการจัดการเรียนการการสอนด้วยวิธีสอนแบบโครงงานของข้าพเจ้าประสบความสำเร็จดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น ความสำเร็จจากการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเรียนรู้ของข้าพเจ้าย่อมต้องได้รับความสำเร็จด้วยเช่นกัน เพราะการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานของข้าพเจ้าได้น้อมนำเอาหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างเต็มรูปแบบโดยที่ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่าแท้ที่จริงแล้วความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงที่บังเกิดขึ้นล้วนแล้วแต่ผ่านหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่เราไม่รู้ ไม่ได้วิเคราะห์แยกแยะมาก่อนเท่านั้นเองว่าการกระทำเช่นนี้ ขั้นตอนนี้ เป็นเรื่องของคุณธรรม ความรู้ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ หรือการมีภูมิคุ้มกันที่ดี เราคงทำสิ่งต่างๆ แบบบูรณาการรวมๆ กันไป เมื่อได้ทราบเจตจำนงที่แท้จริงของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นนี้แล้วในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในครั้งต่อๆ ไปข้าพเจ้าจะพยายามตระหนักรู้และระลึกถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เสมอเพื่อความสุข ความสำเร็จ ความสมดุลของชีวิต ครอบครัว สังคม และประเทศชาติสืบไป ทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราซึ่งเป็นผู้พระราชทานแนวพระราชดำรินี้มาให้ผองเราชาวไทยได้ใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา