การนำแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน

การนำแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน

โดย นายดำเนิน เผ่าคนชม โรงเรียนบ้านหนองไผ่ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

หลักเศรษฐกิจพอเพียงข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังอยู่ตลอดเวลาทางสื่อต่างๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานหลักแนวเศรษฐกิจพอเพียงแก่ปวงชนชาวไทยข้าพเจ้าก็ไม่ได้ศึกษาหรือให้ความสนใจแต่อย่างไร จนข้าพเจ้าได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งผู้บริหาร(ผอ.พนม) และคณะครู นักเรียน ได้มีการขับเคลื่อนนำแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาเป็นเวลานับสิบปี ใช้ในการบริหารงาน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การร่วมมือกับชุมชน ซึ่งข้าพเจ้าจึงเดินทางมาถึงบางอ้อ ... ข้าพเจ้าจึงศึกษาหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนอย่างจริงจัง ถึงหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล ภูมิคุ้มกัน 2 เงื่อนไข คือ ความรู้และคุณธรรม ซึ่งมีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียน

ความพอประมาณ ก็คือความไม่มากหรือน้อยให้เหมาะสมกับสภาพของตนเอง ซึ่งตรงหลักคำสอนทางพุทธศาสนา คือทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป หรือเหมือนสุภาษิตคำพังเพยที่ว่า “นกน้อยสร้างรังแต่พอตัว” ซึ่งความพอประมาณข้าพเจ้าได้นำไปใช้ในทุกๆ เรื่อง คือจะทำอะไรต้องคิดก่อนถึงความพอประมาณ เช่น การใช้จ่ายเงินในครอบครัวว่าเหมาะสมเพียงใด จำเป็นมากน้อยเพียงใด ซึ่งก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าก็ไม่ได้นำมาคิดเท่าไร การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกับนักเรียนก็ต้องพิจารณาด้วยว่า การมอบหมายงานให้นักเรียน ความเหมาะสม ความมากน้อยของปริมาณงานที่จะให้นักเรียนได้ ความพอประมาณถ้าทุกคนนำไปคิดก่อนที่จะลงมือทำอะไรอย่างรอบคอบแล้ว ก็จะไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน ความพอประมาณนั้นไม่ใช่การดำเนินชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน ความพอประมาณของแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกับ ขึ้นอยู่กับสภาวะของแต่ละบุคคล ฐานะทางสังคม รายได้ ความเป็นอยู่ของแต่ละบุคคลที่มีอยู่ ว่าตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อนไหม ตัวเองมีความสุข

ความมีเหตุมีผล เราต้องมาพิจารณาในการดำเนินในชีวิตประจำวันของเรานั้นเป็นอย่างไร เรามีทุกข์เราจะแก้ไขความทุกข์ เราก็ต้องแก้ที่เหตุของความทุกข์ เช่น ตัวเราอ้วนแล้วทำให้เราเกิดความทุกข์ เราก็มาพิจารณาว่าเราอ้วนนั้นเกิดจากอะไร ตั้งสมมุติฐานหลายๆ ข้อ แล้วมาพิจารณาอย่างละเอียด เช่นสรุปได้ว่ามาจากการรับประทานอาหารมาก ไม่เป็นเวลา เราก็ต้องมาปรับสภาพการดำเนินชีวิต รับประทานให้เป็นเวลา พอประมาณไม่มากไม่น้อยเกินไป การนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การให้การบ้านกับนักเรียน ก็ต้องให้ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ส่วนนักเรียนไม่ทำการบ้านก็เกิดความทุกข์ ไม่สบายใจ กลัวคุณครูว่า ก็ต้องแก้โดยการทำการบ้านให้แล้วเสร็จจึงจะทำให้เกิดความสุข ในเรื่องความมีเหตุมีผลเรานำมาคิดก่อนลงมือทำ ว่าตนเองและผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่ ถ้าเดือดร้อนเราก็ไม่ทำ ถ้าทุกคนนำหลักแนวคิดนี้ไปใช้กันทุกคน ฟังเหตุฟังผลกันก็จะทำให้สังคมสงบสุข ไม่วุ่นวายกันเหมือนปัจจุบัน ที่คนเราขาดสติ ขาดความยั้งคิด ลุ่มหลงงมงาย หลงเชื่อในทางที่ผิดๆ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้นำหลักของความมีเหตุผล โดยได้เน้นให้นักเรียนทุกคนได้ใช้การคิด หาเหตุ หาผล ของเหตุต่างๆ ที่เราได้ทำได้ปฏิบัติ ว่าเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ทำไมถึงเป็นเช่น ช่วยการวิเคราะห์

ภูมิความกัน นั้นจะเกิดขึ้นเอง หากเรานำความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลมาใช้ ภูมิคุ้มกันก็จะเกิดขึ้นเอง เช่น เด็กติดยาเสพติด ถ้าจะแก้ไขก็ต้องเอาความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลมาใช้แก้ไข ติดยาเสพติดทำให้ร่างกายทรุดโทรม ไม่แข็งแรง สมองไม่แจ่มใส คิดอะไรไม่ออก ก็ต้องหยุดเสพหยุดการใช้ ในทุกเรื่องนั้นที่เราจะทำหรือปฏิบัตินั้น เราต้องคิด พิจารณาก่อนทำ ความเหมาะสม หากทุกคนคิดให้รอบคอบก่อนทำ ก็จะเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมาเอง เช่นเราหยุดการเสพสิ่งเสพติด ก็จะทำให้ร่างกายเราแข็งแรงไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ผู้ที่รักเราก็จะไม่มีความทุกข์จะมีแต่ความสุข ที่เห็นคนที่เรารักนั้นดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง

ความรู้ เป็นศาสตร์เป็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง คนเราจะมีความรู้ได้ก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา หาความรู้ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา มีการเรียนการสอนตลอดชีวิต ความรู้นั้นเป็นดาบที่มีสองคมหรือสองด้าน หากนำความรู้ไปใช้ในทางที่ถูกก็จะเกิดความเจริญ ไม่เดือดร้อน หากนำไปใช้ในทางที่ผิดก็จะเกิดความวุ่นวายเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เช่น การตัดต้นไม้กันมาก ก็จะเกิดความร้อน ความแห้งแล้งเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทุกคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน

คุณธรรม เป็นตัวกำกับให้เรารู้ว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด เช่นการนำความรู้ไปใช้ต้องนำไปใช้ในทางที่ถูกจะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง ผู้อื่น และสังคมในส่วนรวม การใช้ความรู้ต้องใช้ควบคู่กับคุณธรรม ดังคำกล่าวที่ “ความรู้คู่คุณธรรม” การนำแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันนั้นจะทำให้ทุกคนมีความสุขไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่นก็จะส่งผลให้สังคมสงบสุข ร่มเย็น