การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองไผ่

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี


การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ เน้นการจัดหลักสูตรที่เชื่อมโยงไปสู่ชุมชน เริ่มจากการส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนมีความรู้และเข้าใจหลักปรัชญาฯ ออกไปศึกษาอบรมพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ การจัดการเรียนการสอนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ภาคเช้าเน้นวิชาหลัก ส่วนภาคบ่ายจะเน้นวิชาชีพ ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยแต่ละหน่วยการเรียนรู้กำหนดขึ้นตามความถนัดของครูแต่ละคน จัดให้เด็กเวียนเข้าฐานการเรียนรู้ตามความเหมาะสมของระดับชั้น ทุกคนจะได้ผ่านฐานกิจกรรมเรียนรู้ทุกฐานเมื่อจบการศึกษา โดยโรงเรียนสามารถวัดพฤติกรรมของเด็กได้ เช่น เด็กที่รับผิดชอบปลูกผัก จะใช้การเจริญเติบโตของแปลงผักเป็นตัววัดการเปลี่ยนแปลงของเด็ก เป็นต้น จัดให้หลักฐานการเรียนรู้ทุกฐานนำไปสู่การเกื้อกูลกัน พึ่งพากัน เป็นวัฎจักร ไม่ว่าจะเป็นการนำมูลหมูไปเป็นปุ๋ยใส่ผัก ผักที่ได้นำมาเป็นอาหารเลี้ยงหมู แสดงถึงความเชื่อมโยงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เด็กเกิดทักษะจากการลงมือทำ และคิดอย่างเป็นระบบ

บริบทโรงเรียนบ้านหนองไผ่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล – ม. 3 มีนักเรียน 200 คน ครู 17 คน มีเนื้อที่ 62 ไร่ โรงเรียนจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับชุมชน ซึ่งมีฐานการเรียนรู้อยู่ในภาคเกษตร เน้นส่งเสริมครูให้รู้และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อนนำไปเผยแพร่ จึงเป็นหน้าที่ของผอ.ที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงให้ถ่องแท้ เพื่อให้ผอ. และครู ขับเคลื่อนโรงเรียนไปในทิศทางเดียวกัน

 “การขับเคลื่อน” แบ่งครูออกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่ม  A  เป็นครูแกนนำมีประมาณ 5 - 6 คน มีลักษณะหัวไว ใจสู้ รู้เร็ว กลุ่ม B มีลักษณะว่าอย่างไรว่าตามกัน ฉันทำด้วย กลุ่ม C คือกลุ่มครูที่มาใหม่ หรือครูใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว (มี 2 - 3 คน) จึงไม่ใช่ปัญหาหนัก การขับเคลื่อนจะให้กลุ่ม  A  เป็นผู้นำ ทั้งนี้ ในกระบวนการอบรมครูจะเน้นการสร้างความตระหนัก ความศรัทธาในเศรษฐกิจพอเพียง โดยจูงใจให้เห็นคุณค่าของพระราชดำรัสของในหลวง และเชื่อมโยงให้เกิดผลกับตัวเขาเอง เมื่อครูนำไปใช้สอนสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดผลกับตัวนักเรียนด้วย เมื่อการเรียนการสอนก่อเกิดผลกับตัวนักเรียนแล้วก็ย่อมส่งผลกับตัวคุณครูไปถึงขั้นได้ปรับวิทยฐานะ ผลเป็นรูปธรรมนี้จะทำให้ครูเริ่มมองเห็นประโยชน์ว่าถึงตัวเขาแล้ว และเขาจะเห็นว่าเขาได้มาอย่างไร

การบูรณาการสู่การเรียนการสอนจะเน้นไปที่วิชาปฏิบัติในภาคบ่ายที่เชื่อมโยงกับการเกษตร เน้นฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 14 ฐาน ซึ่งแต่ละฐานให้ครูเป็นผู้คิดและออกแบบฐานด้วยตนเอง  ครูผู้หญิงจะเน้นฐานการปลูกพืช ส่วนครูผู้ชายเน้นฐานการเลี้ยงสัตว์ อาทิ ฐานการเพาะกบ เพาะปลา เพาะหมู เลี้ยงไก่ไข่ ทำสมุนไพร ทำถ่านผลไม้ดูดกลิ่น ทำน้ำส้มควันไม้ ทำแปลงผักปลอดสารพิษ ให้ครูรับผิดชอบฐานละ 2 คน การออกแบบฐานจะดูจากวิสัยทัศน์ของโรงเรียนซึ่งกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ปลายทางคือเด็กนักเรียนต้องเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติเพื่อนำไปใช้ที่บ้านได้  ส่วนใหญ่จะเป็นฐานที่เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตในชุมชน เมื่อนักเรียนนำกลับไปปฏิบัติจริง ทางโรงเรียนก็จะส่งคุณครูเพื่อมานิเทศผู้ปกครองของนักเรียน นำผลเหล่านั้นกลับมารายงานความคืบหน้ากับโรงเรียน ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ไม่ได้ละทิ้งสาระหลักทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม เพราะโรงเรียนมีนโยบายคือภาคเช้าครูจะต้องสอนวิชาหลักก่อน และบทบาทของครูในภาคบ่ายคือเป็นผู้คอยส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ เน้นให้เด็กฝึกปฏิบัติได้เอง เมื่อมีคณะเข้ามาเรียนรู้ดูงานที่โรงเรียนเด็กเองก็สามารถนำเสนอความรู้ให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมงานได้ สามารถอธิบายความเชื่อมโยงงานกับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขได้ ส่วนผู้บริหารก็มีหน้าที่สนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ประสานกับหน่วยงานกับ อบต. อบจ. อำเภอ สำนักงานเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ศูนย์สถานีวิจัยบำรุงทางสัตว์ และมูลนิธิโรตารี่เพื่อจัดหางบประมาณดำเนินการขับเคลื่อนฯ ให้ประสบผลสำเร็จ

โรงเรียนทำโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2547 ได้รับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียงเมื่อปี  2550 และเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงปี 2554  ผลจากการทำโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากประเมินผลทั้ง 3 ครั้งพบว่า อยู่ในระดับดีมากในนักเรียนระดับประถมวัย สรุปภาพรวมโรงเรียนถูกประเมินเป็นโรงเรียนนวัตกรรมดีเด่น เป็นที่หนึ่งของ สพฐ. ในปีนี้