การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนห้วยยอด

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนห้วยยอด 

โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” วันที่  27  พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
 

อาจารย์จรวยพรรณ นำวรรณกรรมและวรรณคดีที่มีอยู่ในรายวิชามาปรับประยุกต์ ให้ตรงกับหลักสูตรแกนกลางให้มากที่สุด ผ่านกระบวนการทำโครงงาน โดยนำวรรณคดี และวรรณกรรมเด่นๆ 3 เรื่องคือ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์  เน้นให้เด็กรู้จักคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องอิเหนาตอนศึกกระหมังกุหนิง เป็นตัวตั้งโจทย์ให้เด็กกลับไปค้นคว้าข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้เน้นถึงความรักเกี่ยวกับครอบครัวและชุมชน การสนับสนุนของผู้ใหญ่ในชุมชนในการให้ข้อมูลกับเด็ก เมื่อเด็กเข้าไปค้นคว้าข้อมูล เรื่องสุดท้ายคือเรื่องหัวใจชายหนุ่ม นวนิยายเรื่องสั้นที่ให้เด็กเรียนรู้เรื่องจิตอาสา เพราะเนื้อหาของเรื่องเน้นให้เรารักและภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง เป็นการอนุรักษ์ให้วัฒนธรรมให้คงอยู่ต่อไปด้วยการนำความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไปเผยแพร่ ซึ่งนั่นคือการแบ่งปัน เป็นจิตอาสา นำไปสู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งวรรณกรรมทั้ง 3 เรื่องที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะไม่ทิ้งหลักสูตรเดิมและไม่หลุดจากธรรมชาติของวิชา
 

การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน : เมื่อก่อนเห็นอะไรก็จะซื้อ อยากได้ไปหมดทุกอย่าง แต่เมื่อได้มาอยู่ตรงนี้คิดได้ว่าเมื่อเปิดตู้เสื้อผ้า เสื้อบางตัวไม่เคยใส่เลย  ซื้อมาแขวนไว้ทำไม บางอย่างซื้อมาก็ไม่เคยได้ใช้ เรามีของเยอะแยะมากมาย แล้วทำให้เรารู้สึกหวงของ แต่ปัจจุบันพอเรามองว่าไม่เป็นประโยชน์กับเรา แต่เป็นประโยชน์กับคนอื่นก็จะพยายามนำของที่เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรืออะไรก็ตามไปให้คนอื่นที่เขาต้องการ  ซึ่งมันเป็นไปเองโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ว่ามันจะสะท้อนให้เราคิดได้เรื่องจับจ่ายใช้สอย จะซื้อจะทำอะไรต้องคิดก่อน
 

การออกแบบการเรียนรู้:  เราสอนวิชาภาษาไทย ชั้น ม. 4 เป็นวิชาพื้นฐาน ปี พ.ศ. 2553  คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) แนะนำว่าให้ลองนำ Project-based เข้าไปสอนดู วิชาภาษาไทยไม่น่าจะนำมาสอนโครงงานได้ วิชาโครงงานใน 1 หน่วยการเรียนรู้มี 13 ชั่วโมง ปรากฏว่าสอนตั้งแต่เขียนโครงงาน ทำโครงงาน และนำโครงงานมานำเสนอ 13 ชั่วโมงเป็นไปไม่ได้ เพราะเวลามันน้อยมาก  คุณทรงพลบอกว่า การที่จะพัฒนานิสัยพอเพียงได้นั้น มันไม่ใช่แค่ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แล้วพัฒนาได้ อย่างน้อยต้อง 1 ภาคเรียน ก็กลับมาคิดใหม่ว่า เราต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ โดยปรับเป็น 1 ภาคเรียน โดยนำวรรณคดีหรือวรรณกรรมมาเป็นตัวจัดตั้ง โดยหน่วยแรกคือ สอนเรื่องของแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ตอนคัมภีร์ฉันทศาสตร์  ซึ่งแนวคิดหนึ่งของวิชาภาษาไทยคือ ดูละครแล้วย้อนดูตัว หมายความว่า  การที่เด็กจะเรียนรู้วรรณคดีหรือวรรณกรรมอะไรก็ตาม เมื่อเด็กเรียนรู้แล้ว เด็กต้องสะท้อนข้อคิดได้ เด็กต้องนำข้อคิดที่ได้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้  เช่น เรื่องดอกส้มสีทองเด็กต้องตอบได้ว่า เรยามีส่วนดีหรือไม่อย่างไร แล้วถ้าเป็นนักเรียน นักเรียนจะเป็นเรยาในส่วนไหน ต้องสะท้อนความคิดของเขาให้ได้ จึงนำเอาแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เป็นตัวตั้ง เด็กสะท้อนความคิดได้จากการเรียนแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่ามากมายในสมัยรัชกาลที่ 5 และในปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ จึงตั้งหน่วยนี้ว่า “ภูมิปัญญาพาสู่สังคม” หรือ “ภูมิปัญญาพาสู่ชุมชน” เด็กจะคิดโครงงานขึ้นมาหนึ่งโครงงาน โดยระหว่างทางของการคิดโครงงาน เราจะมีโจทย์ให้เด็กต้องค้นพบด้วยว่าในชุมชนของเด็กมีภูมิปัญญาใดบ้าง โดยเรียนรู้จากชุมชนหรือจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้านของนักเรียนเอง แล้วเด็กนำเสนอภูมิปัญญาของแต่ละคนออกมา สุดท้ายแล้วจะต้องเลือกมาหนึ่งภูมิตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สรุปคือสังเคราะห์มาเป็นข้อคิด และนำเอาข้อคิดที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน
 

วิชาภาษาไทยจะนำวรรณกรรมหรือวรรณคดีเป็นตัวตั้งในการจัดการเรียนรู้ แต่จะตั้งชื่อหน่วยใหม่ เพราะ กิจกรรมตัวนี้คือโครงงานเป็นนวัตกรรมที่ปรับเปลี่ยนนิสัยของเด็ก โดยมีโจทย์ว่า เด็กจะไปเรียนรู้อะไรก็ได้แต่ต้องเป็นสิ่งที่มีในชุมชน จากสิ่งที่มีในบ้านของเด็กก็ได้ เมื่อเด็กได้โจทย์แล้ว เด็กจะบอกได้ว่าเด็กจะเลือกอะไรและนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปจับ  จากนั้นให้เด็กๆ เขียนโครงงานมาหนึ่งโครงงานโดยช่วยกันเขียน ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ยากมาก การเขียนโครงงานของวิชาภาษาไทยจะต้องยึดธรรมชาติของวิชาภาษาไทย นักเรียนสามารถเขียนโครงงานตามหลักภาษาไทยได้ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว จะทำให้เด็กนักเรียนได้พัฒนาด้านการสื่อสารเรื่องของการเขียน
 

 ปัญหาและแนวทางการแก้ไข: สิ่งที่ค้นพบและจะปรับเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2555 คือ เด็กมีความรู้สึกไม่ค่อยดีกับคำว่าโครงงานคือ เด็กมีความรู้สึกว่าเขียนโครงงานนั้นเขียนยาก  ทำให้เราต้องมานั่งคิดกับตัวเองว่าต่อไปนี้จะไม่นำขั้นตอนของกระบวนการมาจัด แต่จะบอกกับนักเรียนว่า ชั่วโมงนี้นักเรียนเลือกโครงงานนี้เพราะอะไร มาจากอะไร และให้จดบันทึก ซึ่งเป็นหลักการและเหตุผล แต่เราจะไม่บอกว่านี่คือที่มาของหลักการและเหตุผล เด็กจะบันทึกก่อน พอชั่วโมงหน้า หรือหากเด็กทำเสร็จแล้ว ก็จะถามเด็กว่า นักเรียนทำเพราะอะไร เด็กก็จะเขียนว่าทำเพราะอะไร นั่นคือวัตถุประสงค์ แล้วนักเรียนไปทำกับใครนี่คือขอบเขต แล้วมีเป้าหมายอะไร จะให้นักเรียนเขียนอย่างนี้ก่อน คิดว่าเทอมนี้จะสอนแบบนี้ และจึงนำมาประมวลเป็นโครงงาน
 

สำหรับการสอนเราจะใช้หลักสูตรแกนกลางเป็นตัวตั้ง  ส่วนเป้าหมายคือ ตัวชี้วัด สมรรถนะทั้ง 5  และคุณลักษณ์พึงประสงค์ ยึดความเป็นนิสัยพอเพียง โจทย์แรกที่เราตั้งคือ ให้เด็กเขียนโครงงาน เราจะทำอย่างไรให้ไปสู่ตัวชี้วัด โดยนำตัวชี้วัดนี้มาทำให้เกิดโครงงานให้ได้ ก็ต้องไปเลือกตัวชี้วัดให้เข้ากับวรรณกรรมที่เราเลือกมา เราอาจจะใช้วรรณกรรมหรือวรรณคดีตัวอื่นก็ได้ แต่เรามองว่าแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์สะท้อนเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราอยากให้เด็กทำ
 

พอจบหน่วยที่หนึ่ง เมื่อเด็กผ่านกระบวนการของการเขียนโครงงาน ครูก็ต้องคิดต่อว่าเด็กจะต้องไปหาข้อมูลคือขั้นตอนของ IS2  ซึ่งเด็กรู้โจทย์แล้ว เพราะฉะนั้นเด็กต้องไปค้นหาข้อมูล ครูก็ต้องตั้งโจทย์ต่อว่าแล้วเราจะนำวรรณกรรมตัวไหนเป็นตัวตั้งโจทย์ให้เด็กกลับไปเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น จึงนำเรื่อง อิเหนา ตอนศึกกระหมังกุหนิง  มาเป็นตัวตั้งว่า ถ้ามีผู้ใหญ่ใจดีอยู่ในชุมชนเยอะๆ มันน่าจะดี  เพราะเด็กกำลังจะไปเรียนรู้กับชุมชน เรียนรู้กับพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ใจดีที่อยู่ในชุมชน มาเป็นโจทย์ของเทอมนี้ เช่น โครงงานกล้วยกล้วยที่ไม่ใช่กล้วย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มของเด็กที่ไม่เรียนหนังสือเลย พูดไม่เป็น เขียนไม่ได้ เขาเรียนรู้จากคุณตา กลุ่มที่สอง ใช้ชื่อโครงงานว่า หนุกหนานย้อนยุค เรียนรู้จากแม่ที่สานใบมะพร้าว ใช้กระดาษเหลือใช้แล้ว กลุ่มที่สาม กลุ่มตะขาบ ภูมิปัญญาพ่อพอเพียง เขาเรียนรู้จากพ่อจากการนำเหล้าขาวมาดองตะขาบ รักษาแผลสด
 

หลังจากนั้นก็ตั้งโจทย์ต่อว่า เขาต้องนำผลงานที่ค้นคว้ามานำเสนอสู่จิตอาสา เรื่องที่สามคือการนำนวนิยายเรื่องสั้น “หัวใจชายหนุ่ม” ซึ่งเป็นเรื่องที่สะท้อนความคิดว่า ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ใดในโลกใบนี้ เมื่อกลับมาคุณต้องมีความเป็นไทยกลับมา การที่เราจะรู้ถึงความเป็นตัวตน เราก็ต้องอนุรักษ์ความเป็นไทยของเรา คือการนำเอาสิ่งที่เรารู้ไปเผยแพร่  ซึ่งโจทย์ที่ตั้งไว้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
 

เราจะนำวรรณกรรมมาเป็นตัวชี้นำให้เด็กนักเรียน แต่จะไม่ทิ้งหลักสูตรเดิม ไม่ทิ้งธรรมชาติของภาษาไทยเด็กนักเรียนเขาจะอ่านข้อมูล โดยเราจะมีใบงาน ใบความรู้ หรืออาจจะสรุปเป็นแผนผังความคิดของเนื้อหา ที่เราอยากให้เขาศึกษา เป็นการกระตุ้นเขาไปพร้อมกัน เวลาออกข้อสอบ ถือเป็นกระบวนการวัดความสำเร็จของเด็กนักเรียน สะท้อนความคิดตั้งแต่คำชี้แจง เด็กต้องตีโจทย์แตก ซึ่งบางครั้งเด็กนักเรียนไม่ต้องอ่านก็สามารถทำข้อสอบได้ เน้นให้เขาได้คิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำ ให้เขาประเมินค่าได้ และสามารถตีโจทย์ให้แตก สิ่งที่เราสอนเด็กคือต้องนำเรื่องไปเล่าให้เขาฟัง เป็นกรณีตัวอย่าง แล้วตั้งคำถามให้เขาตอบ ในห้องเรียนเราจะเป็นคนดุ แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน เราจะต้องมีกิจกรรมส่งเสริมให้เขาเข้ามาหาเรา เช่น ให้เขานำโครงงานมาให้ตรวจ เป็นต้น