การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนประชารัฐสามัคคี
“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”
วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี
โรงเรียนประชารัฐสามัคคี ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการเน้นให้เด็กเกิด “การคิด” รู้จัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ผ่าน 3 โครงการ คือ สวนพฤกษศาสตร์ การส่งเสริมสุขภาพ และการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนจะใช้วิธี “นิเทศ” เดือนละ 1 – 2 ครั้งเพื่อ “กระตุ้น” ให้ครูทั้งโรงเรียนนำหลักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันพบว่าครู 70 เปอร์เซ็นต์สามารถเขียนแผนการเรียนการสอนที่สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้
โรงเรียนประชารัฐสามัคคีเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ตั้งอยู่ที่ 275 หมู่ 4 ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา มีครู 39 คน นักเรียน 941 คน นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ขับเคลื่อนในโรงเรียนตั้งแต่ปี 2546 การขับเคลื่อนจะเน้นให้เด็กเกิด “การคิด” ให้เด็กรู้จักหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ให้ครูใช้กระบวนการเรียนการสอนปลูกฝังให้เด็ก ที่โรงเรียนมีศูนย์การเรียนรู้ในรูปแบบฐานการเรียนรู้ตั้งแต่ชั้น ป. 1 – ป.6 ภายในศูนย์การเรียนรู้มีการจัดห้องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีคลังความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสอนให้เด็กเกิดทักษะการคิดผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการส่งเสริมสุขภาพที่ใช้วิธีสอดแทรกให้เด็กเรียนรู้เรื่องความพอเพียง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน
โรงเรียนประชารัฐสามัคคีมีโครงการเด่นๆ 3 โครงการคือ สวนพฤกษศาสตร์ การส่งเสริมสุขภาพ และการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกนั้นเป็นฐานการเรียนรู้ทั่วไป โดย “บูรณาการ” เข้าสู่การเรียนการสอน โดยให้หัวหน้ากลุ่มสาระอบรมการทำแผน การเขียนแผนการเรียนการสอนให้ครูทุกคนเพื่อให้เชื่อมโยงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเด็กเกิดความ “ตระหนัก” เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่บ้าง และในอนาคตโรงเรียนกำลังเตรียมตัวให้พร้อมกับการเป็นวิทยากรให้ความรู้กับโรงเรียนเครือข่าย และโรงเรียนต่างๆ เข้ามาเรียนรู้ดูงาน
การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนประชารัฐสามัคคี มีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นหัวหน้าทีม และมีอาจารย์วราภรณ์ ปัตตังทานัง รองผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นแกนนำ ทีมขับเคลื่อนมีทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าสาย และหัวหน้ากลุ่มสาระ มีการนัดประชุมทีมขับเคลื่อนทุกเดือนในวันศุกร์ เพื่อติดตามความคืบหน้า ปัญหา และอุปสรรคของการทำงาน โดยครูผู้สอนมีการวัดผลประเมินผลจากการสอน มีการถอดบทเรียน
ที่ผ่านมาพบว่าครูกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในโรงเรียนมีการนำแผนการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้แล้ว ส่วนที่เหลือที่ยังไม่นำไปใช้เพราะยังไม่มั่นใจ แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนมีนโยบายให้ครูทุกคนนำแผนเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพราะโรงเรียนประชารัฐสามัคคีเป็นโรงเรียนเล็กจึงต้องปูพื้นให้ครูเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก่อน แล้วจึงนำไปสอนเด็ก อาจารย์วราภรณ์จะใช้วิธี “นิเทศ” เดือนละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อ “กระตุ้น” ให้ครูทั้งโรงเรียนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันพบว่าครู 70 เปอร์เซ็นต์สามารถเขียนแผนการเรียนการสอนที่สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้
ผลที่เกิดกับเด็ก : ตอนนี้เด็กเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เช่น เด็กๆ เริ่มรู้จักเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น เมื่อก่อนเด็กมักซื้ออาหารตามริมถนน แต่ช่วงนี้เริ่มลดลงบ้าง ยืมเงินเพื่อนน้อยลง รู้จักพอประมาณในตัวเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะมาจากครูสอน และเด็กๆ คิดได้เอง เพราะเด็กเริ่มโตขึ้น
การขยายผล : ผู้อำนวยการมีนโยบายเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการชักชวนโรงเรียนเครือข่าย 5 แห่งมาอบรมให้ความรู้ นอกจากนี้ยังช่วยขยายผลต่อในเขตพื้นที่การศึกษาเขต 4 จังหวัดนครราชสีมา โดยใช้เวลาปิดเทอมเตรียมความพร้อม และวันเสาร์อาทิตย์นัดประชุมผู้บริหารโรงเรียนและโรงเรียนเครือข่ายเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกัน
ความคาดหวัง : อยากให้ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนเกิดความยั่งยืน สามารถขับเคลื่อนงานต่อได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารหรือครู โรงเรียนก็ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ต่อไป และที่สำคัญคืออยากให้โรงเรียนที่เป็นศูนย์ฯ มานานแล้วเข้ามาช่วยให้ความรู้โดยเฉพาะในเรื่องความยั่งยืน