วันอังคารที่ 28 สิงหาคม 2555 ณ โรงแรมวินเซอร์สวีทส์ สุขุมวิท 20
ครูนิกรนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีให้กับเด็ก ผ่านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะ “โครงงาน” โดยจัดทำเป็นแผนพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นลำดับขั้น เริ่มจากการคัดเลือกเด็กเข้าประจำเครื่องดนตรี จัดให้มีรุ่นพี่มาช่วยดูแล เมื่อสอนเสร็จมีการสรุปบทเรียน และวิเคราะห์ โดยสังเกตจากบุคลิกลักษณะและความสนใจ พร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจโดยเปิดซีดีต่างๆ ให้เด็กดู
การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ : ในฐานะครูผู้สอนวิชาดนตรี ระดับชั้นมัธยม โรงเรียนรัษฎา จังหวัดตรัง ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับตนเองลำดับแรกคือการวางแผน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอน เรื่องใบงาน ตัวโน๊ต และเพลงต่างๆ เพื่อให้เด็กมีการพัฒนาศักยภาพทางด้านดนตรี ลำดับที่สองคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กในด้านดนตรี ด้วยการตั้งคำถามว่า เราเล่นดนตรีแบบนี้แล้ว เราจะเป็นอย่างไร จะเรียนต่อได้ไหม และเราต้องเรียนไปถึงระดับไหนจึงจะเป็นมืออาชีพ ซึ่งในฐานะครูผู้สอนต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนด้วยเช่นกัน ลำดับที่สามคือการสอนที่เน้นการสอนแบบ พ่อกับลูก และแบบพี่ดูแลน้อง โดยจะสอนให้พี่ต้องคอยดูแลน้อง แล้วน้องต้องเชื่อฟังพี่
การออกแบบการเรียนรู้ : ในส่วนของการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาออกแบบการเรียนรู้ เนื่องจากเด็กที่ตนสอนเป็นเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 4 จึงใช้แผนเพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยจัดทำในลักษณะโครงงานชื่อ “โครงงานพัฒนาศักยภาพด้านตนตรี” ซึ่งจัดทำในรูปแบบ “ชุมนุม” ให้เด็กที่สนใจได้เลือกเรียน ใช้เวลาตอนเช้าก่อนเข้าแถวและเลิกเรียนตอนเย็นฝึกซ้อม โดยมีการเขียนแผนเป็นโครงสร้างไว้อย่างชัดเจน เริ่มจากการคัดเลือกเด็กเข้าประจำเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เมื่อเลือกเด็กเข้ามาแล้วจะจัดให้มีรุ่นพี่มาช่วยดูแลอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสอนเสร็จครูจะสรุปบทเรียนให้เด็กรู้ว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้างในคาบนี้ นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ย ซึ่งจะสังเกตจากบุคลิกลักษณะและความสนใจของเด็ก ไปพร้อมกับสร้างแรงบันดาลใจโดยเปิดซีดีต่างๆ ให้ดู
สำหรับโครงงาน “ดนตรีชีวิต จิตอาสา” เป็นโครงงานที่ได้รับความสนใจจากเด็กมากที่สุด โครงงานนี้ทำให้เด็กรู้ว่าเมื่อเขาเล่นดนตรีแล้วจะทำให้เขามีจิตใจร่าเริงแจ่มใส มีสมาธิในการฝึก ในการเรียน มีจิตอาสาออกไปช่วยเหลือชุมชน ช่และหน่วยงานราชการ มีรูปแบบการเรียนแบบ “พี่สอนน้อง” ปัจจุบันมีรุ่นน้อง ม.1 เข้าร่วมโครงการ 17 คน ซึ่ง ตอนนี้เล่นเพลงชาติ เพลงมหาฤกษ์ และเพลงกราวกีฬาได้แล้ว เวลาโรงเรียนออกไปทำกิจกรรมกับชุมชนก็ได้น้องๆ กลุ่มนี้ไปช่วยเหลือโรงเรียน เป็นหน้าเป็นตาให้กับโรงเรียน
ส่วนเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนคือ ใบงานโน๊ตสากล หลังจากที่แจกใบงานโน้ต และ mind mapping เพื่อดูว่ามีโน๊ตประเภทไหนอยู่บ้าง เมื่อฝึกเสร็จจะมีการ AAR (Aeter Action Review) เพื่อดูว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างในคาบเรียนนี้ ซึ่งคำตอบที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความรู้ ความอดทน ความมีวินัยในการฝึกฝน หลังจากนั้นเป็นวิธีการตรวจสอบผล เพื่อประเมินว่าครูจะทราบได้อย่างไรว่านักเรียนเข้าใจและได้นำไปใช้จริง โดยใช้การสังเกตการณ์ เช่น การเข้าห้องดนตรี การทำความเคารพกับครู ทำความเคารพกับรุ่นพี่ และดูพฤติกรรมของนักเรียน โดยให้นักเรียนเขียนเรื่องเล่า แรงบันดาลใจ และเขียนจดหมายถึงเพื่อน
นอกจากนี้ได้นำนักเรียนในโครงการเข้าร่วมในโครงการเยาวชนคนยุติธรรม ที่มีการถอดบทเรียนของนักเรียนที่เป็นแกนนำ ซึ่งสิ่งที่ภาคภูมิใจคือการได้รับรางวัล Best Practice ระดับภาคใต้ ถือเป็นความภูมิใจที่นักเรียนได้นำความรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปต่อยอดในโครงการอื่นๆ ของโรงเรียน นักเรียนมีนิสัยพอเพียงจากการใช้เครื่องดนตรี มีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือชุมชน และช่วยเหลือหน่วยงานราชการอื่นๆ การประเมินผลที่แสดงให้เห็นว่าเด็กรู้จักความพอเพียงคือ จากการสังเกตเด็กพบว่า เด็กรู้จักการดูแลรักษาเครื่องดนตรี โดยทุกวันศุกร์จะมีการนำเครื่องดนตรีมาเช็ดทำความสะอาด เป็นต้น
การหนุนเสริม : โรงเรียนรัษฏาได้รับการหนุนเสริมศักยภาพจากมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยมีคุณทรงพลเจตนาวณิชย์ จากสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส. ) เข้ามาเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการถอดบทเรียน วิธีการเขียนโครงงาน ชุดคำถามต่างๆ ในการทำโครงงานสำหรับนักเรียน เช่น การวางแผนโครงงาน วิธีการแก้ปัญหา สิ่งที่ได้จากโครงมีอะไรบ้าง หรือโครงงานนั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเราอย่างไร นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราชที่ส่งบุคลากรเข้ามาช่วยเป็นวิทยากร การถอดบทเรียน การจัดกิจกรรมพัฒนาตนเองให้เด็กกล้าพูดกล้าแสดงออก
สิ่งที่ได้เรียนรู้ : การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการเทคนิคใหม่ๆในการสอนคือการให้มีโครงงานทุกชั้นเรียน ซึ่งน่าสนใจมาก โดยตนจะนำเสนอผู้อำนวยการเพื่อจัดหางบประมาณต่อไป