การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

­

โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมมี “หลัก” ในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนของด้านการบริหารงานวิชาการ คือ “สร้างความเข้าใจให้ครู และบุคลากร” ผ่าน 4 วิธีคือ 1. ครูแกนนำการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับความรู้ใหม่ๆ ต้องขยายผลโดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้ครูทุกคน 2. การขยายผลองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยจัดทำเอกสารแจก และอธิบายเพิ่มเติมในที่ประชุม 3. ครูใหม่ทุกคนต้องเรียนรู้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยเข้าร่วมประชุมปฏิบัติการร่วมกับโรงเรียนที่มาศึกษาดูงาน 4. โรงเรียนกำหนดนโยบายให้ครูทุกคน ออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง และนำสู่การปฏิบัติจัดการเรียนการสอน และครูทุกกลุ่มสาระเป็นวิทยากรได้ โดยหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระเป็นหัวหน้าทีมนำครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ของตนเองในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำหลักคิด หลักปฏิบัติ สอดแทรกในกระบวนการจัดการเรียนรู้ และครูทุกคนต้องค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ตลอดเวลา

­

โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 1 ห้อง หัวหน้างานขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ นางสารภี สายหอม ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ สาขาวิทยาศาสตร์ ในแหล่งเรียนรู้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯได้รวบรวม เอกสารที่เกี่ยวข้อง “คู่มือการขับเคลื่อน” , เอกสารชุดปฏิบัติการ, เอกสารองค์ประกอบการขับเคลื่อน 4 ด้าน เพื่อใช้ขยายผล และเป็นห้องจัดอบรมปฏิบัติการการขยายผลให้กับโรงเรียนเครือข่าย โดยจัดเป็นหลักสูตรการอบรมปฏิบัติการสองวัน และหลักสูตรศึกษาดูงานหนึ่งวัน ภายใต้การกำกับดูแล ของรองผู้อำนวยการ นายวีรพล สายหอม ตำแหน่งรองผู้อำนวยการด้านการบริหารทั่วไป

­

สาเหตุที่การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมเกิดขึ้น และยังพัฒนาต่อได้จนถึงปัจจุบันเพราะ “ทีมคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทำจริง มุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามก้าวข้ามปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างทางการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ และใช้ความเข้าใจการทำงานร่วมกันของทีมงานและคุณครูทุกคนเป็นที่ตั้งด้านการบริหารงานวิชาการมีการประชุมหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกวันจันทร์ ชั่วโมงที่ 3-4 ของทุกสัปดาห์ และกำหนดการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในวาระการประชุม เพื่อติดตามความก้าวหน้า สภาพปัญหา และ แจ้งข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การส่งนักเรียนเข้าประกวดกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การประกวดเรื่องเล่า การถอดบทเรียนของนักเรียนหลังเรียน หรือหลังจากการทำกิจกรรม ฯลฯ อีกทั้งทีมคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญาแจ้งรายละเอียดการร่วมกิจกรรม การประกวดที่เกี่ยวข้องให้นักเรียนทุกคนทราบหน้าเสาธงเสมอด้วย การกำกับ ติดตามการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการกับการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครู เมื่อทำความเข้าใจกับครูทุกคนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าครูมีความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปใช้ประกอบการจัดกระบวนการเรียนการสอนได้จริง คือการเลือกใช้สื่อ และอุปกรณ์ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น

­

กลุ่มวิชาคหกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ครูผู้สอน คือนางวิไลวรรณ โสแก้ว ได้เลือกใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น โดยครูจะใช้คำถาม ถามนักเรียนหลังเรียน ว่า ใช้วัสดุ – อุปกรณ์อะไรบ้าง/เลือกใช้วัสดุ-อุปกรณ์เหล่านี้เพราะอะไร/วางแผนการทำกิจกรรมที่ครูมอบหมายอย่างไร เพื่อโยงสู่หลักคิด หลักปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

­

กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาพละศึกษา แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม เพื่อเรียนวิชาบาสเกตบอล เนื่องจากโรงเรียนมีอุปกรณ์ คือลูกบาสเกตบอลไม่เพียงพอ โดยครูผู้สอนคือนายนิรันดร์ ถนอมพันธ์ จะแบ่งกลุ่มนักเรียนให้เหมาะสมกับจำนวนลูกบาสเกตบอลเป็นต้น

­

การสร้างและพัฒนาสื่อต่างๆ ประกอบการเรียนการสอน หรือทำตัวอย่างชิ้นงานประกอบการเรียนการสอนของครูกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ พบว่าแตกต่างจากเดิมก่อนที่โรงเรียนมีการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ครูนำกระดาษเหลือใช้มาทำเป็นสื่อ – อุปกรณ์ ,ทำตัวอย่างชิ้นงาน หรือโมเดลต่างๆ เพื่อเป็นสื่อประกอบการจัดการเรียนการสอน แทนการซื้อสื่อ- อุปกรณ์สำเร็จรูป หรือแทนการใช้กระดาษที่มีราคาแพง ทำให้ประหยัดงบประมาณการลงทุนในการจัดการศึกษาในภาพรวมทั้งโรงเรียน เป็นต้น

­

การสร้างความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ตัวนักเรียน โรงเรียนทำอย่างไร? นอกจากครูผู้สอนทุกคนจะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บูรณาการในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงแล้ว ทุกเช้าของทุกวันทำการ โรงเรียนจะมีกิจกรรมที่ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงดังนี้

­

1. ตัวแทนคณะกรรมการนักเรียนอ่านพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในวโรกาสต่างๆ ที่พระองค์ท่านพระราชทาน และเน้นการคัดเลือกพระบรมราโชวาทที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การปฏิบัติหน้าที่ทุกหน้าที่ ความซื่อสัตย์ ความมุ่งมั่น เพื่อให้ครู –บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนทุกคนใช้สติในการฟัง และนำหลักคิด หลักปฏิบัติจากการฟังพระบรมราโชวาท ไปใช้ประกอบการมุ่งมั่น ตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน การทำกิจกรรม และยังนำไปประกอบการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยให้ครู นักเรียนทุกคนที่บริเวณหน้าเสาธงพนมมือ และนิ่งขณะรับฟังพระบรมราโชวาท

­

2. ครูเวรประจำวันทุกวัน แจ้งการแนวทาง และ ตัวอย่างการนำหลักคิด หลักปฏิบัติสู่การ

ปฏิบัติในการเรียน การทำกิจกรรม และการดำเนินชีวิต เพื่อให้นักเรียนตระหนักรู้ และนำไปประกอบการปฏิบัติงาน และกิจกรรมต่างๆทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน และที่บ้านให้เกิดผลดีกับตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม

­

สำหรับนักเรียนหลังการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ พบว่า นักเรียนสามารถตอบคำถามได้ว่า ทำไมจึงต้องตั้งใจเรียน ทำไมต้องทำกิจกรรมต่างๆ ตามธรรมชาติของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ทำไมต้องศึกษานอกห้องเรียน ทำไมต้องสืบค้นเพิ่มเติมในอินเทอร์เน็ต และทำไมต้องไม่หนีเรียน ทำไมต้องปฏิบัติตัวตามระเบียบของโรงเรียน ทำไมต้องแบ่งเงินที่ได้รับจากผู้ปกครองทุกวันฝากออมที่ธนาคารของโรงเรียน

­

โรงเรียนมีธนาคารโรงเรียนโดยร่วมกับธนาคารออมสิน สาขาศีขรภูมิ ซึ่งบริหารจัดการ โดยมีนักเรียนคณะกรรมการของธนาคารโรงเรียน มีคณะครูที่รับผิดชอบงานธนาคารโรงเรียน เป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการธนาคารโรงเรียน นักเรียนที่เป็นคณะกรรมการธนาคารโรงเรียน สามารถตอบได้ว่า วางแผนการบริหารงานธนาคารโรงเรียนอย่างไร โดยใช้หลักคิด หลักปฏิบัติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนักเรียนที่เป็นลูกค้าของธนาคารโรงเรียนตอบได้ว่า ทำไมเขาถึงออมเงิน เช่นนักเรียนบางคน ได้เงินมาโรงเรียนวันละ 20 บาท แบ่งออมเงินวันละ 2 บาท เพราะอะไรเขาออม 2 บาท ค่าอาหารเที่ยงเท่าไร นักเรียนตอบได้ เพราะเราจะใช้คำถามให้นักเรียนคิดตลอดเวลาว่า ทำไมๆๆๆๆๆ เช่น ทำไมจึงเลือกเข้าร่วมกิจกรรมนี้ ทั้งที่มีกิจกรรมอื่นๆ ให้เลือกมากมาย นักเรียนก็จะบอกว่าเพราะกิจกรรมนี้เหมาะสมกับตัวเขาอย่างไร

­

โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม มีอัตลักษณ์ คือ “ ยิ้มไหว้ ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง ” โดยกำหนดร่วมกันของคณะครู คณะกรรมการสถานศึกษา ตัวแทนผู้ปกครอง และตัวแทนนักเรียน และการ “อยู่อย่างพอเพียง” ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กร ฉะนั้นเมื่อจะทำอะไรก็ตามทุกคนต้องนำหลักคิด หลักปฏิบัติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปสอดแทรก ว่าทำไมถึงทำ ทำเพราะอะไร ภูมิคุ้มกันอยู่ตรงไหน นักเรียนทุกคนอธิบายได้ และเมื่อนักเรียนเรียนจบแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ทุกรายวิชา ครูผู้สอนจะให้นักเรียนถอดบทเรียน หรือตอบคำถามที่เชื่อมโยงไปสู่หลักคิด และหลักปฏิบัติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และก่อนสอบปลายภาคเรียนทุกภาคเรียน นักเรียนทุกคนทุกห้องจะต้องถอดบทเรียนของชิ้นงาน/กิจกรรม หรือผลงานที่ได้รับรางวัล/ผลการแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการ ที่เป็นผลการปฏิบัติที่ดีเยี่ยมของตนเองหรือเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของตนเอง ส่งด้านการบริหารงานวิชาการ เป็นการฝึกฝนให้นักเรียนทุกคนรู้จักการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสามารถเขียนสื่อความได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่นักเรียนได้จริงหรือไม่ การถอดบทเรียนของนักเรียน หรือการตอบคำถามที่โยงสู่หลักคิดและหลักปฏิบัติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง อีกทางหนึ่ง

­

ช่วงแรกๆที่ให้นักเรียนถอดบทเรียนพบว่า นักเรียนเขียนสื่อความได้น้อยมาก และนักเรียนส่วนใหญ่จะเขียนตามกัน เขียนเป็นคำพูดเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ครูเรา พยายามพัฒนาต่อไป พร้อมกับทำกิจกรรม AAR (พูดคุยกันหลังเรียน/ทำกิจกรรม อะไรที่ดีแล้วบ้าง อะไรที่เป็นปัญหา จะพัฒนาต่ออย่างไร) กับนักเรียนหลังจากการทำกิจกรรม นอกจากนั้น มีการนิเทศติดตามครู ทั้งคุณครูเก่าและคุณครูใหม่ จนเห็นว่าชิ้นงานที่นักเรียนทำเริ่มมีการพัฒนาขึ้น ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงกว้างขึ้น ลึกขึ้น

­

ในการประชุมผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ดำเนินการ ภาคเรียนละ 2 ครั้ง รับผิดชอบโดยงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านบริหารงานวิชาการ หัวหน้างานคือนางชวัลพัชร์ สุทธิชินธรรม ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา กิจกรรมที่กำหนดให้มีในการประชุมผู้ปกครองที่บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ

­

1. กิจกรรมดูวีดีทัศน์ร่วมกันของผู้ปกครองในหอประชุม โดยใช้วีดีทัศน์ตัวอย่างการ

ดำเนินชีวิตของครอบครัวที่นำหลักคิดหลักปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดูวีดีทัศน์ กิจกรรมโดยรองผู้อำนวยการด้านการบริหารทั่วไป ตั้งคำถามว่าทำไมโรงเรียนให้ผู้ปกครองดูวีดีทัศน์ และผู้ปกครองได้รับข้อคิด อะไรบ้างหลังจากดูวีดีทัศน์ และให้ตัวแทนผู้ปกครองแสดงความคิดเห็น

­

2. ผู้ปกครองนักเรียนตอบแบบสอบถาม จัดกิจกรรมโดยครูที่ปรึกษาในห้องเรียน

เป็นคำถามที่เชื่อมโยงหลักคิด หลักปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ปกครอง และการเลี้ยงดูลูก ในแบบสอบถามได้แทรกกิจกรรมให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าผู้ปกครองอ่านเขียนไม่ได้ ก็จะมีนักเรียนในปกครองในแต่ละห้องช่วยเหลือผู้ปกครองด้วย เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้อีก 1 ช่องทาง

­

โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมเริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ปี 2549 ภาพสะท้อนในปีการศึกษา 2554 ที่ชัดเจน คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น นักเรียนได้รับทุนการศึกษา , ทุนศึกษาต่อต่างประเทศ , ทุนหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ ทุนการศึกษาจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินฯ นักเรียนศึกษาต่อระดับอุดมศึกษามากขึ้น และโรงเรียนได้ทำป้ายแสดงความยินดี เพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนรับรู้ และเป็นพลังขับเคลื่อนให้นักเรียนรุ่นน้องต่อๆไปให้ความสำคัญของการศึกษา เอาใจใส่การเรียนมากขึ้น

­

มีตัวอย่างนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นนักเรียนหญิงเข้าเรียนในระดับ ม. 1 ในปีการศึกษา 2552 พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด ทิ้งลูกให้อยู่กับยาย ลูกจะโหยหาความรักจากพ่อแม่มาก โทรศัพท์หาพ่อแม่ และร้องไห้ตลอด เหมือนนักเรียนขาดความอบอุ่น สุดท้ายเมื่อนักเรียนได้เรียนรู้หลักคิด หลักปฏิบัติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการจัดการเรียนการสอน 8 กลุ่มสาระ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เขาก็เริ่มเข้าใจ และเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มเข้าใจพ่อแม่มากขึ้นว่าทำไมพ่อ และแม่ ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ทำไมไม่ได้อยู่ด้วยกัน เมื่อพ่อแม่ของนักเรียนกลับมาเยี่ยมบ้านก็สงสัยว่าทำไมลูกเปลี่ยนไป ปัจจุบันนักเรียนคนนี้เรียนอยู่ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 4 ตั้งใจเรียน มุ่งมั่น และความประพฤติดี พ่อแม่แสดงความขอบคุณโรงเรียน ที่ทำให้ลูกของเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี โดยบริจาคเงินให้โรงเรียน จำนวนหนึ่ง เพราะไว้ใจเชื่อใจว่าโรงเรียนสามารถ “เปลี่ยนแปลง” ลูกของเขาได้ จากนักเรียนที่ไม่เข้าใจเหตุผลของพ่อแม่ที่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด คิดว่าพ่อแม่ไม่รักตนเอง ขณะนี้นักเรียนเข้าใจแล้ว ว่าทำไมพ่อแม่ถึงทิ้งเขาไปทำงาน ทำไมต้องให้เขาอยู่กับคุณยาย กิจกรรมหนึ่งที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนได้คือ ให้นักเรียนถอดบทเรียน โดยการเขียนสิ่งตนเองเกิดการเปลี่ยนแปลง จากการเรียนรู้หลักคิด หลักปฏิบัติ มาตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่ที่นี่ จะเป็น 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปีก็ตาม เมื่อนักเรียนถอดบทเรียนในเรื่องที่เรียน จากการทำกิจกรรมต่างๆ หรือชีวิตจริงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แล้วให้นักเรียนนำเสนอในแผงโครงงาน และสุ่มให้นักเรียนนำเสนอด้วยวาจา

­

การจัดกระบวนการเรียนการสอนของครู รับผิดชอบโดยงานกระบวนการจัดการเรียนรู้ ด้านบริหารงานวิชาการ หัวหน้างานคือ นางเกษมณี ศรสระน้อย ครูชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จัดทำปฏิทินการนิเทศติดตาม และกระตุ้นครูเสมอๆ เพื่อให้ครูนำหลักคิด หลักปฏิบัติสอดแทรกในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ลงสู่นักเรียนที่รับผิดชอบสอนทุกรายวิชา ทุกกิจกรรม รวมทั้งการทำโครงการต่างๆ เราจะใช้วิธีการสังเกตการสอนของครู การออกแบบการจัดการเรียนการสอนของครู และขณะสังเกตขณะพูดคุยกันเกี่ยวกับการบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าครูมีความสนใจ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสอน และการทำงาน จะเชิญชวนร่วมเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนหลักปรัชญา และครูใหม่ทุกคนต้องเข้าร่วมอบรมปฏิบัติการพร้อมกับครูจากต่างโรงเรียนที่ขอศึกษาดูงานการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ครูใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้แบบก้าวกระโดด ทำให้ครูเกิดการซึมซับเร็วขึ้น และตามครูรุ่นพี่ที่เรียนรู้ก่อนแล้วได้เร็วขึ้น

­

ส่วนการบูรณาการข้ามสาระการเรียนรู้ โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ได้ดำเนินการประชุมปฏิบัติการให้ครูทุกคนร่วมกัน ออกแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการข้ามกลุ่มสาระโดย แยกเป็นระดับชั้น โดยให้ครูแต่ละกลุ่มสาระตั้งแต่ชั้น ม. 1 – ม. 6 ร่วมกันคิดหัวข้อเรื่องที่จะนำมาบูรณาการร่วมกันทั้ง 8 กลุ่มสาระ กำหนดมาตรฐาน/ตัวชี้วัด ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และร่วมกันออกแบบหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ และเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียง ครูทุกกลุ่มสาระจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามชั่วโมงสอน ที่กำหนดร่วมกัน และกำหนดวันนำเสนอผลงาน/ชิ้นงาน 1 ชิ้น ครูทุกกลุ่มสาระประเมินร่วมกัน

­

นโยบายผู้อำนวยการโรงเรียน ครูทุกคนต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงของนักเรียนได้ทุกคนและเป็นวิทยากรได้ หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ทุกคนต้องเป็นผู้นำ

­

สำหรับดิฉัน ครูกฤตวรรณ เรืองทุม รับผิดชอบงานด้านการบริหารงานวิชาการ ร่วม เป็นวิทยากรในหัวข้อ “ การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ครูและนักเรียนอย่างไร” และ“ การออกแบบหน่วยการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะอยู่อย่างพอเพียงมีขั้นตอนอย่างไร” บรรยายโดยนำเสนอ Model การพัฒนาครู และนำเสนอขั้นตอนการวิเคราะห์โครงสร้างรายวิชา การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ บูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้มาตรฐาน/ตัวชี้วัด และเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และครู - บุคลากรที่เข้าร่วมศึกษาดูงาน ฟังบรรยาย พร้อมดูตัวอย่างการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ประกอบ และ ได้ ฝึกปฏิบัติการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ 1 หน่วย ตามเครื่องมือชุดฝึกปฏิบัติการ ตามขั้นตอน สำหรับในโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคมเอง มีการนิเทศติดตามงานที่ครูออกแบบหน่วยการเรียนรู้ โดยงานกระบวนการเรียนรู้ สรุปรายงานผลออกแบบหน่วยการเรียนรู้ของครูทั้งระบบ เมื่อครูอื่นๆ เห็นว่าทำได้จริง เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน ต่อครู และต่อโรงเรียน ครูเหล่านั้นเปลี่ยนทัศนคติ ในเชิงบวก และเข้ามาร่วมทำงานกับคระกรรมการมากขึ้นเรื่อยๆในที่สุด

­

สำหรับโครงการของโรงเรียนที่ประทับใจนั้นมีหลายโครงการคือ 1. โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เพราะตัวบ่งชี้สำคัญของการเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงคือ ต้องมีแหล่งเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ แหล่งเรียนรู้และฐานการเรียนรู้ต่างๆ ในโรงเรียนจะยั่งยืนและมีคุณค่าได้นั้น นักเรียนต้องใช้แหล่งเรียนรู้อย่างคุ้มค่า ที่ผ่านมาแม้ว่าโรงเรียนจะมีแหล่งเรียนรู้แล้วก็ตาม แต่เรายังไม่มีการใช้แหล่งเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ครูไม่สามารถถอดบทเรียนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของตนเอง และนักเรียนที่เข้าไปใช้แหล่งเรียนรู้ไม่สามารถถอดบทเรียนการใช้แหล่งเรียนรู้นั้นๆ ได้ เมื่อการใช้แหล่งเรียนรู้ยังไม่ชัดเจน เราจึงต้องให้องค์ความรู้รอบด้านที่เกี่ยวข้องการจัดการแหล่งเรียนรู้ โดยมีหัวหน้างานแหล่งเรียนรู้ ขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งการสนับสนุนมีหลายรูปแบบคือ 1) ทำเอกสารคู่มือแหล่งเรียนรู้และให้คำแนะนำ 2) ให้ครูและนักเรียนผู้รับผิดชอบแหล่งเรียนรู้/ฐานการเรียนรู้ถอดบทเรียนการสร้าง และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ (วางแผนการสร้าง/พัฒนาอย่างไร แบ่งหน้าที่กันอย่างไร ) 3) นักเรียนผู้ใช้บริการแหล่งเรียนรู้ถอดบทเรียน ( เรียนรู้อะไร เรียนรู้อย่างไร ได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้นั้น)

­

ปัจจุบันการใช้แหล่งเรียนรู้ สามารถตรวจสอบได้ว่าทั้งครู และนักเรียนใช้แหล่งเรียนรู้ประกอบการจัดการเรียนรู้ จริงๆ และตรวจสอบได้อย่างไรว่านักเรียนใช้แหล่งเรียนรู้จนเกิดประโยชน์คุ้มค่า ทั้งนี้ในฐานะผู้สนับสนุนจะต้องชัดเจนในวิธีการทำงาน ต้องช่วยเหลือ ให้บทบาท ให้ความสำคัญกับครูที่เป็นผู้รับผิดชอบงานแหล่งเรียนรู้ คือ นางวิไลวรรณ เตียวเจริญกุล และคณะกรรมการงานแหล่งเรียนรู้ พร้อมชี้แจงว่าการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ว่ามี “บทบาท” สำคัญ เพราะแหล่งเรียนรู้พัฒนาครูตามโครงการโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้าน และโรงเรียนของเรายังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการศึกษา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ต้องใช้แหล่งเรียนรู้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอน และ เป็นสถานที่ในการศึกษาดูงาน เพื่อความเข้าใจเรื่องของศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา

­

ดังนั้นโรงเรียนของเราต้องพัฒนา เพื่อแหล่งเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ให้ครูและนักเรียนใช้แหล่งเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ในกระบวนการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียน ครู – บุคลากรทางการศึกษา โรงเรียน และชุมชน

­

2. โครงการการพัฒนาครู-บุคลากรเป็นวิทยากร ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ช่วงแรกมีวิทยากรน้อย โรงเรียนในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต 33 จังหวัดสุรินทร์ มีโรงเรียนทั้งหมด 85 โรงเรียน วิธีการขยายผลทำได้โดย ร่วมกับโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย เราต้องย้อนกลับมาคิดว่าทำอย่างไรให้การขยายผลการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ ลงสู่ครู และบุคลากรให้ประสบความสำเร็จ การทำโครงการพัฒนาบุคลากรให้เป็นวิทยาการจึงเกิดขึ้น เพื่อขยายผลให้กับทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่ ผู้อีกทั้งต้องทำเอกสารที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกให้ครูได้ใช้ประกอบการขยายผล ให้ครูได้เรียนรู้ให้เข้าใจมากที่สุด ในระยะเวลา 2 วัน ตามหลักสูตรการอบรม เริ่มตั้งแต่ให้ครูศึกษาทำความเข้าใจความหมายของหลักคิด หลักปฏิบัติ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข นโยบายของ สพฐ. ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งตัวอย่างดีๆ และแผงการนำเสนองานประกอบการเป็นวิทยากรร่วมของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ด้านบริหารงานวิชาการ ดำเนินการจัดทำให้เพื่อสะดวกกับครูวิทยากร ครูต้องไปทำความเข้าใจนิยามและความหมายหลักปรัชญาฯ ก่อน กระบวนการเช่นนี้ทำให้เราได้วิทยากรเพิ่มขึ้นกลุ่มสาระละ 3 – 5 คน

­

เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงหัวหน้ากลุ่มสาระจะเป็นวิทยากรร่วมคนแรกที่ต้องเดินหน้าก่อน หากหัวหน้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยติดราชการหรืออื่นๆ ให้ครูคนถัดไปทำหน้าที่แทน วิธีนี้เรียกว่าการ “หาดาว” โดยเราจะดูแววของครูแต่ละคนร่วมกับหัวหน้ากลุ่มงานบ้าง หัวหน้ากลุ่มสาระบ้าง เมื่อได้ดาวแล้ว บทบาทของเราต่อจากนั้นคือ “ยุดาว” ขึ้นบนเวที หากครูคนไหนไม่มีความมั่นใจ ไม่มีกำลังใจ เราในฐานะผู้สนับสนุนก็ต้องคอยสร้างความมั่นใจเพื่อให้เขาผ่านเวทีนั้นไปให้ได้

­

ส่วนการเรียนรู้ดูงานในโรงเรียน สิ่งที่ผู้เรียนรู้จะได้เพิ่มคือการเดินดูแหล่งเรียนรู้ ที่มีครูและนักเรียนประจำแหล่งเรียนรู้ และมีฐานการเรียนรู้ย่อยคอยนำเสนอ มีนักเรียนนำเสนอวิธีการถอดบทเรียนว่าเตรียมอย่างไร เหตุผลในการเตรียม ทำไมถึงทำแบบนี้ เราพยายามชูประเด็นให้เห็นว่าการใช้แหล่งเรียนรู้ก่อให้เกิดหลักคิด หลักปฏิบัติ ใน 3 ห่วง 2 เงื่อนไขได้อย่างไร รวมถึงผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน หลังจากนักเรียนเข้าใช้แหล่งเรียนรู้ด้วย

­

เพราะฉะนั้นการเข้ามาเรียนรู้ดูงานในโรงเรียนสิ่งแรกที่ผู้เรียนรู้จะได้รับคือได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากการฟังบรรยาย มีกิจกรรมให้ฝึกปฏิบัติ ได้เห็นห้องแหล่งเรียนรู้การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ ได้เห็นบรรยากาศการนำเสนอของนักเรียนจริงๆ ที่ถอดบทเรียนออกมา นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนชีวิตด้วยว่านักเรียนเรียนปีที่สอง ปีที่สามเอาหลักคิด หลักปฏิบัติ ไปใช้อย่างไร จากการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยให้นักเรียนถอดออกมาจากสิ่งที่เขาประทับใจ เรื่องที่เรียน หรือเรื่องอะไรก็ได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงตัวเองเรื่องการใช้จ่ายเงิน การซื้อโทรศัพท์ การออม การทำการบ้าน เป็นต้น โดยครูทำให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่างก่อน จากนั้นจึงให้เด็กไปคิดต่อยอด ให้เขาถอดออกมาด้วยตัวเอง จะเป็นภาพหรือเรื่องเล่าก็ได้ ครูมีหน้าที่ให้คำแนะนำวิธีการนำเสนอ โดยมี “แบบ” ให้นักเรียนดู เช่น สมมุติจะให้นักเรียนนำเสนอการถอดบทเรียน ก็นำแผ่นพลาสติกลูกฟูก เก่ามาตัดแล้วห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล หรือถ้าไม่ห่อเด็กจะทำอย่างไรก็ได้ที่ประหยัด พอเหมาะ ให้คิดเรื่องความพอดี พอประมาณ หรือจะใช้กระดาษกล่องเก่าที่เป็นวัสดุเหลือใช้ก็ได้

­

เรื่องเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การให้ “ความรู้ ความเข้าใจ” แก่ครูสำคัญที่สุด โครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการนำหลักคิด หลักปฏิบัติไปใช้ในการทำงาน ทำกิจกรรม โดยนำไปบูรณการเข้ากับกิจกรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าโครงการหรือกิจกรรมอะไรก็ตาม เราสามารถนำหลักคิดหลักปฏิบัติไปประกอบการคิดวางแผนการทำกิจกรรมได้ทุกเรื่อง การขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ควรทำแบบแยกส่วน แต่เป็นการนำเอาหลักคิดหลักปฏิบัติเข้าไปเชื่อม เข้าไปใช้กับกิจกรรมกับโครงการ เช่นโรงเรียนหนึ่งคิดวางแผนทำโครงการ 1 โครงการ ทำด้วยความพอดีของแต่ละโรงเรียน มันเป็นเหตุผลของแต่ละโรงเรียน ภูมิคุ้มกันคือคุ้มค่า และพอดีกับบริบทของโรงเรียน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องนำไปบอกคุณครูคือเราต้องชี้ประเด็นให้ชัด ให้เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจแล้ว ครูก็จะเข้าใจ แต่ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ครูก็คงไม่เข้าใจเช่นกัน แล้วนักเรียนก็จะไม่ได้ มันก็จะ “เป๋” ไปหมด คำว่าหลักคิด หลักปฏิบัติ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข นักเรียนก็จะตอบไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้จริง

­

การต่อยอด : สิ่งที่โรงเรียนจะทำต่อไปในอนาคตมี 3 ส่วนคือ 1) จัดให้มีกิจการรม AAR (After Action Review) เพื่อให้ครูทั้งโรงเรียนได้เรียนรู้ว่าตั้งแต่ปี 54 ก้าวย่างของการเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา นั้นครูนำไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ครูได้อะไร ผลที่ประทับใจกับครู กับนักเรียน และการดำเนินชีวิต นักเรียนเรียนรู้แล้วนักเรียนได้อะไรจากแหล่งเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน พอใจหรือยัง รวมทั้งจัดกิจกรรมAARครูผู้รับผิดชอบแหล่งเรียนรู้และฐานการเรียนรู้ ในโรงเรียนว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ครูเรียนรู้วางแผนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน ใครเข้ามาใช้แหล่งเรียนรู้บ้างผลการใช้แหล่งเรียนรู้ ผลการประเมินการใช้แหล่งเรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง สรุปรายงานเสนอผู้บริหารผ่านหัวหน้างานแหล่งเรียนรู้ ส่วนนักเรียนก็ให้ตอบแบบสอบถามว่าได้ใช้แหล่งเรียนรู้คุ้มค่าหรือไม่อย่างไร เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนทั้งผู้ออกแบบและผู้ใช้ 2) การบูรณาการ จากเดิมที่เคยกำหนดว่าให้ครูบูรณาการการจัดการเรียนการสอน กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งหน่วย หนึ่งคน หนึ่งภาคเรียน เป็น “การบูรณาการข้ามกลุ่มสาระ” โดยให้นโยบายว่าทุกระดับชั้นจากหัวข้อหนึ่งหัวข้อแล้วบูรณการทุกกลุ่มสาระ ตอนนี้อยู่ระหว่างการออกแบบหน่วยร่วมกันในแต่ละระดับชั้น เมื่อออกแบบเสร็จแล้วด้านการบริหารงานวิชาการ กำหนดตารางให้ครูจัดการเรียนการสอน และวันนำเสนอผลงาน/ชิ้นงานของนักเรียนเป็นรายชั้น 3) ปรับปรุงหลักสูตรการขยายเครือข่ายเพื่อให้ครู บุคลากรที่มาศึกษาดูงานได้ความรู้ และประสบการณ์มากที่สุด นำไปปฏิบัติต่อยอดได้ จากเดิมที่เคยให้คำแนะนำ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบูรณาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เพิ่มเติมเรื่องการบูรณาการเข้าไป

­

การทำหน้าที่เป็นวิทยากรการขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งภายในโรงเรียนและภายนอก โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการปฏิบัติว่าการเป็นวิทยากรภายนอกเฉพาะหยุดเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน ทีมงานขับเคลื่อนหลักปรัชญาฯ มีคณะกรรมการประกอบด้วยกองเลขางานขับเคลื่อน และหัวหน้างานหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ หัวหน้างานแหล่งเรียนรู้ และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ และหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นวิทยากรหลักของแต่ละกลุ่มสาระ และหัวหน้ากลุ่มสาระร่วมกับครูในกลุ่มสาระพิจารณา ตรวจสอบครูในกลุ่มสาระของตัวเอง ใครสามารถเป็นวิทยากรร่วมด้วย ในส่วนของเอกสารประกอบการบรรยาย ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองเลขาฯก่อนเสมอ และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานทรัพย์สินฯ คณะกรรมการ กองเลขาฯ ก็มีหน้าที่จัดเตรียมประกอบการเป็นวิทยากร ส่วนด้านการบริหารงานวิชาการมีหน้าที่จัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และแหล่งเรียนรู้ ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นหลักและร่วมกันวางระบบไว้ พวกเราทีมขับเคลื่อนฯ และครูผู้เกี่ยวข้องทุกคน ต้องวางแผนการทำงานเองทุกอย่าง ทั้งเอกสาร อาหารว่าง หากมีครู และบุคลากรทางการศึกษาขอศึกษาดูงานในวันราชการ ก็ต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน ช่วงไหน ใครทำหน้าที่อะไร โดยพยายามไม่ทิ้งชั่วโมงสอน หากถึงเวลาของตัวเองก็ต้องมาเป็นวิทยากร โรงเรียนมีนโยบายว่าไม่ให้ครูทิ้งห้องเรียน