รายการกบนอกกะลา ซึ่งเป็นรายการที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ โมเดินร์ไนท์ทีวี โดยบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ได้จัดโครงการ กบจูเนียร์ปี 3 ในหัวข้อ กบรักโลก และผมเองได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมค่ายกบจูเนียร์สัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สิ่งที่ได้รับจากการอบรมก็คือขอบเขตของเนื้อหาหัวข้อ กบรักโลก และหน้าที่ต่างๆของทีมงานสารคดี 1 ทีม หลังจากกลับมาจากการอบรม ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอยากจะทำสารคดีซักเรื่องโดยให้เป็นผลงานของนักเรียน ผมจึงเริ่มดำเนินการคัดสรรนักเรียนเพื่อมาร่วมในทีมงานโดยใช้หลักคิดในการ จัดทีมก็คือ ต้องนำนักเรียนที่มีความสามารถในแต่ละด้านมารวมตัวกัน เพื่อจะได้เกิดงานที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ ด้วยความที่เป็นคนที่ค่อนข้างรู้จักและใกล้ชิดกับนักเรียนอยู่แล้วทำให้รู้ว่าใคร มีความสามารถอย่างไรบ้าง ผมใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถรวมทีมได้สำเร็จ เมื่อรวมทีมได้สำเร็จแล้วจึงมีการประชุมงานกัน
ในครั้งแรกพวกเรามารวมกันคิดว่าจะทำเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุกคนกลับไปคิดเป็นการบ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เมื่อกลับมาเจอกันอีกครั้งก็มีแนวคิด ในการทำเกิดขึ้นมากมายหลายแนวคิด บางคนบอกว่าน่าจะทำเรื่องของไส้เดือนที่พรวนดินรักษาสภาพแวดล้อม บางคนว่าน่าจะทำเรื่องของการแยกขยะ ผมเองก็ได้เสนอว่า น่าจะทำเรื่องของเสื่อเพราะเสื่อถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโรงเรียนและของจังหวัดจันทบุรี จากนั้นจึงทำการโหวตกันว่าจะทำเรื่องอะไร ผลโหวตคือเราจะทำเรื่อง เสื่อ หลังจากตกลงกันได้แล้วจะทำเรื่อง เกี่ยวกับเสื่อ เราก็ปรึกษากันว่าจะนำเสนอเสื่อในด้านใด ที่เกี่ยวของกับการรักสิ่งแวดล้อม หรือให้ตรงกับหัวข้อคือ กบรักโลก เราจึงมองกันว่า ถ้าจะทำเรื่องเสื่อนั้นก็จะธรรมดาเกินไป เพราะรูปแบบของรายการกบนอกกะลา นั้นจะนำเสนอในสิ่งที่หลายๆคนไม่เคยรู้ เราเลยดูให้ลึกลงไปอีกว่า น่าจะทำเรื่องกก ที่น่าจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่ คำถามคือแล้ว กก จะไปเกี่ยวกับการรักโลกได้อย่างไร
เมื่อจบการประชุมในวันนั้น สิ่งที่ทุกคนต้องนำมาใช้คือเงื่อนไขความรู้ คือ รู้ลึก รู้กว้าง รู้ละเอียด ในเรื่องที่จะทำ ทำอย่างพอประมาณ พอดี มีเหตุผลบนพื้นฐานของคุณธรรมในการทำหนังสารคดี จึงได้ให้ทุกคนแยกย้ายกันหาข้อมูล โดยบอกว่า “หาทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับ กก เอาทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกกจับทุกประเด็นทุกเรื่องที่เกี่ยวกับกก” สิ่งที่ผมคิดในใจตอนนั้นก็คืออย่างไรก็ตามขอให้มีข้อมูลเยอะๆไว้ก่อน เพราะว่า ในการทำสารคดีสั้นนั้น ข้อมูลคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และจากการมุ่งมั่นทุ่มเทของนักเรียนในทีมทำให้เราได้รับข้อมูลมากมายจากหลายๆแหล่งที่มา ทำให้เราได้รู้จักกับ กก ในมุมที่ต่างออกไป ได้รู้จัก กก หลากหลายชนิดมากขึ้นและทำให้เราได้รู้ว่า กกกลม หรือ กกจันทบูร ที่เห็นอยู่ทั่วไปในจังหวัดจันทบุรีนี้ สามารถนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้ด้วย จึงทำการลงพื้นที่ ที่บ้านบางสระเก้า ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งปลูก กก ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจันทบุรี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวบ้าน ที่บ้านบางสระเก้า หมู่บ้านนี้ไม่มีใครรู้เลยว่า กก นั้นสามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียได้ เพราะชาวบ้านนั้นปลูก กก เพื่อตัดและนำไปสานเป็นเสื่อเพียงอย่างเดียว จึงทำให้เรามีแรงกระตุ้นอยากที่จะนำเสนอเรื่องการบำบัดน้ำเสียของ ต้นกก มากยิ่งขึ้น เพราะต้นกก พันธุ์ที่นำมาใช้ในการบำบัดน้ำเสียนั้นก็มีชื่อว่า กกจันทบูร เป็น กก ของจังหวัดจันทบุรี แต่คนในพื้นที่จันทบุรีกลับไม่รู้ถึงประโยชน์ในข้อนี้ เราจึงเกิดแรงบันดาลใจและเหตุผลหนึ่งที่จะต้องนำเสนอและเผยแพร่เรื่องนี้ให้ได้และทำให้เป้าหมายในการผลิตสารคดีของเราในครั้งนี้เปลี่ยนไป พวกเรามองเรื่องของการแข่งขันน้อยลง และมองถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้ที่ได้ศึกษาสารคดีของเรามากขึ้น
เมื่อไม่สามารถที่จะถ่ายทำสารคดีในจังหวัดจันทบุรีได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปถ่ายทำสารคดีชิ้นนี้กันที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการนำ กก มาใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากสถานที่ถ่ายทำนั้นต้องเดินทางไปไกล และคงไม่สามารถเดินทางไปได้บ่อยนัก เราจึงได้มีการวางแผนงานในการถ่ายทำในครั้งนี้อย่างรอบคอบทั้งเรื่องถ่ายทำ ที่พัก และการเดินทาง วางแผนที่จะไปถ่ายทำที่แหลมผักเบี้ยกันประมาณกลางเดือนกันยายน และหยุดพักเพื่อให้นักเรียนในทีมไปเตรียมตัวสอบอีกประมาณครึ่งเดือนและกลับมาลุยงานกันต่อในวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ในระหว่างที่หยุดไปนั้นก็ให้ทุกคนเริ่มเก็บเงินเพื่อไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่เพชรบุรี โดยตกลงเป็นสัญญาร่วมกันว่าให้เก็บจากเงินค่าขนมของตัวเองไม่ไปขอจากผู้ปกครองเพิ่ม และในการเดินทางในครั้งนี้ได้มีการหาข้อมูลการเดินทางในหลายๆรูปแบบ และเปรียบเทียบราคา ว่าทางใดที่พอไปได้และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด นับว่าเป็นโชคดีของเรามากๆที่ในช่วงที่เราเดินทางนั้นเป็นช่วงที่ รัฐบาลให้นั่งรถไฟฟรีในชั้นธรรมดา เราเลือกวันถ่ายทำก็คือวันที่ 6 – 9 ตุลาคม 2554 ที่เราเลือกไปถ่ายทำในช่วงวันนี้เพราะว่า คณะครูที่สอนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนเรามีกำหนดการที่ต้องไปประชุมที่ชะอำในวันที่ 4 – 10 ตุลาคม เช่นกัน การเลือกไปในวันเหล่านี้จะทำให้พวกเรา มีรถตู้ของโรงเรียนคอยรับ – ส่ง เมื่อเราอยุ่ที่เพชรบุรี เพราะที่พักนั้นไม่ห่างกันมาก
อีกทั้งสามารถฝากสัมภาระส่วนหนึ่งไปกับรถตู้ได้ก่อนในวันที่ 4 ตุลาคม เราเลือกออกเดินทางกันในวันที่ 6 เพราะเป็นวันที่ซิสเตอร์ผู้อำนวยการมีกำหนดการต้องไปธุระที่ กทม. พอดี ท่านจึงไปส่งพวกเราถึงสถานีรถไฟ เรียกได้ว่าการเดินทางไปพวกเราไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางใดๆทั้งสิ้นจนถึงเพชรบุรี และเมื่อถึงเพชรบุรี รถตู้ของโรงเรียนที่คณะครูมาประชุมก็มารับเราไปถึงที่พัก ที่พักของพวกเราเป็นลักษณะคล้ายๆกับบ้านพักของข้าราชการสมัยก่อน ไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่าอะไรนัก แต่ก็พออยู่ได้เพราะพวกเราได้คุยกันก่อนแล้วว่า พวกเรามาทำงานไม่ได้มาเที่ยว ซึ่งทุกคนก็ยอมรับในข้อนี้และไม่ได้มีปัญหาอะไรถึงแม้ว่าฐานะทางบ้านของบางคนนั้นเรียกได้ว่าค่อนข้างร่ำรวยเลยทีเดียว จากนั้นรถของโรงเรียนได้ส่งเราที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เราวางแผนการถ่ายทำทั้งหมด 4 วันคือ วันแรกคือวันเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงเราจึงได้ลงพื้นที่สำรวจ และหาข้อมูลจากสถานที่จริง เราได้พบกับพี่เอ ซึ่งเป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อมของที่นี่ และข้อมูลที่ได้จากพี่เอทำให้เราได้รับรู้รายละเอียดอย่างลึกซึ้งถึงที่มา และหลักการบำบัดน้ำเสียด้วยพืชอย่างละเอียด
เมื่อเรากลับมาถึงที่พัก จากที่มีการพูดคุยผูกสัมพันธ์กับพี่เอ ทำให้พี่เอเห็นพวกเราเป็นเหมือนน้องคนหนึ่งและนำรถมาส่งถึงที่พัก ได้แบ่งกลุ่มกันทำงาน คนที่เป็นครีเอทีฟ ต้องมานั่งแก้และปรับปรุงงานจากข้อมูลทีได้รับเพิ่มเติมจากการลงสำรวจสถานที่จริง พิธีกร ก็นั่งซ้อมบทของตัวเอง ฝ่ายประสานงานซึ่งเป็นผู้หญิง 2 คนก็ช่วยกันเอาเสื้อผ้าขอเพื่อนๆคนอื่นในทีมที่นั่งทำงานอยู่มารีดเพื่อเตรียมใส่ในวันพรุ่งนี้ ส่วนพวกที่เหลือก็ช่วยกันเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ในการถ่ายทำ ซึ่งในการเตรียมอุปกรณ์ต่างๆก่อนที่จะมาที่เพชรบุรีนั้นเราได้มีการหาข้อมูลทั้งเรื่องของสภาพอากาศ และมีการคิดถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในการถ่ายทำ ซึ่งปัญหาหลักที่เรากลัวมากๆในการถ่ายทำก็คือ ฝน เราจึงได้มีการเตรียมร่มคันใหญ่ และถุงพลาสติกใสที่ใช้สำหรับห่อกล้องของเรา เพื่อที่แม้ว่าฝนจะตกเราก็จะสามารถถ่ายทำต่อได้ เราคิดกันว่าเราต้องเตรียมทุกอย่างให้พร้อมและใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะเราคงไม่สามารถมาถ่ายที่เพชรบุรีนี้ได้บ่อยๆ ในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อถ่ายทำนั้น คนที่มีหน้าที่จะเช็คจะเขียนชื่ออุปกรณ์พร้อมดูความเรียบร้อยให้พร้อมใช้ในการถ่ายทำก่อนลงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการผิดพลาดและเสียเวลาในการทำงาน ในคืนนั้นทีมของเราทำงานกันจนถึงประมาณเที่ยงคืน ผมก็เห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วจึงบอกให้ทุกคนแยกย้ายกันเข้านอน เพราะพุ่งนี้ต้องตื่นไปถ่ายทำกันแต่เช้า
ในวันที่สองคือวันถ่ายทำ ก่อนออกเดินทางเราได้มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเวลา เนื้อหาและขั้นตอนในการถ่ายทำกันอีกครั้งเพื่อป้องกันการผิดพลาด และเป็นไปตามที่คาดหมายในเช้าวันนั้นที่แหลมผักเบี้ยมีฝนตกลงมาปรอยๆ แต่จากการเตรียมตัวมาอย่างดีของพวกเราทำให้พวกเราสามารถถ่ายทำภาพบรรยากาศในมุมต่างๆได้อย่างไม่มีปัญหา เราถ่ายทำกันตั้งแต่เช้าจรดเย็นแต่ก็ยังไม่สามารถถ่ายได้อย่างเสร็จสมบูรณ์ (แต่เราก็ได้เผื่อวันถ่ายทำไว้วันพรุ่งนี้อีกวันอยู่แล้ว) เมื่อกลับมาถึงที่พักก็เปิดงานที่ถ่ายในวันนี้ดูเพื่อ หาจุดบกพร่อง ดูว่าจะต้องแก้ไขตรงไหน และต้องถ่ายเพิ่มอย่างไร
ในวันที่สาม ใช้เวลาในการถ่ายทำเพียงไม่นาน แค่ครึ่งวันก็สามารถถ่ายทำได้เสร็จอย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมาย และทำให้เราได้มีเวลาพักผ่อนกันที่อำเภอหัวหิน เดินทางกลับในวันที่สี่ ตามกำหนดการที่ได้วางไว้ตั้งแต่ก่อนมา
จากการทำงานอย่างเป็นระบบ และการหาข้อมูลอย่างรัดกุมรอบคอบและถี่ถ้วน ทำให้ผลงานสารคดีของเราประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 จากกว่า 200 ทั่วประเทศ ให้ผ่านเข้ารอบ 24 ทีมระดับประเทศในการแข่งขันสารคดีสั้นกบจูเนียร์ปี 3 : กบรักโลก แต่สิ่งที่เราทุกคนคิดว่าได้มากกว่านั้นคือ ประสบการณ์และการที่ได้รู้จักการนำหลักคิด หลักปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง”