ความรู้สึกจากการเป็นนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ ๒

­

­

“ หากจะกล่าวถึงคำว่า พอเพียง ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะให้คำนิยามที่แตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์และอีกหลายคน คงคิดว่า ความพอเพียง นั้น คงนำไปใช้ได้กับชาวบ้านที่ทำเกษตรกรรม หรือชาวสวน ชาวไร่ โดยการแบ่งพื้นที่ตามเกษตรทฤษฏีใหม่( ๓๐: ๓๐: ๓๐ :๑๐) ไม่เพียงเท่านั้นหากถามเยาวชนและเด็กทั่วไปคำตอบที่ได้กลับมาคงหนีไม่พ้น การประหยัดอดออม นั่นเอง ซึ่งทุกความคิดและคำตอบที่ผมได้รับไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใดแต่ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนแล้วเป็นแนวทางในการปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้นหากแต่ไม่ใช่แก่นแท้และหัวใจของมันก็เท่านั้นเอง “

­

ผมก็เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่เข้าใจว่าความพอเพียงนั้นทำได้โดยการที่เราใช้เงินอย่างรู้คุณค่าและมีเงินเก็บออม ก็เพียงพอแล้วแต่ถึงกระนั้นก็ตามผมก็ยังได้ยินบุคคลท่านหนึ่งคอยเน้นย้ำอยู่เสมอให้เรานำหลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในทุก ๆ ด้านในการดำเนินชีวิตตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับรัฐจนทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าหลักของความพอเพียงนั้นจะนำไปใช้กับทุกเรื่องได้อย่างไร ผมจึงเก็บข้อสงสัยนี้และพยายามไขมาโดยตลอดแต่สิ่งที่ได้รับกลับกลายเป็นคำตอบที่ไม่แตกต่างจากสิ่งที่ผมเข้าใจ จนผมได้ย่างก้าวเข้าไปศึกษาที่โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จ. จันทบุรี สถานศึกษาแห่งนี้คอยปลูกฝังและเน้นย้ำให้นักเรียนทุกคนได้รู้จักใช้หลักคิดบนพื้นฐานของความพอเพียง ไม่ใช่แต่ในทางปฏิบัติ แต่ที่โรงเรียนแห่งนี้ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบูรณาการในทุกกลุ่มสาระวิชาสอดแทรกเข้ากับทุกกิจกรรมรวมไปถึงจุดศึกษาต่างๆ ภายในโรงเรียน โดยเน้นให้นักเรียนรู้จักการคิดอย่างมีเหตุผล มีความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะตามมา และต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานล้วนจะนำไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผมได้ศึกษาอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ผมได้ซึมซับหลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เห็นได้จากที่ผมนั้นนำหลักคิดนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันจนในบางครั้งก็ไม่ทันรู้ตัวอาจเป็นเพราะในชีวิตประจำวันของเรานั้นเราได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้แล้วแต่แค่เราไม่ย้อนกับมาสังเกตดูก็เท่านั้นเอง

­

จนมาถึงวันนี้โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ ได้รับการยกย่องให้เป็น สถานศึกษาพอเพียง เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา และทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกทั้งสถานศึกษาแห่งนี้ยังช่วยไขข้อสงสัยให้ผมได้รู้ถึงแก่นแท้และหัวใจ ของคำว่า พอเพียง อย่างแท้จริงและทำให้ทราบว่าการประหยัดอดออม การทำเกษตรทฤษฏีใหม่รวมไปถึงการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ล้วนไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าความพอเพียงหากแต่เป็นการปฏิบัติที่ยึดหลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั่นเอง ไม่ใช่เพียงเท่านี้ยังทำให้ผมได้ทราบว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่คนไทยกับไม่เห็นคุณค่าและมองข้ามอย่างน่าเสียใจ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ สถานศึกษาแห่งนี้ รวมไปถึงบุคคลากรในโรงเรียนทุกท่าน อีกทั้งคุณพ่อและคุณแม่ ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้ผมได้มีวันนี้ วันที่ผมได้เป็นนักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นทื่ ๒ ถึงแม้ผมจะไม่ทราบว่าในวันข้างหน้าผมต้องเจอกับสิ่งใด ภารกิจที่ยากขนาดไหนจะทำให้ผมเหน็ดเหนื่อยและท้อแท้สักเพียงใด ผมจะไม่มีวันละทิ้งหน้าที่ที่ได้รับมาอย่างเด็ดขาด และจะไม่มีวันลืมพระคุณทุกท่านที่สนับสนุนผมให้มาได้ไกลถึงจุดนี้ ถ้าจะถามว่าระยะเวลาที่ผ่านมาผมได้รับอะไรบ้าง ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ประสบการณ์ที่ได้รับมาล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาค่าได้ ซึ่งกิจกรรมที่ได้ทำนอกจากจะเป็นการอบรมในด้านของความคิดแล้วยังได้ออกไปร่วมทำจิตอาสา ช่วยเหลือสังคมและเรียนรู้โครงการในพระราชดำริต่างๆ ที่พ่อหลวงของเราได้ทำเพื่อประชาชนของท่าน เพื่อบรรเทาทุกข์ต่างๆนาๆ ถึงแม้จะทำให้ท่านเหน็ดเหนื่อยสักเพียงใดก็ตาม ท่านก็ไม่เคยที่จะหยุดพักเลยสักนิด เพียงเพราะต้องการที่จะเห็นประชาชนของท่านมีความสุขเท่านั้น ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมผมจึงรักพ่อหลวงได้มากขนาดนี้ และทุกวันนี้ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมทำ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือสังคม หรือการสนองตามโครงการในพระราชดำริ รวมถึงการเผยแพร่หลักคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นประโยชน์หรือได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด แต่ผมจะขอทำต่อไปจนกว่าวาระสุดท้ายของผมจะมาถึง......

­

นานมนตรี สุวเพชร

นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเกษตรศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

นักเรียนทุนเศรษฐกิจพอเพียง รุ่นที่ 2