การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์

“โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมพลังผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

วันที่ 27 พฤษภาคม 255 ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน ชลบุรี

­

โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์เป็นโรงเรียนคาทอลิก มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียนอยู่แล้ว ในเรื่องฐานการเรียนรู้ที่ส่งเสริมนิสัยความพอเพียงในกับเด็ก แต่ตอนนั้นไม่ได้มองถึงหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจริงจังหลังได้รับการประเมินเป็นสถานศึกษาพอเพียง มีการนำกระบวนการลงสู่คุณครูในโรงเรียนตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการ การวางแผน การกำหนดนโยบายลงสู่การเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร และการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยบูรณาการลงสู่การเรียนการสอนแบบเข้มข้น ควบคู่กับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้เด็กได้ “หลักคิด” ในการทำงาน ให้ความสำคัญกับ “การถอดบทเรียน” ทุกครั้งหลังทำกิจกรรม เพื่อประเมินว่า เด็กเข้าใจคำว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแค่ไหน การขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนยังเดินหน้าต่อได้ แม้ผู้บริหารและครูจะไม่อยู่ เพราะโรงเรียนมี “ทีมขับเคลื่อน” หลายคน จึงสามารถสานต่อได้ ทำให้งานไม่สะดุด

­

โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์เป็นโรงเรียนคาทอลิก ผู้บริหารให้ความสำคัญกับเรื่องคุณธรรม โรงเรียนมีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียนอยู่แล้ว ในเรื่องฐานการเรียนรู้ที่ส่งเสริมนิสัยความพอเพียงในตัวเด็ก แต่ตอนนั้นยังไม่ได้จับหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมงานอนุรักษ์เสื่อจันทบูร กระดาษรีไซเคิล หรือเลี้ยงหมู ปลูกผัก และอีกหลายอย่าง โดยทำเป็นฐานการเรียนรู้ โรงเรียนมีพื้นที่ 19 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา สร้างอาคารเสร็จเหลือพื้นที่ 10 ไร่ และไปซื้อเพิ่มอีก 6 ไร่ จัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ มีบ้านดิน มีหมูหลุม

­

หลังจากปี 2549 โรงเรียนได้รับการประเมินสถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนจึงเริ่มขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง โดยเริ่มทำความเข้าใจเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ให้ครู แต่ครูยังไม่เข้าใจมากนัก เริ่มมาเข้าใจว่าความพอประมาณ มีเหตุผลเป็นอย่างไรหลังจากนำกระบวนการลงสู่คุณครูในโรงเรียน ตั้งแต่ในเรื่องของการบริหารจัดการ การวางแผนกำหนดนโยบายลงสู่การเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร และการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มีมูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าไปจัดกระบวนการให้ ซึ่งการเข้าไปจัดกระบวนการครั้งนั้นได้เริ่มเรียนรู้ โดยเริ่มที่ครูต้องเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจกระบวนและที่มาที่ไปก่อน โดยที่โรงเรียนจัดประชุมครูทุกวันศุกร์ เพื่อทำความเข้าใจและถ่ายทอดให้ครูเข้าใจตรงกันว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็น “หลักคิด” เราจะทำอย่างไรให้ครูนำหลักคิดนี้ไปให้เด็ก

­

หลังจากนั้นเข้าสู่เรื่องกระบวนการเรียนการสอนแบบเข้มข้น ควบคู่กับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยโรงเรียนจะกำหนดว่า นอกจากฐานการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้เรียนรู้เพื่อสร้างนิสัยพอเพียงแล้ว แต่ละระดับชั้นต้องคิดว่าจะทำกิจกรรมอะไร เช่น ป.1 จะทำกระบอกหรรษา ป.2 ทำเรื่องกระดาษสร้างสรรค์ งานสร้างศิลป์ ป.3 ทำเรื่องสมุนไพร ป. 4 ทำเรื่องกล่องนม จัดเป็นกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ หรือ ม. 3 ใช้ชื่อว่า รียูสกู๊ดไอเดีย ที่จะเป็นกระบวนการคิดของเขาทั้งหมด สิ่งที่ให้เด็กในแต่ละระดับชั้นทำเพื่อสร้างนิสัยพอเพียงให้กับเด็ก ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้จัดกิจกรรมเท่านั้น แต่จะนำเข้าสู่แผนการสอนควบคู่กันไป

­

การจัดกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กได้ “หลักคิด” ในการทำงาน เช่น กิจกรรมรียูสกู๊ดไอเดีย ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร ที่โรงเรียนเน้นมากคือ ทุกครั้งที่ทำจะให้เด็กถอดบทเรียนว่า อะไรคือความพอประมาณ มีเหตุผล จะใช้หลักที่ให้เด็กทำไปก่อน หลังจากนั้นครูจะบอกเขาว่านี่คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน หลังจากนั้นให้เด็กทำเอง เพราะฉะนั้นโรงเรียนจะปลูกฝังการถอดบทเรียนทุกเรื่อง นอกจากนี้จะให้บันทึกผลการเรียนรู้ หรือกิจกรรมที่ให้เด็กทำทุกครั้ง เพื่อประเมินเด็กได้ว่า เข้าใจคำว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ โดยวัดได้จากการเรียนรู้ของเด็กส่วนหนึ่งและวัดจากพฤติกรรมเด็กอีกส่วนหนึ่ง จะทำทุกครั้งจนเด็กสามารถเข้าใจและซึมซับจากสิ่งที่เขาทำ

­

นอกจากนี้ยังมีการจัดทำผังความคิดหรือกระบวนการให้เด็กรู้ว่าวิธีการที่จะไปลงสู่ตัวเด็ก มีวิธีการอย่างไรเพื่อให้เด็กคิดเป็น ที่สำคัญคือโรงเรียนจะได้โอกาสดีเพราะมีคนไปศึกษาดูงานมาก เมื่อปีที่แล้วมีโรงเรียนไปเรียนรู้ดูงานประมาณ 100 โรงเรียน เด็กมีโอกาสได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เด็กได้พัฒนาตนเอง เมื่อแขกมาก็จะได้สืบค้นข้อมูลจากเด็ก ได้ถามเด็ก ได้สอนเด็ก เด็กจะได้เรียนรู้ไปในตัว เพราะฉะนั้นเด็กจะเกิดความภูมิใจเมื่อได้นำเสนองาน เด็กได้พัฒนาขึ้น มีเด็กแกนนำ 11 ทีมต่อชั้น ทีมชั้นหนึ่งมีแกนนำหลายคน ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ เด็กที่เป็นแกนนำจะมีการถ่ายทอดต่อกันไป เด็กเกิดการพัฒนาจนสามารถอบรมนักเรียนแกนนำเองได้ จะมีนักเรียนแกนำเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถจัดอบรมให้กับน้องๆได้

­

ด้านโรงเรียนเครือข่าย 6 โรงเรียน จะจัดอบรมโดยให้เด็กเป็นแกนนำ เด็กจะได้พัฒนาไปด้วยในตัว นี่เป็นสิ่งที่เราปลูกฝังให้กับเด็ก ซึ่งผู้บริหารคนนี้เพิ่งจะย้ายมาได้ 2 ปี แต่คนเก่านั้นได้ปลูกฝังไว้เข้มแข็งและท่านก็ย้ายไป เมื่อผู้บริหารคนใหม่มาได้ต่อยอด ซึ่งแรกๆ อาจจะยังต่อไม่ติด แต่เนื่องจากคนที่ขับเคลื่อนเป็นหลักคือครู ครูที่ยังอยู่ก็มี ลาออกก็มี แต่แกนนำที่เป็นหลักยังอยู่กันมาก เพราะว่าทีมขับเคลื่อนไม่ได้เป็นแค่คนเดียว แต่ทำงานเป็นทีม ทำให้กระบวนต่างๆ ยังดำเนินต่อไป ไม่ได้หายไปพร้อมกับผู้บริหาร เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริหารใหม่มา ถ้าเขาสนับสนุนต่อยอด กระบวนการต่างๆ ก็ยังดำเนินต่อไปได้

­

ปัจจุบันการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนเข้าที่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือพัฒนาครูและพัฒนาผู้เรียน ทำอย่างไรให้เด็กนำไปเป็นหลักคิด ซึ่งตอนนี้จะให้เป็นหลักคิดในการทำงาน ในการเรียนทุกเรื่อง ในเรื่องของการทำแผนการสอนจะไม่พูดถึงเหมือนเมื่อก่อน เพราะครูทำมาหลายครั้ง ได้ไปเป็นวิทยากรให้กับโรงเรียนอื่น เป็นคณะกรรมการประเมินสถานศึกษาพอเพียง เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งในโรงเรียนจึงมีมากพอสมควร สามารถเดินด้วยลำแข้งของตัวเองได้ ในเรื่องของการเรียนการสอนเรายังทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่ได้ไปอบรม จะมีการถ่ายทอดและขยายผลสู่ครูคนอื่นๆ ทุกครั้ง และช่วยเหลือกัน ซึ่งยังมีครูบางคนที่ยังไม่เข้าใจกระบวนการจริง

­

แม้โรงเรียนจะมีพื้นที่น้อย แต่สตรีมารดาพิทักษ์ยังให้เด็กได้ทำนา โดยทำเป็นสถานที่สาธิตให้เขาได้รู้ว่าปลูกข้าวปลูกอย่างไร ต้นกล้าเอามาจากไหน ให้เขาได้ฝึกทักษะกระบวนการคิด กิจกรรมที่เราทำขึ้นเพื่อเป็นกระบวนการสร้างนิสัยพอเพียง ให้เด็กคิด และนำไปต่อยอดเองได้ ซึ่งกิจกรรมจะเปลี่ยนไปทุกปี เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กในเมืองที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อน สิ่งที่ผู้ปกครองสะท้อนกลับมาคือ ลูกเปลี่ยนไป ครูก็ภูมิใจ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาทำ ยกตัวอย่างของกลุ่ม ป.5 เขาใช้ชื่อว่า ธรรมชาติกับความพอเพียง ทำน้ำยาล้างจาน ยาสระผม สบู่อาบน้ำ ซึ่งทุกโรงเรียนทำเหมือนกัน แต่โรงเรียนเราสอนให้เด็กทำและไปสอนชุมชน นำไปให้กับชุมชนบ้าง ทำขึ้นเพื่อใช้เอง เหลือก็นำไปขาย หรือเป็นของขวัญ แต่สิ่งที่ภูมิใจมากๆคือเด็กได้เรียนรู้วิชาชีวิต เพราะโรงเรียนของเราเน้นวิชาชีพ วิชาการ และวิชาชีวิต เช่น วิชาการนั้น ถึงมีกิจกรรมมากมาย แต่โอเน็ตของเราก็สูงกว่าเขตระดับพื้นที่ ถามว่าเด็กเข้าใจเรื่องคุณธรรมหรือไม่ เด็กของเราเข้าใจ ในจังหวัดจันทบุรีเราเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ มีเด็ก 3,600 คน ผู้ปกครองให้การยอมรับว่าที่นี่ค่าเทอมแพง แต่ก็ยอม เพราะผู้ปกครองคิดว่าเสียแพงดีกว่าเสียลูก ที่นี่มีทั้ง วิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เขายังเชื่อมั่นในโรงเรียนของเราอยู่

­

สิ่งที่ยังไม่ประสบความสำเร็จคือ การหล่อหลอมของเด็ก บางครั้งเวลาออกไปข้างนอกกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะหลักปรัชญาฯ ยังเข้าไม่ถึงชุมชนมากนัก แต่เราพยายามปลูกฝังเด็กเราทุกวันๆ เขาจะไปถ่ายทอดกับผู้ปกครอง

­

การใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการสอน หลักของเราในการจัดกิจกรรมจะใช้ “หลักคิด” คือเน้นให้เด็กได้คิด เวลาสอนจะสร้างกระบวนการคิดให้กับเด็ก ซึ่งไม่ว่าเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราต้องนำกระบวนการคิดไปใช้กับเด็ก เช่น จะไปทัศนศึกษา ต้องรู้ก่อนว่าจะไปที่ไหน ไปโดยวิธีไหน ไปอย่างไรจึงจะประหยัด รู้ให้ลึก กว้างและละเอียด เมื่อรู้แล้วก็นำความรู้นี้มาประกอบการตัดสินใจ เมื่อเขาตัดสินใจแล้วต้องมีเหตุผลว่าเพราะอะไร ทำไมถึงทำอย่างนี้ เมื่ออกมาแล้วก็ลงมือปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าเขาคิดอย่างละเอียดรอบคอบ มีเหตุผลในการตัดสินใจ เวลาเขาทำงานออกมาจะประสบความสำเร็จและเห็นได้ชัดเจน ที่เห็นชัดมากๆ นำไปใช้กับเด็กคือมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เขาเอากระบวนการนี้ไปทำแล้วมาเล่าให้ฟัง ตอนนั้นเขาจะทำสารคดี “กกรักษ์โลก” โดยมีสมาชิกในทีมประมาณ 20 คน นำสิ่งที่มีชื่อของโรงเรียนคือ กกทอเสื่อ เขาไปหาว่า กกนอกจากจะทอเสื่อแล้วจะเอาไปทำอะไรได้อีกบ้าง เมื่อไม่รู้เขาก็ไปที่จังหวัด และรู้ว่า กกสามารถบำบัดน้ำเสียได้ ซึ่งเห็นได้ว่าเด็กได้นำกระบวนการคิดที่ครูสอนไปใช้ เพราะเขาคิดว่าตอนที่จะไปถ่ายทำเขามีแผนอะไรบ้าง มีกล้องกี่ตัว และเมื่อเป็นช่วงหน้าฝน ก็ต้องคิดว่าจะเตรียมอะไรไปกันฝนบ้าง แล้วจะไปพักที่ไหน ไปด้วยรถอะไร นอกจากนี้ยังใช้กระบวนการคิดในการเลือกตำแหน่งหน้าที่ของสมาชิกว่าใครจะทำหน้าที่อะไร โดยดูที่ภูมิหลัง เช่น ให้คนนี้เป็นพิธีกร เพราะเคยนำสวดที่วัดมาก่อน หรือให้ทำหน้าที่ตัดต่อเพราะเคยประกวดคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าเมื่องานออกมาก็สำเร็จ เราก็ภูมิใจ เพราะแสดงว่าเด็กเราเขาคิดเป็น เพราะฉะนั้นถ้านำไปใช้ก็จะให้ผลที่แท้จริง

­

­

­

เรื่อง อัจฉริยะข้ามวันร่วมกันเรียนรู้สู่ความพอเพียง

โดย..คณะครูทีมชั้น ม.3 โรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์ จันทบุรี

­

เช้าวันหนึ่งอากาศแจ่มใสพระอาทิตย์เริ่มสาดแสง อากาศในวันนี้ช่างแตกต่างจากวันที่ผ่านมาที่มีฝนตกตลอดทั้งวันอย่างสิ้นเชิง บ้างหิ้วกระเป๋า บ้างลาก บ้างแบกสัมภาระของตนเอง ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส บ่งบอกถึงความสุขและสนุกสนาน ที่กำลังจะเริ่มต้น

­

ปรี๊ดดดด....ปิ๊ด ปิ๊ด... พร้อมกับเสียง... “รอฉันรอเธออยู่ แต่ไม่รู้เธออยู่หนใด เธอจะมา เธอจะมาเมื่อไร เธอไปไหนทำไมไม่มา ฉันเป็นห่วงฉันเป็นห่วงตัวเธอ อย่าให้คอยเก้อ ชะเง้อคอยหา นัดแล้วทำไมไม่มา นัดแล้วทำไมไม่มา โอ้เธอจ๋าอย่าช้ารีบหน่อย รีบหน่อย รีบหน่อย รีบหน่อย” เสียงเพลงที่ดังขึ้นทำให้ทุกคนหันไปมอง

­

“เร็ว ๆ เฮ้ยเร็ว ๆ” เสียงดังเซ็งแซ่พร้อมเสียงเท้ากระทบพื้นดังไม่เป็นจังหวะ ตรงไปยังต้นเสียงด้วยความรีบเร่ง

­

“โอ๊ย!!” เสียงร้องด้วยความเจ็บปวดดังขึ้นในขณะที่ทุกคนกำลังวิ่ง ทำให้ทุกคนหันไปมอง เด็กหญิงคนหนึ่งล้มอยู่กับพื้น สัมภาระที่เตรียมมากระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง กระเป๋าใส่เสื้อผ้าวิ่งแซงเจ้าของไปล่วงหน้าแล้ว หลังจากนั้นเพื่อน ๆ จึงช่วยกันพยุง เก็บสัมภาระ และพาเด็กหญิงคนนั้นไปปฐมพยาบาล

­

“กองตรง!! วันทยหัตถ์” เสียงห้าว ๆ ของเด็กชายคนหนึ่งดังขึ้น ทำให้เด็ก ๆ ทุกคนนิ่ง ยืนตรงพร้อมทำความเคารพ

“ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ”

­

ตามมาด้วยเสียง

“ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้......”

น้ำเสียงดังก้องด้วยความภาคภูมิใจที่ได้อยู่ใต้พระบารมีของพ่อหลวง ใบหน้ายิ้มแย้ม พร้อมรับเพื่อปฏิบัติตาม ทุกคนเตรียมลอดซุ้มหน้าเสือที่มืดและแคบ ด้วยความอยากรู้อยากลอง “เราจะรอดผ่านได้ ยังไง” เจ้าของน้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม มีใบหน้าวิตกกังวลโวยวายออกมา เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าตัวเองคงไม่สามารถลอดผ่านช่องนี้ไปได้แน่ๆกรี๊ด.......กรี๊ด.......เสียงร้องด้วยความตื่นเต้นดังออกมาจากซุ้ม ใบหน้าที่โผล่มา ล้วนขาวโพลนไปด้วยแป้ง และรอยยิ้ม หลายคนพยายามเช็ดแป้งออก เสียงผู้กำกับดังออกมาว่า “อย่าเช็ดแป้งออกนะจ๊ะ เพราะแป้งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการรับเข้าสู่ค่ายของเรา”

­

เสียงกลอง เสียงเพลง และเสียงหัวเราะที่เกิดจากการได้เห็นท่าเต้นที่แปลก ๆ ของเพื่อน ๆ ทุกคนล้วนตื่นเต้นกับกิจกรรมที่พวกเขาจะได้พบต่อไป

­

ณ ลานอเนกประสงค์ของโรงเรียน ลูกเสือและเนตรนารีทุกกองรวมกันเพื่อเข้าสู่กิจกรรมเดินทางไกล ทุกคนมีสีหน้าตื่นเต้น เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทุกกองออกมารับเอกสาร เพื่อศึกษาข้อมูล หลังจากที่นายหมู่เปิดซอง แล้วอ่านด้วยเสียงดังฟังชัด ให้สมาชิกในหมู่ฟัง ก็มีเสียงที่แสดงถึงความแปลกประหลาดใจในกิจกรรมที่ได้รับ และทุกกองก็เริ่มต้นทำกิจกรรม.......

­

“กี่กิโลหัวหน้า...” เสียงลูกหมู่คนหนึ่งร้องถามหัวหน้า เนื่องจากเริ่มรู้สึกเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล หลังจากนั้นก็เริ่มมีอีกหลายคำถามตามมา

“อีกไกลไหม...”

“เฮ้ย! อย่าเดินเร็วนัก”

“เร็ว ๆ สิ อากาศร้อนมากเลย”

“เอ๊ะ! ทำไมไม่ถึงสักที เราก็เดินมานานแล้วนะ”

“นั่นไง ใกล้จะถึงแล้ว” เสียงนายหมู่ตะโกนบอกลูกหมู่เมื่อเดินมาถึงสนามบาสของอาสนวิหารปฏิสนธินิรมล เพราะอีกไม่กี่ก้าวก็จะถึงโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์แล้ว

­

ทันใดนั้น เสียงรถมอเตอร์ไซค์ดังตามหลังมา

“กลับหลังหัน...ย้อนกลับไปเส้นทางเดิม เพื่อไปทำกิจกรรมที่วัดไผ่ล้อม (พระอารามหลวง)

“บอกแล้วไง ว่าให้ดูแผนที่ดี ๆ...” เสียงบ่นจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง จากนั้น ทุกคนก็ก้มหน้าเดินด้วยความอ่อนล้า เพื่อย้อนกลับไปอีกครั้งหนึ่งท้องฟ้าหม่น สายฝนเริ่มตกโปรยปราย อากาศวันนี้ช่างแปรปรวนเหลือเกิน เมื่อตอนเช้าอากาศยังสดใสอยู่เลย

­

“ทำไม เธอไม่สวมเสื้อกันฝนล่ะ รู้ไหมถ้าเธอป่วยไปใครจะเดือดร้อนที่สุด” เสียงผู้กำกับดังขึ้น เมื่อเห็นเนตรนารีหมู่หนึ่งไม่ยอมสวมเสื้อกันฝน เนตรนารีตอบทันใดว่า “หนูมีเสื้อกันฝนตัวเดียว เพื่อนไม่มี ถ้าหนูใส่แล้วเพื่อนๆหนูไม่มีใส่ หนูเอาตัวรอดคนเดียวไม่ได้ค่ะ มันทำให้เหมือนหนูเป็นคนเห็นแก่ตัวค่ะ” ว่าแล้วทุกคนก็เดินต่อไป ถึงจะเปียกแต่ทุกคนก็ไม่หวั่น

­

อีกสายหนึ่ง

บึ้น บึ้น บึ้น มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งขี่ผ่านแถวลูกเสื่อและเนตรนารีที่กำลังเดินทางไกลไปอย่างรวดเร็ว ควันจากท่อไอเสียฟุ้งเต็มถนน กลิ่นของควันทำให้หลายคนต้องยกมือขึ้นมาปิดจมูก โครมมมมมมมม!!! เสียงรถชนกันดังสนั่น ลูกเสือหลายคนวิ่งไปดู

“สมน้ำหน้า อยากกินเหล้า แล้วขี่รถเร็วดีนัก” เสียงจากลูกเสือกองที่ 2 หมู่ที่ 1 พูดออกมาเมื่อพบว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นรถคันเดียวกับที่ซิ่งผ่านไปเมื่อสักครู่

“นั่นไง นอนจมกองเลือดอยู่นั่น”

“ช่วยดีไหม”

“ตายรึยัง”

“ไม่ต้องช่วย โรงพยาบาลอยู่ใกล้แค่นี้ ให้เดินไปเอง อยากซิ่งดีนัก”

แต่แล้วลูกเสือหมู่ที่ 2 ก็พูดขึ้นว่า

“พวกเราไปช่วยกันเถอะ เขาเจ็บนะ ดูสิ เลือดออกเต็มเลย หัวก็แตก แขนก็หัก”

“ไม่ต้อง ๆ ขวดเหล้ายังคามืออยู่เลย”

“ไม่ได้ ต้องช่วยซิ เพราะเขาช่วยตัวเองไม่ได้ ถ้าเราไม่ช่วยเขาตอนนี้ เขาอาจจะตายก็ได้”

“เดี๋ยวก่อน เราต้องดูก่อนว่าเขาบาดเจ็บตรงไหน ถ้าเราช่วยเขาไม่ถูกวิธี เขาอาจจะเจ็บมากกว่าเดินก็ได้นะ” ลูกเสือคนหนึ่งทักขึ้นมา และแล้วพวกเขาก็ช่วยกันพยุงผู้บาดเจ็บ ตามแบบการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ได้ร่ำเรียนมา พร้อมทั้งเรียกหาผู้กำกับ

“สำเร็จแล้ว”

­

เสียงผู้กำกับพูดดัง เพราะนี่คือสถานการณ์จำลอง เพื่อทดสอบจิตใจและคุณธรรมของแต่ละคน ทำให้ผู้กำกับพบว่า ลูกเสือเนตรนารีของเราเป็นผู้ที่มีจิตใจเอื้ออาทร พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือคนอื่นทุกเมื่อ

­

บนถนนสายริมน้ำ นายหมู่นำลูกหมู่เดินผ่านชุมชน อย่างมีระบบ และเป็นระเบียบ สายตาของสมาชิกทุกคนคอยสังเกตดูสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว แสงแดดกลับมาอีกครั้ง อากาศที่ร้อนอย่างนี้ทำให้ลูกเสือและเนตรนารีต้องดื่มน้ำตลอดทาง หลายคนน้ำหมดไปตั้งแต่เพิ่งเริ่มออกเดินทางไกล บางหมู่หยุดพักใต้ต้นไม้เพื่อดื่มน้ำ คนยังมีน้ำเหลืออยู่ก็แบ่งน้ำให้แก่คนที่น้ำหมดแล้ว

­

“ดูนั่นสิ พระอาจารย์ท่านกำลังทำอะไรอยู่” เสียงเนตรนารีคนหนึ่งร้องทักขึ้น

“เธอลองไปถามดูสิ” นายหมู่สั่งให้ลูกหมู่คนหนึ่งลองไปถาม

สักพักเพื่อนก็กลับมา แล้วบอกว่า “พวกเรา พระอาจารย์ต้องการยกเก้าอี้จากศาลาใจประเสริฐกุล ขึ้นไปเก็บไว้ที่ห้องสมุดชั้น 2 ของศาลาราชฯ” นายหมู่จึงเรียกประชุมแบ่งหน้าที่กันเพื่อช่วยพระอาจารย์ยกเก้าอี้ขึ้นไปเก็บและแล้วทุกคนก็ร่วมมือร่วมใจกันทำหน้าที่ตามที่นายหมู่มอบหมายจนสำเร็จเรียบร้อย “ขอบใจมาก ขอให้โยมเป็นเด็กดีของพ่อแม่ของคุณครู สอบได้ที่ 1 ทุก ๆ คนนะ”และแล้วนายหมู่ก็นำลูกหมู่เดินตามเส้นทางที่ผู้กำกับกำหนดต่อไป

­

2 ชั่วโมงผ่านไป

ลูกเสือเนตรนารีทุกหมู่ก็เดินทางกลับมาถึงจุดนัดพบบริเวณสนามในโรงเรียนอีกครั้ง “ทุกหมู่ฟังให้ดี มื้อเที่ยงวันนี้ไม่มีภาชนะให้สำหรับใส่อาหาร มีเพียงแต่ใบตองกับไม้กลัด เท่าจำนวนสมาชิกแต่ละกอง” เสียงผู้กำกับชี้แจงเกี่ยวกับการรับประทานอาหารมือเที่ยงของวันนี้ เมื่อได้รับคำสั่ง นายหมู่ก็เรียกลุกหมู่ประชุม เพื่อทำภาชนะจากใบตองเพื่อใส่อาหารมื้อนั้น

“ทุกคนนั่งหันหน้าเข้าหากัน” นายหมู่สั่ง

ฝ่ายพลาธิการ นำใบตองและไม้กลัด มาแจกให้สมาชิก

“ทุกคนต้องระวังนะ มีอุปกรณ์จำกัด เราต้องใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าพยายามอย่าให้มีเศษใบตองเหลือนะ”

­

10 นาทีผ่านไป...

นายหมู่ทุกหมู่มารายงานผู้กำกับแต่ละกองว่า “ทุกหมู่มีภาชนะเรียบร้อยแล้วครับ” หลังจากนั้นจึงให้สมาชิกตั้งแถว เพื่อรอรับอาหาร มือขวาถือกระทงมือซ้ายช่วยประคับประคองกระทงอย่างทะนุถนอม ลูกเสือคนหนึ่งพูดว่า “ถ้ากับข้าวเป็นน้ำ มันจะไม่รั่วรึ”

“โอ๊ย!โล่งอก…..มันเป็นน่องไก่ทอดกับผัดผัก”

ลูกเสือและเนตรนารีทุกคน ก้มหน้าก้มตารับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อย

เออ!.....แบบนี้ก็ดีนะกินใช้แบบพอเพียง (ไม่ต้องล้างจาน) ประหยัดทั้งน้ำยาล้างจาน ประหยัดค่าน้ำ ประหยัดไฟ ประหยัดพลังงาน แถมเศษใบตองยังสามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการผลิตวัสดุที่นำมาทำจานอีกด้วย คำพูดเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนจากการให้ลูกเสือ-เนตรนารีประเมินความคิดเห็นและความประทับใจ ที่ได้รับจากการเข้าค่ายครั้งนี้

­

โอ้! พระเจ้าจ๊อด มันยอดมาก ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากใบตองและกระดูกไก่ ปรี๊ด……ปรี๊ด ปริ๊ด

13.00 น. ทุกกองเตรียมอุปกรณ์มาพร้อมกัน ณ ลานอเนกประสงค์ ผู้กำกับ แจกเอกสารเพื่อให้ทุกกองศึกษา ภารกิจที่ 2 ร่วมกันเรียนรู้สู่ความพอเพียง

กอง1 ฐานนี้มี สีดำ ประจำอยู่ ต้องเคียงคู่ กับเตา เหล่าอาหาร

จะต้มจืด แกงผัด จัดใส่จาน ให้ความร้อน ทนทาน ฐานอะไร

“เอ๊ะ! นี่รหัสรับหาขุมทรัพย์หรือนี่” นายหมู่แต่ละกอง ประชุม ให้สมาชิกมาช่วยกันถอดรหัส

“อ๋อ! เราต้องไปเรียนรู้ที่ฐานดำดี ดูดี มีประโยชน์” แปลกดีนะถ่านที่เผามีน้ำส้มควันไม้ ซึ่งไปใช้ประโยชน์เป็นฮอร์โมนสำหรับบำรุงต้นไม้ พรรณไม้ได้อีกด้วย นี่!ถ้าไม่เข้าฐานนี้คงไม่ทราบหรอกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงทดลองเผาถ่านด้วยพระองค์เอง กว่าจะออกมาเป็นสูตรสำเร็จให้ราษฏรของพระองค์ รู้สึกปลื้มปิติและภาคภูมิใจในพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านจริง ๆ นะ ว่าไม๊? เสียงเด็กกลุ่มหนึ่งคุยกัน

­

ผลจากการเรียนรู้ ทำให้ทราบขั้นตอนการเผาถ่านและเห็นคุณค่าภูมิปัญญาไทยไปขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชน

กอง 2 ฐานต่อไป ถ้าไม่ใช้ ต้องหัวเน่า เพราะว่าเรา ต้องใช้ ล้างสระถู

หากไม่มี เจ้านั้น คันน่าดู ถ้าหากรู้ จงรีบไป ในบัดดล

“เออ! เฟิร์น กลับไปบ้านฉันจะไปเก็บมะนาว มะขาม ที่อยู่ข้าง ๆ บ้านมาทำน้ำยาอเนกประสงค์ให้แม่ใช้บ้างดีกว่า พึ่งรู้นะเนี่ยว่าผักผลไม้ และพืชสมุนไพรบางชนิดนำมาทำสบู่ แชมพูสระผมได้ ไม่คิดว่าที่ผู้กำกับบอกไม่ให้นำสบู่ หรือแชมพูสระผมมา ก็เพราะต้องการให้พวกเราได้ศึกษาและทำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้เองในค่ายครั้งนี้ เพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้” แตงพูด

­

ผลจากการเรียนรู้ ทำให้ทราบถึงประโยชน์ของพืชสมุนไพร การทำผลิตภัณฑ์ และแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร

กอง 3 ฝึกฝีมือ ประดิษฐ์ คิดสร้างงาน ผู้เชี่ยวชาญ ตอกซ้ำ ซ่อมรักษา

นำใช้งาน อีกครั้ง ดังปัญญา ช่วยนำพา ลูกหมู่ กรูเข้าไป

“ฐานนี้งานถนัดของลูกเสืออย่างพวกเราเชียวหละ ทำม้านั่งตัวเล็ก ๆ โดยใช้เศษไม้เป็นส่วนประกอบ กับเครื่องมือคือตะปู ค้อน สายวัด เลื่อย เพียงเท่านี้ก็ได้ม้านั่งสุดเก๋ สำหรับนั่งทำกับข้าวเย็นนี้แล้วหละ” เชียร์พูด

­

ผลจากการเรียนรู้ รู้จักใช้เครื่องมือและอุปกรณ์งานช่างอย่างถูกต้องสามารถทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้ตนเอง

กอง 4 มีจังหวะ ให้ชีวิต คิดสร้างสรรค์ สารพัน กลองกรับ ดังขับขาน

ทั้งสีหน้า แววตา เริงสราญ ดูชื่นบาน รีบรี เร็วทันใด

“โอ๊ย! ร้อนและก็เหนื่อยด้วย เมื่อไรจะได้พักสักที เอ๊ะ! เสียงกลอง เสียงเพลงดังอยู่ข้างหน้า น่าสนุกนะ ค่อยผ่อนคลายหายเหนื่อยหน่อย” “เจอแล้วฐานบันเทิงนี่เอง ได้มีโอกาสแสดงน้ำเสียงอันไพเราะ แถมยังได้วาดลีลาการเต้นประกอบท่าพืชผักผลไม้ที่มีอยู่ในสวนของเราซะด้วย” น้ำว้ากองห้าพูดด้วย แววตาอันเป็นประกาย

­

ผลจากการเรียนรู้ กล้าแสดงออก เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินมีจิตสำนึกในการทำงานเป็นทีม

กอง 5 สารอาหาร ทรงคุณค่า ต่อพืชผล ต้องหมัก จนละลาย สลายสิ้น

แก้วิกฤต พลิกฟื้น ผืนแผ่นดิน ทั่วทุกถิ่น นำไปใช้ ได้ดีเอย

“ผู้กำกับครับ ต่อไปนี้หนูจะไปเก็บผลไม้ที่หล่นใต้ต้น ที่เคยปล่อยให้เน่าทิ้งเสียเปล่า ๆ มาลองทำปุ๋ยจุลินทรีย์ดูบ้าง จะได้ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีที่คุณพ่อเคยใช้” มฤคพูด

­

ผลจากการเรียนรู้ เห็นคุณค่า ประโยชน์ ของเศษผักและผลไม้ รู้ขั้นตอนการทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ

กอง 6 ฐานนี้มี ของดี หลากสีสัน รีบเร็วพลัน เลือกเฟ้น เน้นคุณค่า

วิตามิน โปรตีน ผักนานา โคโรฟิลล์ กุ้งปูปลา อ้า.. ฐานใด

“มื้อนี้จะทำอะไรกินกันดีนะ เคยมีแต่แม่ทำให้กิน แล้วจะทำเป็นมั้ยนะ จะต้องซื้อหมู กุ้ง ปลา หรือว่าผักสักเท่าไร จึงจะพอเพียงกับสมาชิกในหมู่ของเรา เอ๊า! ช่วยกันคิดสิ” นายหมู่กองหกพูด

­

ผลจากการเรียนรู้ วางแผนการใช้จ่ายอย่างพอเพียงและรู้จักการทำบัญชีเบื้องต้นได้

กอง 7 ถ้าไม่มี ฐานนี้ ไม่มีข้าว เพราะว่าเจ้า ต้องมาสี เอาเองหนา

เป็นเนื้อหา เกี่ยวเนื่อง เรื่องชาวนา ทายซิว่า ฐานนี้ คืออะไร

“พึ่งรู้ว่ากว่าจะได้กินข้าวแต่ละครั้ง ชาวนาจะต้องเหนี่อยยากแค่ไหน ว่าแล้วต่อไปนี้ฉันจะพยายามทานข้าวให้หมดทุกเม็ดเลย” หมูแฮมรำพึงเสียงดัง

­

ผลจากการเรียนรู้ รู้เกี่ยวกับกระบวนการ การสีข้าวที่เป็นข้าวกล้อง และข้าวขาว เกิดทักษะในการตัดสินใจเลือกบริโภค และคิดคำนวณปริมาณข้าวให้พอเพียงต่อจำนวนสมาชิกภายในหมู่

กอง 8 พฤกษาสวย เขียวชอุ่ม ดูชุ่มเย็น ร่มเงาเห็น เป็นสง่า พาสวยสม

หลากหลายพันธุ์ นานา น่าดูชม ทุกหมู่กลม เกลียวกัน ฉันอยากเรียน

“ตอนนี้รู้แล้วว่าต้นไม้นั้นให้ความร่มเย็นจริง ๆ” ใหม่พูดขณะที่นั่งซับเหงื่ออยู่ใต้ต้นอินทรีต้นใหญ่

­

ผลจากการเรียนรู้ รู้จักพันธุ์ไม้และประโยชน์ของต้นไม้แต่ละชนิด

แต่ละกองหมุนเวียนเปลี่ยนครบทุกฐาน

“ไชโย! ครบแล้ว ดีใจจัง จะได้หุงข้าว แล้วเตาล่ะ!”

ทันใดนั้น ได้ยินเสียงประกาศ ให้ทุกหมู่ไปรับเตาที่ฐานดำดี ดูดี มีประโยชน์

“อ้าว! ให้เตาเดียวเอง ทั้งหุงข้าวทำกับข้าว แล้วมันจะทันได้ไงเนี่ย”

ผู้กำกับ ท่านหนึ่งชี้ไปที่กองอิฐ แล้วให้คิดวิธีแก้ปัญหา นำก้อนอิฐมาทำเตาแบบตามใจชอบ

“โล่งอก! เสียทีมีเตาแล้ว”

อีก 10 นาทีต่อมา ทั่วทั้งสวนก็ปกคลุมไปด้วยควันไฟ บ้างก็นอนเป่าราบกับพื้นปากจ่อที่หน้าเตา

“ฟู่….ฟู่ ไฟติดแล้ว”

­

บริเวณข้างเตา เสียงมีดกระทบเขียง ทั้งสับ ทั้งหั่น เวลาก็ผ่านไปนานแสนนาน จนตะวันลับขอบฟ้า กลิ่นหอมและกลิ่นไหม้ของกับข้าว (บางหมู่) ลอยมาปะทะจมูกผู้กำกับ สักครู่ ตัวแทนหมู่แต่ละหมู่ ถือถ้วยที่ใส่กับข้าวและขนมหวาน มาส่งผู้กำกับ วางตามหมายเลขหมู่ตัวเองเพื่อรับการประเมิน เท่าที่เห็น ดูเหมือนว่า มีหลากหลายเมนูคู่กับผัก หลังจากนั้น แต่ละหมู่ล้อมวงรับประทานอาหาร แล้วเก็บล้างท่ามกลางแสงจันทร์ แต่ละกองจัดเก็บอุปกรณ์ เดินทางกลับที่พักทำภารกิจส่วนตัว

“มองมองหาขวัญตาเจ้าอยู่แห่งใด มองมองไปขวัญใจ ทำไมไม่มา…………”

จบเสียงเพลงลูกเสือ เนตรนารีทุกกองพร้อมกันที่ลานอเนกประสงค์ …………พอฤกษ์งามยามได้เวลา………… กอง 5 ตั้งวงแห่พวงมาลัยพร้อมพุ่มสลากมามอบให้ประธาน ลูกเสือ เนตรนารีแต่ละกองต่างจดจ่องมองไปที่ประธาน

“ตะละบุ่ม บุม บุ้ม แม่เนื้อนุ่มบัวบาน พี่คอยคำนึงนึกถึงเธอมานาน โอ้แม่ตาหวาน อย่าหลอกให้พี่งวยงง เจ้าดอกเอ๋ย เจ้าดอก………ขอเชิญกอง………ออกมาแสดงเอย” จากนั้นทุกกองร้องเพลงประจำกองพร้อมการแสดงโดยใช้เนื้อหาจากฐานการเรียนรู้มาแสดง

“……ฮะฮ่าฮา…….ไม่น่าเชื่อมีแร็ปพอเพียงด้วย”

“โอ๊ย! อยากนอน”

­

กริ๊ง! กริ๊ง! 5.00 น. ภารกิจส่วนตัว

กิจกรรมธรรมสวัสดีตามศาสนาที่ตนนับถือ เพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สงบพร้อมรับกิจกรรมการรับรู้ การเรียนรู้ของลูกเสือ – เนตรนารี (ถอดบทเรียน) กิจกรรมเดินทางไกล ,กิจกรรมเรียนรู้สู่ชีวิตพอเพียง 8 ฐานการเรียนรู้ ,กิจกรรมดำรงชีวิตที่พอเพียง (วิชาคนครัว) และกิจกรรมรอบกองไฟให้ทุกหมู่ร่วมกันบันทึกผลการเรียนรู้ว่าได้ทักษะ ความรู้ และเจตคติอย่างไร พร้อมเชื่อมโยงเข้ากับ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขและ 4 มิติ


จากกิจกรรม อัฉริยะข้ามวันร่วมกันเรียนรู้สู่ความพอเพียง ...

“ฮัลโหล….ขอสายคุณครูทีมชั้นม.3 ด้วยค่ะ ดิฉันเป็นผู้ปกครองของนักเรียนชั้นม.3 ที่มาเข้าค่าย คุณครูทำอย่างไรค่ะ กลับมาที่บ้านลูกดิฉันถามหาผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมาทำน้ำยาอเนกประสงค์ มะกรูด ดอกอัญชันมาทำน้ำยาสระผม และขมิ้น มะขามเปียกมาทำสบู่อาบน้ำ”

­

“ค่ะ ที่คุณแม่เล่ามาทั้งหมดเป็นฐานการเรียนรู้ฐานหนึ่งที่ลูกคุณแม่ได้เข้าเรียนและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่เพียงแต่เท่านี้นะคะ ลูกยังเข้าครัวช่วยทำกับข้าว หุงข้าว