ผลงาน Fragile
ประเภท แอนิเมชั่น
ความยาว 4.50 นาที
แนวคิดของเรื่อง เป็นการสื่อให้เห็นถึงความจริงข้างในของเด็กหญิงที่ต้องโดนบีบบังคับให้โตขึ้นเป็น“เด็กหญิงในอุดมคติ”ที่ต้องสมบูรณ์แบบแต่แท้จริงแล้วเด็กเหล่านั้นรู้สึกอย่างไร เมื่อความฝันและทางเดินของเด็กเหล่านั้น ไม่ใช่ของตนเอง
เจ้าของผลงาน นางสาวเจนเนตร พรหมสุทธ(เจน)
สถาบัน หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล
บทสัมภาษณ์
แรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้คือการเข้า Youtube เพื่อเข้าไปหาแรงบันดาลใจการทำ THESIS ทำให้เธอได้ไปเจอคลิปที่มีเด็กผู้หญิงซึ่งเข้าประกวดความงามเป็นอาชีพหลัก โดยมีคุณแม่ส่งเข้าประกวด เลยสะท้อนกลับมาที่เราว่าการประกวดเด็กแนวนี้มีเยอะในสังคม และคนที่มองเด็กที่เข้าประกวดเหล่านี้ไม่ได้ชื่นชมเด็กคนนั้นในฐานะที่เขาเป็นเด็ก แต่ในฐานะรูปลักษณ์ภายนอก เลยอยากจะสื่อว่าการผลักดันให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่เร็วกว่าที่เขาควรจะเป็นไปตามธรรมชาติจะส่งผลเสียในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านจิตใจของเด็ก และพัฒนาการทางความคิด เลยใช้การประกวดความงามของเด็กเป็น “สื่อกลาง” ในการถ่ายทอดออกมา โดยสะท้อนให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันมองแค่รูปลักษณ์ภายนอกโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และสื่อก็มีอิทธิพลที่สะท้อนให้เห็นว่าการมีชื่อเสียงมีโอกาสในสังคมเป็นอย่างไร ซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ส่วนช่องทางที่จะเผยแพร่หนังจะเป็นในส่วนของช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ต่างๆ หรืองานประกวดต่างๆ
“Active Citizen ในมุมองเราคือ ทำให้เราได้รู้แนวทางมากขึ้นว่าจะใช้สื่ออย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม”
สำหรับการเข้าค่ายครั้งนี้ รู้สึกสนุกที่ได้แชร์ไอเดียกับเพื่อนๆ กล้าที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้าเพิ่มขึ้น เพราะต้องปรึกษางานกัน แม้ว่าบางครั้งอาจจะมีอุปสรรคในการทำงานบ้าง เช่น การเข้าถึงเพื่อน เพราะเราไม่ได้มาเข้าค่ายในวันแรก ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เราช้ากว่าคนอื่น แต่เราก็สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ ทุกคนสามารถคุยกันได้
“โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่เปิดโอกาสสำหรับทุกคนที่ต้องการเผยแพร่ผลงานตัวเอง ส่วนการเข้าค่ายทำให้เราสามารถฝึกคิดผลงานของตัวเองจากโจทย์ที่ได้มา เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองคิดจินตนาการสร้างสรรค์ผลงานตัวเอง และเชื่อว่าแอนนิเมชั่นที่ทำมาสามารถเข้าถึงคนในสังคม ซึ่งมองว่าการใช้การ์ตูนเสมือนจริง ซึ่งไม่ใช่คนจริงๆ คนจะมองว่าสื่อแอนนิเมชั่นเป็นสื่อที่ผ่อนคลายและถ้าสามารถสอดแทรกความรู้ เนื้อหาที่มีประโยชน์คนในสังคมน่าจะรับฟังและเข้าถึงใจได้มากขึ้น”
แรงบันดาลที่ได้จากการทำงานนี้ทำให้เรามองเห็นว่าแอนิเมชั่นไม่ใช่ให้ความบันเทิงได้อย่างเดียว แต่สามารถสอดแทรกข้อคิดให้แก่คนในสังคมได้จากการสื่อด้วยแอนิเมชั่น ซึ่งหลังจากจบแล้ววางแผนว่าจะเรียนต่อทางด้านมีเดียหรือโฆษณาที่ต่างประเทศเพื่อต่อยอดความคิดมุมมองที่แปลกใหม่ ส่วนแอนิเมชั่นชิ้นนี้ตั้งใจว่าจะส่งประกวดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวหรือทางด้านสังคม