สมพงษ์ หลีเคราะห์ : เปลี่ยนภาระ ให้เป็นพลัง: วิจัยชุมชนชิ้นโบแดงมหกรรมเยาวชนสตูล

เปลี่ยนภาระ ให้เป็นพลัง: วิจัยชุมชนชิ้นโบแดงมหกรรมเยาวชนสตูล

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

ภาพ The Potential

  • มหกรรมเยาวชนสตูล ตอน ‘เยาวชนทนแลม้ายด้าย’ เป็นเพียง ‘ยอด’ ภูเขาน้ำแข็ง เป็นงาน Showcase แสดงผลงานและการเรียนรู้ของเยาวชนจำนวน 13 พื้นที่ 7 โครงการ แต่ส่วน ‘ฐาน’ ของภูเขาน้ำแข็ง คือวิธีคิด หรือกระบวนการทำงานของ ‘โหนดสตูล’ และ กลุ่มพี่เลี้ยงต่างหาก คือ ‘รูปธรรม’ ที่ต้องพูดถึง และ ถูกคลี่เพื่อศึกษา
  • เพราะคนทำงานคุ้นกับระบบวิจัย กระบวนการคิดวิเคราะห์จากการหาข้อมูลความรู้ จึงใช้วิธีเดียวกันนี้กับเยาวชนในโครงการ active citizen กลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งเด็กในและนอกระบบ ด้วย 3 วิธีสำคัญคือ ‘เดินตามเด็ก, เดินพร้อมเด็ก และ หนุนให้เด็กเดิน’
  • สำคัญที่สุด มันคือการศึกษา ‘นอกห้องเรียน’ ผู้สนับสนุนไม่ใช่ครู แต่เป็นคนในชุมชนและทรัพยากรในบ้านเกิดพวกเขาเอง

คีย์เวิร์ดของงาน มหกรรมเยาวชน ‘ทนแลม้ายด้าย’ (Rise Up the Chance) จังหวัดสตูล ในครั้งนี้ มี 3 คำสำคัญที่ต้องพูดถึงคือ งานวิจัย, การศึกษานอกระบบ และ ราชาน้ำท่อม!

ก่อนจะว่ากันถึงคำสำคัญดังกล่าว ขอกลับไปกล่าวถึงที่มาของงานมหกรรมในครั้งนี้ก่อนว่า ที่จริงแล้วชื่อเต็มของงานคือ มหกรรมเยาวชนพลเมืองสร้างสรรค์สตูล ครั้งที่ 1 ตอน เยาวชน ‘ทนแลม้ายด้าย’ Give youths a chance, Rise up the chance จัดขึ้นวันที่ 26-27 มกราคม 2562 ณ โรงเรียนอนุบาลสตูล

จุดประสงค์อย่างเป็นทางการของงานคือ

  • หนึ่ง-เพื่อสื่อสารผลงาน ความคิด ความเชื่อ ต่อกระบวนการทำงานของเยาวชนและโดยเยาวชนเอง
  • สอง-สื่อสารประเด็น ‘กลไกชุมชน’ เพื่อพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูลแก่สาธารณชน กลไกที่ว่าก็คือ ‘คนใน’ ที่เรียกว่า โค้ช หรือ พี่เลี้ยง ซึ่งผู้ที่สวมบทบาทดังกล่าวคือ ชาวบ้าน ผู้ปกครอง หรือ กลุ่มทำงานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่เด็กให้ความไว้ใจ และส่วนใหญ่ไม่ใช่ครูในโรงเรียน
  • สาม-ทั้งหมดนี้ดำเนินงานบนฐานความเชื่อที่ว่า พื้นที่การเรียนรู้ครั้งนี้จะเปิดโอกาส เปิดประตูงานเยาวชนจังหวัดสตูล

จุดประสงค์ข้างต้นเป็นสิ่ง ‘นามธรรม’ และมหกรรมเยาวชนที่เพิ่งจบไปเป็นเพียง ‘ยอด’ ของภูเขาน้ำแข็ง เป็นงาน Showcase ที่เด็กๆ จำนวน 13 พื้นที่ 7 โครงการ นำโครงการของตัวเองมาจัดแสดง หวังปลุกกระแสการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสในการพัฒนาเยาวชนให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบพัฒนาบ้านเมือง แต่ส่วน ‘ฐาน’ ของภูเขาน้ำแข็ง หรือ วิธีคิด หรือกระบวนการทำงาน ‘ทีมศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล’ หรือที่เรียกกันว่า ‘โหนดสตูล’ และกลุ่มพี่เลี้ยงต่างหาก คือ ‘รูปธรรม’ ที่ต้องพูดถึง และ ถูกคลี่เพื่อศึกษา

ซึ่งกระบวนการทำงานและวิธีคิดนี้เอง ที่เกี่ยวพันกับคำสำคัญ 3 อย่าง คือ งานวิจัย, การศึกษานอกระบบ และ ราชาน้ำท่อม!

เบื้องหลังมหกรรมเยาวชน ‘ทนแลม้ายด้าย: งานวิจัย, การศึกษานอกระบบ และ ราชาน้ำท่อม

“งาน active citizen สตูลไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เรามีบทเรียน มีทุน มีทรัพยากรคนจากการลงไปขับเคลื่อนให้เกิดการทำวิจัยในพื้นที่ ไปเป็นพี่เลี้ยงและโค้ชให้ชาวบ้าน… อย่าว่าแต่ทำวิจัยเลย บางคนยังเขียนคำว่า ‘วิจัย’ ไม่ถูก ไปชวนเขาให้มาทำวิจัยได้

“จากนั้นเราผลักระบบวิจัยเข้าโรงเรียน ขยาย (วิธีวิจัย) ไปยังโรงเรียนปอเนาะ โรงเรียนปฐมวัย โรงเรียนมัธยม มัสยิด แต่ทั้งหมดนั้นคือเด็กในระบบ แล้วกับเด็กนอกระบบล่ะ?

“ใช่ไหมว่าวิธีคิดที่เราพบในการพัฒนาเด็กปัจจุบันมี 3 วิธี คือ ส่งเข้าโรงเรียน สายปกครองส่งเข้าสถานบำบัด สายศาสนาส่งไปสอนศาสนา แต่ ‘วิธีทำงานกับเด็กนอกระบบ’ โดยไม่ใช่ 3 วิธีที่ว่าล่ะ คืออะไร?”

คือเสียงของ สมพงษ์ หลีเคราะห์ หรือ บังพงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล (โหนด) กล่าวเปิดงานมหกรรมเยาวชน โดยมีรถมอเตอร์ไซค์ 3 คันยืนแสดงตัวงามสง่าคล้ายประกาศว่า ‘นี่คือสัญลักษณ์ของเยาวชน’ อยู่ด้านหลัง

สมพงษ์ หลีเคราะห์ หรือ บังพงษ์

ทั้งหมดนั้น สมพงษ์ต้องการกลับไปอธิบายว่า การพัฒนาเยาวชนโดยเฉพาะ ‘เด็กนอกระบบ’ -ผู้ซึ่งกำลังเปิด ตระเตรียม และอธิบายงานวิจัยของพวกเขาอยู่ขณะนี้- ไม่ได้มีวิธีเดียวคือส่งเข้าสถานบำบัด หรือเข้ากระบวนการปกครอง แต่คือพื้นที่ โอกาส และการสนับสนุนจากคุณอำนวย (facilitator)

ซึ่งตลอด 1 ปีของการทำงานในโครงการ active citizen จังหวัดสตูล โหนดสตูลเลือกใช้ ‘วิธีวิจัย’ สิ่งที่พวกเขาถนัดและมีทุนอยู่เดิม เข้าทำงานกับทั้งเด็กในและนอกระบบ ซึ่งเด็กนอกระบบที่ว่า บังพงษ์นิยามว่าคือ ‘ราชาน้ำท่อม’ และทำงานด้วยกลยุทธ์ 3 อย่างคือ

‘เดินตามเด็ก, เดินพร้อมเด็ก และ หนุนให้เด็กเดิน’

“ขั้น ‘เดินตามเด็ก’ ทีมพี่เลี้ยงต้องไปหาเด็ก อยู่กับเขา พูดคุยกับเขาจนเขาไว้ใจ พอเขาไว้ใจก็ชวนทำกิจกรรม ขั้นตอนนี้ผมเรียกว่า ‘เดินพร้อมเด็ก’ เดินพร้อมเด็กไปปลูกป่า ถางป่า หรือไปทำกิจกรรมที่จะเดินไปพร้อมกันกับเขา ขั้นตอนสุดท้าย ‘หนุนให้เด็กเดิน’ ก็คือการชวนเขาทำโปรเจ็คท์ ทำโครงการ ซึ่งในโครงการเราก็ใช้วิธีวิจัยอีก เรียกว่า RDM หรือ Research Development Movement” บังพงษ์อธิบาย

ขณะที่ สุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ที่ปรึกษาโครงการ และในนามของผู้ปฏิวัติการสอน ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยการนำเครื่องมือวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาเป็นฐานการเรียนรู้ อธิบายความสำคัญของการใช้ RDM ในโครงการว่า

“การทำข้อมูลในส่วนที่เรียกว่า RDM คือการที่เด็กลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ทำให้เขารู้จักผู้เฒ่าผู้แก่ รู้จักทรัพยากร รู้จักชุมชน รู้จักปัญหา รู้จักทุนดีๆ ของชุมชน แล้วจึงรวมกันขึ้นโปรเจ็คท์ของเขาเอง โดยมีพี่เลี้ยงเป็นคนกำกับและช่วยให้คำปรึกษาอยู่

สุทธิ สายสุนีย์

“เมื่อขึ้นโปรเจ็คท์แล้วและอยู่ในช่วงพัฒนากิจกรรม กลับไปติดตามความคืบหน้าจะเห็นเลยว่าเด็กเหล่านี้สร้างเครื่องมือ เรียนรู้จากประสบการณ์ สร้างอิมแพคที่เกิดขึ้นจากการทำงาน คือไปร้อยเรียง ไปเชื่อมโยงกับผู้นำศาสนาในชุมชน กับคนในชุมชน กับเครือข่ายคนทำงานแล้วแต่โครงการที่เขาทำงานอยู่ เช่น หน่วยงานที่ดูแลป่าเลน น้ำตก อุทยานต่างๆ ไม่รวมกิจกรรมที่ทำงานด้านภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่นการละเล่นต่างๆ อีกเยอะมาก”

อย่างที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่า โครงการนี้เป็นการทำงานบนฐานวิจัยของเด็กนอกห้องเรียน อันแปลว่าคนที่จะผลักดันและอยู่กับเด็กไม่ใช่ครูในห้องเรียน แต่คือ พี่เลี้ยง หรือ โค้ช ในชุมชน

“ทำไมเราถึงพุ่งไปที่ ‘ระบบพี่เลี้ยง’ อาจเพราะผมเริ่มทำงานกับชุมชนที่ทำแบบนี้ตั้งแต่ปี 40 จึงตั้งต้นด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ การทำงานกับชุมชนที่เข้ามาร่วม เด็กจะมีพี่เลี้ยงอยู่ในชุมชน แม้คนนอกออกไป คนในยังอยู่ และยังมีบทบาทในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เข้ามากับคนในชุมชน

“ส่วนพี่เลี้ยงทำงานยังไง? ทำหน้าที่ ‘สร้างโอกาส’ และเป็น ‘คุณอำนวย’ หรือ facilitator ทำให้เด็กคิด ทำกิจกรรม และช่วยเติมศักยภาพ เช่น เด็กอยากทำละคร ก็หาคนมาช่วยทำละคร เด็กอยากร้องเพลง พี่เลี้ยงหาครูมาช่วยคิดทำนองให้” บังพงษ์อธิบาย

ขณะที่ ผอ.สุทธิ กล่าวยืนยันว่า

“อย่าเชื่อว่าเราต้องใช้ครูในราชการอย่างเดียว มีครูนอกโรงเรียนอีกเยอะ มีภูมิปัญญาอีกมาก มีอีกหลายภาคส่วนเข้ามาทำตรงนี้ได้ และถ้าเรามองเป้าเดียวกัน เล็งไปที่เด็กและเยาวชน และมองว่าต่างเป็นเจ้าภาพร่วม เชื่อว่าพลังเหล่านี้จะถูกหนุนเสริมและสานต่อได้”

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจตั้งคำถาม โครงการดังกล่าว ‘จริง’ หรือไม่ ถ้าจริง เป็นจริงกับเด็กนอกระบบกี่เปอร์เซ็นต์กัน?

จริงหรือไม่ และจริงกับเด็กกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าวัดเป็นคำตอบเชิงปริมาณ ความจริงที่ว่าคงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่หลุดออกนอกระบบทั้งหมด แต่หากวัดผลเชิงคุณภาพ เสียงสะท้อนผ่านน้ำตาของผู้ปกครองในวันงาน กระทั่งรอยน้ำตาและเสียงสะอื้นจากเด็กผู้ชายตัวโตๆ ในช่วงถอดบทเรียน อาจถูกบันทึกและวัดค่าในระเบียบวิจัยได้

เสียงสะท้อนจากอดีต ‘ราชาน้ำท่อม’

กีรีน-สากีรีน เส็นสมมาตร จากโครงการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้ และ อันวาร์ นาเคณฑ์จากโครงการหาแนวทางสร้างการเรียนรู้ด้านดนตรีปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง คือวัยรุ่นสองคนจากเยาวชนร่วมร้อยในโครงการ active citizen และเป็นอดีตวัยรุ่นที่เข้าข่าย ‘ราชาน้ำท่อม’ อย่างที่บังพงษ์กล่าวไว้

ทั้งคู่คือเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษา เคยมีประวัติเสพยา และเป็นนักบิด (ชาวบ้านเรียกว่า ‘แว้น’) วันนี้พวกเขาไม่ได้มองว่าอดีตเหล่านั้นเป็นเรื่องน่ารังเกียจ กลับกัน พวกเขาใช้ประวัติศาสตร์ของตัวเองยืนยันว่าการเปลี่ยนเพื่อทำให้เส้นทางอนาคตทอดไกลและมั่นคงกว่า ทำได้จริงถ้ามีคนให้โอกาส

กีรีนเล่าว่า 5 ปีก่อนใช้สารเสพติด น้ำท่อมคือยาประจำตัว เมื่อมีโครงการ ‘คนรักท่าแพ’ พัฒนาป่าชายเลนเข้ามาชักชวนให้เป็นหนึ่งในทีมทำงาน และเนื่องจากกีรีนและพ่อมีอาชีพประมงป่าชายเลนอยู่แล้ว การเข้าไปร่วมวงทำงานจึงไม่ใช่สิ่งที่เขาลังเล แต่กีรีนไม่ได้เดินเข้าไปทันที เพียงแต่เข้าไปทำเมื่อจังหวะอำนวย

ปีแรกของการทำงานเขาไม่ได้เลิกยา แต่เมื่อคนทำงานไม่รังเกียจ ทำงานให้เห็นเป็นต้นแบบ และสนับสนุนให้เค้าทำงานและช่วยให้เลิก จึงเป็นเหตุให้กีรีนถอนตัวจากสารเสพติดในที่สุด

“ลูกชายของป้าผมเคยติดยา ประธานเยาวชนคนแรกเค้ามาชวนให้พี่ผมเข้าร่วมโครงการจนเลิกได้ เราอยากทำให้ได้เหมือนพี่คนนี้ พอเลิกได้ เราก็อยากชวนคนอื่นเลิกให้ได้เหมือนที่เราอยู่ในจุดนี้ด้วย” กีรีนเล่าและอธิบายว่า พอเข้าไปทำงานจึงได้พบเห็นคนอีกหลายกลุ่ม นั่นเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้เห็น ‘คนต้นแบบ’ ของตัวเอง

เพราะเคยใช้สารเสพติด (ที่เขาจำกัดความว่า ‘หนัก’) และเลิกได้ นี่อาจเป็นเหตุผลที่ใครต่อใครเรียกเขาว่า ‘ท่านนายกเยาวชน’ กีรีนใช้ฐานใจในฐานะอดีตสมาชิกน้ำท่อมสร้างเครือข่ายวัยรุ่นแบบฉบับของตัวเอง เป็นเพื่อนกับสมาชิกเหล่านั้นเพื่อชวนให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงและทำงานชุมชนได้ ทั้งยังเป็นคนที่เชื่อมต่อกับกลุ่มทำงานผู้ใหญ่ เช่น พี่เลี้ยง และ โหนดได้ด้วย

ประสบการณ์จาก ‘ราชาน้ำท่อม’ และ ‘สิงห์นักบิด’ อีกคนคือ อันวาร์ เส้นทางชีวิตของเขาคล้ายกีรีน คือใช้สารเสพติดและแว้นรอบเมือง ต่อเมื่อโหนดในชุมชนเริ่มทำงาน พี่เลี้ยงเริ่มเข้ามา ‘หาเด็ก’ อันวาร์คือหนึ่งในคนที่พี่เลี้ยงในชุมชนสนใจ และชักชวนให้เข้าโครงการเรียนรู้ด้านดนตรีปันจักสีลัตชุมชน (ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า)

จากคนที่ไม่เข้าร่วมประชุมในครั้งแรก (เพราะหลับ!) กลายเป็นผู้ประสานงานหลักของโครงการตัวเอง ความรับผิดชอบคือสิ่งที่อันวาร์ให้ความสำคัญ น้ำท่อมจึงถูกลืม ความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเฉพาะกับ ม๊ะ หรือ แม่ของอันวาร์ดีขึ้นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ

ม๊ะสะท้อนว่า ช่วงที่ลูกชายใช้สารเสพติด คนในหมู่บ้านต่อว่าคนเป็นแม่ สถานการณ์ในบ้านมีแต่ความเคร่งเครียด โดยเฉพาะความสัมพันธ์พ่อลูก ม๊ะถึงกับน้ำหนักลดไปหลายกิโลกรัม

“เขาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมาก (เน้นเสียง) รอบบ้านไม่เหลือใครเลย มีลูกเพื่อนอยู่สองสามคน (ที่ไม่ใช้ยา) ม๊ะเหมือนจะเสียคนไปเลยกับการต่อสู้ มันท้อเหมือนกันเนอะ… คนเป็นแม่

“จนวันหนึ่งมีประชุมโครงการ จากที่เคยฟังลูกเล่าว่าไปทำอะไรมา เราคิดว่าสิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งเล็กๆ แค่ไปเข้าค่าย วันนั้นเป็นครั้งแรกของม๊ะที่ได้เข้าไปประชุมกับลูก ม๊ะก็นั่งฟัง ‘อ๋อ… นี่เอง ที่ลูกไปเข้าค่าย’ ม๊ะได้นั่งฟัง พี่เลี้ยงพูด ที่บังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล) พูด มันรู้สึกมีความหวัง เหมือนมีแสงสว่างในใจของแม่ (ยิ้ม) ว่าถ้าลูกเราจับสิ่งนี้สำเร็จ มันต้องมีอะไรสักอย่างเกิดในตัวเขา

“เรามองลูกเราทุกวัน ลูกเราไม่ได้โง่ ลูกเราแค่ยังหาตัวเองไม่เจอ แม่ก็มีศรัทธาแบบนั้นนะ ถ้าลูกเราค้นหาตัวเองเจอ มันต้องดีกว่านี้ พอเขาได้รับโครงการนี้ เขาหมกมุ่นกับเรื่องนี้ เมื่อเช้า (วันเตรียมงาน) เขาเครียดนะ ร้องไห้เลย เดินมากอดม๊ะ เขาบอก ‘ผมไม่ไหว ผมทำไม่ได้’ ม๊ะบอก ‘ผมทำเต็มที่แล้ว ได้แค่ไหนแค่นั้น สิ่งที่ผมทำเต็มที่ นั่นดีที่สุดแล้ว นี่แค่ก้าวแรกของเราเอง’” วันนี้ม๊ะเล่าโดยไม่มีน้ำตา มีแต่รอยยิ้ม

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ตัวอย่างของเสียงสะท้อน ผลลัพธ์ที่ประเมิน ‘ความจริง’ ไม่ได้ในเชิงปริมาณ แต่เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ทำนอกสถานศึกษา ทำนอกห้องเรียน ย่อมเกี่ยวเด็กๆ ที่ถูกมองว่า ‘ไม่ได้เรื่อง’ ให้ ‘เป็นเรื่อง’ ขึ้นมาได้ และมันมีคุณค่าต่อชีวิตเล็กๆ หลายคน

“คำว่าพลเมือง ผมคิดว่ามันคือ ‘พลัง’ ของเมือง แต่ที่ผ่านมาพลเมืองเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นภาระของเมือง เริ่มต้นเลย คือการเปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่ เปลี่ยนจาก ‘ภาระ’ เป็น ‘พลัง’ และมีแต่ ‘โอกาส’ และ ‘อำนวย’ เท่านั้นที่จะสร้างพลเมืองขึ้นมาได้” เสียงของบังพงษ์กล่าวปิดท้ายงาน

อ่านบทความต้นฉบับ