หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลายพื้นที่เตรียมตัวฟื้นฟู แก้ปัญหา ด้วยวิธีการต่าง ตามความเหมาะสม พื้นที่ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน จังหวัดนนทบุรี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบภัยน้ำท่วมอย่างหนัก พื้นที่ทางการเกษตรจมน้ำหลาย ร้อยไร่ อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นอาชีพเกษตรกร และอาชีพอื่นๆ หลังน้ำลดผู้นำหมู่บ้านและประชาชน ตำบลบางภาษี ได้รับมือกับ ศูนย์คนรุ่นใหม่ ใจอาสา(Gen v) ซึ่ง เป็นศูนย์ที่ก่อตั้งขึ้นช่วงน้ำท่วม ผนึกกำลังเพื่อแก้ปัญหา และหาทางออกร่วมกันในการฟื้นฟูเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้
แพผักลอยน้ำเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ชุมชนบางภาษีและ Gen v เลือก ในการเยียวยา และแก้ไขปัญหาจากเหตุเหตุการณ์น้ำท่วม โดยมีฐานคิดในเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และสามารถให้ชุมชนยืนอยู่ได้เมื่อมีภัย โดยแพผักลอยน้ำจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับชุมชน หากในช่วงที่ไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ชุมชน ก็จะมีพืชผักที่ใช้บริโภคในครัวเรือน นอกเหนือจากนั้น ก็เก็บไว้ขายเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชนสร้างรายได้ เพราะคิดว่าหากชุมชนมีฐานเศรษฐกิจที่ดี การแก้ปัญหาหรือการรับมือกับปัญหาก็ย่อมง่ายขึ้น
แพผักลอยน้ำคือ การนำพืชผักมาปลูกบนแพ ขั้นตอนการปลูกไม่ต่างจากการปลูกผักธรรมดาทั่วไป เพียงแตกต่างตรงที่ใช้แพมาประยุกต์ในการปลูกผักเท่านั้น เป็นเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมโดยเฉพาะ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นจากความคิดและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ในการคิดและร่วมกันวางแผนรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
มองอีกในแง่หนึ่งแพผักลอยน้ำ เป็น เครื่องมือที่ให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหันหน้ามาคุยกันมากขึ้น ซึ่งจากเดิมพื้นที่ตำบลบางภาษี เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ก็ไม่หนักถึงขั้นได้รับความเสียหาย อย่างมากก็เกิดน้ำท่วมขังไม่ถึงวันก็ผ่านไป ผู้นำชุมชนและลูกบ้านจึงไม่เกิดการตระหนักหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ผู้นำชุมชนมีความกระตือรือร้นมากขึ้นที่จะแก้ปัญหาและเยียวยา รวมไปถึงการวางแผนรับมือในเรื่องอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาไม่ใช่เพียงแค่การทำแพผักลอยน้ำ แต่แพผักลอยน้ำจะ เป็นเครื่องมือให้ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนเกิดความรักและสามัคคี และหันหน้าคุยกันถึงการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น หากชุมชนไหนมีความสามัคคี ชุมชนนั้นย่อมสามารถช่วยเหลือตัวเองและเอาตัวลอยจากภัยพิบัติได้อย่างมีความ สุข
เอกสารประกอบ : ปฏิทินกิจกรรมโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสูสถานศึกษา