อนุพงศ์ ศรีสุวรรณ : แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สงขลา

นายอนุพงศ์ ศรีสุวรรณ แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.สงขลา


อนุพงศ์ ศรีสุวรรณ หรือ พิก เด็กใต้ตาคม ผิวเข้ม เยาวชนจากจังหวัดสงขลา ปัจจุบันพิกศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ระหว่างนี้พิกยังรับทำจัดดอกไม้ งานทั่วไปในโอกาสต่าง ๆ โดยใช้ชื่อ FlowerArt สร้างรายได้ให้ตัวเองระหว่างเรียนเพราะมีความฝันของตัวเองเล็กๆ ว่าอยากทำงานอยู่ที่บ้าน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวด้วยการทำงานอิสระจากความสามารถขอตัวเอง

พิก อดีตแกนนำเยาวชนโครงการพลังงานทดแทนแสงอาทิตย์ จากโรงเรียนจะนะชนูปถัมภ์ พิกความจับพลัดจับผลูเข้าร่วมโครงการฯ จากครูสุเทพ คงคาวงศ์ ครูในโรงเรียนเป็นคนชักชวน พิกเล่าถึงที่มาของการเข้าร่วมโครงการให้ฟังว่า ตอนนั้นครูสุเทพดึงให้ผมมาเข้าร่วมกิจกรรม ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า มาทำอะไรนึกว่าไปเข้าค่าย เวทีแรกที่เข้าร่วมกิจกรรมจัดที่คลองแดน เราก็นึกว่าค่ายธรรมดาไม่ได้ต่อเนื่องอะไร จบแล้วก็จบกัน พี่เขากระดาษบรู๊พ แจกปากกาเมจิกเขาให้ทำอะไรก็ทำ ผลปรากฏว่าจบเวทีแล้ว ครูสุเทพมาบอกให้ไปทำต่อนะเราก็งงเลยตอนนั้น เลยเป็นที่มาของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์พิกพูดติดตลกถึงที่มาที่ไปของการเข้าร่วมโครงการในปีแรกให้ฟัง

พิกทำโครงการพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นระยะเวลา 3 ปีเต็ม โครงการแรกเริ่มต้นจากการลงไปทำงานกับชุมชนเก้าเส้งเพื่อติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ให้กับธนาคารปู “หลังจากที่เราไปลงชุมชน พอลกับมามีเพื่อนในกลุ่มเริ่มออกจากกลุ่ม ตอนนั้นเราเองก็ต้องหาเพื่อนมาเข้าร่วมกลุ่มใหม่ ยอมรับว่าเป็นปัญหามากในปีแรกเพราะเราเองก็ใหม่ไม่เคยทำโครงการมาก่อนเหมือนกัน” พิกเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรก

เพราะเป็นปีแรก ประกอบกับยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำโครงการมาก่อนทำให้โครงการไม่เป็นอย่างที่หวัง แต่ในปีที่ 2 พิกบอกว่าตนเริ่มจับจุดกิจกรรมของโครงการฯ ได้มากขึ้น ทำให้เขาเริ่มปรับตัว และสนุกกับการทำกิจกรรม โดยเขาเล่าว่า “เราเจอเพื่อนใหม่ ๆ ต่างโครงการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ตอนนั้นเริ่มสนุกเพราะว่าเรามีเพื่อนโรงเรียนสิริวัณฯ เรามีรุ่นน้องโรงเรียนอื่น ๆ แล้วก็มีรุ่นน้องที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการรักษาหาดอย่างน้องยะห์ รุ่นพี่ราชภัฏฯ โครงการพี่สอนน้อง ครูเดลิเวอรี่ทำให้เรารู้จักคนมากขึ้นเราเริ่มสนุกกับการทำโครงการมากขึ้น”

ขยับเข้าสู่ปีที่ 3 พิกและสมาชิกยังคงทำโครงการโซลาร์เซลล์เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายเป็นการติดตั้งให้กับชุมชน โดยเลือกเป็นสวนเศรษฐกิจพอเพียง เขาบอกว่าเป็นปีที่เขารู้สึกประทับใจมากเพราะทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มลงมาร่วมรับฟังกิจกรรมของเขาด้วย “ ตอนนั้นอาจจะมีเหนื่อยบ้างตรงที่ต้องติดตามเรื่อย ๆ ตั้งแต่การไปพูดคุย เข้าไปดูพื้นที่ ช่วงนั้นรู้สึกว่าเป็นช่วงฤดูฝน เหมือนกันอาจจะช้านิดหน่อย แต่เราภูมิใจ ปีแรกเราอาจจะไม่เต็มร้อย ปีสองเราไม่เต็มใจ ปีสามเราจำใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความรู้ที่ได้มาติดตัวเราไปตลอด บางทีเราไม่รู้ตัวหรอกมารู้สึกทีหลังว่าเราได้อะไรหลายอย่างจากโครงการนี้มาก ไม่ใช่เฉพาะแค่ได้ผลงานแต่ได้ทักษะและความรู้กับตัวเรามาก” พิกสะท้อนสิ่งที่ตัวเองได้จากการทำโครงการมากว่า 3 ปี

พิกบอกต่ออีกว่าการทำโครงการนี้ทำให้เขา “มีภูมิต้านทานของชีวิตมากขึ้น” ภูมิต้านทานต่อการรับมือกับปัญหา หรือแม้กระทั่งคนที่เจอ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหน เขาพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาหรือสถานการณ์นั้นๆ มากขึ้น จากเดิมที่เคยเดินหนีปัญหา ไม่กล้ารับความจริง เครียด “โครงการฯ นี้ แตกต่างจากกิจกรรมหรือค่ายอื่นๆ ที่เคยร่วมมา เปิดโอกาสให้เราคิดขึ้นมาเอง โดยที่ไม่ได้ตั้งหัวข้อขึ้นมาก่อน ให้เราไปหาบทเฉลยด้วยตัวเอง ซึ่งบทเฉลยนั้นไม่ตายตัว อีกอย่างคือการถอดบทเรียน ทบทวนกับตัวเราเองว่าเราได้อะไร เราทำอะไร สิ่งที่เราได้ต้องได้มากกว่า ถ้าเรามีกระบวนการคิดตั้งแต่แรก ๆ มันจะคิดได้”

นอกจากนี้พิกยังนำความรู้ทักษะที่ได้จากการทำแผงโซล่าเซลล์มาปรับใช้การเรียนในสาขาของตัวเองอีกด้วย เช่นพื้นฐานการเขียนโครงการ ซึ่งพิกบอกว่าตนได้ทักษะมากกว่าเพื่อนคนอื่นๆ ในสาขาที่ไม่เคยเขียนโครงการมาก่อน แม้สาขาที่เรียนจะไม่ได้ตรงสักเท่าไหร่แต่พิกสามารถประยุกต์เข้ากับสิ่งที่เรียนในห้องได้ “โครงการที่เราเคยทำสามารถผนวกกับที่เราเรียนได้เหมือนกัน ตอนขึ้นปี 3 เราก็ทำโซลาร์เซลล์เหมือนกันแต่ใช้แบบสำเร็จรูป ซึ่งเราคุ้นเคยอยู่แล้ว เพราะเจอมาตั้งแต่ ม.4 หรือการลงชุมชน เราจะรู้จักวิธีเข้าชุมชน เหมือนเราได้โอกาสมากกว่าเพื่อน พอมาทำวิจัยขยะในชุมชน เราเคยทำโครงการกับทางสงขลาฟอรัมมาแล้วช่วยให้เราทำโครงการในระดับมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้นมาก” พิกยกตัวอย่างความรู้ที่ได้

ทุกวันนี้พิกยังนำสิ่งที่ได้จากการเข้าโครงการอย่างเช่น การถอดบทเรียน เขาบอกว่าการถอดบทเรียนสำหรับเขาไม่จำเป็นต้องเขียนลงในกระดาษเสมอไป เขาอาศัยการยืนทบทวนตัวเองอยู่หน้ากระจกแล้วถามว่าวันนี้เราทำอะไร เราเจออะไรมาบ้าง แล้วเรารับมือกับเรื่องเหล่านั้นอย่างไร “เราเอาแค่กระบวนการมา เราไม่จำเป็นว่าพอเจอปัญหาต้องเหมือนเอามาประยุกต์ให้เข้ากับตัวเองเอากระบวนการมาย่นเวลา ไม่ต้องเอามาทั้งหมด ของพี่เขาสิบข้อ เราสองข้อพอ” พิกอธิบายกระบวนการเรียนรู้ที่เขายังคงนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจนถึงทุกวันนี้ จากการถูกจับชื่อใส่โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวในวันนั้น กลับทำให้เขาได้ทักษะติดตัวที่เรียกว่าเป็นสมบัติติดตัวจากโครงการที่มอบไว้ให้เขาในการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นพลเมืองที่ดีต่อไปในอนาคตข้างหน้า...