นายสมศักดิ์ ชูช่วยคำ (บอย)
เจ้าหน้าที่วิชาการและงานปฏิบัติการ
การเริ่มต้นทำงานในโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาของผมเป็นช่วงที่เขากำลังพิจารณากลั่นกรองและพัฒนาข้อเสนอโครงการของเยาวชน (ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๗) ผมศึกษาข้อเสนอโครงการที่เยาวชนส่งมายังสงขลาฟอรั่ม พบว่ามีประเด็นการเรียนรู้และวิธีการทำงาน ที่แตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เยาวชนคิดและสมัครใจเขียนเข้ามาเอง บางกลุ่มถูกเกณฑ์มาด้วยความปรารถนาดีของครูอาจารย์ก็มี แต่โดยรวมข้อเสนอเหล่านั้นยังไม่ชัดเจนมากนัก ยัง ติดกรอบความคิดโครงการแบบเดิมๆมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก ที่สำคัญมีความคิดตั้งต้นของเยาวชนที่รอให้เราต่อยอด
ก. บทเรียนที่ ๑ ทักษะการโค้ชในช่วงที่ต้องลงพื้นที่พัฒนาโครงการร่วมกับเยาวชน สิ่งที่โค้ชต้องทำคือ ศึกษาที่มาที่ไปของกลุ่ม จับแก่นแกนของความคิดตั้งต้นของเขาให้ได้ประเมินทางเลือกสำหรับการพัฒนาโครงการเอาไว้ก่อนลงพื้นที่ และเมื่อได้ลงพื้นที่ไปพบเยาวชนโค้ชต้องสร้างความคุ้นเคยด้วยบุคลิกภาพและถ้อยคำภาษาที่เป็นกันเอง เปิดโอกาสให้เขาได้บอกเล่าเรื่องราวและความคิดฝันให้เราฟัง ตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นต่อยอดจากสิ่งที่เขานำเสนอ ชี้ชวนให้เห็นข้อห่วงใยของเรา ให้เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง และโอกาสในการพัฒนาโครงการ ขึ้นชาร์ตเอาไว้เพื่อที่เขาจะได้นำข้อห่วงใยจากเราไปใช้ตอนพัฒนาโครงการ ทุกการกระทำของเราต้องแสดงออกถึงความจริงใจ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขากำลังจะทำ รู้จักชื่นชมอย่างจริงใจ อย่าดัดจริตทำต้องรู้สึกจริงๆ เยาวชนเขาสัมผัสได้หากเขานำเสนอไม่ได้หรือจับได้ว่าเขาไม่ได้คิดเองก็ไม่เป็นไรตอนนี้สิ่งที่เราต้องการคือสัมพันธภาพและความไว้วางใจจากนั้นอธิบายให้เขาเข้าใจปรัชญาแนวคิด วิธีการ เป้าหมาย ของการเรียนรู้ในโครงการพลังพลเมืองฯ ให้เขาฟัง ชวนให้เขาแสดงทัศนะต่อการเรียนรู้ที่เขากำลังจะเข้าร่วม สร้างแรงจูงใจด้วยเรื่องเล่าหรือสื่อ สร้างความท้าทายด้วยคำถามหรือชุดความคิดที่ดูเหมือนจะไม่เชื่อมั่นในตัวของพวกเขา แล้วถามเขาว่าคิดและรู้สึกอย่างไรกับแนวคิดนั้น พลังแห่งการปกป้องหรือพลังกลุ่มจะเกิดขึ้น เราในฐานะโค้ชต้องเสริมแรงให้เขาทันที และทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวของเราด้วย จากนั้นให้พิสูจน์ความเป็นทีมโดยมีแนวคำถามให้เขาได้ครุ่นคิด ทบทวนเพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการของเขา เช่น ปัญหาชุมชนที่เลือกมาเป็นโจทย์การเรียนรู้คือเรื่องอะไร สาเหตุของปัญหาคืออะไร ผลกระทบของปัญหานั้นคืออะไร มีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ภาพความสำเร็จที่ปรารถนาเป็นอย่างไร ภาพความสำเร็จนั้นมีคุณค่าต่อตนเองและชุมชนอย่างไร จะมีขั้นตอนวิธีการหรือกระบวนการในการดำเนินงานอย่างไร ต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ ใช้ไปกับอะไรบ้าง เป็นต้น และในระหว่างที่เขาคิดหาคำตอบให้พิจารณาข้อห่วงใย จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสในการพัฒนาหรือทางเลือกที่ถูกนำเสนอไว้ตอนต้นไปพร้อมกันด้วย ช่วงนี้โค้ชอาจต้องช่วยเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด ส่วนกลุ่มเยาวชนที่อ่อนหน่อยก็ไม่เป็นไรโค้ชเพียงแต่ต้องใจเย็นและอาจช่วยเชื่อมโยง ต่อยอดความคิดจะสนุกมาก เขาจะภูมิใจ และรักโค้ชมากเพราะเสมือนหนึ่งโค้ชเป็นคนที่เข้าใจพวกเขาอย่างดีเยี่ยม ความยากในขั้นตอนนี้คือการพูดคุยกันในกลุ่ม เพราะที่ผ่านมาเยาวชนไทยของเราไม่ค่อยได้ฝึกฝนเรื่องนี้กันสักเท่าไหร่ ดังนั้นบ่อยครั้งที่เราจะเห็นการผูกขาดทางความคิด การไม่รับฟัง ฯลฯ โค้ชอาจให้คำแนะนำเทคนิควิธีการในการสนทนากลุ่ม ให้หลักคิดของการสนทนาไว้เช่น ทุกความคิดมีค่าเราจะไม่ฆ่าทิ้ง อย่ายึดติดกับความคิดเดิมๆเพราะในระหว่างการสนทนาอาจมีความคิดปิ๊งแว๊บหรือความคิดที่สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ เป็นต้น และเมื่อทำงานกลุ่มเสร็จก็ให้นำเสนอใหม่อีกครั้ง ให้กลุ่มได้ตรวจสอบร่วมกัน จบท้ายด้วยการให้เยาวชนสืบค้นแรงบันดาลใจในการทำโครงการของตนเอง สิ่งที่ผมเล่ามาคือช่วงตอนลงพื้นที่พัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกับเยาวชน ยังมีช่วงของการประชุมที่เอาหลายๆกลุ่มมาพัฒนาข้อเสนอโครงการให้เป็นโครงการที่สมบูรณ์พร้อมกัน ช่วงนี้เยาวชนจะมีโอกาสได้เรียนรู้แบบข้ามกลุ่ม เราต้องปลูกฝังและทำความเข้าใจเรื่องทักษะชีวิตการทำงานทีมและจิตสำนึกพลเมืองเพิ่มขึ้น เชิญคนนอกมาช่วยเสริมความรู้และช่วยพัฒนาโครงการเพราะบางทีโค้ชก็ตันไปไม่เป็นเหมือนกัน ใช้หลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาช่วยให้ในการตรวจสอบโครงการของตนเองก่อนที่จะลงมือทำ เป็นต้น หลักคิดสำคัญของการเป็นโค้ช คือ ไม่ได้มุ่งเอาผลสำเร็จของโครงการเป็นที่ตั้ง โค้ชต้องรู้จักสังเกตการณ์พฤติกรรมการเรียนรู้ของเยาวชนรายบุคคล ต้องสังเกตการณ์ทำงานเป็นทีมของเขา ตรวจสอบว่าพวกเขากำลังใช้ทักษะชีวิตในการทำงานหรือไม่อย่างไรรวมถึงสังเกตบรรยากาศของการเรียนรู้ ทั้งในแง่ของสถานที่หรืออารมณ์ความรู้สึกของเยาวชน โค้ชต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เร้าพลัง ไม่เคร่งเครียดหรือตลกโปกฮาจนเกินเลย รู้จังหวะในการทำงาน“ตึง หย่อน ตึง” ใช้สัญชาตญาณการเป็นครูเพื่อศิษย์ในการทำงานให้มาก
ข. บทเรียนที่ ๒ การลงพื้นที่ติดตามหนุนเสริมการทำงานของเยาวชน ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนรู้เลยก็ว่าได้เพราะ การเรียนรู้เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ ในช่วงที่เยาวชนเริ่มต้นทำโครงการเนื่องจากเยาวชนไทยเคยชินกับการที่ผู้ใหญ่คิด เด็กทำ ผู้ใหญ่นำ เด็กตาม ภายใต้สถานการเช่นนี้หน้าที่โค้ชอันดับแรก คือต้องคืนเสรีภาพในการเรียนรู้ให้กับเขา อาจจะคืนแบบค่อยเป็น ค่อยไป เช่น นำเขาทำช่วงแรกๆแล้วให้เยาวชนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจนสามารถดำเนินการเองได้หรือคืนให้ทีเดียวเลย โดยให้เขาคิดและทำด้วยตัวเอง มีปัญหาอะไรค่อยเข้ามาปรึกษาหรือทำแบบผสมผสานกันไปตามสถานการณ์ โดยพิจารณาจากศักยภาพของกลุ่ม โค้ชต้องฝึกให้เขาซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีวินัย ต่อการเรียนรู้ของตนเอง ขั้นตอนนี้โค้ชต้องอดทนรอการเติบโตเพราะเราอาจจะเคยชินกับการเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้งานสำเร็จ แต่ลืมไปว่ามันอาจทำให้ลูกศิษย์เสียโอกาสในการเรียนรู้ไป และต้องระวังระหว่างคำว่าแทรกแซง เพิกเฉย หรือช่วยเหลือ มันมีเส้นบางๆขั้นอยู่ ก็เหมือนกับคำว่า ซื่อกับซื่อบื้อ คำนี้ผมเคยโดนมาด้วยตนเอง หลายคนพูดกันติดปากว่า เราจะช่วยคนโดยซื้อข้าวให้เขากินหรือจะสอนให้เขาปลูกข้าวกินเอง การทำงานในขั้นตอนนี้ก็เหมือนกัน วิจารณญาณของโค้ชเป็นเรื่องสำคัญ โค้ชต้องเท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง รู้จักวางแผนสร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ใช้สามัญสำนึกและทักษะแบบครูเพื่อศิษย์ในการทำงานหรือจินตนาการว่าเราเป็นโค้ชวอลเลย์บอลทีมชาติ เป็นฤษีที่ฝึกวิชาพลเมือง เป็นอาจารย์ในหนังจีนกำลังภายใน ให้ผ่อนคลายนะครับมันช่วยได้จริงผมลองมาแล้ว สนุกกับมันเข้าไว้ ในระหว่างทางโค้ชต้องรู้ว่าควรหนุนเสริมความรู้แบบไหนให้กับเยาวชนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เขา และตัวโค้ชเองก็ต้องพัฒนาศักยภาพเพิ่มพูนความรู้ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบหรือช่วยเหลือให้เยาวชนได้เก็บเกี่ยวพืชผลจากประสบการณ์ของตนเองด้วย ประเมินว่าจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของเขาเป็นอย่างไรบ้าง ขั้นตอนนี้จะเห็นว่าผมกล่าวถึงคำใหญ่ๆ ที่เป็นนามธรรมมากหน่อย เพราะ มันคือความจริงที่โค้ชแต่ละคนต้องนำไปฝึกฝนกันเอาเอง ไม่สามารถบอกกันได้ว่าคุณทำอย่างนั้นซิอย่างนี้ซิ แต่หากเข้าถึงมันจะเป็นไปของมันเอง
ค. บทเรียนที่ ๓ การประเมินผลการเรียนรู้ของเยาวชน บทบาททางด้านวิชาการ ส่วนนี้ผมเองยังต้องพัฒนาอีกมาก เพราะเป็นอะไรที่ไม่ถนัดเอาเสียเลย แต่ก็มีส่วนที่ชอบและถนัดอยู่บ้าง เช่น การออกแบบกระบวนการและจัดอบรมให้เยาวชน หรือประเมินผลภายในที่เน้นการพูดคุยเพื่อยกระดับศักยภาพของคนทำงาน แต่งานที่ต้องเขียนรายงานเชิงวิชาการนี่ซิเป็นอะไรที่ไม่ชอบเอาเสียมากๆ เป็นข้อจำกัดส่วนตัว เพราะผมเองไม่ได้เรียนทางนี้ ถนัดแต่การเขียนรายงานแบบทั่วไป จะออกแบบเครื่องมือในการประเมินก็ไม่เป็น คำนวณสถิติอะไรก็ไม่ได้ แต่ผมมีหน้าที่จะต้องนำเสนอให้คนอื่นรู้ถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการ หรือ รู้ความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ เอาละซิทีนี้ก็ต้องเรียนรู้และเอาตัวรอดจากงานนี้อย่างไร หลังจากพยายามอยู่นาน ทำผิด ทำถูก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำผิด ที่เขียนมาแล้วก็ยังไม่ใช่ ที่จะทำต่อก็ไม่รู้จะทำอย่างไร โชคดีที่ผู้บริหารเปิดโอกาสให้ฝึกได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายผมก็ค้นพบว่า “การตามรู้ความจริง” แล้วเขียนออกมาคือคำตอบของงานนี้ การประเมินสิ่งที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้นหรือกายสัมผัส นั้นไม่ยากเท่าไหร่เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นแต่สิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้และสัมผัสได้ด้วยใจ และคือหัวใจของโครงการนี้เพราะโครงการเชื่อว่า ปัจจัยต่างๆจากภายในเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคน การพัฒนาคนจึงต้องพัฒนาจากภายใน โดยใช้ปัจจัยภายนอกเข้าไปฝึกฝนให้คนได้พัฒนาภายใน การตามรู้ความจริงในสิ่งที่เป็นนามธรรมหรือพัฒนาการด้านในของเยาวชนจึงเป็นเรื่องยากเพราะ พบว่า แม้เราจะพยายามไม่เอาความรู้และประสบการณ์เข้าไปแทรกในการเขียนแต่มันก็ทำให้คุณค่าและสิ่งที่เรามองเห็นตกลงไปด้วย เอาละซิทำไงดี ตั้งคำถามกับตัวเองอีกว่าเกิดอะไรขึ้น ก็พบว่า การตามรู้ความจริงนั้น มีมายา มายาคือความรู้และประการณ์ที่เชื่อมโยงอยู่กับการมองเห็นของเราต้องมองกลับไปกลับมา มองให้เห็นความจริงมากที่สุด และค้นพบว่า ความรู้และประสบการณ์ของเราก็จำเป็นเพราะช่วยให้เรามองและเชื่อมโยง ความจริงได้ดีขึ้น รวมถึงค้นพบว่า ไม่มีความจริงที่สุด ไม่มีสิ่งหลอกลวงที่สุด อยู่ที่ว่านักประเมินจะสร้าง“สมดุล” ในการมองหรือประเมินอย่างไรก็เท่านั้นเอง สรุปสุดท้ายการประเมินของผมจึงเน้นการเก็บข้อมูล เฝ้าสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม ตั้งคำถามพูดคุยเพื่อค้นหาคำตอบจากประสบการณ์แล้วให้เยาวชน พี้เลี้ยง และผู้ประเมิน อธิบายและเรียบเรียงการรู้หรือความจริงในมุมมองของตนเองออกมา แล้วเราในฐานะผู้ประเมินอาจจะช่วยเรียบเรียงให้คนอื่นเข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่ได้มีทฤษฏีหรือเครื่องมือซับซ้อนอาจขัดแย้งกับความเป็นวิชาการทางการศึกษาปัจจุบันอยู่บ้าง แต่อาจคือคำตอบของการศึกษาแห่งอนาคตก็เป็นได้ไม่รู้เข้าข้างตนเองหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่มันอัศจรรย์ตรงที่ว่าทำไปทำมา งานพาผมกลับไปเข้าหาหลักศาสนาเพื่อใช้ในการประเมิน แทนที่จะวิ่งหาหนทางของวิชาการตามที่มันควรจะเป็นหรือนั้นมันอาจจะเป็นเพราะผมประเมินว่าศักยภาพของตนเองไม่ถึงขั้น หรือผมขาดศรัทธาต่อการประเมินการศึกษาที่ผ่านมาก็ไม่รู้แน่ ผมอยากทำอะไรให้มันเรียบง่าย ครูสมัยก่อนเขาก็ทำกันมาอย่างนี้ เขาใช้สัญชาตญาณของความเป็นครูเพื่อประเมินลูกศิษย์
เรื่องที่ผมเล่ามา ไม่ใช่จู่ๆแล้วผมจะเป็นไปของผมเอง ผมก็มีโค้ช คือผู้บริหารโครงการ ที่ปรึกษาโครงการ มีครู ที่อบรมมาให้ความรู้มา เขาทำหน้าที่เป็นอิฐก้อนแรก เรื่องที่เล่ามาผิดถูกไม่รู้แต่มันคือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากการทำงานที่สร้างประสบการณ์และศักยภาพให้แก่ผม และที่ผ่านมาผมกล้าบอกว่าตนเองเป็น “ครูนอกห้องเรียน” ที่กำลังสร้างเยาวชน ให้มีทักษะชีวิต จิตสำนึกความเป็นพลเมือง ทำงานเป็น มีอุดมการณ์สามารถยืนหยัดบนฐานสังคมที่สั่นคลอนได้อย่างมั่นคง ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งเขาเหล่านั้นจะเติบโตและสร้างสรรค์สังคมไทยจากจิตสำนึกที่ดี งานที่ทำจึงนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมายที่ได้มีส่วนร่วมในการดูแลแผ่นดินเกิด